TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessVirgin Galactic ทดสอบเที่ยวบินสุดท้าย ก่อนให้บริการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ ราคาเริ่มต้นหลักสิบล้านบาท

Virgin Galactic ทดสอบเที่ยวบินสุดท้าย ก่อนให้บริการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ ราคาเริ่มต้นหลักสิบล้านบาท

เข้าใกล้ความจริงไปอีก สำหรับการท่องอวกาศของมนุษย์ เมื่อในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เวอร์จิน กาแล็กติก (Virgin Galactic) บริษัทท่องเที่ยวอวกาศของ ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) ประกาศความสำเร็จในการทดสอบเที่ยวบินท่องอวกาศครั้งสุดท้ายเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกือบสองปีหลังจากที่ทางเวอร์จินฯ เริ่มต้นทดสอบการบินเป็นครั้งแรกในปี 2021 

ทำให้ขณะนี้ เวอร์จิน กาแล็กติก อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์แก่ลูกค้าในเร็ว ๆ นี้ 

ทั้งนี้ เวอร์จินฯ ได้ประกาศความสำเร็จดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า “เรามาถึงอวกาศแล้ว!” (“WE HAVE REACHED SPACE!”) ก่อนเสริมว่า ยานอวกาศได้แล่นลงจอดพื้นดินอย่างราบรื่นหลังจากถึงอวกาศในอีกราว 11 นาทีถัดมา 

การทดสอบครั้งนี้เป็นการบินรอบที่ 5 ในภารกิจการบินอวกาศ Unity 25 โดยการปล่อยยานอวกาศมีขึ้นที่ฐานปล่อยจรวดใน สเปซพอร์ท อเมริกา (Spaceport America) ทางตอนใต้ของนิว เม็กซิโก (New Mexico) ซึ่งถือเป็นเที่ยวบิน “การประเมินขั้นสุดท้าย” โดยมีพนักงานของเวอร์จิน กาแล็กติก 6 คน รวมนักบิน 2 คน อยู่บนเครื่องบินสำหรับการเดินทางระยะสั้นสู่ขอบอวกาศครั้งนี้

รายงานระบุว่า การเดินทางทั้งหมดนับตั้งแต่การปล่อยยานจากฐานปล่อยจรวดจนกระทั่งกลับถึงฐานกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยเครื่องบินขนส่ง VMS Eve ซึ่งบรรทุกยานอวกาศ VSS Unity ของเวอร์จิน ขึ้นบินในเวลาประมาณ 11.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ไปยังความสูงที่ 44,500 ฟุตจากระดับพื้นดิน ก่อนที่จะทำการปล่อยจรวดมอเตอร์ เพื่อส่งยานออกสู่อวกาศครั้งสุดท้ายที่ความสูงห่างจากฟื้นดินที่ 286,176 ฟุต ซึ่งเป็นความสูงที่สหรัฐฯ กำหนดให้เป็นขอบเขตของอวกาศ 

สำหรับการแตะขอบอวกาศครั้งนี้ ทำให้ผู้โดยสารในยานได้สัมผัสกับสภาวะไร้น้ำหนักอยู่สักพักก่อนเดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย 

ทั้งนี้ การท่องอวกาศของเวอร์จิน เป็นการท่องอวกาศในแบบที่พาไปแตะขอบอวกาศ ซึ่งเที่ยวบินอวกาศประเภทนี้ช่วยให้ผู้โดยสารอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักได้ราว 2-3 นาที ซึ่งแตกต่างจากเที่ยวบินโคจรส่วนตัว (private orbital flights) ที่ดำเนินการโดย สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัททัวร์อวกาศของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่ใช้เวลานานกว่า ยากกว่า และแพงกว่า

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ ทางเวอร์จินฯ ไม่ได้มีการไลฟ์สตรีมเที่ยวบินต่อสาธารณะแบบเรียลไทม์ เหมือนครั้งก่อนที่มี ริชาร์ด แบรดน์สัน ผู้ก่อตั้งโดยสารไปด้วยในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 กระนั้น ทางบริษัทก็มีการอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าของ Unity 25 บนโซเชียลมีเดียให้ติดตามแทน

แม้จะไม่ได้ระบุรายละเอียดของวันที่แน่นอน แต่อ้างอิงจากการเปิดเผยก่อนหน้านี้ ทางเวอร์จิน กาแล็กติก กล่าวว่า ทางบริษัทมีเป้าหมายที่จะบินภารกิจเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกใน “ปลายเดือนมิถุนายน”

สำหรับนักบิน 2 คน คือ Mike Masucci และ CJ Sturckow จาก เวอร์จิน กาแล็กติก ส่วนผู้โดยสารประกอบด้วย หัวหน้าผู้สอนอวกาศ Beth Moses, ผู้สอนนักบินอวกาศ Luke Mays, ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรม Christopher Huie และผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการสื่อสารภายใน Jamila Gilbert

ภารกิจ Unity 25 เป็นตัวแทนของช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของเวอร์จิน กาแลกติก ซึ่งประสบกับความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้การพัฒนาระบบการบินในอวกาศล่าช้าออกไป โดยรวมถึงการระเบิดของเครื่องยนต์จรวดบนพื้นดินในปี 2007 ซึ่งทำให้พนักงานของเวอร์จินฯ และผู้รับจ้างผลิต Scaled Composites เสียชีวิต 3 คน ตลอดจนอุบัติเหตุของ VSS Enterprise ยาน SpaceShipTwo ลำแรก ในปี 2014 ที่ทำให้  Michael Alsbury นักบินร่วมจาก Scaled เสียชีวิต ส่วน Peter Siebold นักบิน ได้รับบาดเจ็บ

เรียกได้ว่า ความสำเร็จในการเดินทางขึ้นสู่อวกาศของ แบรนสัน ผู้ก่อตั้งเวอร์จิน กาแล็กติคครั้งแรกในปี 2021 เกิดขึ้นหลังจากความพยายามอย่างต่อเนื่องกว่า 17 ปี ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

หลังจากประสบความสำเร็จในการเดินทางท่องอวกาศของแบรนสัน ทาง เวอร์จิน กาแล็คติคได้หยุดดำเนินการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความพร้อมทั้งหมด โดยเบื้องต้น เวอร์จิน กาแล็คติคตั้งใจว่ากระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 8-10 เดือน แต่สุดท้ายก็ใช้เวลาเกือบ 16 เดือนกว่าที่จะสามารถทำการทดสอบเที่ยวบินเที่ยวสุดท้ายนี้ได้ 

ทว่า หนทางความสำเร็จในเชิงธุรกิจของเวอร์จิน กาแล็กติค ยังถือว่าอยู่อีกห่างไกล 

ปัจจุบัน เวอร์จิน กาแล็กติค ยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่มีความหมาย และการจะทำเช่นนั้นได้ บริษัทจำเป็นต้องบินเที่ยวบินอวกาศเป็นประจำ และแม้ว่าขณะนี้บริษัทจะมีเงินสดและหลักทรัพย์เกือบ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ในมือ แต่การเผาผลาญเงินสดรายไตรมาสที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อลงทุนพัฒนาขยายกองยานอวกาศ เป็นสิ่งที่ต้องลุ้นกันต่อไปว่า แบรนสัน จะสามารถประคอง เวอร์จิน กาแล็กติค ไปตลอดรอดฝั่งได้หรือไม่ 

ยิ่งไปกว่านั้น การทัวร์อวกาศในเชิงพาณิชย์หมายความว่า บริษัทจะต้องมีเที่ยวบินให้บริการในตลาดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ยานอวกาศที่มีอยู่ในปัจจุบันและความพร้อมในด้านเชื้อเพลิง ยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงปี 2026

ทั้งนี้ ยาน VSS Unity ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับผู้โดยสารสูงสุด 6 คน พร้อมกับนักบิน 2 คน โดยขณะนี้ เวอร์จิน กาแลคติกเปิดเผยว่า บริษัทได้รับการจองตั๋วแล้ว 600 ใบสำหรับเที่ยวบินท่องยานอวกาศที่จะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งราคาจำหน่ายครั้งแรกที่มีการออกขายอยู่ที่ระหว่าง 200,000 – 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบ (ราว 6,948,000 – 8,685,000 บาท) อย่างไรก็ตาม ในการเปิดขายตั๋วอีกครั้งในปี 2021ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 450,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อที่นั่ง (ราว 15,633,000 บาท) ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าราคาค่าตั๋วท่องอวกาศในช่วงแรกไม่น่าจะห่างจากราคาขายครั้งล่าสุดสักเท่าไรนัก 

ที่มา CNBC

‘สเปซเอ็กซ์’ ส่งดาวเทียมอินเทอร์เน็ต ‘สตาร์ลิงก์’ สู่อวกาศเพิ่ม 46 ดวง

GISTDA ชูเศรษฐกิจอวกาศ สร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-ฝรั่งเศส

NIA ผนึกพันธมิตร ต่อยอดธุรกิจอวกาศและอากาศยาน ตั้งเป้าดันสตาร์ตอัพไทยสู่อุตสาหกรรมโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ