TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้า ส่งผลให้ ปี 65 ตลาดโปรตีนทางเลือก อาจโตแค่ 5.1%

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้า ส่งผลให้ ปี 65 ตลาดโปรตีนทางเลือก อาจโตแค่ 5.1%

ด้วยค่าครองชีพและกำลังซื้อที่กดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประกอบกับการแข่งขันกับอาหารโปรตีนทั่วไปที่มีหลากหลายระดับราคาและช่องทางการจำหน่าย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารเริ่มเข้าสู่ตลาดมาระยะเวลาหนึ่ง อาจยังเผชิญความท้าทายในการเพิ่มปริมาณการบริโภคเพื่อเสริมหรือทดแทนมื้ออาหารหลักในกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่หรือตลาด Mass

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในปี 2565 มูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ น่าจะอยู่ที่ 4,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 5.1% ซึ่งน้อยกว่าที่เคยคาดไว้เดิม

อย่างไรก็ดี ด้วยศักยภาพในตัวสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์การบริโภคเรื่องสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการรุกเข้าสู่ตลาดนี้อย่างจริงจังของผู้ประกอบการจำนวนมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ตามมาทั้งในมิติของรสชาติ ราคา ช่องทางจำหน่าย ทำให้คาดว่ามีโอกาสที่อัตราการบริโภคสินค้ากลุ่มนี้จะยังขยายตัวในระยะข้างหน้า

ภายใต้แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่เร่งตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การวางแผนใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นไปอย่างความระมัดระวังมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่สินค้าในหมวดอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นหรือคิดเป็นสัดส่วนราว 36% ของรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทย

ราคาสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มโปรตีนทั่วไป

ทั้งนี้ อาหารเพื่ออนาคต (Future Food) อย่างโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหาร แม้จะเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารที่อยู่ในกระแสการบริโภคของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเติบโตได้จากการตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและแรงหนุนจากเทรนด์รักสุขภาพ การเข้าถึงช่องทางการขายที่เพิ่มขึ้น (ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ช่องทางออนไลน์ ธุรกิจร้านอาหาร) ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของจำนวนผลิตภัณฑ์ ผู้เล่นในตลาดและจำนวนผู้ที่ให้การตอบรับสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค Flexitarian (ผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น)

แต่ด้วยลักษณะของสินค้าที่ยังคงมีราคาไม่ได้ถูกกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าอาหารกลุ่มโปรตีนทั่วไป ที่มีหลากหลายให้ผู้บริโภคเลือกซื้อหาได้อย่างสะดวก ดังนั้น ท่ามกลางกำลังซื้อและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงเป็นข้อจำกัดของการเพิ่มยอดขายหรือฐานลูกค้าใหม่สำหรับสินค้าโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหาร โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ซื้อที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง ตลอดจนผู้บริโภคเป้าหมายซึ่งยังเป็นเพียงผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่มีจำนวนไม่มากในไทย (อาทิ กลุ่มผู้ออกกำลังกาย กลุ่มรักสุขภาพ-ควบคุมอาหาร กลุ่มรักสิ่งแวดล้อม ฯลฯ) ซึ่งก็อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคไปตามกำลังซื้อได้เช่นกัน

นอกจากประเด็นเรื่องของกำลังซื้อผู้บริโภค และการแข่งขันกับอาหารโปรตีนทั่วไปแล้ว การดำเนินธุรกิจโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในปี 2565 ยังมีความท้าทายสำคัญจาก

  1. การแข่งขันที่เริ่มรุนแรงจากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กมากกว่ารายใหญ่: เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะระบบการผลิตที่ครบวงจร การผลิตที่ประหยัดต่อขนาด มีช่องทางจัดหน่ายของตนเองครอบคลุมทั่วประเทศ จึงทำราคาสินค้าได้ดี-แข่งขันได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กมักเผชิญกับข้อจำกัดดังกล่าว จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตและค่าการตลาด อาทิ ค่า GP หรือค่าส่วนแบ่งการขาย เป็นต้น ที่สูงกว่าและเข้าถึงผู้บริโภคได้ยากกว่า ทำให้คาดว่าในระยะต่อไป การขับเคลื่อนของธุรกิจจะยังมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ การปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก อาจอยู่ที่การรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง หรือการพิจารณาร่วมพัฒนาธุรกิจกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจและผลักดันการเติบโตของตลาดนี้
  2. ความเสี่ยงจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น: วัตถุดิบหลักในการผลิตโปรตีนทางเลือกของไทย ส่วนใหญ่ยังมาจากถั่วเหลือง และไทยยังพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ราคาธัญพืชโลก ราคาพลังงานและค่าขนส่งที่ยังมีแนวโน้มขยับขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปี 2565 อาจทำให้ธุรกิจมีภาระต้นทุนที่ขยับสูงขึ้น ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าการพัฒนาวัตถุดิบทางเลือกน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งการเลือกใช้วัตถุดิบใดๆ คงต้องคำนึงถึงต้นน้ำหรือระบบการผลิตที่ต้องมีความมั่นคงเพียงพอในระยะยาวและอาจคำนึงถึงวัตถุดิบท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์เพื่อสร้างความแตกต่างควบคู่ไปด้วย

เงินเฟ้อ ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตต่ำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากไม่มีผลของภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่เร่งตัวสูงจากภาวะเงินเฟ้อ ในปี 2565 ตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารอาจเติบโตได้ราว 7.0% จากปีก่อน แต่จากปัจจัยท้าทายที่เกิดขึ้นในตลาด ทั้งในเรื่องของกำลังซื้อและภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารอาจมีมูลค่าประมาณ 4,100 ล้านบาท ขยายตัวได้ราว 5.1% ซึ่งเป็นการเติบโตจากฝั่งราคาเป็นหลัก(ขยายตัว 8.2%) และอัตราการเติบโตนี้ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเติบโตของอาหารในกลุ่มโปรตีน ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 8.8% ในปีนี้

ขณะที่ปริมาณการบริโภคโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารในภาพรวมอาจหดตัว (ติดลบ 3.1%) เพราะผู้บริโภคควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้น โดยการเลือกซื้ออาหารทั่วไปที่ราคาถูกกว่าและหาซื้อได้ง่ายกว่าอย่างไรก็ดี ด้วยศักยภาพของสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์บริโภคเรื่องสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม ประกอบกับการรุกเข้าสู่ตลาดนี้อย่างจริงจังของผู้ประกอบการหลายราย ทั้งกลุ่มผลิตอาหารและผู้ประกอบการที่เดิมไม่ได้อยู่ในธุรกิจผลิตอาหารอย่าง กลุ่มพลังงานและค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นตามมา ทั้งในมิติของรสชาติที่ถูกปาก ราคาที่แข่งขันได้ ช่องทางจำหน่ายที่ทั่วถึง ทำให้คาดว่ามีโอกาสที่อัตราการบริโภคสินค้ากลุ่มนี้จะยังขยายตัวในระยะข้างหน้า

ขณะที่ช่องว่างทางการตลาดสำหรับตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในไทยยังมีอีกมาก เพราะมูลค่าตลาดของอาหารกลุ่มนี้ยังมีสัดส่วนน้อยหรือเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับตลาดอาหารในกลุ่มโปรตีนทั้งหมดในไทยที่คาดว่าในปี 2565 จะมีมูลค่ากว่า 7.16 แสนล้านบาท

แนะ มองหาตลาดส่งออก

ภายใต้ความท้าทายของตลาดในประเทศ การมองหาตลาดส่งออกเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการขยายตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหาร เพราะการตอบรับในตัวสินค้าของผู้บริโภคในต่างประเทศมีค่อนข้างสูงกว่าตลาดในประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ที่สามารถเติบโตได้ดี ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งในส่วนของโปรตีนทางเลือกจากพืช (มูลค่าการส่งออกราว 628.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.5% YoY) ซึ่งมีตลาดศักยภาพสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและอาเซียน เป็นต้น และโปรตีนจากแมลง (มูลค่าการส่งออกราว 129.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 25.0% YoY) ซึ่งมีตลาดศักยภาพส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยียม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในการขยายตลาดส่งออกก็อาจมีค่าใช้จ่ายและการแข่งขันกับสินค้าอาหารในประเทศปลายทางที่สูงเช่นกัน นอกเหนือจากโจทย์ด้านการเพิ่มรอบของการบริโภคเพราะอายุของผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มแช่เย็นแช่แข็งที่ค่อนข้างยาว ดังนั้น การศึกษาโอกาสทางการตลาดเชิงลึกที่รอบด้าน ควบคู่กับการชูจุดแข็งในสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น เมนูอาหารไทย อาหารทะเลจากพืช เป็นต้น กระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการสร้างเรื่องราวที่จูงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย จะยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

หลักทรัพย์บัวหลวง เปิดซื้อขาย DR CN01 และ CNTECH01 ในตลาดหุ้นไทยแล้ววันนี้

ต้นทุนพลังงานไฟฟ้า โอกาสหรือความท้าทาย? พาไทยสู่ “ดิจิทัลฮับ” ในอาเซียน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ