TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา เปรียบ LINE เหมือนคนสร้างถนน พาทุกคนไปสู่จุดหมาย

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา เปรียบ LINE เหมือนคนสร้างถนน พาทุกคนไปสู่จุดหมาย

ลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้าวันนี้ไม่มีบริการ LINE ในเมืองไทย ชีวิตของคนไทยจะเป็นอย่างไร?

เชื่อว่าคนจำนวนมากจะต้องรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปบางอย่าง เพราะวันนี้ LINE เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนจำนวนกว่า 54 ล้านคนไปแล้ว จนผู้บริหารของไลน์ประเทศไทยสรุปว่า “LINE เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ชีวิตของคนไทย” 

นับแต่ปี 2555 ที่เริ่มเข้ามาให้บริการในประเทศไทยด้วยแอปพลิเคชั่น chat ที่มีลูกเล่นมากมาย แพลตฟอร์มออนไลน์สัญชาติญี่ปุ่นภายใต้ LINE Corporation (ที่มี Naver ในเกาหลีใต้เป็นบริษัทแม่) ได้รับความนิยมจากผู้ใช้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีการเพิ่มบริการใหม่ ๆ ก็ยิ่งครองใจผู้ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของคนไทย ทั้งด้านการสื่อสาร บริการข่าวสาร สั่งซื้อสินค้า บริการขนส่งสินค้า ส่งอาหาร กระทั่งให้บริการทางการเงิน

The Story Thailand มีโอกาสได้สนทนากับ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด ทำให้ได้รู้จักและเข้าใจ LINE ในเมืองไทยมากขึ้น ทั้งบทเรียนที่ผ่านมาและทิศทางอนาคตที่กำลังมุ่งไป

แม้วันนี้ก้าวสู่ปีที่ 12 แล้ว ทีมงานไลน์ยังคงมีความพยายามผลักดันให้ LINE เข้ามารองรับการใช้ชีวิตของคนไทยกว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่ต่างกับคนสร้างถนนที่หาหนทางนำพาทุกคนไปสู่จุดหมายที่ต้องการ

เปิดฉากด้วยแอปพลิเคชัน Chat

ดร.พิเชษฐ แบ่งเส้นทางธุรกิจไลน์ประเทศไทยออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ยุคเริ่มเข้าสู่ตลาด ช่วง 3 ปีแรก LINE เน้นที่แอปพลิเคชัน chat สำหรับส่งข้อความบนมือถือเป็นหลักช่วยให้คนไทยสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านการรับส่งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และสติ๊กเกอร์ ได้ง่ายดาย โทรด้วยเสียงและโทรด้วยวิดีโอได้ฟรีทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งยังสามารถตั้งค่าสนทนาเป็นกลุ่มได้ด้วย 

จากนั้นยุคที่สอง คือช่วงอีก 4 ปีต่อมา LINE มีบทบาทเป็นเครื่องมือทำการตลาด สื่อสารประชาสัมพันธ์ของภาคธุรกิจ และยุคที่สาม อีก 3 ปีต่อจากนั้น LINE พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มมากกว่าแค่เป็นเครื่องมือด้านการตลาด หรือการประชาสัมพันธ์

“ยุคแรกเรามีฟีเจอร์ต่าง ๆ มากกว่าคู่แข่งใน chat application ด้วยกัน อย่างมีการใช้สติ๊กเกอร์เป็นเจ้าแรก ต่อมามี LINE Official Account สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่เน้นด้านการสื่อสารเป็นหลัก ซึ่งเป็นรอยต่อของยุคที่หนึ่งและยุคที่สอง แต่ LINE Official Account ยังไม่สามารถเข้าถึงตลาด SME เพราะค่าบริการต่อปีสูงระดับหลายล้านบาท ยุคที่สาม ฟีเจอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นมีราคาถูกลงสำหรับผู้ประกอบ SME และคนทำมาค้าขายรายย่อย รวมถึงมีการสร้างระบบนิเวศอื่น ๆ ในเรื่องโลจิสติกส์ เช่น LINE Man จนกลายเป็น business solution ที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจรายใหญ่และรายเล็ก”

ปัจจุบัน LINE มีฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ภายใน LINE Official Account หรือ LINE OA มากกว่าแค่ฟีเจอร์ในการสื่อสารอย่างเดียว เช่นการทำบรอดคาสต์เพื่อแจ้งข่าวสารหรือรายการโปรโมชั่นถึงกลุ่มสมาชิกพร้อมกัน ทำให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ในกลุ่มธุรกิจได้ดีกว่าเดิม และกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของบริษัท

“พื้นฐานยานแม่ทุกอย่างยังอยู่เหมือนเดิมแต่เพิ่มเติมบริการใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่องเพราะเราพยายามทำให้คนอยู่บนแพลตฟอร์มของเรา ก็ต้องมีวิธีตอบโจทย์การใช้งานของเขา” ผู้บริหารไลน์กล่าวย้ำถึงการเป็น chat platform ที่เป็นจุดเริ่มของการให้บริการยังคงอยู่เป็นฐานของบริการอื่น ๆ

ตอบโจทย์ผู้ใช้แบบ Life Portal

“LINE วันนี้ต่างจากวันที่เราเริ่มต้นมาก เวลาที่ต้องไปพูดที่ไหนผมมักเอาหนังโฆษณามาเปรียบเทียบกัน หนังที่เปิดตัวไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่จะเน้นเรื่องการสื่อสาร แต่ทุกวันนี้มีมากกว่านั้น ทุกคนมอง LINE ว่าเป็นวิถีพื้นฐานในการสื่อสารประจำวันแล้ว”

เขาบอกว่า LINE ต้องการเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ชีวิต หรือ Life Portal ดังนั้นต้องพยายามทำให้ LINE เป็นชื่อแรกที่ผู้ใช้นึกถึงเวลาที่ต้องการทำอะไรบนอินเทอร์เน็ตสิ่งที่ต้องทำต่อมานอกเหนือจากการเชื่อมต่อ ‘คนต่อคน’ คือการทำให้คนเข้าถึงบริการที่หลากหลายโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกลาง

LINE-Chat-economy

เขายกตัวอย่างการติดตามข่าวสารว่า อยากให้ผู้ใช้เข้ามาที่ LINE ก่อน ไม่ต้องเสียเวลาไปค้นหาทางอินเทอร์เน็ต เพราะข่าวสารใน LINE Today มาจากสำนักข่าวที่เป็นผู้ผลิตข่าวอย่างเป็นทางการ มีความน่าเชื่อถือและมีการอัปเดตตลอดเวลา

หากต้องการสั่งอาหารมารับประทาน ก็มี LINE MAN Wongnai ให้บริการ หรือจะเรียกรถแท็กซี่ก็ได้ กระทั่งการส่งพัสดุต่าง ๆ และที่ต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นก็คือมีบริการชำระเงินแบบ mobile payment wallet ของ Rabbit LINE Pay และบริการกู้ยืมเงิน micro loan ของ LINE BK ด้วย

“ลองนึกย้อนไป 7-8 ปีที่แล้ว เวลาที่เราต้องการทำอะไรจะเริ่มด้วยการเข้าไปเว็บค้นหาข้อมูล แต่ทุกวันนี้จะนึกถึง LINE ก่อนเพราะมีตั้งแต่แชต คอนเทนต์ ช่องทางขายสินค้า บริการชำระเงิน จนไปถึงการกู้ยืมเงิน ซึ่งเราจะไม่จบเพียงแค่นี้เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว เราก็ต้องหาสิ่งใหม่ที่มาตอบโจทย์เพิ่มไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าปลายทางอยู่ตรงไหน“

ใครคือผู้ใช้ LINE ตัวจริง

ดร.พิเชษฐให้ข้อมูลว่า ในปี 2562 ที่เขาเข้ามารับตำแหน่ง CEO ประเทศไทยมียอดผู้ใช้ LINE ประมาณ 44 ล้านคน ภายในเวลา 4 ปียอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 54 ล้านคน สาเหตุสำคัญหนึ่งคือการเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19

ยอดผู้ใช้ดังกล่าวนับจากจำนวนผู้ที่มีแอคเคาน์ และมีการแอคทีฟอย่างน้อย 1 ครั้งในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นที่มาของข้อมูล MAU (Monthly Active User)

“เรามีอัตราการเติบโตมากสุดในช่วง 3-4 ปีแรกเพราะเป็นช่วง s-curve เข้ายุคที่สอง MAU ค่อนข้างจะเติบโตน้อย แต่พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ช่วยเร่งให้คนเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มของเรา ถือเป็นปัจจัยบวกจากการเกิดโรคระบาด”

LINE เผยยอดผู้ใช้กว่า 54 ล้านคน ชี้ช่องนักการตลาด ‘ท่องเที่ยว ยานยนต์ ความงาม’ ลงทุนสูงสุด

“ตอนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่าจะได้เห็นยอดผู้ใช้ 50 ล้านคนไหม ตอนนั้นผมไม่กล้าตอบ มาถึงวันนี้ก็เห็นได้ชัดว่ายังมีการเติบโตต่อไป” 

เขาเปิดเผยว่าจากการทำวิจัยกลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนว่ากว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ใช้บริการของ LINE นั่นหมายความว่าจำนวนผู้ใช้บริการ LINE จริงมีมากกว่า 54 ล้านราย เมื่อคิดจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยในปี 2566 ที่มีจำนวน 61.2 ล้านคน

“การที่ตัวเลขผู้ใช้มีการคลาดเคลื่อนเนื่องจากมีผู้ใช้จำนวนหนึ่งเป็นผู้ใช้แฝงโดยให้ลูกหลานทำให้”

ผู้ใช้บริการ LINE ครอบคลุมคนหลายรุ่นหลายวัย กลุ่มผู้ใช้ใหญ่สุดอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 30-44 ปี มากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้น มี 28 เปอร์เซ็น และกลุ่มอายุ 20-29 ปี 27 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไลน์ประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่าพฤติกรรมการใช้ LINE ของคนไทยมีลักษณะเฉพาะคือ คนวัยทำงานตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ใช้ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัวและในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Y (อายุ 28-42 ปี) ที่เป็นกำลังหลักในวัยทำงาน มีช่วงเวลาการใช้ LINE นานที่สุดถึง 100 นาทีต่อวัน โดยมี 82 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไลน์กลุ่มในการทำงาน ทั้งยังซื้อของผ่าน LINE มากกว่าคนเจนอื่น ๆ ถึงสองเท่า

“คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าผู้ใช้ LINE ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเนื่องจากมีผู้สูงอายุใช้ LINE มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ สาเหตุจากมีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยี อย่างคุณพ่อผมใช้ LINE เป็น แต่ใช้โซเชียลมีเดียอื่นไม่เป็น หรือหาข้อมูลไม่เป็น จากลักษณะนี้ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดกันว่าผู้ใช้ LINE ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ”

สร้างชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจ

Phichet-Rerkpreecha-Line-Thailand

การที่แพลตฟอร์มของ LINE สามารถสร้างขนาดประชากรได้มากถึง 54 ล้านคน ทำให้เกิดมุมมองต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ LINE Economy ซึ่ง ดร.พิเชษฐ บอกว่าโดยภาพรวมมีทั้งส่วนที่เป็น non-business และ business โดยให้รายละเอียดว่า ส่วนของ non-business ค่อนข้างวัดยากเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบริการที่ไม่คิดค่าใช้

“ปกติเราจะดูจากปริมาณ MAU และปริมาณ engagement time คือเวลาที่อยู่บนแพลตฟอร์มของเรา ตัวเลขปัจจุบันผู้ใช้คนหนึ่งใช้เวลาอยู่บนโมบายอินเทอร์เน็ตวันละประมาณ 164 นาที ประมาณ 90 นาทีจะอยู่บนแพลตฟอร์ม LINE“

ทว่าส่วนที่ไม่ใช่รายได้ทางตรงอย่าง LINE Chat แม้จะมีคนที่ไม่ได้ใช้ full ecosystem แต่ก็สามารถใช้ LINE Chat สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เพราะยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ขายสินค้าด้วย LINE Chat ซึ่งดร.พิเชษฐ เรียกกิจกรรมแบบนี้ว่า Chat economy ถือเป็นส่วนหนึ่งของ LINE economy โดยภาพรวมจึงมีทั้งส่วนที่เป็น business และ non-business

สำหรับส่วนอื่น ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ อย่างเช่นคอนเทนต์มีหลายบริการด้วยกัน อาทิ LINE Today แหล่งรวบรวมข้อมูลและข่าวสารจากแหล่งต่าง ๆ LINE Game และ LINE Webtoon นอกจากนี้ยังมีบริการแบบ B2C ซึ่งวัดมูลค่าได้ง่ายอย่างเช่น LINE Stickers LINE Melody หรือ LINE Horo 

LINE OA เสาหลักของธุรกิจ

“LINE เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้ใช้ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ดังนั้นผู้ขายสินค้าสามารถคอนเนคกับลูกค้าโดยตรง อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน เช่น LINE Man + LINE Shopping + LINE Official Account + LINE Chat”

เขาบอกว่าสิ่งที่พยายามทำคือช่วยให้ผู้ใช้ทั้ง 54 ล้านคน สามารถใช้แพลตฟอร์ม LINE ทำธุรกิจซื้อขายสินค้าได้ เป็นการตอบโจทย์ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ

“ตัวอย่างคนขายอาหารมี LINE Official Account ก็สามารถไปอยู่บน LINE Man .ใช้บริการเดลิเวอรี่ได้ ถ้าหากมีการขายสินค้าสำเร็จรูปอื่น ๆ ก็สามารถเข้าไปขายบน LINE Shopping ได้ ขณะเดียวกันก็ใช้ LINE OS เพื่อ chat คุยกับลูกค้าได้ด้วย โดยทุกอย่างจบภายในตัวเนื่องจากโพสต์เดียวนั้นสามารถไปปรากฏได้ในทุกฟีเจอร์”

5 เหตุผล คนเริ่มธุรกิจยุคใหม่ ใช้ LINE OA สร้างลูกค้า

ปัจจุบันยอดผู้ใช้ LINE Official Account หรือ LINE OA มีประมาณ 6 ล้านแอคเคาน์ จำนวนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ส่วนที่เหลือเป็นบริษัทขนาดใหญ่จำนวนหลักพัน “ซึ่งพูดได้ว่าบริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ ในประเทศไทยอยู่บน LINE Official Account แทบทุกบริษัท”

“สำหรับ business partner บริการ LINE Official Account จะต่างกับแพลตฟอร์มอื่นคือเป็นเครื่องมือที่คอร์ปอเรท หรือลูกค้าที่เป็นบริษัทสามารถสร้างดาต้าสำหรับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ที่จ่ายค่าบริการปีละหลายล้านบาท หรือรายเล็ก ๆ ก็ทำได้เช่นกัน”

“เวลาที่ซื้อโฆษณากับแพลตฟอร์มอื่นลูกค้าจะเอาเงินไปให้แล้วได้รีพอร์ตกลับมาว่าผลเป็นอย่างไร แต่ลูกค้าของ LINE จะได้ดาต้าหลังบ้านของตัวเอง และเวลาที่ต้องการใช้ข้อมูลนั้นวิเคราะห์ผลการโฆษณาเพื่อกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภค ก็สามารถทำเองได้โดยไม่ต้องพึ่งแพลตฟอร์ม”

เขายกตัวอย่างว่า คนขายเครื่องสำอาง เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อครีมไปใช้คนขายรู้ว่าถ้าลูกค้าใช้สินค้านี้ทุกวันจะหมดภายในเมื่อไร ผู้ค้าสามารถตั้งเงื่อนไขได้ว่าเมื่อใกล้เวลานั้นจะส่งรายการโปรโมชั่นไปให้ลูกค้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อใหม่ได้

“แต่ก่อนค่าบริการ LINE Official Account ปีละหลายล้านบาท ลูกค้าจึงมีแต่คอร์ปอเรทขนาดใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มต้นตั้งแต่ใช้ฟรี เพราะเรามีตัวเลขว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะอยู่ได้ด้วย SME ก็เล็งเห็นว่าน่าจะต้องทำตรงนี้ให้เป็นประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้ได้ ขณะเดียวกันก็มี business model ที่เราทำได้ ซึ่งแพลตฟอร์มอื่นใช้ยาก และไม่มี local responsive อย่างเรา เราจึงลงมาเล่นตลาดนี้เต็มที่ ทำให้ช่วง 3-4 ที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด” ผู้บริหารไลน์ประเทศไทยกล่าวสรุป

“ทุกวันนี้ตลาด LINE Official Account เป็นตลาดเดียวที่คู่แข่งสู้เราไม่ได้เพราะมีฟีเจอร์และลูกเล่นที่มีคนใช้มากที่สุด ส่วนแพลตฟอร์มแชทของเราเหนือกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน”

มุ่งหวังเป็นหลังบ้านของบริการภาครัฐ

ดร.พิเชษฐ บอกกับ The Story Thailand ว่า จากกรณีบริการ “หมอพร้อม” ที่ภาครัฐนำมาใช้ในช่วงโควิด-19 และการนำแพลตฟอร์มรับเรื่องปัญหาเมือง Traffy Fondue มาเป็นตัวชูโรงในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้แพลตฟอร์ม LINE เป็นหลังบ้าน ถือเป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นชัดว่าประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทยพร้อมที่จะใช้บริการหน่วยงานภาครัฐถ้าเป็นการใช้ผ่าน LINE Official Account

ซึ่งทุกวันนี้มีหน่วยงานภาครัฐหลายรายที่นำ LINE ไปให้บริการได้เป็นอย่างดี เช่น การไฟฟ้า การประปา หรือบริการ M-Flow ของการทางพิเศษ เป็นต้น

“ที่จริงเราน่าจะขยายการให้บริการประชาชนได้อีกมาก เพียงแต่จะต้องมาคิดวิธีที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากเรายังเป็น profit center”

เขาขยายความว่า ในส่วนธุรกิจที่ต้องขายก็ทำเป็น business model ไป ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจากับหลายหน่วยงาน แต่ส่วนที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็มีการดำเนินการไป เช่น LINE Alert ที่ทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เวลาที่เกิดภัยพิบัติ ภาครัฐต้องการสื่อสารแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลกับประชาชน ปัจจุบันหน่วยงานที่เข้ามาใช้ LINE Alert แล้ว คือ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลฯ และกรุงเทพมหานคร

“เราไม่สามารถนำ LINE Official Account มาสนับสนุนแบบให้เปล่าได้เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ จึงสร้างบริการ LINE Alert ขึ้นมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนโดยเราเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม แต่ไม่ใช่เจ้าของข้อมูล หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการใส่ข้อมูลเข้ามาต้องมาผ่านที่เรา ด้วยการเชื่อมต่อระบบหลังบ้านเข้าด้วยกัน”

“อยากให้มีหน่วยงานอื่น ๆ เช้ามาใช้ LINE Alert เพิ่มขึ้น เพราะเราทำขึ้นมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าบริการใด ๆ หากหน่วยงานใดใช้งานแล้วเกิดประโยชน์ต้องการจะขยายขอบเขตการใช้งานด้านอื่น ๆ เช่นทำประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน ก็แยกแอคเคาน์ไปเป็นแบบ business model ในอนาคต” 

เขายืนยันว่าความต้องการให้คนคอนเนคกันเป็นวิสัยทัศน์ของไลน์ประเทศไทยตั้งแต่แรก เมื่อเวลาเปลี่ยนไปรูปแบบของการคอนเนคก็ปรับไปตามความต้องการของแต่ละช่วงเวลา โดยสิ่งที่ไลน์พยายามตอบโจทย์มี 3 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง เรื่องของผู้ใช้ มีการเก็บข้อมูลตลอดจึงรับรู้ว่าผู้ใช้อยากให้ทำอะไรแบบไหน สอง เรื่องธุรกิจ เดิมตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นคอร์เปอเรทเป็นสำคัญ ต่อมาพยายามตอบโจทย์ SME ด้วยการมีฟีเวอร์ที่ใช้งานง่ายในราคาที่รับได้มาสนองให้มากขึ้น สาม เรื่องการสร้างประโยชน์ในการให้บริการประชาชน เป็นการทำงานกับภาครัฐที่จะใช้ LINE เป็นแพลตฟอร์มให้บริการ

“ไลน์มีแผนใน 2-3 ปีข้างหน้าจะพยายามทำให้แพลตฟอร์ม LINE ช่วยตอบโจทย์การเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อทำให้ประชาชนมีประสบการณ์ที่ดีขึ้นกับการบริการจากหน่วยงานของรัฐ”

ซึ่งในช่วงแรกหน่วยงานของรัฐต้องลงทุนสร้างเป็นแพลตฟอร์ม แต่ต่อไปค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะถูกลง โดยยกกรณี “หมอพร้อม” เป็นตัวอย่างว่า

“ลองนึกดูว่าถ้าภาครัฐต้องพิมพ์ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ทุกคน เมื่อมีการรับวัคซีนเพิ่ม 1 เข็ม ก็ต้องออกใบรับรองใหม่ให้อีก หรือผู้รับบริการต้องเดินทางไปรับจากหน่วยงานที่ให้บริการ เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกอย่าง แต่การให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลทุกอย่างทำงานด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในต้นทุนที่ต่ำกว่า”

ความสำเร็จจากการริเริ่มของทีมไทย

แม้ไลน์ประเทศไทยจะเป็นบริษัทลูกภายใต้การบริหารของ LINE Corporation ประเทศญี่ปุ่น แต่ในการบริหารงานก็มีความยืดหยุ่นตามนโยบายของบริษัทแม่ที่เรียกว่า hyper localization ด้วยการยึดผู้บริโภคในท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง บริการหลายอย่างจึงเกิดขึ้นจากความริเริ่มของทีมงานในแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่นำ local insights มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่โดนใจคนไทย

“ไลน์เป็นบริษัทที่ให้บริษัทลูก ไม่ว่าจะเป็นที่ไต้หวัน ประเทศไทย หรืออินโดนีเซีย มีความยืดหยุ่นในการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการคนในประเทศนั้น ขณะที่บางแพลตฟอร์มแค่เปลี่ยน user interface เป็นภาษาท้องถิ่นก็จบแล้ว แต่ของเราไม่ใช่แบบนั้น” 

“LINE เปิดโอกาสให้เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย บางตัวอาจจะดีแต่ต้องหยุดไว้ก่อน อย่างเช่น LINE Job หรือ LINE TV แต่หลายตัวก็ประสบความสำเร็จด้วยดีอย่างเช่น LINE MAN นี่ชัดเจน ถือเป็นความภาคภูมิใจของเราเพราะเป็นบริการแรกที่เกิดจากความริเริ่มของ local office และสามารถเติบโตได้ในระดับนี้ จนได้รับการกล่าวถึงในต่างประเทศตลอดมา”

ดร.พิเชษฐบอกกับ The Story Thailand ว่า LINE MAN เป็น initiative product ที่ใหญ่ที่สุดของทีมงานไลน์ประเทศไทย ถือเป็นโชว์เคสไม่เฉพาะของกลุ่มบริษัทไลน์เท่านั้น แต่รวมถึงธุรกิจด้านเทคโนโลยีทั้งหมดในประเทศไทยด้วย 

“LINE MAN เป็นบริการที่เริ่มต้นบ่มเพาะธุรกิจด้วยงบประมาณของไลน์ประเทศไทย และเป็นผลิตภัณฑ์แรกของไลน์ที่ได้รับเงินสนับสนุนการลงทุนจากภายนอก นับเป็นจุดแข็งมากจนประสบความสำเร็จสามารถ spin-off ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ด้วยการควบรวมกิจการกับ Wongnai”

LINE MAN เป็นบริการออนไลน์สู่ออฟไลน์ (O2O) บริการแรกของไลน์ประเทศไทย เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 เริ่มจากบริการส่งพัสดุ บริการสั่งอาหาร และสั่งของจากร้านสะดวกซื้อ ต่อมามีบริการเรียกรถแท็กซี่ด้วย จนปี 2563 ควบรวมกิจการกับ Wongnai แพลตฟอร์มข้อมูลร้านอาหารใหญ่ที่สุดของไทยซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจบริการสั่งอาหาร จัดตั้งเป็นบริษัท LINE MAN Wongnai ด้วยเงินลงทุน 110 ล้านเหรียญสหรัฐ จากบริษัท BRV Capital Management กลายเป็นแพลตฟอร์มด้านอาหารครบวงจร 

ในปี 2566 LINE MAN Wongnai เข้าซื้อสองกิจการ ได้แก่ FoodStoryสตาร์ทอัพไทยผู้พัฒนาระบบ POS สำหรับร้านอาหาร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจ merchant solutions และซื้อหุ้นทั้งหมดของ Rabbit LINE Pay ผู้ให้บริการระบบการชำระเงินแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งอยู่ใน ecosystem ของ LINE แต่เดิม เพื่อช่วยให้การทำงานร่วมกันลงตัวและการบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

LINE MAN Wongnai และ LINE ประเทศไทย ซื้อหุ้นทั้งหมดของ Rabbit LINE Pay จากผู้ถือหุ้นเดิม

LINE MAN Wongnai ประกาศแผนหลังปิดดีลซื้อกิจการ FoodStory เร่งเครื่องธุรกิจ POS

“เรามองเห็นโอกาสของตลาดเดลิเวอรี่ และตลาดโซเชียลเพย์เมนต์มีศักยภาพสูงมากจึงโดดลงมาเล่นตรงนี้ ซึ่งปัจจัยที่จะชี้ขาดชัยชนะขึ้นกับว่าใครมีบริการใน ecosystem มากน้อยแค่ไหน”

นอกจากนี้ยังมีความริเริ่มออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบไทย ๆ เช่น LINE Horo ให้บริการดูดวงในหลายรูปแบบ ดูฤกษ์สำหรับโอกาสต่างๆ จากหมอดู ซินแส และโหรชื่อดัง รวมถึงการทำบุญออนไลน์ ซึ่งอยู่บนบริการ LINE Official Account

“ผมเป็นตัวชูโรงที่นำเรื่อง horoscope หรือการดูดวงเข้ามาเป็นบริการในไลน์ เพราะมองว่าอะไรที่จับต้องได้และเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนทั่วไปในประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ หรือบริการทำบุญออนไลน์ ที่เป็นฟีเจอร์คิดกันเล่น ๆ แต่ทำกันจริงจังขึ้นมาในช่วงโควิด-19 ที่คนไทยไปทำบุญกันไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าคนไทยชอบสิ่งนี้”

บริการที่ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้ในประเทศไทยบางอย่างก็เข้าตาผู้ให้บริการ LINE ในประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น “ไต้หวันก็สนใจ LINE ดูดวง หรือการเสี่ยงเซียมซี เขาก็เอาอัลกอรึธึมเหล่านี้ไปขยายตลาดต่อได้ ซึ่งเขาอาจจะสามารถทำได้ดีกว่าเราในเรื่องของธุรกิจก็ได้”

แต่บางบริการก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดคิด เช่น LINE Jobs ผลิตภัณฑ์ของไลน์ประเทศไทย หลังจากเปิดให้บริการผลการตอบรับของผู้ใช้ในประเทศไทยไม่ดีนักเนื่องจากเป็น subscription base จึงไม่ได้ทำต่อ

“สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใหญ่มากแต่เป็นเครื่องยืนยันว่าบริษัทแม่ไม่ได้ปิดกั้นในการสร้างไอเดียผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองผู้ใช้ในแต่ละประเทศ”

เขาเน้นว่าสิ่งที่กล่าวมาเกิดขึ้นได้เพราะไลน์ประเทศไทยมีทีมพัฒนาเทคโนโลยีขนาดใหญ่ คือมีทีมวิศวกรมากกว่า 100 คน ซึ่งถือเป็น DEV community ที่เข้มแข็งในประเทศไทย

“เราหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยให้การทำธุรกิจของไลน์ประเทศไทยมีความยั่งยืนเพราะการทำบริการใดออกมา ถ้าต้องอธิบายให้วิศวกรต่างประเทศเข้าใจเพื่อทำออกมานั้นยากกว่าที่ทีมคนไทยทำเอง อันนี้เป็นเหตุผลที่เราใช้ในการขอผู้บริหารให้มีการลงทุนทรัพยากรขนาดนี้ ซึ่งจะมีขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ”

เช่นเดียวกับการแต่งตั้งวีระ เกษตรสิน เป็น Chief Product Officer (CPO) คนแรกของไลน์ประเทศไทย ทำหน้าที่ดูแลและบริหารงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการบนแอปพลิเคชัน LINE ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยืนยันว่าบริษัทแม่เข้าใจในความคิดของทีมไทย เพราะตำแหน่งนี้ไม่เคยมีมาก่อน

“ผู้ก่อตั้งบริษัทไลน์มักจะพูดบ่อย ๆ ว่าให้โฟกัสกับโพรดักส์ เดี๋ยวธุรกิจจะตามมาเอง ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ พอเรามีผลิตภัณฑ์ที่สามารถดึงคนเกือบทั้งหมดของประเทศมาอยู่กับเรา โอกาสทางธุรกิจก็จะตามมาเอง ส่วนความสำเร็จขึ้นกับว่าเราสามารถเลือกโพรดักส์ได้ถูกต้องกับผู้ใช้หรือไม่ ซึ่ง LINE global มีอยู่หลากหลาย บางอย่างเคยมีการนำมาปรับใช้กับประเทศไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี”

หนทางข้างหน้าของไลน์เมืองไทย

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของบริการ LINE รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีบริการหลักเช่นเดียวกับบริษัทแม่คือแอปพลิเคชั่น Chat ที่โดดเด่นด้วยบริการหลากหลาย แต่ก็มีผลิตภัณฑ์และบริการมากมายที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นเองด้วยทีมงานในประเทศไทย โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้ 4 เสาหลัก 

ประกอบด้วย หนึ่ง B2B หรือ LINE for Business มีผลิตภัณฑ์สำคัญคือ LINE Office Account (LINE OA) สอง B2C บริการคอนซูเมอร์ที่สร้างรายได้ทางตรง เช่น LINE Stickers, LINE Melody, LINE Horo สาม Content business เช่น LINE Today, LINE, Openchat, LINE Voom และสี่ Strategic business เช่น LINE Shopping และบริการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

Lineman-wongnai

นอกจากนี้ยังมีบริการด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ได้แก่ Rabbit LINE Pay และ LINE BK และบริการออนดีมานด์อย่าง LINE MAN Wongnai

“ธุรกิจหลักที่หล่อเลี้ยงบริษัทคือ B2B และ B2C จากค่าบริการ LINE Official Account ยอดขายสติ๊กเกอร์ เมโลดี้ ธีม อื่น ๆ และรายได้จากค่าโฆษณาของคอนเทนต์”

“ทุกวันนี้ B2C ของเราแตกยอดไปเยอะมาก เมื่อ 12 ปีที่แล้วมีแค่สติ๊กเกอร์ ทุกวันนี้มี ธีม เมโลดี้ ดูดวง มีการทำบุญ ส่วน LINE Shopping เป็นบริการอีคอมเมิร์ซ อยู่ในกลุ่ม strategic business ซึ่งเปิดให้บริการมา 4 ปี เริ่มในปี 2562 แต่เนื่องจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาการแข่งขันสูงมาก มีการใช้เงินกันเยอะมาก จนเรารู้สึกว่ารอจังหวะให้พวกเขาสู้กันให้เสร็จก่อนเราค่อยลุยต่อ”

ดร.พิเชษฐ เปิดเผยว่า สำหรับระยะยาวต้องพยายามหาวิธีขยายธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มทำเองจากศูนย์ ในกลุ่ม strategic business จึงมีโจทย์ให้ทีมงานไปมองหาพันธมิตรที่มีความพร้อมจะมาทำงานร่วมกันเพื่อเติบโตไปด้วยกัน

“ถ้าเราร่วมมือกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งแล้วช่วยให้เขาเข้มแข็งขึ้นจนเป็นเบอร์หนึ่งทิ้งเบอร์สองห่างเลย หรือถ้าเป็นเบอร์สองก็จะช่วยให้เขามีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะเป็นผลดีกับผู้บริโภค”

LINE BK

เขาบอกว่าถ้าแนวทางนี้ทำได้สำเร็จจะเห็น LINE ออกบริการที่ไม่ใช่เทคโนโลยีมาก ๆ แต่เทคโนโลยีจะช่วยให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพและสามารถขยายธุรกิจนั้นได้ ดังเช่นบริการสินเชื่อของ LINE BK ภายใต้การดูแลของบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย กับบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด ในเครือธนาคารกสิกรไทย 

“ความเสี่ยงในการปล่อยกู้เรามีน้อยกว่าเพราะเรามีข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ได้ และยังมีดาวน์ไลน์บิสซิเนสที่สามารถทำต่อได้อีกเยอะ”

“การสร้างบริการใหม่จำเป็นต้องหา vertical ที่ถูก และพาร์ทเนอร์ที่ใช่ คือไม่ใช่แค่มีเงินเท่านั้น แต่ต้องมี mindset แบบเดียวกัน อย่างกรณี LINE BK เป็นตัวอย่างการหา vertical ที่ถูกต้อง” ดร.พิเชษฐ กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ

อีกช่องทางที่ไลน์ประเทศไทยหมายตาไว้คือ การขยายตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้าน จากปัจจุบันมีผู้ใช้ LINE อยู่ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมบริโภคสินค้าของไทย การติดต่อค้าขายกับคนไทยพวกเขามีการใช้ LINE อยู่แล้ว

“เราก็มีความสนใจจะขยายตลาดเข้าไปเพราะเวลาที่คนในประเทศเหล่านี้จะติดต่อสื่อสารธุรกิจกับคนไทยต้องใช้ LINE ซึ่งเราคงต้องศึกษาดูว่าถ้าจะเข้าไปตลาดไหนเรามีบริการอะไรที่จะเอาชนะในตลาดนั้นได้”

วัฒนธรรมเทคคัมพานีแบบไทย

“เรามี tech community ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง เวลาที่จัด LINE DEV Community แต่ละครั้งได้รับความสนใจจากนักพัฒนามารวมตัวกันเยอะมาก และเรายังมีโปรแกรมพัฒนาบุคลากร เช่น LINE ROOKIE โปรแกรมฝึกงานที่มีคนสมัครเข้ามาทุกวัน บางเดือนสมัครมาหลักพันเรารับหลักสิบ พนักงานที่เราจ้างทุกวันนี้หลายคนมาจากโปรแกรมนี้”

ผู้บริหารไลน์ประเทศไทยบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมของ LINE ที่ทำให้คนมีความรู้สึกที่ดีกับแบรนด์ แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าก็มีวัฒนธรรมที่เป็น localized version อยู่ด้วย ซึ่งทำให้ LINE เป็นแบรนด์ที่มีความ friendly น่าทำงานด้วย

“พูดได้ว่าไลน์ประเทศไทยไม่ได้เหมือนที่ไต้หวันหรือญี่ปุ่นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่ง local culture ของเราก็เป็นผลงานของทีมเอชอาร์และพีอาร์มาร์เก็ตติ้ง ที่ทำโปรแกรม LINE ROOKIE ได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก”

“วันหนึ่งมาร์เก็ตติ้งมาบอกผมว่าเราอยากทำโฆษณาให้คนหยุดใช้ LINE ซึ่งมีคำหนึ่งว่า “คิดก่อนส่ง” จนกลายเป็นหนังโฆษณาเผยแพร่สู่สาธารณะ ไอเดียนี้ที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีชอบมาก ทางนั้นขอรายละเอียดเราก็ให้ไป”

หนังโฆษณาเรื่องนี้เผยแพร่ในปี 2565 เพื่อสื่อสารถึงผู้ใช้ LINE ว่าให้หยุดส่งข้อความใด ๆ ออกไป ก่อนคิดไตร่ตรองว่าถูกต้องหรือเหมาะสมดีแล้วด้วยคีย์เวิร์ดว่า “คิดก่อนส่ง” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ไลน์จะเน้นเรื่อง engagement แต่ก็ห่วงใยผู้ใช้ เพราะมีความต้องการ engagement ที่มีคุณภาพด้วย

“นี่คือการสร้างวัฒนธรรมการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมารยาท ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในโลกโซเชียลมีเดีย”

เชื่อมั่นว่าธุรกิจนี้ยั่งยืน

เมื่อ The Story Thailand ถามว่า การที่ LINE ไม่ใช่ธุรกิจของคนไทย ระยะยาวจะมีความยั่งยืนอย่างไร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไลน์ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า

“LINE มีการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เราน่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ลงทุนในประเทศไทยหนักมากตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ดูได้จากจำนวนพนักงานทั้งหมด ถ้ารวมไลน์ประเทศไทย กับ LINE MAN, LINE BK และ LINE Pay มีจำนวนเกือบ 2,000 คน ด้วยขนาดการลงทุนแบบนี้ และบริการบางอย่างมีเฉพาะในประเทศไทยประเทศเดียวอย่างเช่น LINE Man เรื่องความยั่งยืนย่อมมีแน่นอน”

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา เปรียบ LINE เหมือนคนสร้างถนน พาทุกคนไปสู่จุดหมาย

“ในอนาคตหากมีผลิตภัณฑ์ใดที่ประสบความสำเร็จเหมือน LINE MAN ก็มีความเป็นไปได้ที่จะแยกออกไปตั้งบริษัทใหม่แบบเดียวกัน สิ่งนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า LINE ไม่ได้แค่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยแบบฉาบฉวย แต่คิดที่จะทำธุรกิจในไทยระยะยาว” 

เขาบอกว่าไลน์ประเทศไทยเป็นโชว์เคสที่แสดงให้เห็นว่าธุรกิจจากญี่ปุ่นและเกาหลีสามารถเข้ามาเติบโตในประเทศไทยได้ จึงมีกลุ่มบริษัทจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากญี่ปุ่นและเกาหลี เข้ามาพบปะอยู่เสมอเพราะต้องการข้อมูลว่า LINE ทำอะไร ทำไมจึงเลือกที่จะปักธงและขยายธุรกิจในประเทศไทย

“เคยมีสื่อจากหนังสือพิมพ์เกาหลีมาสัมภาษณ์ผมว่า ไลน์ประเทศไทยทำงานอย่างไร ซึ่งเราเชื่อว่าจะมีนักธุรกิจเกาหลีได้อ่านกันพอสมควร”

“ไลน์ประเทศไทยเป็นเคสที่ช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจญี่ปุ่นและเกาหลีว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน”

เปรียบเหมือนคนสร้างถนน

“วันนี้ LINE เป็นมากกว่าการสื่อสารแล้ว ธุรกิจของเราเป็น consumer base คือกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังเป็นไดเร็กคอนซูเมอร์ แม้จะมีคอร์เปอเรทก็น้อยกว่า ฉะนั้น LINE น่าจะเป็น Life on LINE เพราะโจทย์ของเรายังอยู่ตรงประเด็นว่า คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตหรือโมบายอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะทำอะไรภายในหนึ่งวัน LINE ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นี้ได้”

เขาเปรียบ LINE เป็นเหมือนคนสร้างถนน ผู้ใช้บอกว่าต้องการจะไปทางไหน ก็ต้องพยายามตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ ส่วนปลายทางจะอยู่ตรงไหนเป็นสิ่งที่ยังอีกยาวไกลเพราะประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่จะทำให้คนย้ายมาสุ่ digital service อีกมาก

“ผมมั่นใจว่าคนไทย 54 ล้านคน ส่วนใหญ่เปิดใช้ LINE ทุกวัน ถ้าเมื่อไร LINE ดาวน์สักช่วงเวลาหนึ่ง เชื่อว่าคนนับล้านจะต้องเกิดความรู้สึกถึงความไม่คล่องตัวในการใช้ชีวิตของวันนั้น ดังนั้นเราต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อให้ LINE ไว้ใจได้”

ส่วนภาคธุรกิจยังมีอีกจำนวนมากที่ต้องการทำ digital transformation ซึ่งเขามีความเห็นว่าไม่จำเป็นที่ทุกธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ 

“ธุรกิจไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ ผมเชื่อว่า LINE จะเป็นเครื่องมือช่วยให้บางธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ และสร้างมูลค่าได้อย่างดี”

“การที่หน่วยงานหนึ่งหรือบริษัทหนึ่งสร้างแอปขึ้นมา เฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำให้คนดาวน์โหลดแอปก็มากมหาศาล แต่ LINE มีประชากรที่อยู่ในระบบมากถึง 54 ล้านคน คนจะเข้ามาใช้บริการของหน่วยงานนั้นมากน้อยก็ขึ้นกับบริการนั้น ๆ ดังนั้นเราจึงอยากเข้าไปทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ อีกมาก”

“ความจริงในส่วนของคอนซูเมอร์ได้ digital transfer ไปแล้ว หน่วยงานธุรกิจเอกชนก็กำลังไป แต่หน่วยบริการของรัฐสิยังไม่ไป” ดร.พิเชษฐกล่าวสรุป

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘วทันยา อมตานนท์’ พลิกเทคโนโลยีสู่บริการ “เต่าบิน” เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ

“ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์” ส่งต่อคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงแสนรักถึงคนรักสัตว์ด้วยหัวใจ

AMITY STORY ของ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” เริ่มจากเพาะเมล็ดพันธุ์ เติบโตสู่ไม้ใหญ่ในโลกดิจิทัล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ