TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityเป๊บซี่โค ชูเกษตรยั่งยืน ตอบโจทย์เกษตรกรมันฝรั่งเงินล้าน

เป๊บซี่โค ชูเกษตรยั่งยืน ตอบโจทย์เกษตรกรมันฝรั่งเงินล้าน

“เมื่อก่อนแม่เป็นหนี้ เริ่มจากหนี้หลักหมื่น มาเป็นหลักแสน ชีวิตลำบากมาก แต่พอมาปลูกมันฝรั่งชีวิตดีขึ้นเยอะเลย แต่ละปีแม่มีเงินเหลือเป็นหลักล้าน” สุนีย์ จักรแก้ว ย้อนอดีตให้ฟังด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

เจ้าของฉายา “เกษตรกรเงินล้าน” ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะเธอกล้าลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เธอเปลี่ยนจากการปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักของประชากรกว่าครึ่งโลกมาปลูกมันฝรั่งแทน

แม่สุนีย์ วัย 59 ปี ปลูกมันฝรั่งมาแล้ว 15 ปี ไร่ของเธออยู่ที่ ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย เธอเริ่มปลูกมันฝรั่งเพียง 1 ไร่ ในปีแรก พอเห็นรายได้ดี ก็ขยับขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 100 ไร่ เนื่องจากอายุมากขึ้น ทำไม่ไหว ตอนนี้ทำแค่ 65 ไร่

สุนีย์ จักรแก้ว

“เมื่อก่อนแม่ปลูกหลายอย่าง ข้าว ข้าวโพดหวาน ได้กำไรแค่ 8,000 บาทต่อไร่ แต่ปลูกมันฝรั่งเหลือเงินเยอะกว่า เพราะ 1 ไร่ เหลือกำไร 15,000-20,000 บาท ต่อการปลูก 1 รอบ ตอนปลูก 100 ไร่ แม่ก็เหลือกำไรเป็นล้าน ๆ” แม่สุนีย์เล่าให้ฟัง

เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ปลดหนี้ได้ ชีวิตก็เปลี่ยนไป ตอนนี้เธอส่งมอบธุรกิจให้ลูก ๆ ไปทำต่อ

มันฝรั่ง พืชทางเลือก

อนุวัฒน์ พรหมมิ

อนุวัฒน์ พรหมมิ เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกมันฝรั่งเมื่อ 7 ปีก่อน เล่าว่า ราคารับซื้อข้าวไม่แน่นอน ขึ้นกับพ่อค้าคนกลาง บางทีก็โดนกดราคา แต่มันฝรั่งเป็นพืชทางเลือกใหม่ที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน

อนุวัฒน์ วัย 43 ปี ปัจจุบันเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะช้าง เริ่มต้นด้วยการปลูกมันฝรั่ง 2 ไร่ ตอนนั้นทำกำไรได้ 25,000 บาทต่อไร่ ตอนนี้เขามีเนื้อที่เพาะปลูก 30 ไร่ ที่ ต.เกาะช้าง

ไร่มันฝรั่งของอนุวัฒน์เป็นแปลงต้นแบบ (Model farm) ที่ปลูกมันฝรั่งตามแนวทางเกษตรยั่งยืน เขาไม่เผาฟางและตอซัง แต่ใช้วิธีฝังกลบซึ่งทำให้ได้ปุ๋ยและช่วยให้ดินมีคุณภาพมากขึ้น จากที่เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกโดยใช้ระบบน้ำร่อง ซึ่งต้องใช้คนงานและจำนวนวันในการรดน้ำมากขึ้น แต่อนุวัฒน์ เป็นคนแรกๆ ที่เปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมใหม่หรือระบบน้ำหยด ซึ่งเขาบอกว่าช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดแรงงานได้มาก ระบบน้ำหยดใช้น้ำไม่มากแต่ค่อย ๆ ให้เรื่อย ๆ เขาจะไปติดเครื่องตอนเช้า สาย ๆ ก็ไปทำงานอย่างอื่น พอบ่ายกลับไปดูแล้วก็ปิดเครื่อง และไปเปิดน้ำให้แปลงถัดไป

ข้อดีของระบบน้ำหยดคือ ประหยัดน้ำได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ และประหยัดต้นทุนแรงงาน 12 เปอร์เซ็นต์

“ตอนแรกเกษตรกรไม่กล้าลอง เพราะสงสัยว่าพืชจะกินอิ่มหรือ แต่พอได้มาทดลองทำเองถึงได้รู้ ยิ่งบ้านเราคาดการณ์เรื่องฟ้าฝนไม่ค่อยได้ ถ้าใช้ระบบน้ำหยดเราสามารถควบคุมการให้น้ำได้ ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องเปิดเครื่องให้น้ำ ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงเน่า” อนุวัฒน์กล่าว

เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับไร่ของอนุวัฒน์ ตอนที่ปลูกโดยใช้ระบบน้ำร่อง เขาเก็บเกี่ยวได้ 3.2 ตันต่อไร่ แต่พอมาใช้ระบบน้ำหยด ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 4.8 ตัน

วินัย แสนสุข เกษตรกรวัย 68 ปีซึ่งปลูกมันฝรั่งมาแล้ว 7 ปี กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมมีส่วนสำคัญอย่างมากกับเกษตรกร การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารช่วยทำให้รู้ถึงข้อมูลสภาพอากาศ ความชื้นในดิน และสภาพพื้นที่การเกษตร ช่วยให้เกิดการวิเคราะห์และการวางแผนการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมและการจัดการที่ดิน น้ำ แสงอาทิตย์ และอุณหภูมิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

เกษตรยั่งยืนคือคำตอบ

แม่สุนีย์ อนุวัฒน์ และ วินัย เป็นเกษตรกรตัวอย่างของ เป๊บซี่โค ประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” ซึ่งนำแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรแบบยั่งยืนตามกลยุทธ์ PepsiCo Positive หรือ “pep+” ของบริษัทมาใช้ ด้วยการทำการเกษตรเชิงบวก เกษตรแบบฟื้นฟู ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

บุษบา วงศ์นภาไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) กล่าวว่า กลยุทธ์ pep+ ที่บริษัทดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 4 ปี ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งเสริมให้เกษตรกรที่เพาะปลูกมันฝรั่งประสบความสำเร็จในหลายมิติ ทั้งการเพิ่มความสามารถ แนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตร ตลอดจนการพลิกโฉมการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ถือเป็นการสร้างแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้คนและโลก

ปัจจุบันเป๊ปซี่โคส่งเสริมเกษตรกรไทยในการปลูกมันฝรั่งบนพื้นที่กว่า 38,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ สกลนคร และนครพนม มีเกษตรกรรวมกันมากกว่า 5,800 คน ผ่านการจัดทำฟาร์มต้นแบบ จำนวน 19 แห่งซึ่งเป็นแปลงสาธิตให้เกษตรกรเข้าไปเรียนรู้ บริษัทมีการรับประกันราคารับซื้อภายใต้การทำข้อตกลงของระบบเกษตรพันธสัญญา

มันฝรั่งเป็นพืชที่ต้องปลูกบนพื้นที่เมืองหนาว ระยะเวลาการปลูกจะอยู่ช่วงเดือนตุลาคมและเก็บเกี่ยวในเดือนมีนาคม

นวัตกรรมช่วยเพิ่มผลผลิต

ธนกฤต ศรีวิชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวเสริมว่า สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่งที่ทำงานร่วมกับบริษัทนั้นมีด้วยกันหลายเรื่อง เช่น การบริหารการจัดการน้ำและแปลงอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้ระบบน้ำหยด การใช้แผงโซลาร์เซลล์ การนำเทคโนโลยีดิจิทัล Agro Drone Scout หรือการใช้โดรนเพื่อประเมินโรคและตรวจสอบสภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ปลูกมันฝรั่ง และ ListenField หรือการใช้เทคโนโลยีอินฟราเรดเพื่อตรวจสอบสภาพดิน ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ช่วยเพิ่มผลผลิตจาก 2 ตันต่อไร่ เป็น 3.0-3.2 ตันต่อไร่ และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 5 ตันต่อไร่ ภายใน 5 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วในฟาร์มต้นแบบ

ปัจจุบัน เกษตรกรในโครงการของเป๊บซี่โคสามารถสร้างผลผลิตมันฝรั่งได้รวมกว่า 100,000 ตัน ต่อปี ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี แต่ธนกฤตบอกว่า จำนวนผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรยังไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต ทางบริษัทจึงต้องหาโซลูชั่นในการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น

ธนกฤต กล่าวว่า สภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ส่งผลกระทบต่อการปลูกมันฝรั่ง จากการศึกษาร่วมกับ International Center for Tropical Agriculture (CIAT) พบว่า ในปี 2030 ภาวะโลกร้อนจะทำให้พื้นที่ปลูกมันฝรั่งหายไปประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตลดลง 17 เปอร์เซ็นต์และมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 14 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ

เป๊ปซี่โค จึงได้ทำงานร่วมกับ จีไอแซด (GIZ) และหน่วยงานของไทย อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว ผ่านโครงการ “การจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าวและมันฝรั่งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วยวิธีการปลูกข้าวมันฝรั่งและข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน” (Building a Climate Resilient Potato Supply Chain through a Whole-Farm Approach หรือ RePSC) เพื่อเสริมทักษะให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเรียนรู้แนวทางการจัดการพื้นที่เกษตรฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ถอดรหัสความสำเร็จ VinFast พาเวียดนามเป็นผู้เล่นอีวีในตลาดโลก

Apple พูดคุย Google นำ Gemini AI ใช้ใน iPhone

เป๊ปซี่โค ตั้งเป้าภายในปี 2030 แพกเกจจิ้ง 50 เปอร์เซ็นต์ต้องทำมาจากวัสดุรีไซเคิล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ