TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"ระบบนิเวศ" รองรับ "รถยนต์ไฟฟ้า" พร้อมหรือยัง กับการเติบโตแบบก้าวกระโดด

“ระบบนิเวศ” รองรับ “รถยนต์ไฟฟ้า” พร้อมหรือยัง กับการเติบโตแบบก้าวกระโดด

คึกคักตั้งแต่ปีเสือดุมาจนปีกระต่ายก้าวกระโดด กับกระแสการเติบโตทะลุเพดานความนิยม รถยนต์ไฟฟ้า นอกจากปัจจัยด้านลบจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจนใกล้ 40 บาทเต็มที

กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT (Electric Vehicle Association of Thailand) ชี้ให้เห็นว่า ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของไทยตั้งแต่ ปี 2018 เติบโตเป็นเท่าตัวมาโดยตลอด เมื่อมีปัจจัยบวกจากมาตรการของทางภาครัฐในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเงินสนับสนุนจำนวน คือ 150,000 บาทต่อคัน ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาต่ำกว่า 2 ล้าน และลดในเรื่องของภาษีสรรพสามิตและภาษีนำเข้า ทำให้ราคาปรับลดลงมาประมาณ 200,000 กว่าบาท ประกอบกับความหลากหลายของทางเลือกยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ใหม่ๆ ที่พาเหรดนำเข้ากันเข้ามา ทั้งจากฝั่งยุโรป ฝั่งอเมริกา หรือฝั่งเอเชีย อย่าง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ยอดจองถล่มทลาย

ยอดจดทะเบียน BEV

หากยังไม่นับจำนวนรวมยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าใหม่รอการส่งมอบ เฉพาะข้อมูลสถิติยานยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกนั้น เพิ่มขึ้นจาก 5,781 คัน ในปี 2021 เป็น 20,816 คัน ในปี 2022 คิดเป็นอัตราเติบโต 260 % ยานยนต์ไฟฟ้า BEV สะสม เพิ่มขึ้นจาก 11,382 คัน ในปี 2021 เป็น 32,081 คัน ในปี 2022 เติบโต 182 % โดยมีลำดับของประเภทยานยนต์การจดทะเบียนใหม่ จากมากไปน้อย ได้แก่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 9,912 คัน รถยนต์ไฟฟ้า 9,678 คัน รถโดยสารไฟฟ้า 976 คัน รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 226 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้า 24 คัน และยังมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกในปีถัดไป

ในระดับนโยบายภาครัฐ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมไปถึงมีเป้าหมายอยากเห็นยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า มีจำนวน 50% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด ในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

โดยในปี 2024 ประเทศไทยจะเริ่มมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มีความเคลื่อนไหวจากค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง BYD ที่กำลังลงทุนสร้างโรงงานในไทย หรือ Toyota ที่ได้ทำการเซ็นสัญญาความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐก็ได้เร่งดำเนินการด้านนโยบาย ทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ การจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วน รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการส่งเสริมการลงทุนและการขออนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้กับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้า

เปิดตัว BYD SEAL ยนตกรรมไฟฟ้าสปอร์ตซีดาน ราคาเริ่มต้น 1.325 ล้านบาท

อัปเดตสถานีชาร์จ EV สาธารณะ ทันกับความต้องการหรือไม่

สถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ EV Charging Station ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะทำให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้บริการมากขึ้นและเติบโตเป็นเงาตามตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

กฤษฎา ให้รายละเอียดว่า แน่นอนว่าพื้นฐานเบื้องต้นทุกคนสามารถชาร์จไฟด้วย Portable EV Charger ได้ที่บ้านเป็นหลัก ส่วนสถานีชาร์จสาธารณะ มีความจำเป็นกับคนที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม และผู้ที่ต้องเดินทางไกลข้ามจังหวัด ต้องมีการวางแผนการชาร์จระหว่างทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องหาสถานีชาร์จที่มีหัวชาร์จแบบ Fast Charge ซึ่งจากข้อมูลเดือนกันยายน 2022 จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ประเทศไทยมีผู้ประกอบการสถานีชาร์จสาธารณะ 12 ราย จำนวนสถานี 869 แห่ง มีจำนวนหัวจ่ายทั้งหมด 2,572 หัวจ่าย

ในจำนวน 2500 กว่าแห่งนี้ เป็นหัวจ่ายแบบ DC Fast Charge  แบบ DC CSS2 มาตรฐานยุโรป 942 หัวจ่าย และแบบ DC CHAdeMO มาตรฐานญี่ปุ่น 246 หัวจ่าย ส่วนที่เหลือประมาณ 1,384 จุดเป็นหัวจ่ายแบบ AC Normal Charge โดยผู้ประกอบการที่มีจำนวนสถานีและหัวจ่ายมากที่สุด ได้แก่ EA Anywhere มีหัวจ่ายทั้งแบบ DC และ AC ทั้งหมด 1,155 หัวจ่าย ใน 406 สถานี รองลงมาคือ EV Station จำนวน 116 แห่ง มีหัวจ่าย 3 แบบ จำนวนทั้งสิ้น 342 หัวจ่าย ซึ่งในการค้นหาตำแหน่งของสถานีชาร์จเพื่อจะใช้บริการ สามารถทำได้ผ่านแอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการ และมีผู้ให้บริการ 5 เจ้า คือ EA EGAT PEA MEA และ PTT ที่มีการแชร์โลเคชั่นของสถานีชาร์จทั้ง 5 เจ้า บนแอปพลิเคชันของตนเองด้วย

เมื่อถามถึงสัดส่วนระหว่างผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกับจำนวนสถานีที่ให้บริการในปัจจุบัน มีความสมดุลกันหรือจะเติบโตทันกันหรือไม่ กฤษฎา อธิบายให้เห็นภาพอนาคตอันใกล้ว่า เมื่อเทียบกับจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง BEV และ PHEV รวม 50,000 กว่าคัน กับจำนวนหัวจ่าย 2,500 กว่าหัวจ่าย คิดเป็นอัตราส่วน 20 คันต่อ 1 หัวจ่าย ซึ่งถือว่าไม่มากไม่น้อยจนเกินไป แต่ต้องดูกันที่คุณภาพว่าระบบมีความเสถียรเพียงใด พบปัญหาในการใช้งานหรือไม่ ซึ่งในตู้ชาร์จรุ่นใหม่ค่อนข้างมีคุณภาพที่ดี แน่นอนว่าในระยะยาว การวางโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและเติบโตเร็วกว่าจำนวนสถานีชาร์จอย่างแน่นอน ทำอย่างไรจะให้สัดส่วนของจำนวนรถกับสถานีชาร์จสมดุลกันเพื่อที่ผู้ประกอบการที่จะลงทุนกับกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะสามารถลงทุนและคืนทุนได้ในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล และมีอัตราค่าบริการที่ยุติธรรมกับผู้ใช้รถ

Benefit ของผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมัน มีโลเคชันอยู่แล้วที่อยู่บนไฮเวย์ เพราะฉะนั้น เขาสามารถต่อยอดขึ้นมามี Charging Station ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีอะไรเลย มีต้นทุนในการต่อยอดที่ง่ายกว่า มากกว่าเราที่ต้องไปหาโลเคชันใหม่ และ Network ของการให้บริการจากแอปเนี่ย เหมือนกับที่เราวิ่งไปในถนนทั่วไปแล้วก็บอกว่า แบรนด์ที่เราเห็นบ่อยๆ ก็เป็นแบรนด์ที่เราอยากจะเข้าไปเติมมากกว่า ที่นี้มันก็เป็นเรื่องของ Network ที่ใครมีครอบคลุมเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่สุด คนก็อยากจะใช้แอปนั้นมากที่สุด ก็เหมือนกับในต่างประเทศ

“อย่างที่อเมริกาเราไปที่ Charging Station จุดหนึ่งเราจะเห็นไม่ใช่แค่ 1 หรือ 2 หัว แต่เป็นสิบ เราเข้าไปปุ๊บก็เป็นเหมือน EV Charging Park เลย สามารถเข้าไปชาร์จแล้วก็ไปนั่งกินเบอร์เกอร์ แล้วค่อยกลับมาใหม่ ต่อไปรูปแบบของ Outlet ก็จะเป็นแบบนั้น มากขึ้นคือให้บริการเยอะขึ้นในหนึ่งโลเคชัน”

โมเดลธุรกิจสำหรับผู้ให้บริการสถานีชาร์จ จึงมีความเป็นไปได้ทั้งในส่วนการปรับเปลี่ยนของผู้ให้บริการสถานีน้ำมันเดิม ที่จะเพิ่มบริการหัวจ่ายไฟฟ้าขึ้นมานอกเหนือไปจากการขายน้ำมัน อาจจะเป็นพื้นที่ลักษณะอื่น เช่น โรงแรม ที่มีหัวจ่ายไฟสำหรับลูกค้าที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า  พื้นที่ Community Mall หรือ ร้าน Outlet ที่ให้บริการหัวจ่ายในบริเวณลานจอดรถ เป็นต้น ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากโลเคชั่นที่มีอยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นสถานีชาร์จโดยเฉพาะ เป็น EV Charging Park ผสมผสานพื้นที่ในสร้างรายได้แบบอื่นประกอบกันไป เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สำหรับผู้ที่นั่งรอระหว่างชาร์จไฟ

ผู้ประกอบการที่ต้องการให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า สามารถขออนุญาตกับการไฟฟ้านครหลวงซึ่งดูแลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือในพื้นที่ต่างจังหวัดดูแลโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือจะเป็นโมเดลธุรกิจสำหรับคนที่มีพื้นที่ แต่ไม่สามารถลงทุนตู้ชาร์จได้ ก็สามารถร่วมแคมเปญกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยการให้เช่าพื้นที่ในการตั้งตู้ชาร์จไฟ 

สมาคม EVAT กับบทบาทในการขับเคลื่อน Ecosystem ยานยนต์ไฟฟ้า

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT (Electric Vehicle Association of Thailand) หน่วยงานภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ผ่านการประสานความร่วมมือจากผู้ประกอบการสถานีชาร์จ 12 เจ้า เพื่อการให้บริการที่เป็นมาตรฐานและสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเปิดตัวแผนที่ EV charging station map ที่รวมทุกพิกัดของทุกสถานีอัดประจุไฟฟ้าในกลุ่ม Charging Consortium บนเว็บไซต์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นครั้งแรก ในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา

EVAT มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้านการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า ทาง EVAT ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาหลักสูตรด้านยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับสถาบันอาชีวศึกษา และยังมีการพัฒนาหลักสูตรการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือการซ่อมรถจักรยานไฟฟ้าเป็นอาชีพเสริม สำหรับโรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพฯมหานคร ซึ่งจะเปิดทำการสอนครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปีนี้

EVAT จับมือเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า เชื่อมต่อการใช้งานร่วมกัน

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับพันธมิตร รณรงค์ผู้ใช้รถไฟฟ้าวางเเผนการเดินทาง เเละเเบ่งปันการชาร์จช่วงเทศกาลปีใหม่

ในส่วนงานของ EVAT เองได้จัดให้มี โครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต รับสมัครผู้เข้าร่วมจากสถาบันอาชีวศึกษาและประชาชนทั่วไป ซึ่งในปี 2566 นี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว มีกำหนดการการแข่งขัน ในวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยมีเป้าหมายให้เป็นการแข่งขันที่เน้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามมาตรฐานวิศวกรรม และ ความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่โมเดลธุรกิจด้านรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ชิงถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี และเงินรางวัลรวมกว่า 450,000 บาท

“การผลักดันในโครงการนี้ ทำให้เรารู้สึกว่า มันมีการตื่นตัวในเชิงของนักศึกษาที่อยากจะ ใช้ความรู้ที่เรียนมา ในการเปลี่ยนระบบสันดาปภายใน เป็นไฟฟ้า นปี 2566 นี้ จะมีรางวัลที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมเป็นรางวัลสำหรับนักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพิ่มรางวัลในเชิงนวัตกรรม คือนักศึกษาสามารถที่จะผลิต component ขึ้นมาเอง เพื่อประกอบขึ้นเป็นตัวรถด้วย  เราก็อยากส่งเสริมไปในแนวทางนั้น ผมคิดว่าโอกาสของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในเชิง Conversion โอกาสมีค่อนข้างเยอะ เพราะเทคโนโลยีมันไม่ได้ซับซ้อนมากเท่ากับรถยนต์ และสามารถต่อยอดไปเป็น battery swapping ได้ ยกแบตเตอรี่เปลี่ยนได้ทั้งก้อนเลย ซึ่งการใช้งานของ Grab ไรเดอร์ และวินมอเตอร์ไซค์ ค่อนข้างที่จะตอบโจทย์ ประหยัดค่าน้ำมันไปเยอะมาก ไม่มีค่า Maintenance   

เพราะฉะนั้นผมคิดว่า Business Model นี้เป็นโอกาสในการเติบโตพอสมควรเลยในบ้านเรา เพราะ platform มันไม่ได้ซับซ้อนมาก และใช้งานได้ง่าย แต่ในส่วนของการดัดแปลงรถยนต์ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ทำได้ในระดับนึงแต่ว่า ในเวลาที่รถยนต์เริ่มมีราคาค่อนข้างถูกลง ได้การสนับสนุนจากรัฐ ก็จะได้รถด้วยเงิน 7 แสนกว่าบาท ถ้าเอารถยนต์เราไปดัดแปลง ต้องมีประมาณสัก 3-4 แสน  คนก็อาจจะคิดว่าซื้อรถไฟฟ้าไปเลยดีกว่า ผมคิดว่าโอกาสของการ convert ก็มีอยู่บ้าง แต่เป็น segment ที่ไม่ได้โตมาก

ส่วนรถกระบะ โจทย์ยังอยู่ที่การรับน้ำหนัก ถ้าเราเอาแบตเตอรี่เข้าไปวางแล้ว รถจะยังรับน้ำหนักบรรทุกได้เท่าไหร่ ซึ่งต้องได้ระดับที่มันจะวิ่งได้ จึงเป็นประเด็นว่า ทำไมเราไม่ค่อยเห็นเทคโนโลยีที่เป็นกระบะ เพราะมันมีความยากของการรับน้ำหนักเพิ่ม ต้องสร้างความสมดุลของโครงสร้างอื่นๆ ให้มันมีน้ำหนักเบาขึ้นเพื่อรองรับการบรรทุกที่มากขึ้น ซึ่งทา Toyota ก็จะนำร่องในเรื่องของการ Research ตัวนี้ในบ้านเรา”

ภาพรวม สัดส่วนประเภทยานยนต์ไฟฟ้า และการเติบโตในอนาคต

ปัจจุบัน สัดส่วนโดยรวมของโลกในด้านประเภทของยานพาหะที่เป็นยานยนต์ไฟฟ้า สามารถแยกได้เป็น  4 ประเภท ได้แก่ รถแวนหรือรถกระบะ รถยนต์โดยสารส่วนบุคคลหรือ Passenger Car รถบัส และรถมอเตอร์ไซค์ กฤษฎา อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า

“รถ EV ทั่วโลก ตอนนี้ที่มีการขายและใช้มากที่สุดก็คือรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 44% ถัดมาเป็นรถบัส ประมาณ 39% ทำไมเป็นรถบัส เพราะรถบัสมีระยะทางที่ชัดเจนวิ่งจากจุดนี้ไปจุดนี้ จะต้องหยุดชาร์จที่ไหน สามารถคำนวณได้ การใช้งานก็ง่าย ทีนี้ส่วนที่ยังเติบโตค่อนข้างน้อย แต่มีโอกาสในการเติบ โตเยอะก็คือ รถ Passenger Car ทั่วโลกมีประมาณ 4% จากยอดทั้งหมด ส่วนในกลุ่มของรถที่เป็น Pickup Truck มีแค่ประมาณ 1% กว่า ๆ ยังน้อย

ที่เราเห็นในปีนี้ ที่เป็นรถใหญ่ เป็น Break through อย่างของ Tesla Semi-Truck ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อประมาณ ไตรมาส 3 ของปี 2022 ความน่าทึ่ง คือว่ามันใช้แบตเตอรี่ 1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง  และระยะทางในการวิ่ง 800 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะทางดีมากกับการบรรทุก  ถามว่า คีย์ของมันคืออะไร คือเรื่องของการดีไซน์ตัวรถขึ้นมาทั้งระบบ การออกแบบค่าสัมประสิทธิ์การต้านอากาศ หรือ Coefficient of Drag มันอยู่ที่ 0.36 เมื่อเทียบกับปอร์เช่ ซึ่งเป็นรสสไตล์รถแข่ง มันอยู่ที่ประมาณ 0.34 มันออกแบบได้ Aero Dynamic ก็เลยตอบโจทย์ในเรื่องของการใช้งานทางไกล

เพราะฉะนั้น รถที่เราเห็นหน้าตาในปัจจุบัน อาจจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ต้องมีดีไซน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย น้ำหนักเบาด้วย แบตเตอรี่สามารถที่จะรองรับการเดินทางระยะ ทางไกลด้วย เพราะรถที่เป็น Fleece แบบนี้ ต้องวิ่งไกล เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่ง”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ลุมพินี วิสดอมฯ เผย ‘สถานีชาร์จ EV’ อุปกรณ์พื้นฐานที่โครงการอสังหาฯ ต้องมี

SHARGE ผนึก เรเว่ ออโตโมทีฟ ติดตั้ง EV Charger ให้ลูกค้ารถ BYD ถึงบ้านทุกคัน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ