TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 "Mission to Transform"

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 “Mission to Transform”

กว่า 60 ปีที่ประเทศไทยมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบกำหนดทิศทางและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ นับรวม ๆ แล้วประมาณ 12 ฉบับ โดยแผนฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2565) ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันและจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2565 ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 1  อายุ 5 ปี สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศหรือแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในระยะ 20 ปี 

ดังนั้น ในเดือนตุลาคม 2565 จะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ( พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ในระยะที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มีความมุ่งหวัง เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่โฉมหน้าใหม่ของประเทศไทย ที่ก้าวทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีเป้าหมายที่สำคัญทั้งหมด 5 ประการ

เป้าหมายข้อที่ 1 คือ การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม โดยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต บริการให้สูงขึ้น เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น ผู้ประกอบรายย่อยกับห่วงโซ่มูลค่าของการผลิตและบริการเป้าหมาย

โดยใช้ตัวชี้วัดจากรายได้ประชาชาติ (national income) ต่อหัว เพิ่มขึ้นเป็นไม่ตํ่ากว่า 8,800 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ.2570 โดยปี พ.ศ.2562 รายได้ประชาชาติของประเทศไทย อยู่ที่ 7,050 ดอลลาร์สหรัฐ

เป้าหมายข้อที่ 2 คือ การพัฒนาคนให้มีความสามารถและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21

โดยใช้ตัวชี้วัดจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) มีค่าไม่ต่ำกว่า 0.82 ซึ่งเป็นระดับสูงมาก (ค่า HDI มี4 ระดับคือ 1.ระดับต่ำ 0.350–0.549 2.ระดับกลาง 0.550–0.699 3.ระดับสูง 0.700–0.799 และ4.ระดับสูงมาก 0.800–1.000) สำหรับปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 79 ของโลก (ลำดับเดียวกับประเทศเปรู) มีค่า HDI 0.777

เป้าหมายที่ 3 คือ การสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงรายได้ ความมั่งคั่ง และโอกาสในการแข่งขันของภาคธุรกิจ สนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสให้มีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงจัดให้มีบริการสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

โดยใช้ตัวชี้วัดจากความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% และตํ่าสุด 40% ตั้งเป้าภายในปี พ.ศ. 2570 ต่ำกว่า 5 เท่า ในปี พ.ศ.2562 มีความแตกต่าง 5.66 เท่า

เป้าหมายที่ 4 คือ การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ โดยปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภค ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ แก้ปัญหามลพิษสำคัญ ด้วยวิธีการที่ยั่งยืน แผนที่การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงการพัฒนา อุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจ สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy เป็นต้น

โดยตั้งดัชนีภายในปี พ.ศ.2570 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม (สาขาพลังงานและ ขนส่ง/อุตสาหกรรม/การจัดการของเสีย) ลดลงไม่น้อยกว่า 15% จากการปล่อยในกรณีปกติ ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ในปี พ.ศ.2563 ลดลง 16% จากการปล่อยในกรณีปกติ

เป้าหมายที่ 5 คือ การเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในกำรรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ โดยการสร้างความพร้อมในการรับมือและแสวงหาโอกาสจากการเป็นสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยโรคระบาด และภัยคุกคามทางไซเบอร์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและ กลไกทางสถาบันที่เอื้อ ต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล และปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของภาครัฐ

โดยใช้ดัชนีรวมสะท้อนความสามารถ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง มีค่าไม่ตํ่ากว่า 100 แบ่งเป็นดัชนีย่อย 4 กลุ่ม ได้แก่

1. ขีดความสามารถของการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศและการเตรียมความพร้อมฉุกเฉินด้านสุขภาพ จากปี พ.ศ.2563 จำนวน 80% ภายในปี พ.ศ.2570 ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 90% โดยสมรรถนะหลักแต่ละด้านต้องไม่ต่ำกว่า 80%

2. อันดับความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ อัตราเฉลี่ย 5 ปี ( พ.ศ.2558-2562) เท่ากับ 36.8 ค่าเป้าหมายใหม่ อัตราเฉลี่ย 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ไม่ต่ำกว่า 40

3. อันดับความสามารถในการ แข่งขันด้านดิจิทัล ในปี พ.ศ. 2563 อันดับที่ 39   ภายในปี พ.ศ. 2570 อันดับที่ 33 

4. อันดับประสิทธิภาพของรัฐบาล ในปี พ.ศ. 2564  อันดับที่ 20  ภายในปี พ.ศ. 2570 อันดับที่ 15 

นอกจากนี้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จึงได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนา จำนวน 13 ประการ โดยแบ่งเป็น 4 มิติ

มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย 6 หมุดหมาย

  • หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนํา ด้านสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
  • หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของ การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน
  • หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้าที่สําคัญของโลก
  • หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลาง ทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
  • หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้า การลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ ที่สําคัญของภูมิภาค
  • หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม 3 หมุดหมาย

  • หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้
  • หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ ที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน
  • หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่น ลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครอง ทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 หมุดหมาย

  • หมุดหมายที่10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียน และสังคมคาร์บอนตํ่า
  • หมุดหมายที่11 ไทยสามารถลดความเสี่ยง และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศหมุดหมาย

  • หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกําลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนา แห่งอนาคต
  • หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

ทั้งหมดนี้ คือ ความสำคัญสูงต่อการพลิกโฉมประเทศไทย (Mission to Transform) สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายระยะเวลา 5 ปี ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งแม้ขณะนี้จะเป็นเพียงร่างแรก แต่พอเห็นทิศทางว่าในแผนพัฒนาฯดังกล่าวประเทศจะเดินไปในทิศทางใด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ