TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyเนคเทค กางโรดแมป สร้างหลักสูตรปั้นบุคลากร AI

เนคเทค กางโรดแมป สร้างหลักสูตรปั้นบุคลากร AI

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กางแผนโรดเมพเดินหน้าสร้างหลักสูตรเร่งรัดเพื่อผลิตบุคลากรผู้มีทักษะความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) โดยตั้งเป้าตอบโจทย์ตลาดที่กำลังต้องการแรงงานด้าน AI หนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยท่ามกลางโลกในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นตามแผนพัฒนา AI แห่งชาติที่ทางเนคเทค ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันเพื่อให้ไทยสามารถพัฒนา  AI ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต

Generative AI การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าทุกครั้ง

ดร.ชัย วุฒิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า ภายใต้แผนการพัฒนา AI แห่งชาติที่เพิ่งเริ่มดำเนินการมาได้ครึ่งปีนั้น การพัฒนาบุคลากรด้าน  AI ถือเป็น 1 ใน 5 กลยุทธ์สำคัญลำดับที่ 3 ในการพัฒนาระบบนิเวศ AI ของประเทศไทยให้สมบูรณ์พร้อม โดยอีก 4 กลยุทธ์ ที่เหลือ คือ กฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและพัฒนา และการนำไปใช้เพื่อสร้างสตาร์ตอัพ

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถด้านการแข่งขันได้อย่างทัดเทียมกับโลกใบนี้ได้ ดร.ชัย ยอมรับว่า ความรู้พื้นฐานด้าน  AI ไม่เพียงพอแน่นอน แถมการพัฒนาบุคลากรด้าน AI (AI Workforce Development) เป็นโจทย์ปัญหาที่ดร.ชัย ระบุว่า ท้าทายมากที่สุดโจทย์หนึ่งของประเทศไทย ที่ต้องเร่งลงมือดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการวิเคราะห์ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พบว่า ประเทศไทยต้องการบุคลากร AI ครอบคลุมตั้งแต่ซอฟต์แวร์ไปจนถึงนักวิเคราะห์ข้อมูล (Software to Data Analytics) ตั้งแต่ปี 2563-2567 รวมแล้วประมาณ 38,000 คน แต่ระดับความพร้อมของไทยในขณะนี้ ถ้าไม่มีการทำอะไรใด ๆ เพิ่มเติมเลย ไทยจะสามารถผลิตบุคลากรด้านเอไอได้ 15,000 คน

ส่วนบุคลากรทางด้านโรโบติกส์ (Robotics) ซึ่งครอบคลุม Intelligence System ที่เป็นฮาร์ดแวร์ ไทยต้องการประมาณ 10,000 คน แต่ขณะนี้ผลิตได้ประมาณแค่เกือบ ๆ 1,000 คน ซึ่งนับไม่นับรวมกรณีที่ มี GPT เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ความต้องการด้าน AI สูงขึ้นอีกมาก

ดร.ชัย อธิบายว่า ปัญหาใหญ่ของการพัฒนา AI talents ในประเทศไทยมี 3 ประการหลักด้วยกัน คือ ไม่มีคนให้พัฒนา วัฒธรรมการทำ data sharing มีจำกัด และสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการตั้งและปั้นสตาร์ตอัพ

ธรรมาภิบาลยุค AI ครองโลก ในบริบทการพัฒนาระบบสุขภาพบนความรับผิดชอบ

สำหรับปัญหาประการแรกคือคนไม่มีนี้ ดร.ชัยชี้ว่าเป็นผลจากอัตราการเกิดที่ลดลงของไทย ทำให้มีเด็กน้อยลง ยิ่งทำให้ในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Sciences Technology Engineer and Mathematics: STEM) ที่มีเด็กเรียนน้อยอยู่แล้วลดลงไปอีก  ดังนั้นโอกาสที่มันจะสร้างกลุ่มใหม่ในการพัฒนาบุคลากรด้านเอไอจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก 

ในส่วนของปัญหาประการที่สองอย่าง การทำ data sharing ของไทย ดร.ชัยกล่าวว่า ดาต้า หรือ ข้อมูล ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการฝึก AI ดังนั้นการที่การแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานยังมีข้อจำกัดสูงมาก การพัฒนา AI ย่อมต้องมีข้อจำกัดตามไปด้วย โดยไทยในขณะนี้เกิดพระราชบัญญัติใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย เช่น PDPA พระราชบัญญัติไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ทำให้การเกิด AI ในไทยเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากขึ้น โดยตอนนี้เริ่มมีการพูดคุยเกี่ยวกับกฎหมายด้านเอไอ แต่ทางคณะกรรมการ AI แห่งชาติระบุชัดว่าขอมุ่งเน้นที่การส่งเสริมให้ AI เกิดขึ้นมาให้ได้ก่อน 

อนาคตการใช้ Generative AI ในภาคองค์กร

ด้านปัญหาประการที่สามคือ สิ่งแวดล้อมสตาร์ตอัพ (Startup Environment) ซึ่งเมื่อเทียบกับสิงคโปร์แล้ว ไทยเทียบไม่ได้เลย เพราะยังห่างชั้นอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการระดมทุน การแบ่งปันข้อมูล และความง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business)

ดร.ชัย กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาบุคลากรด้านAIของไทยมีความท้าทาย

ทั้งนี้ ภายใต้แผนการพัฒนาบุคลากรด้าน AI (AI Workforce) ขณะนี้สามารถแบ่งเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรได้เป็น 3 ระดับ 

ระดับหนึ่ง คือ AI Professionals กลุ่มผู้สร้าง AI ที่เรียนจบปริญญาตรี โท เอก ทางด้านสาขาเอไอมาโดยตรง กลุ่มนื้ถือเป็น talents ที่เนคเทคอยากจะผลิตให้ได้ตามกำลังการผลิตสูงสุดที่ไทยจะทำได้คือ 300 คนต่อปี

“ตัวเลขนี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ เพราะว่าขณะนี้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดคอร์สสอนเอไอโดยตรง แล้วก็มี sandbox ของทางกระทรวงอว. ที่ทำให้การพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรเป็นไปอย่างรวดเร็วง่ายดายยิ่งขึ้น” 

สองคือวิศวกร AI หรือ AI Engineer กลุ่มที่เรียนลัดหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) ด้วยการอบรมขั้นกลางและขั้นสูง เวลาไม่เกิน 1 ปี แต่เรียนอย่างเข้มข้น ทำให้สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นมืออาชีพด้าน AI ได้ในระดับหนึ่ง โดยกลุ่มนี้เนคเทคอยากจะผลิตให้ได้ 1,200 คนต่อปี 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการสร้างบุคลากร AI ในระดับนี้คือ ปัจจุบันยังไม่การรับรองหลักสูตรฝึกอบรม AI ที่มีอย่างเป็นทางการ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานชั้นนำจากต่างประเทศที่จัดให้มีการอบรม ซึ่งขณะนี้ทางเนคเทคเตรียมจะขับเคลื่อนเพื่อให้เอกชนเชื่อมั่นในการรับวิศวกร AI ที่ผ่านคอร์สการฝึกอบรม เข้าสู่บริษัทได้ 

สามคือ AI Beginner หรือบุคลากร AI ในระดับต้น ซึ่งระดับนี้จะเปิดรับจากคนทำงานในทุกสายสาขาอาชีพที่พอจะเข้าใจเรื่องการทำ AI ในเบื้องต้น สามารถใช้เครื่องมือในการสร้าง AI แบบง่ายๆ ขึ้นมาได้ โดยเนคเทคมีเป้าหมายผลิตที่ 12,000 คนต่อปี ผ่านการฝึกอบรมแบบระยะสั้น หรือออนไลน์ คอร์ส 

“จากตรงนี้ถอดออก ซึ่งตอนนี้กำลังรอรัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้น จะได้นัดประชุมคณะอนุกรรมการ แล้วก็นัดประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกรอบหนึ่ง เพื่อที่จะให้เคาะแผนให้ได้ แล้วอัดฉีดงบประมาณพอสมควรในการที่จะมาช่วยพัฒนาบุคลากรด้าน AI” ดร.ชัยกล่าว 

ดร.ชัย ระบุว่า จากแผนการทำงานข้างต้น ต่อจากนี้เป็นต้นไป เนคเทคจึงมีภารกิจที่ต้องสร้างความตระหนัก สร้างระบบรับรองหลักสูตรระยะสั้น จัดการเรียนการสอน ทั้งแบบที่มีปริญญารองรับและแบบที่ไม่มีใบปริญญารองรับ และจัดมาตรการส่งเสริม เช่น  การให้ทุนการศึกษา หรือสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากการที่ภาคเอกชนเข้าร่วมการฝึกอบรมต่าง ๆ อย่างการลดหย่อนภาษี 

โอกาสนี้ ดร.ชัยได้ยกตัวอย่าง โครงการ Super AI Engineers ซึ่งเป็นตัวอย่างของหลักสูตรระยะสั้น ที่จัดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่แผน AI แห่งชาติจะเกิดขึ้น โดยถือเป็นตัวอย่างต้นแบบหลักสูตรโครงการฝึกอบรมที่ต้องการสร้างใหเกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป้าหมายเบื้องต้นคือการขยายศูนย์ฝึกอบรมจาก 6 แห่ง เป็น 16 แห่งทั่วประเทศไทยภายในปีนี้

Revolution of Generative AI เมื่อ AI พลิกโฉมโลกการทำงาน

Super AI Engineers เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีแผน AI แห่งชาติ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากแหล่งทุน บพค. ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เป็นการฝึกอบรม Super AI Engineers แบบเข้มข้นเป็นระยะเวลา 9 เดือน 

ทั้งนี้ ช่วง 3 เดือนแรกจะเป็นการเรียนออนไลน์ ที่มีการทำ Hackathron แข่งขันเพื่อคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าสู่ระดับที่สอง ซึ่งเป็นการเข้าค่ายอบรมประมาณ 3 เดือน ก่อนที่ 3 เดือนสุดท้ายจะเป็นการฝึกงานลงสนามลงมือทำจริงกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เป็นพาร์ทเนอร์หรือสปอนเซอร์ของโครงการ โดยการไปฝึกอบรม 3 เดือนสุดท้าย ผู้เข้าร่วมต้องทำงานตามโจทย์ที่หน่วยงานต้องการ แล้วเอาโจทย์ที่ได้กลับมา Pitching ต่อไป

ดร.ชัยชี้ว่า การเรียนที่เข้มข้นเช่นนี้ ทำให้คนที่ผ่านหลักสูตรโครงการ Super AI Engineers เป็นนัก AI ขั้นสุดยอดเทียบชั้น ซูเปอร์แมน 

จากสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปีคือจาก 2,000 5,000 และ 7,000 คน ตามลำดับ ดังนั้น ดร.ชัย มั่นใจว่า หากใช้กระบวนการหลักสูตรเร่งรัดเข้มข้นอย่าง Super Engineers การผลิตบุคลากร AI ให้ได้ตามเป้า 30,000 คน ในระยะเวลา 6 ปี ตามแผนพัฒนา AI แห่งชาติจึงมีความเป็นไปได้ 

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ผ่านการอบรมออนไลน์ในช่วง 3 เดือนแรกของหลักสูตร Super AI Engineers ดร.ชัยชี้ว่า คนกลุ่มนี้คือ in put ชั้นดีของประเทศไทย จะหาทางค้นหาคนกลุ่มนี้ว่าไปแฝงตัวอยู่ในส่วนไหนของสังคม และจะดึงคนกลุ่มนี้ออกมาได้อย่างไร 

นอกจากนี้ ดร.ชัย ย้ำว่า ลำพังเนคเทคเพียงหน่วยงานเดียวย่อมไม่สามารถพัฒนาบุคลากร AI ขึ้นมาได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง KBTG หนึ่งในพาร์ทเนอร์ที่ดีที่สุดที่เข้าร่วมในเครือข่ายที่อยู่ด้วยกันกับเนคเทคมาโดยตลอดจนทำให้เกิดสตาร์ตอัพสัญชาติไทยถึง 9 แห่ง

“ผมก็อยากจะฝากว่า กระบวนการแบบนี้เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในแผน และผมกำลังชงสิ่งเหล่านี้เพื่อของบประมาณอย่างจริงจังในการที่จะเกิดมาตรการในการพัฒนา AI Workforce อย่างจริงจังให้กับประเทศไทย” ดร.ชัย ยืนยัน

ดร.ชัย วุฒิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค

ทั้งนี้ เนคเทคเป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรสำคัญของ KBTG ร่วมกับ MIT Media Lab ในการร่วมมือหารือความเป็นไปได้ในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำ AI ไปใช้งาน หรือ AI Literacy ให้เกิดขึ้นในวงกว้างของประเทศ โดยทั้งสามสถาบันกำลังร่วมกันเขียน Whitepaper เพื่อเป็นไกด์ไลน์เผยแพร่ให้กับบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีทักษะในการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการสร้างผลงานวิจัยและการพัฒนาในภาคธุรกิจแล้ว การพัฒนาคนด้าน AI ของประเทศไทยในมุมของภาครัฐบาลก็เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป ในการที่จะสร้างความตระหนักด้าน AI (AI Awareness) รวมถึงแนวทางให้กับคนไทย เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับ AI และใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

KBTG คือพันธมิตรสำคัญในภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะ AI talent กระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG กล่าวว่า KBTG ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับการพัฒนา AI ทั้งองคาพยพในประเทศไทย เพื่อให้เกิดระบบนิเวศการวิจัยและพัฒนา AI ในทุกมิติในประเทศไทย โดยเฉพาะสร้าง AI Talent ซึ่งเป็นหัวใจของระบบนิเวศของ AI ที่ประกอบด้วยหลากองค์ประกอบ อาทิ ฮาร์ดแวร์ ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน และความต้องการของลูกค้า ปัจจุบันคนที่มีความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Talents เป็นสิ่งที่ขาดสำหรับทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

“AI จะไม่เข้ามาแทนที่คน แต่คนที่รู้จักใช้ AI จะแทนที่คนที่ไม่ใช้ AI แน่นอน”​ กระทิง – เรืองโรจน์ กล่าว

นอกจากการสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้กับประเทศไทยแล้ว KBTG ต้องการสร้างทักษะความรู้เท่าทันเทคโนโลยีเอไอให้กับคนไทยทุกคน เพื่อให้คนไทยมีความรอบรู้ด้าน AI และเพื่อไม่ให้คนไทยตกขบวนรถในยุค AI ทั้งนี้ KBTG กำลังพัฒนาร่างแรกของ Thai AI-Augmented Literacy Guideline ร่วมกับ MIT Media Lab จึงอยากชวนพันธมิตรในประเทศไทยทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และสตาร์ตอัพมาร่วมสร้าง Thai AI-Augmented Literacy Guideline ร่วมกัน

เนคเทค สวทช. จับมือกรมสรรพากรนำ AI ยกระดับการบริการผู้เสียภาษีด้วยดิจิทัล

ไมโครซอฟท์ ประกาศผู้ชนะ อิมเมจิ้นคัพ ประเทศไทย 2023 ชูนวัตกรรม AI for All เพื่อผู้มีความเสี่ยงโรคหัวใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ