TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview'ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต' สะท้อนมุมมองต่อบทบาทของ กสทช. บนความท้าทายในโลกยุคแพลตฟอร์มดิจิทัล

‘ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต’ สะท้อนมุมมองต่อบทบาทของ กสทช. บนความท้าทายในโลกยุคแพลตฟอร์มดิจิทัล

นับแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เมื่อปี 2565 ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูตร มีบทบาทผลักดันนโยบายสำคัญหลายเรื่องด้วยมุมมองว่า กสทช. มิใช่มีบทบาทหน้าที่เพียงการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ด้วย

ช่วงเวลากว่า 1 ปี จึงมีนโยบายต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ให้พัฒนาไปสู่อนาคตอย่างมีคุณภาพ อาทิ การส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และระบบสะสมแต้มเนื้อหาที่มีคุณค่า (social credit) การส่งเสริมสื่อชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพของนักวิชาชีพในอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือแนวคิดการพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับชาติ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อในอนาคต

แต่ดูเหมือนว่าการทำงานที่ผ่านมาต้องพบข้อจำกัดมากมายที่ทำให้นโยบายสำคัญหลายเรื่องไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ดังเสียงสะท้อนที่ว่า

“ยอมรับเป็นการทำงานที่ยากเพราะเรามาในเวลาไม่นานถ้าเทียบกับสำนักงานซึ่งอยู่มาตลอด และในความเป็นจริงบอร์ดก็มีไม่กี่คน ไม่สามารถผลักดันอะไรได้ถ้าทางสำนักงานไม่สนับสนุน ทุกอย่างเราคิดว่าทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ แต่ผลงานจะออกมาได้หรือไม่บางทีก็เป็นเพราะมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย”

อุปสรรคที่เกิดจากความเห็นไม่ตรงกันอย่างหนึ่งก็คือการที่ร่างประกาศตามมาตราต่าง ๆ หลายเรื่องยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะรอการบรรจุเข้าวาระการประชุมพิจารณาเห็นชอบจากบอร์ดซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงของประธาน

อย่างไรก็ดี เมื่อ The Story Thailand ได้สนทนากับกรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ นอกจากจะได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับแนวคิดและปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ การได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อโสตทัศน์ทั่วโลกซึ่งจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม รวมถึงบทบาทหน้าที่ของ กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล หรือ reg ulator ที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย 

เมื่อโลกสื่อสารเปลี่ยนสู่ยุคแพลตฟอร์มดิจิทัล

ดร.พิรงรอง กล่าวว่าปัจจุบันกระบวนทัศน์การสื่อสารเปลี่ยนจากเดิมที่มองแบบจากหนึ่งไปหลาย ไปเป็นแบบหลายสู่หลาย ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่ landscape ของสื่อเปลี่ยนไปก่อนหน้าประเทศไทยแล้ว มีข้อมูลน่าสนใจว่าเนื้อหาที่เป็นลักษณะแพร่ภาพและกระจายเสียง คือมีทั้งโสด (audio) และทัศน์ (visual) มาจากผู้ผลิตที่เป็น content creator มากกว่าที่เป็นมืออาชีพ

จากข้อมูลพบว่าจำนวน 39 เปอร์เซ็นต์ มาจาก content creator ที่ไม่ใช่เป็นมืออาชีพ เป็นผู้นำเข้าสู่ระบบในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น YouTube, Tik-Tok อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นลักษณะสตรีมมิ่ง (streaming) ที่ให้บริการแบบออนดีมานด์ (on demand) ในระบบสมาชิก และจำนวน 18 เปอร์เซ็นต์ เป็นเนื้อหาที่ให้บริการในลักษณะฟรีทีวีแบบดั้งเดิม (linear) ที่ออกอากาศตามผังรายการ ส่วนที่เหลือผสมกันหลายรูปแบบ อาทิ พอดคาสต์ (podcast) หรือบริการเพลงสตรีมมิ่ง

“จะเห็นว่าเนื้อหาหลักเป็นเนื้อหาจาก content creator ที่เป็นแบบส่วนบุคคลมากกว่าที่เป็นแบบมืออาชีพ หรือเนื้อหาที่เป็น traditional อย่างทีวี นี่คือภาพที่เปลี่ยนไปแล้วของต่างประเทศ”

แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่สะท้อนสภาพที่แท้จริงออกมาอย่างชัดเจนว่าเนื้อหาแบบไหนเป็นหลัก 

“แม้ข้อมูลจากเนลสันจะระบุว่าจำนวน 54 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคในไทยดูออนไลน์คอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่ไม่ได้แยกแยะว่าในรูปแบบไหนเท่าไร ซึ่งอาจจะเป็น video sharing ก็ได้ หรือ SVOD (Subscription Video on Demand) แบบสมัครเป็นสมาชิกก็ได้ ภาพจึงยังไม่ชัดเจนนัก”

“กระแสบนออนไลน์” สะท้อน “ความสนใจของคนในสังคม” หรือไม่? 

ขณะเดียวกันเนลสันบอกว่าทีวีที่ออกอากาศตามผังรายการยังมีจำนวนคนดูกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าจำนวนคนดูสตรีมมิ่งชัดเจน 

เธอกล่าวว่าประเทศไทยมีความน่าสนใจตรงที่การเปิดรับสื่อจะแบ่งตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ตามคลาสของสังคมประชากร หรือตามช่วงวัย เมื่อเอาข้อมูลทุกอย่างมาเชื่อมโยงกันจะเห็นความซับซ้อนค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อมีกลุ่มผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอแชริ่ง หรือวิดีโอออนดีมานด์ เข้ามาเปิดตลาดส่งผลกับการเปิดรับของคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้ภาพรวมไม่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

“ตอนนี้คอนเทนต์ทีวีส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตในประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ซึ่งมีสองลักษณะคือ curated และ accurate และในอนาคตก็คงจะมีสองส่วนนี้ที่เห็นชัดเจน”

แพลตฟอร์มแบบ curated จะมีการคัดสรรคอนเทนต์ขึ้นมาเพื่อนำเสนอสู่ผู้ชม ในแพลตฟอร์มแบบวิดีโอแชริ่งจะเห็นได้ชัดว่าการคัดสรรจะใช้อัลกอริทึม โดยดูจากโพรไฟล์และพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ ดูความชอบของผู้ชมคืออะไร ส่วนแบบ accurate จะมีการคัดสรรและรวบรวม แม้จะใช้อัลกอริทึมแต่ก็ไม่ชัดเจนเท่าแบบแรก อย่างเช่นบริการ Netflix 

“จากนี้ไป กสทช.จะมีหน้าที่รับผิดชอบแค่ดูเรื่องใบอนุญาตเท่านั้นคงไม่ได้แล้ว เพราะมีเดียแลนด์สเคปไม่ได้มีแค่ช่องทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 15 ช่อง ช่องสาธารณะ 6-7 ช่อง เพลย์ทีวีที่เป็น cable satellite หรือ IPTV เท่านั้นแล้ว แต่วันนี้เรากำลังพูดถึง video on demand พูดถึง video sharing และ super accurate ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก”

ข้อจำกัดและอุปสรรคใหญ่ของกสทช.

“แต่ กสทช.มีข้อจำกัดสูงมาก ข้อแรกในด้านกฎหมาย เรายังทำงานอยู่กับกฎหมายเดิม ๆ คือ พรบ.การประกอบกิจการกระเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 การร่างกฎหมายฉบับนี้ในตอนนั้นให้ความสำคัญในเรื่องการปฏิรูปคลื่นความถี่ที่องค์กรภาครัฐเป็นผู้ครอบครองและถูกขาดอยู่ให้ออกมาสู่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนมากขึ้น ก็บรรลุผลไปตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้เราอยู่ในปี 2566 สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดได้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่กฎหมายก็ยังเป็นฉบับเดิม ขณะที่ความท้าทายของ กสทช. หรือสิ่งที่ต้องทำตรงหน้ามันไปไกลกว่านั้นแล้ว”

กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวถึงอุปสรรคในการทำงานที่เกิดจากข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยยกตัวอย่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ กสทช. เป็น convergent regulator 

“แต่ในข้อเท็จจริงเราก็ยังติดขัดในปัญหาเดิม ๆ อยู่เยอะมาก ถึงแม้ว่า พรบ.ปี 2553 จะมีการยกร่างใหม่ในปี 2563 แต่ไม่มีประเด็นการเข้ามาของแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ซึ่งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจส่งกระทบมากมาย แต่ก็เกินกว่าอำนาจของ กสทช.ตามพรบ.ที่จะเข้าไปจัดการได้”

“ยิ่งเป็น พรบ.โทรคมนาคมยิ่งเก่ากว่า เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2544 นอกจากนี้ยังมี พรบ.วิทยุโทรคมนาคมเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลมาตรฐานพวกอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเก่ายิ่งกว่าคือประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2498 ทั้งหมดนี้คือข้อจำกัดทางกฎหมาย”

ข้อจำกัดที่สอง คือ โครงสร้างของสำนักงาน ซึ่งออกแบบขึ้นมาตาม พรบ.การจัดสรรคลื่นฯ ปี 2553 แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ โทรคมนาคมกับบรอดคาสต์ ตามชื่อว่า พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

“เมื่อก่อนมี 2 บอร์ดย่อยทำงานแยกกันเด็ดขาด แต่สภาพการณ์ปัจจุบันทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ดูตัวอย่างพวกบริษัทโทรคมนาคมก็หันมาทำบรอดคาสต์ คือให้บริการด้านคอนเทนต์ด้วยการทำเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมเนื้อหาไม่ต่างกับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ แม้ขนาดอาจจะเล็กกว่าก็ตาม คำถามคือตอนนี้ใครมีอำนาจในการกำกับดูแล”

เธอกล่าวย้ำว่า “กสทช.เองก็ไม่มีอำนาจ แม้แต่การกำกับดูแลแพลตฟอร์มในประเทศ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติเลย”

“ตามจริงถ้าเราไปดูตัวกฎหมาย ความหมายตามมาตร 4 พรบ.การจัดสรรคลื่นฯ ในเรื่องของกิจการโทรทัศน์ เขียนไว้ว่าเป็นเรื่องของ audio visual ที่ออกเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มใด ๆ ปัญหาคือเรายังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมา ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการกำหนดระเบียบปฏิบัติ”

นอกจากนี้ข้อจำกัดในด้านโครงสร้างยังเกิดจากสำนักงานผูกกับตัวคนทำงานด้วย โดยทุกคนทำงานอยู่ตามโครงสร้างดังนั้นขอบเขตของงานก็จะมองตามโครงสร้าง

“ตราบใดที่โครงสร้างไม่เปลี่ยนคนทำงานก็จะไม่มีการ re-skill ไม่ถูกฝึกให้มองต่างไปจากเดิมว่าขณะนี้กิจการโทรคมนาคมและกิจการบรอดคาสต์รวมอยู่ด้วยกัน ไม่ได้แยกกันแบบเดิมอีกแล้ว” 

“ปัญหานี้คนในอุตสาหกรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน คนในส่วนงานโทรคมนาคมอาจจะไดนามิกส์มากกว่าคนทำงานด้านบรอดคาสต์ อุตสาหกรรมบรอดคาสต์มีทุนต่ำกว่า และที่ผ่านมาถูกดิสรัปเยอะมากทำให้พยายามไปเน้นเรื่องอื่น ๆ เช่น ทำอย่างไรให้มีเรตติ้งมากที่สุด มากกว่าที่จะลงทุน re-skill หรือทำอย่างไรให้มองเห็นภาพใหญ่ขึ้น”

“อีกปัญหาที่สำคัญคือการออกแบบระบบบรอดคาสต์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ผ่านมาทำให้มีบรอดคาสเตอร์มากเกินไป”

เธอยกตัวอย่างเปรียบกับประเทศเยอรมนีที่มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่ไม่มีช่องทีวีระดับชาติมากเท่ากับของไทย หรือเกาหลีใต้ที่มีขนาดเล็กกว่า ก็มีช่องทีวีระดับชาติไม่มากนัก 

“การมีช่องน้อยทำให้ดูแลคุณภาพได้ดีกว่าเพราะไม่ต้องแย่งทรัพยากรกันมาก แต่ของเรามีจำนวนช่องมากเกินไป และยังออกแบบระบบให้ผู้ประกอบการเข้าสู่การเป็นผู้ได้รับอนุญาตด้วยการประมูล ซึ่งเป็นเรื่องของทุนทั้งสิ้น”

“บรอดคาสต์ต่างกับโทรคมนาคมตรงที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ซึ่งมีผลกับค่านิยม กับความรู้สึกนึกคิด มีผลต่อการมีส่วนร่วมของนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ในประเทศ การใช้วิธีประมูลให้ได้คนที่จะเข้ามาทำงานก็เกิดผิดฝาผิดตัว ไม่ได้คนที่คิดทำเพื่อสังคมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของงานบรอดคาสต์ จึงมีส่วนหนึ่งที่ต้องตายจากไป ที่ยังคงอยู่ส่วนหนึ่งก็เน้นการแข่งกันเพื่อเรตติ้งโดยไม่ได้มองประเด็นเรื่องทางด้านสังคมเลย”

ถ้าเห็นภาพชัดก็วางบทบาทได้ถูกต้อง

ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต

ดร.พิรงรอง ยอมรับว่าปัจจุบันภาพต่าง ๆ ยังกระจัดกระจาย ยังมองไม่เห็นชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นรายใหญ่ทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ กสทช.จึงต้องตั้งหลักอยู่บนข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการที่เชื่อถือได้โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์เจือปน

“เราจำเป็นต้องเห็นภาพที่ชัดเจนว่าผู้คนบริโภคคอนเทนต์อะไร จะแบ่งกันด้วยอะไร ใครเป็นผู้เล่นหลัก value chain ตั้งแต่ต้นจนจบเปลี่ยนไปอย่างไร พอได้ข้อมูลและภาพที่ชัดเจนแล้ว ท้ายที่สุดจะต้องมีโมเดลทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยคิดว่าอะไรที่จะเป็นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดเพราะบรอดคาสต์เป็นเรื่องทางสังคมด้วย ขณะเดียวกันเราต้องมาค้นหาว่าคุณค่าของบรอดคาสติ้งยังมีอยู่หรือเปล่า”

เธอสะท้อนให้เห็นภาพวงการบรอดคาสติ้งของไทยว่า ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจากช่องแบบอนาล็อกเป็นการแข่งขันกันทางการตลาดเป็นหลัก ถึงแม้ส่วนหนึ่งมีจุดร่วมทางสังคมก็ตาม ดังนั้นวัฒนธรรมทางสื่อทีวีของไทยจึงเป็นมาร์เก็ตเพลสค่อนข้างมาก สิ่งที่เป็นการทำเพื่อสาธารณะจะด้อยกว่า

“ยิ่งเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลที่มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นมากมายจากการประมูล ก็ยิ่งเป็นเรื่องของทุนทั้งหมดเลย ตอนนี้เราจึงเห็นปรากฏการณ์ว่ามีเรื่องการเล่าข่าว การดราม่าข่าว การขยี้ข่าว ทั้งที่พื้นที่ข่าวควรจะยึดโยงด้วยข้อเท็จจริงและเป็นประเด็นที่เป็นเรื่องร่วมกันของคนในสังคม เช่นเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้เราทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้คนดูข่าวมากที่สุด”

ประเด็นนี้เธอเปรียบเทียบกับมาเลเซียเพื่อนบ้านของไทยว่า สื่อทีวียังคงเคร่งคัดกับการนั่งอ่านข่าวจากข้อมูลอย่างจริงจัง โดยไม่มีการดราม่า ไม่มีการคุยกัน หรือใส่ความคิดเห็นเข้าไปในข่าวแต่อย่างใด

“ถ้าเกิด กสทช.บอกว่าต่อไปนี้ต้องหยุดดราม่าข่าว หยุดขยี้ข่าว จะต้องอ่านข่าว based on fact เท่านั้น หรือเล่าข่าวได้ก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงอย่างเดียว จะใส่ความเห็นไม่ได้ ถามว่าทีวีช่องต่าง ๆ จะยอมหรือไม่”

“เชื่อว่าช่องต่าง ๆ จะบอกว่า กสทช.ล้ำเส้น นี่เป็นเรื่องของรสนิยมและรูปแบบการนำเสนอ ไม่ใช่เรื่องของจริยธรรมเพราะไม่ได้ทำผิดร้ายแรง ไม่ได้ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม หรือถ้าทำผิดจริงก็สามารถใช้มาตรา 7 จัดการได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับองค์กรการกำกับดูแลของสื่อ”

“อันที่จริง กสทช. ไม่อยากเข้าไปยุ่งนะ แต่เห็นว่าถ้าปล่อยไว้ก็จะทำกันไปเรื่อย ๆ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเล่าข่าว ยังไปถึงการยุยงให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ของข่าวสารด้วย คือการเอาข่าวมาปั่นต่อ และเอาคนที่เป็นข่าวมาเป็นตัวนำเสนอในทอล์กโชว์ รวมถึงการใช้ความรุนแรงทางวาจา เป็นต้น”

เธอให้ข้อมูลว่าในต่างประเทศองค์กรวิชาชีพจะกำกับดูแลสื่อเองทั้งหมด เพราะไม่ต้องการให้ regulator เข้าไปยุ่งกับสื่อในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม ซึ่งในเมืองไทยองค์กรวิชาชีพสื่อยังไม่ได้แสดงให้เห็นความเข้มแข็งในการกำกับดูแล

“ต้องกลับมาถามว่าสังคมแบบนี้เป็นสิ่งที่พวกเราอยากให้เป็นเหรอ กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลที่เป็นตัวแทนนโยบายของภาครัฐก็ต้องมองเห็นร่วมกันว่าทิศทางที่เราอยากให้สังคมเป็นไปคืออะไร และสุดท้ายต้องมีความชัดเจนว่าจะแบ่งหน้าที่กำกับดูแลกันอย่างไร”

อนาคตบรอดคาสต์อยู่บนโทรคมนาคม

ดร.พิรงรอง ให้ความเห็นว่าบทบาทสำคัญหนึ่งของบริการสื่อสารคือการทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงข่าวสาร บรอดคาสติ้งเป็นเรื่องของการ inclusivity คือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะสิ่งนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารที่รัฐมีให้ทุกคน จึงเป็นที่มาว่าทีวีดิจิทัลต้องเป็นช่องทีวีพื้นฐานบนภาคพื้นดิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงได้อย่างทั่วถึง

“แต่เวลานี้เราอยู่ในยุคที่มีการ convert มีโทรคมนาคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องถามว่าถ้าสตรีมมิ่ง หรือออนไลน์ จะเป็นโลกแห่งอนาคต หมายความว่าการออกอากาศแบบผ่านเครื่องรวมสัญญาณ หรือ  multiplexer ต่าง ๆ จะไม่มีความจำเป็นแล้วใช่หรือไม่ ถ้าเราจะมุ่งไปออนไลน์แบบเต็มตัว ก็ต้องมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศใช่หรือไม่” 

เกี่ยวกับเรื่องนี้เธอให้ความเห็นว่า กรณีที่ยอมรับกับการควบรวมกิจการระหว่าง  AIS กับ 3BB เงินที่ประหยัดได้จากการไม่ต้องลงทุนเครือข่ายซ้ำซ้อนจึงควรกำหนดไปเลยว่าจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ภายในเวลา 5 ปี จะต้องกระจายโครงข่ายไปในพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังไปไม่ถึง

“เมื่อภาคเอกชนสามารถประหยัดการลงทุนได้จำนวนมาก ก็ควรต้องส่งต่อประโยชน์ที่เกิดขึ้นนี้ให้แก่ประชาชน โดยการทำให้ประชาชนเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง”

“สิ่งที่ประชาชนใช้มากที่สุดผ่านโครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมก็คือความบันเทิง หรือเรื่องของ OTT service ต่าง ๆ ดังนั้นผู้ให้บริการโทรคมนาคมก็ต้องเข้ามาช่วยขยายเครือข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้ทั่วประเทศเข้าถึงได้เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ออนไลน์”

แม้เธอจะยืนยันว่าอนาคตของบรอดคาสต์อยู่ที่เทเลคอม เพราะแนวโน้มชัดเจนว่าวันข้างหน้าสตรีมมิ่งหรือบริการออนไลน์ต่าง ๆ จะมีบทบาทเป็นสื่อหลัก แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นอยู่อาจจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

“เราต้องกลับมาดูด้วยว่า multiplexer ต่าง ๆ ที่มีอยู่จะยอมหรือเปล่า ถ้าเราดูความจริงว่า multiplexer มีใครเป็นโอเปอเรเตอร์บ้าง ก็จะเห็นว่านี่เป็นปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามเพราะท้ายที่สุดปัญหานี้จะไม่หลุดไปจากเรื่องโครงสร้างของเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่ง กสทช.ตกอยู่ในสภาพที่ถูกบีบอัดอยู่ตรงกลางไม่มากก็น้อย”

บทบาทและอำนาจของกสทช.ต้องเปลี่ยนไป

กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่าถ้าวันหนึ่งโทรทัศน์แบบเดิม ๆ ไม่มีแล้ว ทุกอย่างไปอยู่บนโทรคมนาคม ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายในเรื่องอำนาจและรูปแบบการกำกับดูแลของ กสทช.ให้สอดคล้องกับสภาพที่เปลี่ยนไป

“ถึงวันนั้นอาจไม่ใช่ระบบสัมปทานอีกต่อไป แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรผู้ประกอบการก็ต้องมีความสามารถในการรับการตรวจสอบ คือทำอะไรต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เหมือนปัจจุบันที่ผู้ประกอบการพูดแต่ว่าเรื่อง OTT กสทช.ไม่มีอำนาจกำกับดูแล เขาจะทำอะไรก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้เวลาที่ประชาชนเดือดร้อนในเรื่องการบริการจะไปร้องเรียนกับใครได้”

แต่เนื่องจากเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน เรื่องอำนาจในการกำกับดูแล OTT จึงเป็นประเด็นถกเถียงกันตั้งแต่บอร์ดชุดก่อนที่พยายามเอาโอเปอเรเตอร์ของ OTT เข้ามาสู่ระบบ ด้วยการลงทะเบียนเพื่อให้ทราบว่าผู้ให้บริการเป็นใคร อยู่ที่ไหน และต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติอย่างไร แต่ยังเป็นไปไม่ได้เพราะมีแรงกดดันต่าง ๆ จากทั้งต่างประเทศและในประเทศ

“โอเปอเรเตอร์บอกว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ ถึงกับมีการกล่าวว่า กสทช.ไม่มีอำนาจตั้งแต่ประเด็นเรื่องควบรวมกิจการแล้ว แต่ข้อเท็จจริงเมื่อเป็น regulator ก็ต้องมีอำนาจเพราะมีกฎหมายที่ชัดเจนซึ่งอยู่ในนิยามของคำว่าโทรทัศน์ ส่วนว่าอำนาจนั้นจะเข้าไปถึงหรือไม่ก็เป็นปัญหาในแง่เศรษฐกิจและการเมือง”

เธอกล่าวว่า ปัจจุบันร่างประกาศเรื่อง OTT ทำเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรอการบรรจุเข้าพิจารณาของคณะกรรมการฯ มีเนื้อหาสำคัญ 3 เรื่องคือ การคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องเนื้อหาที่เป็นภัยต่อเด็กและเยาวชน และเรื่อง data protection หรือการคุ้มครองการนำข้อมูลของประชาชนไปใช้ประโยชน์

แต่ที่ผ่านมามีคำถามกลับมาหลายเรื่อง ประธาน กสทช.จึงยังไม่บรรจุเข้าที่ประชุมพิจารณา ทำให้ออกกฎเกณฑ์นี้ไม่ทันประกาศพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566

“ตาม พรฏ.แพลตฟอร์มดิจิทัล กำหนดว่าภายในเวลา 3 เดือนนับจากกฎหมายมีผลบังคับใช้คือภายในวันที่ 18 พศจิกายน 2566 จะต้องมีกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลสำหรับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีองค์กรกำกับดูแล ซึ่งเราก็พยายามออกให้ทัน แต่เนื่องจากก่อนหน้านั้นเรื่องไม่ได้รับการบรรจุเข้าวาระพิจารณาทำให้ไม่สามารถออกร่างประกาศเรื่อง OTT ได้ทันตามกำหนด”

ใคร ? กำหนดวาระการสื่อสารบนโลกออนไลน์

“เข้าใจว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการด้าน OTT ประมาณ 10 ราย เป็น audio visual OTT ไปจดทะเบียนกับ ETDA ก่อน ทำให้เกิดความลักลั่นขึ้นมา แทนที่ผู้ประกอบการมาจดทะเบียนกับ กสทช. และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ กสทช.ออกมา อย่างไรก็ตามหลังจากร่างประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการต้องกลับมาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ กสทช. ไม่ว่าจะเป็น video sharing หรือ video on demand”

ทั้งนี้ ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) กับพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีความเชื่อมโยงกัน โดยมีมาตราที่กำหนดไว้ว่าเซ็กเตอร์ของแพลตฟอร์มดิจิทัลใดที่มีกฎเกณฑ์ของตัวเองและมีผู้กำกับดูแลอยู่แล้วก็ให้ขึ้นต่อองค์กรกำกับดูแลนั้น โดยจะมีคณะกรรมการดูแลร่วมกัน

“การกำกับดูแลผู้ประอบการให้ดำเนินการตามกฎระเบียบเป็นหน้าที่หลักของ regulator ซึ่งตรงนี้ชัดเจนว่า กสทช.มีมติตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ว่าบริการ video sharing หรือ video on demand เป็น service provider ในแพลตฟอร์มดิจิทัล และเข้านิยามของโทรทัศน์ในกฎหมายของ กสทช.” ดร.พิรงรองกล่าวสรุป

สร้างกลไกสนับสนุนช่องเนื้อหารายการที่ดี

ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต

จากนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อให้พัฒนาไปสู่อนาคตที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยแนวคิดต่าง ๆ การส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยการทำ quality rating และระบบสะสมแต้มเนื้อหาที่มีคุณค่า หรือ social credit จึงถูกผลักดันขึ้นมาตามเจตนารมณ์ดังกล่าว

ดร.พิรงรองกล่าวว่า แนวคิดนี้มีที่มาจากช่วงปีแรกที่เข้ามารับตำแหน่งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับช่องทีวีดิจิทัล ช่องเคเบิล และไอพีทีวี หลายช่องที่พยายามทำช่องที่มีสาระดี มีละครสะท้อนปัญหาสังคม ไม่เสนอเนื้อหาดราม่า ไม่มีเรื่องเซ็กส์ หรือเรื่องความรุนแรง แต่ผลปรากฏว่ามีเรตติ้งต่ำมาก ทำให้เกิดแนวคิดว่าควรมีมาตรการในเชิง incentive ให้คนที่ทำอะไรดี ๆ ได้สิ่งที่ดีกลับไปบ้าง จึงมองเรื่อง quality rating เพราะที่ผ่านมา rating เป็นเรื่อง quantitative ทั้งสิ้น

“ผู้ที่ได้คะแนน quality rating ตามเกณฑ์ที่เรากำหนดอาจจะได้เครื่องหมายรับรองใด ๆ ที่แสดงว่าเป็นช่องโทรทัศน์ที่ชื่อถือได้”

ส่วนแนวคิดการให้ social credit หรือระบบสะสมแต้มเนื้อหาที่มีคุณค่า โดยพิจารณาจากเนื้อหารายการทั้งเชิงบวกและลบ เชิงบวก เช่น เนื้อหาส่งเสริมสังคม เรื่องของผู้สูงวัย เรื่องเด็ก เรื่องค่านิยมที่ดีต่างๆ ส่วนเชิงลบ เช่น เนื้อหาที่เป็นความรุนแรง เซ็กส์ หรือการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม

“เราอาจใช้การเปิดรับให้ผู้ประกอบการส่งเข้ามา กับอีกส่วนให้ผู้ชมที่เป็นเครือข่ายของเราช่วยเฝ้าดู เราใช้ทั้งคนและ AI.ในการช่วยกันเฝ้าติดตาม แล้วประมวลออกมาเป็นคะแนน ถึงช่วงท้ายปีก็มาดูว่าคะแนนของแต่ละช่องออกมาเป็นอย่างไร”

ช่องไหนได้คะแนนเข้าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้ลดค่าธรรมเนียมรายปี ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนด้านคุณภาพที่ดีของเนื้อหารายการทีวีต่าง ๆ

“ขณะนี้อยู่ในระหว่างการกำหนดเกณฑ์การพิจารณา เนื่องจากเกณฑ์สร้างค่อนข้างยากเพราะส่วนหนึ่งเราต้องให้ AI เรียนรู้ในลักษณะ machine learning คณะกรรมการ social credit ก็มีการประชุมกันไป 3 ครั้งแล้ว ซึ่งเราก็พยายามจะให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างในราวต้นปี 2567 ที่จะถึงนี้”

หนุนองค์กรวิชาชีพกำกับดูแลสื่อกันเอง

ดร.พิรงรองบอกว่า เมื่อเริ่มเข้ามารับตำแหน่งในปี 2565 มีความพยายามทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพในการสร้างระบบส่งต่อและติดตามเรื่องร้องเรียนกรณีที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมและเรื่องที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพื่อสนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ภายใต้มาตรฐานจริยธรรม ตามมาตรา 28 (18) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ มาตรา 39, 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

“ถ้าเป็นเรื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในด้านสิทธิ ชื่อเสียง ความเป็นอยู่ต่าง ๆ ร้องเรียนได้ที่ กสทช. ถ้าเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ได้รับผลกระทบต้องส่งไปให้องค์กรวิชาชีพ หรือว่าเรื่องอะไรที่เข้าสู่อนุฯ เนื้อหา ถ้าเราเห็นเป็นประเด็นด้านจริยธรรม ก็จะส่งไปให้องค์กรวิชาชีพเลย”

“แต่ปัญหาที่เราเจอก็คือว่าส่งเรื่องไปให้องค์กรวิชาชีพแล้วเรื่องก็หายไป ทาง กสทช.ก็พยายามจะขอว่าช่วยตอบกลับภายใน 15-30 วัน ได้ไหมว่าเรื่องที่ส่งไปมีความคืบหน้าอย่างไร คำตอบที่เราได้ก็คือ กสทช.ไม่มีอำนาจมากะเกณฑ์เวลา เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับทางองค์กรวิชาชีพว่าจบเมื่อไรก็เมื่อนั้น”

ผลที่ตามมาคือกลายเป็นประเด็นที่ถูกสังคมมองว่า กสทช.จะดูแลเฉพาะเรื่องที่ร้ายแรงตามาตรา 37 แต่จะไม่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรม.

“เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เรายังไม่สามารถหาทางออกได้ พอคุยลึก ๆ กับคนทำงานองค์กรวิชาชีพก็บอกว่าเป็นปัญหาเรื่องของข้อจำกัดในแง่ต้นทุนของการกำกับดูแลกันเอง”

เนื่องจากคนที่มาทำงานให้สภาวิชาชีพหรือสมาคมต่าง ๆ มาแบบอาสาสมัคร และมีจำนวนน้อย ขณะที่กระบวนการตรวจสอบว่าสื่อทำผิดหรือไม่นั้น มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก ทำให้การดำเนินการต้องใช้ต้นทุนสูงทั้งทุนทรัพย์และกำลังคน

“ขณะที่ กสทช. ในอนุฯ เนื้อหาเราใช้คนเยอะมาก มานั่งอัดเทป นั่งวิเคราะห์ว่าเนื้อหาจากวินาทีนี้มาถึงวินาทีนี้มีผิดตรงไหน เป็นงานที่ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ก็มีความคิดว่าเราน่าจะแชร์ทรัพยากรกัน โดยเปิดให้ทางองค์กรวิชาชีพเข้าถึงเนื้อหารายการที่ กสทช.มีอยู่ ส่วนการพิจารณาก็ดำเนินไปตามกระบวนการขององค์กรวิชาชีพ”

ตัวอย่างเช่นมีการร้องเรียนว่าทีวีช่องนี้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ทางองค์กรวิชาชีพสามารถเข้ามาใช้ฟุตเทจของ กสทช.ที่มีอยู่แล้ว เอาไปพิจารณาตามเกณฑ์ขององค์กรวิชาชีพนั้นได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปค้นหาเอง

อีกเรื่องหนึ่งคือข้อจำกัดทางกฎหมาย ในมาตรา 39 ของ พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ฯ กำหนดไว้ว่าส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ประกอบวิชาชีพให้เป็นองค์กรกำกับดูแลทางจริยธรรม และสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งก็มีประเด็นให้ถกเถียงอีกว่าองค์กรวิชาชีพที่มีอยู่แล้วเป็นองค์กรตามที่กฎหมายกำหนดหรือยัง

“ปัญหาคือประกาศตามมาตรา 39 เสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ เพิ่งจะผ่านการทำ public hearing กันไป ทำให้มีคนใน กสทช.บางคนตั้งคำถามว่าองค์กรวิชาชีพที่เราเข้าไปเชื่อมต่อทำงานด้วยเป็นองค์กรตามมาตรา 39 หรือไม่ แต่เราก็ไม่สนใจประเด็นนี้นะ ก็ทำงานกันไปเลย เพราะถ้ารอให้ประกาศนี้สมบูรณ์การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองก็จะต้องรอกันต่อไป”

“ถ้าประกาศมาตรา 39 ออกมาใช้งานก็จะมีข้อดีคือ กสทช.สามารถใช้เงินจากกองทุน กทปส.เพื่อช่วยองค์วิชาชีพได้ว่าถ้าต้องการเงินไปอุดหนุนในเรื่องของกระบวนการรับเรื่องราวร้องเรียนและพิจารณา เงินกองทุนนี้ก็นำไปช่วยได้ ซึ่งประกาศดังกล่าวทำเสร็จแล้วกำลังรอบรรจุวาระพิจารณาของคณะกรรมการ กสทช.”

ส่งเสริมการผลิตเนื้อหาและพัฒนาบุคลากร

สำหรับการส่งเสริมเรื่องการผลิตเนื้อหานั้น ดร.พิรงรองกล่าวว่า แม้ตามมาตรา 52 จะระบุว่ากรณีที่เห็นว่าเนื้อหาใดเป็นเนื้อที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะหรือต่อสังคม กสทช.สามารถอุดหนุนได้ ซึ่งปกติเมื่อมีมาตราจะต้องมีประกาศ แต่กรณีมาตรา 52 เมื่อไม่มีประกาศก็จะถูกตีความว่าเอาไปใช้อะไรได้บ้าง อย่างกรณีที่กรรมการเสียงข้างมากอนุมัติเงินจำนวน 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ไปใช้อุดหนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม ด้วยเหตุผลว่าเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียง

“ลองนึกดูว่าถ้าเราเอาเงินจำนวนนี้มาอุดหนุนวงการสื่อจะทำอะไรได้มากมายเลย และทำได้เป็นเวลานานด้วย ส่วนตัวจึงโหวตไม่ให้เพราะมองว่ามันไม่เข้าวัตถุประสงค์ตามมาตรา 52 ดังนั้นเมื่อทำร่างประกาศเราจึงบอกให้ชัดเจนเลยว่าเนื้อหาประเภทใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม”

โดยปีแรกเริ่มต้นจาก 4 หมวด คือ หนึ่ง เนื้อหาที่มีข้อมูลวิจัยชัดเจนว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ แต่ขาดหายไป ได้แก่รายการทีวีเพื่อเด็กและเยาวชน 

สอง เนื้อหาที่ส่งเสริมความหลากหลาย โดยมองจากศักยภาพของการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายของความคิดทางการเมือง หรือความหลากหลายทางชาติพันธุ์ต่าง ๆ 

“นอกจากจะช่วยสร้างความเข้าใจในสังคมแล้วยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ส่งออกได้ด้วย ซึ่งมีตัวอย่างเป็นที่ประจักษ์แล้วเช่น เนื้อหา Boys’ Love หรือซีรี่ส์วาย ผลงานจากประเทศไทยได้รับการชื่นชมมากที่สุด”

สาม เนื้อหาที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยมองไปถึงเรื่องสื่อชุมชน หรือสื่อท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญและให้การอุดหนุนด้วย

สี่ เนื้อหาที่มีศักยภาพในการร่วมผลิตกับต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดมุมมอง ทักษะความชำนาญ ตลอดจนการถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีการผลิตต่อผู้ผลิตของไทย

“ทั้ง 4 หมวดผ่านการทำ public hearing แล้ว ก็ได้รับผลตอบรับดีมาก จะมีคำถามเดียวเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งเราออกแบบการอุดหนุนการผลิตเนื้อหาเหล่านี้ให้สามารถยืดหยุ่นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น complete package เหมือนแบบกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฯ ที่จะต้องเป็นหนังทั้งเรื่อง หรือสารคดีทั้งตอน”

โดยเงินอุดหนุนของ กสทช.สามารถขอแบบแยกส่วนได้ เช่น ขออุดหนุนเฉพาะงานพรีโปรดักชัน หรือโพสต์โปรดักชัน ขอทุนทำวิจัยข้อมูล ทำ CG หรือทำเฉพาะ business matching ก็ได้ ข้อดีของการเปิดให้ขอทุนเป็นส่วน ๆ จะทำให้สามารถอุดหนุนผู้ประกอบการได้มากรายขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าที่ประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณาเห็นชอบ

“ส่วนการผลิตบุคลากรจะต้องแก้ไขกฎหมายของกองทุน กทปส.เพราะในการร่าง.พรบ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เมื่อปี 2553 วางบทบาทกองทุนนี้เพื่อประโยชน์ในการการพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ กับการโทรคมนาคมเป็นหลัก แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ก่อตั้งมามีการให้ทุนจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ผู้ได้รับทุนเป็นนักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยโดยออกมาในรูปการทำวิจัยที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องสื่อ แต่เป็นทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มในเรื่องของความมั่นคงเข้ามาในยุคคสช.อีก เนื่องจากในวัตถุประสงค์ของกองทุนเขียนว่ารวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย”

ทั้งนี้ กองทุน กทปส.(กองทุนวิจัยและพัฒนาการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ) มีบอร์ดแยกต่างหากจาก กสทช. โดยมีกรรมการเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีความเกี่ยวข้องกับ กสทช. คือตำแหน่งประธานและเลขา

สร้างแพลตฟอร์มระดับชาติหลังหมดใบอนุญาต

“ก็ต้องยอมรับกันว่าในความเป็นจริงคงต้องมีใครเจ็บตัว แม้ทุกคนอยากไปต่อหมด แต่ว่ามันเป็นไปได้ไหมที่ทุกคนจะไปต่อ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ดีจริง ๆ”

กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปในกิจการโทรทัศน์ของไทยหลังใบอนุญาตหมดอายุในปี 2572 

“เนื่องจากตอนนี้มัน fragment มาก การที่ผู้ประกอบการเดิมอยากไปต่อกันหมดคงเป็นเรื่องยากเพราะทรัพยากรเรื่องคลื่นมีจำกัด” 

“ในอนาคตคลื่นความถี่ที่ใช้ทำบรอดคาสต์มีความเป็นไปได้มากว่าจะลดลงมาประมาณ 20 เมกะเฮิร์ตช เพื่อเอาไปทำบริการโมบาย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดย ITU ทำใน 2 พื้นที่ของโลกไปแล้ว เพราะเห็นว่าคนดูบรอดคาสต์น้อยลง แต่คนใช้โมบายมากขึ้น”

ผนวกกับเทคโนโลยี 4K ที่กินช่วงคลื่นมาก เมื่อโทรทัศน์ต้องการสร้างประสบการณ์การชมระดับ 4K ยิ่งส่งผลให้จำนวนช่องต้องลดลงไปอีก เป็นไปได้ว่าในอนาคตสถานีส่งสัญญาณแต่ละ Mux จะบรรจุช่องทีวีที่ออกอากาศได้เพียง 1-2 ช่องเท่านั้น ถ้าจะทำเป็นแบบ 4K ทั้งหมดจะเหลือประมาณ 5 ช่อง ยกเว้นว่ามีช่อง HD ผสมเข้าไป

“เราต้องกลับมาถามกันว่าถ้าจะให้ไปต่อ ช่องทีวีที่ทำข่าวดราม่าควรจะไปต่อไหม หรือควรจะไปต่อในอีกรูปแบบหนึ่งคือไม่ต้องมาใช้คลื่นความถี่ที่เป็นของสาธารณะ เมื่อถึงเวลานั้นคงต้องดูว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร เวลานี้ยังไม่มีคำตอบที่สิ้นสุด”

ดร.พิรงรองกล่าวว่าแนวคิดหนึ่งที่น่าจะเป็นทางเลือกซึ่งกำลังศึกษารายละเอียดกันคือ การทำดิจิทัลแพลตฟอร์มระดับชาติสำหรับทีวี

“เราควรจะต้องมีแพลตฟอร์มระดับชาติที่เป็นออนไลน์แพลตฟอร์ม และควรมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งเป็นพื้นที่กลางของสาธารณะ กสทช.ในฐานะองค์กรทางด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเราต้องมองว่าสังคมจะยึดโยงอยู่ด้วยกันได้ จะต้องมีอะไรที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารของสาธารณะที่เชื่อถือได้”

“แต่คำว่าแพลตฟอร์มระดับชาติอาจจะทำให้เข้าใจผิดว่า กสทช.ต้องเป็นผู้ลงทุน”

เธอเปิดประเด็นให้คิดโดยยกตัวอย่างประเทศอังกฤษมีสิ่งที่เรียกว่า freely เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ของช่องทีวี 3-4 ช่อง ลงทุนร่วมกัน ทำแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อรองรับการทำ live streaming แบบ linear เนื้อหาแต่ละช่อง freely เป็นผู้ผลิต:ซึ่งตอบโจทย์คนเจนเนอเรชั่นหนึ่ง

ส่วนในยุโรปกำลังจะมีแพลตฟอร์มใหม่เรียกว่า DBBI เป็นลักษณะไฮบริด มีทั้ง live ของช่อง (เฉพาะช่องที่เป็น public service เท่านั้น) และแบบ on demand ที่ผู้ชมเลือกได้ว่าจะดูอะไร รวมทั้งชม video sharing ได้ด้วย โดยออกแบบให้ใช้รีโมทคอนโทรลเดียวกัน ซึ่งเป็นไอเดียหนึ่งที่ กสทช.อยากส่งเสริมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คือรวมทุกรูปแบบอยู่ในหน้าจอเดียว

“เรากำลังหารือกันอยู่ ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งทางผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีอยากให้มี แต่ทำอย่างไรที่จะไม่ซ้ำกับ must carry มิฉะนั้นจะกลายเป็น must carry ออนไลน์เท่านั้นเอง ก็จำเป็นที่จะต้องมองให้ไกลออกไป”

ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต

เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา ดร.พิรงรองบอกว่า รู้สึกเหมือนว่า กสทช.เป็นจำเลยในเรื่องการออกแบบการเข้าสู่ทีวีดิจิทัลเพราะเป็นผู้กำหนดให้เอกชนเข้ามาประมูล เมื่อเอกชนเสียเงินเข้ามาดำเนินการ กสทช.ก็ต้องดูแลไปจนจบ

“ทั้งที่ กสทช.ชุดก่อนอาศัยมาตรา 44 คืนเงินให้ผู้ดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลไปรวมประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท จากยอดรวมตอนประมูล 4 หมื่นกว่าล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินเยอะมาก ซึ่งเราก็เข้าใจว่าการลงทุนทำธุรกิจทุกอย่างก็ต้องการคืนทุน แต่ว่าธุรกิจบรอดคาสต์ไม่เหมือนกับธุรกิจโทรคมนาคม จะคิดแค่เรื่องราคาและดูคุณภาพของการเข้าถึงเท่านั้นไม่พอ เพราะเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบต่อความรู้ ความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนด้วย”

หากในอนาคตผู้ประกอบการสื่อจะไม่ใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นของสาธารณะ สื่อนั้นก็จะไม่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารให้สังคมอีกต่อไป

”ถ้าเป็น free market จริง ๆ ก็จะไม่ใช่รูปแบบที่ กสทช.จะต้องมารองรับทั้งหมด อาจจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เห็นภาพอนาคตว่าจะเป็นแบบไหนได้บ้าง ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปซึ่งมีเรื่องของ public service ที่เข้มแข็งมานาน ภาครัฐไม่ต้องช่วยเหลือเอกชนเลย รัฐจะสนใจในเรื่อง public service เท่านั้น เพราะถือว่าการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง”

“เมื่ออุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์เปลี่ยนแปลงไปมาก สักวันหนึ่ง กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ถ้า community standard ของทุกคนพัฒนาจนดีพอแล้ว”

กรอบและแนวทางกำกับดูแล OTT ของกสทช.

  • การลงทะเบียนผู้ให้บริการ Video On-demand Services (VOD) และ Video Sharing Platform Services (VSP) ในประเทศไทย
  • การกำกับเนื้อหาและการคุ้มครองผู้ใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม
    • ผู้ใช้บริการ/ผู้บริโภคไม่ถูกหลอกลวง ได้รับบริการที่มีคุณถาพ ถูกต้อง และเป็นธรรม
    • ป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการโดยไม่เป็นธรรม
    • คุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
  • แนวทางการส่งเสริมการประกอบกิจการ/ให้บริการ
    • การสนับสนุนเงินทุนในการผลิตรายการที่มีคุณภาพ
    • การสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อผลักดันผู้ให้บริการ OTT ไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ
    • การใช้กลไก Social Credit ในการสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ

*อ้างอิงข้อมูลจากเอกสารการประชุมอนุกรรมการแพลตฟอร์ม/อยู่ระหว่างการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์กำกับ OTT

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘มงคล ตั้งศิริวิช’ นำชไนเดอร์สานต่อพันธกิจจัดการพลังงานบนความยั่งยืน

กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่น 3 “น่ำเอี๊ยง” ผู้นำพาโหราศาสตร์จีนโลดแล่นในโลกดิจิทัล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ