TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewปั้นประกันภัยไทยวิวัฒน์ ยืนหนึ่งด้าน InsureTech ภารกิจร่วมกันของคนสองรุ่นตระกูล “อัศวะธนกุล”

ปั้นประกันภัยไทยวิวัฒน์ ยืนหนึ่งด้าน InsureTech ภารกิจร่วมกันของคนสองรุ่นตระกูล “อัศวะธนกุล”

แม้จะดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยมานาน 72 ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย แต่ชื่อของ “ประกันภัยไทยวิวัฒน์” เริ่มเป็นที่คุ้นเคยในวงกว้างเมื่อริเริ่มบริการประกันรถยนต์เปิดปิดเป็นรายแรกในปี พ.ศ. 2559 พร้อมการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรให้ทันสมัยเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

การปรับตัวครั้งนั้น เกิดขึ้นจากการผนึกกำลังกันของคน 2 รุ่นแห่งตระกูล “อัศวะธนกุล” ด้วยการผสานประสบการณ์อันโชกโชนของรุ่นพ่อ เข้ากับความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ของรุ่นลูก ทำให้เกิดการลงทุนพัฒนาบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจัง ส่งผลให้วันนี้ไทยวิวัฒน์ยืนอยู่แถวหน้า InsureTech ของเมืองไทย

จีรพันธ์ อัศวะธนกุล ผู้เป็นพ่อ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้ง (TVH) บริษัทแม่ของบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (TVI) บอกกับ The Story Thailand ว่า

“เราตั้งเป้าเป็นผู้นำด้าน InsurTech ซึ่งผลิตภัณฑ์แบบที่ไทยวิวัฒน์ทำอยู่ยังไม่มีใครทำได้แบบเรา และเรายังมีการพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ”

ขณะที่ เทพพันธ์ อัศวะธนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด ทายาทที่มีบทบาทสำคัญด้านการวางกลยุทธ์ และช่วยผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างบริการให้เข้าถึงคนกว้างขึ้น มีมุมมองว่า “แม้เราจะทำเรื่องเทคโนโลยี แต่ consumer deliver เป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

แนวคิดเช่นนี้ทำให้พวกเขามุ่งออกแบบแผนประกันที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ภายใต้สโลแกนที่ว่า “คิดเผื่อเพื่อทุกชีวิต” และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในปี 2566 เพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นเบอร์หนึ่งด้าน InsureTech ในอนาคต

เน้นพัฒนาธุรกิจให้มั่นคงด้วยเทคโนโลยี

จีรพันธ์เล่าว่า คุณพ่อของเขาเริ่มต้นทำธุรกิจประกันภัยเมื่อปี พ.ศ. 2494 ในยุคที่การเปิดดำเนินการธุรกิจประกันภัยทำได้ง่ายเพราะยังไม่มี พรบ.ประกันภัย มีบริษัทประกันภัยเกิดขึ้นจำนวนมาก ธุรกิจประเภทนี้จำนวนไม่น้อยจึงมีอายุกว่า 70 ปี

“ยุคแรกเริ่มเราทำธุรกิจแบบโบราณซื้อมาขายไป ยุคที่สองก็ every conservative เพราะมีผู้บริหารที่มาจากเมืองเซี่ยงไฮ้ซึ่งถนัดงานประกันอัคคีภัยและประกันภัยการขนส่งทางทะเล ยุคที่สามเราเริ่มเข้าสู่ธุรกิจประกันภัยรถยนต์ กลายเป็นบริษัทระดับนำของธุรกิจประกันภัยรถยนต์ภายในเวลาไม่กี่ปีเพราะตอนนั้นยังมีคู่แข่งขันในตลาดไม่มากนัก”

ช่วงปี พ.ศ. 2520-2526 ไทยวิวัฒน์ประสบความสำเร็จมียอดเบี้ยประกันรถยนต์เป็นอันดับต้น ๆ ต่อมาตลาดประกันภัยรถยนต์มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาจำนวนมาก หลายรายไม่ประสบความสำเร็จต้องเลิกกิจการไป ขณะที่ไทยวิวัฒน์ยังคงดำรงอยู่ได้เพราะมีความระมัดระวังในการรับประกัน

เวลานั้นมีการปรับเปลี่ยนสู่ผู้บริหารยุคใหม่โดยดึงมืออาชีพเข้ามาบริหารทดแทนผู้บริหารรุ่นเก่าจากเซี่ยงไฮ้ที่เกษียณอายุไป ทำให้กิจการเติบโตมากจากการพัฒนาการทำงานให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี

“เราเริ่มต้นนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการออกกรมธรรม์ และงานทะเบียนต่าง ๆ เพื่อส่งหน่วยงานกำกับดูแล และริเริ่มนำวิทยุสื่อสาร walkie talkie มาใช้ในการสื่อสารภายในองค์กร จนได้รับรางวัล  Asian Hi-tech Award ในฐานะบริษัทที่มีนวัตกรรมจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ในปี 2528”

ยุคที่สี่ เริ่มช่วงปี 2529-2530 ทีมบริหารผลัดใบสู่รุ่นใหม่อีกครั้ง มีการปรับปรุงการบริหารด้วยความรู้ตามหลักการบริหารกิจการประภัยเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

จีรพันธ์เริ่มเข้ามาทำงานในไทยวิวัฒน์เมื่อปี 2526 หลังเรียนจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทการบัญชีจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนในปี 2532ตัวเขาซึ่งเป็นทายาทรุ่น 2 ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด

ในการบริหารงาน เขาเน้นเรื่องความมั่นคงและความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยให้ข้อมูลตัดสินใจ และเพื่อรักษาสถานะความมั่นคงทางการเงินจึงมีความระมัดระวังในเรื่องเบี้ยประกันรับมากขึ้น ทำให้ ranking ตกลง เนื่องจากการเลือกงานที่ดีขึ้นจากการใช้สถิติและข้อมูลที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์มาวิเคราะห์อย่างมาก

เขาบอกว่า ช่วงนั้นมีการลงทุนเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของซันไมโครซิสเต็มส์ ที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ต่อมาพัฒนาสู่การลงทุนระบบมินิคอมพิวเตอร์ AS400 ของไอบีเอ็มเพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“จากที่เคยอยู่อันดับ 10 ด้านประกันภัยรถยนต์ อันดับของเราลดลงเรื่อย ๆ เพราะเราเน้นที่ตัว bottom line มากขึ้นเพื่อความมั่นคงยั่งยืน โดยเน้นที่กำไรเป็นสำคัญ”

“ที่ต้องเน้นความมั่นคงเกิดจากช่วงปี 2527-2528 มีความยากลำบากในการทำธุรกิจอย่างมากเนื่องจากผลกระทบของวิกฤติราคาน้ำมัน และการลดค่าเงินบาทในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นทีมผู้บริหารส่วนใหญ่มีอายุมาก ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวทำได้ยาก เราจึงประสบปัญหามาก เป็นสาเหตุที่ต้องหันมาเน้นเรื่องความมั่นคงทางการเงิน”

เรื่องนี้ต่อมากลายเป็นบทเรียนช่วยให้ไทยวิวัฒน์รับมือกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้ดี จนไม่ได้รับผลกระทบด้านสถานะการเงินเหมือนบริษัทอื่น ๆ จนกระทั่งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

จากแนวคิดว่า บริษัทประกันภัยต้องยึดถือเรื่องความมั่นคง เป็นหลักจึงตัดสินใจนำบริษัทไทยวิวัฒน์ประกันภัยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับการอนุมัติให้เทรดหุ้นในตลาดฯ ในปี 2534

“ตั้งแต่วิกฤติทางการเงินในปี 2540 ธุรกิจประกันภัยโดยเฉพาะในกลุ่มประกันวินาศภัยมีการเก็บข้อมูลตลาดมากขึ้น ผมเองตอนนั้นเป็นเลขาสภาธุรกิจประกันภัยไทยมีส่วนร่วมผลักดันการใช้ดาต้าเบสของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย เพื่อประโยชน์ในการให้บริการลูกค้า ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ในการใช้ต่อรองกับภาครัฐและบริษัทประกันภัยต่อด้วย โดยตั้งศูนย์รวมข้อมูลที่สมาคมฯ มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับในการให้แต่ละบริษัทส่งข้อมูลเข้ามา”

จีรพันธ์ย้อนความหลังว่า เวลานั้น ทั้งอุตสาหกรรมและหน่วยงานกำกับมีการปรับตัวโดยนำโมเดลของไทยวิวัฒน์ไปใช้กันทั้งหมด

“ความจริงเราเริ่มเก็บดาต้าเบสตั้งแต่ปี 2520 และปรับปรุงใหญ่เมื่อมี พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการต่อยอดทางธุรกิจในช่วงต่อมา”

สร้างบริการรูปแบบใหม่ด้วย InsureTech

ยุคที่ห้าเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งจากการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในรูปแบบ InsurTech โดยในปี 2559 ริเริ่มบริการ “ประกันรถยนต์เปิดปิด” เป็นรายแรกในประเทศไทยและรายเดียวจนถึงปัจจุบัน ด้วยไอเดียการคิดเบี้ยตามเวลาที่ขับจริง แต่คุ้มครองเหมือนประกันภัยรถยนต์รายปี

“ก่อนนี้เราใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจรับประกัน แต่ในปี 2559 เราเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้บริการแบบ technology related มากขึ้น ทำให้เกิดการบริการแบบ value added service ใหม่ ๆ ในธุรกิจประกันภัยรถยนต์”

จีรพันธ์กล่าวว่าสิ่งนี้เป็นนวัตกรรมประกันภัยรถยนต์ที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับการบริการเต็มรูปแบบ ทั้งในการวิเคราะห์ตลาด การให้บริการ และออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

จุดเด่นคือเป็นรูปแบบของกรมธรรม์ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาให้บริการตามแนวคิดจ่ายตามที่ขับ ไม่ขับไม่ต้องจ่าย โดยคิดค่าบริการเป็นนาที ซึ่งเขาได้ไอเดียจากรูปแบบการให้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินตอนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ

“ผมเป็นคนคิดในเรื่องการคำนวณเบี้ยประกันและรูปแบบกรมธรรม์ ส่วนลูกชายเป็นคนคิดในเรื่องเทคโนโลยี หาวิธีที่จะทำให้เกิดเป็นบริการประกันภัยแบบเปิดปิดขึ้นมา”

ลูกชายคือ เทพพันธ์ ทายาทรุ่น 3 เข้ามาช่วยงานโดยหาโซลูชันที่จะมาดำเนินการโครงการตามโจทย์ที่พ่อต้องการ

“ก่อนเข้ามาช่วยงานคุณพ่อ ผมเคยทำงานที่บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป มีโปรเจ็กต์เกี่ยวกับงานประกันว่ามีการทำอะไรมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็บอกคุณพ่อว่าไทยวิวัฒน์ต้องคิดทำอะไรแล้วนะ ตอนคุณพ่อมีไอเดียจะทำบริการประกันภัยเปิดปิดผมก็เสนอตัวเข้ามาช่วยเอ็กซิคิวให้โปรเจ็กต์นี้”

เทพพันธ์บอกว่า ความจริงการทำงานในบริษัทของพ่อครั้งแรกเกิดขึ้นหลังเรียนจบปริญญาโทบริหารธุรกิจจากวอร์ตันสกูล มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เขามีเวลาว่างประมาณ 2 เดือน จึงชวนเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาเที่ยวเมืองไทย

“พวกเราก็อยากมีรายได้ในช่วงนั้น คุณพ่อจึงชวนมา intern ที่ไทยวิวัฒน์ ทำโปรเจ็กต์วิจัยเรื่องตลาดประกันภัยของไทยพร้อมจะเข้าสู่ ecommerce หรือไม่ เพราะมีเพื่อนคนหนึ่งที่มาด้วยถนัดงานวิจัยตลาด”

“ตอนนั้น ecommerce ในไทยเริ่มบูม เราอยากรู้ว่าคนไทยรู้สึกอย่างไร พอได้ทำก็ติดใจอยากทำต่อเพราะดูว่ามีศักยภาพ แต่หลังจากนั้นได้งานประจำที่ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป เป็นเวลา 1 ปี จนคุณพ่อตัดสินใจจะเปิดบริการประกันภัยรถยนต์เปิดปิดในปี 2559 จึงเข้ามาช่วยงานนี้เต็มตัว”

เขาเริ่มต้นจากรับหน้าที่ในงานด้านกลยุทธ์ โดยใช้ความรู้ที่เรียนมาและประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้จากการทำงานหลายปี เป็นต้นว่าการทำโปรเจ็กต์สตาร์ตอัพ mobile care ให้บริการรถพยาบาลทั่วชิคาโกในช่วงเรียนปริญญาตรีวิศวกรรมอุตสาหการและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสต์เทิร์น สหรัฐอเมริกา และหลังเรียนจบได้ทำงานที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ เป็นเวลา 3 ปี

“ผมทำส่วน retail banking ได้ทำงานกับหลายวงการธุรกิจ งานด้านแบงกิ้งที่มาเลเซีย ในประเทศไทยผมเป็นคนแรกที่ได้โปรเจ็กต์เข้าไปช่วยคอนซัลต์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนั้นก็มีบริษัทประกันภัยข้ามชาติ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจพลังงาน ทำให้ได้เรียนรู้ธุรกิจหลายอย่างจากเดิมที่ไม่มีความรู้เลย”

เนื่องจากระบบบริการประกันภัยเปิดปิดมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องมาตลอด มีการปรับปรุงคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เปิดปิดแบบอัตโนมัติ เปิดปิดแบบตั้งเวลาได้ ใช้เทคโนโลยีบลูทูธมาเป็น IoT การเพิ่มเน็ตเวิร์กจาก NB-IoT มาเป็น 4G หรือมีฟีเจอร์ top-up เป็นต้น การใช้บริการเอาต์ซอร์สทั้งหมดแบบเดิมมีข้อจำกัดว่าถ้าติดขัดอะไรกว่าจะแก้ไขได้ต้องใช้เวลาพอสมควร

เมื่อ 4 ปีก่อน เขาจึงตัดสินใจที่จะมีทีมพัฒนาระบบของตนเองขึ้นมา โดยได้ชักชวน ดร.เฉลิมพล สายประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนวัตกรรม ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษางานพัฒนาระบบเปิดปิดให้เข้ามารับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมนวัตกรรม ปัจจุบันมีทีมงานด้านไอทีและพัฒนาข้อมูลรวมจำนวนเกือบ 100 คน ภายใต้การทำงานแบบสตาร์ตอัพที่สามารถคิดนอกกรอบได้

“โดยทั่วไปบริษัทประกันจะใช้โซลูชั่นของต่างประเทศ แต่การที่เราพัฒนาโซลูชันขึ้นมาเองจะสามารถปรับให้เข้ากับสภาพการใช้งานจริงได้ดีกว่า เวลามีข้อติดขัดตรงไหนก็สามารถพัฒนาแก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้ทันที”

ทำให้คนไทยเข้าถึงการประกันภัยง่ายขึ้น

“ทันทีที่สตาร์ตเครื่องยนต์ ประกันภัยจะเปิดทำงานอัตโนมัติ เช่นเดียวกับเมื่อดับเครื่องการประกันภัยจะหยุดทันที”

เทพพันธ์ บอกลักษณะการทำงานของประกันภัยรถยนต์เปิดปิด ซึ่งก่อนลงมือทำเขาได้ศึกษาเปรียบเทียบหลายระบบ โดยเน้นที่ต้องใช้งานง่าย สุดท้ายเลือกใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือสำคัญ ทำเป็นแอป Thaivivat โดยมีอุปกรณ์สื่อสารสัญญาณติดตั้งไว้ที่รถยนต์ของลูกค้า

“บริษัทประกันทุกแห่งสร้างแอปขึ้นมา แต่ว่าคนเข้าไปใช้แอปเฉพาะตอนเคลมเท่านั้น ต่างกับของไทยวิวัฒน์มีการเข้ามาใช้ทุกวันตลอดเวลา เมื่อเปิดและปิดประกันจะมีการเตือนแบบเรียลไทม์ มีรายงานว่า top-up เหลือชั่วโมงเท่าไร”

“เราอยากให้การประกันภัยอยู่ในการใช้ชีวิตของคน ไม่ใช่คิดถึงเราเฉพาะตอนประสบภัยหรือเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลแล้ว เพราะการทำประกันภัยเป็นการลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิต ช่วยให้มีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น เราจึงพยายามออกแบบการบริการที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ให้มากที่สุด”

ดังนั้นลูกค้าไม่เพียงสามารถตรวจสอบชั่วโมงการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันได้เท่านั้น แอป Thaivivat ยังมีฟีเจอร์จองที่จอดรถล่วงหน้า และหาจุดชาร์ตสำหรับรถ EV ทั้งหมดเป็นการสร้าง ecosystem เพื่อเติมเต็มการใช้ชีวิตให้กับลูกค้าซึ่งมีทั้งผู้ประกันแบบรายปีและแบบเปิดปิด

ทายาทหนุ่มของไทยวิวัฒน์เปิดเผยว่า ประกันภัยรถยนต์เปิดปิดเหมาะกับผู้ที่ใช้รถยนต์เฉลี่ยวันละไม่เกิน 4 ชั่วโมง จะช่วยประหยัดเงินได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าใช้เฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมงจะช่วยประหยัดเงินได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าใช้เฉลี่ย 7 ชั่วโมงต่อวันจะประหยัดได้ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ หากมีการใช้มากกว่านี้ค่าใช้จ่ายจะแพงกว่าประกันภัยแบบจ่ายรายปี

ในปี 2559 ที่เปิดตัวประกันรถเปิดปิด ตั้งเป้าปีแรก 10,000 กรมธรรม์ แต่สามารถทำยอดกรมธรรม์ได้ถึง 100,000 กรมธรรม์ ผ่านไป 3 ปีเติบโตเป็น 300,000 กรมธรรม์ และที่สำคัญมีอัตราการต่ออายุสูงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์

“อัตราการต่ออายุสูงกว่าประกันรถยนต์แบบทั่วไปถึงเท่าตัว และทำให้ชื่อของไทยวิวัฒน์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะผู้นำนวัตกรรมประกันภัย”

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเดิมคาดว่ากลุ่มผู้ใช้จะมีเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่กลับกลายเป็นผู้ใช้หลากหลายกลุ่ม รวมทั้งผู้สูงอายุ โดยแบ่งสัดส่วนพื้นที่ของผู้ใช้เป็นในกรุงเทพฯ 60 เปอร์เซ็นต์ และต่างจังหวัด 40 เปอร์เซ็นต์

จีรพันธ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปกติเบี้ยประกันแพงขึ้นทุกปี เบี้ยยิ่งแพงคนก็ยิ่งทำประกันน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น การมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบเปิดปิดช่วยตอบโจทย์ความต้องการายบุคคลมากขึ้น

“ทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่อยากให้คนไทยเข้าถึงการประกันภัยมากขึ้น จากการสร้างตลาดกลุ่มใหม่ขึ้นมา ขณะเดียวกันเราพบว่าคนที่ซื้อประกันแบบเปิดปิดมีสถิติการเรียกร้องค่าสินไหมต่ำกว่าคนที่ซื้อกรมธรรม์รายปีแบบปกติถึง 8 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เรามีมาร์จินเพิ่มขึ้น”

“แรกเริ่มเราตั้งเป้ากลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่ขับรถยนต์แค่ไปทำงานและกลับบ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำเพราะขับรถยนต์ไม่มาก กรมธรรม์แบบเปิดปิดจะตอบโจทย์ได้มากที่สุด แต่จากสถิติช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา เราได้รับรู้ว่าคนที่มีความระมัดระวังในการใช้จ่าย จะมีความระมัดระวังในการขับรถ จึงเลือกใช้กรมธรรม์แบบเปิดปิดเพราะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้”

เดิมการประกันภัยรถยนต์เปิดปิดมีเฉพาะแบบเครื่องยนต์สันดาปภายในเท่านั้น แต่ในปี 2567 ไทยวิวัฒน์ได้ขยายบริการสู่ประกันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย

“สำหรับรถยนต์ EV สิ่งสำคัญเราต้องสามารถแยกได้ว่ารถกำลังชาร์จไฟอยู่หรือรถกำลังใช้งานอยู่ เรื่องนี้เราใช้เวลาเป็นปีพัฒนาให้ระบบแยกแยะได้โดยการนำโลเคชันกับความเร็วรถมาประกอบกัน นอกจากนี้ยังร่วมกับพาร์ตเนอร์เพิ่มประโยชน์การใช้ด้วยข้อมูลสถานีชาร์จทั่วประเทศ” เทพพันธ์กล่าวเสริม

ทั้งให้ข้อมูลว่ารูปแบบของประกันภัยรถยนต์เปิดปิดสามารถประยุกต์ให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้รถได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ส่วนบุคคล หรือการใช้ขององค์กร ซึ่งมีหลายโมเดลที่กำลังทำอยู่ เช่น บริการเช่ารถยนต์ ผู้เช่าสามารถซื้อประกันภัยเฉพาะช่วงเวลาที่เช่ารถได้

“ซอฟต์แวร์ที่เราพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นบริการประกันภัยแบบเปิดปิดไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ใช้ได้ทุกที่ในโลก ซึ่งกำลังจะขยายบริการไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีการใช้ระบบขนส่งมวลชนในวันทำงาน และใช้รถยนต์ส่วนตัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ เช่นประเทศสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น”

เปลี่ยนโครงสร้างองค์กรรองรับการขยายธุรกิจ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บมจ.ไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า ปี 2566 บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVI ได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี โดยนำบริษัท ไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVH  เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพิกถอนหุ้น TVI ออกไป เพื่อลดข้อจำกัดด้านการลงทุนและเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้ดีขึ้น

“ในอดีตประกันภัยไทยวิวัฒน์ หรือ TVI มีกฎระเบียบสองกฎที่ควบคุมเรา หนึ่งกฎระเบียบจากหน่วยงานกำกับคือ คปภ. สอง กฎระเบียบจากกลต. เพราะเราเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้เราอยู่ในสองขา ดังนั้นจึงแยกออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ประกันภัยไทยวิวัฒน์ อยู่ภายใต้กฎระเบียบของ คปภ. ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้ง หรือ TVH ไม่ได้เป็นบริษัทประกันภัย จึงอยู่เฉพาะในกฎระเบียบของ กลต. เท่านั้น”

“คอนเซ็ปต์หลักอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้สามารถแสวงหาผลตอบแทนที่ดีที่สุดจากรายได้ที่เรามี เนื่องจากกฎระเบียบ คปภ. มีการควบคุมเรื่องการลงทุน เพราะมองว่าเงินของบริษัทเป็นของผู้ถือกรมธรรม์ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการลงทุนน้อย แต่ความเป็นจริงในงบการเงินของบริษัทส่วนหนึ่งเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น ดังนั้นเราจึงแยกเงินส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งมาอยู่ที่ TVH เพื่อให้สามารถไปลงทุนได้มากขึ้น ทำให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนดีที่สุด”

โดยแจ้งกับกลต. ว่า TVH จะลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย เช่น ลงทุนในบริษัทเซอร์เวเยอร์สำหรับบริษัทประกันภัย หรือบริษัทโบรกเกอร์ที่ส่งงานประกัน รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย

“โอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยยังมีอีกมาก ตัวอย่างเซอร์เวเยอร์ไม่ได้ใช้คนอย่างเดียวแต่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้วย ในอนาคตอาจมีการใช้โดรนไปตรวจอุบัติเหตุเลย หรืองานโบรกเกอร์ต่อไปอาจใช้เป็นเวอร์ชวลโบรกเกอร์ เหล่านี้ล้วนต้องการเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทั้งสิ้น”

สำหรับการลงทุนภายใต้ประกันภัยไทยวิวัฒน์ หรือ TVI ปัจจุบันมีเพียงบริษัทเดียวคือ Motor AI Recognition Solution หรือ  MARS ซึ่งเป็น tech startup ที่พัฒนานวัตกรรมประเมินความเสียหายรถยนต์แบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี AI ที่ให้ผลลัพธ์ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ทำประกันแจ้งเคลมงานซ่อมได้รวดเร็วขึ้น เป้าหมายการลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในด้านเทคโนโลยี

“ในอนาคตภาพของไทยวิวัฒน์ TVH จะเป็นผู้ลงทุนในธุรกิจประกัน ไอดอลของผมก็คือ วอร์เรน บัฟเฟดด์ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนสำคัญในธุรกิจประกันที่ให้ผลตอบแทนดีมาก bottom line มาจาก investment ส่วน top line มาจากธุรกิจประกัน”

ลงทุนบริษัทพัฒนา  AI เตรียมสู่ผู้นำในอนาคต

“2-3 ปีก่อนเราตั้งบริษัท MARS ขึ้นมาทำ AI solution รวบรวมคนที่เชี่ยวชาญด้าน AI มาทำเป็นบริษัทสตาร์ตอัพ ตอนนี้จึงมีความพร้อมด้าน AI ในระดับหนึ่งแล้ว และยังมีทีมนวัตกรรมที่ลงทุนสร้างมา 4 ปี เราค่อย ๆ สร้างคนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ ทีมด้าน UX/UI ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้ง front-end และ back-end  หรือทีมเน็ตเวิร์ก”

ในปี 2565 มีการเปิดตัวผลงาน 2 โซลูชั่น คือ MARS Inspect application เพื่อใช้ตรวจสภาพรถก่อนทำประกัน สามารถตรวจสภาพรถได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน และ MARS Garage ใช้ในการแจ้งเคลมงานซ่อม สามารถตรวจสอบ วิเคราะห์และประเมินความเสียหายของรถยนต์ที่เคลมและค่าใช้จ่ายในการซ่อม ทำให้มีมาตรฐานในการเคลมประกันดีขึ้น รวดเร็วขึ้น สามารถใช้งานได้ทั้งฝ่ายผู้เอาประกัน และศูนย์รถยนต์หรืออู่ซ่อมรถ

“โซลูชั่นนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ด้วยการพิสูจน์ว่ารถยนต์นั้นมีอยู่จริง สภาพเป็นอย่างไร เพื่อประเมินมูลค่าที่จะให้สินเชื่อได้แม่นยำขึ้น รวมทั้งในตลาดขายรถยนต์มือสองด้วย”

ทายาทหนุ่มของไทยวิวัฒน์เปิดเผยว่า ขณะนี้เป้าหมายของทั้งสองโซลูชั่น AI คือการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นจะทำให้สามารถเชื่อมต่อส่วนอื่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การทำประกันภัยง่ายขึ้นโดยสามารถแยกประเภทเอกสารแทนคนได้ และทำให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เช่น การใช้ OCR ในการอ่านข้อมูลแทนการคีย์ข้อมูล

“การพัฒนาเทคโนโลยีแบบนี้จะช่วยให้ทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกับไทยวิวัฒน์ดำเนินงานสะดวกขึ้น ผลที่จะเกิดตามมาคือช่วยให้ธุรกิจของเราเติบโตมากขึ้น”

สำหรับภารกิจสำคัญในปี 2567 คือโซลูชันช่วยในงานประกันรถยนต์ EV ที่ต้องพร้อมทุกด้านใน ecosystem ต่อไปจะมีการนำ Generative AI มาใช้กับงานบริการลูกค้า มีการนำ robot มาช่วยทำให้งานเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อให้คนไปทำงานที่มีมูลค่าจริง ๆ

“เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ ผู้เอาประกันแค่เปิดแอปแล้วกดเพียงปุ่มเดียวระบบจะทำงานทั้งหมดโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับเซอเวเยอร์เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุจะถ่ายรูปส่งข้อมูลเข้าระบบผ่านแอปทันที จากนั้นทางบริษัทจะออกใบเคลมส่งให้ลูกค้าเป็นไฟล์ PDF สำหรับนำไปใช้บริการซ่อมกับศูนย์บริการรถยนต์หรืออู่รถยนต์”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยวิวัฒน์มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งบุคลากรด้านเทคโนโลยีไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อปี

ตั้งเป้าขยายตลาดประกันกลุ่ม Non-Motor มากขึ้น

“ธุรกิจประกันภัยเองยังมีโอกาสมากเพราะคนไทยยังมีอัตราการซื้อประกันต่ำมาก ถ้ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยดีขึ้นตลาดจะเติบโตได้อีกมาก”

จีรพันธ์ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสัดส่วนเบี้ยประกันภัยเทียบกับ GDP ของประเทศไทย (Insurance Penetration Rate) เฉพาะประเภท non-life อย่างเดียวประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารวมทั้ง life และ non-life สัดส่วนเท่ากับ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกเท่ากับ 10-20 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันไทยวิวัฒน์มีรายได้จากธุรกิจประกันภัยรถยนต์ (motor) คิดเป็นสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ และประกันภัยอื่น ๆ 20 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ประกันอัคคีภัยและประกันภัยเบ็ดเตล็ด (non-motor) โดยตั้งเป้ายอดรวมเบี้ยประกันของปี 2567 ประมาณ 7,500 ล้านบาท ปี 2568 ประมาณ 8,000 ล้านบาท และภายในปี 2569 จะมียอดมูลค่าประกัน 10,000 ล้านบาท

“non-motor จะเติบโตได้อีกมาก เพราะมีการเติบโตประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์มาตลอด ขณะที่ motor เติบโตเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าในอนาคต non motor น่าจะมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่า motor ตอนนี้เราต้องเตรียมตัว”

เทพพันธ์ยืนยันว่าตลาด non-motor ยังมีอะไรให้ทำอีกมาก เขาแยกตลาดเป็นสองส่วนใหญ่คือ Property เช่น Home Plus เป็นประกันภัยบ้านที่ทำร่วมกันกับประกันภัยรถยนต์ และ Health Accident เช่น ประกันการเดินทาง ประกันสุขภาพ เป็นต้น

“Health Accident เป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตมากในอนาคต และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ได้มาก ตัวอย่างเช่น ประกันเดินทางแบบเปิดปิด ลูกค้าแค่ลงทะเบียนครั้งเดียว เมื่อจะเดินทางก็แจ้งให้ระบบทราบ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงวันเดินทางก็สามารถเพิ่มวันหรือลดวันให้ประกันคุ้มครองได้ หรือวันที่เหลือนำไปใช้กับทริปในอนาคตได้”

ส่วนประกันสุขภาพ ไทยวิวัฒน์มี Active Health เป็นบริการหลักซึ่งทำมานาน 4 ปีแล้ว มีการนำเทคโนโลยี wearables มาปรับใช้เพื่อนำคะแนนการออกกำลังกายมาเป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันแก่ผู้เอาประกันที่จ่ายเบี้ยเป็นรายเดือน โดยมอบเครื่องสมาร์ทวอชต์สำหรับเครื่องบันทึกการออกกำลังกายให้ฟรี นอกจากนี้ยังมีบริการใหม่ประกันปัญหาเรื่องออฟฟิศซินโดรมสำหรับคนทำงานออฟฟิศ

“สิ่งที่เราทำเป็นการโชว์ให้เห็นว่าเรามีนวัตกรรม และบริการของเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกค้าซึ่งมีความแตกต่างกับคนอื่น”

“personalized ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของเราต่อไป ไม่เพียงด้านลูกค้าที่เราต้องทำให้ระบบต่าง ๆ แข็งแรง ด้านพาร์ตเนอร์ก็เช่นกัน อย่างเครือข่ายโรงพยาบาล เรามีระบบ HEC ซึ่งโรงพยาบาลสามารถเช็ดสิทธิ์ของผู้เอาประกันผ่านระบบ HEC ได้เลย เรื่องของระบบเราจะคิดทั้ง ecosystem”

“เราเริ่มมีประกันสัตว์เลี้ยงช่วงเกิดโควิด ซึ่งเป็นบริการที่ได้รับการตอบรับดีมากเพราะคนเมืองมีไลฟ์สไตล์ที่เลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกหนึ่งในครอบครัว ซึ่งก็ช่วยให้ลูกค้ารู้จักไทยวิวัฒน์มากขึ้นจากประกันนี้”

เมื่อคนสองรุ่นผลึกกำลังกันพลิกโฉมองค์กร

“ผมทำหน้าทีเป็นกองกลาง ประสานทุกส่วน เทพพันธ์ ทำหน้าที่เป็น offend ส่วนพี่สาวของเขาเป็น defend แต่ในอนาคตจะต้องมี successor เข้ามาเสริมเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ”

จีรพันธ์ กล่าวถึงทีมเวิร์กระหว่างเขากับทายาททั้งสองคนที่แบ่งบทบาทหน้าที่กันทำ โดยลูกสาวคือ สุเทพี กรรมการผู้อำนวยการ ดูแลด้านการเงิน ส่วนลูกชายคือเทพพันธ์ ทำหน้าที่ดูแลงานด้านกลยุทธ์ การขาย การตลาด และทีม support เช่น HR และ Customer Service

“ผมเข้ามาทำงานที่ไทยวิวัฒน์เริ่มต้นจากทำงานวางกลยุทธ์ งานอื่นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ” เทพพันธ์ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มที่เข้ามารับงานในไทยวิวัฒน์เต็มตัว

“โชคดีที่คุณพ่อเป็นคนเปิดกว้าง เป็นผู้เสนอด้วยซ้ำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คุณพ่อมีส่วนในการ inspire ช่วยคิดไอเดียใหม่ ๆ ให้กับทีม เป็นตัวกลางช่วยทำให้พนักงานเก่า ๆ ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ จากพวกเรา”

“พ่อช่วยพวกเราเซฟหลายอย่าง อย่างช่วงโควิดผมถูกกดดันจากทีมว่าทำไมเราไม่ทำตลาดประกันภัยโควิด เพราะตอนนั้นในตลาดขายดีมาก พวกเราพลาดโอกาสไปรึป่าว แต่หลังจากได้พูดคุยกัน คุณพ่อบอกทำไม่ได้ ท่านแนะให้พวกเรากลับมาคิดถึงหลักการทำประกันภัยว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญมาก”

ด้วยเหตุนี้ไทยวิวัฒน์ประกันภัยจึงไม่ได้เผชิญภาวะแบกรับเงินเคลมประกันจากผู้เอาประกันจำนวนมากเหมือนกับบริษัทประกันหลาย ๆ แห่ง ซึ่งบางรายกลายเป็นวิกฤติทางการเงินจนต้องเลิกกิจการไป

เขาบอกว่าตอนทำวิจัยตลาดครั้งแรกหลังเรียนจบปริญญาโททำให้มองเห็นปัญหาคนเข้าใจว่าไทยวิวัฒน์เป็นของราชการ เพราะไม่มีการทำมาร์เก็ตติง ใช้เพียงการบอกต่อแบบปากต่อปาก

“ภาพลักษณ์ภายนอกดูเหมือนเป็นหน่วยราชการเก่าแก่ เชื่อถือได้ พอเข้ามาทำงานผมจึงต้องปรับแบรนดิ้งเลย ทำให้คนเข้าถึงเราได้ง่าย คิดถึงว่าเราเป็นผู้นำนวัตกรรม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผมสร้างขึ้นมาเอง”

ขณะที่ผู้เป็นพ่อบอกย้ำว่า “ดีเอ็นเอของไทยวิวัฒน์คือบริษัทธุรกิจประกันภัยอย่างแท้จริง เราไม่ใช่บริษัทสาขาจากต่างประเทศ และไม่มีสถาบันการเงินเป็นเจ้าของ เราเติบโตขึ้นมาจากการใช้ความสามารถของทีมผู้บริหารและพนักงานในการหาลูกค้า สร้างตลาดและรักษาลูกค้า ตลอดจนขยายลูกค้าให้เติบโตขึ้นมา”

จึงกำหนดคุณค่าขององค์กรไว้ 3 เรื่อง คือ การริเริ่ม (initiated) การเพิ่มคุณค่า (added value) และ การลงมือทำให้สำเร็จ (execute)

ความฝันของลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น

“สิ่งที่อยากทำคือคนไทยยังเข้าถึงการประกันภัยน้อยมาก จะทำยังไงให้กระจายไปถึงคนรากหญ้าทั่วประเทศไทยมากขึ้น ตั้งแต่มีบริการประกันภัยเปิดปิดได้อัตโนมัติช่วยตอบโจทย์ทำให้มีการกระจายตัวของการทำประกันภัยรถยนต์มากขึ้น แต่สัดส่วนของการเข้าถึงยังถือว่าต่ำมาก”

เทพพันธ์กล่าวถึงความในใจของเขา โดยเล่าประสบการณ์ที่เป็นแรงบันดาลครั้งสำคัญในชีวิตว่า ตอนทำงานแบงก์เขาได้ทำงานสร้างแบงก์ที่ต่างจังหวัด ทำให้เข้าใจคนไทยว่ามีปัญหาเป็นหนี้เยอะมาก แต่ทุกคนแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการแปลงเป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยถูกลง ทั้งที่ต้นเหตุแท้จริงเกิดจากการไม่วางแผนการเงินเพราะไม่มีความรู้ด้านการเงิน เขาจึงทำโครงการ Financial Literacy เขียนเป็นแคมเปญขึ้นมา จนได้รับรางวัล Financial Tool Award จาก Financial Time

“ตอนนั้นผมทำแคมเปญนี้เพราะอยากจะช่วยคนไทย ความจริง financial plan ไม่สำคัญมากเท่ากับการป้องกันความเสี่ยงคือการประกันภัย ดังนั้นเป้าหมายของผมอยู่ที่การทำให้คนไทยมีความรู้ด้านการประกันภัย และเข้าถึงการประกันภัยได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการทำ personalization และขยายสู่การใช้โซเชียลมีเดียให้เข้าถึงคนมากขึ้น โดยหวังให้คนไทยมีชีวิตที่มั่นคงมากขึ้น”

ทายาทหนุ่มคลื่นลูกใหม่ของประกันภัยไทยวิวัฒน์ เผยความลับอีกเรื่อหนึ่งซึ่งมีส่วนสร้างทักษะและมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรเก่าแก่นี้ให้กลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรมและพลังของคนรุ่นใหม่ว่า

“คุณพ่อไม่เคยบอกให้ทำอะไร ไม่ได้กดดันว่าต้องกลับมาช่วยงานที่ไทยวิวัฒน์ แม้แต่เรื่องเรียนก็เลือกเองอย่างที่วอเตอร์นิวเพนเลือกเพราะเป็นที่เดียวที่มีเมเจอร์ด้าน insurance คือในใจคิดว่าสักวันต้องมาช่วยงานคุณพ่อเนื่องจากวิ่งเล่นในบริษัทประกันตั้งแต่เด็ก ๆ”

“ตอนเรียนปริญญาโท พ่อบอกให้ไปเรียนอะไรที่สนุกก็เลยหนักไปทางด้านการตลาด ทำให้ได้เรียนรู้ในอีกมุมจากที่เคยอยู่กับอะไรที่เป็นตรรกะสมัยเรียนวิศวะ และได้นำความรู้เกี่ยวกับด้านพฤติกรรมผู้บริโภคมาใช้กับงานประกันภัยที่เคยมองแต่เรื่องคณิตศาสตร์”

ซึ่งทำให้เขามีมุมมองที่หลายคนอาจไม่เคยคิด “แม้เราจะทำเรื่องเทคโนโลยี แต่ consumer deliver เป็นเรื่องที่สำคัญมาก” ดังนั้นในการทำงานวางกลยุทธ์เขาจึงให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ innovation, customer centric, lean คือการใช้นวัตกรรมมาตอบโจทย์ลูกค้า และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

“เราคิดเผื่อผู้บริโภค ไม่ใช่ขายของถูกแบบตีหัวเข้าบ้าน เมื่อมีเคลมเกิดขึ้นก็ต้องดูแลลุกค้า ดังนั้นเรื่องการคุ้มครองเราต้องคิดออกมาให้ดีพอ และเอาโซลูชันมาตอบโจทย์”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เทคสตาร์ตอัพ “โพรโตเมท” ต้นน้ำ “หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะ”​ สัญชาติไทย

เปิดใจ “พิมพ์พิชา อุตสาหจิต” ทายาทรุ่น 3 ขายหัวเราะ “การ์ตูนเป็น Soft Power ที่ไปอยู่กับอะไรก็ได้”

ทาเลนต์ไทยคืนถิ่นที่ Looloo Technology ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้าน AI

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ