TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview11 ปีบนเส้นทางเปลี่ยนผ่าน ม.ขอนแก่น สู่ Cloud-Based University

11 ปีบนเส้นทางเปลี่ยนผ่าน ม.ขอนแก่น สู่ Cloud-Based University

การเผชิญวิกฤติโควิดตลอดระยะ 2-3 ปี ทำให้ ดิจิทัล ดิสรัปชัน กลายเป็นวาระแห่งการเปลี่ยนผ่านวิถีดำรงชีวิตและธุรกิจแบบฉับพลันทันด่วน โดยมี “คลาวด์ คอมพิวติ้ง รับบทเทคโนโลยีพื้นฐานที่สำคัญ

แต่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) วิสัยทัศน์ของสภามหาวิทยาลัยเรื่อง ดิจิทัล ดิสรัปชัน และ เทคโนโลยีคลาวด์ ได้ตั้งต้นขึ้น

เมื่อ 11 ปีที่แล้ว มหาวทิยาลัยขอนแกนได้เริ่มต้นวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีคลาวด์ การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่เนื้อหา วิธีการสอน และสภาพแวดล้อมให้พร้อมเข้าสู่โหมดดิจิทัลนับแต่นั้นมา

นับหนึ่งเรื่องคลาวด์

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวกับ The Story Thailand ว่า

มหาวิทยาลัยขอนแก่น วางฐานด้านเทคโนโลยีจากการใช้งาน Google Apps ซึ่งพัฒนามาเป็น Google Workspace ในปัจจุบัน เพื่อให้อาจารย์และนักศึกษาเกิดความคุ้นชินกับการเรียนการสอนและการทำงานบนสภาพแวดล้อมคลาวด์ ภายใต้แนวคิดการสร้าง สมาร์ทแคมปัส แต่ยังคงจำกัดวงเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี จนมาในช่วง 4 ปีหลังที่นโยบายพร้อม เทคโนโลยีพร้อม จึงยกระดับไปสู่การทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ซึ่งส่งให้มหาวิทยาลัยมีรูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นโมเดลเชิงธุรกิจมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น การย้ายระบบอีเมลขึ้นมาอยู่บนคลาวด์เพื่อแก้ปัญหาเมลล่ม ทั้งยังได้ประโยชน์จากการใช้เครื่องมืออื่น ๆ ที่มีในระบบนเวศของเมลเพื่อการสื่อสารและทำงานร่วมกัน (Collaboration Tools) การสร้างระบบเมลโฮสติ้งในองค์กรที่ง่ายต่อการกำกับดูแลแทนการใช้งานฟรีอีเมล การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานและธุรกิจแบบไร้กระดาษ เช่น หนังสือเวียน วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท-เอก ที่เปลี่ยนจากรูปเล่มไปเป็นไฟล์ PDF เพื่อเก็บเข้าระบบห้องสมุดดิจิทัลของมหาวิทยาลัยได้ การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identity) เช่น เทคโนโลยีการเข้ารหัส ลายเซนต์ดิจิทัลในการเข้าถึงข้อมูลหรือตรวจสอบความถูกต้อง การพัฒนาระบบอีอาร์พีบนคลาวด์ อาทิ ระบบบัญชี การจัดซื้อ การบริหารงานในรูปแบบโครงการต่าง ๆ การรับสมัครงานที่ถูกออกแบบให้เป็นดิจิทัล เป็นต้น

คลาวด์เบสยูนิเวอร์ซิตี้ 

“ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นบุคคลแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ชี้เป้าเทคโนโลยีคลาวด์ว่ามาแน่ ๆ”

อาจารย์เด่นพงษ์ได้รับการชักชวนจากอาจารย์ธนชาติให้ไปเป็นผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อกำหนดทิศทางเทคโนโลยีให้คณะเมื่อราวปี 2538 พอทำได้สัก 5 ปี ก็ถูกเรียกตัวให้มาช่วยกำหนดทิศทางเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยตั้งแต่เมื่อ16 ปีที่แล้ว ก่อนสภามหาวิทยาลัยจะตัดสินใจเดินหน้าสู่เทคโนโลยีคลาวด์เต็มตัว ซึ่งภายหลังการศึกษาลงลึกก็พบว่า บริษัทใหญ่ ๆ ต่างเดินไปในเส้นทางคลาวด์กันหมด มข. เองก็ไม่ได้เดินไปลำพังและเห็นว่าไม่ควรรอช้าเพราะมีศักยภาพมากพอที่จะทำเองได้

“ผมมองว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ตอบสนอง ชี้นำ และเตือนสติสังคม ถ้าเห็นว่าคลาวด์เป็นเทคโนโลยีอนาคต เราก็ต้องเป็นผู้เริ่มต้นและทำให้เห็นเป็นจริง จนผ่านมา 11 ปี คลาวด์กลายเป็นมาตรฐานทางเทคโนโลยีที่ต้องมีหรืออยู่ในชีวิตเราแล้วจริง ๆ”

ความดีของคลาวด์อยู่ที่ระบบมีความยืดหยุ่น สามารถขยายระบบออกไปได้แบบไร้รอยต่อ โดยสามารถเพิ่มฟังก์ชันจากระบบที่ใช้งานอยู่ทุกวันโดยไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะบางฟังก์ชันถูกฝังในระบบอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่าจะเปิดให้ใช้งานเมื่อไร ยิ่งมี Generative AI เข้ามา ก็จะยิ่งช่วยให้การทำงานแม่นยำขึ้น โดยเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถรองรับการทำงานของบุคลากรของมหาวิทยาลัยราว 11,000 คน โรงพยาบาลขอนแก่นประมาณ 5,000 คน รวมถึงโรงเรียนสาธิตฯ อาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนงานหลังบ้านอย่างทั่วถึง

“คลาวด์ และ Collaboration Tools จะเป็นแพลตฟอร์มหลัก ส่วนแอปพลิเคชันอื่น ๆ จะถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นไปเพื่อรองรับการเรียน งาน ชีวิตความเป็นอยู่รอบตัวนักศึกษา พนักงาน แพทย์ ครูอาจารย์ทั้งหมด”

ความสำเร็จในวันเปลี่ยนผ่าน

อาจารย์เด่นพงษ์ มองว่า ตัวแปรสำคัญที่ทำให้องค์กรเปลี่ยนผ่านสำเร็จหรือไม่นั้น มีอยู่ 4 เรื่อง เรื่องแรก คือ Digital Fear ต้องลดความกลัวการใช้เทคโนโลยี การถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือการถูกมองว่าไม่เก่ง ตามมาด้วย Individual Transformation การฝึกอบรมคนแต่ละคนให้เข้าใจและทำเป็นเรื่องเทคโนโลยี Technology Transformation ความพร้อม-ไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี และสุดท้าย Business Transformationการปรับเปลี่ยนโมเดลการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนและกระบวนการทำงานภายใน

“เมื่อ 11-12 ปีที่แล้ว เราต้องสู้กับความกลัวของคนเวลามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น การเปลี่ยนให้คนไม่กลัวต้องใช้เวลา ต้องใช้ความอดทน แต่ด้วยวิสัยทัศน์และความกล้าตัดสินใจของผู้บริหาร ทำให้ความกลัวการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลน้อยลง ยิ่งมีโควิดเหมือนเป็นภาคบังคับให้คนต้องเปลี่ยน พอเปลี่ยนแล้วยิ่งเห็นผลว่าช่วยได้จริง”  

ยูสเคสที่คลาสสิคมาก คือ การเปลี่ยนระบบการเงิน ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับหลักฐานเอกสารที่เป็นกระดาษ กับเกณฑ์การตรวจสอบโดย สตง. ซึ่งพอเราไปทำความเข้าใจก็พบว่า สตง. ต้องการแค่ตรวสอบการทำงานว่าถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ โดยไม่สนใจว่าต้องเป็นเครื่องมืออะไร เราก็แค่ไปแก้ระเบียบให้สามารถตรวจสอบผ่านระบบดิจิทัลได้ จนปัจจุบันนี้กลายเป็นว่า หน่วยงานที่เรียกร้องให้มีดิจิทัลมากที่สุด คือ กองคลัง 

หรือตัวอย่างงานของกองยุทธศาสตร์ที่ต้องจัดทำงบประมาณทุกปี ซึ่งแต่ละปีมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะมีโครงการของบประมาณพันกว่าโครงการในวงเงินประมาณเกือบสองหมื่นล้านบาท เมื่อก่อนต้องยื่นขอเป็นกระดาษซึ่งสร้างจากโปรแกรมเอ็กเซล พอย้ายขึ้นมาออนไลน์โดยใช้ Google Sheets ซึ่งมีการออกแบบเทมเพลตการเสนอโครงการ วัตถุประสงค์ แผนงาน งบประมาณ เป้าหมาย และสรุปผลในไฟล์เดียว ทำให้เกิดความสะดวกในการตรวจติดตามได้แต่แรกว่า โครงการนี้เกิดโดยวิธีไหน อีกทั้งข้อมูลโครงการทั้งหมดจะไหลมาที่ส่วนกลางเพื่อให้พิจารณาว่า มีโครงการเสนอซ้ำซ้อนหรือไม่ มีการของบประมาณเกินหรือไม่ หรือต้องมีการแนะนำแก้ไขอย่างไร   

เมื่อมองย้อนหลังไป 5 ปี 10 ปี อาจารย์เด่นพงษ์ กล่าวว่า ถือว่าได้ตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีและกำหนดทิศทางได้ถูก เช่น การแยกฐานข้อมูลยูสเซอร์ระหว่างนักศึกษากับบุคลากร เทคโนโลยีกูเกิลทำให้ได้และยังสามารถเชื่อมถึงกันเฉพาะสิ่งที่อยากให้เชื่อมได้ เป็นการจัดสรรเพื่อให้ได้อีโคซิสเท็มในมุมของประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เช่น การจัดการกับไอดีของผู้ที่จบการศึกษาไปแล้ว การดูแลในเชิงกฎหมาย ซึ่งได้รับคำแนะนำตั้งแต่แรกว่าในระยะยาวจะเป็นประโยชน์ซึ่งก็ใช่จริง ๆ 

“เรามอง Google Workspace เสมือนเป็นอีโคซิสเท็มด้านดิจิทัลอย่างหนึ่งที่ให้ได้ครบทั้งแนวคิดเชิงกลยุทธ์ การสนับสนุนเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการยืนยันตัวตนที่เสริมด้านความปลอดภัยไซเบอร์ อินฟราสตรัคเจอร์ การจัดเก็บข้อมูล ชุดเครื่องมือต่าง ๆ ที่ออกแบบมาสำหรับส่งเสริมด้านการศึกษาอย่าง Google for Education หรือ เครื่องมือสื่อสารที่ตอบโจทย์การทำงานร่วมกันในทุกกระบวนการ ทั้งการเรียน การใช้ชีวิตของนักศึกษา รวมทั้งบุคลากรได้บนแพลตฟอร์มเดียว ส่วนวันข้างหน้าก็คงเป็นการบูรณาการต่อเนื่องเรื่องเอไอ”

พร้อม (Prompt) สู่โลก Generative AI 

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คือ นวัตกรรมที่มาเติมเต็มเทคโนโลยี หรือเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ให้ คิดเป็นฉลาดทำ ยิ่งเมื่อถูกยกชั้นเป็น Generative AI ยิ่งทำให้บริบทการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการป้อนข้อมูลหรือคำถามเข้าสู่ระบบเอไอ (Prompting) เพื่อให้ได้รับคำตอบที่แม่นยำและถูกต้องให้มากที่สุดกลายเป็นหัวใจสำคัญ เพราะในมุมของนักวิจัย Generative AI เป็นทั้งภัยคุกคามและโอกาสในตัว เช่น การได้ผลงานวิจัยที่รวดเร็ว แต่ต้องคำนึงถึงการตั้งคำถามที่ถูกต้องเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องเช่นกัน  

นอกจากนี้ Generative AI ยังเป็นเครื่องมือที่จะถูกเติมเข้ามาใน Google Workspace เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกค้นคว้ามา สามารถนำมาจัดให้อยู่ในรูปแบบเอกสารด้วย Google Docs ได้ทันที รวมถึงการปรับแต่งข้อมูลให้ออกมาอยู่ในรูปของเอกสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ยังต้องเป็นการทำงานร่วมกับกูเกิลอีกสักระยะหนึ่งในการบูรณาการระบบ และฝึกอบรมนักศึกษา บุคลากรของมข. และโรงพยาบาลขอนแก่นให้เกิดการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อาจารย์เด่นพงษ์ กล่าวว่า การใช้เอไอในงานการแพทย์ที่เรียกว่า AI for Healthcare เป็นการสะสมฐานข้อมูลในการรักษาผู้ป่วยวิกฤติ ข้อมูลที่เกิดจากเครื่องมือวัดทั้งหลายในห้องไอซียู ประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการรักษา วิทยาศาสตร์ข้อมูลเกี่ยวกับดีเอ็นเอ หรือจีโนมของมนุษย์ (Genome) ซึ่งเป็นตัวแปรในการกำหนดวิธีดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น กินยาตัวนี้เกิดผลกระทบแบบไหน หรือแม้แต่ประวัติการรักษาและการสั่งการรักษาจากแพทย์ เพื่อนำเข้าสู่อัลกอริธึมของเอไอในการวิเคราะห์

“AI for Healthcare เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น MIT และ Harvard Medical School ในการสร้าง ดาต้าธอน (Datathon)”  เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน หรือสร้างนวัตกรรมการรักษา โดยใช้ข้อมูลของผู้ป่วยแบบไม่เปิดเผยชื่อส่งให้ทีมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักเทคโนโลยีได้ทำงานร่วมกัน เรียกว่าเป็นทีมแห่งความหวังในการออกแบบเครื่องมือหรือแนวทางรักษาผู้ป่วยในอนาคตที่เกิดจากข้อมูลโดยตรง”

ปรุงทักษะด้านดิจิทัล

การเดินหน้าพัฒนาคนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเน้นเรื่อง Digital Literacy หรือ การพัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยกตัวอย่างในมิติของนักศึกษา มีทั้งการจัดตั้งวิทยาลัยคอมพิวเตอร์ (College of Computing) ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 สำหรับการเรียนการสอนเทคโนโลยีเชิงลึกแบบ Deep Tech ขณะเดียวกันนักศึกษาทุกคนก็ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีพื้นฐานเป็นวิชาศึกษาทั่วไป เช่น ความเข้าใจเรื่องคลาวด์ การจัดการข้อมูล เอไอ เป้าหมาย คือ เพื่อให้เด็กมข. เมื่อจบออกไปสามารถตอบสังคมได้ว่ามีความรู้สามารถด้านดิจิทัลระดับหนึ่ง 

ส่วนตัวหลักสูตรซึ่งประกอบด้วย เนื้อหา วิธีการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน และวิธีการประเมินผล ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมไปตามพลวัตหรือแรงขับเคลื่อนที่เกิดขึ้น เช่น Generative AI ที่เพิ่งบูมมาได้ประมาณ 1 ปีจนถึงจุดที่เริ่มเกิดดิสรัปชันต้องถูกใส่ไว้ในทุกหลักสูตร แต่จะเร่งรัดการเรียนรู้เป็นพิเศษให้กับนักศึกษาปีที่ 4 ซึ่งกำลังใกล้จบก่อน หรือการพัฒนาเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ หรือ กลุ่มสารสนเทศให้กลายเป็น Prompt Librarian ในการช่วยนักศึกษาค้นคว้าข้อมูล และให้คำแนะนำวิธีการตั้ง Prompt กับ Generative AI เพื่อให้คำตอบที่ใช่และน่าเชื่อถือได้จริงจากเอไอ

“เราฝึกบรรณารักษ์ห้องสมุดซึ่งมีประมาณ 40 กว่าคนไปแล้ว 2 รอบ เพื่อให้ได้ Prompt Librarian อย่างน้อย 10 คน ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งตัวบรรณารักษ์ ผู้ใช้งาน รวมถึงนักศึกษา อาจารย์ แพทย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยขอนแก่นภาพรวมที่ผ่านมาค่อนข้างแฮปปี้ แม้จะช้าหรือเร็วแต่ทุกคนพร้อมเปลี่ยน พร้อมปรับปรุงการเรียนการสอน หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ขวางการเปลี่ยนแปลงจนเกินไป” 

ทิศทางม.ขอนแก่น สู่อนาคต

เทคโนโลยีเอไอที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ขณะนี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า การทำงานร่วมกับเอไอจะมีมากกว่าที่เห็น โดยเฉพาะงานการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็นของมหาวิทยาลัยเอง การให้บริการโดยการนำเครื่องไม้เครื่องมือจากภายนอกเข้ามาเสริม ตลอดจนการผลิตบุคลากรให้กับประเทศภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นเอไอมากขึ้น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นก็จะดูยุ่งเหยิงหน่อย ๆ ตรงที่เราต้องแยกแยะให้ได้ว่า คำตอบที่ได้จากคอมพิวเตอร์หรือเอไอนั้นถูกหรือผิด ตัวเทคโนโลยีเองก็ต้องถูกพัฒนาการเรียนรู้ให้ถูกมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็ต้องสร้างคนให้ใช้เป็นและรู้วิธีใช้เทคโนโลยีเพื่อไปสู่คำตอบที่น่าเชื่อถือได้มากขึ้น เช่น แดชบอร์ดยุคอนาคต ก็ควรจะตั้งคำถาม สามารถประมวลข้อมูลและได้รับคำตอบที่ถูกต้องแม่นยำในทันที เป็นต้น

“การบริหารการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลสำคัญที่ ข้อมูลจากนั้นต้องมีเครื่องมือ มีกระบวนการมาสนับสนุน มีการบูรณาการเทคโนโลยีอย่าง Workspace หรือ Generative AI เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านของมหาวิทยาลัยง่ายขึ้น ถึงตอนนั้นเราคงสามารถตัดความกังวลเรื่องของเทคโนโลยีออกไปได้มาก และหันมามุ่งพัฒนาคนให้เข้าใจและใช้เป็น ซึ่งจะทำให้พัฒนาระบบนิเวศด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สถาปัตยกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้เข้มแข็ง พร้อมรองรับยุทธศาสตร์ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” 

อาจารย์เด่นพงษ์ยังกล่าวถึง AppSheet ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนการปฏิวัติเทคโนโลยีเอไอในการสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถลดระยะเวลาในการพัฒนาลงเกือบครึ่ง แถมผู้พัฒนาไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการโค้ดดิ้งโปรแกรม (No Code App) ขอเพียงมีตรรกะในการทำงานที่ดี โดย มข. ได้เคยจัดกิจกรรม แฮกกาธอน” (Hackathon) และค้นพบศักยภาพของกลุ่มเจ้าหน้าที่ทำงานด้านโสตทัศนูปกรณ์ ซึ่งพัฒนาแอปพลิเคชันด้วย AppSheet ไว้ติดตามงานบำรุงรักษาอุปกรณ์ เช่น แจ้งซ่อมแล้วเรื่องส่งต่อไปที่ใคร ดำเนินการถึงไหน ใครเป็นผู้รับผิดชอบ สามารถรายงานผลสำเร็จของงานไปที่เอชอาร์ เป็นต้น  

“วันนั้นเราจัดแฮกกาธอนไป 20 กว่าคน แล้วคนที่ชนะคือคนแบบนี้ คนที่อยู่กับเนื้องานแล้วพัฒนาแอปฯ ที่ชนะทั้งคนไอทีและโปรแกรมเมอร์ ก็เป็นภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีจะเกิดและได้ผลลัพธ์ที่ดี มักเกิดมาจากผู้ที่ทำงานจริง”

ส่วนก้าวต่อไป คือ การทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” ให้ได้ในปี 2573 ซึ่งต้องมีเทคโนโลยีด้านการตรวจสอบ (Monitoring) และไอโอทีเข้ามาเสริมในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน การต่อยอดระบบความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยเชิงกายภาพ  เพื่อดูแลความเป็นอยู่ตั้งแต่นักศึกษาปีหนึ่งไปถึงปริญญาเอกและบุคลากรรวมราว 4-5 หมื่นคน บนพื้นที่ 5,500 ไร่ ตลอด 24 ชม. ซึ่งต้องมีเทคโนโลยี Identity ทึ่ติดตั้งบนคลาวด์ที่ใช้งานเฉพาะในมหาวิทยาลัยเพื่อแยกแยะว่าใครเป็นใคร รวมถึงกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) เช่น การไม่ยอมรับความเสียหายใด ๆ ที่เกิดกับชีวิต ความเสี่ยงที่เกิดบนดาดฟ้าอาคาร การติดตามพฤติกรรมของผู้เข้าศึกษาที่อาจเป็นโรคซึมเศร้าผ่านเครื่องมือสื่อสารดิจิทัลที่เรียกว่า มอแคร์ในการทำงานร่วมกันโดยเพื่อน อาจารย์ หรือ คนในมหาวิทยาลัยที่พบเห็นเพื่อป้องปรามและเฝ้าระวัง เป็นต้น

“มหาวิทยาลัยขอนแก่น เลือกมองเป้าหมายและวิธีการเป็นหลักนำ แล้วมีเทคโนโลยีเป็นตัวตาม เทคโนโลยีที่ทำก็ไม่ได้ล้ำมาก ไม่ได้ใหม่สุด เพราะมันตามมาซึ่งความแพง เราจึงเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่มาผ่านความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นนวัตกรรม รวมถึงมีความมุ่งมั่นเข้มแข็งเพื่อก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคไปด้วยกัน”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

The Connector ที่ชื่อ “โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ” ผู้สร้างความสำเร็จจากชีวิตแบบไหล ๆ

โลกของ ‘อเล็ก ชนกรณ์’ ศิลปะดิจิทัลของเด็กพิเศษกับ #ไม่ยอมแพ้

Amity Story ของ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” เริ่มจากเพาะเมล็ดพันธุ์ เติบโตสู่ไม้ใหญ่ในโลกดิจิทัล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ