TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessขานรับโลกยุคใหม่!! (แบบระมัดระวัง) กับบทบาทที่ปรับเปลี่ยนของแบงก์ชาติ-ก.ล.ต.

ขานรับโลกยุคใหม่!! (แบบระมัดระวัง) กับบทบาทที่ปรับเปลี่ยนของแบงก์ชาติ-ก.ล.ต.

เมื่อโลกกำลังขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี โลกทั้งใบดูเหมือนจะเป็นอิสระมากขึ้น รวดเร็วขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยและอีกหลายหน่วยงาน ภาครัฐที่ทำหน้าที่เป็นผู้รักษามูลค่าของเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน ถูกจับตาว่าจะสามารถทำหน้าที่ในสถานการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์ถูกท้าทายว่าไม่จำเป็นต้องขยายด้วยจำนวนสาขา บวกกับความพยายามที่จะเป็น Virtual Bank ที่สามารถให้บริการทางการเงินด้วยช่องทางดิจิทัล การกำกับดูแล และการบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างเสถียรภาพของการทำธุรกรรม โดยเฉพาะการกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีความพยายามนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระสินค้า/บริการ นอกเหนือจากการเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน

ภาครัฐไม่หนุน สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นตัวกลาง

หลังจากพยายามส่งสัญญาณว่า ไม่หนุนและไม่เชียร์ให้มาแทนที่ระบบการชำระเงินในปัจจุบัน

ในที่สุด ก.ล.ต. ได้ประกาศออกเกณฑ์กำกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมกัหารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน โดยสาระสำคัญได้แก่

  1. ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น
  2. กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ และดำเนินการแก่ลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน 

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการตาม (1) และ (2) อยู่ก่อนแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

ภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รวบรวมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาคผู้ดูแล และผู้ที่ต้องปฏิบัติ วางแผนสร้างสิ่งที่เรียกว่า ภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย (Thailand Financial Landscape) ที่ไม่เพียงแต่วางแนวทางในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นด้าน Digital Footprint และ Virtual Bank เพื่อนำไปสู่ Open Banking เท่านั้น

แต่ยังมองไปถึงการสร้างความยั่งยืนในด้าน Green Taxnomy และ Carbon Neutral เพื่อการเป็น Green Bubble ที่สนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบางประเภทมากเกินไป โดยไม่ตระหนักถึงข้อจำกัด ที่ทำให้มูลคาธุรกิจสูงกว่าพื้นฐาน จนเกิดฟองสบู่ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องคือการมี Resiliency เพื่อการกำกับดูแลตามหลักการที่อิงกับลักษณะความเสี่ยง โดยต้องกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำให้ผู้ให้บริการปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามระดับความเสี่ยงของผู้กู้ โดยหากเป็นกิจกรรมเดียวกันก็จะกำกับเหมือนกัน และสามารถทำสิ่งที่เรียกว่า Regulatory Sandbox โดยเป็นสนามทดลอง(ภายใต้การดูแลของแบงก์ชาติ) ที่เปิดให้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อใช้ในวงจำกัดก่อน เรียกว่ามีอิสระมากขึ้นกว่าเดิม

ประเดิมภูมิทัศน์ใหม่ ปรับกฎเกณฑ์ผ่อนคลาย ลงทุน FinTech ได้อิสระขึ้น

รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (แนวนโยบาย Financial Landscape) ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้อย่างเหมาะสมนั้น  ที่ผ่านมาเทคโนโลยีในภาคการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เริ่มปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (กลุ่ม ธพ.) และให้ความสนใจกับการเพิ่มบทบาทในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital assets: DA) มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการยกระดับการให้บริการทางการเงิน แต่ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ปรับปรุงเกณฑ์ให้กลุ่ม ธพ. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ และยกระดับการกำกับกลุ่ม ธพ. ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป โดยพิจารณาทั้งประโยชน์ต่อประชาชนและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

  • ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้กลุ่ม ธพ. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ได้มากขึ้น เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่ชัดเจน อีกทั้งกลุ่ม ธพ. มีประสบการณ์การลงทุนในธุรกิจ FinTech มากขึ้น และหน่วยงานกำกับดูแลมีแนวทางดูแลความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว
  • ให้บริษัทในกลุ่ม ธพ. สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับDigital Asset( DA) ภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยจำกัดความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจกระทบความเชื่อมั่นต่อ ธพ. และให้กลุ่ม ธพ. พิจารณาการลงทุนหรือจัดสรรทรัพยากรอย่างรอบคอบ โดยเมื่อมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่เป็นสากลหรือมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจนเพียงพอ ก็สามารถปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานการลงทุนที่กำหนดได้เป็นการทั่วไป เช่นเดียวกับเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech
  • หาก ธพ. สามารถยกระดับมาตรฐานของกิจการ DA ใดให้เป็นไปตามที่กำหนดได้ เช่น เรื่อง ธรรมาภิบาล การดูแลความเสี่ยงระบบงาน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ อนุญาตให้ไม่นับเงินลงทุนของกิจการนั้นในเพดานการลงทุน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ DA ในกลุ่ม ธพ. อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานธุรกิจ DA ของประเทศ
  • ให้ธุรกิจที่ยังมีความเสี่ยงหรือยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล สามารถดำเนินงานในกรอบ Sandbox ได้ในวงจำกัดก่อน เพื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศ การดูแลความเสี่ยง และผลกระทบต่อระบบในภาพรวม ก่อนการให้บริการในวงกว้างต่อไป 
  • ให้กลุ่ม ธพ. จำกัดความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงที่อาจเกิดต่อ ธพ. เพื่อให้การดำเนินงานในธุรกิจใหม่ ๆ ของกลุ่ม ธพ. ไม่กระทบต่อผู้ฝากเงินและระบบการเงิน โดยยังไม่อนุญาตให้ ธพ. ประกอบธุรกิจ DA ได้โดยตรง กลุ่ม ธพ. มีโครงสร้างกรรมการที่ไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ และ ธพ. มีระบบงานต่าง ๆ แยกออกจากธุรกิจที่มีความเสี่ยง

นอกจากนี้ กลุ่ม ธพ. ในฐานะที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ถูกกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน และสามารถขยายตลาดสำหรับบริการใหม่ ๆ ได้เร็วจากฐานลูกค้าที่กว้างและหลากหลาย ซึ่งรวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางด้วยนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ใช้บริการ การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ DA ที่มีความเสี่ยงสูงจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง พิจารณาถึงความรู้ทางการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้าด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่า การปรับเกณฑ์ดังกล่าว จะเอื้อให้ธุรกิจในภาคการเงินสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ระบบการเงินได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน เกิดการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และทำให้ธุรกิจ DA ในประเทศมีมาตรฐานการบริการที่เป็นที่ยอมรับ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ดี ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่คาดหวัง รวมทั้งผลการรับฟังความคิดเห็นต่อแนวนโยบาย Financial Landscape

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกร่างหลักเกณฑ์เพื่อรับฟังความเห็นบน BOT website ก่อนที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในครึ่งแรกของปี 2565

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Jitta Wealth เปิด ‘ตำราพิชัยลงทุนให้ชนะสงคราม’ กระจายความเสี่ยง สร้างพอร์ตแกร่ง

ก.ล.ต. ประกาศ ห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าและบริการ มีผล 1 เมษายนนี้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ