TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityเปิดบ้าน พาชมโรงงาน “บ้านโป่งทาปิโอก้า” จากธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง สู่บริษัทเกษตรนวัตกรรม

เปิดบ้าน พาชมโรงงาน “บ้านโป่งทาปิโอก้า” จากธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง สู่บริษัทเกษตรนวัตกรรม

บริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด หรือ บ้านโป่งทาปิโอก้า (Banpong Tapioca) คือ อีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจเกษตรที่เพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจด้วยงานวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม จนสามารถไม่เพียงแต่สร้างธุรกิจ New S-Curve ที่จะไปต่อในทศวรรษได้อย่างยั่งยืน แต่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยการนำของเสียทั้งหมดจากกระบวนการผลิตกลับมาเพิ่มมูลค่า 

บนพื้นที่ 350 ไร่ ของโรงงานแป้งมันสำปะหลังในอำเถอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี บริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด ที่เห็นในปัจจุบัน เป็นเวอร์ชันล่าสุดที่ถูกทรานส์ฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จของบ้านโป่งทาปิโอก้า คือ การผสานองค์ความรู้เกี่ยวกับแป้งมันสำปะหลังเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม บวกกับวิสัยทัศน์ของผู้นำธุรกิจในรุ่น 2 และรุ่น 3 ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ รวมถึงสร้างธุรกิจที่เป็น New S-Curve ตัวต่อไปให้กับบริษัท

บ้านโป่งทาปิโอก้า มีการพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง จากการแปรรูปมันสำปะหลังเป็นแป้งมันสำปะหลังส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ตลอด 4 ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา จนกระทั่งปี 2560 เกิดการทรานส์ฟอร์มธุรกิจครั้งใหญ่ ด้วยการพลิกจากบริษัทเกษตรแปรรูปสู่บริษัทเกษตรที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน ด้วยการเทคโนโลยีเข้าปรับปรุงกระบวนการทำงานในโรงงานและให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา โดยทุ่มเม็ดเงินราว 800 ล้านบาท ซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์เป็นรายได้ที่เกิน 1,000 ล้านบาทหลังจากนั้นเพียง 2 ปี และเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมีรายได้ 1,722 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และตั้งเป้ามีรายได้แตะ 2,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ ก่อนจะทะยานไปเป็น 4,000 ล้านบาทในปี 2570 

เส้นทาง 50 ปี จากโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง 1 โรงงาน ปัจจุบันมี 11 โรงงาน ใช้หัวมันสำปะหลังทั้งหมด 600,000 ตัน (จากเกษตรกรในเครือข่ายประมาณกว่า 200,000 ตัน และจากตัวแทนป้อนมันอีกกว่า 300,000 ตัน ปัจจุบัน บ้านโป่งทาปิโอก้ามีพนักงานทั้งหมด 550 คน เป็นพนักงานในส่วนงาน R&D 45 คน มีลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก

นายแพทย์สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรม บ้านโป่งทาปิโอก้า กล่าวว่า ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือหัวใจสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท ด้วยการนำงานวิจัยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า

จากธุรกิจดั้งเดิมของบ้านโป่งทาปิโอก้า คือ นำมันสำปะหลัง ที่ต้นทุน 3 บาทต่อกิโลกรัม มาแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลังแบบดั้งเดิม (Native starch) ให้มีราคาขาย 12 บาทต่อกิโลกรัม ต่อมามีการนำมันสำปะหลังมาทำแป้งมันดัดแปรพื้นฐาน (Basic Modified Starch) ราคาขาย 25 บาทต่อกิโลกรัม 

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อบริษัทเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจการจากโรงงานแปรรูปแป้งแบบเดิม เป็น Texture House company ด้วยการให้บริการ Texture Solution มาแก้ปัญหาด้านเนื้อสัมผัส (Texture) ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อาหารทางการแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมยา รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ 

การนำแป้งมันสำปะหลังมาทำเป็นแป้งดัดแปรมูลค่าสูง (High Value Food Texture Solution) เพื่อนำไปใช้สำหรับการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเนื้อสัมผัสในอาหารและเครื่องดื่ม สามารถเพิ่มราคาขายเป็น 50 บาทต่อกิโลกรัม และการนำมาทำเป็นแป้งดัดแปรที่นำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารทางการแพทย์ (Nutrition) ราคาขาย 100-800 บาทต่อกิโลกรัม จะเห็นได้ว่าการเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับมันสำปะหลัง และเติมนวัตกรรม ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นอย่างมากให้กับธุรกิจอย่างมาก

ปัจจุบันธุรกิจแป้งมันดัดแปรพื้นฐาน (Basic Modified Starch) และแป้งดัดแปรมูลค่าสูง (High Value Food Texture Solution) เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท ที่สัดส่วนกลุ่มธุรกิจ 41% ในขณะที่ธุรกิจแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลังแบบดั้งเดิม (Native starch) ซึ่งเคยเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทมาตลอดนั้นปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้เพียง 15% ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องจากธุรกิจที่มีมูลค่าสูง นั่นคือ กลุ่มธุรกิจแป้งดัดแปรที่นำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารทางการแพทย์ (Nutrition) ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ยังน้อยอยู่เพียง 3% 

ทิศทางการผลิตของบ้านโป่งทาปิโอก้า คือขยายสัดส่วนการผลิตและการตลาด สินค้ากลุ่ม High Value Food Texture Solution และ Nutrition ให้เพิ่มมากขึ้น วางเป้าหมายให้เป็นสินค้าหลักของบริษัทในอนาคต และจะเดินหน้าทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

BCG Model 

นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงด้วยนวัตกรรมแล้ว บ้านโป่งทาปิโอก้า ยังนำนวัตกรรมาสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทและโลกใบนี้ด้วยการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่เป็นปัจจัยช่วยให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา 

อุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการน้ำในกระบวนการผลิตเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำที่ใช้เกือบทั้งหมดจะกลายเป็นน้ำเสีย 

กิตติ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชน บ้านโป่งทาปิโอก้า กล่าวว่า BCG Model ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบริษัท บ้านโป่งทาปิโอก้า เป็นธุรกิจที่เดินตาม BCG Model ได้อย่างครบวงจร

บ้านโป่งทาปิโอก้า นำเทคโนโลยีมาช่วยในการกระบวนการบำบัดน้ำเสียให้เกิดการหมุนเวียนจากน้ำเสียมาใช้ใน 2 รูปแบบคือ ได้น้ำสะอาดตามมาตรฐานกลับมาใช้ล้างหัวมันต่อไป และอีกส่วนนำไปผลิตเป็นแก๊สชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงพลังงานความร้อนสำหรับอบแป้ง 

ผลพลอยได้ที่สำคัญของการกำจัดน้ำเสียคือช่วยแก้ปัญหามลภาวะเรื่องกลิ่น และบริษัทสามารถจำหน่ายและแบ่งปันจุลินทรีที่เกิดจากกระบวนการหมักก๊าซชีวภาพกลับคืนมาเป็นเป็นรายได้อีกจำนวนหนึ่ง

บริษัทมีการใช้พลังงานทดแทนด้วยการทำโซลาฟาร์มขึ้นบนพื้นที่ของบริษัท และสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทนในเวลากลางวันได้ถึง 80% ของพลังงานที่โรงงานต้องใช้ และมีนโยบายปลูกต้นไม้ยืนต้นทุกปี จนบริษัทได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจากกระทรวงอุตสาหกรรมในระดับ 3 ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะดำเนินงานให้ได้ถึงระดับ 4 ในปี 2567

ธุรกิจของบ้านโป่งทาปิโอก้า เป็นธุรกิจเกษตรและธุรกิจอาหาร บริษัททำวิจัยและพัฒนาและส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรในเครือข่าย (contracted farming) ปลูกมันสำปะหลังสายพันธุ์พิเศษเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของมันสำปะหลังและรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 100-150% เกษตรกรในเครือข่ายจะได้รับการดูแลจากบริษัทอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การเพาะท่อนพันธุ์ให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูก และระหว่างทางยังมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดูแลให้คำปรึกษา จนกระทั่งถึงช่วงของการเก็บเกี่ยว ขนส่ง ผลผลิตเข้าสู่โรงงาน

ปัจจุบันบริษัทส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังสายพันธุ์พิเศษมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ สายพันธุ์ลูเซนท์ (LUCENT) ซึ่งจุดเด่นของมันสายพันธุ์พิเศษนี้เมื่อรวมกับการวิจัยของบริษัททำให้ได้แป้งที่ผลิตออกมามีคุณสมบัติเทียบเท่ากับแป้งจากมันฝรั่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัตถุดิบราคาแพง ทำให้เกษตรกรในเครือข่ายของบริษัทที่มีปะมาณ 2,000 ครอบครัวสามารถขายมันสำปะหลังได้ ประมาณ 20,000-30,000 บาทต่อไร่

“การดำเนินงานดังกล่าวนอกจากจะเข้ามาช่วยลดภาระของเกษตรกรแล้ว ยังช่วยให้บริษัทมีโอกาสได้เข้ามาควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกได้โดยตรง ทำให้สามารถวางแผนการผลิตภายในบริษัทได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้บริษัทยังได้เริ่มวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางการเกษตรในกลุ่มธัญพืช เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแป้งที่มีมูลค่าสูง เช่น ถั่วเขียว ถั่วขาว และข้าว เป็นต้น

ในอดีตพืชเศรษฐกิจอย่างมันสำปะหลังมีทั้งเปลือก และกากที่เป็นขยะของเหลือใช้ แต่จากการศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังของบริษัททำให้ทุกวันนี้ 

หัวมันสำปะหลัง ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ แป้ง กาก และน้ำล้วนนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่มีส่วนใดที่เหลือทิ้ง ล้วนนำมาใช้หมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนและบริษัท

วิวัฒนาการของการจัดการของเสียจากการผลิตของบริษัทได้จัดการตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงนำนวัตกรรมมาช่วยแปลงสภาพจากของเสียเป็นรายได้ แบ่งได้ดังนี้ กากมัน เปลือกมัน และตะกอนดินที่ติดมาจากมันสำปะหลัง ที่ในอดีตจัดการโดยการนำกลับไปให้เกษตรกรใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน นำไปใช้ในการเพาะเห็ด นำไปหมักกับหญ้าเนเปียร์เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ปัจจุบันบริษัทได้วิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงสำหรับนำไปสกัดเป็นโปรตีน และนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นทรายแมว

บริษัทมีแผนจะเปลี่ยนขยะเหลือใช้ให้เป็น “ทรายแมว” ด้วยการเปิดตัวสินค้าทรายแมวจากกากมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนตั้งชื่อ 

“ตัวผลิตภัณฑ์วิจัยและพัฒนาสำเร็จแล้ว หลังจากน้องแมวใช้งานแล้ว นำทิ้งลงชักโครกได้โดยไม่อุดตัน และราคาที่จะวางจำหน่ายยังต่ำกว่าของทรายแมวอื่น ๆ”

ประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด กล่าวว่า บ้านโป่งทาปิโอก้า เป็นบริษัทครอบครัวมีฐานการผลิตและสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีพนักงานจำนวน 550 คน ในจำนวนนี้ เป็นพนักงานในส่วนของ R&D ประมาณ 45 คน มีโรงงาน 11 แห่งในจังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี มีลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก สิ่งที่บริษัทยึดเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจตลอดครึ่งทศวรรษคือ การคำนึงถึงความอยู่รอดในระยะยาวและเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้นั้น บริษัทจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งการบริหารจัดการที่ดีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชุมชน สิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบให้คุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการมองหาโอกาสช่องทางที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ผลิต

“ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของบริษัทจากอดีตถึงปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็น BCG โดยธรรมขาติดังนั้นเมื่อพบว่าแนวปฎิบัติของบริษัทไปสอดคล้องกับการส่งเสริมรณรงค์ BCG Model ของภาครัฐ เท่ากับตอกย้ำความและเพิ่มความเชื่อมั่นให้บริษัทว่า แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาจนยุทธศาสตร์ต่อไปที่บริษัทวางไว้นั้นได้มาถูกทางแล้ว และจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้บริษัทเติบโตยั่งยืนในเวทีโลกได้อย่างแน่นอน”

โรงงานของบริษัทมีอายุ 50 ปีโดยโรงงานแรกของบริษัทตั้งมาเพื่อแปรรูปมันสำปะหลังเป็นแป้งมันสำปะหลังแบบดั่งเดิม ปัจจุบันบริษัทมีการสร้างโรงงาน 11 โรงในการผลิตสินค้าแปรรูปแป้งมันสำปะหลัง ในหลายรูปแบบ ดังนี้

โรงงานที่ 1 และโรงงานที่ 2 เป็นโรงงานที่ผลิตแป้ง Native starch หรือแป้งดิบ หรือแป้งอบแห้ง drum drier สำหรับขายตลาดในประเทศ ตลาดต่างประเทศและ OEM เอาไปผสมทำขนมขบเคี้ยว 

โรงงานที่ 3 เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้า ดับเบิ้ล โมดิฟายด์ เช่น ถั่วเคลือบ 

โรงงานที่ 5 เป็นโรงงานที่ผลิตแป้งสำหรับเป็นส่วนผสมของธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส เป็นต้น 

โรงงานที่ 6 โรงงานที่ทำแป้งสำหรับอุตสาหกรรมกระดาษ หรือแป้งทำกระดาษ ทั้ง food grade และไม่ food grade 

โรงงานที่ 7 เป็นโรงงานที่ผลิตแป้งสำหรับอุตสาหกรรมกระดาษ เป็นกลุ่มทำ OEM

โรงงานที่ 8 จะทำในส่วนของเครื่องดื่ม beverage, daily food พวก โยเกิร์ต นม 

โรงงานที่ 9 เป็นโรงงานที่เกิดใหม่ เป็นโรงงานที่ผลิต แป้งสำเร็จรูปในกลุ่ม food modified เช่น แป้งทอดกล้วยแขก ยี่ห้อฟูจิ ซัง ซึ่งเป็นแบรนด์แป้งสำเร็จรูปที่ทำขึ้นนำร่องขายในประเทศ เป็นต้น 

โรง 10 เป็นโรงงานที่ผลิตแป้ง เรียกว่าเป็น modified starch food มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการทำงานด้วย ทั้งนี้ บริษัทเริ่มนำหุ่นยนต์มาช่วยในกระบวนการผลิตเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา และมีแผนที่จะขยายครอบคลุมทุกหน่วยงานในอนาคต

สำหรับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น บริษัทที่การจัดการของเสียจากทุกโรงงานส่งตามท่อไปรวมกันที่ บ่อบำบัดน้ำเสียทั้งหมด เพื่อมาพัฒนาเป็นพลังงานแก๊ส จากนั้น เอาพลังงานแก๊ส ทั้งหมด ส่งกลับมายังโรงงานทุกโรง เพื่อนำแก๊สมาทำเป็นพลังงานความร้อน มาช่วยอบหรือ มาทำ stream ให้แต่ละหน่วยงาน เช่น อบแห้ง ของโรงงานทุกโรงงาน

อาจกล่าวได้ว่า BCG MODEL เป็นพื้นฐานในการดำเนินงานของบ้านโป่งทาปิโอก้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และยังช่วยผลักดันให้บริษัทสามารถเดินตามแผนยุทธศาสตร์ที่ต้องการคือเป็นบริษัทไทยที่ มุ่งสู่การเป็นTexture House Company ให้บริการ Texture Solution ผ่านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับและแก้ปัญหาเนื้อสัมผัสในอุตสาหกรรมอาหารและและไม่ใช่อาหาร ได้อย่างยั่งยืนในระดับโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ