TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist'ท่าบก-ท่านาแล้ง' รองรับรถไฟจีน-ลาว-ไทย

‘ท่าบก-ท่านาแล้ง’ รองรับรถไฟจีน-ลาว-ไทย

แม้จะออกตัวช้าไปสักนิด สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้วางแผนบูรณาการร่วมกันในการใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีน ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย โดยอาศัยโครงการท่าบก-ท่านาแล้ง และเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค เชื่อมเส้นทางรถไฟลาว-จีน เข้ากับโครงข่ายทางรถไฟไทย-ลาว 

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย จึงประโคมข่าวขบวนรถสินค้าเที่ยวแรก ที่จะขนส่งสินค้าเกษตรของไทยไปยังจีน บนเส้นทางรถไฟลาว-จีน ก็ได้เคลื่อนออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ (สถานีขนส่งสินค้า) เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2565 โดยสินค้าเกษตรล็อตแรกเป็นข้าวเหนียวหัก 20 ตู้ น้ำหนัก 500 ตัน

ข้าวล็อตดังกล่าว ได้ส่งออกจากไทยผ่านด่านหนองคายไปฝั่ง สปป.ลาว หลังผ่านพิธีการทางศุลกากร และได้รับไฟเขียวจากกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ของลาว จากนั้น ฝ่ายไทยได้ติดต่อกับจันทอน สิดสิไซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เวียงจันทน์ โลจิสติกส์พาร์ค และโครงการท่าบก-ท่านาแล้ง ช่วยสนับสนุนเคลื่อนย้ายตู้สินค้าไปสถานีเวียงจันทน์ใต้ ก่อนจะยกขึ้นแคร่รถไฟเพื่อออกเดินทางไปเมืองจีน

อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเกษตรไทย ออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ ผ่านสถานีบ่อเต็นก่อนข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศจีนที่ด่านบ่อหาน มณฑลยูนนาน สู่มหานครฉงชิ่งทางภาคตะวันตกของจีน ใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน เร็วกว่าขนส่งทางเรือถึง 4 เท่าตัว

นี่คือรูปธรรมแห่งการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดน โดยแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ นับแต่โครงการทางรถไฟลาว-จีน ได้เปิดให้บริการเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 

ก่อนหน้านี้ กรณีรถไฟลาว-จีน สำหรับเมืองไทยได้มีปฏิกิริยามากมายทั้งบวกและลบ บ้างก็ว่าไทยตกขบวนรถไฟลาว-จีน สืบเนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยยังดำเนินการไปอย่างเชื่องช้า 

อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้โครงการท่าบก-ท่านาแล้ง เป็นท่าเรือบก (Dry Port) ก็สามารถขนส่งสินค้าจากไทย-ลาว-จีนได้ รวมถึงการส่งต่อไปยังประเทศที่สี่ผ่านประเทศไทยด้วย

ปัจจุบัน ทางรถไฟจีน-ลาว มาถึงสถานีเวียงจันทน์ใต้ (สถานีขนส่งสินค้า) ซึ่งมีการจัดตั้งท่าเรือบก (Dry Port) ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการทุกอย่างทั้งวิธีการศุลกากร การขนถ่ายตู้สินค้าต่าง ๆ เพื่อขึ้นรถไฟลาว-จีน ฝ่ายไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ผ่านท่าบก-ท่านาแล้ง เปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าขึ้นรถไฟไปจีนได้

‘ท่าบก-ท่านาแล้ง’

โครงการท่าบก-ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ที่บ้านดงโพสี เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลลาว เพื่อเปลี่ยนจากประเทศไม่มีทางออกทะเลสู่ประเทศเชื่อมโยงภูมิภาค 

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2564 พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีลาว ได้เป็นประธานในพิธีเปิดด่านสากลท่าบกท่านาแล้ง (Thanaleng Dry Port International Border Checking Point, Cargo Terminal) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการเปิดเดินรถไฟลาว-จีน 

โครงการท่าบก-ท่านาแล้ง มีที่ตั้งติดกับสถานีรถไฟท่านาแล้ง (โครงการรถไฟลาว-ไทย) และสะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 1 (นครหลวงเวียงจันทน์-หนองคาย) 

บริษัท เวียงจันทน์ โลจิสติกส์พาร์ค (Vientiane Logistics Park -VLP) เซ็นสัญญารับสัมปทานจากกระทรวงแผนการและการลงทุน ซึ่งมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 2,387.5 ไร่ โดยเริ่มต้นก่อสร้างท่าบก-ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อ 3 ก.ค.2563

สำหรับการลงทุน บริษัท เวียงจันทน์ โลจิสติกส์พาร์ค จะใช้เงินทั้งสิ้น 727 ล้านดอลลาร์แบ่งเป็นส่วนของท่าเรือบก 180 ล้านดอลลาร์ และศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจร 547 ล้านดอลลาร์ มีอายุสัมปทาน 50 ปี

ภายในท่าบก-ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ ประกอบด้วย 1. ท่าบก-ท่านาแล้ง เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า ด่านสากลสำหรับการขนส่งสินค้า ขาเข้า-ขาออก ผ่านชายแดน โดยมีการวางระบบคลังสินค้า ระบบชำระภาษีศุลกากรครบวงจร

2. มีคลังน้ำมันและคลังเก็บสินค้าของเหลว โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าจากประเทศไทย เป็นศูนย์ขนถ่ายน้ำมัน และกระจายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงออกไปทั่วประเทศ

3. เขตโลจิสติกส์ครบวงจร ได้แก่ การเก็บรักษาสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น คลังสินค้า ระบบจัดเก็บ รวบรวม และกระจายสินค้า

4. มีเขตพาณิชย์และอาคารสำนักงาน เปิดให้กิจการขนาดต่าง ๆ ทั้งใหญ่และเล็ก เข้ามาตั้งสำนักงานหรือสาขา และเป็นศูนย์รวมสินค้าและบริการ

5. เขตอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อส่งออก

‘กลุ่มทุนพงสะหวัน’

โครงการท่าบก-ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ดำเนินการโดยกลุ่มทุนใหญ่ใน สปป.ลาว คือบริษัทสิทธิโลจิสติกส์ลาว ที่เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค ซึ่งเดิมที สิทธิโลจิสติกส์ลาว เคยเป็นแผนกหนึ่งของบริษัทปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว(มหาชน) ทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

จะว่าไปแล้ว ทั้งบริษัทเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค และบริษัทปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว(มหาชน) เป็นบริษัทในเครือพงสะหวันกรุ๊ป กลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ของ สปป.ลาว 

เครือพงสะหวันกรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นโดยอ๊อด พงสะหวัน นักธุรกิจชาวแขวงสะหวันนะเขต ก่อร่างสร้างตัวมาจากปั๊มน้ำมัน และตั้งบริษัทสะหวันรุ่งเรือง ขาออก-ขาเข้า เก็บของป่าแปรรูปส่งออก และนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาจำหน่ายให้กับประชาชนในแขวงสะหวันนะเขต

ด้วยความสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจทางการเมืองสายภาคใต้ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ทำให้กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นสะหวันนะเขต แตกแขนงธุรกิจเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นพงสะหวันกรุ๊ป ดำเนินกิจการด้านปิโตรเลียม ,ธนาคาร,โรงแรม ,สายการบิน และอื่นๆอีกมาก

ปัจจุบัน จันทอน สิดทิไซ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวียงจันทน์ โลจิสติกส์พาร์ค ยังมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม บริษัทร่วมทุนระหว่างกระทรวงการเงิน สปป.ลาว กับบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ที่จะเข้าไปพัฒนาและบริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง โดยการเห็นชอบของรัฐบาลลาวและเวียดนาม

นอกจากนี้ บริษัท ปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ยังได้รับสัมปทานออกแบบและพัฒนาเส้นทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง ซึ่งทางรถไฟสายนี้ ยาว 555 ก.ม. (อยู่ในลาว 452 ก.ม.ในเวียดนาม 103 ก.ม.) 

ดังนั้น เวียงจันทน์ โลจิสติกส์พาร์ค จึงไม่ใช่ศูนย์โลจิสติกส์ที่เชื่อมเส้นทางรถไฟลาว-จีน เข้ากับโครงข่ายทางรถไฟของไทยเท่านั้น หากยังเชื่อมต่อไปยังท่าเรือหวุงอ๋าง ซึ่งเป็นท่าเรือของลาว เพื่อสร้างความเป็นเอกราชในการขนส่งทางทะเล และหลีกเลี่ยงการผูกขาดเข้า-ออกท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้าน

รัฐบาลลาวคาดหมายว่า ท่าบก-ท่านาแล้ง และโครงการพัฒนาเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ จะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับชาติ และระดับภูมิภาคอย่างสมบูรณ์แบบภายในปี 2573

คอลัมน์ Mekong Connect เขียนโดย ประชา บูรพาภิวัฒน์

ภาพ : นสพ.ปะเทดลาว ,สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

สนามบินสามเหลี่ยมทองคำ เติมฝัน “เจ้าเหว่ย” มังกรลุ่มน้ำโขง

ยิบอินซอย ลงทุน ‘วินโนหนี้’ สตาร์ตอัพแพลตฟอร์มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ