TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyคณะกรรมการแห่งชาติ เล็งทุ่มพันล้าน ปั้น 30,000 คน เสริมแกร่ง AI ภายใน 4 ปี

คณะกรรมการแห่งชาติ เล็งทุ่มพันล้าน ปั้น 30,000 คน เสริมแกร่ง AI ภายใน 4 ปี

จากเวทีการประชุมหารือ (ร่าง) โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 – 2570) ที่จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดแนวทางดำเนินงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ร่วมกับเครือข่ายเชี่ยวชาญที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้ข้อมูลว่า ดัชนีความพร้อมด้าน AI ปีล่าสุด 2023 ไทยหล่นมาอยู่ลำดับที่ 37 จากเดิมลำดับที่ 31 แม้องค์ประกอบของไทยจะไม่ต่างจากเดิม แต่ประเทศอื่น ๆ พัฒนาไปมากกว่า

ทั้งนี้ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ลำดับตก ประกอบด้วย 1. Technology Development 2. Human Capital และ 3. Data Representation ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันแก้ไขและเติมเต็มระบบนิเวศ AI ของไทย

เนคเทค กางโรดแมป สร้างหลักสูตรปั้นบุคลากร AI

อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2570 มีเป้าหมายจะผลิตกำลังคนด้าน AI ให้ได้ 30,000 คนเป็นการต่อยอดความรู้ หรือทักษะ แก่บุคลากรภาครัฐและเอกชน สร้างความตระหนักรู้ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบด้าน AI แก่ประชาชนไม่ต่ำกว่า 600,000 คน สร้างนวัตกรรม AI ที่ผลิตขึ้นใช้งาน 100 นวัตกรรม และส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเหล่านั้นไม่ต่ำกว่า 100 หน่วยงาน

เรียน AI 100 คน รวย 100 คน

ส่วนปัญหาคนเรียน STEM รวมทั้ง AI มีน้อย ส่วนใหญ่สนใจเรียนสายศิลป์ หรือการเข้าสู่วงการบันเทิงนั้น ดร.ชัย ให้มุมมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเข้าวงการบันเทิง 100 คนอาจประสบความสำเร็จ 2 คน แต่ถ้าเป็น AI ธรรมดาๆ 100 คน รวยหมด 100 คน

นอกจากนั้น ในระยะเวลา 4 ปี ของการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ AI มีโครงการนําร่อง 6 โครงการ จากมีชุดโครงการที่ตกผลึก และมีเจ้าภาพชัดเจน เพื่อหาแหล่งงบประมาณ และเริ่มต้นดำเนินโครงการได้

ทั้งนี้ งบประมาณจะมาจาก 2 แหล่ง คือ 1. กองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหลายกระทรวง และ 2. งบประมาณจากหน่วยงานโดยตรง ซึ่งบางโครงการหน่วยงานเจ้าภาพมีงบประมาณอยู่แล้ว และมีภาคเอกชนเข้าร่วมในบางโครงการ เช่น โครงการ AI-based Machine Vision เพื่อขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0

ระยะเวลาดำเนินงานของโครงการต่าง ๆ จะใช้แตกต่างกัน โดยอยู่ในช่วงโครงการละ 2-3 ปี และใช้งบประมาณไม่เท่ากัน เช่น โครงการผลิตบุคลากร 1,000 ล้านบาท บางโครงการไม่ถึง 100 ล้านบาท หรือบางโครงการยังไม่ได้ตั้งงบประมาณ ซึ่งหลังจากนำเสนอโครงการเข้าคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) หรือคณะกรรมการ AI แห่งชาติ และได้รับความเห็นชอบแล้ว จะนำไปเสนอของบประมาณได้ต่อไป

ส่วนคณะกรรมการ AI แห่งชาติชุดใหม่ ซึ่งจะมาแทนที่คณะกรรมการชุดเดิมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและหมดวาระตามรัฐบาลจะมีประชุมครั้งแรกภายในกลางปี 2567

สวทช. เดินหน้าแผน AI แห่งชาติ พัฒนาข้อมูล AI หนุนการแพทย์

แนะทำ AI คู่ Data Transformation

“ที่เลือก 6 โครงการนี้ ดำเนินการตามความพร้อม และมีอีกหลายเซกเตอร์ที่ยังไม่พบโจทย์ที่ดี ไม่พบเจ้าภาพที่เหมาะสม จากความไม่พร้อมต่าง ๆ เช่น ไม่มีกำลังคน ไม่มี data หรือยังไม่อยู่ในแผนระยะ 1-3 ปีนี้ หรือกระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ ไม่มีเป็นชิ้นเป็นอันใหญ่ ๆ ซึ่งจะต้องกระตุ้น โดยการนำสิ่งที่เกิดในต่างประเทศมานำเสนอ เพื่อหาข้อมูลว่า จะมาเร็วกว่าที่คิดไหม จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนต่าง ๆ ไหม”

ดร.ชัย เพิ่มเติมว่า ยังมีหลายๆ ภาคส่วนยังไม่ตระหนักเรื่อง AI นัก หรือบอกว่า กำลังทำ Data Transformation และต้องทำให้เสร็จก่อน ถึงจะตามด้วย AI ซึ่ง ดร.ชัย เห็นว่า ควรทำควบคู่กัน และ AI จะช่วยให้ทำ Data Transformation ได้เร็วขึ้น

เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยว

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI)

โครงการนำร่องทั้ง 6 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาศูนย์กลางเชื่อมโยงและการบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวให้ประเทศไทย (Travel Link) ซึ่ง รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ให้ข้อมูลว่า เป็นโครงการที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อขยายขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ

1. การพัฒนาศูนย์กลางการเชื่อมโยงและพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) โดยเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ เอกชนหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรายวัน ข้อมูลการใช้จ่ายในแต่ละพื้นที่จากโครงการเที่ยวด้วยกัน สถิติการเยี่ยมเยือน เป็นต้น ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วนำมาจัดทำ Data Catalog และใช้เครื่องมือพื้นฐาน รวมถึง AI ในการประมวลผลข้อมูลหลายรูปแบบ และสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลผ่าน Dashboard และ Infographics

2. การพัฒนาหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในแผนระยะถัดไป จากปัจจุบันยังต้องการข้อมูลด้าน logistic อัตราค่าโดยสารของขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เป็นต้น และ 3. การพัฒนา หรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการ Chatbots ด้านการท่องเที่ยว ด้วย Generative AI

ตรวจจับธุรกรรมการเงิน

ดร.นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการ Head of External Affairs และผู้บริหารยุทธศาสตร์ 3 ปี โครงการตรวจจับการธุรกรรมการเงินด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Strengthening Fraud Detection Ecosystem with Data Lab) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย เล่าถึงแนวคิดโครงการว่า เป็นการออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงินต่อประชาชน โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับระบบของผู้ใช้บริการทางการเงินในภาคธนาคาร ตามมาตรา 4 (Central Fraud Registry: CFR)

รวมถึงการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI Model ในการตรวจจับและป้องกันการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงิน สามารถตรวจจับความเกี่ยวเนื่องของบัญชี หรือธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย ตลอดกำหนดระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นที่การยกระดับการตรวจจับและการป้องกันเชิงรุกสำหรับการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงิน นำร่องพัฒนากระบวนการและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โครงการนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดการสูญเสียทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำทุจริต เพิ่มความสามารถของภาครัฐในการควบคุมดูแลการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน การตรวจสอบและการดำเนินคดีทางกฏหมายเมื่อเกิดการกระทำทุจริต รวมถึงสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพในระบบการเงินของประเทศ ส่งผลต่อการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการใช้บริการทางการเงิน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ภาคเอกชน

ประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล

ส่วนโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance Center) ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) บอกว่า มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้าน AI Governance, Toolkits ใหม่ ๆ รวมถึงมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยสำหรับ Sector หรือ Regulator พร้อมสร้างเครือข่ายทำงานด้านงานวิจัย AI ในประเทศหรือต่างประเทศ

ตลอดจนพัฒนาและถ่ายทอดความรู้พร้อมให้คำปรึกษาการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล ทั้งด้านนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน และการกำกับดูแล มีศูนย์ทดสอบ AI Testing สำหรับระบบ/บริการดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ มีกลไกสนามทดสอบ (Sandbox) แนวคิดการประยุกต์ใช้ AI รวมถึงนวัตกรรมใหม่ รวมถึงสนับสนุนการขยายผลการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและเกิดความตระหนักรู้เท่าทันการใช้งาน AI และส่งเสริมการพัฒนาการกำกับดูแลและส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีองค์รวมของภาครัฐผ่านการมีศูนย์กลาง AIGC

ขณะที่ภาคเอกชนจะมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น พื้นที่ทดสอบทดลองด้าน AI Ethic issues ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในการผลิต การบริการ และการประกอบการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างงานและเพิ่มมูลค่าแก่เศรษฐกิจของประเทศ และการแสดงศักยภาพด้าน AI Governance ให้ต่างชาติยอมรับและเกิดการลงทุนมากขึ้น

โมเดลภาษาขนาดใหญ่

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย

ด้าน ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) อธิบายถึงโครงการ Thai Large Language Model (LLM) เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความที่มีความหมายและเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับการใช้ภาษาของมนุษย์ ว่า Thai LLM อาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลภาษาไทยที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายพร้อมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI สำหรับภาษาไทยที่เป็นโมเดลกลางสามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายงานประยุกต์ทั้งในกาครัฐและเอกชน

รวมถึงมุ่งพัฒนาบุคลากรด้าน AI ในประเทศไทยให้มีความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน AI ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย

ตรวจสอบและประเมินอัตลักษณ์บุคคล

ส่วนโครงการตรวจสอบและประเมินอัตลักษณ์บุคคลจากข้อมูลชีวมิติ ดร.เจษฎา กาญจนะ นักวิจัยเนคเทค สวทช. อธิบายว่า เป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนบุคคลด้วยข้อมูลชีวมิติและส่งเสริมการนำไปใช้งาน โดยข้อมูลชีวมิติที่มุ่งเน้น ได้แก่ ภาพถ่ายลายม่านตา เสียงพูด ภาพถ่ายใบหน้า ภาพเคลื่อนไหวใบหน้าพร้อมเสียงพูด รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับการปลอมแปลงข้อมูลชีวมิติ และบริการทดสอบระบบที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลด้วยข้อมูลชีวมิติตามเกณฑ์มาตรฐานฯ เช่น ขมธอ. 30-2565

ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การยกระดับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ของประเทศ ใช้อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้ประชาชน และภาครัฐยังสามารถยกระดับระบบความปลอดภัยของระบบการยืนยันตัวตนของภาครัฐ และประยุกต์ใช้ระบบการยืนยันตัวตนดังกล่าวกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างบูรณาการ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้าแก่ภาคเอกชนจากการมีระบบการยืนยันตัวตนดิจิทัลที่ปลอดภัย รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวมิติ

Machine Vision ขับเคลื่อนสู่อุตฯ

ส่วนโครงการ AI-based Machine Vision เพื่อขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0 วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล ประธานคณะทำงาน AI for industry สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า ปัจจุบัน การนำ AI มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมยังมีน้อย

โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการขยายผลวิจัยและพัฒนาและยกระดับ AI-based Machine Vision ในการเพิ่มผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งหน้าไปสู่การแข่งขันในระดับสากล นำร่องด้วยการนำเทคโนโลยี AI-based Machine Vision มาช่วยตรวจสอบคุณภาพสินค้า รวมถึงส่งเสริมการขยายผลและยกระดับแพลตฟอร์ม Visual Inspection สัญชาติไทยที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยเน้นเพื่อ AI sovereignty

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดโรดแมปสิงคโปร์ ลุยรีสกิลทักษะ เตรียมความพร้อมบรรดาผู้อาวุโส

บางกอกเคเบิ้ล เปิดแผนปี 67 เพิ่มงบ 500 ล้าน รุกตลาดสายไฟฟ้า – เคเบิ้ล รับเทรนด์ ESG โต

Google Cloud ฉายภาพ การนำ Gen AI ไปใช้งานจริง ในอุตสาหกรรมค้าปลีก – การเงิน – สุขภาพ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ