TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเทคสตาร์ตอัพ “โพรโตเมท” ต้นน้ำ “หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะ”​ สัญชาติไทย

เทคสตาร์ตอัพ “โพรโตเมท” ต้นน้ำ “หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะ”​ สัญชาติไทย

มีเรื่องเล่าสืบทอดของจีนแต่โบราณว่า “ปลาคาร์ปตัวใดเมื่อว่ายทวนกระแสไปจนถึงต้นน้ำ จะกลายร่างเป็นมังกรบินขึ้นสู่สรวงสวรรค์” สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็ง อดทน พร้อมทวนกระแสที่เชี่ยวกรากจนถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จ

ดร.กานต์ กาญจนาภาส และ วิวัฒน์ วูวงศ์ สองผู้บริหารรุ่นใหม่จาก โพรโตเมท (Protomate) ผู้เลือกว่ายทวนกระแสเพื่อเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ธุรกิจเทคสตาร์ตอัพไทยไม่ให้หยุดอยู่แค่กรอบของการพัฒนาซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์ม แต่ต้องเดินหน้าไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานระหว่าง “ด้านการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ด้านฮาร์ดแวร์ และ ด้านซอฟต์แวร์เอไอปัญญาประดิษฐ์” จนสำเร็จเป็น “หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะ” (Smart Helmet) Fashion Consumer Electronics Gadget ฝีมือคนไทยที่จัดเต็มทั้งการดีไซน์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักขับขี่รถจักรยานยนต์ (Biker) จากไทยไปทั่วโลก

ครั้งแรกของโลกกับ ‘UltraFusion-X1’ หมวกกันน็อคมอเตอร์ไซค์อัจฉริยะ พร้อมกล้อง 4 ตัว และระบบ AI

แนวคิดจากต้นน้ำ

“เราสองคนจบที่ยูซี เบิร์กลีย์ (U.C. Berkeley) เหมือนกัน ผมเป็นรุ่นพี่ เขา (วิวัฒน์) ป็นรุ่นน้อง”

ดร. กานต์ กาญจนาภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในวัย 38 ปี จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกล สาขาวิศวกรรมยานยนต์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนบินไปเรียนต่อในสาขาระบบควบคุมอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Control Major) ที่ยูซี เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา จากนั้นเริ่มต้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานที่ซิลิคอน วัลเลย์จนได้ไปอยู่ในทีมพัฒนากล้อง (Camera Hardware) ของบริษัทมือถือชั้นนำของโลก

รับผิดชอบเกี่ยวกับอัลกอริธึมของระบบต่าง ๆ ในโมดูลกล้อง  ซึ่งในปี 2557 โทรศัพท์มือถือมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวค่อนข้างมาก เช่น ระบบกันสั่น ระบบการเคลื่อนที่ของเลนส์ของกล้อง โชคดีที่ผู้เชี่ยวชาญยังมีไม่มากจึงได้โอกาสจับงานหลายส่วน กระทั่งพบ สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ซึ่งดูแล Dtac Accelerate ในขณะนั้นได้พาทีมสตาร์ตอัพ ผู้บริหารจากคอร์ปอเรตใหญ่ ๆ จากไทยมาเยี่ยมเยียนกลุ่มนักเรียนไทยและคนไทยที่ทำงานอยู่ที่ซิลิคอน วัลเลย์ การได้พบปะพูดคุยเกือบทุกกลุ่มธุรกิจก็พบว่า สตาร์ตอัพบ้านเรา ณ​เวลานั้นเพิ่งระบบนิเวศน์ (Startup Ecosystem) เพิ่งจะเริ่มต้นส่วนใหญ่มักจะพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือไม่ก็แพลตฟอร์ม ทำให้ขาดความหลากหลายและความสมดุลของระบบนิเวศน์ 

“การทำงานที่นี่ทำให้เราเห็นภาพมุมสูงของภูมิทัศน์ทั่วโลก ที่ซิลิคอน วัลเลย์ซึ่งเป็นต้นน้ำของเทคโนโลยี มันมีความสมบูรณ์และหลากหลายทุกมิติทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ เซมิคอนดัคเตอร์ ชิป หรือเทคโนโลยีที่ออกแบบมาตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คน เป็นอีโคซิสเท็มที่แข็งแรงและนับวันยิ่งลงลึก แต่บ้านเรามักจะยืนอยู่ ณ ​ปลายน้ำของเทคโนโลยีมากกว่า เราเป็นผู้ใช้มากกว่าเราเป็นผู้สร้าง คำถามคือ เด็กๆที่มีความสามารถที่เรียนจบเทคฯด้านอื่น ๆ จะไปอยู่ตรงไหนถ้าไม่ได้เรียนมาทางซอฟต์แวร์ เรามีคนเก่งๆหลากหลายจากสาขาวิชาเยอะ แต่ขาดเวทีที่จะสร้างนวัตกรรมในสาขาวิชานั้น ๆ เวทีเหล่านั้นยังมีไม่มากพอ ณ เวลานั้น” 

ตัดภาพมาที่ วิวัฒน์ วูวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจในวัย 30 ปี ที่เบนเข็มจากการเรียนแพทย์หรือเภสัชกรรมตามความต้องการของพ่อแม่ซึ่งอยากให้มารับช่วงธุรกิจตัวแทนจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ โดยหันมาเลือกศึกษาต่อปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ที่ยูซี  เบิร์กลีย์แทน เมื่อเรียนจบกลับมาในปี 2560 ก็มาทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเริ่มต้นที่ดีแทคก่อนย้ายมาที่บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง สุดท้ายต้องกลับมาช่วยบริหารธุรกิจที่บ้าน ดูแลด้านคลังสินค้าและบริษัทโลจิสติกส์ที่ครอบครัวเปิดมาเพื่อส่งสินค้าของตัวเองโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ซึ่งเหมาะกับการส่งของในกรุงเทพฯ เพราะค่าใช้จ่ายถูก ทำรอบได้มาก แต่ก็เจอปัญหาอุบัติเหตุชนกันเป็นประจำ

“โดยธุรกิจของครอบครัวเหมือนถูกหล่อหลอมมาให้เชื่อว่า เราก็แค่คนซื้อมาขายไป เอาของมาจากต่างปะเทศ ทำตลาดแล้วขาย แล้วก็ร่ำรวย แล้วก็ไปหาสินค้าอื่นมาขายต่อ เพราะคุณพ่อผมก็ทำมาเป็นยี่สิบสามสิบปี แต่พอยุคผมเวลาคิดอยากทำอะไรก็อยากขึ้นไปให้ถึงต้นน้ำมากกว่านี้”

ปักหลักนวัตกรรมฮาร์ดแวร์

แม้ความคิดคล้ายแต่ไอเดียยังเคว้ง จนกระทั่งปี 2561 ดร. กานต์ ตัดสินใจบินกลับไทยเพื่อมองหาความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งเป็นปีที่เทรนด์เรื่องเทคสตาร์ตอัพกำลังดังไปทั้งโลก จะด้วยเหตุผลของการระดมทุน ความพร้อมของคน และอีกหลายอย่าง แต่การพูดคุยที่เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น รวมถึงไอเดียที่อยากสร้างเวทีเพื่อรวมเด็กเก่งจากหลายสายเทคมาสร้างนวัตกรรมที่บ้านเราไม่ค่อยทำกันโดยเฉพาะ “การพัฒนาฮาร์ดแวร์และการออกแบบผลิตภัณฑ์”

บริษัท โพรโตเมท จึงเริ่มต้นขึ้นโดยผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน โดยมี ดร.กานต์ และวิวัฒน์ รับหน้าที่บริหารการทำงาน และอีกท่านมาเป็นที่ปรึกษาหลังบ้านโดยมีเป้าหมายที่อยากสร้างบริษัทด้านนวัตกรรมแบบจริงจังคล้ายกับที่สหรัฐอเมริกา เช่น แอปเปิ้ล เทสล่า ซึ่งน่าจะทำให้เกิดโมเมนตัมที่มากกว่า

Protomate-Smart-Helmet-Tech-Localization-Data

เพราะการทำงานในบริษัทมือถือยักษ์ใหญ่ของโลกในสายฮาร์ดแวร์สำหรับดร.กานต์ คือสวรรค์ที่สุดแล้ว เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถหาที่ไหนได้ ทั้งทีมถูกสร้างให้มีแพสชันในการทำสิ่งที่แต่ละคนต้องทำให้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลก อีกทั้งการสร้างสิ่งที่เป็นต้นน้ำทางนวัตกรรมจะสามารถดึงอุตสาหกรรมทั้งหมดมาได้ เมื่อเข้าใจความพิเศษของสภาพแวดล้อมนี้ จึงพยายามสร้างให้เกิดขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งช่วงโควิดที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดถึง Tech Localization ที่แต่ละประเทศต้องลงมือพัฒนาเทคโนโลยีเองบ้าง และเมื่อคิดลงแรงแล้วก็ขอให้นวัตกรรมนั้นสามารถขับเคลื่อนให้เกิดแรงกระเพื่อมหนัก ๆ กับสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดร.กานต์ เล่าว่า ตอนแรกไม่รู้จะเริ่มยังไง รู้แค่ว่าทำเอบีซีดีได้ แต่ไม่รู้เรื่อง Problem Statement ไม่รู้ว่าเพนพอยต์ที่ลูกค้ากำลังเจอคืออะไร ก็ใช้แนวศึกษาแบบวิจัย ตั้งต้นจากการศึกษาและสำรวจปัญหาสังคมจนไปตามดูสาเหตุการตาย 10 อันดับแรกที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็พบว่า 9 ใน 10 เรื่องเป็นปัญหาสุขภาพ อีก 1 เรื่องที่เหลือซึ่งจัดอยู่ในอันดับ 9 ตามองค์การอนามัยโลกเป็นเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety) ซึ่งจุดชนวนความคิดได้ตรงกับวิชาที่ร่ำเรียนมา คือ ด้านวิศวกรรมยานยนต์ ทั้งการศึกษาที่มากขึ้นทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ค่าเฉลี่ยของอุบัติเหตุบนถนนทั่วโลกเกิดจากรถยนต์ แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 50% เกิดจากรถ

จักรยานยนต์ แต่ไทยพิเศษยิ่งกว่าเพราะอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์สูงกว่า 75-80% โดยในปี 2559 อัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ต่อประชากร  1 แสนคนอยู่ที่ 33 คน คิดเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่อีก 9 อับดับที่เหลือเป็นประเทศในทวีปแอฟริกา จึงเกิดคำถามว่า ประเทศไทยไปถึงจุด ๆ นั้นได้อย่างไร ขณะเดียวกันเมื่อมองย้อนกลับไปในวัยเด็ก ตนเองก็เคยประสบอุบัติเหตุจากการขี่รถจักรยานยนต์ แต่รอดมาได้เพราะหมวกกันน็อค

“เกิน 50% ของคนไทยไม่ใส่หมวกกันน็อค ส่วนคนซ้อนยิ่งไม่ใส่มากกว่า 90% ต่างจังหวัดยิ่งไม่ต้องพูดถึง พอทำสำรวจวิจัยมากขึ้น ๆ ก็ยิ่งรู้ว่า พื้นที่เสี่ยงเสียชีวิตสูงของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ คือ รัศมี 1 กิโลเมตรจากบ้าน เพราะคิดว่าขี่ไปใกล้ ๆ แค่นี้เอง น่าจะปลอดภัย”

ผุดไอเดีย หมวกกันน็อค เอไออัจฉริยะ

เมื่อรู้ว่าปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนนของบ้านเรามีสาเหตุหลักมาจากรถจักรยานยนต์ แต่จะให้ไปทำอินฟราสตรัคเจอร์ เช่น ทำถนนให้ปลอดภัยขึ้นก็เกินกำลังการลงทุนของสตาร์ตอัพ แรงจูงใจแรกจึงวกกลับมาที่การออกแบบแกดเจ็ต (Gadget) อย่าง Smart Helmet หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะที่มีความเป็นคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้คนเห็นแล้วอยากใส่รวมถึงส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยากใส่บ้าง ซึ่งหมวกกันน็อคอัจฉริยะเป็นเรื่องที่มีมานานแต่ไม่เกิดสักเท่าไหร่เพราะเทคโนโลยีไม่ค่อยไปไหน ทางทีมเล็งเห็นโอกาสและความสำคัญของโปรเจคนี้ที่มีความท้าทายด้านเทคโนโลยีในระดับสากลและรวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม (Social Impacts) ทางทีมจึงเริ่มมีการศึกษาพัฒนาวัสดุ ทรงหมวก ลวดลาย คุณลักษณะความปลอดภัยและสวมใส่ได้สบาย แต่นอกเหนือจากความเป็นหมวกก็คือเทคโนโลยีด้านกล้อง ด้านเอไอ ในเชิงแบบบิ๊วอิน (Built-In) ซึ่งทำให้โปรเจคนี้มีความน่าสนใจอย่างสูง

ความที่ตลาดรถจักรยานยนต์แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มต่างมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เหมือนกัน กลุ่ม “บิ๊กไบค์”  จึงถูกมองว่าน่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ แต่ก็พบว่า บางคนแค่ขับเฉย ๆ ไม่ได้ใช้แกดเจ็ตใด ๆ บางคนใช้กล้องแอ๊คชั่นบ้างแต่ก็เป็นลักษณะไปซื้อมาติดเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะติดกล้อง 1 ตัวไม่ที่คางก็ข้างบนหมวกไปเลย แต่ที่ดูจะเป็นเพนพอยต์มากๆ ก็คือ ความยุ่งยากในการติดตั้ง เป็นต้น ทางทีมเคยสัมภาษณ์ผู้ใช้งาน มีกรณีศึกษาโดยที่การจอดไฟแดงทั้ง ๆ ที่ติดกล้องที่หมวกแล้วจู่ ๆ มีรถมาชนจากด้านหลังหรือด้านข้างซึ่งป้องกันเหตุไม่ทันเพราะมีกล้องด้านหน้าแค่ตัวเดียว

การลงรายละเอียดพร้อมจัดเต็มในแต่ละเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยมี “ประสบการณ์ของผู้ใช้นำทาง” จึงเริ่มจากกล้องบันทึกภาพและวิดีโอ 4 ตัวเป็นแบรนด์แรกของโลก Built-In มาให้ ณ ตำแหน่ง หน้า-หลัง-ซ้าย-ขวา สามารถบันทึกภาพได้พร้อมกันรอบทิศทาง  เลือกการบันทึกภาพได้อีกตั้ง 6 โหมด เช่น โหมดที่อัดความละเอียดสูงระดับ 4K กล้องหน้า และ Full HD อีกสามกล้องหลังซ้ายขวาพร้อม ๆ กัน ให้ความคมชัดของภาพ สีสวย แบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid-state Battery) ที่ใช้กับอุตสาหกรรมการบินหรือรถอีวี ทนต่อแรงกระแทกสูง ๆ สามารถจ่ายไฟเมื่อบันทึกภาพที่ความละเอียดสูงสุดได้นานราว 1 ชั่วโมงครึ่งถึง 4 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับความละเอียดของวิดีโอที่จะบันทึก สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ รองรับไมโครเอสดีการ์ด

มีเซ็นเซอร์วัดการเคลื่อนไหวระหว่างขับขี่ (Motion Sensor) เพื่อความปลอดภัย ระบบนำทางจีพีเอส เซ็นเซอร์กำหนดตำแหน่งและเส้นทางระหว่างขับขี่ ซอฟต์แวร์และฟีเจอร์ในการใช้งานที่มีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง อาทิ แอปพลิเคชันในการควบคุมสั่งงานด้วยโทรศัพท์มือถือ หรือด้วยรีโมทที่เสียบข้างคันบิด ระบบการบันทึกภาพ  เปลือกหมวก (Shell) ทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์คอมโพสิตซึ่งแข็งแรงทนทาน ออกแบบรูปทรงให้เข้ากับรถหลากหลายสไตล์ นวมด้านใน (Liner-ไลเนอร์) ทำจากผ้าคุณภาพชั้นดีเยี่ยมที่ผลิตในไทย ซึ่งกันเหงื่อ ความชื้น และระบายกลิ่นได้ดี ออกแบบและตัดเย็บเองให้กระชับกับรูปทรงศีรษะของผู้ใส่ ตัวหมวกซึ่งได้การรับรองมาตรฐาน มอก.369-2557 และมาตรฐานยานยนต์ยุโรป ECE 22.05

ราชสุดา รังสิยากูล ติดสปีด ORion เปิดเกมล่าธุรกิจใหม่ เร่งคว้าทุกโอกาส

“โพรโตเมทจะบอกตลอดเวลาว่า เราคือ ฮาร์ดแวร์เอไอ สตาร์ตอัพ ซึ่งโฟกัสผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ที่สามารถรันเอไอโมเดลได้ในตัวเลย ยูสแคสแรกที่ปล่อยออกมา คือ การพัฒนา AI Blindspot Warning  ระบบเตือนภัยการขับขี่เพื่อความปลอดภัยด้วยเอไอซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่เราได้คิดค้นพัฒนาขึ้น และทำงานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อคลาวด์หรือระบบใด ๆ เช่น เมื่อมีรถตรงเข้ามาจากด้านหลัง กล้องด้านหลังจะทำการตรวจจับและแจ้งเตือนผ่านแถบไฟ LED ให้อย่าเพิ่งเปลี่ยนเส้นทางหรือวิ่งตัดเลน เป็นต้น

เทคฟีเจอร์ที่จัดใหญ่ไฟกระพริบขนาดนี้เป็นสิ่งที่ทั้งสองคนให้มุมมองว่า ในฐานะนักพัฒนาต่างอยากเห็นว่ายูสเซอร์นำเทคโนโลยีไปทำอะไรที่สร้างสรรค์คืออะไรบ้าง เช่น เสริมประสิทธิภาพการขับขี่ปลอดภัย ส่วนในมิติของการออกแบบคอนเทนต์ มองว่า เป็นการสร้างมิติใหม่ในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆจากยูสเซอร์ เช่น น่าจะตอบโจทย์ไบเกอร์ที่ชื่นชอบการขับขี่และนิยมบันทึกภาพบอกเล่าเรื่องราวระหว่างการเดินทางหรือไลฟ์สไตล์ของตัวเองลงในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ

วิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า อย่างน้อยก็เป็นหลัก 40-50 ปีที่คนขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหมวกกันน็อคมานาน จะด้วยรูปทรงที่จำกัดตามเอกลักษณ์ของแบรนด์ เช่น ทรงญี่ปุ่น อิตาลี หรือเทคโนโลยีที่อาจจะเคลมว่าเบากว่าคู่แข่งแต่ก็ไม่ค่อยมีอะไรใหม่ ๆ มาให้ลอง แล้วกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งไว้ส่วนใหญ่ใช้แบรนด์ในระดับโลกทั้งนั้น จึงต้องสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ที่ทำให้เค้ารู้สึกว้าว ตื่นเต้น แต่ยังคงคุณลักษณะสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ “แอโรไดนามิคส์ (Aero Dynamics)”  ในการลดแรงเสียดทานของอากาศขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง ผู้สวมใส่จึงไม่รู้สึกว่า หมวกถ่วงหรือเกิดอาการหมวกตีกระแทกศีรษะ และ ดีไซน์ที่ดูพรีเมี่ยม  เรียบหรู ใส่แล้วภาพลักษณ์ดูดี เท่ห์อย่างมีไลฟสไตน์

“สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากบริษัทพัฒนาฮาร์ดแวร์เบอร์ใหญ่ ๆ ของโลก คือ ทักษะชำนาญการในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ความน่าเชื่อถือ (Reliability) ของตัวผลิตภัณฑ์ หมายถึงเมื่อผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ต้องสามารถคงสภาพการใช้งานได้ตรงตามประสบการณ์ที่เราตั้งใจออกแบบมาให้ผู้ใช้ นั่นคือ เหตุผลที่เราเลือกออกแบบเอง เสาะหาแหล่งผลิตชิ้นส่วนเอง นำมาประกอบ ควบคุมคุณภาพ และพัฒนาซอฟต์แวร์โดยโพรโตเมทเองทั้งหมด”

ออกจากโหมดล่องหนสู่โลกภายนอก

 ระยะเวลา 4 ปีจากวันแรกที่เริ่มตั้งบริษัทด้วยเงินทุนของตัวเองส่วนหนึ่ง จากนักลงทุนบุคคลที่เป็นแองเจิล อินเวสเตอร์ส่วนหนึ่ง จนกระทั่งมาได้วีซีอย่าง ออร์ซอน เวนเจอร์ส (ORZON Ventures) ของกระทิง พูนผล จากกองทุน 500 TukTuks ร่วมกับโออาร์ ในช่วง 2 ปีหลัง นับเป็นการเดินทางที่เริ่มตั้งแต่การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ จนแตกหน่อเป็นพรีซีรี่ย์เอ และพร้อมโตต่อไปเป็นซี่รีย์เอในแนวการพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในโจทย์ถัด ๆ ไปที่มีความหลายหลายมากยิ่งขึ้น

“เราพยายามขอทุนสนับสนุนจากรัฐบาลมาทำโปรเจกต์ซึ่งช่วยได้เยอะ เช่น ทุน Open Innovation 2019 จากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ทุนจากหน่วยบริหารจัดการทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และทุนส่งเสริมสตาร์ตอัพจากบีโอไอ เพราะเราอยากขึ้นไปให้ถึงต้นน้ำจริง ๆ

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณหน่วยงานรัฐเหล่านี้ พี่ ๆ ทีมงาน คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่ช่วยกันผลักดันโครงการต่างๆให้สำเร็จไปได้ด้วยดี ทางทีมขอขอบคุณจริงๆครับ ส่วนตอนนี้ก็พยายามมองหาแนวทางให้ทีมไปต่อได้ เชื่อว่า โพรโตเมท บทต่อไปน่าจะสนุกกว่านี้”

แต่กว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งสวยด้วยดีไซน์ และฟังก์ชันครบครันได้ขนาดนี้ ทั้งสองย้อนเล่าว่า ต้นแบบแรกคือทั้งบวม ทั้งใหญ่ เทคโนโลยีรุงรังไปหมด ต้นทุนสูงลิ่วราคาจับต้องไม่ได้แน่นอน ไม่ได้ทั้งในเรื่องสเกลที่จะผลิตให้เป็นแมส หรือถึงทำได้ก็ยังไม่ตรงประสบการณ์ของผู้บริโภคที่เราต้องการอยากให้เป็น

ORZON Ventures ประกาศลงทุนใน 5 สตาร์ตอัพ ต่อยอดกลยุทธ์ Mobility และ Lifestyle ของโออาร์

“ที่ยากสุด คือ การรันสภาพแวดล้อมการทำงานให้เป็น Stealth Mode เราเลือกที่จะไม่บอกใครว่ากำลังทำอะไรอยู่ เป็นแนวทางคล้ายๆกับผู้ก่อตั้งบริษัทฮาร์ดแวร์เทคระดับโลกอย่าง สตีฟ จอบส์ หรือ สตีฟ วอซเนียก ซึ่งสร้างเทคโนโลยีกันในโรงรถ พวกเขาจะทำงานแบบเงียบ ๆ ไม่ยุ่งกับข้างนอก โฟกัสที่เนื้องานจนสำเร็จแล้วให้ผลลัพธ์ของงานเป็นตัวบอกเล่า ซึ่งเราก็เริ่มต้นอย่างนั้นจริง ๆ ที่โรงรถในบ้าน และตลอด 4 ปี ก็ไม่ไปออกงานที่ไหนเลยนอกจากงานจ็อบแฟร์ ไปรับสมัครน้อง ๆ มาทำงานกับเรา” ดร.กานต์บอก

วิวัฒน์เสริมว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เพนพอยต์ลูกค้าล่ะ แต่เป็นเพนพอยต์ของธุรกิจเราเองตรงที่ไม่สามารถบอกนักลงทุนได้ว่า กำลังทำอะไร บอกแบบอ้อม ๆ ได้แค่ทำกล้องที่เป็นแอคชั่น คาเมร่า จะบอกว่าทำหมวกกันน็อคอัจฉริยะ บริษัทในไทยก็ไม่มีตัวอย่างให้เห็น คนก็จะงง ๆ แบบกล้องก็ไม่ใช่ หมวกกันน็อคก็ไม่เชิง ทำให้หานักลงทุนลำบาก ยิ่งต้องมารับผิดชอบเรื่องเอชอาร์ หาคนมาทำงานก็ยาก ดึงทาเลนต์มายิ่งยากไปใหญ่เพราะเด็กกลุ่มนี้มีทางเลือก แล้วตลาดสมัครงานมักหาคนไปพัฒนาแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม แต่โพรโตเมท คือ บริษัทออกแบบและพัฒนาฮาร์ดแวร์บวกดีไซน์ก็จะแปลก ๆ กว่าชาวบ้าน ต้องอธิบายเยอะ อย่างเนื้องานมีอะไรบ้างเราก็โพสต์ร่ายยาวรายละเอียดในแต่ละตำแหน่งงาน

เทคสตาร์ตอัพ “โพรโตเมท” ต้นน้ำ “หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะ”​สัญชาติไทย

“สุดท้ายพอมีเด็กเข้ามาทำงานกับเรา ก็เริ่มบอกกันปากต่อปาก จนถึงตอนนี้ เรามีพนักงานประมาณ 20 คน เป็นวิศวกรเกือบทั้งหมด ไฟฟ้า เครื่องกล คอมพิวเตอร์ อายุน้อง ๆ เฉลี่ยก็ 24-25 ปี อารมณ์ก็จะเหมือนทำงานในชมรมหุ่นยนต์ คนจบเครื่องกลก็ออกแบบไป จบไฟฟ้าก็มาทำบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ จบคอมพิวเตอร์ก็เขียนแอปฯ พัฒนาซอฟต์แวร์ แล้วก็จะมีพี่ๆอีก 3 ท่าน ซึ่งมีฝีมือละเอียดมากมาช่วยเรื่องงานผ้าและการตัดเย็บ”

 สภาพการทำงานที่ท้าทายแบบนี้ ดร.กานต์ กล่าวว่า เป็นการฝึกบุคลากรให้เข้าใจถึงบริบททั้งหมดของงาน และเรียนรู้การบริหารจัดการตัวเองให้ได้ เพราะที่วัลเลย์ หรือกระทั่งในแวดวงอุตสาหกรรมเทคของประเทศที่พัฒนาแล้ว วิศวกรไม่ได้ถูกฝึกให้ทำแค่การออกแบบแล้วผลิต แต่ต้องคิดงานแบบเอนด์ทูเอนด์ตั้งแต่ทรัพยากรการผลิต ซัพพลายเชน ไปจนถึงงานที่ออกแบบมาจะเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ยังไง เป็นการปลูกฝังแนวคิดแบบ “Design to Manufacturing (DFM)” ไม่ใช่ดีไซน์ออกมาดีแต่ไม่รู้ผลิตยังไง ผลิตที่ไหน หรือต้นทุนแพงขนาดนี้ใครจะซื้อ และเมื่อเลือกที่จะทำงานในสเตลธ์โหมด สุดยอดแห่งความทุกข์ทรมานก็ต้องอดทน เพราะเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่อยากให้เกิดในเมืองไทย จึงต้องมีการสื่อสารกันอยู่เสมอ ๆ ว่า เป้าหมายสุดท้ายของเราคืออะไร

เรารู้ว่าเด็กกลุ่มนี้ชอบทำงานที่มีความท้าทายและทำในสิ่งที่มีความหมาย เพราะมันหมายถึงเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ของตัวเขาด้วย ซึ่งน้อง ๆ สามารถสร้างงานที่ท้าทายข้อจำกัด เข้าใจทั้งกระบวนการ ทำได้จริงและส่งต่อให้คนทั้งโลกได้ อย่างที่บอกที่นี่เป็นเวทีให้น้องๆเค้าปล่อยพลังด้านการคิดและออกแบบนวัตกรรมเพื่อที่จะสู้ในเวทีโลกให้ได้โดยฝีมือคนไทย และทีมเราเชื่อว่า “คนไทยทำได้ครับ”

หากมองย้อนออกไปข้างนอก บริษัททำเมนบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ด้วยขนาดองค์กรแค่นี้  ส่วนใหญ่ต้องทำธุรกิจกันมาตั้งแต่ปี 2533 คือ 30 กว่าปีที่แล้ว หรืออย่างน้อยต้องมีอายุองค์กรเฉลี่ย 10-20 ปี ขึ้นไป จึงจะมีประสบการณ์มากพอที่จะไปในระดับนี้ได้ แต่ทีมของโพรโตเมทถือว่าเป็นน้องใหม่มาก ๆ ทำโดยคน 15-20 คน และใช่ว่าทุกคนจะเป็นเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด แต่ก็สามารถผลักดันออกสู่ตลาด และบนความเชื่อมั่นของตัวผลิตภัณฑ์ที่สูงพอควร รวมถึงยังได้พิสูจน์ตัวเองเรื่องของเงื่อนเวลาต่าง ๆ (Time Scale) ว่าทำได้จริง

ส่วนความพยายามที่เป็นจริงอีกเรื่อง ก็คือ โพรโตเมทน่าจะเป็นสตาร์ตอัพแรก ๆ ที่กล้าคุยกับบริษัทผู้ผลิตไอซีใหญ่ ๆ ของโลก จากแรกเริ่มเดิมทีเขายังมีท่าทีงง ๆ ว่า คุณเป็นใคร หรือจากเมื่อก่อนที่ถามหาชิปจากผู้เชี่ยวชาญในวงการเซมิคอนดัคเตอร์แล้วได้รับการแนะนำให้ไปแกะเอาเองจากมือถือ จนถึงวันนี้ จากเมื่อก่อนที่ไม่สามารถจะคุยกับบริษัทเหล่านี้ได้เลยและมองไม่เห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์บริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆรายที่เคยไปคุยด้วยให้การยอมรับทีมเล็กๆแบบเรา ยอมรับว่า เมืองไทยมีศักยภาพพอซึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและในเชิงของความต้องการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Supply Size) นับว่าเดินไปสู่ต้นน้ำได้ดีขึ้น

โพรโตเมทแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 3 แกนหลัก ได้แก่ การออกแบบ (Design) ฮาร์ดแวร์ (Hardware) และซอฟต์แวร์ (Software) โดยเฉพาะการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับรูปทรงที่ปรากฎและความรู้สึกดีเมื่อสัมผัสและใช้งาน แต่ทั้งหมดที่เห็นเป็นการคิดละเอียดแบบวิทยาศาสตร์ และมีการทดลองโดยพี่ ๆ ในบริษัทส่งสินค้าของผม เรียกว่าลองกันมาทุกโปรโตไทป์จนออกมาเป็นตัวที่พร้อมผลิตและขายในปัจจุบัน” วิวัฒน์กล่าว

บิงซูกลางทะเลทราย

หากเป็นต้นไม้ โพรโตเมทก็เป็นต้นไม้ที่พ้นจากดินขึ้นมาได้ส่วนหนึ่ง จากที่เคย 50-50 ว่า จะตายไหม โปรโตไทป์ตัวแรกที่เอาฟีเจอร์ฟังก์ชันนำก่อนจนมาเป็นผลิตภัณฑ์ปัจจุบันที่สวยสมใจไม่ให้เสียชื่อศิษย์เก่าเฝ้าตามรอยสตีฟ จอบส์ ที่ทุกย่างก้าวของการพัฒนา “ดีไซน์ต้องสวย ฟังก์ชันต้องเพอร์เฟค”

Protomate Smart Helmet

แม้ว่าจะเพิ่งออกมาเพียง 2 รุ่น ได้แก่ รุ่น UltraFusion-X1 กล้อง 4 ตัว และ รุ่น UltraFusion-M1 กล้อง 2 ตัว มีกำลังการผลิตจะอยู่แค่ราวหลักร้อยไม่ถึงพันต่อปี แต่ก็หวังว่าจะโตไปในทางเดียวกับเทสล่า โดยการออกแบบหมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะให้สามารถอัพเกรดฟีเจอร์เพื่อเพิ่มคุณประโยชน์การใช้งาน จากตัวซอฟต์แวร์ที่จะปล่อยออกมาเรื่อยๆ หรือ ระบบไว-ไฟให้ทำงานร่วมกับโทรศัพท์มือถือเสมือนเป็นฮอตสปอต เป็นต้น

ดร.กานต์ ให้มุมมองถึงธุรกิจ Smart Helmet นี้ว่า โคตรยาก แต่ก็เป็นโปรเจกต์ที่สนุกและท้าทายมาก ๆ ไม่ต่างจากการที่เคยพยายามอัดเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ ลงไปในโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็ก ๆ ถึงแม้ว่าเมืองไทยจะยังขาดทรัพยากรอีกหลายอย่าง เช่น การเข้าถึงชิปอิเล็กทรอนิกส์ประมวลผลชั้นนำ และอื่น ๆ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ หมวกกันน็อคอัจฉริยะทั้งโลกก็ไม่ได้มีตัวอย่างให้เห็นในตลาดมากนักรายแรกที่เคยรู้จักสมัยเรียนก็มิได้ดำเนินกาจการต่อเเล้ว เหลืออยู่ปัจจุบันนับเฉพาะที่เป็น Smart Helmet ที่วางจำหน่ายจริง ๆ ก็จะมีที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ซึ่งตลาดกก็ยังมีศักยภาพอีกมาก และไทยซึ่งก็คือเราน่าจะเป็นแบรนด์ที่ 3

“เหมือนผมกำลังเปิดร้านบิงซูในทะเลทราย คือ ถ้าเราทำฮาร์ดแวร์แค่ไอโอที เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเราน่าจะเปิดตัวสินค้าได้เร็วกว่านี้แต่ความซับซ้อนและความลึกของเทคโนโลยีคงไม่ได้เน้นมากแต่จะเน้นไปทางการประยุกต์ใช้งานมากกว่า แปลว่าทิศทางไม่ได้ไปที่ต้นน้ำนั่นเอง แต่เราเลือกทำสินค้าคอนซูเมอร์ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเราซึ่งไม่ค่อยมีตัวอย่างที่สำเร็จให้เห็น ควบคู่ไปกับการจะสร้างแก่นเทคโนโลยีที่เราออกแบบมันขึ้นมาจริง ๆ

รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยต่าง ๆ ในการที่จะทำให้จากไอเดียออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จริง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากจริง ๆ และผมเข้าใจว่า หมวกกันน็อคอิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่ที่คนยังไม่มีประสบการณ์ประมาณนี้ แต่ถ้าเทียบสเปคผลิตภัณฑ์กับคู่แข่งในตลาดโลกในกลุ่ม Smart Helmet ของเราน่าจะมีสเปคด้านเทคที่ล้ำหน้ามากที่สุด จัดเต็มแบบบุฟเฟ่ต์ ราคาอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าก็จริง แต่หากประเมินความคุ้มค่าต่อราคาและประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าของเรา ถือว่า เหนือกว่ามาก ๆ”

ในฝั่งสร้างการรับรู้ ก็เพิ่งมีการจัดกิจกรรม Demo Day ให้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนเพื่อมารับประสบการณ์ใหม่ในการสวมใส่หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะและทดลองขับขี่บนถนนจริง มีข้อมูลให้ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงเปิดให้จองเป็นรุ่นลิมิเต็ด 200 ใบ ซึ่งเริ่มส่งให้ลูกค้าล็อตแรกปลายมีนาคมปีหน้า

ส่วนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ณ วันนี้ถือว่าชัดเจนมากขึ้น กลุ่มแรกเป็นนักขับขี่ทั่วไปที่ชอบแกดเจ็ตและหลงใหลการขับขี่รถบิ๊กไบค์ มีความสนใจในการบันทึกภาพและวิดีโอในชีวิตประจำวันหรือบันทึกความทรงจำของการเดินทาง

กลุ่มที่สอง ได้แก่ กลุ่มที่สนใจในการพัฒนาการขับขี่ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นอีกยูสเคสหนึ่งที่ตัวหมวกได้ใส่ระบบนำทางจีพีเอส และเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวเพื่อเก็บข้อมูลความเร่งเชิงเส้นและความเร็วเชิงมุมว่าต้องขับด้วยท่าทางอย่างไร อัตราการโน้มเอียงขนาดไหน มากกว่าหรือน้อยกว่าเดิมเท่าไหร่ เพื่อให้ได้ความเร็วที่เหมาะสมขณะเข้าโค้ง ทำให้ผู้ใช้งานได้ฝึกฝนพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง และเพิ่มความปลอดภัยระหว่างการแข่งขันได้มากขึ้น

แผนธุรกิจสู่โกลบอล

เมื่อตั้งใจจะทำให้เด่นทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทางที่ใช่ คือ ต้องไปโกลบอลให้ได้จึงจะคุ้มเนื่องด้วยวงจรของการพัฒนาที่ยาวนาน แต่ตลาดแรกคงต้องเป็นเมืองไทยก่อน ซึ่งการได้รับมาตรฐานต่างๆจะเป็นกุญแจสำคัญในการไขประตูสู่การส่งออกไปได้อีกทั่วโลก ซึ่งคงเริ่มต้นที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้ๆก่อน ซึ่งน่าจะมีมุมทางธุรกิจให้ทำอีกเยอะ 

“เราอยากทำตลาดให้มากกว่านี้ในปีหน้า ควบคู่ไปกับการส่งมอบผลิตภัณฑ์และติดตามผลตอบรับจากลูกค้า การประเมินอุปสงค์ทางการตลาดเพื่อนำมาปรับปรุง หรือจะมีการผลิตชุดสองตามมาเท่าไหร่ และเป็นจังหวะที่เราต้องระดมทุนเพิ่มเติมหรือไม่”

วิวัฒน์กล่าวว่า หนึ่งความรับผิดชอบในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คือ การระดมทุนจะต้องมาพร้อมพันธสัญญาในเรื่องเหล่านี้ เช่น เมื่อเรามีเทคโนโลยีแล้วก็อยากสื่อสารออกไปถึงกลุ่มเป้าหมายการตลาดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่า “Who” ลูกค้าของเราคือใคร “What” อะไรที่ต้องปรับปรุง และ “How” คือ การเอา What ไปทำอย่างไรที่จะสื่อสารออกไปให้ Who ได้เข้าใจและด้วยช่องทางไหน สามอย่างนี้ต้องเป๊ะ เพราะคงหนีคงเรื่องคุณค่าของตัวผลิตภัณฑ์ไปไม่ได้และต้องพิสูจน์คุณค่านั้นให้ได้ ส่วนโมเดลธุรกิจก็ต้องชัดเช่นกัน

“ประวัติศาสตร์สอนเรามาว่า การระดมทุนเพื่อพัฒนาฮาร์ดแวร์นั้นยากมากๆโดยเฉพาะในบ้านเราและภูมิภาคนี้ เหตุผลข้อแรก คือ สตาร์ตอัพที่ทำฮาร์ดแวร์มีน้อยยิ่งในภูมิภาคนี้ ทำแล้วสำเร็จเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ ส่วนเหตุผลข้อสองเป็นทางฝั่งนักลงทุนซึ่งเหมือนไก่กับไข่  เพราะเขามองไม่ออกว่า สตาร์ตอัพทรงนี้จะเดินไปยังไง ซึ่งเราขอเวลาเตรียมทำการบ้านตรงนี้ก่อน แต่ยังไงก็ต้องไปให้ถึงซี่รี่ย์เออย่างแน่นอน”

ในวันที่โพรโตเมทเปิดตัวหมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะอย่างเป็นทางการ สำหรับ ดร. กานต์ โปรเจกต์นี้เหมือนปริญญาอีกใบ ด้วยงานที่หนักเทียบเท่ากับโปรเจกต์สเกลมหึมาในคอร์ปอเรทขนาดใหญ่ ด้วยกระบวนการทำงานที่ยาวตั้งแต่วิจัยและพัฒนา การออกแบบเชิงอุตสาหกรรม กลไกต่าง ๆ ฮาร์ดแวร์ อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ ซัพพลายเชน กระบวนการผลิต แต่ก็ทำให้เมื่อไปเจอโจทย์ที่ใหญ่กว่า ทุกคนจะรู้สึกว่า แผนการเล่นเหมือนเดิม เปลี่ยนไปแค่ทรัพยากร เพราะที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็แทบจะทำทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์แบบเอนด์ทูเอนด์ไปแล้ว จะเหลือก็แต่การสร้างองค์กรที่มีระบบซัพพลายเชนในแบบเอนด์ทูเอนด์เช่นกัน รวมทั้งนำคนที่มีความสามารถหลากหลายมาร่วมงาน

และด้วยหลักการทำงานที่เน้น “ประสิทธิภาพเท่ากับเอาท์พุตหารด้วยอินพุต” จึงคาดหวังงานที่มีประสิทธิภาพสูงโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ซึ่งโดยความพยายามทั้งหมดเชื่อว่าจะสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ รวมถึงจีดีพีที่มากขึ้นให้กับประเทศได้ นอกจากนี้ ยังหวังว่า โพรโตเมทจะเติบโตเป็นเทคคอมปานีให้ได้ในอนาคตได้เหมือนหลายๆเทคคอมปานีแนวหน้าระดับโลก

แม้จุดเริ่มต้นการเดินทางต่างกันแต่มาจบที่ฝันเดียวกัน คือ เป้าหมายที่เดินให้ถึงต้นน้ำของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่กล้าท้าชนเวทีโลก ซึ่งอาจไม่ได้ประสบสำเร็จในวันพรุ่ง แต่ก็อยากให้ตลาดได้ลองเปิดใจรับชมและรับฟังว่า ผลิตภัณฑ์หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะสัญชาติไทยโดยโพรโตเมทเป็นอย่างไร

“ถึงตอนจบไม่ว่าโปรเจคนี้จะดำเนินไปได้ไกลแค่ไหนเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ขอแค่ทุกคนอย่าลืมใส่หมวกกันน็อคเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ก็แล้วกัน ร่วมด้วยช่วยกันให้สังคมไทยน่าอยู่และปลอดภัยยิ่งขึ้นครับ ขอบคุณครับ” ดร.กานต์ กล่าวปิดท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘มงคล ตั้งศิริวิช’ นำชไนเดอร์สานต่อพันธกิจจัดการพลังงานบนความยั่งยืน

กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่น 3 “น่ำเอี๊ยง” ผู้นำพาโหราศาสตร์จีนโลดแล่นในโลกดิจิทัล

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา เปรียบ LINE เหมือนคนสร้างถนน พาทุกคนไปสู่จุดหมาย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ