TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBangkok Storyรำลึกถึง “โขนพระราชทาน” กว่าทศวรรษแห่งการฟื้นศาสตร์และศิลป์ของแผ่นดิน

รำลึกถึง “โขนพระราชทาน” กว่าทศวรรษแห่งการฟื้นศาสตร์และศิลป์ของแผ่นดิน

12 สิงหาคม ปีนี้เป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดให้มีงานนิทรรศการ “โขน” ฟื้นศาสตร์ ฟื้นศิลป์ สืบสานไว้ในแผ่นดิน ด้วยพระบารมี ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม พ.ศ.2565 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสสำคัญนี้ โดยการแสดงสาธิตศาสตร์และศิลป์เกี่ยวกับโขนพระราชทานที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ส่งเสริม สืบสานและพัฒนาการแสดงจนได้รับความนิยมมานานกว่า 15 ปี 

โขนพระราชทานเริ่มขึ้นเมื่อครั้งเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 ด้วยการจัดแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพรหมาศ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ครั้งนั้นจัดแสดงรูปแบบการบรรเลงคอนเสิร์ตโดยวงโยธวาทิต กองดุริยางค์กองทัพบก เนื่องด้วยพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดดนตรีสากล โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม

หลังจากนั้นมูลนิธิศิลปาชีพฯ ในฐานะกองอำนวยการจัดแสดงโขนได้ปรับปรุงการแสดงโขนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงเครื่องแต่งกายโขนให้วิจิตรงดงามตามแบบโขนโบราณ จากความร่วมมือกับคณะกรรมการในการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนและละคร ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงแสดงความเป็นห่วงเรื่องชุดแต่งกายที่ต่างไปจากสมัยก่อน หลังจากได้ชมการแสดงโขนตอนนารายณ์ปราบนนทุก ที่กรมศิลปากรจัดแสดงถวาย ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2546 จึงพระราชทานทรัพย์จำนวน 3 แสนบาท ให้กรมศิลปากรนำไปศึกษาหาข้อมูลและจัดทำเครื่องแต่งกายโขนให้มีลวดลายประณีตตามแบบดั้งเดิม

ปี พ.ศ.2552 มูลนิธิศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ตอนพรหมาศขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้มีการแสดงสลับรอบระหว่างการบรรเลงวงปี่พาทย์กับวงโยธวาทิต ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมอย่างมากขนาดต้องเพิ่มรอบการแสดงอีก 1 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนขึ้นทุกปี เป็นที่มาให้คนทั่วไปเรียกชื่อการแสดงโขนนี้ว่า “โขนพระราชทาน” ในปีต่อๆ มา

โดยปี พ.ศ.2553 จัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ตอนนางลอย ปี พ.ศ.2554 ตอนศึกมัยราพณ์ ปี พ.ศ.2555 ตอนจองถนน ปี พ.ศ.2556 ตอนโมกขศักดิ์ ปี พ.ศ.2557 ตอนนาคบาศ ปี พ.ศ.2558 ตอนพรหมาศ ทุกครั้งมีผู้สนใจเข้าชมเนืองแน่น

ปี พ.ศ.2559 การแสดงตอนพิเภกสวามิภักดิ์ต้องยกเลิกเนื่องจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และปี พ.ศ.2560 มีการจัดแสดงโขนเพิเศษ 3 ตอน ได้แก่ ตอน รามาวตาร ตอนสีดาหายถวายพล และตอนพิเภกสวามิภักดิ์ เนื่องในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

ต่อมาปี พ.ศ.2561 มีการจัดแสดงเป็นวาระพิเศษฉลองครบรอบหนึ่งทศวรรษของโขนพระราชทาน ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ และปี พ.ศ.2562 จัดแสดงชุดสืบมรรคา ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องตอนต้นของรามเกียรติ์ และเป็นการจัดแสดงครั้งสุดท้ายของโขนพระราชทานก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรควิด-19 ในปี พ.ศ.2563 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ความโดดเด่นของโขนพระราชทานไม่เพียงเรื่องเครื่องแต่งกายที่วิจิตรงดงาม หากในการแสดงยังมีการพัฒนาผสมผสานเทคนิคสมัยใหม่ที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจ เช่น ตัวละครเหาะเหินด้วยการขึ้นรอกล่องลอยในอากาศไปมา การลงทุนสร้างฉากตระการตาและมีเทคนิคเคลื่อนไหวได้ การจัดแสงสีเสียงที่ช่วยให้มีมิติสมจริง ทำให้โขนพระราชทานดูยิ่งใหญ่ทันสมัย แต่ยังคงรักษาท่วงท่าลีลาการแสดงของตัวละครสำคัญตามแบบแผนประเพณีไว้อย่างดี สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง

ในฐานะที่ผู้เขียนมีประสบการณ์เคยชมทั้งโขนกรมศิลปากรที่จัดแสดง ณ โรงละครแห่งชาติ และโขนพระราชทาน รู้สึกได้ว่าโขนพระราชทานยิ่งใหญ่และสมบูรณ์แบบไม่แพ้โชว์ดี ๆ จากต่างประเทศเลยทีเดียว 

ภาพความประทับใจไม่รู้ลืมเกิดขึ้นครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนชวนเพื่อนชาวฝรั่งเศสไปชมโขนตอนศึกมัยราพณ์ ปีนั้นมีการสร้างฉากหนุมานเนรมิตกายขนาดใหญ่เต็มเวทีของหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อีกทั้งเคลื่อนไหวอ้าปากที่อมพลับพลาที่ประทับของพระรามได้ด้วย สร้างความตื่นตาตื่นใจจนเพื่อนชาวฝรั่งเศสยกกล้องดิจิทัลขึ้นจะบันทึกวิดีโอ แต่ผู้เขียนห้ามไว้เพราะเป็นข้อกำหนดของผู้จัดห้ามบันทึกภาพและวิดีโอ สุดท้ายด้วยความประทับใจอย่างที่สุด เขากล่าวคำขอโทษและบันทึกฉากการเผชิญหน้ากันระหว่างกองทัพยักษ์กับกองทัพลิงจนสำเร็จ หลังจบการแสดงเขาบอกว่านี่เป็นการแสดงที่หรูหราอลังการมาก

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือผู้ชมในวันนั้นนั่งเต็มความจุของหอประชุม มีทั้งผู้สูงอายุ วัยกลางคน วัยรุ่น จนถึงเด็กน้อย ผู้เขียนรู้สึกสัมผัสได้ถึงความตื่นเต้นดีใจของผู้คนที่มาชมการแสดงโขนที่ได้รับการกล่าวขานมากในเวลานั้น ปรากฏว่าการจัดแสดงโขนปีนั้นมีจำนวนรอบการแสดงมากถึง 32 รอบ จากเดิมที่ผ่านมามีไม่กี่รอบการแสดง

ความสำเร็จของโขนพระราชทานเกิดขึ้นจากการทุ่มเทพลังของคนหลายฝ่าย ในช่วงปีแรก ๆ นักแสดงเป็นศิลปินชั้นนำจากกองการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพมหานคร และเหล่านักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์จากทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ในการแสดงชุดนางลอย ตัวละครสำคัญจะต้องผ่านการ audition เพื่อคัดเลือกอย่างจริงจังจากครูโขน ซึ่งเป็นผลมาจากทรงมีพระราชดำริให้เปิดโอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบทอดการแสดงโขน

ถือเป็นครั้งแรกของการแสดงโขนพระราชทานที่เยาวชนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมแสดงในบทบาทตัวละครสำคัญ คือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง เริ่มจากจำนวนผู้สมัครเข้าคัดเลือกเพียงหลักสิบในปีแรก ๆ เพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยคน จนปี พ.ศ.2558 การแสดงโขนชุดศึกอินทรชิต ตอนพรหมาศ มีผู้สมัครเข้าคัดเลือกมากที่สุดถึง 845 คน

ในการจัดแสดงแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเตรียมการนานนับปี และมีการฝึกฝนอย่างหนัก ทีมนักดนตรีล้วนเป็นผู้ชำนาญดนตรีไทยทั้งระดับครูบาอาจารย์และลูกศิษย์ที่ผ่านการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญเพราะเป็นการบรรเลงสดประกอบการแสดง จึงพลาดไม่ได้ ส่วนพัสตราภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ มีการจัดซ่อมและสร้างใหม่ให้คงความสมบูรณ์อยู่เสมอทั้งเสื้อผ้าและหัวโขน แม้แต่ด้านเนื้อหาก็ยังปรับปรุงให้กระชับขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยศาสตร์และศิลป์ในแขนงต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายทำให้โขนกลับมาได้รับความนิยมจากประชาชน

ข้อสำคัญคือการแสดงโขนพระราชทานไม่ใช่เพียงแค่การฟื้นฟูนาฏศิลป์เก่าแก่ให้คงอยู่สืบไปเท่านั้น แต่ได้พลิกฟื้นงานฝีมือช่างหัตถศิลป์หลายสาขา อาทิ การทอผ้ายก การปักลายทองบนผ้า การทำหัวโขน การทำฉาก การแกะสลักและเขียนภาพ กระทั่งการแต่งหน้าตัวโขนให้เหมาะกับการแสดงบนเวทีแบบสมัยใหม่ ผลได้ที่ตามมาก่อให้เกิดช่างฝีมือรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจศิลปะแบบจารีตจำนวนมาก

กล่าวเฉพาะผ้ายกที่ใช้นุ่งแสดงในบทบาทต่างๆ นั้น แท้จริงเป็นผ้าทอแบบโบราณของนครศรีธรรมราชที่สูญหายไปกว่า 100 ปีแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ฟื้นฟูขึ้นมาจากต้นแบบผ้าในพิพิธภัณฑ์และในพระบรมมหาราชวัง โดยนำเทคนิคการทอผ้ายกแบบโบราณจากจังหวัดสุรินทร์มาเป็นพื้นฐานในการทอและพัฒนาฝีมือแก่สมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อ.เชียรใหญ่ และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ให้สามารถทอผ้ายกแบบโบราณได้ แล้วถ่ายทอดสู่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง จนสามารถดำเนินการผลิตเพื่อใช้ในการแสดงโขนพระราชทานทดแทนผ้าที่เคยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นผลสำเร็จ

ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้คุยกับ ดร.สุรัตน์ จงดา หรือครูไก่แห่งวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องผ้ายกเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และมีส่วนร่วมสร้างสรรค์โขนพระราชทานให้เป็นโชว์ที่มีมาตรฐานไม่แพ้การแสดงระดับโลก จึงได้รู้ว่าผ้ายกเมืองนครเป็นผ้าราชสำนักสำหรับเจ้านายชั้นสูงใช้เป็นผ้านุ่งสมัยกรุงศรีอยุธยา มีความวิจิตรงดงามเพราะทอด้วยเส้นไหมเนื้อละเอียด แทรกลวดลายไหมเงินไหมทองอย่างประณีตด้วยเทคนิคการยกลวดลายให้ปรากฏเด่นชัด 

หลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่าในการอนุรักษ์โขนซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีแบบแผนจารีตค่อนข้างชัดเจนเพราะเดิมเป็นมหรสพหลวงใช้แสดงเฉพาะในงานพระราชพิธีสำคัญ เราจะสามารถปรับเปลี่ยนได้มากน้อยเพียงใด

หากย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของการแสดงโขนช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาจะพบว่า รูปแบบของการแสดงชนิดนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเริ่มแรกมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์เรื่องกวนน้ำอมฤตในพิธีอินทราภิเษก โดยการจัดกระบวนทัพและการเต้นประกอบหน้าพาทย์ ภายหลังเปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์ มีการเต้นประกอบหน้าพาทย์ มีบทพากย์และเจรจาบ้าง แต่ไม่มีบทร้อง 

จากบันทึกจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงการแสดงโขนว่าเป็นการเต้นออกท่าทางประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ นานทีจะมีการเจรจาออกมา

เมื่อเข้าสู่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เกิดการวิวัฒน์ไปหลายอย่าง ในอดีตเป็นการเล่นกลางแจ้ง ใช้ภูมิประเทศและธรรมชาติเป็นฉากในการแสดง ไม่มีการสร้างโรงแสดง ผู้แสดงทั้งหมดรวมทั้งตัวพระต้องสวมหัวโขน เรียกว่าโขนกลางแปลง  เกิดการผสมผสานการแสดงโขนกับละครในขึ้น ตัวพระตัวนางไม่สวมหัวโขนปิดหน้าเหมือนเดิม ต่อมามีการแสดงบนเวที ไม่มีการสร้างฉากประกอบการแสดงตามท้องเรื่อง เรียกว่าโขนโรงใน จนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการจัดฉากเกิดขึ้นครั้งแรกตามแบบละครดึกดำบรรพ์ และมีการแบ่งเป็นฉากเป็นองก์เข้ากับเหตุการณ์และสถานที่ เรียกว่าโขนฉาก กลายเป็นต้นแบบของโขนมาจนทุกวันนี้

ไม่ว่ารูปแบบการแสดงของโขนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่เนื้อเรื่องยังคงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เรื่องรามเกียรติ์ที่นำมาแสดงโขนก็มีการประพันธ์ขึ้นหลายยุคสมัย ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ที่แพร่หลายมากคือฉบับพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งโขนของกรมศิลปากรปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอนสำหรับแสดงเป็นโขนฉากในปัจจุบันเป็นตามสำนวนของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

แม้โขนจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาติ แต่การแสดงชนิดนี้ประกอบด้วยศิลปะหลายแขนงที่ต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก และใช้ความชำนาญขั้นสูงทั้งตัวผู้แสดง นักดนตรี ผู้พากย์และเจรจา ตลอดจนองค์ประกอบอื่น ๆ ทั้งเครื่องแต่งกายและฉากแสดง จึงไม่ใช่เรื่อง่ายนักสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะสืบทอดโดยคงแบบแผนดั้งเดิมไว้ได้อย่างครบถ้วน การสืบสานและพัฒนาต่อยอดเพื่อการอนุรักษ์ในแบบที่เรียกว่าการ “สร้างสิ่งใหม่บนสิ่งเก่า” อาจจะทำได้ง่ายกว่า

การที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปะเก่าแก่แขนงนี้ และทรงมีพระราชดำริให้เกิด “โขนพระราชทาน” ช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง

หมายเหตุงานนิทรรศการมีความรู้เกี่ยวกับการแสดงโขนและองค์ประกอบต่างๆ  เช่นการสาธิตการปักผ้าการทำหัวโขนตลอดจนบันทึกการแสดงสดตอนจองถนนศึกมัยราพณ์พรหมาศพิเภกสวามิภักดิ์และสืบมรรคาซึ่งเคยจัดแสดงให้ได้ชมกันในช่วง 15 ที่ผ่านมารวมทั้งมีการจัดแสดงโขนให้ได้รับชมกันในวันเสาร์และวันอาทิตย์ณหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่วันที่ 1-15 สิงหาคม 2565

เครดิตข้อมูลและภาพ : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

คอลัมน์ “ที่มา ที่ไป” โดย สมชัย อักษรารักษ์

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

รถไฟสายล้านนาตะวันออก ฝันเป็นจริง หลังรอคอยนาน 60 ปี

รถไฟฟ้ารางเบา LRT เมืองขอนแก่น ต้นแบบขนส่งสาธารณะฝีมือคนไทย

จาก “บางกอก” กลายเป็น “Bangkok” ก่อนเป็น Krung Thep Maha Nakhon

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ