TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessอิมแพ็ค ชูความพร้อมสถานที่ หนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

อิมแพ็ค ชูความพร้อมสถานที่ หนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

จากการที่ภาครัฐจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อมวางแนวทางการผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์อย่างชัดเจนทุกมิติ ทั้งงบประมาณ การสนับสนุนโครงการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมาย 11 สาขา เช่น การท่องเที่ยว อาหาร ศิลปะ เฟสติวัล กีฬา

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการจัดอีเวนต์ระดับเอเชีย  

พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด บอกว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย คือ วัฒนธรรม อาหาร การท่องเที่ยว ซึ่งประเด็นเหล่านี้เราต้องร่วมกันสนับสนุนให้ชาวต่างชาติ หรือนักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกที่ดีร่วมกัน ไม่สามารถยัดเยียดให้เขารู้สึกได้

อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในฐานะสถานที่จัดงานขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของเอเชีย ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันประเทศผ่านจุดแข็งของศูนย์ฯ ด้วยพื้นที่การจัดงานกว่า 140,000 ตารางเมตร รองรับการจัดงานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ ถือเป็นอีกเป้าหมายที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดัน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

ที่ผ่านมา แต่ละปี อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีโอกาสต้อนรับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เข้ามาใช้บริการภายในพื้นที่มากกว่า 10 ล้านคน โดยเฉพาะช่วงจัดงานใหญ่ๆ ทั้งกลุ่มงานอินเซนทีฟ เอ็กซิบิชั่น คอนเสิร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ เช่น THAIFEX – Anuga Asia, World Hindu Congress คอนเสิร์ตจากศิลปินระดับโลกที่เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดแสดง เป็นต้น

ทุกอีเวนต์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศเท่านั้น แต่ด้วยอัธยาศัยของผู้คน รวมถึงการบริการที่ดียังสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวในทุกการเดินทาง ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนกระแสซอฟต์พาวเวอร์ในไทยด้วยเช่นกัน

“หากเป็นประเด็นของอาหาร อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นสถานที่จัดงานใหญ่อย่าง THAIFEX หรืองานด้านออกแบบก็มีงานสถาปนิก เป็นการยืนยันว่าอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีความพร้อมในการจัดงานทั้งสเกลใหญ่ และสเกลเล็ก ทั้งยังพร้อมเป็นตัวกลางในการผลักดันให้เกิดการจัดงานในรูปแบบต่างๆ และวันที่ 17-19 พ.ค. 2567 จะมีเทศกาลว่าวที่ใหญ่ที่สุดในไทย Kite on the Lake จัดขึ้น ณ ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี เพื่อสืบสานวัฒนธรรม ส่งเสริมกีฬาพื้นบ้านของไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น”

อิมแพ็ค เร่งเครื่องรับอุตสาหกรรมไมซ์ฟื้นตัว หวังดันรายได้ปี 2566 โต

พร้อมรองรับคอนเสิร์ตระดับโลก

ขณะเดียวกัน จากข่าวที่รัฐบาลประกาศว่ามิวสิกเฟสติวัลระดับโลกจะมาจัดงานในประเทศไทย เช่น Tomorrowland (เทศกาลดนตรีแนว EDM ระดับโลก) และ Summer Sonic (เทศกาลดนตรีระดับเอเชีย) ในฐานะเจ้าของพื้นที่จัดงาน อิมแพ็ค เมืองทองธานี ขอประกาศให้ทราบว่ามีความพร้อม และศักยภาพ ซึ่งคอนเสิร์ต ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับการพูดถึงว่าเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มการจัดอีเวนต์ประเภทอื่นที่ภาครัฐ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ประกาศว่าจะสนับสนุน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยตรง ได้แก่

  1. กลุ่มไมซ์ ซึ่งไม่ได้มีแค่การเข้าร่วมงานหรือจัดงาน แต่ยังรวมถึงกลุ่มไมซ์ทัวริสต์ ที่มียอดการใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มทั่วไป เนื่องจากเดินทางมาจัดงานหรือร่วมงานด้วยงบประมาณของบริษัท จึงอาจเข้าพักในโรงแรมระดับ 4-5 ดาว และมีงบประมาณค่าใช้จ่าย การจัดงาน-เข้าร่วมงาน หรืออาจท่องเที่ยวหลังจบงานได้ทั้งหัวเมืองหลักอย่างพัทยา ภูเก็ต หัวหิน แม้แต่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ต่อ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นการสร้างรายได้ กระจายรายได้ ไม่ใช่เกิดขึ้นในส่วนของการจัดอีเวนต์เพียงอย่างเดียว
  2. กลุ่มอินเซนทีฟ คือกลุ่มที่ทำยอดได้ถึงเป้าหมาย หรือบริษัทพามาร่วมงาน หรือจัดเลี้ยงให้เป็นการตอบแทน เป็นกลุ่มที่จะได้รับการดูแลค่อนข้างดี เพื่อเป็นการตอบแทนจากบริษัท ถือเป็นอีกกลุ่มที่มีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง
  3. คอนเสิร์ต ตามนโยบายที่ภาครัฐประกาศว่าจะผลักดันมิวสิกเฟสติวัลจากต่างประเทศเข้ามาจัดที่ไทย ถือเป็นเรื่องดี ที่คาดหวังให้เกิดการสนับสนุนทั้งผู้จัดงาน ต่างประเทศ ในประเทศ รวมถึงภาคเอกชน เพื่อดึงดูดแฟนเพลงจากต่างประเทศ และแฟนเพลงไทย ทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ ได้ประโยชน์ไปด้วย โดยปัจจุบันการจัดคอนเสิร์ตมีหลากหลายรูปแบบ และจัดขึ้นในหลายจังหวัด

ส่วนการเกิดพื้นที่จัดงานใหม่ ๆ อย่าง UOB LIVE, Bangkok Mall, One Bangkok หรือศูนย์ฯ สิริกิติ์ และพารากอนฮอลล์ พอลล์ มองว่า เป็นเรื่องดีที่มีการพัฒนาพื้นที่เพื่อทำให้มีตัวเลือกในการจัดงานมากขึ้น แต่พื้นที่ของอิมแพ็คยังคงความได้เปรียบกว่า

เช่น เมื่อเทียบกับสนามราชมังคลาที่มีขนาดใหญ่กว่าแต่มีปัจจัยเรื่องสภาพอากาศที่ควบคุมได้ แต่อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีพื้นที่อาคารในร่มอย่างอิมแพ็ค อารีน่า, อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์, อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์

“ในช่วงหลังนี้มีคอนเสิร์ตจำนวนไม่น้อยที่เลือกจัดงานในส่วนต่าง ๆ อย่างชาเลนเจอร์ ก็จุผู้ชมได้จำนวนหลายหมื่นคนหากเป็นคอนเสิร์ตยืน ยกตัวอย่าง Summer Sonic Bangkok 2024 จัด ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 วันที่ 24-25 ส.ค. 2567 โดยผู้จัดงานคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คนต่อวัน”

ทั้งนี้ ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐนั้น พอลล์ มองว่าสามารถอุดหนุนในส่วนต่างๆ ได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดอีเวนต์มากขึ้น

“อิมแพ็ค เมืองทองธานี พัฒนาศักยภาพมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติทั้งการพัฒนาพื้นที่ บริการ เพื่อให้ตอบโจทย์ รองรับการจัดงานได้อย่างหลากหลายในทุกประเภทงาน ทั้งเอ็กซิบิชั่นเทรด เอ็กซิบิชั่นคอนซูเมอร์ อินเซนทีฟ คอนเสิร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์อีเวนต์รูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งวันนี้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในฐานะสถานที่จัดงานพร้อมแล้วที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานระดับโลก และพร้อมรองรับเมกะอีเวนต์ในทุกรูปแบบ เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  ที่มุ่งใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมยกระดับเศรษฐกิจไทย”

“เมืองทองธานี” เมืองอัจฉริยะ กับนวัตกรรม Smart Living

พัฒนาพื้นที่รับรถไฟฟ้าสีชมพู

พอลล์ บอกด้วยว่า เพื่อรับการมาของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย 2 สถานี ที่เชื่อมต่อจากสถานีเมืองทองธานี เข้ามายังพื้นที่ของอิมแพ็ค คือ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี นั้น อิมแพ็ค ยังมีพื้นที่พร้อมพัฒนาบริเวณริมทะเลสาบอีก 200-300 ไร่ หรือหากรวมบริเวณทะเลสาบ เป็น 600 ไร่ โดยวางคอนเซปต์เป็นรีเทลที่มาพร้อมบริการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ออฟฟิศ โรงแรม และเอ็กซิบิชั่น

บริษัทคาดว่างบลงทุนอาจอยู่ที่หลายหมื่นล้านบาท โดยแนวคิดในขณะนี้จะเป็นรูปแบบอาคารหลายชั้นหลายตึก แต่พื้นที่ริมทะเลสาบ ยังไม่ใช่การพัฒนาพื้นที่โครงการสุดท้าย เนื่องจากสามารถพัฒนาพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ในเมืองทองธานีได้ในรูปแบบการ Redevelopment พัฒนาจากพื้นที่เดิม ซึ่งแผนการพัฒนาพื้นที่นั้น คาดว่าจะสามารถเปิดเผยได้อย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนความพร้อมในการบริการรถไฟฟ้า 2 สถานีส่วนต่อขยาย จากเดิมคาดว่าแล้วเสร็จ ก.ค. 2568 แต่ขณะนี้มีแนวโน้มแล้วเสร็จเร็วขึ้นจากกำหนดเดิม คือ ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568

ชูความได้เปรียบรอบด้าน

พอลล์ ขยายความข้อได้เปรียบของอิมแพ็คว่า ไม่ใช่แค่เรื่องของสถานที่ แต่ยังรวมถึงความพร้อมในด้านอื่น เช่น การเดินทางที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า, การมีอาคารในร่มที่รองรับผู้เข้าร่วมงานได้เป็นจำนวนมาก, รองรับการจัดงานได้หลากหลายประเภท, มีโรงแรมให้บริการในพื้นที่ (โนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค และไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค)

ปี 2567 ยอดจองพื้นที่โดยรวมของอิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดว่าจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคอนเสิร์ตที่มีแนวโน้มจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน เฉพาะครึ่งหลังของปีนี้มียอดจองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งพื้นที่ไฮไลต์อย่างอิมแพ็ค อารีน่า ถูกจองเต็มแล้ว ทำให้ต้องขยายพื้นที่ไปยังอาคารอื่นๆ เช่น อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ที่มียอดจองพื้นที่เข้ามาแล้วกว่า 15 งาน

ส่วนปี 2566 มียอดการจัดงานทุกประเภท รวมการจัดงานประชุมสัมมนา อินเซนทีฟ คอนเสิร์ตไทย คอนเสิร์ตต่างประเทศ งานเอ็กซิบิชั่นระดับนานาชาติและไทย งานแต่งงาน รวม 1,551 งาน หรือแยกเฉพาะคอนเสิร์ตรวม 90 งาน แบ่งเป็นคอนเสิร์ตไทย 38 งาน คอนเสิร์ตต่างประเทศ 52 งาน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ศุภาลัย พร้อมเอาใจเจน Z+Y กลุ่มลูกค้าหลักซื้อบ้านปี 2575

TikTok 2024: Creative Economy ครีเอเตอร์ ขับเคลื่อนธุรกิจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ