TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityBEV ทางเลือกใหม่ตลาดรถยนต์ไทย

BEV ทางเลือกใหม่ตลาดรถยนต์ไทย

Krungthai COMPASS เผย กระแสรถยนต์เครื่องยนต์ไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle: BEV) เป็นที่จับตามองอีกครั้ง หลังปรากฏข่าวการจองรถยนต์ BEV ยี่ห้อหนึ่งที่คนเข้าคิวจองรถยาวข้ามคืน ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความคึกคักในตลาดรถยนต์เป็นอย่างมาก

เมื่อมองไประยะข้างหน้า ยังมีหลายปัจจัยแวดล้อมที่ล้วนสนับสนุนการเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งของตลาดรถยนต์ BEV จากรถยนต์สันดาปภายใน ทำให้ Krungthai COMPASS คาดว่ารถยนต์ BEV ในปี 2565 จะมียอดขายที่ 12,500 คัน ขยายตัวจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ในปี 2564 ถึง 212.5% และยอดขายในปี 2566 จะขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ BEV จะอยู่ที่ 24,000 คัน หรือขยายตัว 92.0 %

3 ปัจจัยหลักที่สนับสนุนรถยนต์ BEV ได้แก่ 1.การสนับสนุนจากภาครัฐที่ทำให้ราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น รวมทั้ง จูงใจผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนทำให้ทางเลือกในตลาดเพิ่มขึ้น 2.การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี ทำให้รถยนต์ BEV มันใช้งานได้จริง และ 3.ต้นทุนการใช้งานที่มีความคุ้มค่ากว่ารถยนต์สันดาปภายในถึงเกือบ 20%

อย่างไรก็ดี ยังมีหลายคำถามที่ยังเป็นข้อสงสัย และอาจกดดันการเติบโตของรถยนต์ BEV ทั้งราคาขายต่อที่มีความไม่แน่นอนสูง และราคาแบตเตอรี่ที่ยังมีราคาแพง เป็นต้น

1. ตลาดรถยนต์ BEV คึกคักจากมาตรการภาครัฐ

นโยบายภาครัฐตัวกระตุ้นสำคัญของตลาดรถยนต์ BEV ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีที่นำเข้าจากต่างประเทศมาขายระหว่างปี 2565-2566 โดยค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนรถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้ามาทั้งคัน (CBU) ในปี 2565-2568 เป็นตัวกระตุ้นให้ค่ายรถโดยเฉพาะจากประเทศจีน ได้เข้ามาร่วมโครงการและลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคึกคักขึ้นเป็นอย่างมาก ข้อมูลจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติให้การส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 26 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวม 80,208 ล้านบาท (เฉพาะรถยนต์ BEV 27,745 ล้านบาท) จำนวนกำลังการผลิตยานยนต์ที่ได้รับอนุมัติเป็นจำนวน 838,775 คัน (เฉพาะรถยนต์ BEV 256,220 คัน)

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิต ได้ลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า แล้วรวม 10 ราย และล่าสุด ครม. ยังได้อนุมัติลดค่าภาษีรถยนต์ BEV ลง 80% สำหรับรถที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 9 พ.ย.2565 – 8 พ.ย.2568 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้รถยนต์ BEV ลงไปได้อีก

หลายค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากประเทศจีนได้แก่ GWM MG และ BYD โดย ค่ายรถยนต์ Great Wal Motor (GWM) ที่ได้เดินสายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 1 หมื่นคัน และยังมีแผนลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่ค่าย MG ที่ได้ประกาศแผนเปิดสายประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่โรงงาน เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จ.ชลบุรี ที่คาดว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2566 เช่นเดียวกันกับ โรงงานผลิตรถยนต์ BEV และ Plug-in Hybrid ของ BYD ที่คาดว่าจะเริ่มผลิตในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี เพื่อขายในประเทศ และ ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน และ ยุโรป โดยลงทุน 17,891 ล้านบาท (รูปที่ 2) ส่วนรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่นอย่าง   โตโยต้าที่ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ โดยนำรถยนต์ BEV มาขอรับสิทธิตามมาตรการ จำนวน 1 รุ่น คือ Toyota bZ4X ยังไม่มีการประกาศ แผนการลงทุนเพิ่มเติมที่ชัดเจน

รถยนต์ BEV หลากหลายรุ่นจะเข้ามาสู่ตลาดในปี 2565-2566 เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ค่ายรถยนต์จากหลายประเทศที่เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ และได้มีแผนการลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์เพื่อทดแทนการนำเข้ารถยนต์ตามข้อตกลง ทำให้หลายค่ายได้มีแผนที่จะนำรถรุ่นใหม่เข้ามาจำหน่ายมากขึ้น เช่น ค่ายรถ BYD มีแผนที่จะนำเข้ารุ่น Dolphin และ Seal ส่วนค่ายรถ MG มีแผนที่จะนำเข้ารถยนต์รุ่น MG 4 รวมถึงเจ้าตลาดอย่าง โตโยต้าที่พึ่งเปิดตัวรถยนต์รุ่น bZ4X นอกจากนั้น ค่ายรถยนต์ที่แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการ หรือเข้าร่วมโครงการแต่ได้รับเงินอุดหนุนไม่สูงนักจากราคาขายปลีกที่สูงของรถก็เกาะกระแสการเติบโตของรถยนต์ BEV ไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าหลายค่ายจะนำเข้ารถยนต์ BEV เข้ามาในไลน์อัพมากขึ้นด้วยเช่นกัน (รูปที่ 3)

2. EV Ecosystem ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเปลี่ยนผ่านจาก “รถยนต์สันดาปภายใน” สู่ “รถยนต์ BEV”

Ecosystem ของรถยนต์ BEV พัฒนาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนของรถยนต์ BEV ในตลาด ทั้งทางด้าน 1) ระยะทางที่วิ่งได้ไกลขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต 2) แนวโน้มสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้ง 3) เทคโนโลยีหัวจ่ายไฟฟ้าที่ใช้ระยะเวลาการชาร์จต่อครั้งสั้นลง ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านจาก “รถยนต์สันดาปภายใน” สู่ “รถยนต์ BEV” บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ระยะทางการขับขี่ที่ไกลขึ้นเป็นปัจจัยที่ช่วยให้คนตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ BEV กันมากขึ้น โดยข้อมูลจาก International Energy Agency (IEA) ระบุว่ารถยนต์ BEV มีระยะทางขับขี่โดยเฉลี่ยต่อการชาร์จ 1 ครั้งเพิ่มขึ้นจาก 243 กิโลเมตรในปี 2560 ขึ้นมาอยู่ที่ 349 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้นกว่า 44% (รูปที่ 4) โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า แนวโน้มด้านระยะทางของรถยนต์ BEV ที่สามารถวิ่งได้ไกลขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อรถประเภทนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากในอดีตรถยนต์ BEV รุ่นเก่ายังไม่สามารถเก็บไฟฟ้าได้มากนัก ส่งผลให้ระยะทางการวิ่งของรถยนต์ BEV เมื่อชาร์จเต็มที่ในช่วงก่อนหน้ายังไม่มากเท่ากับรถยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของการตัดสินใจเลือกใช้รถยนต์ BEV เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนกังวลเรื่องการเดินทางระยะไกล แต่ปัจจุบันแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ BEV ถูกพัฒนาให้สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นและใช้งานได้ทนทานขึ้น ช่วยลดข้อจำกัดการเดินทางระยะไกล และตอบโจทย์ผู้ใช้รถยนต์ BEV มากขึ้น

รถยนต์ BEV ในตลาดประเทศไทยมีแนวโน้มระยะทางการวิ่งของรถยนต์ BEV ที่วิ่งได้ไกลขึ้น สอดคล้องกับตลาดต่างประเทศ จากข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง พบว่า รถยนต์ BEV ที่จำหน่ายในประเทศไทย ปี 2561 สามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุดเฉลี่ยเพียง 280 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง แต่ในปี 2565 วิ่งได้ระยะทางสูงสุดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 395 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 41% (รูปที่ 4)

นอกจากระยะทางขับขี่ที่ไกลขึ้นแล้ว การมีสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เข้าถึงง่าย และครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ BEV สถานีชาร์จไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ BEV แนวโน้มสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นและกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้ง หัวจ่ายไฟฟ้าถูกพัฒนาให้ใช้ระยะเวลาการชาร์จที่สั้นลงด้วยหัวจ่ายแบบ Fast Charge ซึ่งเป็นการชาร์จโดยใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) โดยจะใช้เวลาชาร์จไฟจนถึงระดับ 80% ของความจุแบตเตอรี่เฉลี่ยไม่เกิน 1 ชั่วโมง จะช่วยคลายความกังวลและเป็นแรงขับเคลื่อนกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน พบว่า ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยมีจำนวน 944 สถานี กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ณ เดือน ก.ย. 2565 ไทยมีจำนวนหัวจ่ายไฟรวม 2,572 หัวจ่าย เพิ่มขึ้น 13%YOY เป็นหัวจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง (DC) 46% เพิ่มขึ้น 53%YOY และ หัวจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) 54% ลดลง 8%YOY (รูปที่ 5) ทั้งนี้ สถานีชาร์จไฟฟ้าจะตั้งอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก และมีแนวโน้มขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในเขตต่างจังหวัดมากขึ้น โดยมีจุดให้บริการสาธารณะหรือตามอาคารต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า พื้นที่จอดรถ MRT คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน นอกจากนี้ ยังมี Application เพื่อใช้ค้นหาตำแหน่งที่ตั้ง ดูข้อมูลหัวชาร์จที่พร้อมใช้งาน หรือจองคิวการชาร์จล่วงหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย

แนวโน้มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยคาดว่าเติบโตขึ้น ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 โดยประเมินว่า หัวจ่ายไฟฟ้าแบบ Fast Charge มีแนวโน้มเพิ่มในปี 2568 เป็น 2,200 – 4,400 หัวจ่าย และปี 2573 เพิ่มเป็น 12,000 หัวจ่าย โดยสถานีชาร์จไฟฟ้าจะครอบคลุมทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และพื้นที่ชุมชน โดยมีแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ การตื่นตัวของภาคเอกชนและกระแสความต้องการใช้รถ BEV ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อนุมัติส่งเสริมการลงทุนสร้างสถานีชาร์จ BEV กับผู้ประกอบการ 5 ราย  มีหัวจ่ายไฟฟ้ารวม 7,036 หัวจ่าย แบ่งเป็นหัวจ่ายไฟฟ้าแบบ Fast Charge 3,086 หัวจ่าย ยอดเงินลงทุนรวม 2,175 ล้านบาท ทำให้ในอนาคตประเทศไทยจะมีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้ามากที่สุดในอาเซียน

นอกจากนี้ เครื่องชาร์จ BEV ในที่อยู่อาศัย (Wallbox) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ใช้รถ BEV แม้แนวโน้มสถานีชาร์จไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หัวจ่ายไฟที่สถานีชาร์จไฟฟ้าถูกพัฒนาให้ใช้ระยะเวลาการชาร์จต่อครั้งที่สั้นลง แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาชาร์จอย่างน้อย 40–60 นาที การติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ BEV ในที่อยู่อาศัย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ใช้รถยนต์ BEV เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียเวลาเดินทางไปสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือ ไม่มีสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่บริเวณใกล้บ้าน อย่างไรก็ตาม อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เร่งรีบเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลา 4–5 ชั่วโมง สำหรับชาร์จไฟจนถึงระดับ 80% ของความจุแบตเตอรี่

ในปัจจุบันเครื่อง WallBox เข้าถึงได้ง่ายขึ้นทั้งจาก 1) ค่ายรถยนต์หลายค่าย จัดโปรโมชั่นมอบเครื่อง WallBox พร้อมทั้งมอบส่วนลดค่าติดตั้ง ให้กับผู้ซื้อรถยนต์ BEV 2) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มักจะติดตั้งเครื่อง WallBox ในโครงการใหม่ๆ ทำให้การชาร์จไฟสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถติดต่อ 3) ผู้รับเหมาติดตั้งรายอื่นๆ ในท้องตลาด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งตั้งแต่ 35,000-85,000 บาท อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ไม่มีเครื่อง WallBox สามารถชาร์จไฟจากอุปกรณ์ที่ค่ายรถให้มาพร้อมกับรถยนต์ BEV ได้ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง 2 สำหรับชาร์จไฟจนถึงระดับ 80% ของความจุแบตเตอรี่ และผู้ใช้งานต้องเพิ่มความระวัง เนื่องจากอุปกรณ์ชนิดนี้ไม่มีระบบการป้องกัน (รูปที่ 6)

3. BEV มีต้นทุนการใช้งาน (Cost of Ownership) ที่น่าดึงดูดใจกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาด

Krungthai COMPASS ประเมินต้นทุนในการใช้งาน หรือ Cost of Ownership ของรถยนต์ BEV ว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.85 บาท/กม. ประหยัดกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดที่ 3.47 บาท/กม. อยู่ถึง 18% ทั้งนี้ ต้นทุนการใช้งานประเมินจากค่าเชื้อเพลิงทั้ง ไฟฟ้า น้ำมัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง การซ่อมบำรุง ประกันภัย และภาษีประจำปี สำหรับการขับขี่รถยนต์ปีละ 10,000 กม. เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี หรือ 40,000 กม. โดย สาเหตุที่ทำให้รถยนต์ BEV มีต้นทุนการใช้งานที่ต่ำเป็นเพราะจุดเด่นด้านค่าเชื้อเพลิงที่ 0.73-0.83 บาท/กม. ซึ่งประหยัดกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดที่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวในช่วง 1.29-1.63 บาท/กม. อย่างเห็นได้ชัด ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งค่าซ่อมบำรุง ประกันภัย และภาษีประจำปีพบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก ดังแสดงในรูปที่ 7

อย่างไรก็ตาม แม้การมีต้นทุนการใช้งานที่ต่ำจะฟังดูค่อนข้างน่าสนใจ แต่ในระยะยาว คาดว่ารถยนต์ BEV จะยังมีคำถามที่ยังรอคำตอบอยู่ทั้ง 1) ราคาขายต่อมือสองที่ไม่แน่ใจว่าจะถูกกดราคามากแค่ไหน และ 2) เมื่อหมดการรับประกันแล้ว การเปลี่ยนอะไหล่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะแบตเตอรี่จะมีค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด

ในส่วนของปัจจัยด้าน “ราคาขายต่อมือสอง” พบว่าเมื่อใช้งานครบ 4 ปี รถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดจะมีราคาลดลงโดยเฉลี่ยที่ราว 30-40% ตัวเลขดังกล่าวจึงจะเป็นโจทย์สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ BEV ว่าจะทำอย่างไรให้ราคาขายต่อมือสองของรถยนต์ BEV ไม่ต่ำไปกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ BEV กันมากขึ้นในอนาคต สำหรับประเด็นด้าน “ราคาอะไหล่สำคัญๆ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ เมื่อหมดการรับประกัน” พบว่าแม้ในปัจจุบันผู้ผลิต BEV จะมีการรับประกันแบตเตอรี่เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี แต่หากแบตเตอรี่เกิดเสียขึ้นมาหลังหมดอายุรับประกัน ในกรณีเลวร้ายที่สุดผู้บริโภคอาจมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สูงถึง 50-60% ของราคารถยนต์ BEV ที่ซื้อมา ณ วันแรกเลยทีเดียว

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

มอนเดลีซ ผนึก แทรชลัคกี้ และกรุงเทพมหานคร เปิดตัวโครงการ “โรงเรียนรักษ์โลก แยกขยะลุ้นโชคกับมอนเดลีซ”

เอสซีจี จับมือ กกร. รีไซเคิลกระดาษเหลือใช้จากงานประชุม APEC 2022 สู่ชั้นหนังสือรักษ์โลกเพื่อเยาวชน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ