TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย “ขอนแก่นโมเดล” ไม่ใช่โครงการ แต่เป็นโครงสร้างพึ่งพาตนเองของคนขอนแก่น

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย “ขอนแก่นโมเดล” ไม่ใช่โครงการ แต่เป็นโครงสร้างพึ่งพาตนเองของคนขอนแก่น

ความฝันเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองเพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งพาตนเองถูกผลักดันมานานหลายสิบปี แต่ไม่เคยทำสำเร็จ ขณะที่เรื่องราวของแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Khon Kaen Smart City) ซึ่งกลุ่มนักธุรกิจขอนแก่นรวมตัวกันผลักดันจนรัฐบาลอนุมัติให้ท้องถิ่นทำเองและลงทุนเอง กำลังเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น แต่ยังมีผู้คนไม่น้อยสงสัยว่าความฝันในนาม “ขอนแก่นโมเดล” นี้จะเป็นจริงหรือไม่

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และรองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและองค์กรสัมพันธ์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในแกนนำของกลุ่ม Khon Kaen Think Tank หรือ KKTT ที่ร่วมกันจัดตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด (KKTT) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนแผนดำเนินการของโมเดลนี้ บอกกับ The Story Thailand ว่า “วันนี้ขอนแก่นได้รับการเห็นชอบและอนุมัติ 6 โครงการใหญ่แล้ว”

“ขอนแก่นโมเดลไม่ใช่การทำโครงการ แต่เราทำโครงสร้างพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจแบบตามความพร้อมของท้องถิ่น เป้าหมายมี 3 เรื่อง คือ แก้จน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความโปร่งใส”

ทั้งเชื่อว่าแนวคิดของขอนแก่นจะเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองในอนาคตของประเทศไทย “อีก 16 ปีข้างหน้าเมื่อโมเดลของเราเสร็จก็จะพูดกันว่าขอเอาขอนแก่นโมเดลมาใช้หน่อย เราก็ยินดีเพราะเราทำไว้ให้เป็นตัวอย่างแล้ว”

ภาคเอกชนชูธงนำการขับเคลื่อน

“ช่วง 30 ปีที่ทำงานผมมีประสบการณ์ในการประชุมที่ต่าง ๆ มาเยอะ พบว่ามีแต่คนพูดแสดงความรู้ความเห็นกันมากมาย แต่สุดท้ายไม่มีคนทำ จนมีความรู้สึกว่าทำไมประเทศไทยถึงเป็นแบบนี้”

สุรเดชบอกว่า คำว่า “ทำไม” เกิดขึ้นมากมายเมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ได้สัมผัส เช่น ประเทศไทยมีงบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 3 ล้านล้านบาท มีงบพัฒนาประเทศปีละ 4.6 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมางบประมาณเหล่านี้ไปอยู่ไหน คำตอบคือส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลางคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 80 เปอร์เซ็นต์ “ประเทศไทยจึงโตกระจุก จนกระจายอยู่แบบนี้ แล้วต่างจังหวัดอย่างพวกผมจะทำอะไรได้”

“วันนี้คนไทยต้องรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะได้อยู่ดีกินดีมากกว่านี้ แต่ต้องลงมือทำให้ตัวเอง ไม่ใช่รอให้ใครมาทำให้” นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มนักธุรกิจในขอนแก่นมาสุมหัวคุยกันนาน 2 ปี

หนุ่มใหญ่วัย 57 ปี แกนนำกลุ่ม KKTT เล่าว่าพวกเขาคิดอ่านหาวิธีการต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ความคิดที่จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่การมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย

“ตั้งแต่ 20 ปีก่อนพวกเราในเมืองขอนแก่นคุยกันมาแบบนี้เพราะพวกเราอยู่ด้วยกันมาตลอด เช่นสื่อท้องถิ่นคนหนึ่งกับเทศบาลชอบจัดเวทีเมือง ชวนฝ่ายต่าง ๆ มาอยู่ด้วยกันและคุยกัน เชิญผู้รู้มาให้ไอเดีย อย่างเช่นเชิญนายแพทย์ประเวศ วะสี มาเป็น keynote ก็ได้รับฟังแนวคิดเรื่องเมืองที่ดี หรือทฤษฏีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”

“เราคิดไปถึงว่าประเทศนี้จะเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้อย่างไร และร่วมกันคิดทำแผนพัฒนาประเทศแบบใหม่ขึ้น แต่ช่วงนั้นหลังจากมีการยึดอำนาจในปี 2557 เกิดคำว่า Smart City ขึ้นจากภาครัฐ เราเลยเกาะกระแสเอาแนวคิดนี้มาใช้เป็นจุดเริ่มต้น”

ข้อมูลจากหนังสือ “ขอนแก่นโมเดล : Khon Kaen Model” ที่จัดพิมพ์โดยวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ อธิบายว่าขอนแก่นโมเดลเป็นแนวคิดการจัดการเมืองแบบระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีภาคเอกชนเป็นแกนหลักขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของการบริหารกิจการสาธารณะแบบเดิมที่ภาครัฐเป็นตัวนำ ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายให้ท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ ทำให้ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น ทั้งมีความเหลื่อมล้าในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ

ที่สำคัญคือการพัฒนาเมืองภายใต้บทบาทนำของรัฐมักเป็นการคิดบนฐานโครงการ (project base) ขาดการกำหนดเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน ขาดการประสานร่วมมือกันแบบบูรณาการ ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้

ปี 2558 กลุ่มนักธุรกิจในนาม Khon Kaen Think Tank (KKTT) จึงตัดสินใจลงขันกันจัดตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะขอนแก่น หรือ ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้

“เราสื่อสารกันภายในจังหวัดกับฝ่ายต่าง ๆ โดยใช้โซเชียลมีเดีย มีการพบปะพูดคุยกัน กินข้าวกันกับกลุ่มพ่อค้านักธุรกิจทุกเดือน ไปนำเสนอแนวคิดกับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปพูดคุยกับนักการเมืองท้องถิ่น เข้าหาจังหวัด.จนแต่ละฝ่ายรับทราบแนวคิดของ KKTT”

สุรเดชอธิบายที่มาของการจัดตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมืองว่า การจะทำให้แนวคิดขอนแก่นโมเดลเกิดขึ้นมาได้จำเป็นต้องมีใครเป็นแกนหลักในการลงมือทำ บนหลักการของการจัดการปกครองสาธารณะแนวใหม่ (New Public Governance) ผ่านการสร้างความร่วมมือของ 5 ภาคส่วน ได้แก่ สถานศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อและประชาชน ภายใต้แนวคิด Quintuple Helix model 

“นักการเมืองท้องถิ่น มหาวิทยาลัย พ่อค้า เอ็นจีโอ รวมทั้งสื่อ มาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เมื่อทั้งหมดได้มานั่งคุยกันต่างฝ่ายต่างก็เข้าใจในความยากลำบากของกันและกัน นี่เป็น Quintuple Helix model ที่เกิดขึ้นในขอนแก่นโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เอาวิชาการมาคุยกันว่าจะต้องมี 5 ภาคส่วน”

จนปี 2561 มีการบรรจุเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขอนแก่นไว้ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่น โดยมีโครงการสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ระบบขนส่งมวลชนขอนแก่น ซิตี้บัส การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โครงการสร้างหอประชุมนานาชาติ และการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนขอนแก่นและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เอกชนร่วมพัฒนาเมืองจากรุ่นสู่รุ่น

สุรเดชให้ข้อมูลว่า ทิศทางการพัฒนาเมืองบนฐานของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในเมืองขอนแก่นเกิดขึ้นอย่างมีพัฒนาการตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

“ขอนแก่นเราคิดต่างจากที่อื่นตั้งแต่คนรุ่นก่อนที่มาอยู่ขอนแก่นด้วยกัน ขอนแก่นไม่มีเจ้าพ่อ ตั้งแต่ผมเป็นเด็กไม่เห็นภาพนักการเมืองทะเลาะกันยิงกัน หรือมองหน้ากันไม่ได้ พ่อค้าในขอนแก่นแม้จะมีการแข่งขันทางธุรกิจกัน แต่ก็ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เขามีวิธีการจัดการแบบไม่เหมือนใคร”

เขายกตัวอย่างว่า “โรงสีรุ่นพ่อผมแข่งขันกันซื้อข้าวเปลือกมาสี เขาใช้วิธีตัดสินด้วยการมาเล่นบาสเก็ตบอลแข่งกันในโรงเรียนจีน ใครชนะคนนั้นได้สิทธิ์ซื้อก่อน” ซึ่งวิธีคิดในการจัดการกับความคิดต่างของคนรุ่นก่อนถูกส่งต่อมายังรุ่นพวกเขา

เมื่อย้อนดูเส้นทางการมีบทบาทของภาคเอกชนต่อความเปลี่ยนแปลงของเมืองขอนแก่น จะพบว่าเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกันตั้งแต่วิกฤติแชร์ล้มของกลุ่มพ่อค้าในปี 2526 เมื่อธนาคารไม่ยอมปล่อยเงินกู้ กลุ่มพ่อค้าได้ร่วมกันตั้งทรัสต์เถื่อน (ไม่มีใบอนุญาต) ปล่อยเงินกู้แทนธนาคาร ทำให้ธุรกิจเมืองขอนแก่นเวลานั้นสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้หลังจากต้องหยุดชะงัก

“คุณพ่อของผมก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในกลุ่มทรัสต์เถื่อน ตอนนั้นก็ช่วยกันจนผ่านพ้นวิกฤตไปได้” ครั้งนั้นถือเป็นก้าวแรกของคนขอนแก่นที่รวมตัวกันช่วยเหลือตัวเองทางด้านเศรษฐกิจ 

ปี 2545 ภายใต้การนำของกลุ่มนักธุรกิจในหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม รวม 5 องค์กร ในนาม “กลุ่มปัญจมิตร” ผลักดันโครงการพัฒนาเมืองหลายอย่าง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะยังขาดความร่วมมือจากอีกหลายภาคส่วน

ในปี 2549 จึงมีการปรับองค์กรความร่วมมือเป็น “แปดองค์กรเศรษฐกิจขอนแก่น” มีการเสริมภาควิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มธนาคาร และองค์กรเศรษฐกิจชั้นนำในพื้นที่เข้ามาทำงานพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ของเมืองขอนแก่น

แต่ยังมีลักษณะของการพัฒนาเศรษฐกิจตามความต้องการเฉพาะเป็นเรื่อง ๆ ไม่มีการวางแผนระยะยาว โดยงานส่วนใหญ่พึ่งพางบประมาณและความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ จึงขาดประสิทธิภาพ หรือบางครั้งก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ

ปี พ.ศ. 2551 มีการจัดตั้ง “มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า” ที่นำโดยกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการ “ขอนแก่น จังหวัดอัจฉริยะ” หรือ Smart Province ทำให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการพัฒนาเมืองแบบบูรณาการ และการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้เป็น “โมเดล” ของการพัฒนาจังหวัดในมิติต่าง ๆ จนกลายเป็นรากฐานของแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเช่นทุกวันนี้

รถไฟฟ้ารางเบาจุดเริ่มของทุกสิ่ง

ปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นมีแผนพัฒนาเมืองที่เรียกว่า Smart City 2030 ประกอบด้วยการพัฒนา 7 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.Smart Mobility 2.Smart Living 3.Smart Citizen 4.Smart Economy 5.Smart Environment 6. Smart Energy 7.Smart Governance โดยมีการแยกย่อยเป็น 129 โครงการ ทั้งหมดจะเริ่มต้นจากการทำระบบขนส่งทางรางและพัฒนาพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่ง หรือ TOD (Transit Oriented Development) ซึ่งก็คือการพัฒนาเมืองโดยมีระบบขนส่งมวลชนเป็นตัวนำนั่นเอง โดยได้รับความเห็นชอบและอนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 เพื่อเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะตามนโยบาย Thailand 4.0

ในปี 2560 กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้ 5 เทศบาลในเขตเมืองขอนแก่น จัดตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS (Khon Kaen Transit System) ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดของเทศบาลแห่งแรกในประเทศไทย ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 5 ล้านบาท (ปัจจุบันมีทุนสะสมกว่า 25 ล้านบาท) เพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา (LRT) สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคของจังหวัดขอนแก่น นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอนุมัติให้ท้องถิ่นทำโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่

“รถไฟฟ้าจะสร้างยกลอยบนพื้นที่ถนนมิตรภาพ และเราขอใช้พื้นที่ 100 ไร่ของหน่วยงานรัฐทำ TOD โดยสนข. มาศึกษาและทำแผนแม่บทให้มี 5 เส้นทาง ทั้งหมดจะมารวมกันที่ TOD ที่เดียว”

สนข. ที่เขากล่าวถึงก็คือสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ซึ่งได้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทไว้ก่อนที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ท้องถิ่นทำโครงการเอง

โครงการก่อสร้าง LRT เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) เป็นแนวเหนือ-ใต้ระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี จะผ่านสถานที่สำคัญ ๆ อาทิ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โดยมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี 4 สถานี และทำศูนย์ควบคุมและจัดการเดินรถ ศูนย์ซ่อมบำรุงและบริการ ในพื้นที่ศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดขอนแก่นปัจจุบัน ซึ่งสามารถรองรับรถไฟฟ้าครบทั้ง 5 สายในอนาคต

รถไฟฟ้าที่ใช้เป็นแบบ Tram ซึ่งจะผลิตและประกอบในประเทศ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้รับบริจาครถไฟจาก Hiroshima Tram ประเทศญี่ปุ่น นำมาศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบรถไฟฟ้าที่จะใช้ในโครงการก่อสร้าง LRT จังหวัดขอนแก่น

ทั้งนี้ KKTT ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนจะทำหน้าที่เป็น think tank ส่วน KKTS บริษัทจำกัดของเทศบาลเป็นเจ้าของโครงการ โดยทั้งสองส่วนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

“พวกเขา (เทศบาล) รู้ว่าพวกเรา (พ่อค้า) บ้าจริง การที่ KKTT ไม่ได้ผลประโยชน์อะไร เป็นเรื่องทำให้คนอื่นไม่เชื่อ ทั้งที่พวกเรา 15 คน ลงขันกันคนละ 8-10 ล้านบาท ทำหน้าที่เป็นผู้เริ่มต้น เช่นเมืองฮิโรชิมาประเทศญี่ปุ่น บริจาครถไฟให้เอามาใช้ศึกษาเพื่อพัฒนาต้นแบบ แต่ไม่มีงบประมาณขนส่งมาขอนแก่น KKTT ก็ออกเงินให้ และบริจาคเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งบุคลากรของเทศบาลและมหาวิทยาลัยไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ หรืออยากมีตัวอย่างรถบัส KKTT ออกเงินลงทุนให้ทดลองสร้างโมเดลขึ้นมา เราลงทุนจ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำ Smart City แก่บุคลากรต่าง ๆ ในจังหวัด”

“KKTT ใช้เงินเพื่อพัฒนาจังหวัดในรูปแบบ social enterprise แบบไม่แบ่งกำไร เราสนับสนุนเทศบาลขอนแก่นเข้าร่วมประกวด Smart City จนได้รางวัล 10 ล้านบาท เราแบ่งให้เทศบาล 4 ล้าน อีก 6 ล้าน KKTT เก็บไว้ลงทุนต่อ” แกนนำกลุ่ม KKTT บอกถึงความร่วมมือระหว่างสององค์กร

แผนโครงการเกิดเพราะ KKTT “อยู่เป็น”

“ไอเดียของขอนแก่นโมเดลใหญ่กว่าเรื่อง Smart City เยอะ ที่จริงเราทำโมเดลแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความโปร่งใส แต่สำหรับประเทศไทยพวกเราต้องอยู่เป็นด้วยการเสนอทำอะไรให้สอดคล้องไปกับนโยบายภาครัฐ”

“การทำงานแบบ KKTT มีข้อดีที่ไม่มีศัตรู ไม่มีโครงสร้างใดมาครอบเพราะเราเป็นบริษัทจำกัดธรรมดา”

สุรเดชกล่าวถึงสาเหตุที่กลุ่ม KKTT ของเขาเลือกแนวทางแบบขอนแก่นโมเดล คือ จัดตั้งบริษัทจำกัดเสนอโครงการพัฒนาที่รัฐไม่ต้องลงทุน แต่ให้ฝ่ายนโยบายเห็นชอบและสนับสนุนด้วยการอนุมัติโครงการ ซึ่งต่างกับแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” ที่เสนอในหลายจังหวัดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ให้กระจายอำนาจในการพัฒนาท้องถิ่นแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่เพื่อพึ่งพาตนเองอย่างบูรณาการ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ

“เคยมีคนรู้จักกันถามผมว่าวันนั้นที่รัฐบาล คสช.อนุมัติโครงการให้ขอนแก่นทำ ผมต้องจ่ายเงินไปเท่าไร ก็บอกไปว่าไม่ได้จ่ายเลย ผมคิดว่าวันนั้นพวกเขายังเป็นทหาร ยังไม่ใช่นักการเมือง เขาเห็นว่าพวกเราคิดสิ่งดีให้ประเทศก็สนับสนุนเรา”

ทั้งย้ำว่า “ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มองเห็นข้อดีและข้อเสียของแต่ละฝ่าย ปัญหาของประเทศเราคือทุกฝ่ายไม่พูดคุยกัน”

“การที่ขอนแก่นโมเดลขับเคลื่อนได้เพราะพวกเรามีความรู้ เราพูดคุยกันมานานเรื่องเมืองที่ดี ระบบขนส่งมวลชนที่ดี เรามีการเคลื่อนไหวทางสังคมโดย KKTT พาทุกฝ่ายมาคุยกัน เมื่อรัฐบาล คสช.อนุมัติโครงการให้ทุกอย่างก็เดินหน้า”

เขายืนยันว่า “พวกเราทำแบบทฤษฏีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยากจะเป็นไปได้ต้องดำเนินการ 3 ส่วนไปด้วยกัน หนึ่ง สร้างความรู้ (knowledge) สอง นำความรู้ไปเคลื่อนไหวสังคม (social movement) และสาม เชื่อมโยงกับฝ่ายนโยบาย (policy link) หรือการเข้าถึงอำนาจรัฐ

ดำเนินการบนหลักการ EGS

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามแบบขอนแก่นไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของเมือง โดยดำเนินการบนหลักการ EGS ประกอบด้วย E (Economic)

“เราเป็นกรณีศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสรุปว่าการลงทุน LRT ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจเติบโต 1.5 เท่า จะเกิดการขยายเมืองตามอีกมากมาย ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าการพัฒนาแบบนี้เป็นเรื่องที่ยั่งยืน”

“market cap ของตลาดทุนไทยจะเพิ่มขึ้น 0.8 เปอร์เซ็นต์ จากตลาดขนาด 15 ล้านล้านบาท ภายในเวลา 4 ปี ถือว่ามีขนาดใหญ่มาก มูลค่าประมาณ 8 แสนล้านบาท จากตัวเลขเฉลี่ยของตลาดโต 12 เปอร์เซ็นต์”

G (Governance) เมื่อเอาหน่วยงานของรัฐ (KKTS ของ 5 เทศบาล) เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดความโปร่งใส

S (Sustainability) เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน “เกิด paradigm shift หรือต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่เคยคิดว่าเราจะได้อะไรจากการทำสิ่งนี้เป็นทุกคนจะต้องเสียสละเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น”

“แน่นอนว่ามีคนสงสัยว่าพวกเรา หรือ KKTT ทำสิ่งนี้ได้อะไร ช่วง 3 ปีแรกคนขอนแก่นก็ไม่เชื่อว่าพวกเราทำโดยไม่ได้อะไร มาถึงวันนี้เราก็พิสูจน์ให้เห็นจนได้รับการยอมรับและเชื่อถือแล้ว

ทำโครงสร้างพึ่งพาตนเอง

“ขอนแก่นโมเดลไม่ใช่การทำโครงการ แต่เราทำโครงสร้างพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจแบบตามความพร้อมของท้องถิ่น”

สรุเดชบอกว่า ในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ขอนแก่นได้รับอนุมัติจากภาครัฐให้ดำเนินการโครงการใหญ่ 6 เรื่อง เรื่องสำคัญนอกจากการอนุมัติให้บริษัทของรัฐท้องถิ่นทำโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะขนาดใหญ่ได้เอง ยังมีเรื่องการหาเงินมาลงทุนด้วยตัวเองโดยใช้กลไกตลาดทุน 

“พวกเราขอจัดตั้งกองทุนผู้มีรายได้น้อย ซึ่ง กลต.อนุมัติแล้ว เราจะเอากองทุนนี้ไปถือหุ้นในบริษัทของรัฐท้องถิ่น”

แนวคิดนี้เป็นรูปแบบหนึ่งในการหาเงินให้กับ KKTS ไปลงทุนทำโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา และพัฒนาเมืองขอนแก่นโมเดลด้านต่าง ๆ เมื่อทำระบบรถไฟฟ้าเสร็จจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เปิดขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป ทำให้ KKTS มีทุนขนาดใหญ่ แล้วนำความมั่งคั่งนั้นมาพัฒนาเมืองต่อโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินจากงบประมาณแผ่นดิน ทั้งนี้ ระหว่างเริ่มโครงการจนเข้าตลาดจะมีกองทุนผู้มีรายได้น้อยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในราคาพาร์ 

“กว่าวันนั้นจะมาถึงยังต้องใช้เวลาอีก 5 ปี เริ่มจากการสร้างรถไฟฟ้าให้สำเร็จในเวลาอีก 3 ปี โดย KKTS ต้องขอกู้เงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเวิร์ลแบงก์กำลังดำเนินการช่วยประสานนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาเจรจาเรื่องลงทุนกับ KKTS”

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุน โดยเขาได้ทดลองทำ ICO และ STO ออกเหรียญที่ต่างประเทศ สามารถระดมทุนเอามาช่วยพัฒนาขอนแก่นได้ หรือรูปแบบ SPAC ที่ทำแล้วในสหรัฐอเมริกา และจดทะเบียนในตลาด Nasdaq โดยที่กล่าวมานี้เขาได้ทดลองทำในนามบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) 

“เมื่อโครงการรถไฟฟ้าเกิดขึ้น มีเงินเข้ามา เทศบาลมีเงินก็เอามาลงทุนทำ Smart City หรือแผนพัฒนาจังหวัดแบบยั่งยืนได้ โดยมีคณะกรรมการพิเศษคอยกำกับดูแล ทั้งหมดนี้เรียกว่าการกระจายอำนาจตามความพร้อม ไม่ต้องไปสู้กับกระทรวงมหาดไทยให้มีพรบ.กระจายอำนาจ วันนี้เราต้องตัดช่องน้อยแต่พอตัว พาแต่ละจังหวัดออกไปให้ได้ นี่คือที่เรียกว่าโครงสร้าง”

นำเครื่องมือคนรวยมาแบ่งปันคนจน

ขณะเดียวกันการจัดตั้งกองทุนผู้มีรายได้น้อยก็เป็นการสร้างกลไกแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำไปด้วย โดยวิธีส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยทยอยสะสมเงินเข้ากองทุนประมาณ 500-800 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 ปี นำไปลงทุนในบริษัทของรัฐก่อนที่จะมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต ส่วนนี้คือนำกองทุนไปลงทุนกับบริษัท KKTS ที่จัดตั้งและเป็นเจ้าของโครงการ LRT ที่กำลังจะเข้าตลาด

“กองทุนนี้ไม่ใช่แจกเงิน แต่แจกโอกาสให้ประชาชนสะสมเงินเข้ากองทุน เราวิจัยพบว่าคนที่มีรายได้น้อยใช้เงินกับการซื้อเหล้าเล่นหวยเดือนละ 300-600 บาท ถ้าเราให้การศึกษาพวกเขาให้รู้จักนำเงินมาสะสมกับกองทุน ผ่านไป 3 ปีเงินก้อนจะเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าจากมูลค่าหุ้นที่ขึ้นไป ดีกว่าเอาเงินไปเสี่ยงลงทุนกับหวยที่มีโอกาสถูกน้อยมาก”

“เขาจะออมเท่าไรก็ได้ ส่วนตัวผมคิดว่าถ้ามีการสื่อสารที่ดี ช่วงเวลา 36 เดือนเขาจะมีเงินสะสมประมาณ 30,000 บาท ระหว่างที่ยังไม่ IPO ดังนั้นคนจนจะมีเงินซื้อหุ้น 30,000 บาทโดยได้ในราคาพาร์”

ซึ่งคนจนที่เขากล่าวถึงคือประชาชนผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันเล่น ๆ ว่าบัตรคนจน โดยจะใช้เงินดิจิทัลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการเพื่อสร้างหลักประกันว่าเป็นเงินคนจนจริง ไม่มีคนรวยฝากลงทุน

“ถ้าเราทำสำเร็จจนคนขอนแก่นสามารถเอาเงินดอกผลจากหุ้นไปแก้ไขปัญหาหนี้ แก้ไขปัญหาการศึกษาของลูกได้ ขอนแก่นโมเดลก็จะเป็นที่ยอมรับของทุกคน ด้านคนจนก็จะมีความภาคภูมิใจว่าตัวเองไม่ได้แบมือขอเงินจากใคร แต่เป็นเงินที่สะสมด้วยตัวเอง และยังภูมิใจได้ว่าตัวเองมีส่วนเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้”

เขาเชื่อว่านี่เป็นการแบ่งเครื่องมือของคนรวยให้คนจนใช้ ที่ไม่เคยมีใครยอมให้เกิดขึ้นมาก่อนคือการแบ่งปันความมั่งคั่งให้คนจนด้วยการเปิดให้เข้าร่วมเป็นเจ้าของหุ้นของบริษัท

“การเอาเครื่องมือของคนรวยมาแบ่งปันให้คนจนใช้ในการสะสมทุน คงไม่ทำให้คนจนรวยได้ แต่ชีวิตจะดีขึ้น เช่นเดียวกันคนรวยก็จะรวยยิ่งขึ้น”

เขาสรุปว่า ความคิดนี้คือการแบ่งปันความมั่งคั่งให้คนจน เปรียบเหมือนสเต๊กชิ้นหนึ่งที่บางคนเคยกินอย่างเหลือเฟือ ก็จัดการแบ่งปันให้คนที่ไม่มีโอกาส “ที่จริงโมเดลของเราไม่ใช่การแย่งสเต๊กจากคนรวย แต่ทำให้ชิ้นสเต๊กมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยเมื่อประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น”

หนุน Soft Power และVirtual Income

ภายใต้แนวคิดขอนแก่นโมเดลยังมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองขอนแก่นอีกมากมาย โดยเฉพาะหลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปแล้ว โดยในปี 2566 มีการผลักดันกิจกรรมหลายอย่างเพื่อสร้างระบบนิเวศของ soft power ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองขอนแก่น

“ปีนี้ KKTT เป็นเจ้าภาพสร้างภาพยนตร์เรื่อง “4 ขมัง” ด้วยเงินลงทุน 10 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมท้องถิ่นของขอนแก่น โดยทีมงานคนขอนแก่นมีส่วนร่วมในการผลิต”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ผลิตโดย บริษัท ถนัดหนัง จำกัด เป็นแนวแอคชั่นแฟนตาชีที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากการส่งเข้าประกวดจำนวน 32 เรื่อง และเป็นผลงานเรื่องแรกในโครงการขอนแก่นเมืองหนัง ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในจังหวัดขอนแก่น

อีกทั้งสนับสนุนการผลิตสุราชุมชนด้วยการช่วยลงทุนสร้างโรงกลั่นที่มีคุณภาพให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ผลิต “เหล้าคูณ” สุรากลั่นจากข้าวเหนียวอินทรีย์ที่ใช้ดอกคูณสัญลักษณ์จังหวัดขอนแก่นเป็นชื่อเครื่องหมายการค้า ผลงานการคิดค้นและบุกเบิกของ สวาท อุปฮาด อดีตประธานสมัชชาคนจน ผู้ปลุกปั้นเหล้าพื้นบ้านให้คนไทยเข้าใจในวิถีชุมชนมากขึ้น 

“ถ้าจะวางแผน 20 ปีให้จังหวัดขอนแก่น มันต้องไม่ใช่เรื่องการหากินแบบเดิมอย่างเดียว แต่ต้องทำให้คนรุ่นใหม่มี virtual income ได้ด้วย เราก็เลยทดลองทำโครงการที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนใน 3 ตัวอย่าง อย่างแรกคือ ทำเหรียญ KGO ซึ่งได้รับอนุมัติจาก กลต.และธนาคารแห่งประเทศไทยเรียบร้อย ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีคูปองที่เป็นส่วนลดใช้ได้ทั้งจังหวัด อย่างที่สอง เราทำหมอลำเมตาเวิร์ส สุดท้ายคือ NFT เรานำศิลปินต่าง ๆ มาทำ smart contact เพื่อให้ศิลปินได้รับส่วนแบ่งในส่วนต่างจากการซื้อขายผลงานแต่ละครั้ง ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ใช่เทคโนโลยีบล็อกเชนก็คงทำไม่ได้”

ทั้งนี้ “หมอลำเมตาเวิร์ส” เป็นการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลจากทุนทางวัฒนธรรม โดยศิลปินพื้นบ้านหมอลำร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นและทีมนักพัฒนาจาก Khon Kaen InfiniteLand สำหรับเป็นพื้นที่เรียนรู้หมอลำผ่านโลกเสมือน

“ผลงานเหล่านี้ทำให้ขอนแก่นกำลังได้รับการความสนใจจากยูเนสโกให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ MIT ก็สนใจมาดูงานและอาจจะทำงานงานวิชาการร่วมกัน ซาอุดิอาระเบียสนใจเรื่องเหรียญดิจิทัลของเรา World Bank กำลังเอานักลงทุนมาคุยกับเรา เมืองโอซากากับมหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่นก็เข้ามาศึกษาขอนแก่นโมเดลด้วย” ผู้ร่วมก่อตั้ง KKTT ชี้ให้เห็นโอกาสที่กำลังเกิดขึ้นกับเมืองขอนแก่น

สุรเดชยืนยันว่า “ประเทศไทยไม่เคยสร้างความคิดแบบนี้ให้กับสังคม ถ้าขอนแก่นโมเดลทำสำเร็จก็จะเกิด paradigm shift”

เขาหมายถึงการเปลี่ยนมโนทัศน์ของการพัฒนาประเทศไทยสู่แนวทางใหม่ “ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ เราต้องลงแรงจริงจังกันแบบนี้ ถ้าทำแค่ระดับ CSR ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

บทสรุปของเขาคือ “นี่เป็นสิ่งที่พวกเราร่วมกันทำขึ้นมาในช่วงเวลา 6 ปี ดังสุภาษิตกรีกที่บอกว่า สังคมจะยิ่งใหญ่ได้คนแก่ต้องปลูกต้นไม้ที่รู้ว่าตัวเองไม่มีวันได้อาศัยร่มเงา และวันนี้พวกเรากำลังทำสิ่งนี้” พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายว่า

“พวกเรามีความตั้งใจว่าถ้าขอนแก่นทำสำเร็จ ใครจะเอาโมเดลของเราไปใช้ก็ได้ เรารวบรวมขั้นตอนกระบวนการ ข้อกำหนดต่าง ๆ ในการดำเนินการไว้หมด แล้วกำลังจะนำข้อมูลใส่ไว้ใน Chat GPT ให้เป็นอาจารย์เรื่องนี้ ใครที่ตั้งใจจะทำเพื่อพัฒนาประเทศก็เอาไปใช้เลย เราไม่เคยกลัวว่าใครจะทำเลียนแบบ แต่ยิ่งช่วยกันทำยิ่งดี”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ล็อกซเล่ย์ บนเส้นทางแห่งกาลเวลา 84 ปี ‘ธุรกิจเทรดดิ้ง’ พลิกยืนหนึ่งอีกครั้งรับการเปลี่ยนแปลง

ยรรยง มุนีมงคลทร ความท้าทายใหม่ในยุคที่ “เอปสัน” ไม่ใช่แค่พรินเตอร์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ