TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessส่องส่วนลด EV ของไทย และเทรนด์อีวีที่น่าสนใจทั่วโลก

ส่องส่วนลด EV ของไทย และเทรนด์อีวีที่น่าสนใจทั่วโลก

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดรถ EV ในไทยเกิดความตื่นตัวพอสมควรเมื่อมีข่าวว่าภาครัฐกำลังเข็นแพคเกจส่งเสริมการใช้รถ EV ให้เป็นของขวัญวันปีใหม่ โดยรถบางรุ่นอาจได้รับส่วนลดสูงสุดถึง 7-8 แสนบาท

รถ EV ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของหลายประเทศที่ใช้ต่อกรกับปัญหาโลกร้อนและก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มักสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนยุคที่ผ่านมา

จากกระแสนิยม สู่การเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม

หากพูดถึงความดีความชอบในภาพรวม เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า Tesla และอีลอน มัสก์ มีส่วนสำคัญในการผลักดันตลาดรถ EV ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รถยนต์จากค่ายนี้เป็นที่ต้องการของคนทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในจีนที่ถือว่ามีตัวเลือกรถ EV นับไม่ถ้วน ประกอบกับอุปนิสัยส่วนตัวของอีลอน มัสก์ ที่มักช่วงชิงพื้นที่ข่าวได้อยู่เสมอ ทำให้กระแสของรถ EV มีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเดือนที่แล้ว (พฤศจิกายน 2563) มูลค่าของ Tesla แตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์หรือราว 33.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมาไล่เรียงพร้อม ๆ กับข่าวการขายหุ้นบางส่วนเพื่อเสียภาษีครั้งแรกของอีลอน มัสก์ ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.7 แสนล้านบาท หรือมากกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทยทุกคน เรียกว่าเป็นสีสันให้สื่อและคนทั่วโลกได้พูดถึงกันอยู่หลายวัน 

ความสำเร็จของ Tesla ที่เบอร์หนึ่งของรถ EV ถือเป็นการปูทางให้ค่ายอื่นสามารถทำตลาดได้ง่ายขึ้น บางปรากฏการณ์ก็น่าสนใจจนไม่อาจกะพริบตา เช่น Rivian ที่เปิดขายหุ้นเมื่อเดือนที่แล้ว มีมูลค่าราวหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ ถือเป็น IPO ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปีนี้ และมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า Ford ที่มีอายุนับร้อยปี ทั้งที่ Rivian นั้นเป็นบริษัทใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Ford และ Amazon อีกทีหนึ่ง

ทุกทิศมุ่งสู่ EV

ปีที่แล้วทั่วโลกมีรถ EV รวมแล้วกว่า 10 ล้านคัน ซึ่งแม้จะเป็นยุคที่ผู้คนตื่นตระหนกกับโควิด-19 แต่ก็ไม่อาจฉุดรั้งความแรงของอุตสาหกรรมนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและยุโรปที่ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง 

หากเจาะลึกเฉพาะในแถบยุโรปต้องยกให้กับเยอรมนีโดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ปลั๊กอินที่เติบโตอย่างน่าตกใจ เพราะในขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์คันใหม่ลดลงกว่า 26% ในเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา (เมื่อเทียบแบบปีต่อปี) แต่ตลาดรถ EV ในกลุ่มปลั๊กอินกลับเติบโตขึ้นกว่า 37% เมื่อเทียบในลักษณะเดียวกัน 

ปี 2563 ทั่วโลกมีรถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกกว่า 370 รุ่น เรียกว่าเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้าราว 40% ซึ่งประเทศที่มีให้เลือกมากที่สุดก็คือจีน และถือเป็นตลาดรถ EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ที่น่าจับตาก็คือฝั่งยุโรปเพราะมีจำนวนรุ่นให้เลือกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และกว่าครึ่งของรถในตลาดเป็นกลุ่ม SUV ที่มอบอรรถประโยชน์และตอบโจทย์คนยุคนี้ได้มากกว่า อีกฟากหนึ่งก็เป็นที่ถูกใจบรรดาค่ายรถเพราะตั้งราคาได้สูงกว่าและมีมาร์จินดีกว่ารถยนต์รุ่นเล็ก 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดิน ตั้งเป้าว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า ยอดขายรถ EV จะต้องคิดเป็น 50% ของทั้งหมด และธนาคาร UBS เชื่อว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า รถยนต์ที่จำหน่ายทั่วโลกกว่า 20% จะเป็นรถ EV ขณะที่ค่ายรถหลายรายก็เตรียมหันมาผลิตเฉพาะรถ EV เพียงอย่างเดียวในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Jaguar, Volvo หรือ Lotus

คาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าส่วนแบ่งทางการตลาดของ Tesla จะลดลงอย่างชัดเจน เพราะจะมีคู่แข่งหน้าใหม่พร้อมกับรถ EV รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดเป็นตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ดี Tesla น่าจะยังคงครองความเป็นหนึ่งในด้านนี้ได้อีกยาว อย่างน้อยเหล่านักลงทุนก็เชื่อเช่นนั้น ดังเห็นได้จากราคาหุ้น Tesla ที่เกาะกระแสนิยมได้อย่างต่อเนื่อง

เอกชนขานรับ ขยับตัวสู่ EV

ไม่เฉพาะผู้ใช้รถทั่วไปเท่านั้น ในฟากเอกชนเองก็มีการขยับตัวครั้งใหญ่ของบริษัทระดับโลกมากมาย ส่วนหนึ่งก็เพราะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น  

  • Amazon ตั้งเป้าหยุดปล่อยมลพิษในปี 2583 และมีการสั่งรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ถึง 100,000 คัน เมื่อปีที่แล้ว
  • DHL ประกาศในปี 2562 ว่าระยะกลางจะหันมาใช้รถ EV เพื่อจัดส่งจดหมายและพัสดุทั้งหมด และจะหยุดปล่อยมลพิษจากกิจการโลจิสติกส์ในปี 2593
  • IKEA เปลี่ยนการจัดส่งในเมืองส่วนใหญ่ให้ไร้มลพิษในปี 2563 และจะมีผลกับทุกเมืองภายในปี 2568

เรียกว่ายักษ์ใหญ่ระดับโลกโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ต่างมีนโยบายด้านนี้กันทั้งสิ้น รายชื่ออื่น ๆ เพิ่มเติมก็เช่น FedEx, Japan Post, JD, SF Express, Suning, UPS, Walmart, Pepsi เป็นต้น

อีกทั้งยังมีโครงการอย่าง EV100 ของทาง The Climate Group ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของบริษัทชื่อดังทั่วทุกทวีป โดยให้คำมั่นว่าจะเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นวิถีใหม่ภายในปี 2573 โดยเมื่อปีที่แล้วมีการเปลี่ยนเป็นรถ EV ไปแล้วกว่า 169,000 คัน

อุปสรรคและความท้าทาย

อุปสรรคต่อการเติบโตของรถ EV มีหลายข้อที่ท้าทาย อาทิ ราคาค่าตัวที่สูงกว่ารถยนต์แบบเดิมเมื่อเทียบขนาดเท่ากัน ทำให้ผู้ซื้อเกิดความลังเล แต่ปัญหานี้อาจแก้ไขได้หากออกมาตรการให้เช่าซื้อแบตเตอรี่โดยคิดเป็นรายเดือนแทนที่จะต้องจ่ายก้อนเดียว และยังเป็นการลดภาระของผู้ซื้อในกรณีที่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่อีกด้วย ขณะเดียวกันเทคโนโลยีใหม่น่าจะทำให้ราคาแบตเตอรี่ในอีก 4 ปีข้างหน้าลดลงได้กว่าครึ่งหนึ่ง

อุปสรรคอีกข้อหนึ่งก็คือเรื่องของจำนวนสถานีชาร์จสาธารณะ ซึ่งถือเป็นปัญหาไก่กับไข่ว่าอะไรควรมาก่อน หากมองในภาพรวมต้องยอมรับว่าจำนวนสถานีชาร์จยังมีอยู่น้อยมาก แม้จะเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัวแล้วก็ตาม ซึ่งไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีแนวโน้มดังกล่าวน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะหากเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้วก็ถือได้ว่าทั่วโลกมีจำนวนสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า เฉพาะในประเทศจีนมีเกือบ 800,000 จุด ในปี 2563

หากเทียบตามสัดส่วนระหว่างสถานีชาร์จสาธารณะกับจำนวนรถ EV ต้องยกให้เกาหลีใต้มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยชิลี เม็กซิโก อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ ส่วนของไทยอยู่ในระดับเดียวกับอังกฤษ โปแลนด์ ออสเตรเลีย และเยอรมนี และดีกว่าสหรัฐอเมริกาอยู่พอสมควร

เทคโนโลยีบนความไม่แน่นอน

ที่จริง ณ ขณะนี้ต้องถือว่าตลาดรถ EV มีความแข็งแกร่งพอสมควร ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี แต่ในยุคที่ทุกอย่างเกิดการดิสรัปต์ได้ไม่ยาก จึงไม่แปลกที่หลายคนยังมองรถ EV อยู่ห่าง ๆ ด้วยความไม่แน่ใจว่ารถแบบใดคือคำตอบ 

ปัจจุบันเราแบ่งรถ EV (Electric Vehicle) ออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) 

หลายคนเชื่อว่าอนาคตของตลาดนี้คือ BEV แต่การสรุป ณ ตอนนี้อาจเร็วไป อย่างเช่นแนวโน้มที่น่าสนใจในกลุ่มยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งแม้จะมีอุปสรรคในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของสถานีเชื้อเพลิงและราคาไฮโดรเจน แต่ก็ถือเป็นรถประเภทที่เหมาะกับงานหนัก เช่น รถบรรทุกและรถบัสโดยสาร ซึ่งค่ายที่ประกาศชัดเจนในเรื่องนี้ก็เช่น Hyundai ที่ประกาศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่าเตรียมเปิดตัวรถเชิงพาณิชย์ประเภทเซลล์เชื้อเพลิงครบทั้งไลน์ภายในปีอีก 7 ปีข้างหน้า 

ที่จริงต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีของรถ EV ยังไม่นิ่งสนิทและอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทุกวันนี้แต่ละค่ายต่างพยายามเข็นนวัตกรรมล่าสุดออกมาแข่งขันกัน ทำให้นึกถึงยุคแรกที่มีรถยนต์ถือกำเนิดขึ้นในโลก อย่างเช่นปี 2451 มีผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกา 253 ราย ก่อนที่จะลดลงเหลือเพียง 44 รายในอีกแค่ 20 ปีถัดมา หลายคนมองว่าตลาดรถ EV ในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน มีทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ มีทั้งเทคโนโลยีผสมผสานและนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเทรนด์หลักของโลกในอนาคต 

สำคัญที่มาตรการรัฐ

หลายประเทศที่มียอดจำหน่ายรถ EV สูงขึ้นล้วนมาจากมาตรการรัฐ อย่างเช่นในเยอรมนีที่มีนโยบาย “Umweltbonus” หรือโบนัสด้านสิ่งแวดล้อม โดยผู้ซื้อรถ EV คันใหม่จะได้รับเงินสนับสนุนสูงสุดถึง 6,000 ยูโร หรือราว 230,000 บาท และมีการเพิ่มโบนัสดังกล่าวเมื่อกลางปีที่แล้วเป็นเกือบ 350,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

เยอรมนียังมีมาตรการลดภาษีสำหรับรถ EV ที่ซื้อมาใช้ในนามบริษัท นโยบายจอดรถฟรีและต่อไปอาจมีการจำกัดให้เข้าเมืองชั้นในได้เฉพาะรถประเภทนี้เท่านั้น ประกอบกับเป็นช่วงที่มีตัวเลือกมากขึ้นทั้งจากค่าย Tesla, Volkswagen, Mercedes-Benz, BMW, Audi, Hyundai ฯลฯ แต่ที่สำคัญก็คงเป็นมาตรการอันจริงจังของอียูที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 55% ภายในปี 2573 (เมื่อเทียบกับปี 2533)

ส่วนในประเทศจีน ปีนี้คาดว่าน่าจะมียอดขายรวมกว่า 3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเท่าตัว และปีหน้าอาจแตะระดับ 5 ล้านคัน เพราะจะเป็นปีสุดท้ายของมาตรการอุดหนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งน่าจะเป็นปีที่คึกคักเพราะเป็นครั้งแรกที่ค่ายรถต่างชาติจะสามารถลุยตลาดได้เองอย่างอิสระหลังจากที่โดนกำหนดให้ต้องร่วมทุนกับบริษัทจีนมานานกว่า 3 ทศวรรษ

ไทยรอลุ้นสัปดาห์หน้า

สำหรับประเทศไทยนั้นไม่สัปดาห์หน้าก็สัปดาห์แรกหลังปีใหม่จึงจะเป็นที่รู้กันว่า มาตรการจูงใจซื้อรถ EV ที่วางไว้ประมาณ 4-5 ปี จะผ่าน ครม. หรือไม่ โดยถือเป็นหนึ่งในมาตรการมุ่งสู่ Net Zero ที่ไทยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608 

มาตรการดังกล่าวถือเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยมีเป้าหมายจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถ EV ราว 3 แสนคันในระยะเวลา 5 ปี ภายใต้กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท และเป็นมาตรการที่ยิงตรงไปยังค่ายรถเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการจ่ายเงินแก่ผู้ซื้อรายย่อยอย่างในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ที่จองรถแต่ไม่จ่ายเงินจำนวนหลายหมื่นคัน 

มาตรการรอบนี้จะทำให้รถ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ได้ส่วนลดประมาณ 5 แสนบาท โดยมีการลดอัตราภาษีศุลกากร 40% ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% และรัฐอุดหนุนอีกสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน โดยหากแบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุนประมาณ 70,000 บาท และถ้ามีขนาดเกินกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท

ส่วนรถ EV ที่มีราคาเกิน 2 ล้านบาท จะได้ส่วนลดราว 7-8 แสนบาทต่อคันจากการลดภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต แต่จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับรถกลุ่มนี้

ปัจจุบันค่ายรถจีนได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีนำเข้าที่ 0% ตามข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน แต่บอร์ด EV ได้เตรียมมาตรการเสริมโดยอนุโลมให้ค่ายรถ EV จากประเทศอื่นสามารถรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้สำหรับรถที่จะนำเข้ามาจำหน่ายใน 2 ปีแรก แต่หลังจากนั้นจะต้องเข้ามาผลิตภายในประเทศเพื่อชดใช้ตามเงื่อนไขของมาตรการครั้งนี้ 

มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคา 2565 เป็นต้นไป หากพิจารณาเห็นชอบทันภายในสัปดาห์หน้า และถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนโดยเฉพาะบรรดาสาวกรถ EV 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ