TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview'มงคล ตั้งศิริวิช' นำชไนเดอร์สานต่อพันธกิจจัดการพลังงานบนความยั่งยืน

‘มงคล ตั้งศิริวิช’ นำชไนเดอร์สานต่อพันธกิจจัดการพลังงานบนความยั่งยืน

หากเอ่ยชื่อ มงคล ตั้งศิริวิช ประธานบริหารคนใหม่ของกลุ่มคลัสเตอร์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ซึ่งดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา เขาไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่คือบุคลากรที่ทำงานกับชไนเดอร์ อิเล็คทริคมาเกือบครึ่งอายุองค์กร   

จากนักศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลังและสื่อสาร ม.เกษตรศาสตร์ ที่รักการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์มากกว่าการคำนวณระบบไฟฟ้า เมื่อต้องเริ่มต้นทำงานที่ชไนเดอร์ในตำแหน่งวิศวกรขายที่มีหน้าที่ออกแบบระบบไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากำลังแรงดันสูง ก่อนขยับขยายความรับผิดชอบไปเป็นงานติดตั้งระบบให้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และอีกหลายโครงการของชไนเดอร์ ทำให้ต้องทำงานเกี่ยวข้องเกือบทุกหน่วยงาน ตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี การติดตั้งและนำไปใช้ บริการหลังการขาย และลูกค้า จนเข้าใจถึงเพนพอยต์ของลูกค้าทั้งจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของชไนเดอร์ และจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีในตลาด

“ผมเข้ามาทำงานกับชไนเดอร์ ตั้งแต่ 8 กันยายน 2546 จนถึงตอนนี้ที่องค์กรมีอายุครบรอบ 43 ปี ซึ่งตลอด 20 ปี ได้เห็นว่าองค์กรมีการเปลี่ยนผ่านตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีพลวัตในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ให้แรงบันดาลใจ และกระตุ้นเตือนเราให้เรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลา”

20 ปีที่ท้าทาย

เส้นทางการเปลี่ยนผ่านองค์กรจากการดำเนินธุรกิจระบบไฟฟ้าและการจัดการอุตสาหกรรม ซึ่งกว่าจะเดินหน้ามาถึงการเป็น “บริษัทผู้นำการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการพลังงาน ระบบออโตเมชัน เพื่อบรรลุประสิทธิภาพสูงสุดและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ“ ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่มงคลบอกกับ The Story Thailand ว่า “ต้องใช้พลังเยอะ”

ในยุคแรกที่ได้ร่วมงานเป็นช่วงเวลาที่ชไนเดอร์ให้ความสำคัญกับตัวสินค้า การติดตั้ง และบริการให้คำปรึกษาและออกแบบระบบเป็นหลัก เน้นการทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่าย และโรงงานประกอบอุปกรณ์ เช่น ตู้ไฟฟ้า หรือโรงงานผลิตเครื่องจักร ส่วนลูกค้ามีทั้งผู้ใช้ไฟขนาดใหญ่ กลาง และเล็กในตลาดเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาคารและที่พักอาศัย กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มอินฟราสตรัคเจอร์ 

ทว่าตอนนั้นชไนเดอร์ทั่วโลกมีแบรนด์ในมือรวมกันเป็นหลายร้อยแบรนด์ แต่ไม่ได้รู้จักในชื่อแบรนด์ชไนเดอร์โดยตรง อย่างตู้โหลดไฟฟ้าสแควร์ดี (Square D) จะมีชื่อเสียงมากทางตลาดอเมริกาเหนือ ตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมก็จะเป็นแบรนด์เทเลแมคานิค (Telemecanique) ซึ่งเกี่ยวกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ หรือระบบส่งสัญญาณที่ใช้ในสายการผลิต ส่วนตลาดด้านอินฟราสตรัคเจอร์เป็นการขายระบบจ่ายไฟขนาดใหญ่ในชื่อแบรนด์เมอแรงเจอแรง (Merlin Gerin) จึงเกิดแนวคิดปรับย้ายแบรนด์ต่าง ๆ ไปอยู่ภายใต้แบรนด์ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เพื่อมุ่งสู่การเป็น วัน ชไนเดอร์ (One Schneider) ในระหว่างปี 2548-2551 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ

“กลุ่มอาคารและที่พักอาศัย เป็นตลาดที่เราแข็งแกร่งมากโดยเฉพาะเรื่องตู้โหลดเซ็นเตอร์สแควร์ดี ส่วนอินฟราสตรัคเจอร์ถือว่าแข็งแรงพอตัวในการครอบคลุมเครือข่ายระบบไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงผลิตไฟฟ้า โรงส่งไฟฟ้า และระบบจัดจำหน่ายไฟฟ้า เรียกว่าอยู่ในระดับท็อป 3 ของทั้งสามตลาดเป้าหมาย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 20 กว่าปีที่แล้วที่ทุกอย่างยังเป็นเทคโนโลยีแบบปิด ต่างคนต่างมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง แม้การพัฒนาระบบควบคุมก็มีไว้เพื่อกำกับอุปกรณ์หรือระบบของตัวเองซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ไฟรายใหญ่เนื่องจากมองเห็นว่า ระบบปิดที่เป็น proprietary ดูน่าเชื่อถือกว่า ทำงานได้ดีกว่า เห็นผลดีกว่า แต่ชไนเดอร์เลือกที่จะฉีกกฎเกณฑ์นี้ตั้งแต่ปี 2553 ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดว่า ระบบที่ดีต้องเป็นระบบเปิด (Open System) และพยายามนำเสนอแนวทางการใช้เป็นระบบเปิด ซึ่งคอนเน็คกับดีไวซ์ต่าง ๆ ภายใต้โปรโตคอลของTCP/IP เป็นระบบเปิดของอินเทอร์เน็ต

“ผมมองว่า แนวคิดเรื่องระบบเปิดนับเป็นยุคที่สองของการเปลี่ยนผ่าน เพราะอยากให้อุปกรณ์ของเราสามารถไปเชื่อมต่อกับอะไรก็ได้ ซึ่งจะเห็นว่า ในปัจจุบันทุกคนก็ไปทางนี้กันหมดแล้ว ขณะเดียวกัน ตอนที่เปิดตัวแนวคิดนี้ เราก็ไปซื้อกิจการบริษัทอย่าง APC (American Power Conversion) ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องระบบสำรองไฟหรือยูพีเอส รวมถึงระบบประหยัดพลังงาน (Secure Power) ที่เป็นหัวใจสำคัญของดาต้าเซ็นเตอร์ และกลายเป็นตลาดเป้าหมายกลุ่มที่ 4 ที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า ชไนเดอร์เริ่มเดินมาในทิศทางที่ถูกต้องนี้ก่อนใคร และในจังหวะที่ระบบพลังงานในดาต้าเซ็นเตอร์ยังไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก”

และด้วยแนวความคิดเรื่องระบบเปิดนี่เองได้นำชไนเดอร์ไปสู่การสร้าง Synergy ในการประสานการทำงานเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ และนำเสนอเป็นโซลูชันที่ครบจบในหนึ่งเดียว (One Solution) ให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เกิดการพัฒนา อีโคสตรัคเจอร์ (EcoStruxure™) ให้เป็นแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงอุปกรณ์และระบบงานต่าง ๆ และข้อมูลขึ้นสู่ระบบดิจิทัล โดยมีเทคโนโลยีชูโรง คือ  IIoT รวมถึงบูรณาการการทำงานของเทคโนโลยี ITและเทคโนโลยีการปฏิบัติการ หรือ OT เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมกระบวนการดำเนินการและพลังงานอย่างเป็นอัตโนมัติ สามารถลดค่าใช้จ่าย และนำไปสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการดึงข้อมูลในระบบควบคุมขึ้นสู่อีโคสตรัคเจอร์เพื่อการบริหารจัดการ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างประสิทธิผลที่ดีกว่า ตลอดจนเชื่อมการทำงานกับระบบไอทีขององค์กร ซึ่งเป็นการปูรากฐานของชไนเดอร์สู่ยุคที่สามในฐานะ Digital Transformation and Sustainability Partner ที่ช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ออโตเมชั่น และความยั่งยืนสูงสุดในปัจจุบัน

“จากยุคแรกที่ทำอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นชิ้น ๆ มาถึงยุคสองที่เริ่มนำไอโอทีรวมถึงอีโคสตรัคเตอร์เข้ามา ต่อเนื่องถึงยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและความยั่งยืนล้วนตั้งอยู่บนหลักการที่ทุกอุปกรณ์ของชไนเดอร์ร่วมกับทุกแบรนด์ในตลาดต้องสามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้ (Connected Products) ตามแนวคิดของความเป็นระบบเปิด สามารถตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ทุกตัว รวมถึงเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (Edge Control) ที่นำไปสู่การวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มต่าง ๆ (Apps, Analytics and Services) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ”

Trusted Advisor ด้านดิจิทัลและความยั่งยืน

แน่นอนว่า ชไนเดอร์วางพันธกิจอย่างชัดเจนในการเป็น Trusted Advisor ให้กับลูกค้า การเพิ่มพูนเรื่องราวความสำเร็จที่เราทำให้กับลูกค้าให้มากขึ้น สร้างและสานต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั้งกับลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้าผู้ใช้ไฟในระดับกลางและเล็ก ความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจของเราในหลายแคมเปญสู่ระดับภูมิภาคเพื่อสร้างการรับรู้ด้านเทคโนโลยี  ทั้งหมดถือเป็นอีโคซิสเท็มที่สำคัญเพราะเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความยั่งยืนนับเป็นเป้าหมายระยะยาว ซึ่งแค่การทำธุรกิจกับลูกค้า ซัพพลายเออร์แล้วทุกอย่างจะสำเร็จ แต่ยังต้องมีแผนที่นำทาง มีการวางแผนนำร่องเพื่อเปลี่ยนผ่านในฝั่งของลูกค้า เริ่มต้นจากกำหนดจุดที่เป็นเพนพอยต์ใหญ่ ๆ แล้วนำเทคโนโลยีไปพิสูจน์ว่าแก้ได้หรือไม่ และคอยให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปตลอดเส้นทาง ซึ่งเมื่อขยายภาพให้ใหญ่ในระดับประเทศซึ่งมีเป้าหมายเรื่อง Net Zero จะเห็นว่ามีอะไรต้องทำเยอะมาก และเราต้องการไปเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อช่วยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และทีมงานของชไนเดอร์ 

การแตกหน่อบริการทางธุรกิจออกเป็น 3 แกนหลัก ได้แก่ Strategized การวางกลยุทธ์ความยั่งยืนเพื่อการวางแผนและจัดการอย่างเหมาะสมที่ เช่น การใช้พลังงานเป็นเท่าไหร่ มีการปล่อยคาร์บอนตรงไหนบ้าง ต้องจัดการแก้ไขอย่างไร Digitized นำแผนกลยุทธ์และข้อมูลขึ้นสู่แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่มองเห็นและตรวจสอบได้ รวมถึงนำไปวิเคราะห์จัดการกับปัญหา และเลือกวิธีจัดการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ และ Decarbonized ออกเป็นแผนปฏิบัติการที่จะทำให้เกิดการการลดคาร์บอน ให้การสนับสนุนตั้งแต่การวางกลยุทธ์ ให้คำปรึกษาและส่งต่อข้อมูลทางเทคโนโลยี โดยมีกรณีศึกษาจากลูกค้าที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเมื่อลูกค้าเลือกเทคโนโลยีที่ถูกต้อง สุดท้ายจะสามารถขยายผลได้ ดังเช่น ในปีนี้ที่ชไนเดอร์สามารถช่วยลูกค้าลดคาร์บอนได้ 90 ล้านตันทั่วโลก 

ธุรกิจของชไนเดอร์จึงนับว่ามีเป้าที่ชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องความยั่งยืน เรื่อง ESG ต่าง ๆ ความที่เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดและมีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ต้องตอบโจทย์ความยั่งยืนในการลดคาร์บอนซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการด้านพลังงาน ซึ่งจะนำไปสู่การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการสูญเสียพลังงาน และเพิ่มทางเลือกสู่การใช้พลังงานสะอาดให้ได้มากที่สุด

“เมกะเทรนด์เรื่องความยั่งยืน การลดคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ยังมีพี้นที่ให้เล่นมาก มีโอกาสทางธุรกิจอยู่เยอะ เคยมีงานวิจัยเรื่องความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีอยู่ราว 10 ประเทศ พบว่า มากกว่า 90% ขององค์กรที่ทำการสำรวจมีการตั้งเป้าเรื่องของความยั่งยืน แต่แค่ราว 50% ที่มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ที่เหลืออีก 40-50% รวมถึงประเทศไทยยังไม่มีแผนปฏิบัติที่แน่ชัดในการมุ่งไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งชไนเดอร์ถือเป็นพันธกิจที่เราต้องเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนในส่วนนั้น”  

กลยุทธ์ธุรกิจ

ถึงตอนนี้ จุดแข็งที่ชัดเจนของชไนเดอร์ คือ การยืนหนึ่งในบทบาทผู้นำตลาดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล และความยั่งยืนด้านการจัดการพลังงาน ภายใต้แบรนด์หนึ่งเดียวซึ่งก็คือ วันชไนเดอร์ มีระบบอีโคสตรัคเจอร์ที่เข้ามาตอบโจทย์แบบเอนด์ทูเอนด์ให้กับลูกค้า และเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ (Partner Network) ซึ่งเป็นอีโคซิสเท็มสำคัญในการเจาะตลาด 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก เพื่อรุกสู่ตลาดขนาดกลางและขนาดเล็กในภูมิภาคมากขึ้น

นอกจากนี้ คือ การบูรณาการการทำงานระหว่างไอทีและโอที มงคลอธิบายว่า ในอดีต ไอที หรือ Information Technology กับ โอที หรือ Operation Technology เหมือนแยกกันเป็นสองโลก คนในโลกไอทีก็พัฒนาไอที พัฒนาซอฟต์แวร์กันไป แต่ในโลกของโอทีเราพูดกันถึงเทคโนโลยีในการบริหารกระบวนการทำงานที่เป็นอัตโนมัติ อาทิ การสร้างและบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ การจัดการพลังงานที่ต้องมีการบริหารกระบวนการผลิต อินฟราสตรัคเจอร์ของการจ่ายไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าสู่เมือง อันนี้เป็นโอที ซึ่งอีโคสตัคเจอร์ที่พัฒนามาตลอดสิบปีของชไนเดอร์จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการเชื่อมโลกไอทีและโอทีเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด

ยกตัวอย่างในแต่ละโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นถ่านหินหรือพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม  ต้องมีกระบวนการที่ไปควบคุมการบริหารจัดการ ซึ่งอีโคสตัคเจอร์สามารถช่วยธุรกิจมองเห็นและตรวจสอบได้ เช่น มาตรฐานการจ่ายไฟ (PD Output) มาตรฐานแรงดันไฟ (Voltage) ต่าง ๆ การเฝ้าระวังประสิทธิภาพการทำงานของแมชชีนต่าง ๆ การบริหารประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างเกณฑ์เปรียบเทียบประเมิน (Benchmark) เช่น โรงไฟฟ้านี้มีเอาท์พุตที่น้อยเกินไป หรือผลิตแล้วแต่ไม่สามารถจ่ายไฟออกไปที่การไฟฟ้าฯได้  ซึ่งนับเป็นโซลูชันที่เป็นจุดแข็งดั้งเดิมของชไนเดอร์ 

ส่วนอนาคตที่ไปสู่ความยั่งยืนโดยสมบูรณ์สำหรับตลาดพลังงาน ซึ่งบางคนเรียกว่าเป็น Energy Transition ในยุคที่ไฟฟ้าไม่ได้มาจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้าสู่เมืองเพียงอย่างเดียว แต่มาจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มาจากพลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือกที่กระจายอยู่ในเมืองหรือใกล้เมืองที่ส่งมาจากทุกทิศทาง ทำให้การจัดการพลังงานมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น พลังงานทางเลือกที่ผลิตแล้วไม่สามารถจ่ายหรือนำส่งไม่ได้ ระบบปลายทางมีข้อจำกัดในการรับหรือส่งเข้ามา หรือเมื่อส่งเข้ามาแล้วการไฟฟ้าฯ ไม่สามารถมองเห็น เกิดระบบที่ไม่มีเสถียรภาพ อีโคสตรัคเจอร์ของชไนเดอร์สามารถช่วยจัดการหรือตั้งค่าระบบเพื่อดึงพลังงานเหล่านี้มาให้ได้มากที่สุด รวมถึงหลังคาโซล่าร์จากบ้านเรือนที่ผลิตไฟได้ซึ่งเรียกว่า โปรซูเมอร์ (Prosumer) ชไนเดอร์ก็มีโซลูชันที่พร้อมโฟกัสไปที่ตลาดโปรซูเมอร์ให้สามารถใช้และขายไฟที่เหลือไปที่การไฟฟ้าฯตามมาตรการและกฎแกณฑ์ในแต่ละประเทศ

ขณะที่ประเทศลาวและเมียนมา ชไนเดอร์ได้เริ่มต้นรุกเข้าไปสร้างพันธมิตรกับอีโคซิสเท็มในระดับท้องถิ่น โดยยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและให้การช่วยเหลือด้านการจ่ายกระแสไฟฟ้า (Electrification) และระบบออโตเมชัน แม้ว่าการตลาดจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในแง่เทคโนโลยีถือว่าสามารถอิมพลิเมนต์ได้ครบทุกฟังก์ชัน รวมถึงมีการอัพเดตอยู่ตลอดเวลา 

บันทึกความสำเร็จของลูกค้า

ชไนเดอร์ได้มีส่วนร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มสมาร์ทกริด (Smart Grid) ที่เรียกว่า อีโคสตรัคเจอร์ กริด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางในการบริหารจัดการเครือข่ายระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ยกเว้น กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยการดึงเครือข่ายสถานีไฟฟ้าหลักราว 700 สถานี ซึ่งดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าประมาณ 20 ล้านรายขึ้นสู่ระบบดิจิทัลเพื่อการวางแผนเครือข่ายจำหน่ายไฟฟ้าในการรองรับเรื่องพลังงานหมุนเวียน การจัดการทรัพยากรพลังงานที่มองไม่เห็น หรืออยู่ไกลจนทำให้ระบบที่เชื่อมต่ออยู่ไม่มีเสถียรภาพให้สามารถกลับมาบริหารจัดการได้ดีมากขึ้น รวมถึงการคาดการณ์การดึงพลังงานหมุนเวียนมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ ลดการเกิดไฟดับโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีตัวชี้วัดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจากการคำนวณที่ผ่านมา สามารถลดการสูญเสียพลังงานในเครือข่ายได้ 20-30% และยังเป็ฯการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับระบบการจัดงานพลังงานที่ใหญ่ขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น หากประเทศไทยยอมให้อาคารบ้านเรือนที่ผลิตไฟด้วยหลังคาโซล่าร์สามารถขายให้การไฟฟ้าฯ ได้ในอนาคต โดยขณะนี้สามารถปรับย้ายระบบขึ้นไปบนแพลตฟอร์มของชไนเดอร์ไปแล้วประมาณ 60-70% คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี

“ทุกอย่างเริ่มซับซ้อนขึ้นเพราะถึงแม้แพลตฟอร์มกลางของการไฟฟ้าฯ จะใกล้แล้วเสร็จ แต่อินฟราสตรัคเจอร์ยังต้องไปต่อ อย่างโครงการนำร่องที่พัทยาซึ่งต้องทำในส่วนของระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ (Low Voltage) ด้วย หากเปรียบสถานีไฟฟ้าหลักถือเป็นกระดูกสันหลังของระบบ แต่พอไปถึงบ้านเรือนหรืออาคารที่ไม่ได้ใช้ไฟแรงดันสูง ก็ต้องทำโครงการนำร่องเพื่อจัดการกับไฟฟ้าแรงดันต่ำสำหรับรองรับการโหลดไฟฟ้าใหม่ ๆ  เช่น อีวีชาร์จเจอร์ ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้ไฟที่แตกต่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป รวมถึงถ้าบ้านแต่ละหลังสามารถเป็นโปรซูเมอร์ในการจำหน่ายไฟฟ้าออกไปได้ ก็ต้องเติมความสามารถให้กับฮาร์ดแวร์บางตัว เช่น มิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านที่ต้องฉลาดมากขึ้น ต้องดิจิไทซ์มากขึ้นในการเห็นว่าไฟกำลังส่งเข้าหรือออก การจัดการค่าไฟตอนซื้อและขายออกไป เป็นต้น” 

อีกหนึ่งกรณีความสำเร็จ คือ การทำโครงการสมาร์ทวอเตอร์ (Smart Water) ให้กับบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (East Water Group) ด้วยอีโคสตรัคเจอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและจัดการกระบวนการจ่ายน้ำในระบบอุตสาหกรรม ลดการเกิดน้ำรั่วในท่อส่ง ลดแรงดันน้ำระหว่างการจ่ายน้ำ และท้ายสุดเป็นการนำไปสู่การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากการส่งน้ำ การใช้พลังงาน ปั๊มต่าง ๆ ซึ่งสามารถลดน้ำรั่วได้ 10% ลดต้นทุนการปฏิบัติงานได้ถึง 30% ทั้งยังมีประสิทธิภาพมากขี้นจากการมีระบบเฝ้าระวัง ตรวจจับความผิดปกติได้ดีกว่าการที่โอเปอเรเตอร์ต้องขับรถไปตรวจเช็คหน้างาน เป็นการลดการใช้พลังงาน สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้รวดเร็ว รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจอีกด้วย

ไทยกับการจัดการพลังงาน

มงคลกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยเท่าที่เคยได้แลกเปลี่ยนกับต่างประเทศแม้กระทั่งคนของชไนเดอร์ในต่างประเทศต่างเห็นว่า ประเทศไทยมีการริเริ่มที่ดี มีการดำเนินการหลายอย่างในเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ตลอดจนเตรียมการวางรากฐานและการบริหารจัดการพลังงานค่อนช้างเยอะ แต่การจะมุ่งไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนเป็นพันธกิจที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องคุยกันยาว ๆ เป็น 30-40 ปี กว่าไทยจะบรรลุเน็ตซีโร่ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่คนรุ่นเราต้องเตรียมการให้พร้อม และรอให้เป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อให้ได้ตามแผนต่อไป   

“ชไนเดอร์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ ทั้งการให้โอกาสและพัฒนาคนรุ่นให้ให้เติบโตในองค์รและเป็นกำลังสำคัญในการสานต่อเรื่องความยั่งยืน ซึ่งมองกันยาวนานเป็น 2-3 รุ่น นอกจากนี้ เราเลือกที่จะไปเป็นพันธมิตรกับลูกค้า สร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าระดับกลางและระดับย่อย สนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี และสะสมเคสที่ประสบความสำเร็จไปเรื่อย ๆ เพื่อขยายผลความร่วมมือที่เป็นอีโคซิสเท็มในการบรรลุความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนเช่นกัน”  

ปัจจุบัน พนักงานของชไนเดอร์ประเทศไทยมีอยู่ราว 1,600 คน ดำเนินการผลิตเพื่อจำหน่ายในเมืองไทยและส่งออกไปต่างประเทศด้วย และยังคงมีการส่งต่อเทคโนโลยีด้านการจัดการพลังงานใหม่ ๆ ที่เหมาะสมให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย “ขอนแก่นโมเดล” ไม่ใช่โครงการ แต่เป็นโครงสร้างพึ่งพาตนเองของคนขอนแก่น

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา เปรียบ LINE เหมือนคนสร้างถนน พาทุกคนไปสู่จุดหมาย

แกะรอย DNA กลุ่ม “บ้านโป่งทาปิโอก้า” ผู้ปักหมุดแป้งนวัตกรรมของไทยในตลาดโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ