TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityกลุ่ม TCP - พันธมิตร สร้างนวัตกรรม รวมพลัง ขับเคลื่อนความยั่งยืน

กลุ่ม TCP – พันธมิตร สร้างนวัตกรรม รวมพลัง ขับเคลื่อนความยั่งยืน

ในปี 2561 เป็นครั้งแรกที่กลุ่มธุรกิจ TCP เริ่มพูดถึงกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน (sustainability framework) ว่าจะดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับความยั่งยืนให้กับโลก สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ปี 2565 มีการเปิดเป้าหมายใหม่ขององค์กร ใช้คำว่า “ปลุกพลังเพื่อวันที่ดีกว่า – Energizing a better world for all” เป็นแผนธุรกิจ 3 ปี  2565-2567 และเป็นเป้าหมายธุรกิจที่จะเดินต่อไปจากนี้ ภายใต้กลยุทธ์ 3 เรื่อง Fulfilling ปลุกพลังแบรนด์สินค้า Growing ปลุกพลัง ธุรกิจเติบโต และ Caring ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม 

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า ปลุกพลังความร่วมมือ สู่เป้าหมายความยั่งยืนร่วมกัน ในมุมของ TCP มองเรื่องนี้อยู่ 4 มิติ คือ ความเป็นเลิศด้านผลิตภภัณฑ์ (product excellence) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low Carbon economy) และความยั่งยืน (sustainability)

“ปีนี้ถือเป็นปีที่เราจะเริ่มต้นทำธุรกิจไปพร้อมกับความยั่งยืนครบ 360 องศา บริษัทเราปีนี้เป็นปีที่ 66 ในอดีตเราได้ทำเรื่องพวกนี้มาตลอด แต่วันนี้เรามาพูดถึงในบริบทที่มันมีความเปลี่ยนแปลงกันมากขึ้น ภาพที่ใหญ่มากขึ้น มีตัววัดที่ชัดเจน” สราวุฒิ กล่าว

การศึกษา – ขยะล้นโลก – ทรัพยากรน้ำ

การระบาดของโควิดสร้างผลกระทบกต่อภาคการศึกษาทั่วโลก 2 ปีที่หายไปของเด็ก ผลกระทบนั้นยาวนานกว่าที่คิด ไม่ใช่ว่าวันนี้เด็กกลับมาห้องเรียนแล้ว ทุกอย่างจะสวยงามเหมือนเดิม 

ปีที่แล้ว TCP มีการทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทราบข้อมูลว่าประเทศไทยปี 2564 มีเด็กหลุดออกจากกระบวนการศึกษา 43,000 คน TCP ทำงานกับ  กสศ. มีการให้ทุนการศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะไม่หลุดจากระบบการศึกษา 

มีรายงานที่ออกมาช่วงต้นปี 2022 ระบุว่า เด็กทั่วโลกมี 24 ล้านคนที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเจ้าไวรัสที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และแน่นอนเรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของครอบครัว 

UN ระบุว่า ก่อนโควิดทั่วโลกมีคนที่จัดอยู่ในระดับยากจนสาหัส 581 ล้านคน ปี 2565 เพิ่มเป็น 679 ล้านคน ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะโควิดอย่างเดียว เรื่องสงครามที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากมาย 

TCP เชื่อว่าการศึกษาเป็นคำตอบของหลาย ๆ อย่าง เรื่องของความยากจนความไม่เท่าเทียมกัน การศึกษามีส่วนช่วยได้ ทำยังไงเด็กทั้งโลกจึงจะสามารถเข้าถึง การศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน เรื่องของสิ่งแวดล้อมการศึกษาไม่เกี่ยวไม่ได้

อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นประเด็นร้อนมาก ๆ และเกี่ยวกับธุรกิจธุรกิจเครื่องดื่ม คือ ขยะล้นโลก โดยเฉพาะขยะที่เป็นผู้ร้ายที่สุดในตอนนี้คือพลาสติก พลาสติกจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ TCP ไม่ได้ใช้มากนัก จะใช้กระป๋องมากกว่า 

ตัวเลขปีที่แล้ว มีพลาสติกไหลเข้าสู่มหาสมุทร 7 ล้านตัน ปัจจุบัน TCP ได้ทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เพื่อบริหารจัดการให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

TCP ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2567 จะทำให้ 100% ของบรรจุภัณฑ์ทั้งกลุ่ม TCP เป็นบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และตั้งเป้าว่าภายในปี 2593 (ปี ค.ศ.2050) ทุกบริษัทในเครือจะร่วมกันทำให้ TCP มีความเป็นกลางทางคาร์บอน 

เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ คือ เรื่องทรัพยากรน้ำ TCP ตั้งเป้าจะคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติ ให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในการผลิต ภายในปี 2573 เรียกว่า Net Water Positive 

“เราจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ มันยากง่ายขนาดไหน มันยากแน่และท้าทาย ต้องมาช่วยกันคิดว่าเราจะเปลี่ยนความเป็นไปไม่ได้ ที่เราคิดให้เป็นไปได้ได้อย่างไร ประวัติศาสตร์องค์กรเราทำเรื่องเหล่านี้มามาก ตั้งแต่บริษัทเรายังเล็กอยู่ ตั้งแต่โครงการอีสานเขียว แต่วันนี้โจทย์และบริบทเปลี่ยนไป ความยากของโจทย์ยากขึ้น เราไม่ได้พูดถึงโจทย์ประเทศไทย แต่เป็นโจทย์ของโลกใบนี้ทั้งโลก” สราวุฒิ กล่าว

ตัวอย่างโครงการที่ TCP เริ่มทำแล้วคือ Aluminium Loop เป็นโครงการร่วมกับไทยเบเวอร์เรจแคน (TBC) นำอลูมิเนียมที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ของ TCP ครึ่งหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ที่ TCPใช้ เป็นกระป๋องโลหะ ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 

“เป็นตัวอย่างที่เรารู้สึกว่าพอทำไปแล้วเราก็เริ่มเห็นผล มันอาจจะยังไม่ใหญ่โตมากนะ แต่เราเริ่มเห็นทางเดินของมัน ว่ามันมีทางที่จะไปได้ โดยการทำงานร่วมกับ partner ที่มีความเชี่ยวชาญ” สราวุฒิ กล่าว

จากนี้ไปที่ TCP จะเดินต่อสู่เป้าหมายเรื่องความยั่งยืน มี 3 สิ่งที่สำคัญมาก สิ่งแรก คือ ความร่วมมือ ทั้งกับเอกชนด้วย ทั้งในและต่างประเทศ ความร่วมมือระดับภาครัฐ และความร่วมมือกับผู้บริโภค สองคือ การแบ่งปันทรัพยากร องค์ความรู้ เรื่องอื่น ๆ เป็นความลับในองค์กรได้แต่เรื่องความยั่งยืน ไม่ควรเป็นความลับ และสามคือการปรับตัวและกำหนดเป้าหมายที่ไปได้จริง เป้าหมายที่ท้าทาย ที่ยาก แต่ต้องมั่นใจว่าทำได้จริง คือ มีเทคโนโลยีมีวิธีการที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริง ๆ และคุ้มที่จะทำ

กลุ่ม TCP ปักธงขับเคลื่อนความยั่งยืน

ขจรศักดิ์ เปลี่ยนสกุล ผู้อำนวยการสายงานซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวในเวทีระดมความคิดในหัวข้อ “สร้างสรรค์นวัตกรรม รวมพลังขับเคลื่อนความยั่งยืน” ว่า กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง มีนโยบาย “ปลุกพลังเพื่อวันที่ดีกว่า” และดำเนินกิจกรรมเพื่อความยั่งยืน ทั้งใน in-process หมายถึง ในกระบวนการธุรกิจ และ after-process คือ นอกเหนือจากกระบวนการธุรกิจ 

เป้าหมายเรื่องความยั่งยืน เราทำอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ Product Excellence, Circular Economy, Carbon Neutrality และ Water Sustainability 

ความยั่งยืน ใน in-process เริ่มต้นที่ product excellence กลุ่มธุรกิจ TCP มีผลิตภัณฑ์มากมาย ขายตลาดทั้งภายในประเทศ และส่งออกนอกประเทศ พยายามจะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ใช้วัสดุน้อยลง มีโครงการร่วมมือกับพันธมิตรภาคธุรกิจ มีการลดน้ำหนักขวดแก้วที่ใช้ และลดความหนาของกระป๋องอลูมิเนียม ขวดพลาสติกเป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล

in-process อีกกลุ่มงานหนึ่ง เป็นเรื่องของโรงงานและตัวผลิตภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจ TCP โรงงานทุกแห่งไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ มีการดำเนินการในเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพลังงาน โดยใช้พลังงานหมุนเวียน solar loop การบริหารจัดการการลดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก มีการบริหารจัดการน้ำเสีย โดยมีการบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ในบริเวณโรงงาน ในเรื่องของตัวผลิตภัณฑ์ มีการประเมิน carbon footprint นอกจากนี้ ระบบการขนส่ง มีการปรับเปลี่ยนยานพาหนะที่ใช้ขนส่งให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

ความยั่งยืนนอกกระบวนการดำเนินธุรกิจ (after-process) ได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วนในเรื่องของ circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน TCP มีโครงการร่วมกับ GEPP Sa-Ard (เก็บ สะอาด) ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพที่ทำงานเรื่องของการบริหารจัดการการเก็บขยะ บริหา GEPP Sa-Ard (เก็บ สะอาด) ทำในบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ทำไปแล้ว 12 แห่งในปี 2565 

นอกจากนี้ TCP ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำโครงการที่ชื่อว่า Pack Back เก็บกับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน เป็นโครงการความร่วมมือมากกว่า 56 องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งผู้ค้า ทั้งผู้ผลิต เริ่มมีโครงการนำร่องที่ จ.ชลบุรี

โครงการ Aluminium Loop ที่ได้ร่วมมือกับ บจก.ไทยเบเวอเรจแคน ในเรื่องของการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมแบบครบวงจรในประเทศไทย 

“เรามีการบรรจุสินค้าด้วยกระป๋อง หลังจากผู้บริโภคนำไปใช้แล้ว เราได้นำกระป๋องนั้นกลับมาวนลูป ผลิตออกมาเป็นกระป๋องใหม่ ปัจจุบันเราสามารถนำกลับมา 14.9 ล้านกระป๋อง ผลิตเป็นกระป๋องใหม่ได้ 4.5 ล้านกระป๋อง และยังต้องทำต่อเนื่อ” ขจรศักดิ์ กล่าว

โครงการต่อไปเกี่ยวกับ Circular Economy นั้น TCP ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ IUCN ชื่อโครงการ Extended Producer Responsibility ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปจนถึงการเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับเข้ามา เริ่มปฏิบัติจริงแล้วที่ตำบลหงาว และตำบลบางนอน จังหวัดระนอง

ในเรื่องของ Water Sustainability กลุ่มธุรกิจ TCP ทำเรื่องทรัพยากรน้ำมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ผ่านเรื่องทรัพยากรน้ำบนดิน น้ำใต้ดิน สิ่งที่ทำร่วมกันกับหลายองค์กร ได้แก่ มูลนิธิอุทกภัณฑ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ม สำนักงานสารนิเทศทรัพยากรน้ำ WWF องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักทรัพยากรน้ำใต้ดิน ม.ขอนแก่น ความคืบหน้า ได้เติมน้ำผ่านโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถึง 12 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว

กลุ่มธุรกิจ TCP เล็งเห็นในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่เป็นปัญหาระยะยาวให้ความสำคัญกับการให้โอกาสทางการศึกษา สนับสนุนการศึกษาให้กับเยาวชนไทย ในโครงการปลูกความรู้สู่โอกาส ร่วมมือกับคณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาบุคลากรการสอน หรือ คุณครู โดยร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับมูลนิธิยุวพัฒน์ดูแลกองทุนเพื่อสนับสนุนเยาวชนให้เงินทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนช่วงชั้นรอยต่อ เพื่อให้น้อง ๆ เหล่านี้จะได้ไม่หลุดจากระบบการศึกษา 

“โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ กลุ่มธุรกิจ TCP คงทำคนเดียวไม่ได้ การปลุกพลังครั้งนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยคนใดคนหนึ่ง เรายังต้องร่วมทำกันต่อไป กลุ่มธุรกิจ TCP ขอปวารณาตัวเป็นอีกหนึ่งองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนร่วมกับทุกภาคส่วน” ขจรศักดิ์ กล่าว

ปี 2567 บรรจุภัณฑ์ทุกชนิดที่ TCP เลือกใช้ จะสามารถรีไซเคิลกลับไปได้ทั้งหมด

TBC ตั้งเป้ารีไซเคลกระป๋อง ลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์

สาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด (TBC) กล่าวในเวทีเดียวกันว่า Collaborative Partnership for Sustainability เป็นจุดสำคัญ เพราะเรื่องความยั่งยืนจะต้องดึงเครือข่ายทั้งหมดมาร่วมมือกันเพื่อให้เห็นผลและเพื่อความยั่งยืน  

ไทย เบเวอร์เรจ แคน เป็นผู้ผลิตกระป๋องอลูมิเนียม (aluminium can) ตั้งเป้าเรื่อง sustainability goal เป็น 2 ส่วน คือ Product Stewardship คือ ความเป็นเจ้าของ product ตัวนี้ ต้องดูแลรับผิดชอบอย่างไรเพื่อให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และ social impact ในทางบวก

การทำธุรกิจบนความยั่งยืน จุดสำคัญคือต้องมีความยั่งยืนในมุมของธุรกิจ ต้องหารูปแบบธุรกิจที่จะดึงทุกภาคส่วนเข้ามาและมีผลประโยชน์ลงตัว 

TBC เริ่มทำโครงการ Aluminium Loop ขึ้นมา ด้วยความร่วมมือของหลาย ๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มูลนิธิ 3R TBA ทิเบนเซ่ และเครือข่ายของ TBC ไม่ว่าจะเป็น แองโกล เอเชีย  แลยูเอซีเจ 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่สามารถทำ full loop ในประเทศได้ สามารถ collect source และ recycle และรีดกลับมาเป็นอลูมิเนียมกลับมาใช้ได้ ในเอเชียจะมีแค่ประเทศไทย เกาหลีใต้ จีนและญี่ปุ่นเท่านั้นที่สามารถทำได้ 

“ลักษณะการทำงานของเรา เราสามารถทำให้เป็น real circularity ให้ได้ ครบลูปจริง ๆ เรามองว่าเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมบ้านเราที่ต้องผลักดันในส่วนนี้ เราเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม” สาโรช กล่าว

จากวันนั้นถึงวันนี้ TCP รีไซเคิลไปแล้ว เกือบ 24 ล้านกระป๋อง ตั้งใจว่าปีนี้จะรีไซเคิล Aluminium Loop ประมาณ 230 ล้านกระป๋อง เว็บไซต์ Aluminium Loop มีการติดตามผลทุกวันว่ากระป๋องที่เข้ามากลับมาเป็นกระป๋องเท่าใด

“เรารู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยกัน ทั้งเรื่อง Net Zero และ Carbon Neutrality เราจะทำยังไงให้ตัวกระป๋องของเราใช้ resource ให้น้อย weight optimization ให้แน่ใจว่า aluminium ที่เราใช้มี recycle content ที่เหมาะสม carbon footprint ของ aluminium can จะดีหรือไม่ดีอยู่ที่การรีไซเคิลกลับมา ถ้า aluminium can มาจาก pure aluminium ที่ไม่ได้รีไซเคิลกลับมา carbon footprint จะอยู่ที่ 210 ทุกวันนี้เราสามารถ certified กับทาง TGO แล้วว่า carbon footprint ของ กระป๋องของเรา ตอนนี้อยู่ที่ 64.4 เนื่องจากว่าเราสามารถเอา recycled content ขึ้นมาได้ 70%” สาโรช กล่าว

นอกจากต้องให้แน่ใจว่า material ที่ใช้ในการผลิตกระป๋อง ระยะยาวไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค แล้ว TBC ต้องโยงไปถึง supplier เรียกว่า responsible sourcing ในเรื่องของ aluminium มีองค์กรกลางชื่อว่า Aluminium  Stewardship Initiative ที่จะช่วย audit และ qualify supplier ของ TBC

“ปัจจุบัน recycled content เราอยู่ที่ประมาณ 70% เราตั้งเป้ากับทาง supplier เราแล้วว่า 2030 จะต้องเป็น 80% เพื่อที่จะดึงคาร์บอนฟุตปริ้นลง” สาโรช กล่าว

SCGC กับเป้า Green Polymer และ Decarbonization

ดร.บุตรา บุญเลี้ยง – Head of Climate Resilience Office and Head of Technology Strategy and Portfolio Management บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Commitment ของ SCGC คือ จะไป Green Polymer Portfolio ให้ถึง 1 ล้านตันได้ภายใน 2030 ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงจากพอร์ตทั้งหมด และจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 1 ล้านตัน

การปล่อยก๊าซคาร์บอน (Decarbonization) ลงประมาณ 1 ล้านตัน มี 4 คำหลัก ๆ  reduce, recyclable, recycle และ renewable ซึ่งต้องการความร่วมมือหลากหลายรูปแบบ 

เรื่อง Decarbonization 1 ล้านตันทำอบ่างไร รับรองได้ว่า ไม่มีบริษัทไหนที่ทำอยู่กระบวนท่าเดียวแล้วจะลดไปถึงจุดนั้น และ 1 ล้านตันนี้เป็นแค่ pathway ไปสู่ Carbon Neutrality เรียกว่าต้องเป็นการทำงานร่วมกันทั้งองคาพยพ 

“ผู้ผลิต CO2 อย่างพวกผมจะต้องทำอะไร Business model เป็นอย่างไร จะต้องมี Tax Incentive จากรัฐอย่างไร ทำให้ธุรกิจนี้เวิร์กขึ้น หากต้นทุนของ CCS (Carbon Capture and Storage) อยู่ที่ 100 เหรียญต่อตัน หมายถึง Incentive ต้องมากกว่า 100 มันถึงจะ drive infrastructure นี้ไปได้  สุดท้าย Carbon offset mechanism ไม่ว่าจะเป็น Carbon trading หรืออะไรก็แล้วแต่ อาจจะต้องการการทำงานร่วมกัน ยิ่งกว้างหนักเข้าไปอีก การปลูกป่า มีชุมชน มีกรมป่าไม้ มี TGO เข้ามา มีการ trade มี carbon ที่จะมีคน trade กันและกัน ภายในประเทศ นอกประเทศ มันกลายเป็นการ collaborate ภาพใหญ่ของภูมิภาคนี้ ไม่อยากให้อยู่แค่เมืองไทย อาจจะต้องเป็นอาเซียนด้วยซ้ำ ว่าการเก็บ carbon credit ในอาเซียนเป็นยังไง หรือการแชร์ carbon credit  ผ่านการปลูกป่าในอาเซียนเป็นยังไง” 

แพลตฟอร์มวัดและรับรองคาร์บอนฟุตปรินท์ 

ภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า TGO พัฒนานวัตกรรมเพื่อจะมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก เริ่มจากการวัด มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการคำนวณและรับรองคาร์บอนฟุตปริ้นท์ (Carbon Footprint) ระบบการรับรองของ TGO รับรองได้ทั้งคำนวณ วัด และลดได้อย่างหลากหลายมาก เริ่มต้นตั้งแต่สินค้าและบริการ มีฉลากคาร์บอนฟุตปรินท์ สีทองจะเป็นฉลากลดคาร์บอนฟุตปรินท์ของผลิตภัณฑ์ นอกจากวัดแล้วยังเป็นการรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น circular economy ด้วย

สามารถคำนวณได้ว่าองค์กรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใด การปล่อยมากที่สุดอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะหาการลด และรู้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตลอดทั้ง supply chain ซึ่งในระดับองค์กรนี้ทางหลาย ๆ ภาคส่วน ได้ให้ความสำคัญมากโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา 

ในลักษณะที่ว่าพอคำนวณเสร็จ ใช้รายงานในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตัวอย่าง เช่น CDP หรือ Carbon Disclosure Project บริษัทที่ยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจที่จะซื้อหุ้นต่าง ๆ ต้องเข้ามาดูในแพลตฟอร์มของ CDP และตลาดหลักทรัพย์ในกรณีที่ต้องการให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนที่ยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนก็ดูจากก๊าซเรือนกระจกด้วย 

เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อไปรายงานในแพลตฟอร์มในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ DGSI ทุนตลาดยั่งยืนในระดับโลก นอกจากนั้น อีเวนท์และบุคคล TGO ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีการคำนวณ สามารถซื้อคาร์บอนเครดิต จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจก มาชดเชย 

ฉลากคาร์บอนฟุตปรินท์ สีทองจะเป็นฉลากลดคาร์บอนฟุตปรินท์ของผลิตภัณฑ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคำนวณและผ่านการรับรองทั้งหมดประมาณ 6,000 กว่าผลิตภัณฑ์ 

“ในอดีตที่ผ่านมา การซื้อคาร์บอนเครดิตในแต่ละปี จะอยู่ในช่วงแค่ 200,000 – 300,000 ตัน หลัง COP26 มีการคว้านซื้อในเวลาไม่กี่เดือน ซื้อไปล้านกว่าตัน เพราะจะต้องเก็บไว้บริหารความเสี่ยง ของตัวเอง และเก็บเอาไว้เพราะเดี๋ยวต่อไปมันจะแพงมาก ๆ เพราะฉะนั้นตอนนี้ยังไม่แพงก็เลยซื้อเก็บเอาไว้ก่อน” ภคมน กล่าว

TGO คิดว่าภาคส่วนต่าง ๆ สามารถจะมีส่วนร่วมได้อีก หลากหลาย เพราะว่าก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นได้ในทุกกิจกรรมต่าง ๆในทุกภาคส่วน TGO อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการคำนวณการจัดประชุมสัมมนาอบรม การจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า การแข่งกีฬา การจัดคอนเสิร์ต เทศกาลต่าง ๆ การท่องเที่ยวการเดินทางการขนส่ง งานแต่งงานงานวันเกิด เพื่อให้ทุกคนสามารถที่จะดาวน์โหลดแพลตฟอร์มไปใช้ในการคำนวณ และซื้อคาร์บอนเครดิต มาชดเชยได้

TGO คาดว่าจะพัฒนาระบบการคำนวณให้เสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ 

“เราพยายามจะทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่เรียบง่าย ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทุกท่านก็จะสามารถมีแพลตฟอร์มออนไลน์ในมือถือสามารถที่จะคำนวณ และชดเชยได้” ภคมน กล่าว

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปลี่ยนอนาคตประเทศไทย ด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

เซ็นทรัลพัฒนา จับมือ กลุ่ม ปตท. และอีโวลท์ ขยายสถานีชาร์จรถ EV ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล 37 แห่งทั่วประเทศ

SVOLT ประกาศความสำเร็จ พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่โซลิดสเตต ขับเคลื่อนรถ EV ได้ไกลขึ้นถึง 1,000 กม.

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ