TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“เมืองทองธานี” เมืองอัจฉริยะ กับนวัตกรรม Smart Living

“เมืองทองธานี” เมืองอัจฉริยะ กับนวัตกรรม Smart Living

กว่า 50 ปี ของการพัฒนา “เมืองทองธานี” โดยบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ให้เป็นต้นแบบชุมชนเมืองน่าอยู่ อยากอยู่ และต้องอยู่ ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ภายใต้การบริหารงานโดยบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ของประเทศมายาวนานกว่า 25 ปี จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จวบจนปัจจุบัน เมืองทองธานีกำลังเปลี่ยนผ่านตัวเองอีกครั้งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต ซึ่งเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศอย่างยั่งยืน

ด้วยดีเอ็นเอที่แตกต่างจากบริษัทพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป ซึ่งเมื่อการสร้างและพัฒนาพื้นที่เสร็จสิ้น จะปิดโครงการและโอนให้ลูกบ้านไปบริหารต่อ แต่ พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า บางกอกแลนด์เลือกที่จะพัฒนาเมืองทองธานี และอยู่กับที่นี่ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะบนพื้นที่ ๆ มากกว่า 4 พันไร่ ไม่ใช่สิ่งที่จะพัฒนาให้สำเร็จสมบูรณ์ภายในเวลาแค่ 3-5 ปี

หากมองย้อนไป ณ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในมิติของการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยนับว่า เดินหน้ามาได้ค่อนข้างเต็มรูปแบบ สำหรับคอนโดสไตล์อินดัสเทรียล (Industrial Condo) ในภายหลังมีการปรับเปลี่ยนเป็นอาคารสำนักงานส่วนใหญ่ รวมถึงธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ ในพื้นที่ ซึ่งได้รับการปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกค้า ส่วนใดที่ทำได้ดีก็เดินหน้าขยายผลต่อไป ส่วนไหนที่ยังไม่เกิดก็ชะลอไปก่อน

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เมืองทองธานี

แต่สิ่งที่มาไกลกว่าที่คิด คือ ความสะดวกในการเข้า-ออกพื้นที่ จากปี 2541 ที่มีทางด่วนเข้ามาในพื้นที่ มาถึงรถไฟฟ้าสีชมพูส่วนต่อขยายซึ่งจะเข้าถึงเมืองทองธานีราวปี 2568 การบริหารจัดการรถโดยสารและรถจักรยานยนต์ที่ค่อนข้างดี ทำให้ในอนาคตจะสามารถลดปัญหาการจราจร และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกบ้านชาวเมืองทองธานี ผู้มาใช้บริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการเข้าถึงพื้นที่ หรือดำรงชีวิตในพื้นที่แห่งนี้

บางกอกแลนด์ ทุ่ม 4,000 ล้าน เซ็นสัญญาโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี”

“กว่าเราจะมาถึงวันนี้ได้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี หากพัฒนาต่อคงต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 50 ปี และต่อให้ถึงวันที่ไม่มีพื้นที่ว่างให้พัฒนาแล้ว เราอาจต้องย้อนกลับไปรื้อถอน ซ่อมสร้าง หรือปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างเดิม พัฒนาภูมิทัศน์ของพื้นที่เดิมเสียใหม่ให้ทันสมัย สะดวกสบาย และเกิดการใช้ประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้น สิ่งที่ลงทุนผ่านมาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงไม่ใช่เพื่อชาวเมืองทองธานีอย่างเดียว แต่เพื่อให้เราสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว”

จับตาทิศทางธุรกิจปี 2567

พอลล์ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่บางกอกแลนด์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเป้าหมายรายได้ปานกลาง และรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำลงมาเล็กน้อย ซึ่งเป็นตลาดที่มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนมองเห็นโอกาสการพัฒนาพื้นที่ริมทะเลสาบให้เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า หรืออื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนแม่บท ส่วนโรงเรียนสอนทำอาหารเลอโนท (Lenôtre Culinary Arts School Thailand) ที่กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 2 มีการปรับเวลาและรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้ทางเลือกที่ยืดหยุ่นกับผู้เรียนมากขึ้น นอกเหนือจากคอร์สการเรียนเป็นระดับชั้น จันทร์-ศุกร์ เป็นเวลา 7 อาทิตย์ ยังเพิ่มเติมหลักสูตรอบรมเป็นคอร์สเรียนระยะสั้น คอร์สเรียนภาคค่ำ เป็นต้น

ฝั่งของอิมแพ็ค ซึ่งอุปสงค์การตลาดกลับมาเต็มที่หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด เช่น อิมแพ็ค อารีน่า สถานที่จัดงานคอนเสิร์ต กิจกรรมบันเทิง และอื่น ๆ ถูกจองเต็มแล้วตลอดทั้งปี กระแสการจัดงานประชุม งานนิทรรศการ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่เริ่มกลับมาเห็นการเติบโตอีกครั้ง รวมถึงภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้น ทำให้ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี รวมถึงธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นตามไปด้วย

ผุดแนวคิดเมืองแห่งอนาคตบนวิถีความยั่งยืน

“เมื่อแรกเริ่มวางผังเมืองที่นี่ ตอนนั้นกระแสเรื่องความยั่งยืนยังไม่เกิด ยังไม่มีใครพูดถึงเทคโนโลยี เราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เรื่องของสภาพการจราจร แรงลมที่กระทบตึกสูง ปัญหาน้ำ-ไฟ ท่อระบายน้ำ ยิ่งลูกบ้านมากขึ้น ยิ่งต้องเพิ่มการต่อเติมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เมืองสามาถรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น”

ในยุคของพอลล์ ที่เทรนด์การพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City” กำลังมา เมืองทองธานีต้องปรับทิศทางการพัฒนาหลายอย่างทั้งความสำเร็จระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาว เพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะยั่งยืนในอนาคต แผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรรมแล้ว ได้แก่ การลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์  (Solar) ซึ่งติดตั้งเป็นจำนวนมากในพื้นที่อิมแพ็ค คอสโม บาซาร์ และศูนย์การค้า การศึกษาเพิ่มเติมเรื่องกังหันพลังงานลมที่ได้รับการพัฒนาให้สิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้าในการหมุนใบพัดน้อยลง เรื่องของเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้เปิดช่องให้เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้า กักเก็บใช้งาน และขายไฟฟ้าบางส่วนคืนกลับเข้าไปในกริดของการไฟฟ้าฯ ได้

muangthong-thani-smart-living-Solar-Roof

“โซลาร์เซลล์เป็นตัวแรกที่เรานำมาใช้งาน ต่อไปคงเป็นเรื่องของพลังงานลม ซึ่งคงไม่ใช่การพัฒนาแค่เฉพาะอิมแพ็คหรืออาคารพาณิชย์เท่านั้น เราหวังว่า ในอนาคตจะสามารถส่งต่อประโยชน์ตรงนี้ไปถึงลูกบ้าน ลูกค้าที่เปิดร้านค้าในพื้นที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอาคารพักอาศัย อาคารพาณิชย์ อย่างน้อยเป็นการลดการใช้พลังงานในพื้นที่ส่วนกลาง ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า หากผลิตเกินก็สามารถขายคืนได้”

อีกหนึ่งความยั่งยืนที่สำคัญและตั้งใจส่งต่อ คือ “การส่งเสริมรายได้ของลูกบ้าน” เช่น การสนับสนุนร้านค้าในพื้นที่ให้เป็นผู้ผลิตอาหารกล่องให้กับผู้จัดงานหรือออแกไนเซอร์ ผู้มาออกงานแสดงสินค้าในอิมแพ็ค การว่าจ้างลูกบ้านในวันว่างหรือวันหยุดมารับงานพนักงานชั่วคราว ซึ่งเป็นที่ต้องการจำนวนมากเวลาอิมแพ็คมีการจัดงานต่าง ๆ งานขับรถลีมูซีน รถจักรยานยนต์รับ-ส่งผู้ที่มาออกงาน มาเที่ยวชมงาน หรือมาดูคอนเสิร์ต เพื่อให้พวกเขามีรายได้เพิ่ม การสนับสนุนให้ร้านค้าต่าง ๆ หรือกระทั่งแผนกจัดเลี้ยงของอิมแพ็คเองช่วยกันอุดหนุนวัตถุดิบจากตลาดขายของสดในเมืองทองธานี เป็นต้น

อิมแพ็ค เมืองทอง เปิดตัว ‘Green Package’ หนุนการจัดอีเวนต์รักษ์โลก

พอลล์ยอมรับว่า การทำเช่นนี้อาจต้องสูญเสียรายได้จากธุรกิจจัดเลี้ยงไปส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สูงมากนัก เพราะสำหรับลูกบ้านอาจทำให้เขามีรายได้สูงถึง 30-40% ของการขายทั้งเดือน ส่วนตลาดขายของสดซึ่งอยู่คู่เมืองทองธานีมานาน แต่เราไม่ค่อยได้อุดหนุนพวกเขาสักเท่าไหร่ ซึ่งหากนำตัวเลขอัตราเติบโตทางรายได้ด้านอาหารของเราไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อปีมาคำนวณ สมมุติว่า 30% เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบ เท่ากับสามารถเอาเงินถึง 300 ล้านบาท ไปอุดหนุนร้านค้ารายย่อยเหล่านี้ ทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น และด้วยความที่อิมแพ็คให้ความสำคัญกับคุณภาพของวัตถุดิบ และปลอดสารเคมี หากสามารถทำงานร่วมกับตลาดเพื่อให้เขามีแหล่งจัดหาวัตถุดิบคุณภาพดีมาขาย จะทำให้มีลูกค้าอุดหนุนมากขึ้นเพราะไม่ต้องสั่งของจากที่ไกล ๆ มาส่ง เป็นการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ได้คาร์บอนเครดิต และสร้างสังคมที่สะอาดขึ้นในทางอ้อมอีกด้วย

จับมือ สวทช. พัฒนาย่านนวัตกรรม Smart Living และ MICE

พอลล์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมวางแผนแม่บทพัฒนาเมืองทองธานีในปีต่อไป และอีก 5-10 ปีข้างหน้า ทำให้มีโอกาสพบบริษัทสตาร์ตอัพเยอะมาก ทั้งบริษัทสตาร์ตอัพเกิดใหม่ และบริษัทสตาร์ตอัพที่สเกลใหญ่ขึ้นแล้ว ทุกคนจะมีปัญหาคล้ายกัน คือ ไม่มีที่ทางให้ทดสอบไอเดียธุรกิจหรือเทคโนโลยี และเห็นตรงกันว่า เมืองทองธานีเหมาะที่จะเป็นแซนด์บ็อกซ์ ถึงแม้ว่า ณ นาทีนี้ เมืองทองธานียังไม่มีแผนลงทุนเกี่ยวกับสตาร์ตอัพ แต่เทคโนโลยีที่นำเสนอมาหากทดลองใช้แล้วทำให้ดีขึ้นก็ยินดีสนับสนุน

เช่น บริษัทสตาร์ตอัพอีกแห่งหนึ่งพัฒนาการใช้โอโซนในเครื่องซักผ้า ทำให้กระบวนการซักผ้าไม่ต้องใช้เคมี หรือมีเคมีจากการซักผ้าไหลลงท่อน้อยลง เป็นไอเดียที่ชอบมากและสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาทดลองใช้ที่นี่ โดยบริษัทสตาร์ตอัพสามารถนำชื่อเมืองทองธานีหรืออิมแพ็คไปอ้างอิงกับลูกค้าอื่นได้ นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้พัฒนาเทคโนโลยีนี้กับเครื่องล้างจานเพราะเราใช้ค่อนข้างเยอะ หากลดเคมีได้จะเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งการพยายามทำอะไรดี ๆ กับคนอื่น ดีกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดี ทุกคนให้ความสำคัญและให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีกำลังใจในการเชื่อมโยงกับทุกฝายเพื่อสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นร่วมกัน

อว. ชวนเที่ยวงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 วันนี้ – 20 ส.ค. นี้ อิมแพ็ค เมืองทอง

“เมืองทองธานีอาจเป็นที่แรกที่มีรถยนต์ไร้คนขับเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองก็ได้ เพราะถนนเป็นของเรา เสาไฟ สายไฟก็เป็นของเราทั้งหมด ทำให้สามารถฝังเซ็นเซอร์ลงไปบนถนนได้ จึงมีแนวโน้มประสบความสำเร็จได้ง่ายและเร็วกว่าที่อื่นในประเทศไทย”

EV-Charger-muanthong-thani

นอกจากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแล้ว ทาง สวทช. ยังแนะนำว่า เมืองทองธานีควรจะพัฒนาไปสู่การเป็น Innovation District หรือย่านนวัตกรรม เช่นเดียวกับย่านนวัตกรรมเมธี ซึ่งกลายเป็นฮับในการขับเคลื่อนบริษัทสตาร์ตอัพในการพัฒนาด้านแพทย์และสาธาณสุข เพราะเป็นพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลตั้งอยู่มาก ขณะที่เมืองทองธานีเริ่มมีองค์กรธุรกิจและบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง เข้ามาใช้พื้นที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือดาต้าเซ็นเตอร์ อาทิ ทรู คอร์ปอเรชัน ธนาคารกสิกรไทย เนื่องจากการวางโครงสร้างพื้นฐานด้วยสายไฟเบอร์ออฟติก เชื่อมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) แจ้งวัฒนะ ทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพดีใช้ได้ เมื่อมีบริษัทเหล่านี้มาเปิดมากขึ้น จะดึงดูดให้คนย้ายมาทำงาน มาพักอาศัยบริเวณนี้ เมืองจะมีความคึกคักมากขึ้น

พอลล์ กล่าวว่า เมืองทองธานีน่าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเป็นย่านนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ Smart City ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบ Smart Living อีกทั้งการอยู่ในธุรกิจไมซ์มานานกว่า 25 ปี มีโอกาสจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้าระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งรองรับผู้เข้าร่วมงานได้ระดับมากกว่าพันคนหมื่นคน จึงเหมาะกับการเป็นย่านนวัตกรรมด้านไมซ์ (MICE) เกี่ยวกับการประชุมสัมมนา การจัดการเดินทางท่องเที่ยว การประชุมระดับประเทศจนถึงระดับนานาชาติ จนถึงการจัดแสดงสินค้าไปด้วย

ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า การท่องเที่ยวแบบไมซ์มีการใช้จ่ายเงินมากกว่าการท่องเที่ยวปกติถึง 5 เท่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ปฏิบัติตัวดีและมีความเป็นมืออาชีพ อีกทั้งอิมแพ็คได้ให้การรับรองการจัดงานประชุม งานแสดงสินค้า และนิทรรรศการจากทั้งในประเทศและทั่วโลก การสร้างย่านนวัตกรรมไมซ์ในพื้นที่ตรงนี้จะช่วยเสริมกำลังให้ไทยมีศักยภาพพอที่จะไปแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตรงกับความประสงค์ของเราที่ต้องการอุทิศให้กับประเทศเท่าที่ทำได้

“คุณพ่อ (อนันต์ กาญจนพาสน์) ไม่ได้ต้องการแค่ให้คนมาพักที่นี่ แต่อยากให้มาทำงานที่นี่ และเพลิดเพลินกับการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขที่นี่ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นพัฒนาเมืองแบบรวมศูนย์ (Centralized City) พอมาถึงรุ่นเรา คือ มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสนับสนุนเให้ลูกบ้านได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและสะดวกสบายมากขึ้น”  

ปักหมุดอนาคตเป้าหมายเมืองอัจริยะน่าอยู่

การเช้ามาของอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ หรือปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เมืองทองธานีและอิมแพ็คต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ความที่องค์กรตั้งมายาวนานทำให้มีบุคลากรหลากหลายรุ่น บริษัทจึงต้องปรับตัวตลอดเวลาเพื่อให้คนเหล่านั้นทำงานร่วมกันได้ รวมถึงการปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก และตามความคาดหวังของลูกค้าต่อการให้บริการที่ดีขึ้นและมากขึ้น อาทิ ความต้องการเรื่องที่พักอาศัย หรือพื้นที่ค้าขายที่เปลี่ยนไป

“เมื่อก่อนเราซื้อเวลาออกอากาศในวิทยุ โทรทัศน์ ซื้อพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ติดต่อธุรกิจโดยใช้โทรสาร แต่ตอนนี้ต้องให้ความสนใจการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ในการตอบรับคำร้องขอหรือความต้องการของลูกค้าในทันที การปรับธุรกิจให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์โมไบล์ต่าง ๆ อย่างวันก่อนผมเจอลูกค้า เขายังหัวเราะที่ในนามบัตรของเรายังพิมพ์เบอร์โทรสารอยู่เลย เราก็ต้องปรับตัว”

ด้วยเหตุนี้ ทางผู้บริหารเมืองทองธานีได้เห็นควรถึงการวางแผนจัดตั้งส่วนงานพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นของตัวเองในการพัฒนา Super App หรือ แอปชุมชุน (Community App) ที่มีแนวโน้มใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับรองรับการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาตามเทรนด์ แต่เป็นการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นในการใช้ชีวิต อย่างการชำระค่าส่วนกลาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ส่วนในอนาคตจะต่อยอดการพัฒนาแอปให้สามารถแจ้งซ่อม จับจ่ายสินค้า หางาน จ้างงาน และอื่น ๆ เป็นต้น

เรื่องของระบบความปลอดภัย ที่ต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ สร้างความสบายใจให้กับผู้พักอาศัย ผู้มาจัดงาน ผู้ออกงานแสดงสินค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ จึงมีการพูดคุยว่า จะยกระดับความปลอดภัยโดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาวิเคราะห์พฤติกรรมและความเคลื่อนไหวของคน เชื่อมกับระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อตรวจสอบบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ขึ้นบัญชีดำ เป็นการป้องกันก่อนเกิดเหตุแทนการมาตามดูกล้องซีซีทีวีหลังเกิดเหตุการณ์

“เราพูดคุยกันเสมอ ๆ ว่า เราอาจไม่ได้สมบูรณ์แบบแต่เราจะทำให้ดีขึ้น เราทำผิดได้แต่ต้องเรียนรู้ที่จะไม่ผิดซ้ำ เรายังมีคนอีกหลายฝ่ายที่ต้องดูแล นอกจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว ยังมีผู้ถือหุ้น พนักงานอีกหลายพันคน และเราต้องพร้อมช่วยเหลือคนอื่น เพราะถ้าเราไม่ช่วยคนอื่น อย่าหวังว่าเวลาเดือดร้อนจะมีใครมาช่วยเรา”

อย่างงาน OTOP ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ 14-15 ปีที่แล้ว โดยการส่งเสริมของภาครัฐ เป็นจุดริเริ่มที่ดีมากในการส่งเสริมตำบลที่มีผลิตภัณฑ์คุณภาพ และเป็นเอกลักษณ์ออกสู่สายตาชาวโลก ส่วนชาวบ้านก็ดีใจที่ขายของได้ แต่พอมาถึงปัจจุบัน คนมาเที่ยวงานและซื้อของน้อยลง จึงพูดคุยกับทีมงานว่า ควรจะช่วยพวกเขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยขึ้น มีสินค้ารุ่นใหม่ ๆ และหลากหลายมากขึ้น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รสชาติ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้การสนับสนุน การจัดงานจะได้ใหญ่กว่านี้ และทำให้พวกเขามียอดขายดีขึ้น เติบโตขึ้นไม่ใช่เล็กลง

 “เป้าหมายสูงสุดของเมืองทองธานี คือ ความเป็นเมืองน่าอยู่ อยากอยู่ และต้องอยู่ตามปณิธานของคุณพ่อ ความทันสมัยเป็นส่วนหนึ่ง แตต้องพัฒนาพื้นที่ให้เขารู่สึกว่า นี่คือที่ของเขา ที่ ๆ พวกเขาอยู่แล้วมีความสุข  ซึ่งยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำให้สำเร็จ และยังต้องใช้เวลายาวนานหลายปี เพื่อพัฒนาคุณภาพของทุก ๆ อย่างที่อยู่รอบตัวให้ดีขึ้น” พอลล์ กล่าวสรุป

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต’ สะท้อนมุมมองต่อบทบาทของ กสทช. บนความท้าทายในโลกยุคแพลตฟอร์มดิจิทัล

เทคสตาร์ตอัพ “โพรโตเมท” ต้นน้ำ “หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะ”​ สัญชาติไทย

เปิดใจ “พิมพ์พิชา อุตสาหจิต” ทายาทรุ่น 3 ขายหัวเราะ “การ์ตูนเป็น Soft Power ที่ไปอยู่กับอะไรก็ได้”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ