TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเจาะธุรกิจคลาวด์ “AWS ประเทศไทย” กับ "วัตสัน ถิรภัทรพงศ์"

เจาะธุรกิจคลาวด์ “AWS ประเทศไทย” กับ “วัตสัน ถิรภัทรพงศ์”

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว จะมีสักกี่คนที่คาดคิดว่า Amazon ธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์เล็ก ๆ ในโรงรถของ เจฟฟ์ เบโซส จะสามารถสยายปีกธุรกิจสู่การเป็น The Everything Store ผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซ และเจ้าของตลาดซื้อขายออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งยังต่อยอดสู่การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มคลาวด์สาธารณะ Amazon Web Service (AWS) ในปี 2549 เพื่อนำพาวิถีการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ที่ส่งตรงถึงโลกทั้งใบ 

การนำธุรกิจ Amazon ฝ่าคลื่นลมการเปลี่ยนแปลงสู่การปรับเปลี่ยนในจังหวะเวลาที่เหมาะสม อาจมาจากการถูกกระตุกเตือนด้วยชุดความคิดแบบ Day 1 Mindset ที่คนอะเมซอน รวมถึง วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Amazon Web Services (AWS) ได้เล่าให้ The Story Thailand ฟังว่า คน Amazon ต้องเตือนตัวเองทุก ๆ วันให้นึกถึงวันแรกก่อตั้งบริษัทฯ การจดจำความรู้สึกนั้นไว้ก็เพื่อให้ตระหนักว่า อะเมซอนยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ ต้องปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะความสำเร็จในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จในอนาคต

“แนวคิดแบบ Day 1 ทำให้เจฟฟ์มักถูกตั้งคำถามถึงเรื่อง Day 2 เจฟฟ์อธิบายว่า Day 2 คือวันที่ You are not experimenting enough หมายถึงทุกคนรู้สึกสบาย ๆ แล้ว ไม่มีความท้าทายใด ๆ ในสิ่งที่ตัวเองประสบความสำเร็จ เมื่อใดที่ประสบการณ์เริ่มน้อยลง การทดสอบน้อยลง เริ่มจับสัญญาณความล้มเหลวไม่ได้ เมื่อนั้นคุณกำลังติดหล่มการเป็นองค์กรที่ค่อย ๆ รอวันหายไป”

ภูมิทัศน์ธุรกิจคล่องตัวด้วยคลาวด์

ด้วยสถานการณ์โควิดซึ่งสะท้อนให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนและรุนแรงต่อธุรกิจ แนวคิดการพัฒนาองค์กรแบบ Agile ให้มีความคล่องตัวสูง พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ การดำรงอยู่ของชีวิตวิถีใหม่ยุคหลังโควิดที่ทำให้สภาพแวดล้อมแบบไฮบริดเวิร์คเพลสในการทำงานผ่านออนไลน์ผสมกับการเข้าออฟฟิศเป็นครั้งคราวได้รับการยอมรับมากขึ้น รวมถึลักษณะประชากรที่เปลี่ยนไป จากการมีคน Gen Z Gen Alpha ซึ่งโหยหาการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในระบบการทำงานมากขึ้น 

วัตสัน กล่าวว่า ความคล่องตัว หรือ Agility เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และคลาวด์คือเทคโนโลยีที่มาตอบโจทย์ในจังหวะนี้พอดี ทั้งในแง่การปฏิบัติงาน หรือการรับมือความไม่แน่นอนของธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ ความคล่องตัวในการพัฒนานวัตกรรม หมดยุคแล้วที่องค์กรต้องลงทุนเทคโนโลยีไว้รองรับการสร้างนวัตกรรม หรือทดสอบไอเดียใหม่ ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนล่วงหน้าเพื่อรับมือวิกฤติใด ๆ อีกต่อไป เพราะคลาวด์ทำให้องค์กรสามารถทดสอบไอเดียเกิดใหม่ได้ทันทีด้วยต้นทุนที่ถูกลง เช่น ฝ่ายธุรกิจที่ต้องการเครื่องมือใหม่ ๆ มาส่งเสริมธุรกิจก็สามารถแจ้งฝ่ายไอทีให้พัฒนาออกมาเป็นประสบการณ์ที่ดีส่งถึงลูกค้าได้รวดเร็ว 

ความคล่องตัวในการบริหารระบบให้ตรงตามความต้องการ เช่น การพัฒนาระบบให้โตไปกับการขยายตัวของธุรกิจ รับมือไหวกับอุปสงค์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของผู้บริโภค หรือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เดิมอาจมียอดขายเติบโตจากการทำแคมเปญส่งเสริมการตลาด เช่น 7/7 หรือ 8/8 อาจทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมสูงเกินขีดความสามารถของระบบในวันขายปกติ และธุรกิจจำใจต้องลงทุนแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ซึ่งคลาวด์ช่วยได้ด้วยแนวคิด ใช้เมื่อไหร่ ค่อยจ่ายหรือใช้เท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น

อุปสรรคในการขับเคลื่อนคลาวด์ให้สำเร็จและล้มเหลวเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ ตัวผู้ใช้งานหากคุ้นเคยกับการระบบไอทีที่เป็นเลกาซี (Legacy) แบบเดิม ๆ ชนิดต้องมีดาต้าเซ็นเตอร์ ต้องมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ ก็จะเป็นการยากในการปรับเปลี่ยนชุดความคิด ตลอดจนปรับปรุงทักษะของบุคลากร อุปสรรคต่อมา คือ การเปลี่ยนจากระบบเก่าไปใหม่ทำให้ต้องทิ้งทรัพยากรบางอย่างที่ได้ลงทุนไปแล้ว หรือต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างเสียใหม่ หลายครั้งที่ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันถูกยกขึ้นไปแบบไม่ได้มีการปรับแต่งให้ทันสมัยและเหมาะกับการทำงานแบบคลาวด์เบส  เช่น การสร้างให้เป็นเวอร์ช่วลแมชชีนซึ่งเอดับบลิวเอสเรียกว่า อินสแตนต์ (Instant) เพื่อรันการทำงาน แล้วปล่อยให้มืออาชีพมาดูแลเรื่องฮาร์ดแวร์ เป็นต้น ทำให้องค์กรได้ประโยชน์จากการใช้งานคลาวด์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

“ความล้มเหลวชนิดสมบูรณ์แบบ คือ การหลงเข้าใจว่า คลาวด์หมายถึงการนำเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นไปอยู่บนก้อนเมฆ องค์กรที่มีความคิดแบบนี้มักไม่ได้ประโยชน์จากการใช้งานคลาวด์สักเท่าไหร่ ซึ่งแตกต่างกับองค์กรรุ่นใหม่ที่โตมากับคลาวด์ ไม่รู้จักว่าดาต้าเซ็นเตอร์คืออะไร คนกลุ่มนี้พร้อมเปิดรับได้ง่ายกับการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบไร้เซิร์ฟเวอร์ (Serverless) การพัฒนาแอปพลิเคชันแบบไมโครเซอร์วิสให้เหมาะกับการใช้งานบางเหตุการณ์ (Event-Based Application) การต่อยอดการใช้คลาวด์กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เจเนอเรทีฟ เอไอ มาปรับปรุงการดำเนินงานให้ทันสมัยและฉับไวมากขึ้น”

เอดับบลิวเอสเชื่อว่า ถึงจุด ๆ หนึ่ง จะไม่มีใครนึกอยากบริหารดาต้าเซ็นเตอร์แล้ว เหมือนที่ทุกวันนี้ไม่มีใครตั้งเครื่องปั่นไฟไว้ในบ้าน ทุกคนเลือกที่จะเสียบปลั๊กรับบริการจากการไฟฟ้าฯ คลาวด์ก็เช่นกัน เมื่อธุรกิจสามารถสเกลตัวเองไปได้ระดับหนึ่ง ก็ดูไม่เข้าท่าเท่าไรหากต้องมีดาต้าเซ็นเตอร์ไว้เองในออฟฟิศ เพราะคลาวด์อำนวยให้ได้ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและการดูแล มีขีดความสามารถด้านความปลอดภัยที่สูงกว่า เพิ่มทั้งโอกาสในการสร้างนวัตกรรม และการขยายธุรกิจสู่ระดับอินเตอร์

“ประโยชน์ของคลาวด์หลัก ๆ คือ การจัดการต้นทุน ยกตัวอย่าง Airbnb ธุรกิจจองห้องพักซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่ 2-3 ปี หากไม่ไปคลาวด์ก็ต้องแบกต้นทุนการจัดการดาต้าเซ็นเตอร์แบบเก่าขณะที่ยังไม่มีใครมาใช้บริการ อีกเรื่องก็คือ นวัตกรรม เราต้องมีของอยู่ในมือเพื่อไปแข่งขันกับโลกที่มีความท้าทายมากขึ้น”

แม้วันนี้หลายองค์กรเลือกการใช้งานคลาวด์แบบไฮบริด ซึ่งผสมผสานระหว่างคลาวด์แบบออนเพรมและคลาวด์สาธารณะ แต่ในความเป็นคลาวด์สาธารณะซึ่งมีทางเลือกหลากหลาย เช่น IaaS SaaS PaaS สุดแต่ว่าจะเลือกเดินหน้าไปกับอินฟราสตรัคเจอร์ ซอฟต์แวร์ หรือแพลตฟอร์มก่อนโดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในคราวเดียว แต่ในระยะยาวการใช้งานคลาวด์สาธารณะทั้งหมดจะเป็นผลดีกับธุรกิจมากกว่า ซึ่งเอดับบลิวเอสคาดว่า เกือบร้อยเปอร์เซนต์จะมุ่งสู่คลาวด์สาธารณะที่จะกลายเป็นมาตรฐานขององค์กรทั้งหมดในโลก 

AWS ก้อนเมฆไอทีที่ทุกคนเอื้อมถึง

พันธกิจของ AWS ประเทศไทย คือ “การทำให้องค์กรสามารถเข้าถึงบริการและเทคโนโลยีของคลาวด์ได้โดยไม่มีอุปสรรคเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรคนไทย ด้วยการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีไอทีให้ง่าย ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ (IT Democratization) ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ก็สามารถเข้าถึงบริการได้เช่นเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่อย่างการบินไทย หรือ ปตท. เพราะลำพังระบบที่มีแค่เฉพาะองค์กรขนาดใหญ่เข้าถึง ไม่ได้มีพลังพอที่ทำให้โลกนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 

“ลองนึกดูว่า AWS ก่อตั้งเมื่อปี 2549 ก็เกือบ 16-17 ปีแล้ว แต่เรายังเดินทางมาไม่ถึง 10% ของการขับเคลื่อนไปคลาวด์ อย่างไรก็ตาม เรามองเห็นการเติบโตแบบยกกำลัง (Exponential Curve) เพื่อเติมเต็มอีก 90% ที่เหลือ ซึ่งคงไม่ใช่ 16×10 อย่างที่ผ่านมา มันน่าจะเร็วขึ้น อย่างรูปแบบการขายซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันที่เปลี่ยนจากไลเซนส์ (License) มาเป็นการซื้อขายแบบ SaaS ที่กลายเป็นคลาวด์ไปโดยปริยาย หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลงซอฟต์แวร์อย่าง Generative AI ในเซิร์ฟเวอร์ขององค์กรเพื่อรันการทำงาน เพราะต้องใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้น ทิศทางของซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มันตอบตัวเองอยู่แล้วว่าต้องไปคลาวด์”

การลงทุนธุรกิจระดับ Region เช่น AWS ประเทศไทย ด้วยมูลค่าที่สูงถึงห้าพันล้านเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา จึงเป็นทิศทางที่ล้อไปกับตลาดโลก เพื่อตอบโจทย์ 5 หน่วยธุรกิจสำคัญ ได้แก่ องค์กรขนาดใหญ่ระดับเอ็นเตอร์ไพรส์ องค์กรขนาดกลางและเอสเอ็มบี กลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพ กลุ่มธุรกิจรับพัฒนาซอฟต์แวร์ (ISV) และกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ที่อยู่กับคลาวด์มาตั้งแต่เริ่มต้น ผ่านการบริการที่มีให้เลือก 3 รูปแบบ ได้แก่ อินฟราสตรัคเจอร์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานจริง ๆ อินฟราสตรัคเจอร์ในรูปแบบแพลตฟอร์ม เทมเพลต หรือเครื่องมือให้เลือกใช้ และแอปพลิเคชันพร้อมใช้งานได้ทันที

ทั้งนี้ กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่หรือเอสเอ็มบีที่ยังอยู่กับระบบไอทีเดิม ๆ คาดว่าจะมีสัก 10-15% ขณะที่ 3 กลุ่มหลังที่โตมากับคลาวด์ คาดว่าจะมีการใช้งานเกิน 50-60% เช่น กลุ่มบริษัทซอฟต์แวร์ (ISV-independent software vendors) ที่มีทิศทางเติบโตเร็วขึ้นเพราะการพัฒนาที่อิงกับบริษัทซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันซึ่งเมื่อขึ้นคลาวด์ไปแล้วสามารถบริหารจัดการเรื่องไลเซนส์ได้ดีกว่า หรือสตาร์ตอัพที่เกือบ 100% ออนคลาวด์มาตั้งแต่เกิด ส่วนตลาดภาครัฐได้แยกการให้บริการออกไปดูแลต่างหากขึ้นตรงกับ Region ที่สิงคโปร์ เพื่อไม่ให้เกิดการปะปนข้อมูลกับเอกชน รวมถึงป้องกันผลกระทบที่มีต่อความมั่นคง 

ความพยายามรักษาสมดุลใน 5 ธุรกิจเป้าหมาย จากเมื่อก่อนเลือกโฟกัสที่ 3 กลุ่มหลังเพียงเพราะขายง่ายแต่ก็เสี่ยงสูงที่ธุรกิจเมื่อโตไปถึงจุดหนึ่งก็อาจสะดุดกับขนาดของตลาดที่อาจไม่ใหญ่พอในการลงทุน ขณะเดียวกัน ถ้าไม่จับตลาด 2 กลุ่มแรกไว้ก็จะพลาดโอกาสไปเยอะมาก โดยทั้ง 5 ธุรกิจถูกบริหารจัดการในสไตล์ ยืดได้หดได้ (Resilience) เพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น ถ้าตลาดคริปโทฯ แย่ไปในช่วง 2 ปี ก็ยังมีเอ็นเตอร์ไทรส์และเอสเอ็มบีมาคอยพยุงธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม องค์กรระดับเอ็นเตอร์ไพรส์ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้จับจ่ายรายใหญ่ของระบบไอทีแบบเดิม ก็ใช่ว่าจะโยกย้ายขึ้นคลาวด์ได้โดยง่าย หลายครั้งที่ต้องงัดทุกกลยุทธ์และเทคนิคในการเข้าหาตลาด บางแห่งถึงขนาดต้องจับเข่าคุยกันลึกถึงระดับโครงสร้างองค์กรและการว่าจ้างบุคลากร โชคดีที่เริ่มต้นก่อนคนอื่นหลายปี ทำให้มีคัมภีร์ที่นำมาปรับใช้ได้ เช่น โครงสร้างองค์กรที่ต้องมี CCOE – Cloud Center of Excellence เพื่อความเป็นเลิศด้านคลาวด์ โครงสร้างทีมที่เดิมแบ่งเป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ซีเคียวริตี้ มันเริ่มไม่ใช่ ต้องแบ่งเป็น ดีเวลลอปเปอร์ โอเปอเรชัน และซีเคียวริตี้ หรือ การปูแนวคิดใหม่ของการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือบริการต่าง ๆ ผ่าน DevOps หรือ DevSecOps เป็นต้น

กล้านำทำต่าง สร้างความยั่งยืน

การเดินหน้าเป็นจ่าฝูงในธุรกิจการให้บริการคลาวด์สาธารณะของ AWS ขึ้นอยู่กับปรัชญาความเชื่อ 3 ประการ ได้แก่ Customer Obsess หมายถึง 90% ของบริการที่พัฒนาเกิดจากการฟังเสียงลูกค้าเป็นสำคัญ ขณะที่อีก 10% เป็นสิ่งที่มองเห็นทิศทางแล้วพัฒนาขึ้นมา ซึ่งต่างจากองค์กรอื่นที่มักพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเสียก่อนแล้วจึงนำไปขายลูกค้า Pioneer Builder เน้นการสร้างเองมากกว่าซื้อไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมหรือบริการคลาวด์ต่าง ๆ  และการสร้างธุรกิจในแบบ Very Long Term Business เพื่อยืนระยะยาวให้ได้ ซึ่งปรัชญาทั้งสามเป็นเสมือนกฎเหล็กที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาบริการหรือนวัตกรรมต่าง ๆ 

“การลงทุนในไทยด้วยเม็ดเงินที่สูงระดับ 5 พันล้านเหรียญ หากขาดทั้งแนวคิดและความเชื่อมั่นเรื่องคลาวด์ คนคงมองว่า ไม่เพี้ยนก็บ้า เพราะไม่น่าจะมีบริษัทไอทีไหนกล้าลงทุนมากขนาดนี้ ยิ่งถ้าเป็นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว นักลงทุนคงยิงคำถามรัว ๆ ถึงผลตอบแทนการลงทุนว่าจะคืนกลับได้ในกี่ปี ซึ่งด้วยตัวเลขคืนทุนใน 15 ปี คงยากที่ผู้ถือหุ้นจะให้การรับรอง เพราะเป็นธุรกิจที่ใหม่มาก ลงทุนสูงมาก แต่เรากล้าเสี่ยงเพราะเชื่อมั่นว่า คลาวด์จะตอบโจทย์ลูกค้าระยะยาว ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่า มันเปลี่ยนโลกได้จริงจากการที่เรายึดถือใน 3 สิ่งนี้มาโดยตลอด”

ถึงกระนั้นก็ตาม การตัดสินใจลงทุนระดับเมกะโปรเจกต์ในแต่ละประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลากระบวนการศึกษาหลายปี และมีตัวแปรหลายตัวประกอบการพิจารณา ได้แก่ หนึ่ง ความพร้อมของประเทศในการเปิดรับคลาวด์ ตลอดจนทิศทางการเติบโตในการใช้งานทั้งจากภาครัฐและเอกชน สองระบบของรัฐในแต่ละประเทศให้การสนับสนุนที่ดีและมากพอหรือไม่ เช่น เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน หากไม่ดีพอก็จะเสียโอกาสให้กับประเทศคู่แข่งอื่นที่ให้สิทธิประโยชน์มากกว่า สาม ความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ต้องใช้พลังงานสูง และสุดท้าย ทักษะของบุคลากรในประเทศ ทั้งผู้ใช้งานและผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการศูนย์

“เป็นการลงทุนแบบ One Way Door ชนิดเดินหน้าไม่มีถอยหลังเพราะเราไม่ได้มาเล่น ๆ เราเดิมพันด้วยต้นทุนที่สูง ต่างกับบางโปรเจกต์ของอะเมซอนที่เป็นลักษณะ Two Way Door ซึ่งมีช่องให้ถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ได้”

ปัจจุบัน การลงทุนในระดับ Region เกิดขึ้นแล้วในสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ส่วนไทยคือประเทศที่ 3 ของอาเซียน ด้วยขนาดการลงทุนระบบบริการหลักภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ส่วนตัวเลขการเติบโตจะช้าหรือเร็ววัดจากอุปสงค์ที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น ๆ เช่น สิงคโปร์ซึ่งให้บริการกลุ่มประเทศอาเซียนมาเกือบ 10 ปี ก็จะโตเร็วมาก ส่วนเหตุผลในการขยายฐานมายังประเทศไทย เพราะสิงคโปร์เริ่มถึงจุดอิ่มตัวในแง่ของทรัพยากร เช่น พลังงาน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของไทย 

อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่น โดยเฉพาะมิติความปลอดภัยข้อมูล เพราะถึงแม้ไทยจะยังไม่มีข้อบังคับจากหน่วยงานกำกับดูแลว่า ข้อมูลต้องอยู่ในประเทศเท่านั้นเช่นที่อินโดนีเซียและเวียดนาม แต่การมีดาต้าเซ็นเตอร์ตั้งอยู่ที่นี่ อย่างน้อยลูกค้าก็อุ่นใจ ทั้งยังเป็นการตอบโจทย์แอปพลิเคชันเกิดใหม่ เช่น เออาร์ วีอาร์ ซึ่งต้องการค่า Latency ที่ต่ำ รวมถึงเป็นโอกาสที่ซอฟต์แวร์อื่น ๆ ซึ่งรันบนมาร์เก็ตเพลสของเอดับบลิวเอสจะทะยอยตามมา ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินที่จะเข้ามาในประเทศอีกมาก

เพราะการเริ่มต้นก่อนทำให้เอดับบลิวแตกต่างและเดินนำคู่แข่งไปหลายก้าวด้วยอาวุธที่แข็งแกร่งอย่างการสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่ดีและเร็วกว่าคนอื่น ทุก ๆ ปี AWS จึงมีการพัฒนาบริการใหม่ ๆ ออกมามากมาย รวมถึง ระบบความปลอดภัย ที่ยกให้เป็น Job Zero นั่นหมายถึง ก่อนทำอะไรต้องมั่นใจว่าจะมีระบบความปลอดภัยที่ดีพอมารองรับ เช่น เทคโนโลยีการเข้ารหัส (Encryption) เพื่อความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ตลอดจนมี พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ทั้งในกลุ่มที่เป็นเอสไอ ไอเอสวี ที่พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อไปทำงานบนแพลตฟอร์มของเอดับบลิวเอส 

เช่น ปี 2565 ที่ผ่านมา AWS มีบริการเกิดใหม่ออกมาถึง 3,332 รายการ มีเครื่องมืออีกนับร้อยให้ลูกค้าเลือก เป็นแนวโน้มที่พอเห็นเค้าลางการเติบโตแบบยกกำลังในอนาคต พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจในกลุ่มไอเอสวีที่มีอยู่ถึงสี่พันกว่าราย ซึ่งนับว่ามีมากสุดในบรรดาผู้ให้บริการคลาวด์ และมีความความหลากหลายในการให้บริการ เช่น Databricks Snowflake ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ในการให้บริการข้อมูล บริการอีอาร์พี เช่น เอสเอพี (SAP) ออราเคิล (Oracle) หรือ อินฟอร์ (Infor) หรือการเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่ผ่านเซอร์ทิฟายด์เรื่องทูลต่าง ๆ มากที่สุดในอุตสาหกรรม เป็นต้น

“เรายังมีกลุ่มพาร์ทเนอร์ที่เรียกว่า AWS Partner Network ในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่สูงกว่าคนอื่น พอมีกลุ่มพาร์ทเนอร์ทำมาก ลูกค้าใช้เยอะ ก็จะได้ฟีดแบ็คกลับมาเยอะเช่นกันว่า สิ่งที่ทำดีหรือไม่ดีเพื่อที่จะนำมาพัฒนาปรับปรุงต่อไป เป็นการสั่งสมประสบการณ์ที่ไม่มีทางลัดให้เดิน ซึ่งสร้างความเป็นเราที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างชัดเจนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา”

เข้าถึงไอทีอย่างเท่าเทียม

การพัฒนาเทคโนโลยีหรือบริการคลาวด์เพื่อตอบโจทย์ ความคล่องตัวประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุนการตลาดและการเสริมสร้างนวัตกรรมเป็นประโยชน์ที่องค์กรธุรกิจจะได้รับ แต่ AWS ยังฝันต่อและฝันไกลถึงพันธกิจในการนำคลาวด์ไปถึงมือ ผู้คนอันหมายถึงประชาชนจริง ๆ ใน 3 ด้าน ได้แก่

Financial Inclusion การสร้างบริการที่เข้าถึงได้ด้านการเงิน เช่น การส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ขนาดกลางในการให้บริการกู้ยืมเงินสำหรับประชาชนที่มีความพร้อมแต่เข้าไม่ถึงระบบกู้ยืมของธนาคารปกติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มียอดเงินกู้รวมสูงถึง 2 ล้านล้านบาทจาก 15 ล้านล้านบาทของทั้งตลาด โดยยอดที่เหลือ 13 ล้านล้านบาท เป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงระบบเงินกู้ของธนาคาร และอีก 1 ล้านล้านบาทเป็นการกู้นอกระบบ ตัวอย่างเช่น เงินเทอร์โบ มันนิกซ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดมากับคลาวด์และนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายเรื่อง เช่น ระบบการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อหรือเครดิตต่าง ๆ ซึ่งง่ายและถูกกว่าการลงทุนระบบธนาคารขึ้นมาสักระบบ 

Healthcare Inclusion การใช้คลาวด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุขและการรักษาทางไกล (Telemedicine) โดยบุคลากรทางการแพทย์

Education Inclusion การสร้างแอปพลิเคชันบนคลาวด์ที่ตอบโจทย์การเรียนการสอนออนไลน์ในลักษณะกึ่งติวเตอร์ เช่น โอเพ่นดูเรียน (OpenDurian) การนำแอปพลิเคชันวอนเดอร์ โก (Vonder Go) ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการสอบแบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบได้ดีกว่าระบบการสอนออนไลน์แบบเดิม 

แม้จะยืนหยัดถึงสัจธรรมของการเข้าถึงไอทีอย่างเท่าเทียม แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การเอาไปเปิดให้เป็นสาธารณะเสียทั้งหมดซึ่งต่างจากโอเพ่น เอไอ เช่น กรณีของเจเนอเรทีฟ เอไอ ที่เอดับบลิวเอสเลือกจุดยืนที่ไม่เหมือนใคร ด้วยการประกาศเรื่อง Bedrock and Titan Foundation Model โดยยึดหลักลดเสี่ยงในการให้ข้อมูลที่ใช้สอนเอไอยังคงไหลเวียนอยู่ในองค์กร รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล 

เตือนใจคนใช้คลาวด์

เวลานึกถึงคลาวด์ คนมักคิดถึงการลดต้นทุน แต่ที่จริง ๆ แล้วการลดต้นทุนอาจสำคัญน้อยกว่าการที่ฝั่งไอทีสามารถพัฒนานวัตกรรมให้ตอบสนองฝั่งธุรกิจได้เร็วพอ ตัวอย่างยูสเคส เช่น อาร์มิตี้ (Amity) ลูกค้าที่สามารถขยายสเกลจากธุรกิจในไทยไปต่างประเทศโดยอาศัยคลาวด์ เอดับบลิวเอส มาร์เก็ตเพลส เพื่อให้ลูกค้าที่อยู่ในอเมริกาหรือยุโรปสามารถมาหยิบไปใช้งานได้ หรือ ซีพีเอฟซึ่งพัฒนาแอปพลิเคชันที่เอาคลาวด์ไปตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจ ต่อยอดด้วยเอไอในการช่วยเจ้าของฟาร์มแบบเอนด์ทูเอนด์ในการวินิจฉัยการตายของหมูในฟาร์มโดยสัตวแพทย์ผ่านระบบทางไกล  

วัตสัน สรุปว่า การไปคลาวด์ให้เห็นผล ต้องรู้ก่อนว่า คุณมาคลาวด์ทำไม เอาความสำเร็จข้อไหนมาเป็นตัวชี้วัด เช่น ต้องการเอาไปช่วยลดต้นทุน สร้างนวัตกรรม พอเคลียร์เป้าหมายชัด ก็ต้องจัดกระบวนการทำงานใหม่ เช่น การจัดงบประมาณการเงินและบัญชีจากการคิดค่าเสื่อมราคามาเป็นการจ่ายตามจริง หรือ การรับสมัครบุคลากรที่ไปในทางแสวงหานักพัฒนา (Developer) แทนการหาพนักงานไอทีเพื่อซ่อมบำรุงฮาร์ดแวร์ รวมถึงการเลือกผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่กว้างขวางและชัดเจน

“เพราะในโลกของคลาวด์ แค่คน ๆ เดียวไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด” 

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Amity Story ของ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” เริ่มจากเพาะเมล็ดพันธุ์ เติบโตสู่ไม้ใหญ่ในโลกดิจิทัล

11 ปีบนเส้นทางเปลี่ยนผ่าน ม.ขอนแก่น สู่ Cloud-Based University

‘วทันยา อมตานนท์’ พลิกเทคโนโลยีสู่บริการ “เต่าบิน” เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ