TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewทาเลนต์ไทยคืนถิ่นที่ Looloo Technology ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้าน AI

ทาเลนต์ไทยคืนถิ่นที่ Looloo Technology ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้าน AI

การขาดแคลนแรงงานฝีมือที่มีทักษะไอทีขั้นสูง เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงอย่างมากและบ่อยครั้งในประเทศไทย แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีคนไทยที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา และส่งมอบเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ ไปสู่คนทั้งโลกมากมายที่ทำงานอยู่ ณ หุบเขาเทคโนโลยีซิลิคอน วัลเลย์ (Sillicon Valley) หรือในที่ต่าง ๆ ดังนั้น Looloo Technology จึงเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะรวบรวมยอดฝีมือคนไทยในต่างประเทศกลับมาร่วมยกระดับขีดความสามารถประเทศผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ให้ไม่แพ้ชาติใดในโลก

AI ยกกำลัง (ความ) ดี

Looloo Technology หรือ ลูลู่ เทคโนโลยี ก่อตั้งโดย 3 กำลังหลัก ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ นักเรียนทุนพระราชทานไปศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่คาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) และต่อเอกด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ยูซีแอลเอ (UCLA) เป็นทีมบุกเบิกการพัฒนา Google Assistant โดยเฉพาะภาษาไทยโดยได้ทำงานเป็น Senior Programmer ที่ Google นาน 12 ปี สุปิติ บูรณวัฒนาโชค นักเรียนทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ศิษย์เก่าคาร์เนกีเมลลอน สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Dek-D.com ประสบการณ์ทำงานระดับท็อปฟอร์มด้าน Data Science ที่ Oracle และ ปริชญ์ รังสิมานนท์ นักเรียนทุนบริษัทที่ปรึกษา McKinsey&Co จบการศึกษาจาก MIT ประสบการณ์ทำงานด้านนักลงทุนให้กับกองทุนสำรองระหว่างประเทศของรัฐบาลสิงคโปร์หรือ GIC (Government of Singapore Investment Corp) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ปริชญ์ เท้าความว่า เดิมเป็นนักลงทุนในแผนก Developed Market Equities ดูแลการลงทุนในทวีปอเมริกาและยุโรปแต่ในช่วงปี 2008 ที่ระบบการเงินล่ม ได้ถูกโอนย้ายมางานให้มาทำแผนก Special Investments ซึ่งรวมถึง Venture Capital ใน Sillicon Valley จึงมีโอกาสได้เจอคนไทยเก่ง ๆ หลายคนที่นั่นรวมถึงคุณน็อต (ดร.ธรรมนิติ์) ขณะนั้นทำงานที่ Google และแชร์ (สุปิติ) ซึ่งทำงานอยู่ Oracle และเริ่มทำบริษัทสตาร์ตอัพของตัวเอง

“ผมกลับไทยก่อนเพื่อมาดูแลธุรกิจของครอบครัวแต่ยังมีความหลงใหลเรื่องเทคโนโลยีอยู่ พอปลายปี 2562 ก่อนโควิดเริ่มก็คุยกันเล่น ๆ ชวนให้เพื่อน ๆ มาสร้างบริษัททางด้าน AI ด้วยกัน พอเดือนมีนาคมปีถัดมา โควิดแรงต้องปิดประเทศ พี่นอตเลยกลับมาประเทศไทยพร้อมคนไทยเก่ง ๆ อีกหลายคนในต่างประเทศ จึงสินใจมารวมตัวกันตั้งบริษัทกันอย่างจริงจัง”

ลูลู่ เทคโนโลยี ตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 โดยคำว่า ลูลู่ (looloo) มาจากตัวเลข 100 ยกกำลัง 100 เพื่อสานฝันการเป็นจุดรวมพลคนเก่งเป็นเวทีให้คนไทยที่เคยไปทำงานต่างแดนได้กลับบ้านมาร่วมกันพัฒนาประเทศโดยใช้ AI ในการยกกำลังขีดความสามารถให้กับองค์กรต่าง ๆ และความที่ต่างคนเคยทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์ทำให้มีเครือข่ายที่กว้างขวางในการดึงบุคลากรจากสถาบันการศึกษาแถวหน้าตั้งแต่ Stanford, MIT, Carnegie Mellon และ University of Pensilvania มาร่วมงาน

ปริชญ์เล่าว่า ก่อนจะมี ลูลู่ เทคโนโลยี การสร้างเทคโนโลยีด้าน AI แบบจริงจังในไทยยังมีน้อยมาก จึงคิดว่ากลับมามุ่งสร้างความสามารถด้านนี้ให้ประเทศดีกว่า การตั้งบริษัทจึงมาจากเหตุผล 2 ประการ คือ อยากให้คนไทยที่เก่ง ๆ กลับบ้าน และ นำเทคโนโลยีด้าน AI มาพัฒนาประเทศ จึงได้วางกฏเหล็กการรับงานไว้ 3 ข้อ คือ ต้องเป็นการสร้างเทคโนโลยีที่ดีให้สังคม ต้องสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาวให้กับบริษัทหรือประเทศได้ และพัฒนาเทคโนโลยีระดับฟรอนเทียร์เทคที่มีความยากและก้าวล้ำนำหน้า โดยตอนนี้มี International Research Publication ที่คิดค้นจากคนในทีมงานแล้วกว่า 30 ชิ้น

“ดิจิทัลทรานฟอร์เมชันเป็นสิ่งที่ต่างประเทศพูดกันมาป็น 10 ปี และมีคนที่ทำอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าเรามาทำเรื่องเดิมอยู่เราคงโตช้า เผอิญจังหวะเริ่มตั้งบริษัท ทางเมืองนอกเริ่มพูดถึง AI กูเกิลก็พูดมา 6 ปีว่าจะเป็นที่หนึ่งเรื่อง AI เมื่อมั่นใจว่าเทรนด์มาแน่ เราจึงไม่แข่งเรื่อง Digitization หรือดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน แต่มุ่งไป AI เลยแล้วเจาะจงดึงคนเก่งด้านเอไอมาเพื่อทำอะไรที่ก่อนและสร้างความสามารถทีมให้ไกลกว่าคนอื่น โชคดีว่ามาถูกทางเพราะผ่านไป 3 ปี AI ก็มาจริง ๆ”

ฟรอนเทียร์เทคด้าน AI

 “Motto แรกของ ลูลู่ เทค คือ AI for The Better World ส่วนคอร์เทคโนโลยีในการพัฒนาฟรอนเทียร์เทค คือเทคโนโลยีเชิงลึกด้านAI ที่เราสร้างขึ้นใหม่เองทั้งหมด เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละราย (Customized Solution)  เวลาไปคุยกับลูกค้า ผมจะบอกว่า เราเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้าน AI ที่นำ AI มาช่วยลูกค้าเพิ่มยอดขาย เพิ่ม ROI และเพิ่มกำไร”

ธุรกิจที่เป็นหัวใจหลักของ ลูลู่ เทคโนโลยี จึงเป็นการใช้ AI ในการทำ Predictive Analytics เพื่อช่วยองค์กรคาดการณ์อนาคตโดยใช้ระบบ AI และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อช่วยคาดการยอดขายและจำนวนสินค้าที่ต้องสต๊อก (Demand and Inventory Prediction) และแนะแนวทางเพื่อเพิ่มยอดขาย ยกตัวอย่างลูกค้าธุรกิจน้ำดื่มที่ต้องส่งสินค้าให้กับจุดจำหน่ายกว่า 3 แสนจุดทั่วประเทศได้ใช้ AI ในการวิเคราะห์และเสนอแนะว่าควรจัดส่งน้ำดื่มประเภทใดและจำนวนเท่าไรไปให้แต่ละจุดจำหน่ายในทุกวัน ทั้งการคำนวณปริมาณสินค้าไม่ให้ของขาด หรือแนะนำสินค้าอื่น (New SKUs Recommendation) เพิ่มเติมเพื่อช่วยร้านค้าเพิ่มยอดขายให้ได้สูงสุด

“การเข้ามาของ AI มันเปลี่ยนเกมธุรกิจไปเยอะ AI ช่วยให้วางสินค้าจำนวนที่ถูกในร้านค้าที่ใช่ และแนะนำสินค้าเพิ่มเติมทำให้เพิ่มยอดขายและเกิดการซื้อซ้ำ โดยระบบของ ลูลู่ เทค ได้ช่วยในการวางสินค้ากว่า 10 ล้านชิ้นต่ออาทิตย์ ทำให้ยอดขายเพิ่มมหาศาล คล้าย ๆ กับการมาของ web eCommerce ที่มีการทำ recommendation ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มยอดขาย และในที่สุด web ที่ไม่ได้ทำก็จะสู้ web ที่ทำไม้ได้  นอกจากนั้นเมื่อกระแสของ Generative AI มา ลูลู่ เทค ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษา (Natural Language Processing) ที่ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญในการพัฒนา Google Assistant มาก่อน ทำให้ ลูลู่ เทค เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีลูกค้าติดต่อเข้ามาให้ช่วย implement Generative AI ให้กับองค์กรจำนวนมาก ทั้ง ChatGPTและ Google Vertex โดยบริษัทยังได้เป็นพาร์ทเนอร์กับ Google อีกด้วย

ต่อมาคือ ระบบ Speech to Text ที่ช่วยในการแปลงข้อมูลเสียงให้เป็นข้อมูล text ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ เพื่อช่วย Call Center ต่าง ๆ โดยระบบนี้ยังสามารถจำแนก แยกแยะเสียงพูดระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ (Voice Diarization)  เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการตรวจสอบระบบคอลเซ็นเตอร์ซึ่งไม่ใช่การสุ่มตรวจแบบเดิม ๆ แต่ได้ครบทุกคู่สายที่ติดต่อเข้ามาในแต่ละวัน และช่วยสร้างสคริปต์การขายอัตโนมัติ (Dynamic Sales Script) ที่เพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานขาย แล้วยังเอาไปต่อยอดได้อีกมากมาย เช่น เอาไปฝึกอบรมพนักงานขายในการพูดคุยกับลูกค้า นอกจากนี้ ยังมี ระบบการอ่านเอกสารอัตโนมัติ (Optical Character Recognition) โดยเฉพาะการอ่านเอกสารที่เป็นลายมือเขียนภาษาไทย ซึ่งสามารถอ่านเอกสารที่อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่นกระดาษ หรือ PDF แล้วส่งเข้าระบบฐานข้อมูลบริษัท (ERP) อัตโนมัติได้อย่างแม่นยำ ลดการใช้กำลังคนและเวลาได้มหาศาลในการพิมพ์เอกสารเข้าระบบ 

ก้าวต่อไป คือ การพัฒนา AI ทางการแพทย์ โดยต้องการให้คนทุกคนเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ที่ดี ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลสมิติเวชในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ทางการแพทย์ และยังทำช็อปตรวจสุขภาพที่สยามพารากอนร่วมกันแตกต่างอย่างแข็งแกร่ง

ลูลู่ เทคโนโลยี พยายามสร้างความแตกต่างให้ต่างจากบริษัทอื่น ๆ ใน 3 ด้าน

1) Experts หรือ คนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นข้อได้เปรียบแรก “ผมว่า สินทรัพย์ของบริษัท AI ไม่ได้มีอะไรเลยนอกจากคน แล้วคนที่เป็น AI เพียว ๆ ในไทยแทบไม่มี เราจึงต้องรวบรวมเด็กเก่ง ๆ มาอยู่ที่นี่ให้ได้ และเราโชคดีที่รวบรวมมาได้มากพอควร” ลูลู่ เทคโนโลยี มีเด็กเก่งที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ หรือร่วมงานในโปรเจกต์ของบริษัทใหญ่ระดับโลกเช่น Amazon, Wallmart หรือ Goldman Sachs อยู่มาก ซึ่งเมื่อกลับไทยก็สามารถนำความรู้และประสบการณ์มาใช้ได้เลย

“การรับคนของเราค่อนข้างหิน ผมไม่อ่านเรซูเมแต่ส่งข้อสอบไปให้ทำ ผ่านแล้วค่อยมาซักประวัติกันอีกที แล้วสถิติผ่านงานของเรา น้อยกว่า 1% สมัครงาน 100 คนผ่านแค่คนเดียว เพราะเราต้องการทาเลนต์ที่ต้องเก่งงานและสู้งาน ตอนนี้เรามีน้องร่วมทีมกว่า 100 คน อายุเฉลี่ยราว 24-25 ปี แบ่งเป็น ทีมวิศวกรทำงานด้านแมชชีน เลิร์นนิ่ง และ AI รวม 50 คน ส่วนอีก 50 คน เป็นทีมโปรแกรมเมอร์เพื่อเสริมการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ทำงานสมบูรณ์ทั้งฟรอนต์เอนด์และแบ็คเอนด์ ที่เหลือคือส่วนงานรับผิดชอบด้านธุรกิจ”

2) Customization การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้เข้ากับทุกความต้องการของลูกค้า โดยเราจะสร้างเทคโนโลยีของตัวเองเริ่มต้นจากศูนย์จนจบ ไม่ได้ใช้ซอฟท์แวร์สำเร็จรูป เช่น ระบบ AI ทางการแพทย์เราทำขึ้นใหม่เองทั้งหมด จึงทำให้สามารถทำโซลูชั่นที่สามารถตอบความต้องการของลูกค้าต่าง ๆ อย่างแท้จริง

3) Design Thinking ลูลู่ เทคโนโลยี ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบที่ทำให้ความเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของมนุษย์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็น Human Centric AI Solution โดยอยู่บนความเชื่อว่า เทคโนโลยีจะไม่เวิร์คเลยถ้าเทคโนโลยีนั้นไม่เข้าใจมนุษย์  ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจเพนพอยต์ของตัวเอง กำหนดแนวทางแก้ไข และมองหาเทคโนโลยีเข้ามาเสริม ซึ่งในมิติทางธุรกิจ ลูลู่ เทค มีแผนกที่ดูเรื่องกระบวนการคิดเชิงออกแบบในการเข้าใจปัญหาของลูกค้าโดยการสัมภาษณ์ผู้บริหาร สัมภาษณ์พนักงาน รวมถึงผู้ใช้งานเพื่อทำความเข้าใจว่าแอปพลิเคชันที่ลูกค้าต้องการจะนำไปใช้นั้นตอบโจทย์เพนพอยต์จริงหรือไม่ การทำ User Testing  เพื่อเข้าใจผู้ใช้งาน การทำ A/B Testing ในการทดสอบการทำงาน 2 รูปแบบเพื่อดูว่า รูปแบบใดมีประสิทธิภาพมากกว่ากันแทบทุกอาทิตย์ เรียกว่าเป็นหนึ่งในบริษัท AI ที่มีการทดสอบระบบงานมากที่สุด

 ปริชญ์แชร์ประสบการณ์เพิ่มเติมว่า มีหลายครั้งเหมือนกันที่ลูกค้าเดินเข้ามาด้วยโจทย์การทำ AI แบบฟุ้ง ๆ มีหลายอย่างที่อยากทำ ซึ่งก็ต้องมาทำเวิร์คช็อปกันก่อนว่า โปรเจคไหนจะทำให้เกิดผลกระทบ (ROI) สูงสุด โดยกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานของลูลู่ เทค จะเริ่มจากการส่งทีมที่ทำเรื่อง Consulting ซึ่งใช้กระบวนการคิดเชิงกลยุทธ์ในการศึกษาโปรเจกต์ของลูกค้า และดูว่าโปรเจกต์ไดเมื่อนำไปทำแล้วเกิดผลสัมฤทธิ์ (Impact) ได้มากสุดและพอเหมาะกับงบประมาณที่มี เมื่อคัดเลือกโปรเจกต์ได้แล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 Design Thinking ในการคิดและออกแบบแอปพลิเคชัน เพื่อเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน ควบคู่กับการทำ Data Audit ในการตรวจสอบข้อมูลว่าพร้อมและเพียงพอหรือไม่ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 การพัฒนาแอปพลิเคชันหรือสร้างโมเดล และขั้นตอนสุดท้าย คือ การส่งมอบเอไอโซลูชั่นชันสู่การใช้งาน โดยมีเป้าหมายให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มากที่สุด 

“ก่อนจะเป็นบริษัทที่เป็นหนึ่งเรื่อง AI คุณต้องเป็นบริษัทที่เป็นหนึ่งเรื่องการวางแผนก่อน แล้วหน้าที่ของ ลูลู่ เทคโนโลยี คือการช่วยชี้ให้เห็นว่า เพนพอยต์ของลูกค้าจริง ๆ แล้วอยู่ตรงไหน สามารถแก้ได้ด้วยเทคโนโลยีจริงรึเปล่า แล้วจะเอา AI ไปแก้โจทย์ตรงไหน เพราะ AI ไม่ใช่คำตอบของปัญหาทุกอย่าง บางทีลูกค้าอาจกลับไปโดยไม่จำเป็นต้องใช้ ลูลู่ เทค ก็ได้”

แตกหน่อเพื่อโต

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองโดยโครงสร้างโมเดลธุรกิจ ลูลู่ เทคโนโลยี เปรียบเสมือนบริษัทแม่ที่คอร์บิสซิเนสคือ Predictive Analytics และ Generative AI ในรูปแบบของ Project Based ไว้เป็นพื้นฐานในการนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม เช่น การคาดการณ์การจัดการสินค้าคงคลัง การพยากรณ์การจัดส่งสินค้า การนำ Genearative AI ไปใช้กับแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Chatbot หรือ Call Center และเมื่อนำไปขยายผลต่อเป็นการพัฒนาโซลูชั่นที่ใช้ข้อมูลและ AI ตัวไหนที่เข้าตา ตรงกระแส และดูมีอนาคต ก็พร้อมจะแตกออกเป็นโมเดลธุรกิจใหม่”

ยกตัวอย่าง แอปพลิเคชันการอ่านเอกสาร (Optical Character Recognition) และการแปลงเสียงเป็นข้อความ (Speech to Text) ซึ่งแตกออกมาเป็นบริษัท Word Sense ระบบการทดสอบออนไลน์ที่พัฒนาให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ช่วงโควิดซึ่งขยายผลมาเป็นบริษัท Job Pascard ในการทดสอบทักษะที่แท้จริงของบุคลากร แบบ Skill Based Assessment ไม่ใช่จากข้อสอบแบบเลือกตอบ (Multiple Choice Question) ซึ่งสามารถวัดความสามารถจริงได้กับทุกสาขาอาชีพ และแอปพลิเคชันหมอเด็กออนไลน์ชื่อว่า “หมอคู่คิดส์” เพื่อตอบเพนพอยต์ของพ่อแม่มือใหม่ที่ยังเลี้ยงลูกไม่เป็นและต้องการคนให้คำปรึกษาตอลดเวลาไม่ว่าจะเป็นหมอหรือพยาบาล  เป็น 3 ธุรกิจที่ลูลู่เห็นโอกาสที่แตกออกเป็นบริษัทลูกซึ่งได้มีนักลงทุนเข้ามาร่วม

ทำดีเพื่อโลก

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ ลูลู่ เทคโนโลยี แตกต่างจากเอไอเฮ้าส์อื่น คือ การอยากเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ดี และทำดีให้กับโลก เป็นเจตจำนงแรงกล้าที่ไม่แค่การทำงานของลูกค้าให้เสร็จ แต่ต้องตอบตัวเอง ตอบน้อง ๆ ได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้โลกจะได้อะไร สิ่งที่ทำจะช่วยให้สังคมดีอย่างไร

Carenation พวงหรีดสานบุญ หนึ่งในโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่คุณปริชญ์เริ่มต้นเป็นการส่วนตัว ถึงวันนี้สามารถสร้างยอดบริจาคเพื่อสังคมได้มากกว่า 21 ล้านบาท และทุกคนในบริษัทพร้อมที่จะมาช่วยกันเพื่อทำประโยชน์ให้สังคมไทย ซึ่งถ้าไม่ริเริ่มด้วยสิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือสังคมได้ ต่อให้พูดว่า ลูลู่ เทคโนโลยี เป็นบริษัท AI ที่ดีก็คงไม่มีใครเชื่อ

 “แน่นอนว่าเรามีเป้าเชิงกลยุทธ์ เช่น เราจะชนะคนอื่นยังไง เราต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญทาง AI อันดับหนึ่ง แล้ววันนี้เราทำอะไร ทำได้แค่ไหน อันนี้เป็นเป้าที่เราวัด เรามีเป้าในการคืนประโยชน์ให้สังคมเหมือนกับ Carenation ที่เราตั้งเป้าเงินบริจาคไว้ 100 ล้าน แต่ถึงตอนนี้ทำได้แล้ว 21 ล้าน จะเห็นว่า เราไม่ได้วัดที่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่เราวัดผลกระทบที่มีต่อสังคมด้วย”

ศักยภาพคน AI ไทย

“ศักยภาพคนไทยเรื่อง AI ไม่ได้แพ้ชาติใดในโลก อีกทั้ง Open AI เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 อเมริกาจึงนำหน้าเราไปได้ไม่ไกล ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องใครมาก่อนมาหลัง แต่อยู่ที่ใครมีมันสมองมากกว่ากัน”

 สำหรับ ลูลู่ เทคโนโลยี เอง เรามีคนไทยที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา Google Assistant ที่คนใช้งานเป็นพันล้านคนทั่วโลก มี Data Scientist จากองค์กรชั้นทำเช่น Oracle เทคโนโลยี Speech-to-Text ภาษาไทย ที่สร้างโมเดลเองและมีความแม่นยำสูง แอปพลิเคชันด้านการแพทย์ซึ่งยังคงพัฒนาต่อไปให้ถึงจุดที่ครอบคลุมได้ทุกโรคเพราะประเทศไทยมีหมอที่เก่งมาก มีข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลทางสุขภาพในหลายประเทศยังหาไม่ได้เทียบเท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เมืองไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขันบางอย่าง จึงต้องหาให้เจอแล้วนำมาสร้างเป็นจุดแข็งเพื่อทำให้ประเทศได้ประโยชน์ และโลกได้ประโยชน์ไปด้วย

GRIT วัฒนธรรมองค์กรฉบับ ลูลู่ เทคโนโลยี

“ผมว่า บริษัทที่ดีผู้ก่อตั้งไม่ควรมี Skill Sets ที่เหมือนกัน อย่างผมมาสายธุรกิจชอบเจอคน เน้นงานสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้า ส่วนผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งมาก แต่อาจไม่ได้ชอบที่จะออกงานสักเท่าไหร่ จึงกลายเป็นจุดแข็งที่ผสมผสานอย่างลงตัว เวลาผมไปรับโจทย์มา ไม่มีอะไรที่พวกเขาทำไม่ได้ในทางเทคนิค หน้าที่ผมคือลุยหน้าบ้านเต็มที่ หลังบ้านคือเก็บได้หมด ไม่มีพลาด”

ปริชญ์กล่าวว่า การทำงานที่ลูลู่ เทคโนโลยี มีข้อดีตรงวัฒนธรรมที่เราพยายามทำให้เหมือนกับที่ Silicon Valley เป็นองค์กรที่ Flat ที่ไม่มีเจ้านายลูกน้อง ไม่มีลำดับชั้น ก็เลยเป็นวัฒนธรรมที่สด ใหม่ สนุกสนาน ซึ่งเราตั้งชื่อว่า GRIT  ประกอบด้วย G-Growth Mindset ทุกคนมีความต้องการที่อยากเรียนรู้เพื่อเติบโต R-Rational ทุกคนถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผลและไม่ถือโทษโกรธกัน I-Initiative ทุกคนต้องพร้อมมีสิ่งใหม่ ๆ มาชวนคิดหรือนำเสนอ และ T-Thrive as One รวมกันเป็นหนึ่งทำงานร่วมกันเป็นทีม

อีกทั้ง การเลือกที่จะพิสูจน์ความสามารถโดยวัดจากความสำเร็จของงาน ทำให้ลูลู่ เทค จะบอกทุกคนเมื่อทุกอย่างสำเร็จ วันนี้เราสามารถบอกได้ว่าระบบ Speech-to-Text และการอ่านเอกสารที่รวมถึงลายมือภาษาไทยที่เราพัฒนามีความแม่นยำเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ระบบ Predictive Analytics สามารถช่วยขยับยอดขายให้ลูกค้าได้อย่างชัดเจนจนระบบเราได้รับการไว้วางใจให้ช่วยวางสินค้าได้มากกว่า 10 ล้านชิ้นในทุกสัปดาห์ การแนะแนวธุรกิจในการเปิดจุดจำหน่ายใหม่ได้ถึง 3 หมื่นสาขาต่อปี ระบบการอ่านเอกสารได้มากถึง 140,000 แผ่นต่อวัน การตรวจเอกสารซื้อขายรถมือสองและเอกสารการเงินสำหรับรถยนต์ปีละ 7 หมื่นคัน รถจักรยานยนต์ปีละ 2 แสนคัน เป็นต้น ทั้งหมดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้จริง

“แต่ถึงอย่างไรอีก 5 ปี 10 ปี อะไรก็เปลี่ยนไปได้อีก เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วจนต้องขยับตัวและเรียนรู้ตลอดเวลา ผมเลยเป็นคนไม่ค่อยเชื่อหรือยึดติดกับเป้าหมายจนเกินไป แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุดชนิดที่รู้สึกว่ามันดีกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว ไม่ต้องคิดมาก เช่น ผมมีเป้าในการทำอย่างไรให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการแพทย์ที่ดีได้ แต่ระหว่างทางจะเป็นยังไงไม่รู้ ก็แค่ทำให้ดีที่สุดแล้วทุกอย่างจะดีเอง”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดใจ “พิมพ์พิชา อุตสาหจิต” ทายาทรุ่น 3 ขายหัวเราะ “การ์ตูนเป็น Soft Power ที่ไปอยู่กับอะไรก็ได้”

‘ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต’ สะท้อนมุมมองต่อบทบาทของ กสทช. บนความท้าทายในโลกยุคแพลตฟอร์มดิจิทัล

เทคสตาร์ตอัพ “โพรโตเมท” ต้นน้ำ “หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะ”​ สัญชาติไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ