TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เปิดโครงการ “Bed Sharing” แบ่งปันเตียงผู้ป่วย 4 โรคสำคัญ

ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เปิดโครงการ “Bed Sharing” แบ่งปันเตียงผู้ป่วย 4 โรคสำคัญ

ไม่ใช่แค่วิกฤติโรคระบาดเท่านั้นที่มีการบริหารจัดการเตียงข้ามสถานพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีโรคอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตผู้คน และต้องการการรักษาหรือการรองรับผู้ป่วยที่ทันท่วงที

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่สถานพยาบาล “ย่านนวัตกรรมการแพทย์ หรือ YMID” ซึ่งนับเป็นต้นแบบย่านนวัตกรรมการแพทย์ของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยสถานพยาบาลในเครือข่ายหลายแห่งได้แก่ รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ราชวิถี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ฯลฯ เดินหน้าทำงานร่วมกัน ภายใต้โครงการ “Bed Sharing” แบ่งปันเตียงผู้ป่วยข้ามสถานพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยในกลุ่มโรคเปราะบาง ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน, โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน, โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น

มีแนวทางการปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานเครือข่ายอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่สถานพยาบาล บุคลากร ผู้ใช้บริการภายในย่าน โดยเฉพาะผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ปลอดภัย ลดความแออัดของเตียงในหลายสถานพยาบาล ยกระดับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูล และมีการแบ่งปันทรัพยากรด้านอื่น ๆ ภายในย่านอย่างสอดคล้องกัน ไม่ใช่แค่การแชร์เตียงเท่านั้น แต่คือการแชร์องค์ความรู้ ความชำนาญทางด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้ป่วยนั่นเอง

ซึ่งในระยะเริ่มต้น YMID ได้สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยผ่านตัวอย่างที่เคยดำเนินการภายใต้กรมการแพทย์ จนเป็นการจัดการเตียงใน 4 โรคสำคัญที่ร่วมกันรักษาดังนี้

  1. ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (Acute Appendicitis) เป็นอาการป่วยที่ถ้ารู้ก่อน รู้ทัน ก็จะช่วยรักษาและผ่าตัดได้อย่างปลอดภัยได้ แต่ถ้ารู้ช้า เข้ารับการผ่าตัดช้า ก็อันตรายถึงชีวิต เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ยากต่อการรักษา YMID จึงได้มีการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเพื่อร่วมกันรักษาใน  2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือโรงพยาบาลที่ผ่าตัด ซึ่งเน้นการตรวจวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบและผ่าตัดไส้ติ่ง ได้แก่ รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ราชวิถี และ รพ.รามาธิบดี จากนั้นก็ได้ส่งต่อไปในกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่รับดูแลหลังผ่าตัด ได้แก่ รพ.สงฆ์  และ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน
  2. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (Stroke Fast Track) เรียกได้ว่าเป็นโรคอันตรายที่พร้อมคร่าชีวิตคนได้ในทุกนาที เพราะอาการของโรคนี้นั้นเกิดมาจากการขาดเลือดมาเลี้ยงสมอง ทำให้สมองเสียหายจนเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาในทันที เราจึงมีการรองรับผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้ด้วย โดยแบ่งเป็นโรงพยาบาลหลักที่ให้การรักษา ก็คือสถาบันประสาทวิทยา รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า และรพ.ราชวิถี ในการบริการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดหรือรักษาด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง และมีโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยหลังให้การรักษา ซึ่งจะทำหน้าที่ในการช่วยรักษาด้วยการกายภาพบำบัดหรือดูแลผู้ป่วยหลังได้รับยาละลายลิ่มเลือด ได้แก่ รพ.สงฆ์ รพ.ราชวิถี รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน และสถาบันมะเร็ง
  3. โรคมะเร็ง (Cancer) โรคนี้ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากการรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ปี 2564 คนไทยเป็นผู้ป่วยมะเร็งใหม่สูงถึง 139,206 คนต่อปี และมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 84,073 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก YMID จึงมีการแบ่งรูปแบบการรักษาใน 2 กลุ่มโรงพยาบาลด้วยกัน กลุ่มแรกคือกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งได้แก่ รพ.รามาธิบดี และ รพ.พระมงกุฎเกล้า เมื่อได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วก็จะถูกส่งต่อมายัง กลุ่มโรงพยาบาลที่สองได้แก่ รพ.สงฆ์ และ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน ที่จะทำหน้าดูแลรักษาหลังผ่าตัดและได้รับเคมีบำบัดในลำดับถัดมา
  4. โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน (STEMI) เป็นโรคสุดท้ายที่ YMID ร่วมกันรักษา โรคนี้ถือเป็นโรคที่อันตรายไม่แพ้ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (Stroke Fast Track) ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บแน่นกลางอก หน้ามืดเป็นลม จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ในไม่กี่นาที การรักษาจึงต้องเร่งเปิดหลอดเลือดที่อุดตันให้เร็วที่สุด เพื่อให้เลือดกลับไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้เหมือนเดิม

    YMID จึงมีการจับคู่โรงพยาบาลเพื่อให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน (STEMI) ดังนี้
    • รพ.รามาธิบดี คู่กับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันประสาทวิทยา
    • รพ.พระมงกุฎเกล้า คู่กับ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน
    • รพ.ราชวิถี คู่กับ รพ.สงฆ์

แม้ทั้งหมดนี้จะเป็นโครงการนำร่องและเพิ่งดำเนินการในบางโรงพยาบาล แต่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า การเชื่อมโยงและแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เป็นอีกกุญแจหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างปัญหาระบบสาธารณสุขได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มีการจัดการที่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยต่อลมหายใจให้กับอีกหลายชีวิตด้วยเช่นกัน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘น้ำพริกจิ้งหรีดบ้านฉัน’ จากอดีตผู้ต้องขัง สู่ร้านน้ำพริกออนไลน์ และโรงเพาะจิ้งหรีดเตรียมส่งออก

รพ. พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร เปิดโมเดลโรงพยาบาลแห่งอนาคต ดึงฐานข้อมูลบิ๊กเดต้า ยกระดับ TELEMED

รำลึกถึง “โขนพระราชทาน” กว่าทศวรรษแห่งการฟื้นศาสตร์และศิลป์ของแผ่นดิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ