TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness“เลอโนท ประเทศไทย” ธุรกิจใหม่จากบางกอกแลนด์ กับการกระตุ้นท่องเที่ยวไทย

“เลอโนท ประเทศไทย” ธุรกิจใหม่จากบางกอกแลนด์ กับการกระตุ้นท่องเที่ยวไทย

ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียน เป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมา ขณะที่อุตสาหกรรมอาหาร ก็ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลัก ที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตยิ่งขึ้นไป และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘บมจ.บางกอกแลนด์’ เจ้าของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ตัดสินใจทำสัญญาร่วมกับโรงเรียนสอนทำอาหารมีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของโลก อย่าง ‘Lenôtre Paris ประเทศฝรั่งเศส’ และทุ่มทุนกว่า 1,000 ล้านบาท สร้างโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย ขึ้นริมทะเลสาบเมืองทอง ที่นี่ถือเป็นโรงเรียนสอนประกอบอาหาร Lenôtre สาขาที่ 2 ของโลก

พอลล์ กาญจนพาสน์

พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างสูง มีร้านอาหารที่ติด Top 50 ในเอเชีย มีร้านที่ติด Top 100 ของโลก แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจร้านอาหารในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการจองโรงแรม ควบคู่กับการจองร้านอาหาร หากผู้ประกอบการร้านอาหารไทยอยากจะก้าวหน้าขึ้นไป เชฟ หรือเจ้าของร้านอาหาร จำเป็นต้องอัปเดต และพัฒนาความรู้ด้านการทำอาหารอย่างต่อเนื่อง

“เทรนด์ธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ความต้องการของลูกค้าก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ออร์แกนิก, Vegan food (อาหารมังสวิรัติ), Ketogenic (คีโต), Plant base (เนื้อที่ทำจากพืช) คนที่ทำอาชีพเชฟ เจ้าของธุรกิจก็ต้องตามเทรนด์เหล่านี้ให้ทัน”

การเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารในเมืองไทย จะทำให้นักเรียนต่างชาติให้ความสนใจมาเรียน เมื่อเวลาผ่านไปมีเทรนด์อาหารใหม่ ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็สามารถกลับมาเรียน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ได้ ในขณะที่ตัวโรงเรียน ก็ต้องคอยติดตามเทรนด์อย่างต่อเนื่อง มีทีม R&D ที่ต้องคิด สร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการผู้เรียน และตลาดธุรกิจอาหาร

จิกซอว์ที่ช่วยเติมเต็มอีโคซิสเต็มให้แก่อิมแพ็ค

พอลล์ อธิบายว่า อิมแพ็คเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการโรงแรม มีการทำ catering (บริการรับจัดเลี้ยง) และอยู่ในธุรกิจร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 15 ปี ตั้งแต่แรก ๆ เปิดร้านอาหารเทอราซซ่า, ฮ่องกง ฟิซเซอร์แมน อาหารเป็นส่วนหนึ่งของอิมแพ็ค เป็น business direction ที่ทำให้เราพยายามพัฒนาการทำอาหาร

“หลายปีก่อน เคยคิดอยากเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารและการจัดงาน เพื่อป้อนคนเข้ามาทำงานในอิมแพ็ค จนวันหนึ่งไปทำธุระที่บริษัท Sodexo Thailand ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ด้านอาหารกับอิมแพ็ค และมีผู้บริหาร Lenôtre เข้ามาขอแลกนามบัตร บอกว่า คาเฟ่ เลอโนทจะกลับมาเมืองไทย ในรูปแบบของโรงเรียนสอนทำอาหาร ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะเลอโนทเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูง อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารมายาวนาน และชื่อของ ‘Lenôtre Paris’ ก็เป็นที่ยอมรับระดับโลก

ในทุก ๆ ปี บางกอกแลนด์ลงทุนในธุรกิจอาหารไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท ทั้งการขยายสาขา วิจัย พัฒนาเมนูอาหาร รวมถึงการพัฒนาด้านบุคลากร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในทุกมิติ เพราะเชื่อว่าธุรกิจอาหาร จะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตที่ดีในอนาคต ล่าสุด ในปีที่ผ่านมา เปิดตัว โครงการอิมแพ็ค ฟาร์ม นำผักผลไม้ออร์แกนิกจากสวนเกษตรอินทรีย์มาใช้ที่ครัวกลาง อิมแพ็ค และเปิดขายให้กับผู้ที่สนใจ ดังนั้น หากจะมีการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร ก็จะเป็นจิ๊กซอว์อีกชิ้น ที่ช่วยเติมเต็มอีโคซิสเต็มด้านธุรกิจอาหารให้แก่บริษัท ช่วยเพิ่มทักษะ และสร้างมาตรฐานที่ดีให้แก่บุคลากรของบางกอกแลนด์”

เดือนกันยายนปี 2564 พื้นที่ริมทะเลสาบเมืองทอง ถูกเลือกใช้เป็นที่สร้างโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย และมีพิธีเปิดอาคารเรียนในเดือนพฤศจิกายน 2565

บางกอกแลนด์ ทุ่ม 4,000 ล้าน เซ็นสัญญาโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี”

พาทัวร์ โรงเรียนสอนประกอบอาหาร “Lenôtre Thailand” แห่งแรกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลงทุน 1,000 ล้าน ตั้งเป้า 8 ปี คืนทุน

พอลล์ กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท (รวมที่ดิน) ในการสร้างอาคารเรียน และวางระบบปฏิบัติการ คาดว่าจะใช้เวลาคืนทุนประมาณ 8 -10 ปี โดยในช่วงแรกตั้งเป้าผลิตนักเรียนไม่ต่ำกว่า 500 คนต่อปี (รวมคอร์สระยะยาวและคอร์สระยะสั้น) เป็นคนไทยราว 30% และคาดว่าจะมีนักเรียนจากต่างชาติ อย่าง ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม บินมาเรียน

ในอนาคต หากมีผู้สนใจเข้ามาเรียนมากขึ้น มีแผนเตรียมพัฒนาพื้นที่ใกล้โรงเรียน ให้เป็น service apartment เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียน

“เมื่อมีนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดการสร้างรายได้ให้ธุรกิจโดยรอบ เพราะเขาไม่ได้มาเรียนอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะมาท่องเที่ยวด้วย”

เลอโนท ประเทศไทย

โอกาสของผู้สนใจด้านการทำอาหาร

พอลล์ มองว่า การเปิดตัว เลอโนท ประเทศไทย เป็นโอกาสดีที่ผู้สนใจด้านการทำอาหาร จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำอาหารตามแบบฉบับของฝรั่งเศส ที่ถูกสอนโดยเชฟผู้มีประสบการณ์จาก Lenôtre Paris โดยตรง ได้ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ มาตรฐานเดียวกัน หรือดีกว่า โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงต่างประเทศ

“ที่นี่ครูผู้สอนจะสอนเป็นภาษาอังกฤษ และมีล่ามแปลเป็นภาษาไทย ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องไปเรียนภาษาฝรั่งเศสก่อน ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้เรียนได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งไทยเอง ก็เป็นประเทศที่ต่างชาตินิยมเดินทางมา ด้วยค่าครองชีพที่ถูก (ถูกกว่าฝรั่งเศสถึง 5 เท่า) มีความสะดวกสบาย มีอาหารการกินที่หลากหลาย”

ที่ประเทศจีน จะมีเอเยนต์ช่วยหานักเรียน หากต้องการบินไปเรียนที่ Lenôtre Paris ต้องรอ waiting list ประมาณ 4 ปี ระหว่างนั้นต้องไปเรียนภาษาฝรั่งเศส แต่สำหรับที่ไทย สามารถมาสมัครเรียนได้เลย โดยจะได้รับสิทธิพิเศษค่าห้องพักจากโรงแรมโนโวเทล อิมแพ็ค สำหรับหลักสูตรระยะยาว มีบริการเลี้ยงอาหาร 3 มื้อ และรถรับส่งที่พักฟรี

โรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย เปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตร และหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1. หลักสูตรประกาศนียบัตร หรือหลักสูตรระยะยาว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) การประกอบอาหารคาว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเชฟมืออาชีพหรือต้องการเปลี่ยนอาชีพมาสู่การเป็นเชฟผู้เชี่ยวชาญในการผลิตและการจัดการอาหารประเภทอาหารคาวโดยเฉพาะ ใช้ระยะเวลาในการเรียนจำนวน 840 ชั่วโมง 2) การทำขนมอบ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเชฟมืออาชีพในการผลิตขนมอบหรือการจัดการอาหารประเภทขนมอบโดยเฉพาะ ใช้ระยะเวลาในการเรียนจำนวน 840 ชั่วโมง และ 3) การทำขนมปัง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเชฟมืออาชีพในการผลิตหรือการจัดการอาหารประเภทขนมปังโดยเฉพาะใช้ระยะเวลาในการเรียนจำนวน 520 ชั่วโมง

2) หลักสูตรระยะสั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานในด้านการประกอบอาหารหรือขนมมาก่อน ไปจนถึงผู้เรียนระดับมืออาชีพที่ต้องการเสริมทักษะเพื่อนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจ รวมทั้ง ยังมีการฝึกอบรมในหัวข้อพิเศษตามฤดูกาลและเทศกาลต่าง ๆ ที่ใช้ระยะเวลาในการเรียนจำนวน 4 ชั่วโมงขึ้นไป

ปัจจุบัน หลังเปิดสอนนักเรียนรุ่นแรกในเดือนธันวาคม ปี 2565 เลอโนท ประเทศไทย มีนักเรียนสมัครเรียนแล้วกว่า 100 คน

จากเด็ก Food Science สู่ ผู้อำนวยการหลักสูตรโรงเรียนสอนประกอบอาหาร

tananya-tantiwuttipong

The Story Thailand มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘บี’ ธนัญญา ตันติวุฒิพงศ์ ด้วยอายุเพียง 32 ปี กับบทบาท ผู้อำนวยการหลักสูตร โรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย อะไรทำให้เขาก้าวมาสู่จุดนี้ได้

บีเล่าว่า เรียนจบคณะวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ (Food & Science) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นเข้าทำงานด้าน Research and Development ที่บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ด้วยความที่สาขาที่เรียน จะสอนแค่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำอาหาร จะเกิดอะไร แต่ไม่ได้สอนวิธีการทำอาหาร จึงตัดสินใจสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนการประกอบอาหารชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงเทพ

หลังจากเรียนจบด้านการประกอบอาหาร จึงเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยเชฟ เริ่มต้นสายงานใหม่ ทำงานด้านเชฟทั้งหมด ทั้งการคิดสูตร ดูงาน Admin ตารางงานเชฟ เมื่อทราบว่าจะมีการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารเลอโนท ในประเทศไทย จึงย้ายมาทำงานที่นี่

“ที่นี่เป็นการสอนแบบลงมือทำ ซึ่งจะต่างจากที่เคยเรียนมา เรียน 100 สูตร เราจะได้ทำ 100 สูตร ได้เรียนรู้เทคนิคการทำอาหาร การสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ เชฟทุกท่าน ผ่านการเทรนด์ตั้งแต่แรกเริ่มจาก Lenôtre Paris ก่อนที่จะบินกลับมาเมืองไทย เพื่อทำการสอน เป็นการเทรนด์มาเพื่อเป็น instructor หรือครูผู้สอน ในขณะที่ผู้เรียนเอง เมื่อเรียนภาคปฏิบัติครบจำนวนชั่วโมงแล้ว ก็สามารถเลือกได้ว่าจะไปฝึกงานที่ Lenôtre Paris หรือหากไม่ไป จะฝึกที่ประเทศไทย อย่าง โรงแรม แมนดาริน โอเรียนเต็ล หรือร้านอาหาร Michelin star ที่ทางโรงเรียนติดต่อไว้ให้ก็ทำได้”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้บีเลือกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตการทำงาน จากนักวิทยาศาสตร์ สู่การเริ่มต้นเรียนสายเชฟ จนนำมาสู่การเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะต้องการเรียนรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ บียกตัวอย่างว่า ในห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยจะสอนว่า “น้ำตาลโดนความร้อน จะเกิดปฏิกิริยาร่วมกัน จนเป็นอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าเมื่อได้น้ำตาลที่ collaboright แล้ว ต้องนำไปใช้อย่างไรต่อ ตรงนี้ เราไม่รู้เลย”

“ในช่วงที่ทำงานด้าน R&D โดนมอบหมายให้สร้างสรรค์สูตรอาหาร แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องการทำอาหาร จึงตัดสินใจมาเรียนด้านการทำอาหาร ซึ่งศาสตร์ที่เคยเรียนมา เมื่อนำมาใช้ร่วมกับสายงานใหม่ที่ทำอยู่ ทำให้เรามีศิลป์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น”

ปัจจุบัน นอกจากเหนือจากการดูแลนักเรียน และเชฟผู้สอนแล้ว บียังต้องทำงานร่วมกับทีม R&D เพื่อคิดค้นสูตรใหม่ ๆ เพื่อส่งไปตรวจสอบไปที่ปารีส เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จึงนำสูตรเมนูนั้น กลับมาเปิดคอร์สใหม่ที่ประเทศไทยต่อไปด้วย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

แอร์บัส เปิดรับพนักงานใหม่ในปี 2566 กว่า 13,000 อัตราทั่วโลก

LINE MAN Wongnai ลุยธุรกิจโฆษณาดิจิทัล ชูจุดเด่น แพลตฟอร์มอาหาร ที่สามารถเข้าถึงลูกค้า 10 ล้านคน

Taxonomy กับการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ