TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewCEO Storyแกะรอย DNA กลุ่ม “บ้านโป่งทาปิโอก้า” ผู้ปักหมุดแป้งนวัตกรรมของไทยในตลาดโลก

แกะรอย DNA กลุ่ม “บ้านโป่งทาปิโอก้า” ผู้ปักหมุดแป้งนวัตกรรมของไทยในตลาดโลก

จากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดิบที่รุ่นพ่อก่อตั้งขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน สู่ทายาทรุ่นที่ 2 ปรับเปลี่ยนเป็นการทำผลิตภัณฑ์ที่มี volume เล็ก แต่ value ใหญ่ ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนการผลิตจนเปลี่ยนจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังธรรมดา ๆ กลายเป็นผู้นำด้าน texture solution ที่เชี่ยวชาญการผลิตแป้งมันดัดแปรชนิดต่าง ๆ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีการทรานส์ฟอร์มธุรกิจครั้งใหญ่ในปี 2560 พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด เป็น บริษัท บ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด (Banpong Tapioca) เพื่อบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ยังสะท้อนรากเหง้าของธุรกิจดั้งเดิมที่มาจากผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

“การเปลี่ยนชื่อก็เป็นหนึ่งในกระบวนการทรานส์ฟอร์ม แต่สิ่งที่เราเปลี่ยนไปก็คือการเป็นผู้ผลิต ingredient และกำลังก้าวต่อไปเป็น nutrition”

นายแพทย์สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ ผู้บริหารรุ่น 2 ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรมของบ้านโป่งทาปิโอก้ากล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่า “เราเป็นบริษัทของคนไทยหนึ่งเดียวที่มีเทคโนโลยีในการดัดแปลงคุณสมบัติแป้งที่เกิดจากฝีมือคนไทย ไม่มีการซื้อโนว์ฮาวจากต่างประเทศ ซึ่งเกิดจาก DNA ของเราที่ชอบทดลอง ศึกษาหาความรู้ในการพัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเอง”

ความสำเร็จของพวกเขาดึงดูดให้ The Story Thailand ต้องหาคำตอบว่า DNA ที่กล่าวมานั้นเป็นเช่นไร จึงสามารถผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวแบบ SME รายหนึ่งกลายเป็นบริษัทนวัตกรรมด้านการแปรรูปพืชผลเกษตรที่มีผู้ผลิตอาหารจากทั่วโลกเป็นลูกค้า

นายแพทย์สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์

อยากไปต่อแบบยั่งยืนต้องเพิ่มมูลค่า

การผลิตแป้งมันสำปะหลังแบบดั้งเดิม (native starch) เป็นการแปรรูปพืชผลการเกษตรขั้นพื้นฐาน หรือ commodity ที่ลงทุนไม่สูง ในอดีตจึงมีผู้ผลิตเกิดขึ้นนับร้อยราย แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าน้อยให้ผลตอบแทนต่ำ จะเติบโตได้ต้องมีขนาดการผลิตที่ใหญ่พอ เมื่อเวลาผ่านไปโรงงานขนาดเล็กก็ค่อย ๆ ล้มหายตายจาก บางรายขายกิจการให้โรงงานใหญ่ บางรายเลิกกิจการเพราะรุ่นลูกไม่ทำต่อ แต่กิจการของบริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด ยังคงสืบทอดต่อไปภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 2

“รุ่นคุณพ่อส่วนใหญ่ทำเป็นธุรกิจแบบครอบครัว มีเงิน 5-10 ล้านบาทก็ตั้งโรงงานได้ จึงมีคนทำแบบเดียวกันเป็นร้อยโรงงาน พอมาถึงรุ่นพวกเราก็มาดูกันว่าธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนจะต้องทำอย่างไร เราวิเคราะห์ว่ารูปแบบธุรกิจเดิมเป็น low tech มีมาร์จินต่ำ ถ้าเราจะอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังต่อไปก็ต้องสเกลให้ใหญ่ แต่พวกเราเป็นอีก DNA หนึ่ง เราไม่ใช่พวกเน้นใช้แรงงานทำงาน”

นายแพทย์สมิทธิ์ หนึ่งในทายาทที่เข้ามาร่วมมือกับพี่และน้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงธุรกิจของครอบครัว เล่าถึงสาเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจ โดยเลือกแนวทางที่ตรงกับ DNA ของสมาชิกในครอบครัวที่ชอบการทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ

“เมื่อสิบปีก่อนเราเอาข้อมูลย้อนหลังมาดูเพื่อวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมที่เราทำอยู่ พบว่าตลาดเริ่ม consolidated แล้ว โรงงานรุ่นเดียวกับคุณพ่อหลายแห่งไม่ทำต่อก็ขายไป แต่หลายแห่งก็เติบโตขึ้นเป็นรายใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 7-8 รายที่ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นเรามี 2 โรงงานมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เราก็เลือกว่าจะไม่โตแบบเน้นขยายขนาดแต่จะมุ่งเน้นที่การเติบโตจากการสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่า”

พวกเขาลงมือทดลองทำแป้งใหม่ ๆ ออกมา เริ่มจากทำแป้งมันดัดแปรระดับพื้นฐาน (basic modified starch) จากนั้นพัฒนามาทำแป้งดัดแปรที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อปรับปรุงและพัฒนาเนื้อสัมผัส (texture solution) ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าและมีราคาสูงกว่า

“ก่อนจะพัฒนาเป็นแป้งส่วนผสมของอาหาร หรือ ingredient ที่เน้นคุณสมบัติทางด้านเนื้อสัมผัสอย่างจริงจังนั้น ทางโรงงานได้เริ่มจากการพัฒนาแป้งดัดแปรพื้นฐานก่อน เพราะงานด้านนวัตกรรมมีความเสี่ยงที่ลงทุนไปแล้วอาจจะไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง จึงต้องมี precursor เสียก่อน ในรุ่นแรกเป็นการดัดแปรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ และยิปซั่มบอร์ด ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่าแป้งดัดแปรอุตสาหกรรม หลังจากนั้นจึงพัฒนาสู่การทำเป็น texture solution”

“เราออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ volume มีน้อยลงแต่ value มีมากขึ้น เช่นแป้งบางตัวมีประสิทธิภาพสูงช่วยให้ลูกค้าสามารถลดปริมาณการใช้ได้ครึ่งหนึ่ง แม้ราคาขายแพงขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ลูกค้าก็ยังประหยัดถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มาร์จินของเราเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ การที่เราเลือกมาทางนี้ก็เป็นสถานการณ์ win-win ของเรากับลูกค้า”

เขาเล่าว่าการผลิตแป้งดัดแปรมีจุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์ทำเรื่องแก๊สชีวภาพเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โดยคุณประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์ (ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ) พี่ชายคนโตซึ่งจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเคมี ได้ริเริ่มนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตแป้งมันมาวิเคราะห์พบว่าสามารถนำมาทำแก๊สชีวภาพและนำไปเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองได้ จนทดลองทำแก๊สชีวภาพได้สำเร็จ

“เรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนในกระบวนการผลิตโดยเราเป็นโรงงานแรกที่ไม่ต้องใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในการอบแป้งให้แห้งเพราะมีไบโอแก๊สที่ผลิตขึ้นมาได้เอง ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครมีความรู้เรื่องนี้เลย ก็ช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้มาก”

อย่างที่สองเกิดธุรกิจการผลิตสาหร่ายเกลียวทองหรือ Spirulina ซึ่งมีโปรตีนสูง ไม่ประสบความสำเร็จจากปัญหาอุปสรรคทางธรรมชาติจึงเลิกการผลิตไป ทำให้เกิดการนำเครื่อง spray dryer ที่ใช้ทำแห้งในการผลิตสาหร่ายเกลียวทองมาทดลองกับการผลิตแป้งมันจนเกิดเป็นแป้งดัดแปรตัวแรกขึ้นมาในราวปี 2548

“จาก DNA ที่ชอบทดลอง เมื่อทำไปเรื่อย ๆ ก็เกิดเป็นรากฐานของเรา ประกอบเข้ากับประสบการณ์การทำธุรกิจที่สั่งสมมา พอถึงจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งเราก็อยากโตต่อไปแบบก้าวกระโดดก็ลงมือทรานส์ฟอร์มในปี 2560“

เพิ่มมูลค่าจากการสร้างนวัตกรรม

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2560 ด้วยการทุ่มทุน 800 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่ นำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาปรับปรุงกระบวนการผลิต ทุ่มเทกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น คือ แป้งดัดแปรสำหรับใช้ปรับปรุงและพัฒนาเนื้อสัมผัสในอาหารและเครื่องดื่ม (High Value Food Texture Solution) โดยนำแป้งมันสำปะหลังมาผ่านกรรมวิธีเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อทำให้มีคุณสมบัติเปลี่ยนไปตามที่ต้องการ อาทิ ไม่คืนตัว ความหนืดลดลง คงตัวต่อความร้อนหรือกรด

ปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาธุรกิจ ทายาทรุ่นที่ 3

ซึ่งส่งผลต่อเนื้อสัมผัส หรือ texture ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความนุ่ม เหนียว แน่น เนียน กรอบ แข็ง และอื่น ๆ ซึ่ง ปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาธุรกิจ ทายาทรุ่นที่ 3 บอกว่าการพัฒนาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากความต้องการตอบโจทย์ของลูกค้า

“ตัวอย่างเช่นลูกค้าเจอปัญหาแป้งทำขนมมีความเหนียวไม่ได้อย่างที่ต้องการ เมื่อเราศึกษาปัญหาก็พบที่มาว่าเกิดจากลูกค้าใช้ความร้อนมากเกินไป ทีมวิจัยและพัฒนาก็คิดหาวิธีการปรับปรุงโครงสร้างโมเลกุลของแป้งให้ทนความร้อนได้มากขึ้น หรือในงานที่ต้องมีส่วนผสมของกรด ก็อาจต้องการโครงสร้างโมเลกุลของแป้งที่ทนกรดได้ดีขึ้น”

ปริญญ์บอกว่าบางทีการทำนวัตกรรมต้องใช้การทดลองเป็นพัน ๆ ครั้ง “เราค่อย ๆ ทำไปทีละนิดจนตอนนี้ทุกโรงงานของเรามีเครื่องจักรทำสารพัดเพื่อนำแป้งมาทดสอบดูว่ามีความทนทานต่อสภาวะต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน เมื่อได้คำตอบที่พอใจแล้วก็ส่งกลับไปให้ลูกค้าทดลองใช้”

“จู่ ๆ จะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาคงเป็นไปไม่ได้ กว่าจะถึงวันนี้เราสะสมองค์ความรู้มาเป็นเวลากว่าสิบปี” นายแพทย์สมิทธิ์กล่าว และชี้ให้เห็นว่าการทำงานแบบนี้เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่ง

ปัจจุบันบ้านโป่งทาปิโอก้ามีโรงงานทั้งหมด 11 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดราชบุรี และกาญจนบุรี

“ถ้าเราซื้อโนว์ฮาวคนอื่นมาก็จะไปต่อไม่ได้ เมื่อเรามีการสะสมองค์ความรู้มากเข้าก็ช่วยให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทำได้รวดเร็วเพราะไม่ต้องเริ่มจากศูนย์”

“ช่วงสิบปีที่ผ่านมาเรามียอดขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 17-18 เปอร์เซ็นต์ แต่ก่อนยอดขายปีละ 700-800 ล้านบาท ตอนนี้เติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวโดยปี 2565 ที่ผ่านมา มีรายได้ 1,722 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะต้องเติบโตอีกเท่าตัวด้วยอัตราการเติบโตเท่าตอนนี้”

สิ่งที่น่าสนใจคือนับจากเริ่มกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลังแบบดั้งเดิมตั้งแต่ปี 2516 จนพัฒนาสู่การทำ texture solution อย่างจริงจังช่วง 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้ามียอดขายรวมในช่วง 5 ปีหลัง สูงกว่ายอดรวมทั้งหมดของช่วง 30 ปีแรก เนื่องจากมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ก้าวสู่ผู้นำ Texture Solution

จากข้อมูลในปี 2565 บ้านโป่งทาปิโอก้ามีผลิตภัณฑ์แป้งมันทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ 1. แป้งมันสำปะหลังแบบดั้งเดิม (commodity) มีสัดส่วนการผลิตคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ ราคาตลาดเฉลี่ย 12 บาทต่อกิโลกรัม 2. แป้งมันดัดแปรพื้นฐาน (basic modified) 40.6 เปอร์เซ็นต์ ราคาตลาดเฉลี่ย 25 บาทต่อกิโลกรัม 3. แป้งดัดแปรมูลค่าสูง สำหรับการปรับปรุงและพัฒนาเนื้อสัมผัสในอาหารและเครื่องดื่ม (texture solution) 40.7 เปอร์เซ็นต์ ราคาตลาดเฉลี่ย 50 บาทต่อกิโลกรัม 4. แป้งดัดแปรที่ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารทางการแพทย์ (nutrition) 1.7 เปอร์เซ็นต์ ราคาตลาดตั้งแต่ 100-800 บาท ตามชนิดของความต้องการ

เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลปี 2560 จะเห็นว่าสัดส่วนการผลิตของ texture solution มีการเติบโตแบบข้ามกระโดด จากเดิมเพียง 8.2 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 6-7 ปีเพิ่มเป็น 40.7 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับ commodity ที่เคยผลิตมากถึง 40.9 เปอร์เซ็นต์ กลับลดลงเหลือ 17 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ basic modified สัดส่วนลดลงเล็กน้อยจาก 50.9 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 40.6 เปอร์เซ็นต์

นายแพทย์สมิทธิ์เปิดเผยว่า ทุกวันนี้การทำแป้งแบบดั้งเดิมยังคงดำเนินต่อไป แต่ไม่มีการเติบโต ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเทรดเดอร์ที่สั่งซื้อครั้งละจำนวนมากและผู้ผลิตที่ไม่มีความต้องการพัฒนาสินค้าของตัวเอง ส่วนแป้งดัดแปรอุตสาหกรรมมีการเติบโตตามธรรมชาติของตลาด แต่การทำ texture solution เติบโตรวดเร็วและมีแนวโน้มจะเติบโตอีกมาก

“เวลาที่เราพูดถึงความอร่อยของอาหารจะประกอบด้วย 3 ปัจจัย หนึ่ง รสชาติ อร่อยถูกปาก สอง หน้าตา  ถ่ายรูปออกมาสวย และสาม เนื้อสัมผัส ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นสิ่งสำคัญ”

เขายกตัวอย่างว่า “ไก่ทอดต่อให้รสชาติดี สีสันสวยงามน่ากิน แต่ถ้าไม่กรอบความอร่อยก็ไม่เกิด ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ถ้าหน้าตาน่ากิน รสชาติถูกปาก แต่น้ำราดเหลวจนเละ ไม่เหนียวข้นอย่างที่ควรจะเป็น ก็ไม่ใช่จานอร่อยอย่างที่ทุกคนคาดหวัง”

“แป้งมันที่นำไปทำน้ำราดในก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ปกติเมื่อทิ้งไว้จนเย็นน้ำที่เหนียวข้นจะเหลวไป ยิ่งกว่านั้นถ้าเอาเก็บในตู้เย็น หรือเข้าช่องแช่แข็งเพื่อเก็บไว้กินได้นานหลายวัน เมื่อนำมาอุ่นใหม่จะเละไปเลย แป้งมันที่ใช้จึงต้องมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์มากขึ้น เมื่อนำมาอุ่นจะได้สภาพที่เหมือนตอนที่ซื้อมาใหม่ ๆ”

ขณะที่ปริญญ์ให้ข้อมูลเสริมว่า ความเป็นจริง texture solution ที่ใช้ในอาหารมีสัดส่วนน้อยมากเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารแทบทุกชนิดต้องใช้แป้งดัดแปรในการพัฒนาสินค้า บางอุตสาหกรรมนำไปใช้เสริมวัตถุดิบหลัก

“อย่างเช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งจะสุกได้ต้องใช้เวลามากหน่อย ผู้ผลิตจากเกาหลีมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรให้สุกเร็วขึ้น 2 นาที เราก็ต้องหาโซลูชันของแป้งมันที่สามารถตอบสนองเรื่องนี้ได้ เช่นเดียวกับขนมและอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่มีส่วนผสมของแป้งมันดัดแปร เราจึงมีสินค้านับร้อย SKU หรือบางอย่างก็ต้องทำขึ้นมาเป็นพิเศษให้ลูกค้าเฉพาะราย”

นอกจากการสร้างคุณสมบัติพิเศษให้แป้งมันมีฟังก์ชั่นตามที่ลูกค้าต้องการแล้ว ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นแป้งมันให้มีคุณสมบัติใช้แทนแป้งชนิดอื่นได้ในราคาที่ถูกกว่าแป้งตัวเดิม เช่น แทนแป้งมันฝรั่ง ซึ่งมีคุณสมบัติดีที่สุดแต่ราคาแพงสุดในกลุ่มแป้ง native

การผันตัวจากโรงงานที่เคยผลิตแป้งมันอย่างเดียวมาผลิตแป้งมันดัดแปรจำเป็นต้องมีความสามารถในการเสนอโซลูชั่นแป้งที่เหมาะสมกับปัญหาของลูกค้า โดยพวกเขาต้องมีความรู้ในงานที่ลูกค้าทำจึงจะตอบโจทย์ได้ เมื่อมีกลุ่มลูกค้าขยายกว้างขึ้นก็มีโจทย์ให้คิดค้นมากขึ้นเพราะโจทย์ของลูกค้าแต่ละรายไม่เหมือนกัน จึงต้องมีนักวิทยาศาสตร์อาหารที่เข้าใจเรื่องกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร และเรื่องโครงสร้างโมเลกุลของแป้ง

“งานทำแป้งดัดแปรใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น แต่ละชนิดมีรายละเอียดไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นในงานออกแบบและพัฒนา texture solution ของเราจึงต้องมีนักวิทยาศาสตร์อาหารจำนวนมากถึง 40-50 คน ทำการทดลองเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า”

เขาบอกว่าโครงสร้างของแป้งสามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลายแล้วแต่ปัจจัย ซึ่งความต้องการของลูกค้าจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ตอนที่ยังขายแป้ง native ลูกค้าไม่ต้องการมาก ดูแต่ความสะอาด ความขาวของแป้ง และความเหนียวใช้ได้หรือไม่ เข้าสู่แป้งดัดแปรเวอร์ชั่นแรกที่ใช้ในการผลิตกระดาษลูกค้าไม่เข้มงวดเรื่องความสะอาดมากนัก ขอแค่แป้งที่ทำเป็นกาวยึดติดในกระดาษได้ดีเป็นหลัก แต่พอทำเป็น texture solution ในอาหาร จะมีโจทย์จากลูกค้ามาเยอะเลย”

ปัจจุบันกลุ่มลูกค้า texture solution ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตอาหาร อาทิ โรงงานผลิตซอส มายองเนส โยเกิร์ต บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากนม เบเกอรี่ แยม ขนมชนิดต่าง ๆ เครื่องดื่ม อาหารแช่แข็ง รวมทั้งโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก แฮม ลูกชิ้น อาหารกระป๋อง ทั้งในไทยและต่างประเทศ

ตลาดหลักแป้งมันดัดแปรอยู่ต่างประเทศ

นายแพทย์สมิทธิ์บอกว่า การที่โรงงานบ้านโป่งทาปิโอก้ามีความสามารถในการพัฒนาแป้งมันดัดแปรที่มีคุณสมบัติพิเศษตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายทำให้มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาติดต่อ ทางบริษัทจึงได้เรียนรู้การทำตลาดต่างประเทศด้วยตัวเองและเปิดตัวสู่ตลาดโลกมากขึ้น

“เมื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์มีความพร้อม งานวิจัยและพัฒนาโอเคแล้ว เราก็มาเน้นเรื่องดิสทริบิวชั่น โดยรุ่นที่ 3 เข้ามารับผิดชอบดูแลทางด้านนี้ มีการทำ technical sale training เรามีการจัดฝึกอบรมให้ตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ ทำ sale package และ technical package เพราะเราไม่ได้แค่ขายของธรรมดา แต่เราขายผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการด้วย จึงต้องมีทีมทำเอกสารทางวิชาการช่วยสนับสนุน”

ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการตลาด ปริญญ์กล่าวเสริมว่า ตลาดต่างประเทศจะทำผ่านตัวแทนจำหน่ายที่มีความเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์อาหาร มีการทำเอกสารข้อมูลทางเทคนิคให้ศึกษาเพื่อความมั่นใจว่าสามารถไปรับโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ เนื่องจากแต่ละประเทศมีความต้องการด้านรสชาติและเนื้อสัมผัสไม่เหมือนกัน หรือประสบปัญหาต่างกัน

เขายกตัวอย่างขนมถั่วลิสงอบกรอบว่า ในประเทศไทยจะชอบแข็งมากหน่อยพองน้อยหน่อย ญี่ปุ่นอาจจะชอบพองมาก ๆ ถ้าเป็นลูกค้ามาเลเซียหรืออินโดนีเซียต้องการแข็งอย่างเดียว ส่วนตลาดแอฟริกาตอนเหนือต้องการแข็งกับพองกลาง ๆ

“เราต้องหาโซลูชั่นว่าแป้งแบบไหนที่ทำให้ขนมมีลักษณะตามนั้นได้ หรือบางทีต้องทำ customized แป้งตัวใหม่ไปให้เลย”

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดต่างประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนทุกวันนี้มีลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายอยู่ใน 21 ประเทศ โดยมีตลาดหลักในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี

“ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่ทางบริษัทลงทุนไปตั้งสำนักงานสาขาขึ้นมาตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มทำ food modifier เพราะเป็นประเทศที่บริโภคแป้งมากเป็นอันดับ 1 ของโลก จากวัฒนธรรมอาหารที่เน้นแป้งเป็นวัตถุดิบ ที่เหลืออีก 20 ประเทศเป็นตัวแทนจำหน่าย”

ทำแป้งนวัตกรรมสำเร็จรูปหนุน SME ไทย

“ปกติเราขายให้กับบริษัทที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ แต่ลูกค้า SME ก็มีปัญหาเรื่องการใช้แป้งเหมือนกัน อย่างกรณีทำสังขยาขาย แทบทุกรายจะมีปัญหาเรื่องการคืนตัวของน้ำ ลูกค้าจะโทรเข้ามาสอบถามว่าเรามีแป้งที่ใส่เข้าไปแล้วสังขยาไม่คืนตัวบ้างไหม”

นายแพทย์สมิทธิ์ให้ข้อมูลว่าเมื่อได้รับรู้ปัญหานี้บ่อย ๆ ทางโรงงานจึงได้ออกผลิตภัณฑ์แป้งมันพิเศษที่ใส่แทนแป้งข้าวโพดช่วยให้ไม่คืนตัว ภายใต้แบรนด์ “บ้านโป่งฟูจิซัง” (Banpong Fujisan) ขึ้นมาในรูปแบบแป้งดัดแปรสำเร็จรูปพร้อมใช้

“เรื่องเนื้อสัมผัส หรือ texture เป็นช่องว่างมหาศาลที่คนไม่พูดถึงเพราะความรู้มีจำกัด การมีแบรนด์ไม่ใช่เพื่อสร้างธุรกิจแบบ B2C ไปยังผู้บริโภคโดยตรง แต่ทำเพื่อสร้างการรับรู้ของตลาดว่าเรามีความรู้ในการผลิตสินค้าประเภทนี้ เมื่อช่วยตอบโจทย์ของลูกค้า SME ได้ เขาก็สามารถขยายตลาดได้ พอธุรกิจเติบโตใหญ่ขึ้นก็กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ ก็กลับมายังธุรกิจ B2B ที่เป็นธุรกิจหลักของเรา”

สินค้ากลุ่มนี้เน้นทำตลาดในประเทศโดยผ่านหลายช่องทาง ทั้งวางจำหน่ายปลีกบนชั้นสินค้า ขายผ่าน e-marketplace และขายตรงผ่าน LINE กับโทรศัพท์แก่ผู้ประกอบการ SME ร้านอาหาร ร้านขนม คาเฟ่ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้แป้ง หรือเพื่อใช้พัฒนาสินค้าของตน

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่เป็นแป้งสำเร็จรูปพร้อมใช้ภายใต้แบรนด์บ้านโป่งฟูจิซัง มีประมาณ 10 รายการ จากที่จำหน่ายแป้งดัดแปรทั้งหมดกว่า 100 รายการ ตัวอย่างเช่น แป้งกวนไส้ ช่วยแก้ปัญหาการคืนตัว แป้งชุบทอดที่ช่วยให้กรอบนาน แป้งทำขนมวาราบิ แป้งไดฟุกุ แป้งขนมครกสิงคโปร์ ช่วยเพิ่มความนุ่มหนึบของขนม

“ธุรกิจ texture solution เดิมเน้นแต่ตลาดต่างประเทศ หลังจากมีผลิตภัณฑ์แบรนด์เนมในรูปแป้งสำเร็จรูปพร้อมใช้ช่วยทำให้ตลาดในประเทศเริ่มมีจำนวนมากขึ้น หลังจากนี้เราจะเอาความรู้ที่สะสมจากการทดลองไปทำกับ SME ที่อยากทำธุรกิจอาหาร”

ขยายผลิตภัณฑ์สู่ตลาดใหม่มากขึ้น

นายแพทย์สมิทธิ์ กล่าวว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรกรุ่นของคุณพ่อระยะเวลากว่า 30 ปี เน้นผลิตแป้งมันสำปะหลังแบบดั้งเดิม ช่วงที่สอง กว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการวิจัยและพัฒนาแป้งดัดแปรมาอย่างต่อเนื่อง จนการสร้างแป้งนวัตกรรมเป็นหัวใจหลักของบริษัท ขณะนี้กำลังก้าวสู่ช่วงที่สาม ที่มีการพัฒนาสินค้าด้านต่าง ๆ มากขึ้น

“กว่าสิบปีที่ทุ่มเทพัฒนาด้าน texture เราก็สนใจพัฒนาคุณสมบัติของคาร์โบไฮเดรตในมุมเพื่อสุขภาพ ด้วย การดัดแปลงโครงสร้างโมเลกุลของคาร์โบไฮเดรตให้เกิดเป็นแป้งที่ทนการย่อย ไม่กลายเป็นน้ำตาล ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเบาหวาน”

“พอการทำ texture solution ของเราเติบโตได้แล้ว 3 ปีที่ผ่านมาก็ขยับมาทำเรื่อง nutrition ต่อ โดยเราออกผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ในแบรนด์ของเราเอง 3 แบรนด์ ตอนนี้เป็นระยะเริ่มต้นยังมีรายได้ระดับไม่กี่สิบล้านบาท ก็เป็น new s-curve อีกตัวหนึ่ง นอกเหนือจากการทำ ingredients ของอาหาร”

เนื่องจากตลาด nutrition เป็นอาหารที่ใช้เพื่อการแพทย์ได้ ในการผลิตจึงต้องมีนักวิจัยด้านโภชนาการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ใช่ DNA ของบริษัท จึงนำองค์ความรู้ทางด้าน ingredients ของอาหาร ไปทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สวทช.

เขาอธิบายว่า ผลิตภันฑ์อาหารเสริมมีหลายระดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีขณะนี้เป็นอาหารเสริมคาร์โบไฮเดรต 100 เปอร์เซ็นต์ และกำลังทำอาหารเสริมสูตรเฉพาะสำหรับผู้ป่วย เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคไต ซึ่งมีความต้องสารอาหารแตกต่างกันไป จากนั้นจะพัฒนาเป็นอาหารเสริม complete nutrition ที่ใช้กินแทนอาหารปกติได้เพราะมีสารอาหารครบถ้วนทั้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่

“ตลาดอาหารทางการแพทย์เป็นตลาดใหญ่ อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท สิ่งที่เรากำลังทำสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมดแล้ว ยังเหลือสิ่งที่ต้องทำก็คือเรื่องการตลาด ที่ยังเป็นจุดอ่อนของเรา และเป็นความท้าทายใหญ่เพราะยังไม่เป็น DNA ของบ้านโป่งทาปิโอก้า”

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในการดำเนินการอาจมีผิดแผนบ้าง แต่เราก็ทำทุกอย่างอยู่ใน pipeline ที่วางไว้ ด้วย passion ของเราที่ต้องการปักธงว่าจะต้องมีผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่ผลิตจากมันสำปะหลังไปสู่ตลาด nutrition ที่มีมูลค่าสูงได้”

ย้อนพัฒนาวัตถุดิบต้นทางด้วยนวัตกรรม

“ในมุมมองการพัฒนาผลิตภัณฑ์ DNA ของเราเรื่องนวัตกรรมจะไม่จบแค่สินค้า เรามองไปถึงการปรับโครงสร้างของหัวมันสำปะหลังตั้งแต่ก่อนแปรรูปเป็นแป้งเพื่อตอบสนองตลาดต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพด้วยการทำแป้งดัดแปรที่ไม่ใช้สารเคมี”

รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรมของบ้านโป่งทาปิโอก้า พูดถึงการสร้างมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ให้ได้ฟังก์ชั่นที่ตอบสนองการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Lucentโดยการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เช่น ทำวิจัยร่วมกับ สวทช. และกระจายพันธุ์ออกไปโดยการสนับสนุนของมูลนิธิมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย

“ในมันสำปะหลังมีแป้งประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่มีสารให้ความแข็งกับสารที่ให้ความใส เราต้องการทำให้สารที่ให้ความใสมีเพิ่มขึ้นจนได้ความใสเหมือนเจล การทำสิ่งนี้ทำให้ได้ฟังก์ชั่นใหม่ของมันสำปะหลังโดยไม่ต้องใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตแป้งเพื่อทำให้เกิดความเหนียวใส” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบอกจุดมุ่งหมายของการทำสายพันธุ์ใหม่

“เรารู้ว่าโครงสร้างของมันมีผลต่อแอปพลิเคชั่น ตัวอย่างเช่น การพองขึ้นมา 3-4 เท่าของการใช้แป้งมันธรรมดา จึงตัดสินใจส่งเสริมให้ชาวไร่ในพื้นที่ภาคตะวันตกปลูกมันสำปะหลังสายพันธุ์ Lucent แล้วรับซื้อคืนในราคาที่ 1.5 เท่าของมันสำปะหลังปกติ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มมูลค่าแล้ว ยังช่วยให้ชาวไร่ที่เข้าร่วมโครงการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

ซึ่งขณะนี้มีชาวไร่เข้าร่วมโครงการปลูกมันสำปะหลัง Lucent จำนวน 60 ราย รวมพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ให้ผลผลิตในปีนี้จำนวน 6,000 ตัน

“ถ้าเรามีหลากหลายสายพันธุ์และเข้าใจในการใช้ประโยชน์ ปลายทางจะเกิดผลดีทั้งกับโรงงานที่สนับสนุนการทำวิจัยใช้องค์ความรู้ในการทำธุรกิจ กับชาวไร่เองที่ปลูกหลายพันธุ์และมีผู้รับซื้อแน่นอนก็จะเกิดความมั่นคงขึ้น”

นายแพทย์สมิทธิ์ อธิบายเบื้องหลังแนวคิดนี้ว่าเกิดจากการที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

“ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการปลูกมันสำปะหลังที่สุดในโลก เพราะมีความเข้มแข็งของ ecosystem มากที่สุด จะพบว่ามันสำปะหลังในโลกนี้ที่ให้ yield ดีล้วนเป็นของประเทศไทย แต่คนไทยบริโภคกันน้อยเน้นการปลูกเพื่อส่งออกเป็นหลัก”

ทว่าตลาดใหญ่ของมันสำปะหลังยังคงเป็น commodity ที่ผลิตแป้งมันพื้นฐานสำหรับการผลิตกาว ผลิตกระดาษ ซึ่งมีมูลค่าน้อยแต่มีความต้องการมาก ส่วนตลาดที่เน้นมูลค่ายังมีสัดส่วนจำกัด แต่ขณะนี้ตลาดมูลค่าต่ำกำลังมีประเทศเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ

“ประเทศไทยต้องคิดหาวิธีว่าจะรักษาตลาดนี้อย่างไรในสภาพที่พื้นที่สำหรับเพาะปลูกเพิ่มขึ้นได้ยากเพราะเมืองขยายตัวออกมาทำให้พื้นที่เกษตรกรรมมีจำกัด ทางเลือกมีสองอย่าง คือ หนึ่ง เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต แต่จะทำได้ระดับหนึ่งก็จะมีเพดานจำกัด สองคือเพิ่มมูลค่าของมันสำปะหลังให้ได้”

“การพัฒนาพันธุ์ใหม่เป็นการเลือกทางที่สอง แต่ในความเป็นจริงเราคงไม่สามารถเปลี่ยนชาวไร่ทุกคนมาปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ทั้งหมด เพราะจะไม่มีตลาดรองรับเพียงพอ”

ตั้งเป้าไปสู่ Texture Solution House ของโลก

“เราวางเป้าหมายไว้ว่าในอีก 3 ปีจะมียอดขายรวมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปัจจุบัน โดยตั้ง mission เป็น Texture Solution House ของโลกรายหนึ่ง”

ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบ้านโป่งทาปิโอก้า กล่าวถึงเป้าหมายระยะสั้นที่กำลังก้าวไป ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้ให้บริการด้าน texture solution ที่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเนื้อสัมผัสของอาหารได้ทั้งหมด และตอบโจทย์ลูกค้าได้ด้วยผลิตภัณฑ์จากแป้งมันดัดแปรเป็นหลัก

ส่วนในระยะยาวหวังที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าของปัจจุบันเช่นเดียวกับบริษัทระดับโลก

“ถ้าเปรียบเทียบขนาดธุรกิจจากยอดขาย บริษัทที่เน้นผลิตแป้งมันฝรั่งใหญ่ที่สุดในโลกมียอดขายปีละ 30,000 ล้านบาท ตอนนี้ยอดขายของเรามีขนาด 2,000 ล้านบาท เชื่อว่าเราจะสามารถทำยอดขึ้นไปถึงสิบเท่าคือ 20,000 ล้านบาท ได้ภายในเวลา 20 ปี”

แต่ก็มีความเห็นเสริมว่า “ยอดขายไม่ใช่เป้าหมายเดียวที่สำคัญ net profit หรือกำไรสุทธิเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับธุรกิจนี้” เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ว่า ในช่วงรุ่นแรกที่ผลิตแบบ commodity มีกำไรสุทธิเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันกำไร 5-7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บริษัทผลิต texture ระดับโลกมีกำไรสุทธิมากถึง 20-25 เปอร์เซ็นต์

“การจะทำได้ถึงระดับนี้ต้องใส่มูลค่าที่ดีเยี่ยมเข้าไปในสินค้าของเรา จนสามารถแข่งกับผู้ผลิตระดับโลกได้”

ซึ่งนายแพทย์สมิทธิ์ยืนยันว่า “เราเป็นบริษัทของไทยรายเดียวที่ทำเรื่องนี้ได้ เพราะองค์ความรู้ที่สะสมมาทำให้เราอยู่ในวิสัยที่ทำได้”

“เราเป็นบริษัทผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรเบอร์หนึ่งของคนไทยที่มีเทคโนโลยีเทียบได้กับของบริษัทต่างประเทศ นับเฉพาะแป้งดัดแปรจากมันสำปะหลังถือว่าบ้านโป่งทาปิโอก้าเป็นผู้ผลิตระดับโลก”

เขาให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนความคิดของตัวเองว่า “ตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่บอกให้รู้ว่าเราประสบความสำเร็จก็คือ บ้านโป่งทาปิโอกาเป็นเป้าหมายโดน acquired อย่างมาก ผมถูกทาบทามทุกปีจากต่างชาติที่อยากเข้ามาถือหุ้นหรือซื้อกิจการของเรา”

แม้กระนั้นพวกเขาก็มีแผนที่จะนำคาร์โบไฮเดรตจากพืชท้องถิ่นตัวอื่น ๆ มาเป็นวัตถุดิบเพิ่มเติม เช่น ถั่ว ข้าว โดยเฉพาะแป้งข้าวเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตสำคัญของประเทศไทยที่มีราคาแพง มีโมเลกุลขนาดเล็กซึ่งนำไปทำฟังก์ชั่นได้ดีมาก เพราะในมุมของผู้ใช้ไม่ได้สนใจว่าแป้งที่ดัดแปรมาจากอะไร ขอเพียงให้ตอบโจทย์ที่ต้องการก็พอ ซึ่งเวลานี้เป็นช่วงสะสมความรู้ให้มีความพร้อมมากขึ้น

“วันนี้เราปักธงไว้ที่เป็นบริษัทคนไทยที่ทำแป้งดัดแปรจากมันสำปะหลังเป็นหลัก แต่อนาคตเราจะเพิ่มเติมไปทำแป้งดัดแปรจากวัตถุดิบตัวอื่นก็เป็นเรื่องของวันข้างหน้า” นายแพทย์สมิทธิ์สรุป

DNA ของครอบครัวคือจุดแข็ง

“เงินมีความสำคัญก็จริง แต่เงินไม่ใช่เป้าหมายของเรา เรามี passion ที่อยากทำสิ่งนี้”

นายแพทย์สมิทธิ์ หัวเรือใหญ่ในด้านการนำนวัตกรรมและการบริหารจัดการแบบมืออาชีพเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของครอบครัวบอกถึงเบื้องลึกความคิดของเขา

เดิมเขาเคยทำงานอยู่ในหน่วยงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ (CCP) จนเมื่อสิบปีก่อนตัดสินใจเข้ามาช่วยกิจการครอบครัว ทำให้เกิดโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลง จากธุรกิจครอบครัวแบบดั้งเดิมที่พ่อและลูก ๆ ช่วยกัน มาสู่การมีมืออาชีพเข้ามาเสริมด้านการบริหารจัดการที่ทันสมัย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดการเปลี่ยนสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยร่วมกับพี่น้องและหลานสร้างองค์กรสู่ธุรกิจแบบ family professional

“เราเปิดให้มีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามา แต่เรื่องความเป็นเจ้าของยังต้องคงอยู่ การกำหนดทิศทางเราก็ยังทำได้ แต่การเติบโตเราต้องอาศัยความแข็งแกร่งจากคนในครอบครัวผสมผสานกับความสามารถแบบมืออาชีพจากภายนอก”

ทั้งนี้ขุมกำลังด้านบุคคลภายในครอบครัวของผู้บริหารรุ่นที่ 2 นอกจาก นพ.สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ซึ่งเรียนแพทย์ศาสตร์ เฉพาะทางด้านประสาทสมอง ดูแลงานด้านนวัตกรรม คุณประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์กรรมการผู้จัดการพี่ชายคนโต จบการศึกษาวิศวกรรมเคมี คุณกิตติ สุขสมิทธิ์รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชน จบทางด้านเศรษฐศาสตร์ ดูแลงานบริหาร ยังมีผู้บริหารรุ่นที่ 3 คุณปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาธุรกิจ จบทางด้านเศรษฐศาสตร์ ดูแลด้านการตลาด รวมถึงอีกหลายคนที่ช่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาแบบไม่เต็มตัว

“องค์ความรู้เรื่อง food science เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เวลาอยู่บนโต๊ะอาหารพวกเรามักจะคุยกันถึงคุณลักษณะของตัวอาหารว่าอันนี้เป็นอย่างไร มันเหนียวไปหรือไม่ มาตอนหลังในรุ่นผมน้อง ๆ หลายคนก็เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์อาหาร”

ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้มีบทบาทสำคัญร่วมกับรุ่นที่ 2 ผลักดันการเปลี่ยนแปลงองค์กรของธุรกิจครอบครับสู่องค์กรแบบมืออาชีพ ย้อนความหลังบรรยากาศที่มีส่วนสร้างรากฐานความแข็งแกร่งของครอบครัว และความเปลี่ยนแปลงช่วงสิบปีที่ผ่านมา

“ผมเริ่มเห็นคุณอานำผู้บริหารมืออาชีพเข้ามา ปัญหาแบบธุรกิจครอบครัวเริ่มลดลง แม้ยังเป็น family business แต่เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่จะไปสู่ family professional ได้”

“ไม่เพียงแค่บริษัท ในครอบครัวก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เราเห็นการทำธรรมนูญบ้าน ทำ family council มีกฎเกณฑ์ที่แยกเรื่องครอบครับออกจากเรื่องธุรกิจอย่างชัดเจน คนที่อยู่ในธุรกิจต้องทำงานบริหารอย่างเต็มที่ ให้มีผลงาน วัดผลได้ ทำให้มีกำไร และมีปันผลกลับไปที่ครอบครัว”

นายแพทย์สมิทธิ์ย้ำว่า “DNA ของบ้านเราไม่ทำอะไรใหญ่ เราทำแบบ small is beautiful รุ่นของผมคิดแบบนี้ แต่รุ่น 3 อาจจะเก่งกว่าสามารถขยายธุรกิจออกไปใหญ่โตก็ได้ ที่ผ่านมาเรายังเป็นแบบ hand on จะทำอะไรต้องรู้ลึก ไม่ใช่เอาเงินไปลงทุนแล้วดูแค่ตัวเลขผลประกอบการ”

“เราเป็นธุรกิจครอบครัวมาโดยตลอด 50 ปี และจะยังเป็นต่อไปเพราะมีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างดีมาก”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์” ส่งต่อคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงแสนรักถึงคนรักสัตว์ด้วยหัวใจ

บันทึกบทใหม่ของ “กริชผกา บุญเฟื่อง” นำ NIA สู่ “Focal Conductor” ผู้ชี้ทิศทางนวัตกรรมไทย

ยรรยง มุนีมงคลทร ความท้าทายใหม่ในยุคที่ “เอปสัน” ไม่ใช่แค่พรินเตอร์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ