TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessฟินโนมีนา นำเสนอ "Guru Port ลงทุนตามกูรูชั้นนำ"

ฟินโนมีนา นำเสนอ “Guru Port ลงทุนตามกูรูชั้นนำ”

ผ่านไปครึ่งปีแล้ว แต่สถานการณ์ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกในปีนี้ โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างตลาดวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ขยับปรับตัวผันผวนอย่างหนักทำเอานักลงทุนทั้งหลาย ทั้งรายหลักรายย่อย พลิกตำราถามหากูรูกันแทบไม่ทัน ในฐานะผู้ที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการมาสักระยะหนึ่ง จึงได้จับมือกับกูรูการลงทุนมาให้ข้อมูลภาพแนวโน้มและทิศทางตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นี้ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และมีปัจจัยใดบ้างที่ต้องเฝ้าระวัง 

FINNOMENA (ฟินโนมีนา) เผยอินไซต์คนไทยสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น พบเทรนด์การลงทุนเปลี่ยนไป โดยคนรุ่นใหม่ชอบเลือกด้วยตนเอง หนุนการลงทุนแบบ DIY มาแรงขึ้นแท่นแผนยอดนิยม นำเสนอ “Guru Port ลงทุนตามกูรูชั้นนำ” เพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนรับความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและเงินเฟ้อพุ่ง

โดยแผนการลงทุนยอดนิยมของคนไทยคือ การเลือกลงทุนด้วยตนเอง หรือแบบ DIY ที่มากถึง 40% รองลงมา 20% เป็นการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในกองทุนรวมลดหย่อนภาษี และ 10% เป็นการลงทุนเพื่อเป้าหมายเงินเก็บ 1 ล้านบาท

กสิณ สุธรรมนัส CEO & Co-Founder บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นยังคงเป็นไปในแนวเดียวกันคือผันผวนสูง โดยมีปัจจัยกดดันจากภายนอกอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่วนปัจจัยภายในก็คือนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ และระดับหนี้สิน 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตามากที่สุด คือ ภาวะเงินเฟ้อ เพราะไม่ได้สูงแค่ในประเทศเดียว แต่สูงพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งหัวข้อที่ต้องติดตามไม่ใช่ภาวะถดถอย แต่เป็นภาวะเศรษฐกิจซบเซา (stagflation) ที่เงินเฟ้อสูง โตต่ำ และคนตกงานสูง โดยขณะนี้ เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐฯ เผชิญไปแล้ว 2 เงื่อนไข คือ เงินเฟ้อสูงและโตต่ำ แต่การว่างงานยังคงต่ำอยู่ 

ดังนั้น ต้องรอดูกันต่อไปว่า ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ การว่างงานของสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าการว่างงานน่าจะเพิ่มขึ้นเพราะเศรษฐกิจไม่โต ทำให้หลายบริษัทในเวลานี้ออกมาประกาศปรับโครงสร้าง ปลดพนังกงานชุดใหญ่กันบ้างแล้ว 

กสิณ กล่าวว่า ถ้า Stagflation เกิดขึ้น นักลงทุนก็ยิ่งจำเป็นต้องปันส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นให้น้อยที่สุดและทำอย่างรอบคอบมากที่สุด

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ในฐานะของโบรกเกอร์ซื้อขายกองทุนชั้นนำ สิ่งฟินโนมีนาค้นพบ คือ นักลงทุนเริ่มโฟกัสที่เป้าหมายมากขึ้น ไม่เลือกลงทุนแบบหว่านหรือไม่ลงทุนเพราะกลัวว่าตนเองจะตกขบวนอีกต่อไป มีการมองหาจังหวะการลงทุนมากขึ้น เข้าลงทุนเป็นไม้ ๆ เริ่มสร้างวินัยการลงทุนด้วยตนเองมากขึ้น 

FINNOMENA (ฟินโนมีนา) ในปี 2564 สามารถสร้างผลกำไรเติบโตกว่า 497.77% จากปี 2563 ที่มีกำไร 4.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 29.6 ล้านบาท ขณะที่รายได้เติบโตจาก 159.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 466.35 ล้านบาท ในปี 2564 หรือ เพิ่มขึ้น 192.69%

ข้อมูลของผู้ลงทุนบนแพลตฟอร์ม FINNOMENA พบว่าอาชีพที่สนใจลงทุนสูงสุด 52% เป็นพนักงานบริษัทเอกชน รองลงมาเป็นธุรกิจส่วนตัว 12% และข้าราชการ 10% สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจด้านการลงทุนของคนไทย ที่เน้นเป็นกลุ่มคนทำงานมากยิ่งขึ้น และโดยสัดส่วนอายุของนักลงทุนอายุ 30-39 ปี คิดเป็น 35% และอายุ 20-29 ปี คิดเป็น 28% บ่งบอกถึงภาพรวมของเทรนด์การลงทุนที่เปลี่ยนไป

ขณะเดียวกัน ด้วยสถานการณ์วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาในตลาดกลายเป็นคนวัยทำงาน อายุต่ำกว่า 40 ปีมากขึ้น โดยคนกลุ่มนี้เริ่มตระหนักว่า การลงทุนเป็นหนทางการเพิ่มความมั่งคั่งทางหนึ่ง ในช่วงเวลาที่การออมเงินไม่สามารถพึ่งพาได้ 

“คนเริ่มมีความรู้ความเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะลงทุนในตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งนับเป็นผลดีกับตัวเขาเอง และแน่นอนก็เป็นผลดีต่อฟินโนมีนาด้วย” กสิณ กล่าว

ด้าน ดร.แอนดรูว์ สต๊อทช์ ผู้ก่อตั้ง A.Strotz Investment Reseach (ASIR) หนึ่งในกูรูจัดพอร์ทการลงทุนที่ได้รับความนิยมกล่าวว่า ประเด็นร้อนแรงของเศรษฐกิจโลกที่นักลงทุนหลายคนมองข้ามก็คือ วิกฤติอาหาร (food crisis) 

ดร.แอนดรูว์ คาดการณ์ว่า ในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า ในหลายพื้นที่ของโลกจะเกิดการประท้วงเพราะภาวะขาดแคลนอาหาร ถีบให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในฐานะนักลงทุนในวิกฤตก็คือโอกาส ดังนั้น สินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์จึงอยู่ในช่วงที่ดีที่น่าเข้าไปลงทุน 

โครงการ Guru Port ลงทุนตามกูรูชั้นนำ เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2562 โดยพอร์ตที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น ได้แก่ พอร์ต A.Stotz All-Weather Strategy ที่ทางตนได้ออกแบบและร่วมพัฒนากับทางฟินโนมีนา ซึ่งจากสำเร็จดังกล่าว นำมาสู่การร่วมกันออกแบบพอร์ตที่ 2 คือ All-Weather Alpha Focus ที่นักลงทุนให้ความสนใจร่วมลงทุนภายใต้คำแนะนำดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 2 พันกว่าล้านบาท และในเร็ว ๆ นี้ กำลังจะร่วมมือกันในการออกแบบพอร์ตการลงทุนที่ 3 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการบริหารความเสี่ยงในสถานการณ์ตลาดที่ผันผวนอย่างเช่นทุกวันนี้

ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ กูรูการลงทุนเจ้าของเพจ MacroView กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกต่อจากนี้จะไปในทิศทางไหนขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัยหลัก คือ การว่างงานของสหรัฐฯ ตลาดการเงินของยุโรป การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 

ขณะที่ วิธาน มีนาภินันท์ เจ้าของเพจการลงทุน BottomLiner ซึ่งเน้นการลงทุนระยะสั้น กล่าวว่า สิ่งที่ต้องติดตามก็คือเงินเฟ้อ โดยคาดว่าเงินเฟ้อน่าจะถึงจุดสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ดังนั้นตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีก กระนั้นในแง่ของการลงทุนระยะสั้น ตัวที่น่าสนใจก็คือพวกพลังงานทางเลือกอย่างอีวี ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ พร้อมแนะให้มองกระแสตลาดให้ออก ติดตามข่าวสาร แล้วไหลตามตลาด 

ชาญวิทย์ เกษตรภิบาล เจ้าของเพจลงทุน DeepScope ยอมรับปัจจัยเงินเฟ้อจะทำให้ตลาดตลอดทั้งปี 2565 ผันผวนอย่างรุนแรง ดังนั้นที่พอจะช่วยนักลงทุนได้ก็คือหาเครื่องมือและข้อมูลเข้าช่วย ซึ่งโดยส่วนตัวของพึ่งระบบเอไอในการวิเคราะห์ และเท่าที่เห็นโอกาสในตอนนี้ก็คือตลาดอีวี และธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยังมีโอกาส

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดเอาแน่เอานอนไม่ได้ กูรูการลงทุนแนะนำว่า กุญแจสำคัญก็คือให้กระจายพอร์ทการลงทุน แบ่งสันปันส่วนให้ดี โดยช่วงนี้แนะให้ลงทุนในหุ้นให้น้อยหน่อย มองหาตราสารหนี้ของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานมั่นคง แบ่งเงินลงทุน และลงทุนที่ละน้อย ๆ หาจังหวะเข้าและออกให้ดี ๆ ติดตามอ่านข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญที่สุดก็คือให้ครูพักลักจำจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน คือให้ดูว่าผู้รู้เหล่านี้ลงทุนอย่างไร แล้วพิจารณาว่าตรงกับจริตของตนเองหรือไม่ ก่อนนำมาปรับใช้ 

ขณะที่ กสิณ เสริมเทคนิคส่วนตัวว่า อย่าลงทุนไปตามกระแสของตลาดส่วนใหญ่ ให้ลองสวนกระแสดูบ้าง อย่างเช่น หุ้นเทคโนโลยีที่กำลังร่วงระนาวอยู่ในเวลานี้ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ให้ลองแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เลือกเอาตัวที่คิดว่าอนาคตยังคงต้องมีอยู่ในสังคม 

การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในครั้งนี้มีขึ้นพร้อมกับที่ ฟินโนมีนาได้ร่วมมือกับกูรูด้านการลงทุน อย่าง Deepscope, BottomLiner และ MacroView นำแนวคิดที่โดดเด่นของแต่ละกูรูมาพัฒนาเป็นพอร์ตการลงทุนทางเลือกสำหรับการตัดสินใจของนักลงทุนในสภาวะที่ตลาดมีความผันผวน ซึ่งแต่ละพอร์ตของทั้ง 3 กูรู จะมีความพิเศษและแตกต่างกันออกไป เพื่อให้นักลงทุนได้เลือกตามความเหมาะสม 

• Guru Port – Growth Momentum AI (GMAI) โดย Deepscope: พอร์ตลงทุนที่เน้นการลงทุนในกองทุนที่ NAV เติบโตเร็วด้วย momentum ผ่านการคัดเลือกโดย AI จาก Deepscope ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนา AI สำหรับการลงทุน

• Guru Port – Optimal Megatrend Opportunities (OMO) โดย BottomLiner: ลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นธีม  เมกะเทรนด์ โดยปรับระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้รับ ในระดับที่ควบคุมได้

• Guru Port – MRI โดย MacroView: ลงทุนผ่านแนวทางการสแกนกองทุนด้วยปัจจัยเชิง Macro ความเสี่ยง (Risk) และการวิเคราะห์แบบ Induction (MRI)

โดยแต่ละกองทุนจะมีการลงทุนเริ่มต้นที่ 500,000 บาท และลงทุนขั้นต่ำครั้งต่อไปที่ 25,000 บาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนคาดหวังว่าจะเฉลี่ยปีละ 7 -15% 

ทั้งนี้ ในปี 2565 ถือเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทายของการลงทุน โดยเฉพาะปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แม้ว่าขณะนี้หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติกันอีกครั้ง แต่เศรษฐกิจก็อาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้น การลงทุนเพื่อลดความผันผวน จำเป็นต้องจัดพอร์ตในภาพรวมให้เหมาะสม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ