TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyAIS eSport ดันไทยสู่ eSport Hub ของ SEA

AIS eSport ดันไทยสู่ eSport Hub ของ SEA

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอไอเอส คือ หนึ่งในเอกชนที่มีส่วนร่วมในการสร้างระบบนิเวศอีสปอร์ต (e-sport) ในประเทศไทยให้เติบโตมาตลอดเกือบ 3 ปี ภายใต้แบรนด์ AIS eSport ซึ่งพันธกิจเรือธงหนึ่งของเอไอเอส โดยมีหมุดหมายที่จะพาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจของอีสปอร์ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ภายใน 3 ปีข้างหน้า 

รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการพันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ AIS กล่าวว่า เป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น eSport Hub ใน SEA จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการส่งเสริมและยกเวทีการแข่งขันในระดับประเทศและระดับโลก 

การผลักดันให้ประเทศไทยเป็น eSport Hub ใน SEA จะต้องขับเคลื่อนระบบนิเวศอีสปอร์ตในประเทศไทย ที่จะมีเวทีการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และในระดับโลก ที่ไม่ใช่แค่เครือข่ายและอุปกรณ์ แต่รวมถึงผู้จัด นักพากษ์ สถานที่การแข่งขัน การสตรีมมิ่ง การถ่ายทอดสด การจำหน่ายตั๋ว และผู้สนับสนุนการแข่งขัน เป็นต้น 

“การแข่งขันอีสปอร์ตสามารถเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอลและกีฬาประเภทอื่น ๆ ซึ่งในประเทศไทยระบบนิเวศยังไม่เติบโตเต็มที่ ที่เติบโตมากในปัจจุบันคือเกมอินฟลูเอนเซอร์และเกมสตรีมเมอร์ เอไอเอสยังมีงานให้ทำอีกมากในการขับเคลื่อนระบบนิเวศอีสปอร์ต” รุ่งทิพย์ กล่าว

บทบาทของเอไอเอส คือ การสร้างระบบนิเวศให้กับวงการอีสปอร์ตในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการเปิดโอกาส สร้างเวที และให้ความรู้กับเยาวชน ด้วยการทำงานกับพันธมิตรขับเคลื่อนผ่านสถาบันการศึกษา ทั้งการจัดเวทีการแข่งขันและการเข้าไปจัดอบรมให้ความรู้ การสนับสนุนโดยตรงจากเอไอเอสในส่วนของเครือข่ายทั้งไฟเบอร์และ 5G และอุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ อุปกรณ์สำหรับเกมเมอร์ (Game Gear) และอุปกรณ์เครือข่ายไฟเบอร์สำหรับเกมเมอร์ รวมถึงการเผยแพร่อีสปอร์ตผ่าน AIS Play และ live streaming ช่องทางต่าง ๆ 

“นอกจากการจัดการแข่งขัน เรายังจัดกิจกรรมต่าง ๆ สนับสนุนระบบนิเวศ อาทิ Game Expo ใน Mobile Expo จัด Game Award และจัดให้มี eSport Studio (AIS eSport Studio ที่สามย่านมิตรทาวน์) และการดึงเด็กรุ่นใหม่มาเป็น Game Caster เป็นต้น” 

อีกกิจกรรมที่เอไอเอสให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ การเข้าไปทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยจัดการแข่งขันภายในโรงเรียน หรือภายในมหาวิทยาลัย ผ่านการให้ความรู้ สนับสนุนเเครือข่ายและอุปกรณ์การแข่งขัน สนับสนุนสถานที่ในการแข่งขัน รวมถึงให้เงินสนับสนุนการจัดแข่งขัน เป็นต้น 

สิ่งที่ยังไม่ได้ทำและอยากจะทำ คือ การนำองค์ความรู้ด้านอีสปอร์ตเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบุคลากรด้านนี้ให้มากขึ้น

“เราจะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอีสปอร์ตผ่านการทำงานทั้ง 4 แกน คือ connect คือ เครือข่ายและอุปกรณ์, complet คือ จัดเวทีการแข่งขัน education คือ การให้ความรู้ การสนับสนุนสถาบันการศึกษาเรื่องอีสปอร์ต และ share การสร้างการรับรู้เรื่องอีสปอร์ตในวงกว้าง ทั้งหมดนี้จะช่วยขับเคลื่อนไทยสู่ eSport Hub และสร้างเส้นทางอาชีพให้น้อง ๆ นักกีฬาอีสปอร์ต” รุ่งทิพย์ กล่าว

จัดการแข่งขัน เปิดเวที สร้างโอกาส 

กิจกรรมยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมอีสปอร์ต คือ การจัดการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาเอไอเอสจัดเวทีการแข่งขันในรูปแบบที่แตกต่างกันจนถึงปัจจุบันมีการจัดการแข่งขันใน 5 เวที คือ C Series การแข่งขันอีสปอร์ตสำหรับบุคคลทั่วไป , S Series การแข่งขันอีสปอร์ตสำหรับเด็กมัธยม, U Series การแข่งขันอีสปอร์ตสำหรับเด็กมหาวิทยาลัน, Open Series การแข่งขันอีสปอร์ตสำหรับนักกีฬาอีสปอร์ตกึ่งมืออาชีพ และ Pro Series คือ การแข่งขันอีสปอร์ตสำหรับนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพ 

ปี 2564 ที่ผ่านมาเอไอเอส จัดกิจกรรมและการแข่งขันบนออนไลน์ทั้งหมด และบางกิจกรรมที่ต้องจัดออฟไลน์มีการเลื่อนออกไป แต่ระบบนิเวศอีสปอร์ตของ AIS eSport ในปีที่ผ่านมาเติบโต โดยในส่วนของปริมาณคนดู​อีสปอร์ตเพิ่มขึ้น 20-30% ซึ่งเติบโตจากจำนวนการแข่งขันที่มากขึ้น ทำให้คนรู้จักแบรนด์ AIS eSport มากขึ้น 

ปีนี้การแข่งขันและกิจกรรมต่าง ๆ จะมีเพิ่มมากขึ้น ประเดิมการจัดงานใหญ่ด้วยการทำงานร่วมกับสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย และพันธมิตรเอกชน คือ ดัชมิลล์ และบีลิงค์ มีเดีย จัด AIS eSport S Series 2022 by Dutch Mill เวทีอีสปอร์ตมัธยมระดับประเทศครั้งแรก ระหว่างวันที่ 15-31 ตุลาคม 2565

คาดว่าจะมีนักเรียนประมาณ 100 ทีมจากมากกว่า 60 โรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน โดยจะใช้เกม ROV (​Arena of Valor) ที่มีผู้เล่นลงทะเบียนมากถึง 31 ล้านคนในประเทศไทย เป็นเกมหลักในการแข่งขัน 

“AIS eSport S Series จัดครั้งแรกปี 2564 จัดแบบออนไลน์ มี 445 ทีมจาก 8 โรงเรียนในกรุเทพฯ เข้าร่วม ประสบความสำเร็จดี ปีนี้จึงขยายเป็นการแข่งขันระดับประเทศ” รุ่งทิพย์ กล่าว

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เอไอเอสร่วมกับสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยในการแข่งขันอีสปอร์ตสำหรับเด็กมัธยม (S Series) ซึ่งที่ผ่านมาเอไอเอสทำงานร่วมกับสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยในการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตระดับมืออาชีพมาโดยตลอด 

“เราเปิดโอกาส เปิดเวที เพื่อสรรหาดาวรุ่งเข้าสู่วงการ ทางสมาคมฯ รับไม้ต่อนำไปปั้นต่อจนเป็นนักกีฬาทีมชาติต่อไป” รุ่งทิพย์ กล่าว

สันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทของสมาคมฯ คือ การรับไม้ต่อในส่วนของการปั้นนักกีฬาอีสปอร์ตทีมชาติ จากการสรรหานักกีฬาฝีมือดีจากการเวทีการแข่งขันต่าง ๆ มาฝึกและปั้นให้เป็นนักกีฬาทีมชาติ ปัจจุบันอีสปอร์ตเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูง และเป็นกีฬาที่ถูกบรรจุในการแข่งขันระดับชาติ สมาคมฯ ให้ความสำคัญและการสนับสนุนการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อสรรหาและปั้นนักกีฬาอีสปอร์ตที่มีศักยภาพให้เป็นนักกีฬาอีสปอร์ตทีมชาติไทย เพื่อไปแข่งขันในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป 

“ภาพลักษณ์เด็กติดเกมเริ่มหายไป พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียนมีความเข้าใจและส่งเสริมอีสปอร์ตมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายอีกมากมาย ทั้งการปลุกจิตสำนึกการเล่นเกม ทักษะการแข่งขัน การรู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัย การเล่นกีฬาอีสปอร์ตเป็นอาชีพ และการสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียง” สันติ กล่าว

จำนวนนักกีฬาที่เป็นระดับโปรยังมีจำนวนคงที่ เนื่องจากทัวร์นาเมนท์หลัก ๆ คงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ระดับสมัครเล่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในจังหวัดที่ สมาคมฯ​ เดินทางไปจัดสัมนามาแล้ว อาทิ ภูเก็ต ศรีสะเกษ สกลนคร สมุทราปราการ และสงขลา รวมแล้วเพิ่มหลักพัน 1500-2000 คน

อย่างไรก็ดี การจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอีสปอร์ตที่สามารถสร้างเม็ดเงินเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย รุ่งทิพย์ กล่าวว่า เอไอเอสเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เริ่มจากภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมอีสปอร์ต ภาคเอกชนส่วนต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมได้ ทั้งเรื่องการจัดการแข่งและการจัดสถานที่  สนับสนุนการสร้างเกมของประเทศไทยเอง และการสนับสนุนเงินรางวัลหรือเงินอัดฉีด ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยสร้างผลงานไว้ดีมาก จนสามารถคว้าเหรียญอีสปอร์ตจาการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 มาได้รวม 6 เหรียญ (2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง) และพาประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ของตารางคะแนนเหรียญ ตามหลังเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปินส์

“พัฒนาการดีขึ้นในภาพรวม ไม่นับแค่ซีเกมส์ แต่ในซีเกมส์พลาดเหรียญทองที่ควรจะได้ไป 2 เหรียญ มาจากความประมาท เรามั่นใจมากในเกม pubg ระบบการจัดการแข่งขันที่ไม่ได้มาตารฐาน ของเกม free fire ปีที่แล้ว 2 ทอง 2 เงิน ปีนี้ 2 ทอง 1 เงิน 3 ทองแดง สรุป ผลงานต่ำกว่าปี 2562 ที่ฟิลิปปินส์” สันติ กล่าว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ