TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewยรรยง มุนีมงคลทร ความท้าทายใหม่ในยุคที่ “เอปสัน” ไม่ใช่แค่พรินเตอร์

ยรรยง มุนีมงคลทร ความท้าทายใหม่ในยุคที่ “เอปสัน” ไม่ใช่แค่พรินเตอร์

เขาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารญี่ปุ่นแต่งตั้งเป็นผู้บริหารระดับผู้อำนวยการบริหารของเอปสันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงเวลาที่ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563

เดือนเมษายนเมื่อ 3 ปีก่อน ยรรยง มุนีมงคลทร เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากร่วมงานกับองค์กรธุรกิจชื่อดังแห่งนี้มานานเกือบ 30 ปี พร้อมกับแบกรับภารกิจในการขยายการเติบโตสู่ตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่บริษัท เมื่อตลาดพรินเตอร์สำหรับ consumer ที่เป็นรายได้หลักเริ่มอิ่มตัว รวมถึงการปรับเปลี่ยนภายในองค์กรให้มีความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้บริหารสูงสุดอย่างเขา

ทำงานที่เดียวไม่เคยเปลี่ยน

ยรรยงเข้าทำงานที่บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี 2535 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดกลุ่มประเทศอินโดจีน บุกเบิกตลาดประเทศเวียดนามเป็นแห่งแรก ต่อมาขยายไปตลาดประเทศลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และปากีสถาน จนสามารถเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเครื่องพรินเตอร์อิงค์เจ็ทและเครื่องโปรเจคเตอร์ในตลาดเหล่านี้

“การทำงานที่เอปสันเหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิต เป็นที่ทำงานแห่งแรกและแห่งเดียวนับตั้งแต่เรียนจบออกมา”

เขาย้อนความหลังให้ The Story Thailand ฟังว่า หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเงินระหว่างประเทศจากประเทศสหรัฐอเมริกา เขาส่งใบสมัครทำงานไปบริษัทไฟแนนซ์หลายแห่งเพราะเวลานั้นเป็นยุคทองของธุรกิจไฟแนนซ์ ขณะเดียวกันเห็นเอปสันรับสมัครตำแหน่ง marketing assistance ก็สนใจยื่นใบสมัครด้วยเพราะเคยเรียนการตลาดระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

“ตอนนั้นใฝ่ฝันอยากทำงานไฟแนนซ์เพราะจ่ายโบนัสเยอะ ก็ยื่นใบสมัครไปหลายแห่ง ยื่นสมัครงานด้านการตลาดที่เอปสันเพียงแห่งเดียวเพราะเห็นว่าการทำตลาดเวียดนามในยุคนั้นเป็นความท้าทายมาก บังเอิญว่าทางเอปสันเรียกมาสัมภาษณ์ก่อนที่อื่น และตกลงทำสัญญาเข้าทำงานก่อนที่บริษัทไฟแนนซ์จะติดต่อมาเพียงหนึ่งวัน”

ชะตาฟ้าลิขิตที่เขาเอ่ยถึงยังมีเรื่องชวนให้เชื่ออีกเพราะตอนเรียนที่สหรัฐอเมริกา เขาซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรกคือยี่ห้อเอปสัน (Epson)

“ผมไม่คาดคิดว่าเรียนจบกลับมาเมืองไทยจะได้ทำงานกับเอปสัน จึงบอกว่าเหมือนเป็นโชคชะตาที่คลิกกันมา”

เขาเริ่มต้นทำงานบุกเบิกตลาดประเทศเวียดนามด้วยการเข้าไปหาลูกค้าตามร้านคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ จนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ทเนอร์ที่นั่นจนทุกวันนี้ 

“ยุคนั้นเครื่องพรินเตอร์เป็นสินค้าไอทีที่ราคาสูงเครื่องละ 3-4 หมื่น จนถึงราคาหลักแสนบาท ขายไม่ง่าย แต่ปรากฏว่าปีแรกในตลาดเวียดนามทำยอดขายได้ 748 เครื่อง เพราะตลาดไอทีตอนนั้นกำลังเติบโต”

ระหว่างทำงานที่เอปสันเขาได้รับการติดต่อทาบทามให้ไปทำงานที่บริษัทอื่นหลายครั้ง แต่เขาตอบปฏิเสธเพราะความท้าทายของงานที่รับผิดชอบเนื่องจากยุคนั้นเอปสันเน้นตลาดอินโดจีนเป็นหลัก ส่วนตลาดเมืองไทยเวลานั้นมีบริษัทตัวแทนคือสหวิริยาทำตลาดอยู่แล้ว

“ทำงานที่เอปสันทั้งเหนื่อยทั้งสนุก ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากญี่ปุ่นให้โอกาสได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ” ยรรยงบอกถึงสาเหตุที่ปักหลักทำงานบริษัทเดิมต่อไปไม่เคยเปลี่ยนงาน

เปิดเคล็ดลับการครองตลาด และกลยุทธ์เอปสัน กับ ‘ยรรยง มุนีมงคลทร’

สู่ความสำเร็จด้วย Trust

เขาย้อนเส้นทางการทำงานอันยาวนานที่เอปสันให้ฟังว่า ช่วงแรกทำงานรับผิดชอบดูแลตลาดอินโดจีนโดยเริ่มจากประเทศเวียดนามก่อน ค่อยขยายไปประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม CLMV 

“ช่วงนั้นไม่ค่อยอยู่เมืองไทย ผมต้องเดินทางไปทำงานเปิดตลาดใน 4 ประเทศทุกสัปดาห์ สมัยนั้นการเดินทางด้วยเครื่องบินภายในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สะดวกเท่าปัจจุบัน เดินทางลำบาก แต่ด้วยวัยเพียง 20 กว่าปีก็รู้สึกสนุก”

หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง เขาได้รับมอบหมายให้เข้ามาช่วยดูแลการตลาดในประเทศไทยด้วย เนื่องจากเวลานั้นตลาดในไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ต่อมาถูกมอบหมายให้เข้ามาดูแลส่วน back office เพิ่มขึ้น

“กลับมาประจำที่ประเทศไทยผมได้รับมอบหมายให้ดูแลทั้งสองส่วนโดยมีผู้บริหารชาวญี่ปุ่นเป็นหัวหน้า จนในปี 2563 ได้ขึ้นมาดูแลงานบริหารทั้งหมดของเอปสันเมืองไทย”

เขาเข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 โดยปีนั้นสถานการณ์ไม่ค่อยดีเนื่องจากการเผชิญปัญหาโควิด-19 แต่เขากลับได้รับข่าวดีว่าทางญี่ปุ่นจะมอบหมายให้เขาดูแลงานทุกมิติในประเทศไทย รวมทั้งดูแลตลาดเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และปากีสถาน

“ก็รู้สึกดีใจที่เป็นคนท้องถิ่นคนแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับความไว้วางใจจากทางญี่ปุ่นให้รับผิดชอบดูแลตลาดประเทศไทย ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนยังเป็นผู้บริหารชาวญี่ปุ่น”

แต่ด้วยความสงสัยจึงถามกลับไปทางญี่ปุ่นว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เขาที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นมารับผิดชอบเป็นเบอร์หนึ่งคนแรกในประเทศไทยและในอาเซียน ก็ได้คำตอบสั้น ๆ คำเดียวว่า “trust”

“คงเป็นเพราะวิธีการทำงานของผมได้รับอิทธิพลมาจากการอบรมสั่งสอนในแบบครอบครัวคนจีน คุณพ่อจะสอนเรื่องความสำคัญของการตรงต่อเวลา การรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จนมีนิสัยเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก ความรับผิดชอบในหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ซึ่งผู้บริหารญี่ปุ่นบอกว่าผมมี high responsibility และผลลัพธ์ออกมาคือ trust ที่เขามีต่อผม”

“สไตล์การทำงานแบบญี่ปุ่นไม่ใช่ดูแค่เรื่องความสำเร็จด้านยอดขายที่ทำให้บริษัทเติบโตไปได้เท่านั้น เขาจะต้องดูเรื่องความซื่อสัตย์ คือเป็นคนที่ตรงไปตรงมาหรือไว้ใจได้ขนาดไหน เนื่องจากผมจะต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายของบริษัทด้วยตัวเองทั้งหมด”

ยรรยงให้ข้อสังเกตว่า “คนอาเซียนอย่างพวกเราบางทีญี่ปุ่นเขาอาจจะมีมุมมองที่ยังไม่เชื่อมั่นในเรื่องความรับผิดชอบว่ามีไม่เต็มที่นัก ดังนั้นบริษัทญี่ปุ่นบางแห่งแม้จะมอบหมายให้คนท้องถิ่นเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ด้านการเงินก็ต้องให้คนญี่ปุ่นดูแลอยู่ดี แต่เอปสันมอบหมายให้ผมดูแลทั้งหมด รวมทั้งด้านการเงินด้วย”

“เจ้านายชาวญี่ปุ่นคนแรกของผมเป็นคนที่ทำงานตรงไปตรงมามาก เวลาทำงานจะใช้ความรู้สึกไม่ได้ ต้องเอาข้อมูลมาคุยกัน เขาปลูกฝังให้เราทำงานอย่างมีระบบ ไม่ใช่ใช้การคาดเดา ผมจึงถือว่าโชคดีที่ถูกปลูกฝังจากทางบ้านมาตั้งแต่เด็ก จนมาทำงานกับคนญี่ปุ่นที่เอปสัน ส่งผลมาถึงวันนี้ที่ทำให้ผู้บริหารญี่ปุ่นไว้วางใจตัวเรา”

เช่นเดียวกับสไตล์การทำงานของเขา ยรรยงเล่าว่าในการทำงานกับทีมเขาชอบใช้คำว่า “รับผิดชอบ” คือไม่ว่าจะทำอะไรทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมงาน และรับผิดชอบต่อบริษัท ตลอดจนคนภายนอกที่บริษัทเข้าไปเกี่ยวข้อง

“เมื่อทุกคนมีความรับผิดชอบก็จะเกิดแอคชั่นต่าง ๆ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ผลสุดท้ายก็จะเกิด trust จากทุกคน เมื่อได้รับความเชื่อใจจะทำงานกับเพื่อนร่วมงานก็ง่ายขึ้น มีโอกาสที่เจ้านายจะโปรโมทให้ทำงานที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้น เมื่อคู่ค้าไว้เนื้อเชื่อใจก็ขายของง่ายขึ้น รวมไปถึงผู้ใช้เมื่อมั่นใจก็ซื้อของเรามากขึ้น”

เอาตัวรอดจากโควิด-19

ในฐานะผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ของเอปสันประเทศไทยที่เข้ามารับผิดชอบในช่วงเวลาที่โควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างหนัก ทำให้เขาต้องปรับตัวด้วยการบริหารแบบองค์รวม มีการเตรียมพร้อมทุกด้านตลอดเวลา

แม้โควิด-19 จะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจไอทีมากเหมือนธุรกิจอื่น ๆ แต่ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย อย่างแรกคือซัพพลายเชนส์ จากปัญหาโลจิสติกส์ที่หยุดชะงักไปทำให้เกิดความขาดแคลนบางอย่างเช่นชิป อย่างที่สองช่องทางจัดจำหน่ายปิดไป 

“ช่วงนั้นเมื่อร้านค้าปิดเราก็ต้องเปิดขายผ่านออนไลน์ เราก็คุยกับพาร์ทเนอร์ในการเปิดช่องทางออนไลน์อย่างชัดเจน โดยเอปสันสนับสนุนทุกด้าน จะเห็นว่ายอดขายผ่านออนไลน์ตอนนั้นมากถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมด เราก็ไปร่วมกิจกรรมเพื่อเติมเต็มกับพาร์ทเนอร์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เขาต้องการอะไรเราก็สนับสนุน ร่วมกันคิดว่าจะต้องทำอย่างไรให้เติบโตไปด้วยกันอย่างแข็งแรง”

“ด้านซัพพลายเชนส์เราก็พยายามหาหนทางว่าจะทำอย่างไรให้สินค้ามาถึงให้เร็วที่สุด อย่างเช่นปกติสินค้าจะส่งจากสิงคโปร์มาทางเรือ ช่วงโควิดเราก็มีการขนส่งทางรถยนต์ เรียกว่าทำทุกวิถีทางที่จะนำสินค้ามาสนองตลาดให้ได้เพื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อยอดขายให้น้อยที่สุด”

ดังนั้นช่วงวิกฤติโควิดจึงมีผลกระทบกับเอปสันที่เขาดูแลรับผิดชอบไม่รุนแรงมาก ทำให้หลังโควิดยอดขายกลับมาเติบโตอย่างเสถียรมาก โดยรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มในปี 2564-2565 ของเอปสันประเทศไทยมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าการเติบโตดังกล่าวจะยังคงมีความต่อเนื่องในปี 2566 

เผชิญความท้าทายใหม่

จากบทบาทความรับผิดชอบที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา ยรรยงบอกว่าเขาต้องปรับเปลี่ยนความคิดไปทุกช่วงของการทำงาน

“ในช่วงแรกที่ดูแลเฉพาะด้านการตลาดจะคิดเพียงว่าทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จทางด้านยอดขาย ไม่ต้องคิดไปถึงการพัฒนาทีมงานเพราะเราทำงานด้วยตัวเราเอง เมื่อต้องดูแลทางด้าน back office ก็ต้องคิดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต้องมองกว้างขึ้นนอกเหนือจากการขาย แต่ปัจจุบันต้องคิดถึงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งยอดขาย การพัฒนาองค์กร เรื่องแบรนด์ พาร์ทเนอร์ รวมถึงลูกค้าของเรา และสุดท้ายคือสังคมที่เราเข้าไปทำธุรกิจด้วย”

เขาเห็นว่าการที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในประเทศใด จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในการบริหารทุกมิติ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ ซึ่งปัจจุบันการทำธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่การขายสินค้าได้แล้วจบเท่านั้น ยังต้องมีความต่อเนื่องเรื่องของแบรนด์ดิ้ง เรื่องทางสังคมต่าง ๆ อีกมากมาย นับเป็นความท้าทายที่มากขึ้น

“เอปสันมีบุคลิกที่เปรียบเสมือนผู้ใหญ่ที่เติบโตมีวุฒิภาวะในการดำเนินชีวิตพอสมควร ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าแบรนด์ดิ้งของญี่ปุ่นจะมีความมั่นคง มีความน่าเชื่อถือ แต่ไม่ค่อยจะเทรนดี้เท่าไร สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ผมและทีมงานต้องพยายามผสมผสานสองส่วนนี้เข้าไปให้ได้” 

“โจทย์ที่เราต้องคิดคือแนวโน้มของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม ความน่าเชื่อถืออย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์แล้ว หรือเรื่องประโยชน์ของการใช้งานเราจะต้องหันมาทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เขายังยืนยันว่า reliability หรือ ความน่าเชื่อถือยังคงเป็นจุดแข็งของเอปสัน “เมื่อก่อนทุกคนจะยอมรับสินค้าญี่ปุ่นในเรื่องคุณภาพ ทั้งในด้านความเสถียรและด้านเทคโนโลยี แต่วันนี้มีสินค้าของผู้ผลิตจากชาติอื่น ๆ เข้ามาแข่งขันด้วยคุณภาพที่ไม่ด้อยกว่ากัน เราก็ต้องคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ไม่ใช่อยู่นิ่ง ๆ ด้วยความมั่นใจว่าเทคโนโลยีของเราดี” 

“เอปสันจะต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคงแต่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดี มีความคล่องตัวและรวดเร็วพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไป” 

ดังนั้นในการทำงานทุกวันนี้เอปสันมีการปรับตัวพอสมควร อย่างเช่นภายในบริษัทมีคนทำงานรุ่นใหม่ที่เป็น gen y และ gen z เข้ามามากขึ้น 

“พวกเขามีความต้องการเรื่องความเป็นอิสระทางความคิดมากกว่าคน gen x อย่างผมที่เน้นอยู่กับกฎระเบียบมากกว่า จึงมีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานให้บริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

ปรับแนวทางตลาดเน้น B2B

ยรรยงบอกว่าเอปสันมีจุดแข็งด้านเทคโนโลยี และมี growth engine ของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา

ในยุคแรกของเอปสันเริ่มด้วยธุรกิจเครื่องพิมพ์ดอทแมทริกซ์ (dot matrix) ต่อมาเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ยอดขายลดลง จนมีของใหม่คือเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท (inkjet) มาแทน เมื่อ 13 ปีก่อน ช่วงที่ตลาดนี้กำลังเติบโต เอปสันเป็นผู้ผลิตรายแรกที่ออกเครื่องพิมพ์แบบอิงค์แทงค์ (inktank) และประสบความสำเร็จอย่างมาก

“ช่วงนั้นเป็นยุคทองของเอปสันเพราะคู่แข่งตามเราไม่ทันจึงยังไม่มีใครผลิตออกมา แต่หลังจากนั้นตลาดก็อิ่มตัวเพราะทุกแบรนด์มีการผลิตเครื่องพิมพ์แบบอิงค์แทงค์ตามกันออกมา เราก็ต้องปรับตัวอีกครั้งโดยโฟกัสไปที่ตลาด commercial อย่างจริงจังเพราะเทคโนโลยีของเราทำได้”

หลังจากเอปสันพัฒนาหัวพิมพ์อิงค์เจ็ทให้มีความเร็วการพิมพ์ตั้งแต่ 60 หน้า ถึงสูงสุด 100 หน้าต่อนาที ก็มุ่งเป้าตลาดเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่สำหรับภาคธุรกิจ (commercial) โดยการผลักดันให้มีการใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทแทนเครื่องถ่ายเอกสารแบบเลเซอร์ และมีการพัฒนาต่อเนื่องไปยังเครื่องพิมพ์สำหรับตลาดภาคอุตสาหกรรม (industrial) เพื่อนำระบบการพิมพ์ดิจิทัลเข้าทดแทนระบบอนาล็อกในภาคการผลิต

“การขยายสู่ตลาดเครื่องถ่ายเอกสารเริ่มต้นจากมองเห็นว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอปสันมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภค ซึ่งมีคุณภาพเหนือว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาด”

เขาให้ข้อมูลว่าเครื่องถ่ายเอกสารที่จำหน่ายในตลาดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเทคโนโลยีเลเซอร์ซึ่งมีจุดอ่อนที่กินไฟและมีกลิ่น รวมถึงอาจมีปัญหาฝุ่นผง ขณะที่เครื่องถ่ายเอกสารของเอปสันเป็นแบบอิงค์เจ็ท ไม่มีเรื่องปัญหาความร้อน และมีคุณภาพงานพิมพ์ดีกว่า โดยเฉพาะงานพิมพ์สีคุณภาพดีและราคาถูกกว่าเครื่องถ่ายเอกสารแบบเลเซอร์ 

“ภาพรวมของตลาดสินค้าไอทีในเมืองไทย ตลาด consumer ยังเติบโตไปได้ แต่ไม่หวือหวาเหมือนในอดีตเพราะการเข้าถึงของประชาชนมีมากพอสมควร โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีการใช้อุปกรณ์ไอทีกันเกือบหมดแล้ว การเติบโตทีเหลือคงเป็นเขตนอกเมืองหรือตลาดต่างจังหวัด ส่วนภาคธุรกิจยังจะไปได้ดีเพราะเทคโนโลยีด้านไอทีเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรธุรกิจต้องลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นเดียวกับภาคราชการ ตอนนี้โอกาสของสินค้าเทคโนโลยีจะอยู่ที่ตลาด B2B ซึ่งมีมูลค่าสูง”

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรามีโครงการ B2B transformation เป้าหมายจะเข้าสู่ธุรกิจ B2B มากขึ้นเนื่องจากการขยายตลาด consumer ให้เติบโตทำได้ยาก ถ้าจะทำให้บริษัทอยู่ได้อย่างมั่นคงในระยะยาวก็ต้องมีอีกตลาดคือ B2B ซึ่งแนวคิดทางการตลาดและการใช้ทรัพยากรแตกต่างกันอย่างมากกับตลาด consumer”

“ผลิตภัณฑ์ที่เป็น consumer พาร์ทเนอร์จะทำได้ดีในเรื่องการเข้าถึงตลาด ส่วนผลิตภัณฑ์ commercial และ industrial :ซึ่งเป็นตลาด B2B จะเน้นขายตรง”

ปัจจุบันเอปสันมีผลิตภัณฑ์สำหรับตลาด 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ตลาด consumer มีเครื่องพิมพ์อิงค์แทงค์และโปรเจคเตอร์ เป็นสินค้าหลัก ตลาด commercial มีเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทขนาดใหญ่และเครื่องพิมพ์หน้ากว้าง และตลาด industrial มีเครื่องพิมพ์อุตสาหกรรมเช่น เครื่องพิมพ์ผ้าแบบดิจิทัล และเครื่องพิมพ์ฉลากความเร็วสูง โดยทั้งหมดมีเทคโนโลยีหลักเป็นอิงค์เจ็ท ยกเว้นผลิตภัณฑ์โปรเจคเตอร์

ทั้งนี้ มีสัดส่วนตลาดเป็น consumer ประมาณ 55-60 เปอร์เซ็นต์ ตลาด commercial กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และตลาดโปรเจคเตอร์อีกกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาด industrial ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก

“ตอนนี้ตลาด consumer เรายังไม่ทิ้งเพราะเป็นพอร์ตใหญ่ แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่จะลงไปเน้นการทำตลาด commercial และตลาด industrial ซึ่งมีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลัก เชื่อว่าภายในอีก 3 ปี ทั้งสองตลาดนี้จะมีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์”

เอปสันไม่ใช่แค่พรินเตอร์

โดยทั่วไปภาพจำของผู้บริโภค “เอปสันคือพรินเตอร์” เพราะช่วงเวลากว่า 30 ปีนับแต่ก่อตั้งบริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี 2533 เครื่องพิมพ์หรือพรินเตอร์ (printer) เป็นสินค้าหลักที่สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จทางธุรกิจให้แก่เอปสัน แต่นับจากนี้ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป

“ในด้านการจดจำของแบรนด์ยังคงเป็นพรินเตอร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ในอนาคตคงไม่ใช่ เพราะเรากำลังเปิดตลาด industrial เรามีหุ่นยนต์แขนกลที่เรียกว่า Scala Robot ซึ่งเอปสันเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดโดยเน้นที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก แต่คนทั่วไปไม่มีใครรู้จัก”

“ความท้าทายด้านแบรนด์ดิ้งของเราคือจะอยู่ตรงจุดไหน และทำอย่างไรให้คนรู้จัก”

ยรรยงบอกว่าคงยึดจุดประสงค์ทางธุรกิจของเอปสันที่ต้องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำ พร้อมกับการทำให้โลกนี้ดีขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม

“แต่ look & feel จะปรับแต่งให้ตรงกับแต่ละตลาด การทำกิจกรรมการตลาดก็จะแยกออกไปไม่เหมือนกัน ถ้าถามว่าเราจะเน้นตรงไหน ก็คงขึ้นกับจังหวะและโอกาส”

ความยั่งยืน … ไม่ใช่แค่ ‘ซีเอสอาร์’ แต่คือ ‘พันธสัญญา’ ของเอปสัน ประเทศไทย

ยึดแนวคิดธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ผู้อำนวยการบริหารของเอปสันประเทศไทย กล่าวว่า เอปสันตั้งเป้าหมายจะเป็น net zero ในปี 2593 (ค.ศ.2050) ในเรื่องของ carbon negative ดังนั้นเทคโนโลยีที่ออกมาใหม่จะต้องตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม 

“เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์นี้เพราะการทำ net zero ไม่ได้ขึ้นกับสินค้าอย่างเดียว แต่ขึ้นกับการบริหารจัดการภายในของเรา เทคโนโลยีจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีอิงค์เจ็ทเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเดียวที่ไม่ใช้ความร้อน จะใช้พลังงานแค่เพียง 15 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ประเภทที่ใช้ความร้อน รวมถึงสามารถเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากอนาล็อกเป็นดิจิทัลด้วย”

“การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราอยู่บนแนวคิดเพื่อความยั่งยืนเป็นสำคัญ เช่น กำหนดว่าเครื่องพรินเตอร์รุ่นต่อไปจะต้องเป็นพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ หรือกำหนดว่าแต่ละเครื่องต้องมีอายุการใช้งานยาวขึ้น หรือออกแบบให้เครื่องมีขนาดเล็กลงเพื่อใช้ทรัพยากรน้อยลง แม้กระทั่งคิดว่าทำให้ถุงบรรจุหมึกพิมพ์ที่ใช้แล้วสามารถนำกลับไปบรรจุหมึกใหม่อีกได้ไหม”

หรือกรณีผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ลายผ้า ซึ่งในอดีตกระบวนการพิมพ์จะต้องมีน้ำทิ้งและมีของเสียเกิดขึ้นมากมาย จึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมาก แต่เทคโนโลยีอิงค์เจ็ทพิมพ์โดยไม่ต้องใช้น้ำ แต่เป็นหมึกพิมพ์ลงบนผ้าจนเสร็จ จึงช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้

เขาย้ำว่าทั้งหมดนี้เป็นการคิดและออกแบบทั้งกระบวนการ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่การบริหารจัดการภายในออฟฟิศก็คำนึงเรื่องลดการใช้พลังงาน ลดการใช้พลาสติก และลดความสิ้นเปลืองของทรัพยากรต่าง ๆ 

“แบรนด์เอปสันมีนโยบายให้ความสำคัญในเรื่อง sustainability หรือความยั่งยืนมาโดยตลอด สำหรับเอปสันประเทศไทยจะเน้นในเรื่องที่เราเห็นว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง โดยมีผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย”

เ​อปสัน จับมือ WWF ขยายผลการฟื้นฟูทะเล พร้อมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำเพื่ออนาคต

ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันเอปสันประเทศไทยมีพนักงานราว 150 คน อายุเฉลี่ยประมาณ 35-40 ปี แม้จะมีการเติมคนรุ่นใหม่เข้ามาเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนองค์กรให้สดใหม่ทันยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนไป แต่เนื่องจากยังมีคนรุ่นเก่าอยู่ในสัดส่วนมาก ทำให้แนวโน้มของอายุเฉลี่ยคงไม่ต่ำไปกว่านี้

“เวลานี้เรากำลังมุ่งเน้นไปที่ตลาด B2B ที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ ดังนั้นการเพิ่มเติมทีมงานใหม่เข้ามาจำเป็นต้องเป็นคนที่ผ่านการทำงานมาพอสมควร” 

“คนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 20 กว่าปี จะเน้นงานการตลาดหรืองานที่ต้องการความอิสระทางความคิดมากกว่า เป็นต้นว่างานสื่อสารการตลาด แต่ทีมขายที่ทำตลาด commercial และ industrial จะมีอายุกว่า 30 ปีขึ้นไป”

ส่วนในด้านแบรนด์ดิ้ง เนื่องจากเอปสันมีอายุกว่า 30 ปีแล้ว จะมีการ refresh ให้แบรนด์กลับมาทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดี

โดยยืนยันว่า value proposition ของเอปสันยังคงเป็นเรื่องคุณภาพของสินค้าและแบรนด์ที่มีความยั่งยืน “สองตัวหลักนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าให้การยอมรับ” 

“เรื่องคุณภาพเรามององค์รวมทั้งหมด ตั้งแต่สินค้า การบริการ จนถึงทีมงานของเรา ไม่ใช่เพียงแค่สินค้าดีเท่านั้น แต่ต้องมีทีมงานที่มีคุณภาพด้วย จึงจะนำไปสู่ความไว้วางใจของลูกค้า เมื่อลูกค้ามี consumer experience ที่ดี จะช่วยสร้าง brand value ที่ดี นี่เป็นสิ่งที่เอปสันพยายามทำมาตลอดเนื่องจากสินค้าของเราไม่ใช่ราคาถูกเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด” ยรรยงกล่าวสรุป

ประสบการณ์และความใฝ่ฝัน 

จากประสบการณ์การทำงานตลอด 30 ปีในเอปสัน ยรรยงยืนยันว่า “ไม่ง่ายเลย” เขาต้องผ่านผู้บริหารชาวญี่ปุ่นมากถึง 6-7 คน แต่ละคนทำงานคนละสไตล์กัน

“บางช่วงลำบากมาก เมื่อต้องทำงานกับผู้บริหารรุ่นเก่าที่ยืดถือในเรื่องลำดับชั้น เราก็ต้องทำตามผู้ใหญ่ บางครั้งเราไม่เห็นด้วยก็ต้องใช้ศิลปะในการจูงใจ ไม่ใช่ดื้อแบบหัวชนฝา เราก็ทำในสิ่งที่เจ้านายต้องการ แต่สุดท้ายอะไรที่เป็นเป้าหมายของเราก็ต้องทำให้สำเร็จ”

เมื่อต้องรับบทผู้บริหารสูงสุด เขายอมรับว่าการบริหารคนเป็นสิ่งที่ยาก ในบางมุมพบปัญหาว่าผู้จัดการบางคนอยากให้เด็กเป็นอย่างที่ตัวเองเป็น ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ และพยายามถ่ายทอดความคิดว่า

“ผู้ใหญ่อย่าไปกำหนดทิศทางให้เด็กจนเขาไม่สามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้ เราต้องดูที่ผลลัพธ์สุดท้ายว่าเป็นอย่างที่ต้องการหรือไม่ แม้ทางเดินจะไม่เหมือนกันก็ตาม”

ในฐานะผู้บริหารคนไทยที่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเบอร์หนึ่งของบริษัทชื่อดังแห่งนี้ได้เป็นคนแรก ยรรยงบอกว่า

“mission ของผมอยากส่งเสริมให้คนไทยได้มีส่วนเข้าไปทำงานในระดับ regional มากขึ้น เพราะคนไทยมีความสามารถไม่ด้อยกว่าคนชาติอื่นเลย จึงพยายามโค้ชให้คนทำงานมีความคิดที่กว้างขึ้น นอกจากในเมืองไทยจะต้องคิดทำอะไรที่ทำให้มี career path ใหญ่ขึ้น พร้อมกับวางแผนสร้างคนที่จะเข้ามาดูแลพัฒนาองค์กรต่อไปในอนาคต”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

เอปสัน ชูวิสัยทัศน์ ยึดความยั่งยืน สร้างอนาคตทางธุรกิจ เติมรุ่นเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเพื่อธุรกิจแน่นทั้งไลน์

เอปสัน หนุนผู้ประกอบการใช้ความยั่งยืนปั้นธุรกิจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
437ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ