TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessกิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่น 3 “น่ำเอี๊ยง” ผู้นำพาโหราศาสตร์จีนโลดแล่นในโลกดิจิทัล

กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่น 3 “น่ำเอี๊ยง” ผู้นำพาโหราศาสตร์จีนโลดแล่นในโลกดิจิทัล

ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามต่าง ๆ เป็นวิถีที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมชาวจีนมายาวนานนับพันปี ไม่ว่าจะทำกิจกรรมสำคัญใด ๆ ทุกคนจะเลือกฤกษ์ที่ดีเพื่อความเป็นมงคลและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ต้องการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็น ”ปฏิทินโหราศาสตร์จีน” อยู่ในแทบทุกบ้านของคนเชื้อสายจีนในเมืองไทย

ปฏิทิน “น่ำเอี๊ยง” ถือเป็นตัวช่วยที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักมากที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่ยังกระจายไปถึงชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ จนมียอดจำหน่ายปีละกว่า 1 ล้านฉบับ

แซม-กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล CEO บริษัท วรศิลป์กราฟฟิค จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ของน่ำเอี๊ยงกรุ๊ป บอกที่มาของความนิยมนี้ว่าเป็นเพราะปฏิทินน่ำเอี๊ยงไม่เพียงบอกวันและเวลา แต่ใช้ประโยชน์ในการวางแผนชีวิตในอนาคตได้ด้วย

หลายคนอาจคิดว่าเมื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลสิ่งนี้จะเป็นเรื่องพ้นสมัยของคนรุ่นใหม่ แต่หลังจากเขานำศาสตร์นี้มาประยุกต์เข้ากับโมบายแอปพลิเคชั่นให้บริการในรูปแบบ “แอปปฏิทินมงคลน่ำเอี๊ยง”.เพียงไม่นานก็มีผู้ดาวน์โหลดเข้ามาใช้งานมากกว่า 100,000 ราย และสมัครเป็นสมาชิกราว 10,000 ราย

วันนี้หนุ่มนักเรียนนอกผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาของสำนักโหราศาสตร์ชื่อดังที่อยู่คู่กับสังคมมานานกว่า 80 ปี กำลังนำพาธุรกิจครอบครัวที่เคยประสบความสำเร็จอย่างดีมาแล้วจากคนสองรุ่นไปสู่อนาคตใหม่ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงมากมาย

ทายาทหนุ่มผู้สืบทอดรุ่นที่ 3

แซมบอกว่าเขาเติบโตขึ้นมาก็เห็นสิ่งนี้มาตลอด “ตั้งแต่เด็กเติบโตในโรงพิมพ์ ก็ได้รับรู้ว่าคนส่วนใหญ่รู้จักปฏิทินไทย-จีนอ่ำเอี๊ยง เวลาพูดคุยกับเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่จะรู้จัก แต่ในส่วนของโหราศาสตร์ไม่เคยเข้าใจเลยว่าคืออะไร มีที่มาอย่างไร”

“คุณพ่อคุณแม่มักจะบอกว่าผมเป็นลูกชายคนโต ถ้าเรียนจบแล้วอยากให้กลับมาช่วยงานที่บ้าน ไม่ต้องไปหาประสบการณ์จากที่ไหนหรอก เอาความรู้ที่ร่ำเรียนมาใช้กับกิจการที่บ้าน ลองดูว่าจะทำอย่างไรให้กิจการเติบโตทั้งด้วยมุมมองของคนในครอบครัวและมุมมองของตัวเราเอง”

ที่จริงเขาไม่ใช่ลูกคนแรกของครอบครัวเพราะมีพี่สาวคนโต แต่ตามธรรมเนียมจีนลูกชายหรือหลานชายคนแรกย่อมถูกคาดหวังให้เป็นทายาทสืบทอดกิจการครอบครัว

ผู้บริหารหนุ่มวัย 28 ปี บอกกับ The Story Thailand ว่า ตอนนั้นเขารู้ตัวดีว่าเรียนจบแล้วคงต้องกลับมาช่วยงานที่บ้าน “พอดีว่าจังหวะเวลาที่เรียนจบกลับมาก็เป็นช่วงเข้าหน้างานปฏิทินพอดี กลับมาได้ 2-3 วันก็มาช่วยดูแลงานในโรงพิมพ์เลย”

ดูจากประวัติการศึกษาของเขาไม่เหมือนว่าถูกวางเส้นทางไว้สำหรับการเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของสำนักโหราศาสตร์จีนเก่าแก่แห่งนี้ เพราะหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ก็เดินทางไปศึกษาชั้นมัธยมปลายที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ใช้เวลาที่นั่น 6-7 ปี ก่อนไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสาขา International Business ที่ประเทศอังกฤษ

“ตั้งแต่เด็กได้ยินผู้ใหญ่คุยกันด้วยภาษาจีนแต้จิ๋ว ตอนนั้นไม่เข้าใจอะไรเลย เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นอยากเป็นอิสระในความคิดของตัวเอง พอมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ก็เกิดความคิดอยากไปลองใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ อยากรู้ว่าการเรียนต่างประเทศแตกต่างจากที่เมืองไทยอย่างไร และจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง”

หลังจากเรียนจบกลับมาช่วยกิจการของครอบครัวในส่วนงานการผลิตปฏิทิน เขาก็เริ่มสงสัยว่าเนื้อหาที่นำมาลงในปฏิทินมาจากไหน ก่อนจะผลิตออกมาเป็นปฏิทินได้ต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง

“ผมเลยเข้าไปดูว่าสำนักนี้ทำอะไรบ้าง กว่าจะมีข้อมูลออกมาแต่ละเดือน แต่ละวัน แต่ละชั่วโมงมาจากไหน มีวิธีคำนวณอย่างไร จึงได้เริ่มเข้ามาศึกษาวิชาโหราศาสตร์ของครอบครัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

มรดกภูมิปัญญาจากอากง

ชื่อ “น่ำเอี๊ยง” เป็นคำภาษาจีนที่ออกเสียงแบบแต้จิ๋ว ตรงกับคำว่า “หนานหยาง” ในสำเนียงจีนกลาง “น่ำ” แปลว่าทิศใต้ “เอี๊ยง” แปลว่า แสงอาทิตย์ ซึ่งสื่อถึงความดีงามแห่งพลังหยาง แสงสว่าง ความอบอุ่น ความมีชีวิตชีวา และเป็นเครื่องนำทางสู่ความรุ่งเรืองของชีวิต เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงมีความหมายว่า แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ที่มาจากทางทิศใต้อันเป็นทิศแห่งมงคล

“ในอดีตการสร้างเมืองของคนจีนนิยมหันหน้าไปทางทิศใต้ เพราะช่วงฤดูหนาวลมหนาวจะพัดมาทางทิศเหนือ แต่ทิศใต้รับเอาความอบอุ่น ยิ่งลงใต้ไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งพบกับความอบอุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะทิศใต้ที่มีแม่น้ำไหลผ่านจะมีความอุดมสมบูรณ์ ตามหลักโหราศาสตร์จีนจึงเชื่อว่าทิศใต้เป็นทิศแห่งมงคลเพราะสามารถรับแสงจากดวงอาทิตย์ได้อย่างเต็มที่”

ซินแสเฮียง แซ่โง้ว

ผู้ก่อตั้งชื่อนี้คือ ซินแสเฮียง แซ่โง้ว อากงหรือคุณปู่ของเขา ซึ่งเป็นชาวจีนแต้จิ๋วจากเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ที่เดินทางมาประเทศไทยในปี พ.ศ. 2482 ขณะมีอายุ 18 ปี เพื่อตามหาพ่อที่มาทำงานอยู่จังหวัดสงขลา

หลังจากทราบความจริงว่าพ่อเสียชีวิตไปแล้ว จึงตัดสินใจปักหลักอยู่ประเทศไทยด้วยความตั้งใจจะหาเงินส่งไปจุนเจือครอบครัวที่ประเทศจีนแทนพ่อผู้ล่วงลับ โดยนำความรู้ด้านโหราศาสตร์จีนที่ได้ศึกษามาเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจด้วยการทำหนังสือตำราโหราศาสตร์จีนสำหรับผู้สนใจใช้ศึกษาเพื่อไปประกอบอาชีพหมอดู ภายในมีเนื้อหาเกี่ยวกับปรัชญา วิธีการคำนวณดวงของตัวเอง ดวงชะตาของแต่ละราศี

ต่อมาได้นำความรู้เรื่องหลักยาม ฤกษ์มงคลต่าง ๆ มาให้บริการคำปรึกษาในหลายรูปแบบ ได้แก่ นกกระจอกทำนายไพ่จากสำรับ ดูโหงวเฮ้ง การขึ้นดวงแบบปาจื้อ การดูฤกษ์ยามมงคลต่าง ๆ สำหรับกิจกรรมสำคัญในชีวิตตั้งแต่เรื่องการเกิดไปจนกระทั่งการตาย

ตามหลักความเชื่อที่ว่าโชคชะตาของมนุษย์ล้วนต่างกัน ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในชีวิตมากน้อยแตกต่างกัน ผู้ที่เข้าใจดวงชะตาของตัวเองและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามช่วงเวลาที่เหมาะสมของโชคชะตาก็จะมีชีวิตที่ราบรื่นและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

“โหราศาสตร์จีนจะเน้นการดูดวงชะตาของคนคนหนึ่ง และแนะนำหลักให้นำไปปรับใช้เพื่อทำให้การดำเนินชีวิตราบรื่นขึ้น เป็นแนวทางในการวางแผนชีวิตในแต่ละช่วงเวลา เช่น สิ่งใดควรทำและไม่ควรทำในช่วงเวลาใด ช่วงเวลาไหนต้องระวังเรื่องอะไร ทำให้ช่วงต้นปีของทุกปีมีผู้มาใช้บริการขอคำปรึกษาจากอากงจำนวนมาก”

ภายหลังท่านเห็นว่าลูกหลานชาวจีนที่อยู่ในเมืองไทยยังคงมีการสืบทอดประเพณีต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ตรุษจีน สารทจีน การไหว้ตามเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีที่มาเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาหรือฤดูกาลทั้งสิ้น จึงนำความรู้เกี่ยวกับช่วงเวลามาพัฒนาเป็นปฏิทิน 

เริ่มต้นจากทำเป็นปฏิทินแผ่นเดียวที่บอกข้อมูลเกี่ยวกับวันที่ดีหรือวันธงไชย และวันที่ไม่ดี เพื่อประโยชน์ในการเลือกวันที่เหมาะสำหรับกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น แต่งงาน คลอดบุตร ขึ้นบ้านใหม่ เปิดกิจการใหม่ หรือแม้แต่การจัดงานศพเมื่อมีผู้เสียชีวิต รวมถึงกำหนดการของวันที่เป็นเทศกาลสำคัญของชาวจีนในรอบปี

“อากงออกแบบมาให้แต่ละบ้านสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้สะดวก จนเป็นที่สนใจและให้การยอมรับของชาวจีนในประเทศไทย” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่ปฏิทินไทย-จีนที่มีรูปแบบสวยงามและมีคุณค่าดังเช่นทุกวันนี้

ปฏิทินไทย-จีนที่ทุกคนรู้จัก

ทุกวันนี้ชื่อ “น่ำเอี้ยง” เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากปฏิทินไทย-จีนเพราะพบเห็นได้โดยทั่วไป และอยู่คู่สังคมไทยมานานเกือบ 40 ปี โดยเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2529 เมื่อทายาทรุ่นที่ 2 นำข้อมูลตำราปฏิทินน่ำเอี้ยงของซินแสเฮียงมาผนวกเข้ากับเนื้อหาปฏิทินไทยจนกลายเป็นปฏิทินไทย-จีน ที่มีทั้งรูปแบบรายเดือน และปฏิทินรายวัน

“เดิมอากงทำเป็นตำราปฏิทินขึ้นมาซึ่งเข้าถึงกลุ่มคนที่เป็นหมอดู หรือคนที่อ่านภาษาจีนออกและสามารถนำข้อมูลในตำราไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ในมุมมองการตลาดตำราแบบนี้ทำให้การเผยแพร่ความรู้ไม่กว้างพอ รุ่นคุณพ่อจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถนำหลักการของน่ำเอี๊ยงไปเข้าถึงชีวิตของผู้คนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งการทำรูปแบบปฏิทินไทย-จีนน่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า” 

ทายาทรุ่น 3 บอกถึงแนวคิดที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจครอบครัว นับจากที่ซินแสเฮียงเริ่มต้นธุรกิจให้บริการทำนายดวงชะตาด้วยการนั่งรถไฟเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ นานกว่าสิบปี จนถึงปี พ.ศ.2499 ในวัย 35 ปี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจึงตัดสินใจเปิดสำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงขึ้นในจังหวัดพระนคร และในปี พ.ศ. 2516 ริเริ่มจัดทำตำราปฏิทินน่ำเอี๊ยงขึ้นมา เพื่อเผยแพร่ความรู้โหราศาสตร์จีนให้เป็นที่รู้จักทั่วไปในหมู่ผู้รู้ภาษาจีน

“ข้อมูลในปฏิทินไทย-จีนเกี่ยวข้องกับฤกษ์ยามและสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำในแต่ละวัน ถูกนำมาจากตำราปฏิทินน่ำเอี๊ยง มีการออกแบบและจัดพิมพ์เป็นปฏิทินทั้งรายวันและรายเดือนจากที่โรงพิมพ์ของเราเอง”

ธุรกิจปฏิทินช่วงแรกจัดพิมพ์เฉพาะของน่ำเอี๊ยงออกมาจำหน่ายตรงสู่ผู้ใช้ ต่อมาขยายตลาดเป็นขายส่งทั่วประเทศ หลังจากนั้นคุณพ่อขอเขา (ชาญชัย นำพิทักษ์ชัยกุล) ได้พัฒนาให้เกิดธุรกิจแบบใหม่ทำเป็นแพทเทิร์นข้อมูลปฏิทินโหราศาสตร์แบบรายเดือน นำไปเสนอขายแก่โรงพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อให้โรงพิมพ์เอาเนื้อปฏิทินไปพิมพ์ปฏิทินโฆษณาให้กับลูกค้าสำหรับเป็นของขวัญวันปีใหม่

“แต่เดิมปฏิทินของเราเน้นการขายให้ผู้บริโภคโดยตรง ต่อมาขยายตลาดเป็นแบบขายส่งไปยังร้านยี่ปั๊วในเยาวราช และร้านค้าตามหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ทำให้มีจำนวนการขายมากขึ้น จึงเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากเริ่มแรกเป็นแบบ B2C มาเป็นแบบ B2B แทน เมื่อการเติบโตของตลาดเริ่มอยู่ตัว คุณพ่อก็มีแนวคิดว่าโรงพิมพ์น่าจะนำเนื้อหาปฏิทินของเราไปพิมพ์โฆษณาให้กับลูกค้าได้เพราะโรงพิมพ์มีความต้องการสินค้าใหม่ ๆ ไปเสนอให้กับลูกค้าของตน”

เขาเรียกสินค้าที่เป็นแพทเทิร์นนี้ว่า “เนื้อปฏิทินดูดวงน่ำเอี๊ยง” โดยเน้นราคาขายไม่สูงเพราะต้องการให้โรงพิมพ์นำข้อมูลโหราศาสตร์ไปต่อยอดธุรกิจได้ ขณะเดียวกันก็เป็นตัวช่วยให้ชื่อน่ำเอี๊ยงเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นอีกด้วย

“สิ่งนี้ช่วยให้แบรนด์ของเรามีคนรู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะรู้จักว่าข้อมูลของเราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันได้ เช่นวันธงไชย หรือเลขมงคลซึ่งบางคนนำไปตีความเป็นเลขหวย จนได้รับความนิยมจากผู้ใช้อย่างมาก”

นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริม

เวลากว่า 80 ปีที่กิจการภายใต้ชื่อ “น่ำเอี๊ยง” เติบโตต่อเนื่องจนมีการดำเนินงาน 2 ส่วนธุรกิจ คือ สำนักโหราศาสตร์ และโรงพิมพ์ปฏิทิน

“เราแยกกันเป็น 2 บริษัทเลย แต่อยู่ภายใต้โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง การแยกส่วนผลิตปฏิทินออกมาก็เพื่อโฟกัสตัวธุรกิจให้จริงจังและสามารถเติบโตได้”

โรงพิมพ์ปฏิทินภายใต้บริษัท วรศิลป์กราฟฟิค จำกัด เป็นส่วนที่สร้างรายได้หลักของน่ำเอี๊ยงกรุ๊ป จากยอดพิมพ์รวมปีละกว่า 1,000,000 เล่ม (1 ล้านเล่ม) มีปฏิทินไทย-จีนน่ำเอ๊ยงทั้งแบบรายเดือน (แบบแขวน) และปฏิทินรายวัน (แบบฉีกกับแบบตั้งโต๊ะ) รวมทั้งตำราปฏิทินน่ำเอี๊ยง สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลละเอียด

เมื่อทายาทรุ่น 3 เข้ามาดูแลรับผิดชอบงานผลิตปฏิทินอย่างเต็มตัว ในฐานะคนรุ่นใหม่เขาพยายามสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น อย่างเช่นการใส่คิวอาร์โค้ด (QR code) เข้าไปในหน้าปฏิทินวันสำคัญ

“คอนเทนต์จากเดิมมีแค่ตัวปฏิทินก็มีคิวอาร์โค้ดให้สแกน ทำให้คอนเทนต์เข้าถึงผู้คนมากขึ้น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของโลกออนไลน์ได้ดีขึ้น”

ผลจากการมีคิวอาร์โค้ดทำให้เขารู้ว่าคนที่ใช้ปฏิทินน่ำเอี๊ยงมีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก “มันจะมีข้อมูลปรากฏขึ้นมาเลยว่าคนที่ดูปฏิทินของเราอยู่ในประเทศไหนบ้าง ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกามีอยู่มากพอสมควร”

แซมเล่าว่าแต่ก่อนเคยมีการจัดพิมพ์ปฏิทินขนาดใหญ่ ปัจจุบันหยุดผลิตเพราะไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้ใช้ในประเทศสาเหตุจากมีราคาค่อนข้างสูง แต่กลับได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม และลาว กระทั่งประเทศออสเตรเลียก็เคยส่งไปจำหน่าย

”ปฏิทินของเราเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและวัฒนธรรม ทำให้ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่ยังสืบทอดประเพณีจีนในวิถีวัฒนธรรมของตนมีความต้องการอย่างมาก”

ส่วนธุรกิจสำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง ปัจจุบันดำเนินการโดยทายาทรุ่นที่ 2 คือ ซินแสงึ้งหมง แซ่โง้ว (ธงชัย นำพิทักษ์ชัยกุล) คุณลุงของแซม เป็นส่วนที่สร้างรายได้รองลงมาจากปฏิทินด้วยการให้บริการดูฤกษ์มงคลต่าง ๆ อาทิ ฤกษ์แต่งงาน คลอดบุตร ขึ้นบ้านใหม่ เปิดกิจการใหม่ ลงเสาเอก ออกรถ รวมถึงบริการดูดวงทำนาย เช่น ดูดวงวันเกิดเด็กและตั้งชื่อ ดูดวงสมพงษ์เนื้อคู่ เป็นต้น

“ท็อปฮิตที่สุดก็เป็นฤกษ์แต่งงาน รองลงมาเป็นฤกษ์คลอดบุตร” 

แซมเผยข้อมูลความนิยมในการดูฤกษ์มงคล ทั้งเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจส่วนนี้ว่า ก่อนเกิดโควิด-19 ลูกค้าทุกคนจะต้องเดินทางมาที่สำนักโหราศาสตร์เพื่อรับบริการแบบตัวต่อตัวจากซินแส จนบางครั้งมีสภาพที่แออัดเพราะต้องรอคอยกันนาน

“ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด บางส่วนจากต่างประเทศเช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย ช่วงโควิด-19 เมื่อเดินทางมาไม่ได้ เราตัดสินใจเปิดบริการ LINE official account ให้บริการคำปรึกษาทางออนไลน์โดยมีแอดมินให้คำแนะนำแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เราออกแบบเป็นรูปอินโฟกราฟิกและวิดีโอ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจง่าย”

เมื่อลูกค้าส่งข้อมูลวันเดือนปีและเวลาเกิดมาให้ หลังจากนั้น 2 วันจะได้รับฤกษ์มงคลที่ซินแสขึ้นดวงให้ ซึ่งบริการดูฤกษ์ผ่านทางออนไลน์มีอัตราค่าบริการถูกกว่าการเข้ามาใช้บริการที่สำนักโหราศาสตร์

สำหรับผู้ที่นิยมการรับคำปรึกษาจากซินแสแบบตัวต่อตัวก็มีทางเลือก โดยสามารถจองคิวผ่าน LINE แล้วเข้ามาพบกับซินแสได้ตามที่นัดหมาย

“เวลาที่ใครสักคนต้องการคำปรึกษาในเรื่องสำคัญย่อมต้องการความเป็นส่วนตัว และไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลของตัวเองให้กับใครง่าย ๆ ก่อนหน้านี้จึงมีลูกค้ามาต่อคิวที่หน้าร้านเยอะมาก และนั่งรอกันเต็มไปหมด เมื่อมีบริการจองคิวล่วงหน้าแม้จะทำให้เราบริการลูกค้าต่อวันได้จำนวนน้อยลง แต่เชื่อว่าลูกค้าน่าจะประทับใจมากกว่าแบบเดิม”

แซมมองเรื่อง personalized กับ customized ว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกค้า “โดยเฉพาะคนสมัยนี้ต้องการอะไรที่เป็นพิเศษเฉพาะตัวเรา ซึ่งบริการที่เรามีทำสิ่งนี้ได้อยู่แล้ว การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยจะทำให้เราตอบโจทย์สิ่งนี้ได้ดียิ่งขึ้น”

เปิดบริการแอปปฏิทินมงคล

“เนื่องจากสิ่งที่เราทำผ่านมา ไม่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ในวัยเดียวกับผม หรือคนที่อายุน้อยกว่าได้ จึงมีความคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อนำชุดข้อมูลที่เรามี โนว์ฮาวน์ที่เรามีและเราเข้าใจไปประยุกต์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น”

ผู้บริหารหนุ่มของน่ำเอี๊ยงบอกเล่าที่มาของการตัดสินใจลงทุนพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่น “แอปปฏิทินมงคลน่ำเอี๊ยง” ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2566

การขยับตัวครั้งนี้ถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญจากการริเริ่มของทายาทรุ่นที่ 3 เพื่อพาธุรกิจของครอบครัวเดินต่อไปได้ในอนาคต เช่นเดียวกับที่คนรุ่นพ่อได้เคยสร้างตำนานไว้ในรูปปฏิทินไทย-จีน

“ตอนแรกคิดถึงการทำเป็นเว็บไซต์ แต่เห็นข้อจำกัดในการนำข้อมูลโหราศาสตร์มาประมวลเพื่อให้บริการแบบ personalized ในที่สุดก็เห็นว่าต้องทำเป็นโมบายแอปพลิเคชั่นเพราะในการประมวลผลข้อมูลจากวันเดือนปีและเวลาเกิดของแต่ละคนสามารถทำได้แม่นยำและรวดเร็วกว่า”

ธุรกิจใหม่นี้มีโมเดลรายได้จากค่าสมาชิก โดยผู้ใช้เลือกได้ว่าจะจ่ายค่าสมาชิกเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้

“จุดเด่นคือแอปจะให้บริการข้อมูลแบบ personalized ต่างจากปฏิทินที่เป็นข้อมูลทั่วไป ทำให้แต่ละคนมีชุดข้อมูลที่เป็นเฉพาะของตัวเองสำหรับนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน การที่ข้อมูลอยู่ในมือของแต่ละคนจึงสามารถพกพาติดตัวไปที่ไหนก็ได้”

“เรานำข้อมูลที่เป็นภาษาจีนในปฏิทินที่มีคนถามบ่อย ๆ ซึ่งคนที่ไม่รู้ภาษาจีนไม่เข้าใจ มาปรับเปลี่ยนใหม่ให้ดูเข้าใจง่ายขึ้น เช่น ทำเป็นไอคอน ทำให้อินเตอร์แอคทีฟมากขึ้น และสามารถประมวลข้อมูลจากเงื่อนไขต่าง ๆ เข้ากับชะตาชีวิตของแต่ละคนได้เลย”

ในการทำโมบายแอปพลิเคชันขึ้นมา เขาบอกว่าต้องลงทุนใหม่ทั้งหมดไม่ต่างกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องทำใหม่ตั้งแต่แรก และไม่ได้จบในครั้งเดียว จึงเป็นการลงทุนที่มีเดิมพันสูง

“การพัฒนาแอปพลิชั่นในแต่เฟซใช้เงินลงทุนเยอะ ดังนั้นก่อนจะให้ดีเวลลอปเปอร์ลงมือทำเราต้องศึกษาให้ดีว่าสิ่งที่เราจะทำ base on จากอะไร กลุ่มลูกค้าเป็นแบบไหน สิ่งที่เราต้องการให้เป็นผลออกมาต้องเป็นแบบไหน”

ดังนั้นก่อนลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชั่นนี้จึงทำวิจัยตลาดหลายครั้งเพื่อหาความต้องการของลูกค้าว่ามีอะไรบ้าง

“ตอนลอนช์เวอร์ชั่นแรกช่วงต้นปี 2566 การตอบรับยังไม่ดีนัก ไม่มีฟีดแบคที่บอกว่ามันดีตอบโจทย์ในชีวิตลูกค้าเลย ซึ่งเป็นธรรมชาติของการพัฒนาแอปแบบนี้ที่จะต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดไม่หย่อนเลย โดยแต่ละวันจะได้รับฟีดแบคจากผู้ใช้เข้ามาว่าต้องการอะไร อย่างไร ก็นำมาปรับปรุงให้ตรงความต้องการของลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ”

แซมเปิดเผยว่าหลังจากเปิดตัวบริการแอปปฏิทินมงคลมาเกือบ 1 ปี ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ใช้ประมาณ 100,000 ยูสเซอร์ โดยมีผู้สมัครสมาชิกกว่า 10,000 คน

กลุ่มผู้ใช้มากที่สุดมีอายุระหว่าง 18-35 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง สัดส่วนมากกึง 70 เปอร์เซ็นต์ เนื้อหาที่ให้ความสนใจมากที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก

“ในความตั้งใจเราต้องการทำแอปให้กับคนรุ่นใหม่ในวัยที่เริ่มมีความรับผิดชอบ ต้องเริ่มคิดและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตตนเอง ก็คือกลุ่มคนที่เรียนจบและเริ่มทำงานจริงจัง โดยวาง target market ไว้ที่กลุ่มคนอายุ 25-35 ปี ซึ่งผลที่ได้ออกมาก็ถือว่าตรงตามเป้าหมายของเรา”

มาถึงวันนี้น่ำเอี๊ยงกรุ๊ปมีรายได้จากโมบายแอปพลิเคชันแล้ว แม้จะไม่มากนักเพราะเป็นระยะเริ่มต้น แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เกินความตั้งใจตั้งแต่แรก

“การทำแอปแล้วมีผู้ใช้เข้าถึงแสนคนไม่ใช่จะก็ทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่นี่เราทำไม่ถึงหนึ่งปีก็มียอดสมาชิกกับผู้ใช้ในแต่ละเดือนเข้ามาขนาดนี้แล้ว”

จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขามีความเชื่อมั่นว่าบริการใหม่นี้จะเป็น new s-curve ที่สามารถพาธุรกิจของครอบครัวให้ก้าวไปข้างหน้า และสามารถทำอะไรที่ตอบโจทย์ผู้ใช้มากกว่าเดิม

“แต่ก่อนเรามองตัวเองเป็นแค่โพรดักส์ แต่เดี๋ยวนี้มีมุมมองใหม่คิดว่าในฐานะที่เป็นสำนักโหราศาสตร์เราสามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นแพลตฟอร์มได้ แล้วนำไปต่อยอดโดยผสมผสานเข้ากับบริการต่าง ๆ ได้มาก”

ตัวอย่างที่เขามองเห็นโอกาสเช่นการตลาดสายมู (Mutelu) ของคนรุ่นใหม่ ที่มีคำเรียกว่า muketing ซึ่งมองว่าการนำคอนเทนต์ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อมาเป็นลูกเล่นผสมเข้ากับการตลาดจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับสินค้ามากขึ้น เพราะสังคมไทยยังขับเคลื่อนด้วยความเชื่อและวัฒนธรรมต่าง ๆ 

“ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจที่เราทำอยู่ไปต่อได้ แต่ต้องยึดมั่นในจริยธรรมที่เรามี เราต้องไม่ทำอะไรที่เป็นการหลอกลวงคนอื่น เราจะนำหลักการของโหราศาสตร์จีน blend เข้าไปกับสไตล์ของคนให้มากขึ้น”

โดยเขาเชื่อว่าบริการนี้มีแนวโน้มเติบโตไปได้อีกมาก และวันหนึ่งเมื่อแอปปฏิทินมงคลเข้าถึงคนได้อย่างกว้างขวางจะสามารถสร้างรายได้มากกว่าธุรกิจพิมพ์ปฏิทินเสียอีก

“แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในเร็ว ๆ นี้ก็ไม่เป็นไร เพราะความตั้งใจของผมอยู่ที่ต้องการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของครอบครัวจากที่เป็น traditional products ให้เป็นบริการแบบ digitalized มากขึ้น”

สืบสานปณิธานของอากง

ในช่วงเวลาเกือบ 5 ปีที่เข้ามารับช่วงธุรกิจต่อจากคุณพ่อ แซมตั้งใจศึกษาเรื่องโหราศาสตร์จีนของน่ำเอี๊ยงอย่างจริงจังเพราะอยากหาคำตอบว่าโหราศาสตร์คืออะไร และมีหลักการที่ทำความเข้าใจได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่งมงายหรือเปล่า เพื่อจะทำธุรกิจนี้ได้อย่างราบรื่น 

“ทำให้ผมเกิดความเข้าใจว่าโหราศาสตร์เป็นศาสตร์หนึ่งเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ มันมีวิธีการคำนวณออกมาเป็นชุดข้อมูล ซึ่งเป็นศาสตร์เก่าแก่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยโหรหลวงในราชสำนักของจีนตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อน จากการเฝ้าสังเกตการเคลื่อนย้ายของดวงดาวว่ามีพลังงานที่ส่งผลกระทบอะไรต่อผู้คนบ้าง และแปลงออกมาเป็นชุดข้อมูลที่เราสามารถนำมาทำความเข้าใจได้”

“พอได้ศึกษาแล้วก็ลองนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับตัวเองก่อนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่ สิ่งแรกเลยคือทำให้เราเข้าใจตัวเองมากกว่าเดิมว่าเป็นคนอย่างไร ถ้านำหลักการนี้มาใช้แล้วเกิดผลทำให้เรามีความมั่นใจใจตัวเองมากขึ้น สิ่งนี้ก็จะไม่ใช่เรื่องงมงายสำหรับผมอีกต่อไป”

วันนี้เขาจึงเห็นว่าน่าจะสื่อสารให้ผู้คนได้รู้หลักการของโหราศาสตร์ว่าสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างไร เพื่อทำให้ชีวิตมีความสุขและราบรื่นมากขึ้น

“ในมุมที่บอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือวิชาโหราศาสตร์เป็นเรื่องของสถิติที่มีการเก็บข้อมูลมายาวนานเป็นพันปี และนำหลักการนี้มาพัฒนาเป็นศาสตร์ที่เวลาเราขึ้นดวงจะเรียกว่าปาจื้อ”

“ปาจื้อเป็นวิธีการถอดรหัสดวงชะตาของคนจากการนำวันเดือนปีและเวลาเกิดมาขึ้นดวง แล้วจะเห็นว่าแต่ละคนมีธาตุทั้ง 5 (ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุไม้ และธาตุทอง) มากน้อยอย่างไร ซึ่งจะรู้ว่าช่วงชีวิตของคนนั้น ในแต่ละปี แต่ละสิบปี และตลอดทั้งชีวิตจะมีอุปสรรคอะไร สิ่งใดที่ต้องระมัดระวัง หรือสิ่งใดที่ควรทำ”

หลังจากได้เรียนรู้มรดกภูมิปัญญาของอากงแล้ว ทายาทรุ่นที่ 3 บอกว่าเขาก็เกิดความเข้าใจในความคิดของผู้ก่อตั้งสำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง

“ตอนแรกยังไม่เข้าใจว่าที่ผ่านมาอากงพยายามพัฒนาข้อมูลออกมาในแต่ละช่วง ๆ มีเหตุผลอะไร พอเข้ามาทำงานเริ่มไปค้นดูเอกสารเก่า ๆ ย้อนไปดูงานที่ท่านพัฒนาไว้ พอรู้ที่มาก็เกิดความเข้าใจว่าความต้องการที่แท้จริงคือการนำหลักการโหราศาสตร์นี้มาเผยแพร่ โดยมีหลายรูปแบบทั้งที่เป็นตำรา และปรับให้เป็นสินค้าและบริการเพื่อเข้ากันกับวิถีชีวิตของผู้คนมากที่สุด”

“ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้คนมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตในแต่ละวันมากที่สุด”

แม้จะผ่านกาลเวลามาหลายทศวรรษ ภูมิปัญญาและความรู้ที่ซินแสเฮียงสร้างสมและส่งทอดแบบรุ่นต่อรุ่นมายังทายาทรุ่นที่ 2 จนสู่รุ่นที่ 3 ยังคงทำหน้าที่ต่อไปอย่างซื่อสัตย์ เฉกเช่นเดียวกับปณิธานที่เกิดขึ้นนับแต่แรก จะต่างก็เพียงรูปแบบการนำเสนอและการประยุกต์ใช้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของโลก

“หลักการคงเหมือนเดิม แต่ตัวคอนเทนต์ ตัวมีเดียและแชนแนลอาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของแต่ละรุ่นที่ต้องพัฒนาทำให้ตัวคอนเทนต์เข้ากันกับยุคสมัยนั้น ๆ ได้”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ