TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกBusiness“ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์” ส่งต่อคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงแสนรักถึงคนรักสัตว์ด้วยหัวใจ

“ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์” ส่งต่อคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงแสนรักถึงคนรักสัตว์ด้วยหัวใจ

เคยมีคนกล่าวว่า แม้การมีอยู่ของสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งจะเป็นแค่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อเทียบกับชีวิตมนุษย์หนึ่งคน แต่นั่นคือ ชั่วชีวิตของสัตว์เลี้ยงหนึ่งตัว ซึ่งตลอดไม่กี่ปีอันแสนสั้นนั้น พวกเขาได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักจากผู้เป็นเจ้าของเฉกเช่นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวจนถึงวันลาจากกัน

“ผมชอบกระต่าย อยากเลี้ยงกระต่าย และเคยเลี้ยงกระต่ายแต่เลี้ยงได้แค่ 7 วันก็ตาย ความที่เรายังเด็กทำให้เสียใจไปเป็นเดือน และกลายเป็นปมฝังใจเพราะเป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรก แล้วก็เลี้ยงไปโดยไม่มีความรู้ใด ๆ เลย”

หมอม่อน – น.สพ. สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์ จำกัด (Hato Pet Wellness Center) เริ่มต้นบทสนทนากับ The Story Thailand ด้วยประสบการณ์เลี้ยงสัตว์ตัวแรกแบบจบไม่สวยเท่าไหร่ แต่ก็จุดประกายให้อยากเรียนสัตวแพทย์ เมื่อได้วิชาจึงรู้ว่า กระต่ายที่ซื้อมาเลี้ยงแล้วตายเป็นเพราะหนึ่งปัญหาสุขภาพ สองคือ กระต่ายที่ซื้อมาไม่ใช่กระต่ายแคระ แต่เป็นกระต่ายเด็กที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงก็ถูกนำมาวางขายแออัดในตลาดนัดอย่างจตุจักรเสียแล้ว จึงเกิดแรงบันดาลใจต่อเนื่องในการพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตสัตว์ให้ดีขึ้น

เอ็กซ์เรย์เทรนด์และมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงไทย

ณ ปัจจุบัน มูลค่าทางธุรกิจของตลาดสัตว์เลี้ยงจำแนกออกเป็น ธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่สุดและมีมูลค่าสูงสุดถึง 3 หมื่นล้านบาท ธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยงกินสัดส่วนอยู่ 25% ของตลาด เฉลี่ยมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท และธุรกิจอื่น ๆ เช่น การซื้อขายสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีใครรู้มูลค่าแท้จริง ยิ่งถ้านับรวมกลุ่มสัตว์เลี้ยงที่เป็น Exotic เช่น กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ เต่าสายพันธุ์พิเศษ หรือปลาคราฟต์ ซึ่งจัดเก็บข้อมูลได้ยาก แต่เชื่อว่าเมื่อนำมานับรวมกันจะมีมูลค่าเกินแสนล้านแน่นอน 

ดังนั้น มูลค่าตลาดที่พอสืบเสาะได้จึงมาจากการติดตามตัวเลขผลิตภัณฑ์ บริการ อาหาร และยาจากตลาดสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวเป็นส่วนใหญ่ซึ่งน่าจะโตอยู่ราว 4.5 หมื่นล้านบาท ไม่นับรวมถึงปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่ทำให้ตลาดยังคงโตต่อเนื่อง เช่น การเกิดขึ้นของบริการเฉพาะทางเพื่อดูแลสัตว์กลุ่ม Exotic การเปลี่ยนผ่านและขยายไลน์ธุรกิจจากการผลิตอาหารคนมาผลิตอาหารสัตว์ร่วมด้วย แบรนด์อาหารสัตว์ใหญ่ ๆ ที่ยังคงเป็นแบรนด์จับตลาดแมส หรือการขยายธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยงที่หลากหลายและครบวงจรมากขึ้น

อีกทั้งกระแสสัตว์เลี้ยงแสนรักกำลังเป็นแนวโน้มขาขึ้น ข้อแรกเพราะทุกคนมีครอบครัวช้าลง และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น คนยุคนี้ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อเฝ้าบ้าน แต่สัตว์เลี้ยงคือเพื่อน คือครอบครัว ยิ่งเมื่อมาเจอกับสถานการณ์โควิดกว่า 3 ปีที่คนต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน การซื้อสัตว์ไปเลี้ยงมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เละเมื่อซื้อแล้วก็ต้องเลี้ยงต่อเนื่องไปอีกเป็น 10 ปี รวมถึงอาจเลี้ยงเพิ่มจนกลายเป็นทาสรักสัตว์เลี้ยงในที่สุด 

“พฤติกรรมคนรักสัตว์กำลังเปลี่ยน บางคนยอมจ่ายได้ถึง 50% ของรายได้เพื่อสัตว์เลี้ยง เราเริ่มเห็นอาหารสุนัขที่แพงกว่าอาหารคน ข้าวของเครื่องใช้ของสัตว์ที่มีราคาสูง เทรนด์หลายอย่างที่เข้ามาสนับสนุน เช่น การลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง (Pet ID) ธุรกิจประกันภัยสัตว์เลี้ยง (Pet Insurance) ที่ส่งผลต่อการเติบโตของโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้วงการตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโตเร็วยิ่งกว่าเดิม” 

มิติหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สัตว์เลี้ยงที่เป็นสุนัขซึ่งเดิมกินส่วนแบ่งตลาดถึง 60-70% แต่จากรูปแบบสังคมเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในคอนโดฯ ซึ่งมีพื้นที่คับแคบเหมาะกับการเลี้ยงแมวมากกว่าสุนัข อีกทั้งแมวเป็นสัตว์ที่ดูแลตัวเองได้ ทำให้ตลาดคนรักแมวมีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่า มีบริการเฉพาะสำหรับแมวมากขึ้น อาหารสำหรับแมวก็มีให้เลือกหลากหลายมากกว่าสุนัข เช่น ขนมแมวเลียเป็นตลาดที่โตอย่างเห็นได้ชัดเจน  

นำร่องความแตกต่างด้วย Wellness 

การยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร (Enhance Your Pet Healthy of Life) จึงกลายเป็นทั้งพันธกิจและที่มาของการเปิดธุรกิจบริการดูแลสุนัขและแมว ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์ร่วมกับเพื่อนสัตวแพทย์หัวใจเดียวกัน น.สพ.ศรัณย์ นราประเสริฐกุล (หมอเน๋ง) และ น.สพ.อรรฆรัตน์ โกสิทธิ์ (หมอจั๊ก) เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว โดยชื่อ “ฮาโตะ” มาจากคำว่า ฮาร์ท ที่แปลว่าหัวใจ ธุรกิจของฮาโตะจึงมุ่งมั่นอยู่บนเส้นทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรืออื่น ๆ ที่ส่งมอบด้วยหัวใจ และด้วยองค์ความรู้ในการดูแลสัตว์อย่างถูกต้อง (Pet Knowledge) 

ในตอนนั้นธุรกิจบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ แบบแรกคือเป็นโรงพยาบาลหรือคลินิกที่รักษาสัตว์เจ็บป่วย แบบที่สองคือ บริการสปา อาบน้ำและรับตัดขน (Grooming) แต่เพนพอยต์ที่ได้ยินบ่อย ๆ คือ ทุกคนจะบ่นว่า ทำไมค่าบริการโรงพยาบาลสัตว์มีราคาแพง ขณะที่ประสบการณ์การทำงานในสายธุรกิจค้าปลีกยามาก่อนทำให้เห็นว่า โลกข้างนอกกำลังมุ่งไปสู่การรักษาแบบ Preventive Medicine ซึ่งเน้นการดูแลป้องกันก่อนการเจ็บป่วย เป็นกระแสที่กำลังมาแรงและมาแน่ ๆ จึงเริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจการให้บริการสัตว์เลี้ยงในแบบ เวลเนส (Wellness)  ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศไทย โดยมัดรวมบริการทางคลินิก บริการกรูมมิ่งและสปาเข้าด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแบบองค์รวม

“กุศโลบาย ก็คือ เราอยากเป็นผู้ที่หาปัญหาเจอเป็นคนแรก เพื่อจะได้ป้องกันแก้ไขก่อนลุกลามเป็นความเจ็บป่วยรุนแรง จนต้องไปเสียค่ารักษาสัตว์แพง ๆ ที่โรงพยาบาล”

เมื่อเป้าหมายหลัก คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง หน้าที่แรกของฮาโตะจึงเริ่มจาก การคัดกรอง (Screening)” และ เพิ่มความถี่ในการคัดกรอง ให้เห็นทุกความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัว รอยโรคที่ผิวหนัง การกินและการขับถ่าย เป็นต้น เพื่อให้มีข้อมูลที่มากพอในการวินิจฉัยและมองเห็นปัญหาล่วงหน้า ต่างจากอดีตที่เจ้าของมักพาสัตว์เลี้ยงไปพบแพทย์เมื่อป่วยหรือรับวัคซีน ซึ่งอาจมีความถี่แค่ปีละ 1-2 ครั้ง ในขณะที่ผู้มาใช้บริการฮาโตะมีความถี่ในการมาพบแพทย์เฉลี่ย 40 ครั้งต่อปี น้อยสุดคือ 20 ครั้ง ความถี่ที่เพิ่มขึ้นนี้เองทำให้พบปัญหาได้ไว โดยในแต่ละครั้งที่มารับบริการ สุนัขและแมวจะต้องพบแพทย์ก่อนเป็นด่านแรกเพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น เจ้าของจะได้รับคำแนะนำการดูแลเพื่อลดเสี่ยงเรื่องการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง หลังจากนั้น จึงจะไปสู่ขั้นตอนของกรูมมิ่งและสปา เป็นอันจบกระบวนการส่งมอบการบริการที่ให้กับลูกค้า

การออกแบบบริการโดยมี สัตว์เลี้ยงเป็นศูนย์กลาง (Pet Centric)” อย่างแรก คือ Stress Zero การออกแบบบริการและสถานที่เพื่อให้สุนัขและแมวมีความเครียดน้อยที่สุด Non-Infection Place สถานที่ต้องสะอาด ถูกสุขอนามัย มีการจัดโปรแกรมการตรวจป้องกันโรคที่ครบถ้วน เช่น การฉีดวัคซีนประจำปี การถ่ายพยาธิ และการตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงที่เข้ามาปลอดการติดเชื้อ ปลอดโรค และมีสุขภาพที่ดี 

แม้หลายคนจะมองฮาโตะว่า เป็นบริการพรีเมียม ราคาก็พรีเมียม แต่จริง ๆ แล้ว เป็นความตั้งใจในการออกแบบบริการมาสำหรับคนที่ต้องการดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างดี เป็น Pet’s Parent ที่รักสัตว์เสมือนลูกหรือสมาชิกในครอบครัว

“ลูกค้าที่มาฮาโตะจะรู้ว่าเราแตกต่างจากคนอื่นในตลาดยังไง ราคาของเราอาจสูงกว่าตลาด แต่คิดว่าสมเหตุสมผลถ้าเทียบกับสถานที่ จำนวนบุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เราใส่ใจลงทุนกับมันมาก ๆ การแข่งขันด้วยราคาที่ถูกแล้วต้องลดคุณภาพหมอ คุณภาพคน คุณภาพของที่ใช้งานคงไม่ใช่ทางของเรา อย่างเรื่องกลิ่น เรายังต้องเลือกให้ไม่เป็นพิษภัยกับสัตว์ เจ้าของเองก็รู้สึกสบายใจและอยากพาสัตว์เลี้ยงมารับบริการบ่อย ๆ” 

แตกหน่อนิเวศธุรกิจ Pet Ecosystem

ฮาโตะพยายามสร้างระบบนิเวศที่เรียกว่า Pet Ecosystem ให้มีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์คุณภาพในการดูแลสัตว์เลี้ยง ได้แก่ สุนัขและแมว ผ่าน 3 เสาหลักทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการ ผลิตภัณฑ์ หรืออื่น ๆ  

ธุรกิจบริการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่หนึ่ง คือ กลุ่มบริการเวลเนสสำหรับสุนัขและแมว อาทิ ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์ การให้บริการทางคลินิกตามหลักพรีเวนทีฟ เมดิซิน รวมถึงบริการกรูมมิ่งและสปา ฮาโตะ แคท เวลเนส เซ็นเตอร์ บริการคลินิกเฉพาะทางสำหรับแมว ฮาโตะ โฮม การดูแลสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจรในที่เดียว เป็นต้น โดยรวมทั้งหมด 5 สาขา มีสุนัขและแมวเข้ารับบริการแล้วราว 2 หมื่นตัวกระจายในทุกสาขา และกำลังจะเปิดสาขาที่ 6 ตามมา กลุ่มที่สอง ได้แก่ โรงพยาบาลสัตว์ซึ่งเปิดให้บริการรักษาสัตว์โดยตรงแล้ว 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลสัตว์กรุงเทพ-ชัยพฤกษ์ และกำลังจะเปิดเพิ่มเติมอย่างน้อยปีละ 2 แห่ง เพื่อต่อจิ๊กซอว์อีโคซิสเท็มด้านบริการให้สมบูรณ์ ทำให้ภายหลังจากการตรวจคัดกรองสัตว์เลี้ยงแล้วพบว่าป่วย ก็สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรักษาของโรงพยาบาลในกลุ่มฮาโตะได้ทันทีแทนการส่งตัวไปรักษาที่อื่น 

ธุรกิจผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 3 กลุ่มตามแผน กลุ่มที่หนึ่งคือ ฮาโตะเว็ทซีเล็ค (Hato Vet Select) ที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของตัวเองและรับผลิตเป็นโออีเอ็ม ทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรูมมิ่ง สปา ไลฟ์สไตล์ ขนมและอาหาร กลุ่มที่สองคือ ผลิตภัณฑ์นำเข้า (Imported Products) จากต่างประเทศบางตัวที่มีเรื่องของเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่เราไม่สามารถพัฒนาได้ในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้อีโคซิสเท็มมีตัวเลือกที่ดีและหลากหลาย ภายใต้การทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว และกลุ่มที่สามคือ ผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นการทำงานร่วมกับคู่ค้าที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ซึ่งวางจำหน่ายหน้าร้านขึ้นสู่ระบบออนไลน์เพื่อขยายฐานลูกค้าไปทั่วประเทศ โดยฮาโตะเป็นผู้ดำเนินงาน

ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทำงาน อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับยีนหรือพันธุกรรม (Genetics) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) และเทคโนโลยีไอโอทีเพื่อการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ (Pet IOT) ซึ่งจะทำให้อีโคซิสเท็มของฮาโตะแข็งแรงขึ้น

“การเริ่มต้นธุรกิจที่เป็นเวลเนสก่อนโรงพยาบาล เรามองว่าเป็นของใหม่ เข้าถึงตลาดเร็ว และสร้างความแตกต่างได้ดี อีกอย่างเราค่อนข้างโฟกัสมาก ๆ กับการมองหาบริการที่เน้นการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคแล้วเวลเนสมันตรงโจทย์ สามารถจับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมที่เป็น Pet Lover ซึ่งพร้อมเปิดรับบริการใหม่ ๆ ได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ แต่พอมาถึงวันนี้ที่ธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยงเข้ามามาก แน่นอนว่าตลาดเวลเนสยังคงเติบโตต่อไป แต่ในฐานะจ่าฝูงที่เข้าสู่ธุรกิจนี้เป็นคนแรก เราบอกได้ว่า ฮาโตะ เวลเนสได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดไปแล้ว ถึงเวลาที่ต้องเดินต่อเพื่อสร้างการเติบโตรอบใหม่”

เดินหน้าสู่ Petconomy ธุรกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจร

การเข้ามาของ อาร์เอส เพ็ท ออล (RS Pet All) แบรนด์ผลิตภัณฑ์และบริการสัตว์เลี้ยงในเครืออาร์เอส กรุ๊ป เพื่อร่วมธุรกิจในฮาโตะด้วยเม็ดเงินลงทุนราว 117 ล้าน ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ได้เปลี่ยนมุมมองธุรกิจจากวันแรกที่ต้องการสร้างความแตกต่างจนถึงวันนี้ที่ความแตกต่างไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งอีโคซิสเท็มได้ 

การส่งต่อดีเอ็นเอของฮาโตะเดิมไปยัง เพ็ท เมดิคัล กรุ๊ป” (Pet Medical Group-PMG) บ้านหลังใหม่ที่มีความพร้อมมากกว่าเดิมทั้งกำลังคน กำลังเงิน เทคโนโลยี และคอนเนคชัน เพื่อเติมเต็มธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงชนิดครบวงจร (Petconomy) ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต รวมถึงการส่งมอบ “Pet Lifetime Value” เวลาที่เปี่ยมด้วยคุณภาพเพื่อให้เจ้าของและสัตว์เลี้ยงได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขตลอดช่วงชีวิต

“ต้องยอมรับว่าพื้นฐานของเราสามคน คือ สัตว์แพทย์ที่มาจับธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยง เราทำด้วยใจรักจึงดูไม่ได้เป็นผู้บริหารจ๋าขนาดนั้น การที่อาร์เอสเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เท่ากับเป็นการเติมเต็มจุดอ่อนประสานจุดแข็งซึ่งกันและกัน เช่น การกำหนดทิศทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขา การทำพาร์ทเนอร์ชิป มีเดียต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์การทำงานที่เป็นระบบแบบมืออาชีพ การหนุนเสริมระบบการเงินของฮาโตะให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่อาร์เอสมียังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เราอีกด้วย 

“เป็นการทำงานร่วมกันแบบ Synergy เพื่อสร้างธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยงครบวงจรให้เป็นธุรกิจที่แข็งแรง เติบโตได้ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ เพราะสัตว์เลี้ยงเป็นเทรนด์ที่มาแรงจริง ๆ”  

หมอม่อนยกตัวอย่างเรื่องโรงพยาบาลสัตว์ซึ่งเดิมไม่เคยคิดทำมาก่อน เพราะที่ผ่านมาเลือกทำแต่ธุรกิจที่หวังสร้างความแตกต่างในตลาดแต่ก็ทำให้บริการเกิดรอยต่อ การเปิดโรงพยาบาลสัตว์เต็มรูปแบบภายใต้การบริหารงานใหม่จึงเสมือนเป็นการเติมเต็มอีโคซิสเท็มให้สมบูรณ์ ช่วยให้สุนัขและแมวได้รับบริการคุณภาพไม่ต่างจากคน แถมยังได้นำประสบการณ์จากการเปิดฮาโต ะเวลเนสมาใช้ในการออกแบบสถานที่ กลิ่น และความสะอาดให้เหมาะสมกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและความพึงพอใจของเจ้าของสัตว์ เพื่อสร้างความแตกต่างจากโรงพยาบาลสัตว์ในตลาด สถานที่ตั้งสาขาซึ่งเลือกให้สะดวกต่อการเดินทางและสามารถค้างคืนได้ โดยตั้งใจให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียงชึ้นไป ที่เปิดให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ทั้งโรงพยาบาลที่จะเกิดขึ้นใหม่ และโรงพยาบาลสัตว์กรุงเทพ-ชัยพฤกษ์ที่เปิดไปแล้ว เป็นสิ่งที่เราพยายามเข้าถึงคนทุกกลุ่มที่รักสัตว์เสมือนลูกด้วยมาตรฐานคุณภาพแบบฮาโตะแต่ในราคาค่าบริการที่เลือกได้ตามความเหมาะสม เช่น ตามหัวเมืองใหญ่ เราจะใช้แบรนด์ฮาโตะในการขยายธุรกิจ แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดหรือชานเมือง ก็จะใช้ชื่อโรงพยาบาลสัตว์กรุงเทพในการเปิด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไหน เราตั้งเป้าจะเปิดให้ได้อย่างน้อยปีละ 2 สาขา อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 นี้ จะได้เห็นโรงพยาบาลใหม่โดยการบริหารของฮาโตะ 1 สาขาแน่นอน”

ส่วนผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ฮาโตะ เว็ท ซีเล็ค ในปีนี้ ยังคงมุ่งในกลุ่มที่เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เราเชี่ยวชาญโดยแบ่งออกเป็น 4 SKUs ได้แก่ กลุ่มแชมพูสำหรับสุนัข กลุ่มแชมพูสำหรับแมว ผลิตภัณฑ์ลีฟออนบำรุงขน บำรุงผิว และผลิตภัณฑ์บับเบิ้ลบาธ (Bubble Bath) สำหรับสุนัขและแมว ซึ่งจะครบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ในสิ้นปีนี้ ส่วนการเดินหน้าต่อ คือ ผลิตภัณฑ์ขนมและอาหารซึ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพที่แข็งแรงและความกินดีอยู่ดีให้กับสัตว์เลี้ยงภายใต้แบรนด์ของเราและรับทำโออีเอ็ม เสริมด้วยแบรนด์นำเข้าเพื่อเติมช่องว่างในจุดที่เราไม่สามารถพัฒนาได้ โดยมีแพทย์ผู้มีประสบการณ์เป็นผู้คัดสรร ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในมือแล้วหนึ่งแบรนด์

ธุรกิจอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีด้านพันธุกรรม หรือโดยเฉพาะ เพ็ท ไอโอที (Pet IOT) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ออกมามากมายและโลกได้เดินนำเทรนด์นี้ไปแล้ว แต่ปัญหาคือ ข้อมูลไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการแปลหรือวิเคราะห์ผลอย่างเต็มที่ เช่น ไม่มีใครนำข้อมูลการขับถ่ายมาแปลผลในเรื่องสุขภาพสัตว์ ส่วนยีนเนติก (Genetics) ที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจจับและป้องกันความเจ็บป่วยของสัตว์ได้ล่วงหน้าและรวดเร็ว เช่น สุนัขและแมวบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิดแต่ยังปรากฎอาการ สัตว์บางตัวกว่าจะเกิดอาการก็คือ 6 ปี แต่บางตัวแสดงอาการตั้งแต่อายุ 1 ปีซึ่งน้อยคนมากที่จะพาสัตว์ซึ่งมีอายุแค่เพียง 6 เดือนหรือ 1 ไปพบคุณหมอโรคหัวใจ หรือรับการตรวจเอดโค่หัวใจ (Echocardiogram) เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นแนวทางที่ฮาโตะกำลังพิจารณาและนำมาช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการดูแลสัตว์เลี้ยงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกันทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผยทั้งกับผลิตภัณฑ์หรือพาร์ทเนอร์ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การยกระดับคุณภาพสัตว์เลี้ยง การส่งมอบความเชี่ยวชาญเรื่องของเวลเนส การป้องกันก่อนเกิดโรค การใส่ใจสุขภาพของสัตว์เลี้ยง รวมถึงความเข้าใจในจิตใจคนรักสัตว์  เช่น ความร่วมมือกับ MQDC (แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น) ในการฝึกอบรมหรือจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความสุขทั้งต่อสัตว์เลี้ยงและผู้เป็นเจ้าของที่อาศัยในคอนโดฯ ของ MQDC

“การวางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ความตั้งใจบุกตลาดต่างประเทศเป็นหนึ่งในแผน แต่ ณ จุด ๆ นี้ เราคงต้องย้ำภาพใหญ่ของธุรกิจก่อน คือ การสร้างอีโคซิสเท็มที่สมบูรณ์ จากก้าวแรกของธุรกิจ คือ การเดินให้ถึงต้นน้ำเพื่อมองเห็นปัญหาความเจ็บป่วยก่อนเกิดเหตุ เราทำไปล่ะ ก้าวต่อไป คือ การเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการทำให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโตอย่างเข้มแข็ง เพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับสัตว์เลี้ยงทุกตัว” 

ส่งต่อ DNA หัวใจคนฮาโตะ 

หมอม่อนมองว่า ดีเอ็นเอคนฮาโตะ คือ ดีเอ็นเอของความเป็นเวลเนสแท้ ๆ ที่เป็นแก่นธุรกิจของเราจริง ๆ ซึ่งหมายถึง การมีบุคลากรที่คิดตรงกันในการทำให้คุณภาพสัตว์เลี้ยงดีขึ้น แพทย์ซึ่งมีชุดความคิดในการหาปัญหาก่อนสัตว์เลี้ยงจะป่วยและบอกเจ้าของอย่างตรงไปตรงมา แต่ด้วยความที่วงการสัตวแพทย์ไม่มีหลักสูตรเรื่องเวลเนส แพทย์จึงถูกสอนมาให้แก้ไขปัญหาสัตว์ป่วยมากกว่าหาปัญหาก่อนป่วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องพยายามสร้างความเข้าใจกับบุคลากรที่ทำงานทั้งฟูลไทม์และพาร์ทไทม์ราว 70 คน ให้มีหัวใจตรงกันเรื่องความเป็น Real Wellness ซึ่งถือเป็นจุดแข็งทางธุรกิจ รวมถึงมุ่งพัฒนาระบบ เพ็ท อีโคซิสเท็มที่ไม่ใช่เพื่อการไปแข่งขันกับใครนอกจากตัวเอง 

“เพราะสัตว์เลี้ยงพูดไม่ได้ จึงเป็นการยากในการวินิจฉัยความเจ็บป่วยเมื่อต้องมาเจอกันแบบฉุกเฉิน ด้วยระยะเวลาอันสั้นในการรักษาไม่กี่ชั่วโมง หากช่วยไม่ทันก็เสียชีวิต เจ้าของก็ทุกข์ ดังนั้น ต้องกลับไปที่เรื่องพื้นฐาน คือ การป้องกันก่อนสาย เพราะความรู้และการคัดกรองที่ถี่และถ้วนทั่ว ช่วยทำให้โรคที่เกินความรู้ของเราน้อยลง และถึงยังไงเสียต้นทุนการป้องกันก็ยังถูกกว่าการรักษา การเปลี่ยนค่ารักษาแพง ๆ มาเป็นการลงทุนกับการป้องกันซึ่งมีค่าใช้จ่ายโดยรวมน้อยกว่า จะทำให้ทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงมีความสุขมากกว่ากันเยอะ” 

และสิ่งหนึ่งที่ลืมไปไม่ได้ ก็คือ สัตว์เลี้ยงกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตคน สังคมปัจจุบันที่เราพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านโดยลำพังมากขึ้น การมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนสักตัวถือเป็นการบำบัดจิตใจ (Pet Therapy) อย่างหนึ่ง ธุรกิจที่ฮาโตะทำทุกวันนี้จึงเสมือน การช่วยสัตว์ทางตรงและช่วยคนทางอ้อม ถ้าสัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจ้าของก็มีความสุขไปด้วย

“ฮาโตะโชคดีที่ได้ทำธุรกิจนี้ เราสามารถช่วยคนและสัตว์โดยที่ธุรกิจยังดำเนินไปได้ด้วยดี และเรามีความเชื่อว่า ถ้าธุรกิจนี้เติบโตได้ โครงสร้างสังคมก็จะแข็งแรงขึ้น เพราะถ้าสัตว์เลี้ยงแข็งแรงไม่เจ็บป่วย ผู้เป็นเจ้าของก็จะมีจิตใจแข็งแรงและพร้อมออกไปชีวิต ซึ่งฮาโตะกำลังมุ่งมั่นทำสิ่งนั้นอยู่อย่างมีความสุข”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ

เจาะธุรกิจคลาวด์ “AWS ประเทศไทย” กล้าเสี่ยงเพื่อสิ่งใหม่

‘วทันยา อมตานนท์’ พลิกเทคโนโลยีสู่บริการ “เต่าบิน” เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ

11 ปีบนเส้นทางเปลี่ยนผ่าน ม.ขอนแก่น สู่ Cloud-Based University

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ