TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเปิดใจ “พิมพ์พิชา อุตสาหจิต” ทายาทรุ่น 3 ขายหัวเราะ “การ์ตูนเป็น Soft Power ที่ไปอยู่กับอะไรก็ได้”

เปิดใจ “พิมพ์พิชา อุตสาหจิต” ทายาทรุ่น 3 ขายหัวเราะ “การ์ตูนเป็น Soft Power ที่ไปอยู่กับอะไรก็ได้”

ปี 2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสตื่นตัวกับคำว่า soft power ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นนโยบายสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจนั้น เป็นช่วงเวลาที่หนังสือ “ขายหัวเราะ” มีวาระครบ 50 ปี จึงมีกิจกรรมให้ย้อนรำลึกถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ ขณะเดียวกัน ก็แสดงพลังของตัวคาแรกเตอร์ในตำนานกับบทบาทการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าผ่านการทำงานร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ

แม้ในความเป็นจริง ขายหัวเราะไม่ใช่หนังสือหัวแรกและหัวเดียวของเครือ ทว่าเป็นเล่มเด่นที่สร้างชื่อเสียง และมีความผูกพันกับผู้อ่านยาวนานที่สุด นี่จึงเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของเครือวิธิตากรุ๊ป ซึ่งมีรากฐานมาจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ ที่เคยรู้จักกันดีในนามสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น เจ้าของหัวหนังสือการ์ตูนดังหลายเล่มที่สร้างความสุขแก่คนไทยด้วยอารมณ์ขันมานานหลายทศวรรษ

ถึงวันนี้การ์ตูนขายหัวเราะไม่ได้จำกัดเฉพาะบนสื่อกระดาษอีกต่อไป หากแต่เป็นคอนเทนต์บนหลายแพลตฟอร์ม และเป็นเพียง 1 ในหลายแบรนด์ที่ช่วยกันทำหน้าที่สร้างความสุขให้กับกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันไป

“คุณพ่อมองการณ์ไกลเห็นว่าการ์ตูนเป็น soft power ที่เล่าเรื่องและทำให้คนเกิดรู้สึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากมาย มันใช้ประโยชน์ได้มากกว่าแค่ความบันเทิง และแพลตฟอร์มที่รองรับไม่ควรอยู่ในเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น“

นิว-พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทรุ่น 3 บุตรสาวคนโตของ วิธิต อุตสาหจิต ทายาทรุ่น 2 ผู้ให้กำเนิดหนังสือขายหัวเราะ บอกกับ The Story Thailand ถึงแนวคิดของพ่อที่เป็นเสมือนเข็มทิศนำทางให้เธอในฐานะ Executive Director เครือวิธิตากรุ๊ป นำไปใช้กับการบริหารกิจการของครอบครัวจนขยายเติบใหญ่กลายเป็นเครือธุรกิจสื่อที่มีหลากหลาย business model บนหลายแพลตฟอร์ม

จากสิ่งพิมพ์สู่สื่อหลายแพลตฟอร์ม

เดิมเครือธุรกิจนี้เป็นที่คุ้นเคยกันในชื่อบันลือกรุ๊ป ซึ่งเริ่มต้นจากสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นที่ บันลือ อุตสาหจิต ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2502 ด้วยหนังสือการ์ตูน 4 เล่มคือ หนูจ๋า เบบี้ คุณหนูเด็กดี และ รวมรสสำราญ ตลอดจนจัดพิมพ์งานวรรณกรรมชื่อดังหลายเล่ม จนเข้าสู่ยุคแตกหน่อเติบโตเมื่อ วิธิต อุตสาหจิต บุตรชายคนโต เข้ามาเป็นกำลังสำคัญและริเริ่มทำหนังสือขายหัวเราะในปี 2516 กับมหาสนุก ในเวลาต่อมา

“การทรานส์ฟอร์มภายใน เริ่มต้นจากช่วงรุ่นคุณปู่สู่รุ่นคุณพ่อที่เริ่มทำหนังสือขายหัวเราะ มหาสนุก และทำบริษัทแอนิเมชัน ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจจากการ์ตูนคาแรกเตอร์ต่าง ๆ เป็นครั้งแรก”

“คนจำนวนมากมักเข้าใจว่าบริษัทที่ทำแอนิเมชัน งานที่เป็นดิจิทัลคอนเทนต์ หรือที่เกี่ยวกับคาแรกเตอร์แบรนดิ้งมาเริ่มทำในรุ่นสาม แต่ที่จริงแล้วบริษัทวิธิตา แอนิเมชั่น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ซึ่งสมัยนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังไม่ถูกดิสรัปเหมือนในยุคนี้”

นิวให้ข้อมูลว่า ธุรกิจใหม่ที่สร้างขึ้นมาในยุคดิจิทัลมีรากฐานจากการริเริ่มของทายาทรุ่น 2 ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือเครือบันลือกรุ๊ป หรือที่ผู้อ่านขายหัวเราะรู้จักกันดีในนาม “บ.ก..วิติ๊ด” คุณพ่อของเธอนั่นเอง

 “งานแอนิเมชันยุคนั้นในเมืองไทยถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก จึงถือได้ว่าคุณพ่อเป็นผู้ร่วมบุกเบิกเส้นทางนี้ และมีการผลิตตัวแอนิเมชัน 2D และ 3D ไปออกสื่อโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 7 และรับผลิตให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ด้วย”

ผลงานแอนิเมชัน 3D เรื่องแรกคือ ซีรี่ส์ชุด “ปังปอนด์ ตะลุยโลกอนาคต” จำนวน 23 ตอน ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 3 ช่วงปี พ.ศ.2545 พัฒนามาจากหนังสือเรื่อง “ไอ้ตัวเล็ก” ของการ์ตูนนิสต์ขายหัวเราะ ภายใต้บริษัทตั้งใหม่ชื่อ “วิธิตา แอนิเมชั่น” ปรากฏว่าโด่งดังมากจนมีการตัดต่อใหม่นำไปฉายในโรงภาพยนตร์จอยักษ์ IMAX Theater ภายหลังยังขายลิขสิทธิ์ให้สถานีโทรทัศน์ต่างประเทศนำไปออกอากาศ ได้แก่ ฮ่องกงเคเบิลทีวี และสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีน

ต่อมา มีการนำเนื้อเรื่องจากวรรณกรรมคลาสสิกคือ สามก๊ก และรามเกียรติ์ มาเล่าในรูปแบบแอนิเมชันสนุก ๆ ออกอากาศทางช่อง 7 สี โดยต่อยอดจากผลงานที่เคยทำเป็นหนังสือชุดการ์ตูนมหาสนุก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 นำคาแรกเตอร์จากหนังสือการ์ตูนยอดฮิตเรื่องหนูหิ่นอินเตอร์ สร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “หนูหิ่น เดอะมูฟวี่” ด้วยความร่วมมือกับค่ายหนัง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล

นอกจากนี้ ยังมีการทำธุรกิจคาแรกเตอร์ที่จริงจังขึ้น โดยส่งออกตัวคาแรกเตอร์ไปทำเมอร์แชนไดส์ (merchandise) เช่น ขายลิขสิทธิ์ไปยังผู้ผลิตที่ประเทศจีน

”คุณพ่อจะบอกเสมอว่าตัวการ์ตูนของเราไม่ใช่แค่งานหนังสือ แต่สามารถไปอยู่ในรูปอะไรก็ได้เพราะมันเป็น soft power สามารถลื่นไหลไปได้หมด ขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์ของเราจะพามันไปที่ไหน เช่น เป็นตัวการ์ตูนที่ไปอยู่บนเสื้อผ้า หรืออยู่ในสื่อออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ ขึ้นกับการจัดการของเราว่าถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า”

ต่อมาเมื่อองค์กรขยายธุรกิจกว้างขวางขึ้นจึงมีการเปลี่ยนชื่อเครือจากเดิมเรียกว่าบันลือกรุ๊ป เป็นชื่อใหม่ว่า “วิธิตากรุ๊ป” เพื่อให้สอดคล้องกับการสื่อสารองค์กรและแบรนดิ้งในปัจจุบันมากขึ้น

“ชื่อบันลือกรุ๊ป มีที่มาจากชื่อของคุณปู่ผู้เริ่มต้นธุรกิจรุ่นแรก เรามีการเปลี่ยนแปลงชื่อคอร์ปอเรทเป็น “วิธิตากรุ๊ป” เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดในการเขียนชื่อบริษัทเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากคำว่าบันลืออ่านออกเสียงยาก”

โดยยังรักษาแบรนด์ของคุณปู่อยู่เหมือนเดิม คือชื่อสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งเป็น business unit หนึ่ง ทำหน้าที่ดูแลแบรนด์สำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของเครือคือการ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก และอื่น ๆ ที่เป็นแบรนด์ในตำนาน

ทรานฟอร์มธุรกิจสู่โลกออนไลน์

เมื่อ 9 ปีก่อนหลังจากเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Imperial College London ประเทศอังกฤษ นิวกลับมาเป็นกำลังสำคัญทางด้านงานพัฒนาธุรกิจอย่างเต็มตัว จังหวะเหมาะกับเป็นช่วงเวลาที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังหดตัวอย่างมาก เธอจึงเข้ามามีบทบาทในการแตกไลน์ธุรกิจขยายสู่งานคอนเทนต์รูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับการเติบโตของสื่อออนไลน์

นิวบอกว่า เธอมีมายด์เซ็ตที่เปิดกว้างในการจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ๆ มากกว่าคนอื่น เพราะได้รับแนวคิดจากคุณพ่อคุณแม่ อีกทั้งเธอเริ่มเข้ามารับงานในช่วงที่เกิดการดิสรัปธุรกิจสื่อพอดี คือเป็นช่วงเวลาที่สื่อสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องทรานฟอร์มไปออนไลน์ หรือหารูปแบบธุรกิจอื่น ๆ เพื่อความอยู่รอด

“การหล่อหลอมความคิดจากคุณพ่อคุณแม่ ทำให้เรามีความคิดว่าถึงแม้ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์จะหดตัวลงตามสภาพของอุตสาหกรรม แต่ยังมีช่องทางอื่น ๆ ที่สามารถจะขยายตลาดไปได้ และโอกาสของแบรนด์ขายหัวเราะไม่ได้อยู่แค่สื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการคิดและความสามารถในการค้นหาหนทางที่จะทำให้สามารถอยู่รอดได้แค่ไหน”

“งานแรกเริ่มต้นจากเข้ามาทรานส์ฟอร์มด้าน business model ของขายหัวเราะ และการ์ตูนในเครือที่เดิมมีรายได้หลักจากสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ซึ่งเป็น major transformation ที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับคนที่เริ่มเข้ามาทำงาน หลังจากนั้นเป็น mino transformation ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างบริษัท ปรับวิธีการทำงานเป็นระยะ ๆ”

ตัวอย่างการทรานส์ฟอร์มรูปแบบธุรกิจ เช่น การต่อยอดตัวคาแรกเตอร์จากขายหัวเราะมาเป็นสติกเกอร์ไลน์ จนกลายเป็นสติกเกอร์ยอดนิยมที่มียอดดาวน์โหลดสูง หรือการข้ามพรมแดนไปทำ collaboration กับแบรนด์ต่าง ๆ อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า

ไม่เพียงการต่อยอดจากสื่อสิ่งพิมพ์ เธอยังขยายไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมสื่อยุคดิจิทัล ภายใต้แบรนด์ Salmon ที่เน้นเป้าหมายกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยมีการแบ่งเป็น Salmon Books ผลิตหนังสือ Salmon House ทำ motion content หรือการถ่ายทำงานวิดีโอต่าง ๆ Salmon Podcast ทำพอดคาสต์ และ Salmon Lab ที่เป็นครีเอทีฟเอเยนซี

อีกทั้งลงทุนในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น สำนักข่าวออนไลน์ The Matter แพลตฟอร์มคอนเทนต์ออนไลน์ Minimore สื่อออนไลน์สำหรับแม่และเด็ก M.O.M ตลอดจนมีการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ

จากประสบการณ์ที่ลงมือทำจริงเธอได้เรียนรู้ว่า การทรานส์ฟอร์มไม่จำเป็นต้องแบ่งเป็นเฟสว่าทำแล้วจบแล้ว แต่เป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องไป

“ไม่มีคำว่าจบในงานของเรา ซึ่งนิวเชื่อว่าน่าจะเป็นหลักการเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ แม้แต่ธุรกิจที่ดูมั่นคง ไม่หวือหวาเหมือนกับธุรกิจมีเดีย หรือคอนเทนต์ ไม่ว่าธุรกิจแบบใดถ้าต้องการความยั่งยืนก็จำเป็นต้องมีการทรานส์ฟอร์มเป็นระยะเหมือนกัน คือ plan do check action ว่าธุรกิจของเราอยู่จุดไหน เวิร์กอยู่หรือไม่ และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ยังจะเวิร์กต่อไปในอนาคตหรือไม่”

“เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องทำเป็นปกติอยู่แล้ว เลยไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้มันมากกว่าคนอื่น”

โฟกัสกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่ที่แพลตฟอร์ม

ทุกวันนี้ โครงสร้างทางธุรกิจของวิธิตากรุ๊ป เน้นที่แบรนด์มากกว่าแบ่งตามแพลตฟอร์มหรือประเภทของสื่อ โดยโฟกัสที่แบรนด์นั้นสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายใด ซึ่งทั้งหมดสามารถ synergy กันได้

“คอนเทนต์จากแต่ละแพลตฟอร์มสามารถร่วมมือกันเพื่อต่อยอดซึ่งกันและกันได้ อย่างเช่นการนำเนื้อหาจาก Salmon Podcast มาต่อยอดเป็นหนังสือเล่มโดยทำร่วมกับ Salmon Books”

“เราไม่ได้มองว่าแต่ละแบรนด์มีพรมแดนแบ่งแยกกันเป็นสื่ออะไร แต่โดยรวมแบรนด์จะแบ่งไปตามกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ โดยแต่ละแบรนด์ผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าจะรับจาก original content ของเรา หรือคอนเทนต์ที่มีการโฆษณาจากลูกค้าแบรนด์อื่น ๆ เช่นมีผลิตภัณฑ์อะไรที่จะ tie-in หรือให้เราทำแคมเปญ ลูกค้าก็สามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับเราได้ เพราะเรามี business model ที่รองรับทั้งแบบ B2C และ B2B”

สินค้าขายหัวเราะ

เธอกล่าวว่า การที่แต่ละแบรนด์ไม่ได้ยึดติดกับแพลตฟอร์มแต่ยึดโยงกับกลุ่มเป้าหมายมากกว่า จึงต้องแม่นยำในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ ทำให้พรมแดนของสิ่งที่จะมอบให้กับผู้ชมเปิดกว้างมาก อย่างเช่นทุกแผนกจะมีสินค้า merchandise ของตนเอง มีการออกแบบผลิตภัณฑ์สนุก ๆ ที่ออกมารองรับแบรนด์ของตน

“เป็นต้นว่า Salmon House มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นหมวก สติกเกอร์ หรือขายหัวเราะมีกระทั่งกิ๊บติดผม หรือปฏิทินนำโชค เราเปิดกว้างมาก ขึ้นกับว่าแต่ละแบรนด์จะคิดสร้างสรรค์ไปได้ถึงไหน ข้อสำคัญอยู่ที่เราสื่อสารได้ตรงจุดกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่”

ทายาทรุ่น 3 บอกกับ The Story Thailand ว่าถ้าจะให้คำจำกัดความของวิธิตากรุ๊ปในวันนี้ อาจกล่าวได้ว่า “เราเป็น content creator หรือสำนักสร้างสรรค์คอนเทนต์และมีเดีย ที่ทำกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์แบบครบวงจร”

โดยขยายความว่า วิธิตากรุ๊ป เป็นตัวกลางเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกันด้วยประสบการณ์การทำงานที่ยาวนาน ทำให้เข้าใจรสนิยมของคนไทยว่าในแต่ละช่วงวัยชอบเสพสื่อแบบไหน ลักษณะของคอนเทนต์ที่จะส่งออกไปควรเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเหลือลูกค้าแบรนด์ต่าง ๆ ในการวางกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์หรือ creative content agency เพื่อแมตช์ความต้องการของผู้ชมกับแบรนด์ให้เข้ากันได้

“เราเป็นตัวกลางที่สามารถให้บริการแบบ all-in-one สนองความต้องการได้ทั้ง B2C และ B2B สามารถตีโจทย์ความต้องการและสนองได้จบครบทุกช่วงวัย”

นำขายหัวเราะสู่พรมแดนใหม่ ๆ

นอกเหนือจากบทบาทผู้บริหารองค์กรที่ต้องดูภาพรวมของธุรกิจทั้งเครือ นิวยังมีหน้าที่รับผิดชอบแบรนด์ตำนานของเครือคือ “ขายหัวเราะ” ทั้งในส่วนการ์ตูนและแอนิเมชัน โดยเธอพยายามผลักดันตัวคาแรกเตอร์ขายหัวเราะให้ออกไปสู่พรมแดนใหม่ ๆ อย่างในโอกาสครบรอบ 50 ปีของขายหัวเราะเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ทดลองทำ original content รูปแบบใหม่ ๆ สำหรับผู้ชม และที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์หรือพาร์ทเนอร์

“เรามีการทำ collaboration กับแบรนด์ชั้นนำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งหมด 6 แบรนด์ ๆ ละ 1 ผลงาน อาทิ การเงิน เสื้อผ้าแฟชั่น อาหาร การท่องเที่ยว งานเหล่านี้จะพาให้แบรนด์ขายหัวเราะไปได้ไกล ทำให้ผู้คนเห็นว่าขายหัวเราะเป็นได้มากกว่าแค่การ์ตูน เพราะพลังการ์ตูนของเราทำได้มากกว่าการสร้างความบันเทิง”

เธอบอกว่าเมื่ออยู่บนแบรนด์แฟชั่นก็สามารถสื่อสารเรื่องของแบรนด์แฟชั่น หรือ personality ของคน สร้างความสนุกสนานให้กับการแต่งตัวของผู้คนได้ หรือเวลาที่ไปอยู่กับอาหารก็ทำให้อาหารที่อยู่บนชั้นวางมีสีสันมากขึ้น ช่วยตอบโจทย์ด้านยอดขาย ความคิดสร้างสรรค์ ความอร่อย ความสนุกและความสุขในการรับประทานอาหารด้วย

แม้แต่เรื่องการลงทุน ขายหัวเราะใช้การ์ตูนสื่อสารให้คนไทยเข้าใจเรื่องการออม เรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ ได้ง่ายขึ้น กระทั่งให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงในการลงทุน

ส่วนด้านการท่องเที่ยวขายหัวเราะก็นำพลังการ์ตูนไปช่วยการท่องเที่ยวฯ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ 50 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ

“ก่อนหน้านี้เราเคยร่วมมือกับการท่องเที่ยวฯ ทำให้เกาะแห่งหนึ่งกลายเป็นเกาะขายหัวเราะ เป็นการสร้างแลนด์มาร์กใหม่ให้กับการท่องเที่ยวในประเทศไทย ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นในช่วงโควิด จนได้รับการตอบรับด้านยอดขายดีมาก”

คอนเทนต์ ขายหัวเราะ

“เรื่องที่ภูมิใจมากคือในช่วงโควิดเราได้รับเกียรติร่วมกับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในการทำคู่มือสู้โควิดฉบับการ์ตูน ซึ่งสะท้องให้เห็นพลังของการ์ตูนที่ไม่ใช่เรื่องบันเทิง แต่ช่วยให้คนลดการติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาระของแพทย์และพยาบาล”

สำหรับปี 2567 ขายหัวเราะจะมีการต่อยอดคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ แบรนด์ใหม่ ๆ โดยมุ่งไปในขอบข่ายที่เกี่ยวกับการ์ตูน คาแรกเตอร์ อารมณ์ขัน และความคิดสร้างสรรค์แบบ storytelling

พัฒนางานด้วย “ขายหัวเราะสตูดิโอ”

เธอยอมรับว่าส่วนตัวฝันอยากพาคาแรกเตอร์ขายหัวเราะไปสู่ระดับสากลสักวันหนึ่ง แต่วันนี้เธอยังไม่กล้าฝันใหญ่เพราะหลายอย่างยังต้องการความพร้อม ซึ่งการสร้าง “ขายหัวเราะสตูดิโอ” เป็นโจทย์หนึ่งที่ได้ลงมือทำไปแล้ว

“ต่างประเทศทำงานรูปแบบสตูดิโอกันมานานแล้ว อย่างของดิสนีย์ไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหนก็ไม่ได้ยึดติดว่าคนที่วาดมิกกี้คนแรกจะต้องวาดตัวมิกกี้ตลอดไป คนอื่น ๆ ก็สามารถวาดได้ โดยมีระบบทำงานที่ชัดเจน มีคาแรกเตอร์ไบเบิลที่สืบทอดต่อกันมาอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าคนวาดจะเป็นใครก็ตาม การ์ตูนตัวนี้จะมีหน้าตาคงเดิม ลักษณะนิสัยของคาแรกเตอร์จะไม่เปลี่ยนไปแบบไร้ทิศทาง ซึ่งทำให้การสร้างคาแรกเตอร์มีความยั่งยืนและต่อยอดไปได้มากกว่าการทำงานแบบ one man show”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันขายหัวเราะมีรูปแบบการทำงานทั้ง 2 แบบ คือแบบสตูดิโอ เพราะต้องการงานที่รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานกับแบรนด์ซึ่งลูกค้าต้องความฉับไว มีความ customized ให้เข้ากับแบรนด์ต่าง ๆ อีกทั้งรูปแบบของแพลตฟอร์มไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาพนิ่งเหมือนสื่อสิ่งพิมพ์ แต่มีงานวิดีโอคลิปที่ต้องใช้แรงงานมาก ทำให้ไม่สามารถทำงานให้จบได้ด้วยคนเดียวในเวลาที่จำกัด

ส่วนแบบทำงานคนเดียว เหมาะสำหรับนักวาดที่มีความโดดเด่นเหมาะจะเป็นสตาร์ หรืองานขายได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่นนักวาดรุ่นเก่ายังคงทำงานคนเดียวแบบเดิมต่อไป

“มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราสามารถทำงานทั้งสองรูปแบบควบคู่กันไปได้ ขึ้นกับความเหมาะสมเนื่องจากโลกของคอนเทนต์ โลกของการ์ตูนไม่ได้หยุดนิ่ง มีความลื่นไหลมาก อาจจะไม่ได้มีโมเดลการทำงานแบบเดียวที่สามารถใช้ได้แบบครอบจักรวาล ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้โมเดลแบบใดในสถานการณ์แบบไหน”

เปิดใจ “พิมพ์พิชา อุตสาหจิต” ทายาทรุ่น 3 ขายหัวเราะ “การ์ตูนเป็น Soft Power ที่ไปอยู่กับอะไรก็ได้”

เธอบอกว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ขายหัวเราะสร้างตัวคาแรกเตอร์ขึ้นมาเยอะมาก เช่น โจรมุมตึก คนติดเกาะ นินจากับจอมยุทธ์ ล้วนเป็นแก๊กที่คนจดจำได้ หรือตัวการ์ตูนที่มีการผลักดันมากอย่างเช่น บ.ก.วิติ๊ด คือคุณพ่อของเธอซึ่งเป็นเซ็นเตอร์ของแบรนด์ ปังปอนด์ที่จับกลุ่มเป้าหมายเด็กและครอบครัว หนูหิ่นและคุณมิลค์ที่จับกลุ่มผู้หญิง

“ถ้านับจำนวนกันจริงจังน่าจะมีเกินร้อยตัว เพียงแต่มีการออกสื่อมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นกับว่าช่วงนั้นเราต้องการโปรโมทตัวไหน หรือคาแรกเตอร์ตัวไหนเหมาะกับการสื่อสารในสถานการณ์นั้น ๆ”

ทายาทรุ่น 3 ให้มุมมองว่า ขายหัวเราะจะแตกต่างจากสตูดิโออื่น ๆ ในยุคนี้ที่เน้นสร้างตัวใดตัวหนึ่งขึ้นมา ซึ่งในอนาคตยังจะมีการเพิ่มเติมคาแรกเตอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นช่วงนี้ตัวคาแรกเตอร์ใหม่ที่คนดูชอบมากชื่อคุณสมร เป็นตัวแทนของคนทำงานออฟฟิศจะออกมาบ่อยและมีคนชอบคอมเมนต์จนจำได้ เช่นเดียวกับคุณวิทูนส์ในช่องยูทูปที่จะสื่อสารเรื่องราวที่อินเทรนด์

“งานสร้างตัวคาแรกเตอร์เปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่สร้างขึ้นมาแล้วจบ ต้องมีการดูแลต่อเนื่อง สร้างสตอรี่ต่อยอดให้มัน รู้ว่ามันควรจะพูดอะไร เติบโตไปช่องทางไหน ซึ่งในปี 2567 ขายหัวเราะมีแผนจะสร้างตัวคาแรกเตอร์และสตอรี่ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากในหลายรูปแบบ พร้อมกับเสริมทัพนักวาดใหม่เข้ามาทั้งแบบสตูดิโอและแบบนักวาดเดี่ยว เชื่อว่าจะเป็นปีที่ original contents และ asset ของขายหัวเราะจะเติบโตขึ้นอีกมาก”

พร้อมรับมือความท้าทายจาก AI

ย้อนไปเมื่อ 9 ปีก่อน ตอนที่เธอเข้ามาทำงานรับผิดชอบในฐานะทายาทรุ่น 3 เป็นการเริ่มต้นที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่เพราะมีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาตลอดเวลา ทั้งเรื่องรสนิยมที่เปลี่ยนไป กลุ่มผู้อ่านหรือผู้ชมเปลี่ยนแปลงไป กระทั่งเรื่องการเกิดดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับเปลี่ยน business model จากเดิมที่เป็นแหล่งรายได้หลัก จำเป็นต้องขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อย่างจริงจัง

“สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่หนักหน่วง แต่มายด์เซ็ตที่เราได้รับมาจากคุณพ่อคุณแม่ว่าธุรกิจของเราสามารถจะใช้ความคิดสร้างสรรค์หาหนทางใหม่ ๆ ที่จะขยับขยายไปได้ อีกทั้งการเห็นคุณค่าของแบรนด์ที่เราเติบโตมากับมัน มีความผูกพันกับมันทำให้เราผ่านมันมาได้”

นิวยอมรับว่าช่วงนั้นรู้สึกกดดันมากจนท้อแท้นับครั้งไม่ถ้วน แต่หลังจากผ่านสถานการณ์ครั้งนั้นมาแล้วก็มองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดา จากนี้ต่อไปหากมีการดิสรัปในเรื่องอื่น ๆ อย่างเช่นการมี Generative AI เข้ามา เธอเชื่อว่าจะสามารถรับมือได้อย่างมีสติ

“เรื่อง AI ไม่ว่าจะมองในแง่ว่าเป็นอุปสรรคหรือเป็นโอกาส สิ่งที่ต้องยอมรับความจริงก็คือเราไม่สามารถต้านทานกระแสนี้ได้ เราเคยผ่านประสบการณ์เรื่องดิสรัปชันในสื่อสิ่งพิมพ์มาแล้ว มันเป็นบทเรียนสอนให้รู้ว่าบางทีเราไม่ใช่คนที่ควบคุมปัจจัยนั้น จึงอยู่ที่เราจะมีท่าทีอย่างไรในการจัดการกับความท้าทายที่เข้ามา เราอาจจะมองว่าเป็นภัยคุกคามเราได้ประมาณหนึ่ง ขณะเดียวกันเราก็มองว่ามันอาจจะเป็นหนทางที่จะช่วยให้เรามีเครื่องมือหรือวิธีการทำงานแบบใหม่”

โดยเธอเชื่อว่าสิ่งนี้จะไม่ได้เข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ ทั้งในเชิงความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการทำงาน โดยชี้ให้เห็นในการทำงาน design thinking ที่ต้องมีการใส่ไอเดียเข้าไป แม้ว่า AI จะเก่งในเรื่องนี้ แต่คนที่ prompt จะต้องเข้าใจอินไซด์ของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากมนุษย์เท่านั้น และสุดท้ายคือการนำผลงานที่  AI generate ออกมาไปประยุกต์ใช้ ก็เป็นมนุษย์อีกเช่นกันที่เลือกว่าจะเอาอะไรไปใช้

“ดังนั้นแม้จะมี AI มนุษย์ก็ยังมีบทบาทที่สำคัญในการจบงานอยู่ดี อย่างน้อยก็ 3-5 ปีนับจากนี้”

“นิวยังให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์อยู่เสมอ ไม่เคยคิดว่าต่อไปจะต้องเอา AI มาใช้งานแทนมนุษย์ ตอนนี้สิ่งที่ขายหัวเราะทำได้คือทดลองกับมันมากกว่า อย่างต้นปี 2566 ที่ผ่านมา มีการทำหนังสือการ์ตูนที่ใช้ AI ทั้งเล่ม เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทั้งในเชิงไอเดียและกระบวนการทำงาน”

“เราไม่ได้มองว่าเป็นการนำ AI มาใช้แทนคน แค่เป็นการทดลองเท่านั้น เพราะเราทำงานกับความคิดสร้างสรรค์ จึงมีโปรเจ็กทดลองที่เรียกว่าขายหัวเราะแซนด์บอกซ์ คืออะไรก็ได้ที่เราไม่คุ้นเคยแต่มองว่าน่าค้นหา น่าเอามาทดลองทำ ซึ่งที่จริงในกรณีนี้เป็นการตั้งคำถามมากกว่าว่าอารมณ์ขันของ AI เป็นอย่างไร ถ้าให้มาคิดไอเดียขายหัวเราะจะเป็นอย่างไร”

ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นหนังสือขายหัวเราะ ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta ที่ใช้ Generative AI ช่วยสร้างเรื่องและวาดภาพทั้งเล่มด้วยคอนเซ็ปต์ prompt อารมณ์ขัน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้อ่านมากพอสมควร

หนุนพลังการ์ตูนเป็น Soft Power

“ในฐานะคนที่เชื่อมั่นในพลังของการ์ตูนและโลกของคาแรกเตอร์ จากการเติบโตมากับอิทธิพลสื่อต่างประเทศอย่างดิสนี่ย์ เมื่อเข้ามาทำงานจริงก็รู้สึกเคารพเหมือนครูในวิชาชีพการทำงานของเรา โดย business model ที่ดิสนีย์สร้างไว้เป็นเหมือนต้นแบบให้ content creator หรือผู้ประกอบการทางด้านการ์ตูนและแอนิเมชันได้ดูเป็นแบบอย่างไว้ เช่นเดียวกับฝั่งญี่ปุ่นที่มีสตูดิโอจิบลิ”

เมื่อเราถามถึงความคิดในการผลักดันการ์ตูนไทยให้เป็น soft power นิวได้เอ่ยถึงสำนักสร้างสรรค์แอนิเมชันระดับโลกอย่างดิสนีย์ของสหรัฐอเมริกาด้วยความชื่นชม ขณะเดียวกันเธอก็กล่าวถึงชื่อสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) สตูดิโอภาพยนตร์อนิเมะชื่อดังของญี่ปุ่นที่สร้างผลงานเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก ด้วยความรู้สึกลึก ๆ ที่อยากจะก้าวตามรอย

“การที่ญี่ปุ่นใช้ soft power ของการ์ตูนสร้างชาติ เช่นการ์ตูนฟุตบอลที่ส่งเสริมให้เด็กมีวินัยและอยากเล่นฟุตบอล หรือการ์ตูนเรื่องอาหารที่ทำให้คนดูอยากเป็นเชฟ นิวมองว่าสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยก็มีศักยภาพที่จะทำได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนและมีระบบรองรับที่จะช่วยพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ ซึ่งส่วนตัวก็หวังว่าสักวันจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ประเทศไทยได้ไปถึงตรงนั้น”

เธอกล่าวเสริมว่า การที่วิธิตากรุ๊ปเป็นฮับของการ์ตูน มีการ์ตูนคาแรกเตอร์ที่ผูกพันกับคนไทยมายาวนาน ก็มีความคาดหวังอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดันการสร้าง soft power ด้วยอุตสาหกรรมการ์ตูน คาแรกเตอร์ และอารมณ์ขันของประเทศไทย

“แต่เราไม่สามารถทำสิ่งนี้ด้วยตัวคนเดียว หรือเอาคาแรกเตอร์หนึ่งขึ้นมาแล้วพูดว่าสิ่งนี้คือ soft power ไม่ได้ มันต้องเกิดจากระบบที่หลายภาคส่วนช่วยกันผลักดันให้คาแรกเตอร์นั้นเกิดมิติที่มีอิทธิพลต่อผู้ชมไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือนอกประเทศ”

โดยยกตัวอย่างว่าภาครัฐต้องมี creative economy ที่เข้มแข็งกว่านี้ สามารถช่วยผลักดันให้คาแรกเตอร์ที่สร้างขึ้นมาไปต่อได้อย่างไร ซึ่งขณะนี้ความสามารถที่มีอยู่ทำได้แค่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่ถ้าไปต่างประเทศต้องการการรวมพลังผลักดันอีกรูปแบบหนึ่ง

“ในฐานะที่ดูแลงานส่วนนี้ และรู้ว่าหลายคนมองว่าขายหัวเราะพร้อมที่สุดที่จะไป เราก็พยายามจะทำเต็มที่เท่าที่ทำได้ ถือเป็นพันธกิจหนึ่งของเราอยู่แล้วที่จะเติบโตและร่วมเป็นหน่วยหนึ่งในพลังผลักดันนี้”

เกิดมาเพื่อเป็นผู้สืบทอด

“เราเป็นลูกที่ใกล้ชิดกับการทำงานของคุณพ่อคุณแม่ เติบโตมาในโรงพิมพ์ มีกองต้นฉบับเป็นเพื่อนเล่น จนได้พัฒนาทักษะทางด้านการอ่านการเขียนเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน ทำให้มีความคิดว่าสักวันต้องเข้ามาช่วยงานที่บ้าน”

นิวเปิดเผยถึงปูมหลังว่านี่เป็นที่มาของการเลือกเรียนปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เพราะเธอเชื่อว่าตรงกับสายงานนี้ที่สุด ส่วนปริญญาโทเลือกเรียนบริหารธุรกิจเพื่อทำให้มั่นใจว่าเมื่อออกมาทำงานด้านคอนเทนต์จะสามารถสร้างรายได้ให้เกิดความยั่งยืนได้มากกว่าแค่การทำคอนเทนต์ให้ดีหรือสนุกเท่านั้น

“เรียบจบโทกลับมาจังหวะมันพอดีกับที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการคนเข้ามาช่วยงาน ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็รู้ว่าท่านมีความคาดหวังในตัวเรา คอยถามว่าเรียบจบแล้วจะกลับมาทำอะไร เราก็เป็นลูกคนเดียวที่ชอบงานทางด้านนี้ด้วย”

“ยอมรับว่าตอนแรกที่เข้ามาทำงาน พอได้ยินคำพูดที่ว่าธุรกิจครอบครัวมีวงจรแค่ 3 รุ่น รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองต่อยอด และรุ่นสามทำลาย นิวกลัวที่สุดว่าแบรนด์ที่อากงและคุณพ่อสร้างขึ้นจะมาจบที่รุ่นเรา เพราะในช่วงดิสรัปชันเราเคว้งคว้างเกิดคำถามกับตัวเองว่าเราเก่งพอรึป่าว เราจะเข้ามาทำอะไรกับทีมนี้ได้ แล้วมันจะไปต่ออย่างไร”

เธอบอกว่าตอนนั้นมืดมัวมากเพราะเป็นช่วงที่ฝุ่นตลบ ขนาดองค์กรที่ใหญ่กว่าในต่างประเทศยังไม่รู้ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร เธอจะรู้ได้อย่างไร ประสบการณ์ก็ไม่มี จึงทำผิดพลาดหลายครั้งหลายหน

“สุดท้ายกลับมาคิดว่าเราจะมัวแต่กลัวไม่ทำอะไรเลย หรือเราจะสู้กับมัน ในอีกด้านหนึ่งความกลัวนี้ก็เป็นแรงกระตุ้นให้เราตื่นตัว ไม่นิ่งนอนใจ เพราะไม่อยากให้มันจบที่รุ่นเรา จึงสู้เต็มที่ พยายามหาหนทางใหม่ ๆ ที่ดีให้กับบริษัทเสมอ”

“ข้อสำคัญคือพอเรารู้จักตัวเอง ก็รู้จักควบคุมความกลัวนั้น ถ้ากลัวนิด ๆ ก็จะเป็นแรงกระตุ้น ถ้ากลัวมากเกินไปก็ทำให้ไม่กล้าทำอะไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างสมดุลจนข้ามผ่านมาได้”

รู้จักการเป็นผู้นำจากบทเรียนจริง

“ในความคิดตัวเองรู้สึกว่ายังไม่เคยทำอะไรสำเร็จยิ่งใหญ่เลย แค่รู้สึกว่าที่ผ่านมาเรารอดมาได้และยังต้องไปต่อ ความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดจุดหนึ่งบนเส้นทางของเรา ยังมีโอกาสอีกหลายอย่างที่เราควรจะทำและไปให้ถึงจุดนั้น จึงไม่เคยรู้สึกว่ามีอะไรที่เป็นความสำเร็จเลย”

ทายาทรุ่น 3 แห่งวิธิตากรุ๊ปกล่าวขึ้นเมื่อถูกถามถึงความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเล่าว่าตอนเข้ามาทำงานใหม่ ๆ เธอมีความกดดันมาก ซึ่งเชื่อว่าผู้นำองค์กรหลายคนโดยเฉพาะคนที่อยู่ในตลาดที่เผชิญภาวะไม่มั่นคงจะต้องเจอแบบเดียวกัน

“เรียนจบกลับมาวันแรกคุณแม่ถามว่าจะพักกี่วัน เราตอบไปว่าขออาทิตย์หนึ่ง แต่คุณแม่บอกว่าพักวันเดียวก็พอ ทำให้เราเข้ามาเริ่มทำงานเลย ก็กดดันเพราะเป็นคนเรียนหนังสือดีจึงคิดว่าจะทำงานได้ไม่ยาก แต่ลืมคิดไปว่าตอนเรียนหนังสือแฟกเตอร์ทุกอย่างเราควบคุมด้วยตัวเองได้ ต่างกับการทำงานมีแฟกเตอร์มากมายที่เราควบคุมไม่ได้ และไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์กับงานได้อย่างที่คิด”

“การเข้ามาร่วมงานกับทีมที่อาวุโสกว่าเรามาก การบริหารงานไม่ง่ายอย่างที่เราคิด บางครั้งตัดสินใจผิดพลาด ก็รู้สึกล้มเหลวที่ตัวเองไม่เก่ง ท้อแท้ประมาณหนึ่ง แต่ก็กลับมาได้ด้วยกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ และส่วนตัวที่พยายามคิดว่าถ้าเราจมอยู่กับมันก็ไม่ช่วยอะไร และจะกลายเป็นภาระของทีมมากกว่า ถ้าเราเรียนรู้จากมันครั้งหน้าจะไม่พลาดอีก และเราจะไม่เสียใจที่ได้พยายามทำเต็มที่แล้ว”

นิวบอกว่าเมื่อมีชั่วโมงบินกับการทำงานมากขึ้นก็มีความสามารถรับมือกับเรื่องพวกนี้ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความกดดันต่าง ๆ การรู้จักปล่อยวางช่วยให้เธอบริหารความเครียดได้ดีขึ้น และพยายามนำประสบการณ์ที่ดีมาปรับปรุงตัวเอง

“เรื่องที่สำคัญมากคือการยอมรับว่าคนเราไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง นิวเคยมีประสบการณ์ที่คอมเมนต์งานของทีมในบางจุดไม่ได้ เราก็พยายามไปเรียนให้เก่งด้านนั้นและทดแทนทีมได้ แต่เมื่อถอยออกมามองในเชิงบริหาร ก็พบว่าทีมไม่ได้ต้องการคนที่เก่งกว่า หรือเก่งเท่าเขา แต่ทีมต้องการคนที่ซัพพอร์ตเขา หรือช่วยเคลียร์ปัญหาให้เขาเมื่อเจออุปสรรคมากกว่า”

เธอสรุปว่า สิ่งที่ทีมคาดหวังจากตัวเธอในฐานะหัวหน้าคือทำให้ทุกคนทำงานสะดวกที่สุด มีความสุขที่สุด และคอยดูว่าทีมขาดอะไร ต้องเติมอะไร

“พอเรายอมรับตัวเองได้ว่าไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่องก็ได้ แต่คุณค่าของเราอยู่ที่การดูแลภาพรวม มันจะทำให้เราทำงานถูกบทบาท ลดความกดดัน และลดการเสียเวลาได้เยอะมาก”

สุดท้ายเธอได้เรียนรู้ว่าประสบการณ์จากการทำงานตรงช่วยสอนในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้เกิดมายด์เซ็ตที่ดีและเปิดกว้าง

เป้าหมายสูงสุดที่เรียบง่าย

ในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ของเครือวิธิตากรุ๊ปที่มีความผูกพันกับสังคมไทยมายาวนาน 65 ปี เราอยากรู้ว่าเธอตั้งเป้าหมายสูงสุดขององค์กรนี้ไว้อย่างไร

“เป้าหมายสูงสุดคืออยากให้แบรนด์ของเราอยู่ในใจของคนไทย ถ้าสามารถเติบโตไปในระดับอินเตอร์ได้ก็ยิ่งดี” เธอให้คำตอบที่ฟังดูเรียบง่ายแต่เป็นโจทย์ที่ทำยาก

“เราไม่จำเป็นต้องถึงเส้นชัยเร็วกว่าคนอื่น แต่ต้องยืนโต้คลื่นและอยู่บนยอดคลื่นได้ยาวนานที่สุด และสามารถขยายบทบาทไปสู่วงกว้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงถ้ามีโอกาสผลักดันคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ ของเราไปสู่ตลาดต่างประเทศ เราก็อยากจะเป็นพลังเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันนั้น”

“นิวให้ความสำคัญกับความยั่งยืนชองแบรนด์มากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าต้องการเป็นแบรนด์ที่ทำไรสูงสุด หรือมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่สิ่งสำคัญคือการเป็นแบรนด์ที่ยืนระยะให้ได้นานที่สุด” เธอกล่าวสรุป

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่น 3 “น่ำเอี๊ยง” ผู้นำพาโหราศาสตร์จีนโลดแล่นในโลกดิจิทัล

‘มงคล ตั้งศิริวิช’ นำชไนเดอร์สานต่อพันธกิจจัดการพลังงานบนความยั่งยืน

แกะรอย DNA กลุ่ม “บ้านโป่งทาปิโอก้า” ผู้ปักหมุดแป้งนวัตกรรมของไทยในตลาดโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ