TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologySwap Together เปลี่ยนเพื่อไปต่อกับ Battery Swapping แพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน

Swap Together เปลี่ยนเพื่อไปต่อกับ Battery Swapping แพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน

ช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมากับสถานการณ์โควิด-19 ต้องยอมรับว่ายานพาหนะอย่างมอเตอร์ไซค์ นอกจากวินมอเตอร์ไซค์ ระบบขนส่งเฉพาะที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยของเมืองใหญ่อยู่แล้ว ยังเกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของอาชีพไรเดอร์ ในยามที่คนต้องกักตัวอยู่บ้าน พวกเขาได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการขนส่งไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือยารักษาโรค  

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้งานบมอเตอร์ไซค์มากกว่า 21 ล้านคัน โดยมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ใช้น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของมลภาวะตามท้องถนนในเมืองใหญ่ ตามมาด้วยปรากฏการณ์ทางด้านราคาพลังงานพุ่งสูง ภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดบ่อยขึ้น วิกฤติต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้คนเกิดความตื่นตัว และเกิดความสนใจในการใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

กระแสความนิยมการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทดแทนการใช้รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเริ่มมีมากขึ้น ทำให้ในปี 2565 ยอดทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทยพุ่งสูงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ทว่า แม้ความนิยมจะสูงขึ้นผู้ใช้จักรยานยนต์ทั่วไปอย่างมีข้อกังวลในตัวรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในด้านความสะดวกและระยะเวลาในการชาร์จ

ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ให้ความเห็นต่ออนาคตของยานยนต์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าว่า “จากการที่ประเทศเราต้องการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นวัตถุประสงค์หลักที่จะพาเราก้าวไปสู่จุดนั้น แต่ในส่วนของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้างในเชิงพาณิชย์ หากจะต้องไปรอเวลาในการชาร์จก็จะช้าเกินไป ทางแก้ไขก็คือการใช้เป็นแบบ Swapping หรือสับเปลี่ยนได้ 

ซึ่งในปัจจุบัน มีมอเตอร์ไซค์ที่เป็นแบบสับเปลี่ยนได้อยู่หลายรุ่นหลายยี่ห้อด้วยกัน แต่ไม่สามารถจะเปลี่ยนข้ามค่ายกันได้ จึงเป็นที่มาที่เราต้องการจะพัฒนาเป็นแพ็กมาตรฐานสำหรับประเทศไทย ให้สามารถตอบโจทย์ลดข้อกังวลของผู้ใช้งานด้านการชาร์จ และเกิดการแชร์โครงสร้างพื้นฐาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ถูกลง

เราจะไม่ได้หยุดอยู่แค่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แต่แพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานจะทำหน้าที่คล้ายกับถ่าน AA ที่เราคุ้นเคย สามารถเอาไปใช้กับอุปกรณ์อื่น ๆ ยานยนต์อื่น ๆ ได้หลากหลาย เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการเอาไปพัฒนาต่อยอดในการใช้งาน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ต่อไปในอนาคต” 

ที่มาของโครงการ Thailand Battery Swapping Platform 

Swap Together เปลี่ยนเพื่อไปต่อกับ Battery Swapping แพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ ที่มาของโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย” อธิบายถึงที่มาและความสำคัญว่า โครงการนี้เกิดจากการผลักดันที่ก่อให้เกิดจากเป้าหมายที่ประเทศได้ตั้งไว้ คือ นโยบาย Thailand 30@30 คือ 30% ของตัวของผลิตภัณฑ์ที่เป็นยานยนต์ของประเทศไทยจะผลิตให้เป็นให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า 30% ภายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น Asian EV Hub โดยตั้งเป้าผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้ได้ 675,000 ยูนิตต่อปี มีการใช้งานภายในประเทศ 650,000 ยูนิตต่อปี และมีสถานีสับเปลี่ยนแพ็กแบตเตอรี่ 1450 สถานี  

จากการสำรวจรูปแบบการใช้งานมอเตอร์ไซต์ในประเทศไทยและแถบประเทศอาเซียน ค่อนข้างมีความหลากหลาย ซึ่งพลังงานของแบตเตอรี่ในจักรยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ยังไม่สามารถตอบสนองการใช้งานได้ ในระยะการขับขี่ในแต่ละรอบเวลาการบริการ โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ประเทศไทยเองก็มีบริการที่ค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่น คือ วินมอเตอร์ไซค์ และไรเดอร์ 

แนวคิดในการพัฒนาแพ็กแบตเตอรี่ ชาร์จเร็ว หรือ Fast charging ในระดับไม่เกิน 5 นาที เท่ากับเวลาเติมน้ำมันนั้น เทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ แนวคิด Battery swapping platform หรือ การมีแพ็กแบตเตอรี่ที่สามารถสับเปลี่ยนไปใช้งาน ระหว่างที่อีกแพ็กหนึ่งอยู่ระหว่างการชาร์จ เป็นแพ็กแบตเตอรี่มีคุณสมบัติที่มาตรฐานร่วม สามารถสับเปลี่ยนได้ระหว่างการใช้ข้ามรุ่น และชาร์จได้หลากหลายสถานี มีความเป็นไปได้มากกว่า

แนวคิด Battery Swapping Standard Platform จึงเป็นแนวคิดน่าจะเหมาะสมที่สุด โดยใช้ระยะเวลาในการเติมพลังงานเทียบเท่าการเติมน้ำมัน โดยสามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ภายใน 5 นาที ทำให้ราคาของมอเตอร์ไซค์ลดลง เนื่องจากไม่รวมราคาแบตเตอรี่ โดยสามารถเช่าหรือสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามระยะทางที่ใช้งาน และยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุด โดยผู้ขับขี่สามารถใช้งานแบตเตอรี่ที่มีเทคโนโลยีใหม่หรือมีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้นจากสถานีสับเปลี่ยน

เป้าหมายของโครงการ ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้ ในการพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญ วิจัยพัฒนาแพ็กแบตเตอรี่ ระบบควบคุมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และระบบประจุไฟฟ้า และการให้บริการ มีการใช้งานที่สอดคล้องกันในประเทศไทย สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และผู้ผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และ ผู้ให้บริการสถานีประจุไฟฟ้า

สร้างเทคโนโลยีและแพล็ตฟอร์มมาตรฐาน เกิดแพ็กแบตเตอรี่สมัยใหม่ในประเทศไทย สามารถสับเปลี่ยนได้ในหลายรูปแบบของการใช้งาน เริ่มต้นจากการตัวอย่างของการใช้งานในมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สะดวก ปลอดภัย เป็นที่ยอบรับ ลดต้นทุนของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

สร้างความยั่งยืนทางด้าน สังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้งานพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนของการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปลอดภัยมีมาตรฐานการใช้งาน ก่อให้เกิดความง่ายในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

สร้างโอกาสทาง เศรษฐกิจ เกิดความคุ้มค่าในการผลิตและการลงทุน จากการแชร์โครงสร้างพื้นฐาน สร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างรายได้ เปิดโอกาสในการขยายผล ไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องการใช้แบตเตอรี่ในลักษณะใกล้เคียงกันอีกในประเทศ

9 องค์กรร่วมสร้าง “แพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า”

ผนึกกำลัง 9 องค์กร สร้าง 3 เสาหลัก ระบบนิเวศมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มาร่วมกันสร้างระบบนิเวศยานยนต์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว ค่อนข้างมีความหลากหลายครบถ้วนมากพอที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทยได้ในอนาคตอันใกล้ โดยบทบาทของผู้เข้าร่วมถูกแบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก 9 องค์กร ด้วยกันได้แก่

  • ผู้ผลิตแพ็กแบตเตอรี่ ได้แก่  บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด 
  • ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ ได้แก่ บริษัท จีพี มอเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด  
  • ผู้ให้บริการสถานีชาร์จและระบบแพลตฟอร์ม ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด 

ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่เป็นแกนกลาง ทำงานงานบริหารจัดการโครงการและวิชาการ ได้แก่ สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ร่วมด้วย 2 สถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลักจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. เริ่มต้นในการ Kick Start ในส่วนของงานวิจัย และจะมีการสนับสนุนในส่วนของการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ในเฟสต่อไป นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยทุกบริษัทเป็นทั้งผู้ร่วมงานพัฒนาโครงการและเป็นผู้ให้ทุนร่วมในโครงการนี้

ขอบเขตของการดำเนินโครงการ แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ

ส่วนแรก กรอบที่ 1 การสร้างแพลตฟอร์ม คือ การตั้งข้อกำหนดร่วมกัน ระหว่างผู้ผลิต แพ็กแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ ผู้ใช้งาน และผู้ให้บริการสถานีชาร์จมอเตอร์ไซค์ โดยต้องเข้าใจให้ได้ว่าอะไรที่เป็นมาตรฐานที่สามารถร่วมกันได้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการย่อย ๆ ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ แบตเตอรี่สับเปลี่ยน ทั้งในและต่างประเทศ นำมาวิเคราะห์รูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ ในมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ตามมาด้วยการระดมความคิดเห็นจากผู้ผลิตแพ็ก ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ และผู้ให้บริการสถานีชาร์จ นำไปทดลองออกแบบในรูปแบบที่จะต้องใช้งานจริง โดยดูในด้านกายภาพ ระบบควบคุมและการสื่อสาร และระบบสับเปลี่ยนแพ็กแบตเตอรี่ และจัดระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 นำข้อมูลที่ได้มากำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคและรูปแบบการใช้งานร่วม

ส่วนที่ 2 กรอบที่ 2 คือการพัฒนาต้นแบบ หรือ Prototype โดยอ้างอิงจากกรอบที่ 1 ในการพัฒนาและผลิตต้นแบบสำหรับการทดลองใช้งาน เมื่อได้ต้นแบบแล้วนำมาทดสอบตามมาตรฐาน ก่อนจะมาทดสอบในการใช้งานจริง โดยศึกษาประสิทธิภาพ สมรรถนะด้านการใช้งานในรูแบบที่ออกแบบเบื้องต้น ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ หากสามารถขยายผลให้เกิดการให้บริการจริงในประเทศ

และสุดท้าย คือการสรุปโครงการและนำเสนอแนวทางการพัฒนา ข้อเสนอแนะการพัฒนาแพลตฟอร์ม ร่างคู่มือแนวทางการพัฒนาแบตเตอรี่แพ็กสำหรับระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน ร่างคู่มือแนวทางการพัฒนาจักรยานยนต์ไฟฟ้าระบบประจุไฟฟ้าสำหรับแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ และร่างแพลตฟอร์ม ระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน สำหรับรถจักรยานยนต์

ต้นแบบผลิตภัณฑ์จากโครงการ 

จากความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการผลักดันให้เกิดมาตรฐานเทคนิคกลางระหว่างแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตู้ประจุไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการด้านแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และตู้ประจุไฟฟ้าในแต่ละราย สามารถดำเนินการระหว่างกันได้ผ่านมาตรฐานกลางที่วางไว้ 

ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต การถือครองมอเตอร์ไซค์ แพ็กและสถานีประจุไฟฟ้า มุ่งหวังว่าจะส่งผลให้เกิดการใช้งานยานยนต์ที่สะดวกอย่างแพร่หลายและเกิดอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองได้ภายในประเทศ โดยในโครงการได้มีต้นแบบเกิดขึ้น ได้แก่ 

ต้นแบบแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน 1 รุ่น  จำนวน 60 ก้อน ขนาดกว้าง 150 ยาว 185 สูงไม่มีข้อกำหนด พลังงานไฟฟ้า 1000 Wh เต้ารับ-เต้าเสียบ หรือ connector เป็นระบบ can bottom กำหนดรูปแบบเดียวทุกแรงดันและช่องทางการสื่อสาร เครื่องหมายฉลาก ตาม มอก. ความปลอดภัยตาม มาตรฐาน มอก.2952-2561 ส่วนที่ 2 แบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า อ้างอิงตาม UN R136

ต้นแบบแพ็กแบตเตอรี่สามารถใช้งานกับ ต้นแบบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 รุ่น 2 ยี่ห้อ จำนวน 15 คัน และต้นแบบสถานีสับเปลี่ยน 3 สถานี ซึ่งติดตั้งสถานีชาร์จที่บริเวณหน้าศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ปั๊มน้ำมันบางจาก เอกมัย-รามอินทรา คู่ขนาน 4 กรุงเทพมหานคร และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี 

แพ็กแบตเตอรี่มีเวลาในการใช้งานในแต่ละรอบขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งาน ส่วนอายุของแบตเตอรี่มีอายุ 5 ปี หลังจากนั้นแบตเตอรี่จะยังสามารจุไฟได้ 70% ซึ่งจุไฟได้ถึง 7 กิโลวัตต์ สามารถนำไปใช้งาน second life ในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น ใช้เป็นไฟสำรองในครัวเรือนหรือในพื้นที่ห่างไกล ใช้ต่อกับแผงโซลาร์เซลล์เพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้า ใช้ร่วมกันหลายๆ แพ็กในรถสามล้อ ใช้ต่อปั๊มน้ำ หรือรูปแบบอื่น ๆ ให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด

ปัจจุบัน (เดือนพฤษภาคม 2566) โครงการอยู่ในขั้นตอนการทดลองการใช้งานต้นแบบทั้งหมดที่พัฒนาจากข้อกำหนดร่วมในสภาวะการใช้งานจริง หรือ Field Test เก็บข้อมูลด้านพฤติกรรมการใช้งาน โดยติดตั้ง GPS และ IOT ต่างๆ เพื่อดู Performance รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องมีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยช่วงเวลาการทดสอบการใช้งานจะดำเนินตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนสิงหาคม 2566 ก่อนจะสรุปผลโครงการ เพื่อนำข้อมูลไปสรุปจัดทำข้อเสนอแนะความเป็นไปได้ และรับฟังความคิดเห็น ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับประเทศไทยต่อไป

ดร.พิมพา เผยว่า แพ็กแบตเตอรี่นี้มีชื่อว่า SWAP To หรือ SWAP Together คือเราต้องไปด้วยกันทั้งประเทศ ที่ผ่านมามีผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์อีกหลายราย ต้องการเข้าร่วมโครงการแต่ไม่ทันในช่วงแรก ทางโครงการจึงคาดหวังว่าจะมีการเข้าร่วมและดำเนินการร่วมกันในอนาคต ในลักษณะ Consortium ขยายวงผู้ร่วมผลักดันด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวของไทยต่อไปในอนาคต

การที่จะสร้างไลน์การผลิตขึ้นมานั้นมีราคาสูงมาก เพราะฉะนั้น ต้องมี Economy of Scale คือต้องมีลูกค้าเยอะ มีการผลิตมากพอ จึงจะสามารถผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมจริงได้ และราคาจึงจะถูกลงทั้งระบบ สิ่งที่ต้องทำ คือ ทำให้เกิดตลาดจากการใช้งานแพร่หลาย โดยช่วงแรกภาครัฐอาจต้องให้การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมาตรฐาน สนับสนุนให้บริษัททำ Prototype สร้างระบบนิเวศ ให้ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ ให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในดีไซน์และการผลิตในไทย มีบริการหลังการขาย อาจจ่ายแพงกว่านิด แต่มั่นใจในคุณภาพได้มากกว่า

เปลี่ยนเพื่อไปต่อ เปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวในพิธีเปิดการทดสอบภาคสนามจากผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทยว่า ถือเป็นก้าวสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาข้อกำหนดและระเบียบที่เกี่ยวข้องไปสู่เชิงพาณิชย์

“วันนี้เป็นบรรยากาศแห่งความสำเร็จ ที่เราจะได้เห็นอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งมีอนาคตมาก ซึ่งประเทศไทยก็ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก ทั้งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างและมอเตอร์ไซค์สำหรับส่งของ โดยมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีโดยเฉพาะแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าฯ ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ง่าย

อย่างไรก็ตามการจะก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วต้องขายความรู้ ขายวิทยาศาสตร์ ขายเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ผลิตภาพสูงขึ้นและแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ทีมวิจัยและภาคเอกชน สามารถทำให้เกิดแพ็กแบตเตอรี่สำเร็จ และรัฐบาลพร้อมจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ไปสู่ต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ดีต่อไป กระทรวง อว. ควรถูกจัดให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้เร็วขึ้น ดังนั้นขั้นต่อไปคือการก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยต้องขายของที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีที่มีระดับสูงขึ้น หรือขายของอยู่บนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป”

สำหรับการทดสอบภาคสนามจากผลงานโครงการวิจัยฯ ได้จัดขึ้นที่สถานีสับเปลี่ยน ณ ลานจอดรถ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี หลังจาก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก ได้ทำการเปิดสถานีแล้ว ได้มีการสาธิตการสับเปลี่ยนแพ็กแบตเตอรี่ในรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 รุ่น 2 ยี่ห้อ จาก GPX และ I-Motor ในรูปแบบผู้ใช้งานที่เป็นวินมอเตอร์ไซค์ และไรเดอร์ 

การสับเปลี่ยนแพ็กแบตเตอรี่สามารถทำได้อย่างง่ายดาย โดยเมื่อผู้ขับขี่มาถึงสถานีสับเปลี่ยน จะทำการดับเครื่องยนต์ก่อน แล้วจึงเปิดช่องเก็บแบตเตอรี่ ซึ่งอยู่ใต้เบาะที่นั่งนั่นเอง ดึงแพ็กแบตเตอรี่ที่ต้องการเปลี่ยนออกมา เดินไปที่ตู้สถานีสับเปลี่ยน และใช้การ์ดที่ผ่านการลงทะเบียนการใช้งานแล้ว แตะเพื่อเปิดประตูตู้ ในตู้จะมีช่องที่มีแบตเตอรี่ที่ชาร์จอยู่ และมีช่องว่าง 1 ช่อง สำหรับใส่แบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้ว

เมื่อผู้ใช้งานใส่แบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วลงในช่องว่าง ระบบจะทำการเลือกแพ็กแบตเตอรี่ที่ชาร์จเต็มแล้วให้อัตโนมัติ โดยจะเด้งขึ้นจากช่อง สามารถหยิบออกมาและนำมาใส่กลับลงในช่องที่มอเตอร์ไซค์ได้เลย ปิดเบาะลง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ทั้งหมดใช้เวลาในการสับเปลี่ยนไม่เกิน 5 นาที 

ทางโครงการได้รับอาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานีบริการ มีผู้ที่มีความสนใจด้านยานยนต์ไฟฟ้า ให้ความสนใจมาสมัครจำนวนมาก ส่วนมากจะเป็นไรเดอร์ผู้ให้บริการส่งอาหารหรือส่งของ ส่วนวินมอเตอร์ไซค์นั้นยังมีข้อจำกัด เนื่องจาก ยังรถมอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นทะเบียนรถทดสอบ หรือ Test Car ไม่สามารถใช้ให้บริการผู้โดยสารได้

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Waymo ผนึกกำลัง Uber ร่วมพัฒนาแท็กซี่หุ่นยนต์

PICO เปิดตัว PICO 4 ชุดอุปกรณ์ VR แบบ All-in-One รุ่นแรกที่เข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ