TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityเป๊ปซี่โค ตั้งเป้าภายในปี 2030 แพกเกจจิ้ง 50 เปอร์เซ็นต์ต้องทำมาจากวัสดุรีไซเคิล

เป๊ปซี่โค ตั้งเป้าภายในปี 2030 แพกเกจจิ้ง 50 เปอร์เซ็นต์ต้องทำมาจากวัสดุรีไซเคิล

เป๊บซี่โค เดินหน้าทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการปรับโครงสร้างดีไซน์แพกเกจจิ้งลดการใช้พลาสติกหลายชั้น ออกโครงการเก็บกลับขยะบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะ

บุษบา วงศ์นภาไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2030 แพกเกจจิ้ง 50 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทต้องทำมาจากวัสดุรีไซเคิล โดยบริษัทมีวิสัยทัศน์ที่จะใช้วัสดุรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ หรือนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทั้งหมดกลับมาอัดเป็นเม็ดพลาสติกและทำเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่

บุษบา วงศ์นภาไพศาล

บุษบา กล่าวว่า การจะไปถึงตรงนั้นได้ เราต้องสามารถเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ซึ่งความท้าทายคือ เราไม่สามารถกำหนดเวลาได้ว่าจะทำได้ภายในเมื่อไหร่

“เพราะถุงมีน้ำหนักเบา ปีที่แล้วเราเก็บกลับมาได้ 1000 ตัน หรือคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของถุงที่ผลิตออกไป การเก็บกลับต้องได้รับความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ และผู้บริโภค ถ้าสามารถแยกขยะได้ ปริมาณการเก็บกลับก็จะเพิ่มมากขึ้น” บุษบากล่าว

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป๊บซี่โค เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม “เป๊ปซี่” และมันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” ได้มีการทดลองโครงการรีไซเคิลถุงพลาสติกโดยนำไปผสมกับแกลบ อัดเป็นเม็ดพลาสติก ขึ้นรูปเป็นไม้เทียม และแปรรูปเป็นโต๊ะเก้าอี้ที่มีความทนทานกว่าพลาสติกและนำไปบริจาคให้โรงเรียนในชุมชน

สำหรับการเก็บถุงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมานั้น ทางบริษัทมีความร่วมมือกับชุมชนประมาณ 25 แห่งในกทม. และปริมณฑลให้ช่วยเก็บกลับแบบสมัครใจ และอีกส่วนคือ รับซื้อจากรถซาเล้งเก็บขยะ ซึ่งเป็นการสร้างราคาขยะกำพร้าเหล่านั้นให้มีค่า แต่ราคารับซื้ออาจจะยังไม่สูงนักหรือ 8 บาทต่อ 1 กิโลกรัม

ทางบริษัทยังตั้งจุด Drop off ให้ผู้บริโภคสามารถเก็บถุงที่ใช้แล้วมาส่งคืนได้ ซึ่งบุษบาเล่าว่า ที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีความตระหนักในเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น มีหลายคนทานหมดแล้ว ล้างทำความสะอาดถุงและส่งกลับมาหลายกล่อง ทางบริษัทรับเก็บกลับถุงทุกชนิดและทุกแบรนด์ไม่ได้จำกัดเฉพาะของบริษัทเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ เป๊บซี่โค สามารถนำขวดพลาสติกใสหรือที่เรียกกันว่าขวด PET (Polyethylene Terephthalate) กลับมารีไซเคิลเป็นขวดใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ Bottle to bottle ซึ่งบุษบาอธิบายว่า ขวดเก็บง่ายกว่าเพราะมีราคา โดยราคารับซื้ออยู่ที่ 15-20 บาทต่อ 1 กิโลกรัม

การใช้วัสดุรีไซเคิลมาผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่นั้น แน่นอนว่าทำให้ต้นทุนสูงขึ้น อย่างตัวขวด PET มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวถุงขนมนั้น บุษบาบอกว่า ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 100-200 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องใช้นวัตกรรมรีไซเคิลชั้นสูงหรือ “การรีไซเคิลเชิงเคมี” (Chemical Recycling) ซึ่งตอนนี้ยังมีราคาแพง

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมีการปรับเปลี่ยนด้านดีไซน์โดยปรับโครงสร้างมาใช้พลาสติกชนิดเดียวหรือ Mono Material และลด Multi-layer หรือพลาสติกหลายชั้นจาก 3 ชั้นมาเป็น 2 ชั้น ทำให้สามารถนำไปใส่เครื่องรีไซเคิลได้ ซึ่งตรงนี้ความท้าทายคือ ตัวเลเยอร์ต้องป้องกันความชื้น ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาด้านคุณภาพของสินค้า

“ด้านดีไซน์ เราต้องแน่ใจว่าวัสดุสามารถรีไซเคิลได้หรือสามารถเข้ากระบวนการรีไซคลิ่งได้  ซึ่งเราตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 จะทำเรื่องดีไซน์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการนำตัววัสดุรีไซเคิลเหล่านั้นมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ เรามีเป้าว่าภายใน 2030 จะสามารถนำวัสดุรีไซเคิลมาทำเป็นส่วนผสมของแพกเกจจิ้ง 50 เปอร์เซ็นต์” บุษบากล่าวย้ำ

เป๊ปซี่โค ตั้งเป้าภายในปี 2030 แพกเกจจิ้ง 50 เปอร์เซ็นต์ต้องทำมาจากวัสดุรีไซเคิล

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

คณะกรรมการแห่งชาติ เล็งทุ่มพันล้าน ปั้น 30,000 คน เสริมแกร่ง AI ภายใน 4 ปี

เปิดแนวทางปฏิบัติ ปรับธุรกิจสู่ความยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ