TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness'วทันยา อมตานนท์' พลิกเทคโนโลยีสู่บริการ “เต่าบิน” เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ

‘วทันยา อมตานนท์’ พลิกเทคโนโลยีสู่บริการ “เต่าบิน” เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ

เมื่อบริษัทเทคโนโลยีที่มีอายุกว่า 30 ปี หันมาจับธุรกิจบริการเครื่องดื่มด้วยตู้อัตโนมัติที่ออกแบบและผลิตขึ้นเองจนได้รับความนิยมในเวลารวดเร็ว ย่อมเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้การขยายสู่ธุรกิจใหม่ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ

ตอง-วทันยา อมตานนท์” Business Development Executive และ Chief Product Officer บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ผู้มีบทบาทหลักในการผลักดันตู้บริการเครื่องดื่มอัตโนมัติแบบอัจฉริยะ “เต่าบิน” (Taobin) ให้เป็นธุรกิจดาวรุ่งของฟอร์ทกรุ๊ป กล่าวกับ The Story Thailand ถึงเบื้องหลังความสำเร็จว่า “เต่าบินเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคผสานเข้ากับความเข้าใจด้านการตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

โอกาสใหม่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ผู้บริหารหญิงวัย 32 ปี ทายาทรุ่น 2 กล่าวว่า โควิดคือช่วงเวลาที่เต่าบินเกิดขึ้นมาเพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เกิดช่องว่างที่ให้โอกาสเข้าไปเติบโตในธุรกิจใหม่ได้

เธออธิบายว่า “โควิดส่งผลให้คนอยู่บ้านมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เน้นความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ห่วงใยเรื่องปัญหาความยั่งยืนสูงขึ้น”

“การเกิดธุรกิจใหม่ในสถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอย่างถ่องแท้ นอกจากเข้าใจแล้วมันคือการเปิดโอกาสให้กับคนที่มองหาโอกาสจากความเปลี่ยนแปลง หรือการปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ อย่างเช่นเวลานี้เป็นเรื่องของการใช้ robot และ AI เข้ามาช่วยให้ธุรกิจมีต้นทุนลดลง”

วทันยา หรือ ตอง เป็นบุตรสาวของ พงษ์ชัย อมตานนท์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีหลายอย่าง รวมทั้งเป็นผู้ผลิตตู้เติมเงิน “บุญเติม” ที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่รู้จัก เธอเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและออกแบบตู้เต่าบิน ตลอดจนดูแลการดำเนินงานทุกเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจของเต่าบิน รวมไปถึงกลยุทธ์การขยายธุรกิจ

เธอเรียนจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จาก Imperial College ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทด้านการจัดการที่ University College London (UCL) หลังเรียนจบข้ามฟากไปทำงานที่บริษัท Microsoft ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 3 ปีในตำแหน่ง UX Designer ของโปรดักส์ที่ชื่อว่า Data Factory จนได้เป็น lead designer จากนั้นไปทำงานบริษัทสตาร์ตอัพก่อนกลับเมืองไทยในช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19

“การกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องอุบัติเหตุเพราะถ้าไม่เกิดโควิด-19 คงไม่ได้กลับมา ถ้ากลับมาในภาวะปกติก็คงไม่ได้เห็นโอกาสแบบนี้”

จากเดิมที่คิดว่าจะกลับมาบ้านชั่วคราว เมื่อลงมือทำเต่าบินเธอก็มีภารกิจมากมายที่ต้องรับผิดชอบในฐานะคนที่ดูภาพรวมโครงการทั้งหมด อีกทั้งเริ่มมองเห็นศักยภาพของตลาดจึงตัดสินใจว่าต้องไปต่อให้สุดทาง

กำเนิดตู้ “เต่าบิน” ในนามคาเฟ่อัตโนมัติ

เต่าบินเป็นตู้บริการเครื่องดื่มอัตโนมัติที่สามารถชงเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ได้มากถึงเกือบ 200 เมนู เสร็จได้ภายในเวลา 1 นาที ในพื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร ด้วยระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะฝีมือการผลิตโดยคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้คำเรียกว่า “คาเฟ่อัตโนมัติ” ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงของทุกวัน

“มันเป็นจังหวะเวลาพอดิบพอดีที่ธุรกิจเวนดิ้งของฟอร์ทที่ทำอยู่ขาดทุนมาหลายปี กำลังมองหาธุรกิจใหม่ของ vending machine ที่น่าจะทำเงินได้ เลยเป็นที่มาของเต่าบิน”

เธอเล่าว่า บริษัท ฟอร์ทเวนดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทที่ฟอร์ทกรุ๊ปร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์ก่อตั้งมา 7 ปีแล้ว ธุรกิจประสบภาวะขาดทุนมาตลอดเพราะเวนดิ้งเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้น้อย แต่ใช้กำลังคนดูแลเครื่องในการเติมสินค้าค่อนข้างมาก

“คนที่ทำเวนดิ้งจะรู้ว่าธุรกิจนี้ทำกำไรค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลานาน 5-10 ปีถึงจะได้ผล ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นเรารอไม่ไหว เราจึงพยายามมองหาโพรดักส์ใหม่เข้ามาช่วยดึงให้ธุรกิจดีขึ้น ก็มองเห็นว่าเครื่องดื่มประเภทกาแฟหรือชามีศักยภาพมีกำไรค่อนข้างเยอะ และเป็นที่ต้องการของคน”

เดิมทางบริษัทเคยนำตู้อัตโนมัติที่ขายกาแฟหรือชามาทดลองตลาดแล้ว พบ pain point หลายอย่างที่ผู้ผลิตตู้อัตโนมัติไม่ได้มองเห็น “ในเมื่อขายได้ แต่สิ่งที่ไม่เวิร์กเป็นเรื่องของโอเปอเรชันกับเทคโนโลยีที่อยู่หลังบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำให้ดีกว่าได้ และมีโอกาสเป็นที่หนึ่งของตลาดได้”

จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอร่วมกับทีมงานของฟอร์ทออกแบบและพัฒนาตู้เต่าบินที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีกว่า โดยงานออกแบบด้านเทคโนโลยีหลังบ้าน ด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่ไอเดียที่มาของเต่าบิน จะขายอะไร ชื่ออะไร กระทั่งว่าควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทั้งหมดล้วนมาจากความคิดของเธอ จนกล่าวได้ว่าเธอคือผู้ให้กำเนิด “เต่าบิน”

ความสำเร็จที่มาจาก Market-Fit

ตู้เต่าบินเริ่มมีการติดตั้งจริงตั้งแต่ต้นปี 2564 โดยไม่ได้มีการโฆษณาแต่เป็นที่รู้จักและกล่าวถึงของผู้บริโภคจากความประทับใจในคุณภาพของบริการ จนปี 2565 มียอดการติดตั้งตู้เต่าบินกระจายตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน 4,952 ตู้ จากจำนวนเพียง 546 ตู้ในปี 2564 และตั้งเป้าหมายจะขยายจุดบริการเพิ่มเติมให้ได้เป็น 10,000 ตู้ภายในปี 2566

“เต่าบินเริ่มพบจุดที่จะเติบโตแล้ว ตลาดเริ่ม takeoff ขยายออกไปสู่ mass แล้ว ถือว่าตอนนี้ดีมาก ๆ”

“ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงฮันนีมูนก็เหมือนร้านอาหารเปิดใหม่ที่จะมีคิวค่อนข้างยาว ยังเป็นช่วงที่ลูกค้าเห่อของใหม่ สิ่งที่จะตัดสินว่าร้านอาหารนั้นอยู่ได้หรือไม่ได้ ก็ต้องดูว่าหลังจากฮันนีมูนแล้วยังอยู่ได้มั๊ย เต่าบินยังขายได้ดีเพราะสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือเรื่องราคาและรสชาติ รวมทั้งความสะดวกสบาย ซึ่งคู่แข่งยังไม่สามารถทำได้”

วทันยา บอกว่า ความสำเร็จของธุรกิจส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่สามารถแก้ปัญหา pain point ของลูกค้าได้ ซึ่งเต่าบินเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา “ก็เกิดเป็นที่มาว่า หนึ่งมี market fit สองมี innovation ในการแก้ไขปัญหา จนกลายเป็นที่มาว่าทำไมถึง flow มาเป็นอย่างนี้ สุดท้ายปัจจัยต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญ เพียงแค่จังหวะว่าอะไรมาก่อนหลังเท่านั้น”

“เราหา market fit ก่อน แล้วค่อยเอาเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาให้ตรงจุด” เธอกล่าวถึงแนวทางในการสร้างธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ต้องตรงจุดและตรงเวลา” ทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า

“ปัญหา pain point มาจากหลายปัจจัย ขึ้นกับว่าเราสามารถ identify ปัญหาได้ว่าอย่างไร แต่ความจริงก็คือคนยังดื่มเครื่องดื่มมากขึ้น แต่ไม่มีร้านที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือสะดวกสบายใกล้บ้าน”

ซึ่งสมัยก่อนจะใช้วิธีสร้างสินค้าขึ้นมาก่อนแล้วลองเอาไปขายดู แต่มายุคปัจจุบันจะฟังความต้องการลูกค้าก่อนแล้วค่อยมาสร้างสินค้าตามความต้องการเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาซื้อ วิธีนี้ช่วยให้มีความเสี่ยงน้อยกว่า และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

“คุณพ่อเป็นคนที่มีวิชั่นทางด้านการ identify เรื่องของ pain point ตั้งแต่สมัยที่ทำบริการบุญเติมออกมา ถ้าจำกันได้การขูดบัตรเติมเงินเป็นสิ่งที่น่าเบื่อมาก ยุคนั้นเป็น pain point ที่สำคัญ พ่อสามารถพบปัญหาและรู้ว่าเราสามารถเอาเทคโนโลยีมาแก้ปัญหานี้ได้ ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์ไม่ต้องเดินทางไปร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อบัตรเติมเงินมาขูดอีก”

ซึ่งเธอยอมรับว่าความสามารถในการ identify เรื่อง pain point ของลูกค้า ส่วนหนึ่งได้เรียนรู้จากคุณพ่อที่มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยีมานานกว่า 30 ปี

สร้างจุดแข็งจากประสบการณ์ UX designer

“UX designer เป็นอาชีพที่ค่อนข้างใหม่มาก ช่วยให้เรามีข้อได้เปรียบในการเข้าใจ flow ของลูกค้า เข้าใจว่าแบบไหนที่เรียกว่าดีและใช้งานง่าย ซึ่งเป็นที่มาว่าตอนตู้เต่าบินออกมาตอนแรกทำไมลูกค้าถึงชอบเป็นพิเศษ เสียงสะท้อนจากลูกค้าคือใช้งานง่ายมาก ๆ”

การใช้งานง่ายและทันสมัยบนหน้าจอ Touch Screen เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ลูกค้าตอบรับบริการตู้เต่าบินได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นผลผลิตจากประสบการณ์ตรงของเธอที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน UX designer ในบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ที่ต้องใช้ทักษะทางเทคโนโลยีควบคู่กับความสามารถทางศิลปะ

“สมัยที่เรียนยังไม่มีหลักสูตรเรื่อง UX แต่ตองโชคดีที่เรียนจบด้านวิศวะแต่ดันชอบเรื่องศิลปะ ทำให้ได้เอาทั้งสองอย่างมาผสมกันกลายเป็นสิ่งที่ชอบ และเป็นข้อได้เปรียบสามารถเข้าไปทำสายงานนี้ได้ทั้งที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวข้องกับเรื่อง UX เลย เป็นเพราะส่วนหนึ่งได้รับตรรกะจากการเรียนวิศวะ จึงเข้าใจว่าเทคโนโลยีทำงานอย่างไร เข้าใจข้อจำกัดว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ทั้งเข้าใจลูกค้าและเข้าใจเรื่องของความสวยงามด้วย”

“วิทยาศาสตร์และศิลปะมัน coexist กันมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำแบบนั้นได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมมันจึงอยู่กันคนละขั้ว คนที่วาดรูปได้ก็มักจะไม่ชอบคณิตศาสตร์ หรือคนที่ชอบคณิตศาสตร์ก็จะวาดรูปไม่เป็น แต่ก็มีบางกลุ่มเช่นสถาปนิกที่จะมีทั้งสองอย่าง เช่นเดียวกับงานด้าน UX เป็นอีกสายที่มีทั้งด้านเทคโนโลยีและศิลปะเหมือนกัน”

มองหาธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน

“ความจริงเรามีความต้องการจะขยายสู่ธุรกิจใหม่มานานแล้ว เพราะทำธุรกิจเทคโนโลยีมันเหนื่อย ที่ผ่านมาเราถูกดิสรัปมาตลอดเลย”

ตองเล่าถึงเส้นทางธุรกิจครอบครัวที่คุณพ่อก่อร่างสร้างมาตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมคือผลิตตู้ PABX ในแบรนด์ Forth เมื่อเกิดมีโทรศัพท์มือถือก็ถูกดิสรัปรอบแรก จนต้องปรับตัวมาทำธุรกิจบริการเติมเงินในชื่อ “บุญเติม” ต่อมามีอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งเกิดขึ้น การเติมเงินแบบเดิมก็ลดลง

“เราก็ต้องคิดต่อว่าจะปรับตัวอย่างไรดี จึงเริ่มคิดหาธุรกิจใหม่ที่มีความยั่งยืนกว่า ไม่จำเป็นต้องอยู่กับเทคโนโลยีก็ได้ เป็นที่มาที่เราเลือกจะขยายมาทำธุรกิจ food and beverage”

เธอยืนยันว่าธุรกิจเทคโนโลยีเป็นธุรกิจที่เหนื่อยมากเพราะอายุค่อนข้างสั้น ต้องปรับตัวหา s-curve ใหม่ตลอดเวลา แต่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะอายุยืนนาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสชาติและราคา การแตกหน่อออกมาทำเต่าบินก็ด้วยหวังว่าจะเป็นธุรกิจที่อยู่ได้นาน

“เท่าที่เราศึกษาธุรกิจ food and beverage ถ้ามีรสชาติดี ราคาที่เข้าถึงได้ ก็จะสามารถอยู่ไปได้เรื่อย ๆ แต่รูปแบบบริการและกลุ่มลูกค้าจะเปลี่ยนแปลงไป”

“เต่าบินเป็นธุรกิจอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยใช้จุดแข็งที่เรามีอยู่ สิ่งที่เราได้เปรียบคนอื่นคือความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ถ้าขยายออกไปโดยใช้อาหารเพียงอย่างเดียวเราไม่มีอะไรจะไปสู้คนอื่นได้เลย สิ่งที่เรามีอยู่เรียกได้ว่าเป็นยิ่งกว่าดาบเสียอีก เพราะเป็นดาบเลเซอร์ที่คนอื่นหาไม่ได้ง่าย ๆ”

โดยเธอเปรียบทีมเทคโนโลยีของฟอร์ทเป็นเหมือนเจได และตู้เต่าบินเป็นดาบเลเซอร์ของเจไดในภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง Star Wars 

ในแง่กลยุทธ์การขยายสู่ธุรกิจใหม่ เต่าบินเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ตัวแรก ซึ่งจะขยายสู่บริการ “คาเฟ่เต่าบิน” ต่อไป โดยมีไอเดียเปิดจุดบริการชาร์จรถ EV “กิ้งก่า” ของบริษัทในกลุ่มฟอร์ท ที่มีร้านบริการอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าจำเป็นอื่น ๆ ผ่านตู้อัตโนมัติทั้งหมด

“ในอนาคตอันใกล้เราจะหาพื้นที่นอกเมืองเพื่อตั้งจุดบริการชาร์จรถ EV ขณะเดียวกันก็เปิดคาเฟ่ที่ขายเครื่องดื่ม และอาจจะมีตู้บริการขายสินค้าต่าง ๆ ด้วย รวมถึงมีไอเดียอยากทำตู้บริการอาหารแบบอัตโนมัติ ทั้งหมดมีเป้าหมายที่การลดการใช้ human resource เพราะปัญหาหนักในปัจจุบันคือเรื่องหาคนทำงานที่ low skill ยากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องนำโรบอทเข้ามาช่วยการทำธุรกิจมากขึ้น”

มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

“ยุคนี้เป็นเรื่องของออโตเมชั่น เรื่อง AI และการใช้ machine learning มาช่วยให้การผลิตมีประสิทธิผลมากขึ้น กรณีเต่าบินเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเต็มที่ เพราะตู้เต่าบินแท้จริงก็คือหุ่นยนต์ที่ใช้ machine learning ในการโอเปอเรทให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”

“การใช้ AI เป็นการเปลี่ยนเทรนด์ครั้งสำคัญ ที่ไม่ใช่แค่การช่วยในด้านการผลิตเท่านั้น แต่ยังช่วยในด้านประสิทธิผลที่ส่งผลไปถึงในเรื่องความยั่งยืนจากการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น โดยการใช้พลังงานน้อยลงและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ซึ่งเต่าบินก็เช่นกัน อาทิการเสิร์ฟแก้วให้ลูกค้า เราใช้พลังงานน้อยกว่าคาเฟ่ทั่วไปอย่างมาก น่าจะเรียกได้ว่าเป็นสิบเท่า ไม่เพียงแค่นั้นเรายังสร้างขยะน้อยลงมากเช่นกัน ถือเป็นการก้าวสู่ยุคใหม่ของการบริการแบบนี้เลยก็ว่าได้”

นอกจากนี้ ในเรื่องการเลือกใช้วัสดุก็เน้นใช้สิ่งที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เช่นแก้วพลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่ก็พยายามค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปด้วยการมองหาวัสดุใหม่ ๆ ที่ดีต่อโลกมากขึ้น

“ในช่วงนี้จะยังเน้นที่เรื่องผลกระทบด้านการใช้พลังงานก่อน ต่อมาก็เป็นเรื่องของขยะที่เกิดในระหว่างการโอเปอเรชั่น”

“เรานำ machine learning มาใช้ในการเรียนรู้เพื่อวางแผนการเติมวัตถุดิบใส่ตู้เต่าบินให้มีเวลาใช้นานที่สุดเพื่อลดเที่ยวการเดินทางลดลง รวมทั้งการกำหนดเส้นทางการทำงานที่จะช่วยประหยัดทั้งพลังงานและกำลังคนในการเดินทางด้วย พูดได้ว่าทุกอย่างน้อยลงไปหมดเมื่อเทียบกับธุรกิจคาเฟ่ทั่วไป”

พัฒนาต่อเนื่องเพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด

วทันยากล่าวว่า เต่าบินมีวิชั่นอยากเป็นทุก ๆ วันของทุกคน (everybody daily hub) ซึ่งมีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่าง เช่น ต้องดีต่อสุขภาพ ราคาเข้าถึงได้ ซื้อได้ทุกวัน และต้องเหมาะกับทุกคน (customisable) เพราะลูกค้าแต่คนละชอบไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องมีตัวเลือกให้มาก สุดท้ายต้องมีความรับผิดชอบต่อโลกและสังคม

“เราไม่ได้สร้าง ecosystem แต่เราเอาตัวเองไปอยู่ใน ecosystem ของลูกค้า เราเห็นคนไทยปรับตัวหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น อยู่บ้านมากขึ้น และไม่ได้ออกไปทำงานที่ออฟฟิศมากเหมือนแต่ก่อน การใช้ชีวิตก็ 24 ชั่วโมงมากขึ้น เรียกว่าทุกเรื่องมีการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป”

ซึ่งการสร้างตู้เต่าบินมีการพัฒนามาตลอด เฉพาะภายในตู้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 20-30 เวอร์ชัน ทำให้คู่แข่งยากที่ตามทัน

“ภัยคุกคามของเราอย่างหนึ่งคือการเลียนแบบ แม้เราจะจดลิขสิทธิ์ไว้ก็ตาม สิ่งเดียวที่เป็นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการไม่หยุดพัฒนา เพราะการเลียนแบบจะทำได้ก็แต่เวอร์ชันเก่า แต่สิ่งที่เรามีอยู่จะเหนือกว่าอยู่เสมอ”

สำหรับการแข่งขันในตลาดเธอเชื่อว่าเต่าบินมีความได้เปรียบคู่แข่งรายอื่น ๆ เนื่องจากผู้ให้บริการตลาดส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตอุปกรณ์เอง แต่เป็นการนำเข้ามาสร้างโมเดลในไทย ต่างจากเต่าบินที่สามารถปรับแต่งตัวเทคโนโลยีให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าได้

ส่วนการขยายตลาดไปต่างประเทศ เธอเปิดเผยว่า ตอนนี้ได้ทำสัญญากับพาร์ทเนอร์ที่ประเทศมาเลเซียเพื่อส่งตู้เต่าบินไปทดลองตลาดในแบรนด์เต่าบิน หรือ Flying Turtle “แม้จะเป็นการขายตู้สำเร็จไป แต่ก็เป็นพาร์ทเนอร์กันด้วย ซึ่งมีศักยภาพในระยะยาวมากกว่า ถึงแม้กำไรในระยะสั้นจะน้อยหน่อย”

“เป้าหมายสูงสุดเราอยากจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีของคนไทยที่ไปมีชื่อเสียงระดับโลก อยากจะไปปักธงในหลายประเทศ อยากจะเป็นหนึ่งในตัวแทนของคนไทยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ตามตลอดเวลา แต่สามารถเป็นผู้นำได้เช่นกัน” วทันยากล่าวถึงเป้าหมายสูงสุด

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ