TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistรถไฟสายล้านนาตะวันออก ฝันเป็นจริง หลังรอคอยนาน 60 ปี

รถไฟสายล้านนาตะวันออก ฝันเป็นจริง หลังรอคอยนาน 60 ปี

เดือนเมษายน 2565 นี้โครงการรถไฟทางคู่สายชุมทางเด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ จะเริ่มการเวนคืนที่ดินเพื่อรองรับการสร้างทางซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางรถไฟสายเหนือที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าภาคเหนือ ที่จะเชื่อมการค้าระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ–ใต้จากไทยไปลาว จีน และเวียดนาม นี่คือ เส้นทางคมนาคมระบบรางสู่ดินแดนล้านนาตะวันออกเป็นครั้งแรกในรอบกว่าร้อยปี

รัฐบาลเริ่มศึกษาเส้นทางก่อสร้างรถไฟสายนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 และสำรวจพื้นที่ปี พ.ศ.2512 โดยกำหนดใช้เส้นทางเด่นชัย – แพร่ – สอง – เชียงม่วน – ดอกคำใต้ – พะเยา – ป่าแดด – เชียงราย ระยะทาง 273 กิโลเมตร ล่วงเลยจนปี พ.ศ.2537-2538 มีการทบทวนเปลี่ยนเส้นทางเป็นเด่นชัย – แพร่ – สอง – งาว (ลำปาง) – พะเยา – เชียงราย ระยะทางลดลงเหลือ 246 กิโลเมตร

ในปี พ.ศ.2539–2541 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างเอกชนให้สำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบของการก่อสร้าง จนมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ.2544 แต่ในปี พ.ศ.2547 รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขแนวเส้นทางใหม่ให้รองรับการเชื่อมกับจีนตอนใต้ จนกระทั่งปี พ.ศ.2551 มีการศึกษาเพื่อสร้างเส้นทางให้เชื่อมชายแดน จ.เชียงราย กับระบบรางของจีนได้

ต่อมาในปี พ.ศ.2553–2554 เริ่มมีการศึกษาสร้างรถไฟแบบทางคู่ โดยมีแนวคิดจะสร้างเป็นทางแบบมาตรฐานยุโรป (standard gauge) ขนาด 1.453 เมตร ซึ่งเส้นทางในจังหวัดเชียงราย จะแยกเป็น 2 สาย ปลายทางสายหนึ่งไปสิ้นสุดที่ท่าเรือแม่น้ำโขงอำเภอเชียงแสน อีกสายไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-ลาวที่อำเภอเชียงของ

การเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางรถไฟหลายครั้งหลายหนตามนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนไปทำให้โครงการรถไฟสายเหนือสายที่ 2 สู่ดินแดนล้านนาตะวันออกใช้เวลาเฉพาะการศึกษาเส้นทางยาวนานกว่า 50 ปี กว่าจะได้ข้อสรุป โดยมีกำหนดการสร้างในปี พ.ศ.2560 

แต่ในที่สุดความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เดือนกรกฎาคมปี พ.ศ.2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เริ่มจากชุมทางเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 323.1 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 72 เดือน 

ปรากฏว่าการดำเนินการล่าช้าออกไป กว่าจะเปิดประมูลก็ล่วงเข้าปี พ.ศ. 2564 จนวันที่ 29 ธันวาคม 2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างกับผู้รับจ้างจำนวน 3 สัญญา วงเงินรวม 72,920 ล้านบาท และจะเริ่มเวนคืนที่ดินในเดือนเมษายน 2565 และส่งมอบที่ดินแปลงแรกเพื่อการก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2565 นี้ โดยมีกำหนดก่อสร้างเสร็จและเปิดบริการในปี พ.ศ.2571

หากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนการดังกล่าว ก็ถือเป็นเส้นทางรถไฟที่ใช้เวลารอคอยยาวนานถึง 68 ปี กว่าที่ความฝันจะปรากฏเป็นจริง 

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2430 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริจะสร้างทางรถไฟขึ้นในสยามเพื่อความมั่นคงและการบำรุงรักษาพระราชอาณาเขต สืบเนื่องจากการแผ่ขยายอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสครอบคลุมบริเวณแหลมอินโดจีน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัท ปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ทำการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และมีทางแยกตั้งแต่เมืองสระบุรี – เมืองนครราชสีมาสายหนึ่ง จากเมืองอุตรดิตถ์ – ตำบลท่าเดื่อริมฝั่งแม่น้ำโขงสายหนึ่ง และจากเมืองเชียงใหม่ไปยังเชียงราย เชียงแสนอีกสายหนึ่ง แต่การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่เชียงใหม่เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น 

หากนับว่านี่เป็นความฝันแรกของรถไฟไปเชียงราย ก็กินเวลายาวนานถึง 140 ปีเลยทีเดียว

พื้นที่ภาคเหนือของไทยที่เรียกกันว่า “ล้านนา” นั้นประกอบด้วย 8 จังหวัด แบ่งเป็นภาคตะวันตก 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออก 4 จังหวัด คือ แพร่ น่าน พะเยา และเชียงราย ความที่ล้านนาภาคตะวันออกไม่มีเส้นทางรถไฟไปถึงทำให้ในอดีตการพัฒนาสู่ความเจริญล่าช้ากว่าพื้นที่ล้านนาฝั่งตะวันตกจนมีเรื่องเล่าขานกันสนุกในหมู่ชนชาวเหนือว่า คนเชียงรายเมื่อแรกเห็นรถไฟกำลังวิ่งก็ตกใจร้องทักว่า “ห้องแถวไหล” เนื่องจากโบกี้รถไฟมีลักษณะเป็นห้องเรียงเป็นแถว กลายเป็นคำล้อเลียนเชิงขบขัน ส่วนคนน่านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อเห็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ส่องสว่างก็ร้องทักว่า “ข้าวหลามแจ้ง” เป็นที่ขบขันเช่นเดียวกัน

แต่ล้านนาตะวันออกนั้นเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจากป่าไม้ มีภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง และเขตอุทยานหลายแห่ง อีกทั้งรุ่มรวยด้วยศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามมากมาย และมีสินค้าหัตถกรรมหลากหลาย โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ที่จะผ่านพื้นที่ 17 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย ประกอบด้วย 26 สถานี เป็นสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี ขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง จึงเป็นการเปิดพื้นที่ภาคเหนือด้านตะวันออกที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก

เส้นทางนี้มีความน่าสนใจตรงที่มีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่ง อุโมงค์ที่ 1 และ 2 อยู่ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีความยาว 1.175 กิโลเมตร และ 6.240 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 3 อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ที่อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร ระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้นและขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร จึงเป็นเส้นทางที่มีอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ตลอดเส้นทางจะผ่านภูมิประเทศที่สวยงามเต็มไปด้วยภูเขาและป่าไม้ที่ยังคงธรรมชาติที่สมบูรณ์ 

ส่วนจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน การกำหนดแนวเส้นทางรถไฟไปสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ โดยจะมีลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง และลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง บนพื้นที่ 150 ไร่ เพื่อรองรับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของที่จะเชื่อมการค้าระหว่างไทยกับสปป.ลาว ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และเชื่อมโยงต่อไปยังเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ตอนใต้ของประเทศจีน หรือเชื่อมโยงไปภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ซึ่งจะทำให้อำเภอเชียงของกลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภาคเหนือในอนาคดด้วย

จะเห็นได้ว่าโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นเส้นทางรถไฟที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า เป็นโครงการเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่สำคัญ จึงนับว่าเป็นการลงทุนที่มีความหมายต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกโครงการหนึ่ง

แม้ต้องใช้เวลาดำเนินการที่ยาวนานมาก แต่ก็น่าจะเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า

ผู้เขียน สมชัย อักษรารักษ์

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

รำลึกตำนาน Root Beer วันที่ A&W ปิดกิจการในไทย

รถไฟฟ้ารางเบา LRT เมืองขอนแก่น ต้นแบบขนส่งสาธารณะฝีมือคนไทย

ภารกิจนำ “พญาแร้ง” คืนถิ่น ความหวังของการฟื้นฟูแร้งในธรรมชาติ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ