TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistถึงเวลาประเทศไทย ต้องมองตลาดใหม่ ที่ไม่ใช่จีนหรือยัง

ถึงเวลาประเทศไทย ต้องมองตลาดใหม่ ที่ไม่ใช่จีนหรือยัง

สินค้าภาคเกษตรของไทยได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะผลไม้ไทยที่มีคุณภาพและรสชาติดี ซึ่งตลาดใหญ่สุดที่ส่งออก ก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน คิดเป็น 37.02% ของมูลค่าการส่งออกของผลไม้ทั้งหมด

ช่วงปี พ.ศ. 2561 มูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปทั่วโลก 2,656 ล้านดอลล่าร์ เช่นช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม พ.ศ. 2562 จีนนำเข้าทุเรียนจากไทย ถึง 817 ล้านดอลล่าร์ นอกจากนี้ยังมีมังคุด เงาะ ลองกอง กล้วย และอื่น ๆ

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโดวิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ผลไม้ไทยเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 จากการปิดประเทศ ทั้งปิดน่านฟ้า การเดินทางทางบก และปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 เป็นช่วงเวลาที่ผลไม้ไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งปัญหา ผู้ประกอบการส่งออก (ล้ง) หยุดรับสินค้า เพราะการขนส่งที่ไม่สะดวก การที่ผลไม้ไทยถูกกล่าวหาว่ามีเชื้อไวรัสโควิดติดมาด้วย ทำให้จีนไม่รับสินค้า และปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ

ตัวอย่าง มังคุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนเกษตรกรที่ปลูกมังคุดทั้งสิ้น 30,199 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 96,000 ไร่ มีผลผลิตในฤดู นอกฤดู มีเกรดส่งออก มังคุดตกเกรด รวมแล้วประมาณ 200,000 ตัน ผลผลิตดังกล่าวบริโภคภายใน 20% ที่เหลือส่งออก

แต่ปี 2564 นี้ การส่งออกน้อยมาก เนื่องจากปกติแม้จะเป็นมังคุดภาคใต้ เมื่อมีการเก็บแล้วขนส่งต่อไปยังจังหวัดจันทบุรี เพื่อคัดและบรรจุ จากนั้นส่งต่อไปยังจังหวัดนครพนม แล้วส่งไปยังประเทศจีน แต่ปีนี้จีนซื้อผลผลิตน้อย ทำให้ปริมาณผลผลิตเหลือเยอะมาก และเมื่อเวลาผ่านไปมังคุดก็จะเน่า เสีย แม้จะมีการรณรงค์ให้กินมังคุด และมีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่หลายรายช่วยซื้อผลไม้ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและพยุงราคา คงไม่ใช่วิธีการแก้ไขในระยะยาว 

การชะลอการขนส่งด้วยการเก็บไว้ในห้องเย็น จังหวัดนครศรีธรรมราชก็มีจำนวนห้องเย็นน้อย ส่วนที่จะนำผลิตภัณฑ์มาแปรรูปนั้น เช่น การทำมังคุดกวน มังคุดหยี แยมมังคุด มังคุดลอยแก้ว น้ำมังคุด ไวน์มังคุด รวมไปถึงการทำโลชั่นมังคุด สบู่สมุนไพรเปลือกมังคุด สามารถทำได้จำนวนน้อยมาก ไม่คุ้มกับการตั้งโรงงานแปรรูป เพราะผลผลิตออกเพียงปีละ 1 ครั้ง

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างของผลไม้เพียงชนิดเดียว แต่ประเทศไทยมีผลไม้ส่งออกหลากหลายชนิด รวมทั้งยังมี สินค้าอื่น ๆ ที่สามารถส่งออกได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาระยะยาว อย่างยั่งยืนที่ทำได้ คือ การหาตลาดอื่น ที่ไม่ใช่ตลาดจีน โดยตลาดที่น่าสนใจอีกแห่ง คือ ตลาดกลุ่ม บิมสเทค หรือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ในสมาชิก ของกลุ่มนี้เช่นกัน และมีสมาชิกอีก 6 ประเทศได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย เมียนมา เนปาล และภูฏาน 

บิมสเทค เป็นตลาดเอเชียใต้ขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,700 ล้านคน ประมาณ 23% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลก มูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Combined GDP) ประมาณ 3.96 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.58% ของ GDP โลก

มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง (Emerging Economies) มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Real GDP Growth) เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่อัตราสูง ปี พ.ศ. 2563 อัตราการเติบโต 6.8% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลก (ประมาณ 3.4%) ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

ปัจจุบันความสนใจและความเข้าใจระหว่างคนไทยและคนในประเทศสมาชิกบิมเทคนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งที่ประเทศไทยและกลุ่มประเทศบิมสเทค สามารถเดินทางด้วยระยะเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมงก็สามารถเดินทางถึงสนามบินหลักที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค มีความเชื่อมโยงกันทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมหลากหลายที่ใกล้เคียงคนไทยมาก แต่ไทยยังมองโอกาสด้านการค้า การลงทุนของกลุ่มบิมสเทคน้อยมาก

ในปี พ.ศ. 2565  ประเทศไทยจะได้รับเกียรติอีกครั้งในการเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ต่อจากศรีลังกา ซึ่งมีการสรุปตกลงสาขาความร่วมมือ 7 เสา โดยให้ประเทศสมาชิกเป็นผู้นำในแต่ละเสา 1. เสาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (เมียนมา) 2. เสาความเชื่อมโยง (ไทย) 3. เสาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (ภูฏาน) 4. เสาการค้า การลงทุน และการพัฒนา (บังกลาเทศ) 5. เสาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ศรีลังกา) 6. เสาความมั่นคง (อินเดีย) และ 7. เสาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน (เนปาล)

การที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจะช่วยให้เกิดความเข้าใจสมาชิกในกลุ่มบิมสเทคมากขึ้นรู้ว่าแต่ละประเทศมีรายละเอียดอย่างไร ต้องการอะไร ผู้ประกอบการไทยจะได้รู้ว่าควรเอาอะไรไปขายเพื่อนสมาชิก นอกจากนี้ จะได้ผลักดันร่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม ที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในภูมิภาคด้วย โดยไม่ต้องเอาประเทศไทยไปผูกติดกับตลาดประเทศใด ประเทศหนึ่ง เท่านั้น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ