TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityTCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย หนุนเสริมการบริหารจัดการน้ำ นำร่องชุมชนต้นแบบ “เติมน้ำใต้ดิน” ต. นนทรี จ. ปราจีนบุรี

TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย หนุนเสริมการบริหารจัดการน้ำ นำร่องชุมชนต้นแบบ “เติมน้ำใต้ดิน” ต. นนทรี จ. ปราจีนบุรี

ท่ามกลางสภาวะอากาศที่ร้อนระอุของเดือนเมษายน ปี 2566 พื้นที่ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ฝนไม่ตกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สวนผลไม้บางส่วนยืนต้นตาย ย้ำเตือนผลลัพธ์เชิงประจักษ์ของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก แต่ท่ามกลางวิกฤติภัยแล้ง แหล่งน้ำที่พบกระจายตัวอยู่ในชุมชน ตำบลนนทรี ยังคงมีน้ำหลงเหลืออยู่มากพอสำหรับทำการเกษตรแบบประคับประคองในสภาวะวิกฤติ และยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน ต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ที่น้ำแห้งขอดไปแล้ว

ที่นี่คือชุมชนต้นแบบ การเติมน้ำใต้ดิน หรือ Managed Aquifer Recharge (MAR) อีกหนึ่งมิติการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับและเกิดผลสัมฤทธิ์ในหลายประเทศ

สำหรับประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ TCP ริเริ่มโครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทย มุ่งเน้นพันธกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครบทุกมิติ ทั้งน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน เพื่อสร้างความยั่งยืนและผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม มีเป้าหมายสูงสุด คือเป็นองค์กร Net Water Positive หรือการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก ลดการใช้ทรัพยากรน้ำและเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นให้ได้มากกว่า 100%

กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ทำงานร่วมกับสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำโครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น นำร่องที่ ต. นนทรี จ. ปราจีนบุรี ซึ่งมีพื้นที่กว่า 42,000 ไร่ เกิดเป็นชุมชนต้นแบบที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม มีองค์ความรู้เรื่องน้ำใต้ดินอย่างแข็งแกร่ง  บริหารจัดการน้ำโดยชุมชน สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ของตนเอง และต่อยอดเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน

กลุ่มธุรกิจ TCP ชูความสำเร็จ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ช่วยชาวบ้านได้กว่า 40,000 ครัวเรือน

“ศึกษา-สำรวจ-สร้าง” ชุมชนต้นแบบบริหารจัดการน้ำด้วยองค์ความรู้

ผศ. ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าถึงการทำงานเติมน้ำใต้ดินในลุ่มน้ำบางปะกงว่า “การเติมน้ำใต้ดิน เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อิสราเอล จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น เนื่องจากภาวะโลกร้อน ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันนี้ไม่ได้เกิดแค่ช่วงฤดูกาล แต่จะเกิดเป็นช่วงละหลาย ๆ ปี  

“การเก็บน้ำบนดินอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว เพราะจะเกิดการสูญเสียไปจากการระเหย เพราะฉะนั้น กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง คือ ใน “ช่วงปีน้ำมาก” จะต้องเก็บสะสมน้ำไว้ใช้ใน “ช่วงปีน้ำน้อย” โดย “การเติมน้ำใต้ดิน” ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี โดยให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของสภาพปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ”

สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดินฯ ได้เริ่มต้นทำโครงการกับลุ่มน้ำบางประปง ตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้เวลา 2 ปีแรกในการศึกษาและสำรวจความเหมาะสมทางด้านอุทกธรณีวิทยา ชั้นดิน ชั้นหิน ปริมาณและคุณภาพของทั้งน้ำผิวดินและใต้ดิน และได้เลือก ตำบลนนทรี เป็นชุมชนต้นแบบการเติมน้ำใต้ดิน จากศักยภาพความเหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดิน เป็นพื้นที่ที่มีการทำเกษตรอินทรีย์มากว่า 20 ปี มีผู้นำชุมชน กลุ่มต่าง ๆ และเครือข่ายในพื้นที่ที่เข้มแข็ง มีความพร้อมในการสร้างชุมชนต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ และต่อยอดการใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี”

จากการศึกษาพบว่าปัญหาหลักของพื้นที่ ต. นนทรี คือ น้ำแล้ง ทั้งที่มีฝนตกปริมาณมากและเกิดปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี น้ำมีมากแต่ไหลทิ้งไปไม่เกิดประโยชน์ แหล่งน้ำผิวดินก็ระเหยไปจนไม่พอใช้ ดังนั้น การกักเก็บน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยบริหารจัดการน้ำให้มีใช้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้หัวใจแห่งความสำเร็จในพื้นที่นี้ คือ ความร่วมมือของคนในพื้นที่ ในการสละที่ดินส่วนตัวเพื่อใช้ในการจัดการเติมน้ำใต้ดิน ทั้งที่ในตอนเริ่มต้นไม่มีอะไรจะเป็นหลักประกันได้เลยว่า พวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากการเติมน้ำเมื่อไหร่ มากน้อยเพียงใด

ทางสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดินฯ ได้แนะนำ 4 วิธี ที่นำมาใช้ในพื้นที่ ต.นนทรี จ.ปราจีนบุรี โดยปรับใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 สระขั้นบันได เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง มีน้ำหลากมาก สามารถกักเก็บน้ำได้มาก และเติมน้ำได้อย่างรวดเร็ว  รูปแบบที่ 2 สระน้ำ เหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำหลากไหลผ่าน น้ำท่วมขัง เก็บกักน้ำได้มาก รูปแบบที่ 3 บ่อวง เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็กที่มีความลาดชัน เป็นร่องน้ำหรือมีทางไหลของน้ำที่ชัดเจน และรูปแบบที่ 4 หลังคา เหมาะกับพื้นที่ชุมชน หรือครัวเรือนที่มีพื้นที่จำกัด น้ำที่เติมลงไปเป็นน้ำสะอาดจึงสามารถใช้ในครัวเรือนได้

กลุ่ม TCP – พันธมิตร สร้างนวัตกรรม รวมพลัง ขับเคลื่อนความยั่งยืน

นอกจากนี้ ทางสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดินฯ ยังมีเป้าหมายในการสร้างและผลักดันแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนไปสู่ระดับนโยบาย รวมถึงทางสถาบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการขุดสระ” เพื่อให้บริการประชาชนในอนาคตอันใกล้ ให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการน้ำในไร่นาของตัวเองและในชุมชนได้ โดยมีข้อมูลในการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ เช่น พื้นที่มีความเหมาะสมในการเติมน้ำหรือไม่ วิธีใดจึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ ต้องใช้ต้นทุนเท่าไหร่ในการบริหารจัดการ เป็นต้น

เพิ่มน้ำต้นทุน ปลุกพลังเศรษฐกิจชุมชน

อาจรีย์ สุวรรณกูล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP เน้นย้ำพันธกิจของกลุ่มธุรกิจ TCP ในฐานะองค์กรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ต้องการให้ชุมชนมีแหล่งน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร

นี่คือภารกิจด้านการบริหารจัดการน้ำที่สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้เริ่มต้นไว้ และลงมือทำโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้การสนับสนุนการจัดการน้ำในหลากหลายมิติ  เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ต่างๆ

“สำหรับโครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อเติมเต็มการทำงานให้ครบทุกมิติ โดยภาครัฐจะดูแลการเติมน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ คูคลองต่าง ๆ บทบาทของกลุ่มธุรกิจ TCP จะเข้าไปช่วยเสริมการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากโครงการฯ เป็นที่น่าภูมิใจ เพราะไม่เพียงแค่ทำการเกษตรได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังปลุกพลังเศรษฐกิจชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน” อาจรีย์กล่าว

ปัจจุบัน ต. นนทรี จ. ปราจีนบุรี จากการที่คนในชุมชนเปลี่ยนมาปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง อาทิ ทุเรียน มังคุดและมะยงชิด โดยในปี 2564 – 2565 มีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรสะสมกว่า 1.8 ล้านบาท มีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น 7.57 ล้านบาทต่อปี และยังพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถีของดีชุมชน มีกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลายเพิ่มขึ้นจาก 61 กิจกรรม เป็น 123 กิจกรรม

ไพจิตร จอมพันธ์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายชุมชนต้นแบบเติมน้ำใต้ดิน อธิบายถึงบริบทที่ผ่านมาของชุมชนนนทรี  ซึ่งมีความมุ่งมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด โดยทำนาข้าวเป็นอาชีพหลัก และปลูกพืชผักสมุนไพรอินทรีย์เป็นอาชีพเสริม แต่ด้วยความขาดแคลนน้ำ มีปริมาณน้ำไม่แน่นอนในแต่ละปีทำให้ชาวบ้านต้องปรับตัวเลือกปลูกพืชที่ทนแล้งได้ดี เช่น มันสำปะหลัง และยูคาลิปตัส

“ถึงแม้เราจะช่วยกันใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านแก้ปัญหาน้ำ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จนพวกเราอยากจะถอดใจ ทำงานหนักแต่คาดเดาผลผลิตไม่ได้จากปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จนเมื่อมีโครงการเติมน้ำใต้ดินเข้ามาช่วยให้ความรู้ ลงแรงร่วมใจกันในการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ ทำให้เกิดความมั่นคงของน้ำ ชาวบ้านสามารถลงทุนปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

ที่สำคัญสามารถสร้างเครือข่ายชุมชนต้นแบบ “เติมน้ำใต้ดิน” ที่มีความแข็งแกร่งและขยายจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนในชุมชน “เห็นผลจริง” และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเติมน้ำใต้ดิน ไม่ใช่ได้แค่คนใดคนหนึ่ง มีปริมาณน้ำกิน น้ำใช้ อย่างพอเพียงแม้ในฤดูแล้ง สามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยศักยภาพของชุมชนเอง และยังพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่น ๆ โดยได้ส่งต่อความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจไปแล้วกว่า 800 คน” ไพจิตร กล่าว

ผลงานการดำเนินโครงการเติมน้ำใต้ดินในระดับตื้น ในพื้นที่ ต. นนทรี จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 สามารถจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินถึง 49 จุด และเติมน้ำได้มากกว่า 5.4 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการเติมน้ำใต้ดินทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 31,000 ไร่ (ร้อยละ 74 ของพื้นที่ตำบล) จากพื้นที่กว่า 42,000 ไร่ มีมูลค่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ 34.17 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน SROI คือ 1 ต่อ 17.09 บาท

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง อยู่ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ดำเนินการสนับสนุนเงินทุน 100 ล้านบาทตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ครอบคลุม 7 จังหวัด ให้ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ ตามกลยุทธ์ “ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

นวัตกรรม ‘Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ’ เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจจาก พืชหมุนเวียน สู่ พลาสติก Bio-PET

5 เทรนด์พลังงานสะอาด ที่น่าจับตาในปี 2023

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ