TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessสยามคูโบต้า ชูนวัตกรรม-เทคโนโลยี หนุนเติบโตยั่งยืน เพิ่มผลผลิต-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สยามคูโบต้า ชูนวัตกรรม-เทคโนโลยี หนุนเติบโตยั่งยืน เพิ่มผลผลิต-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สยามคูโบต้า คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เปิดเผยทิศทางตลาดเครื่องจักรกลทางการเกษตรไทยในปี 2565 เชื่อตลาดยังสามารถเติบโตไดอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 โดยมีกุญแจสำคัญอย่าง “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ที่จะเป็นตัวผลักดันเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรไทยให้เติบโตได้อยางยั่งยืน ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของการช่วยเพิ่มผลผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “Essentials Innovator for Supporting Life” พร้อมตั้งเป้ารายได้ของบริษัทปีนี้ที่ 63,000 ล้านบาท

ทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยระหว่างงานแถลงข่าวออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า ภาพรวมของธุรกิจสยามคูโบต้าในปี 2564 ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ แม้จะเผชิญหน้ากับปัจจัยท้าทาย ตั้งแต่วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปจนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยภาพรวมของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 22% ส่วนหนึ่งเพราะได้ปัจจัยบวกมาจากสภาพอากาศที่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ส่งให้ผลประกอบการของสยามคูโบต้าในปี 2564 เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ารวม 69,00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ก่อนหน้าประมาณ 30%

ขณะเดียวกัน ตลาดยังปัจจัยบวกมาจากการที่แรงงานนอกภาคการเกษตรตัดสินใจหวนคืนถิ่นกลับเข้าสู่ภาคการเกษตรเพื่อต่อยอดการทำเกษตรของครอบครัว ทำให้มีความต้องการซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้งานมากขึ้น ซึ่งสินค้าหลัก คือ กลุ่มแทรกเตอร์ และรถเกี่ยวนวดข้าว รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ซึ่งมีการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ในขณะเดียวกันราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2565 นี้ ทาง อะซึมะ ยอมรับว่า ตั้งเป้ารายได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาคือ 63,000 ล้านบาท เพราะมีปัจจัยเสี่ยงให้ต้องวิตกกังวล ทั้งความไม่ชัดเจนของงบประมาณภาครัฐที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ และความเสี่ยงจากสภาพอากาศ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภัยแล้ง โดยรวมแล้วยอดขายในปีนี้ก็น่าจะยังสามารถเติบโตได้เท่ากับที่ตั้งเป้าไว้เมื่อเทียบกับปี 2563 จากแนวโน้มภาคการเกษตรที่ยังอยู่ในความสนใจของเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ทำให้ยังคงมีกำลังซื้อเครื่องจักรกลเกษตรในตลาดอยู่ บวกกับที่ประเทศจีนมีความต้องการสินค้าเกษตรไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อยอดการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของอะซึมะ นวัตกรรมและเทคโนโลยี จะเป็นอาวุธลับสำคัญที่จะผลักดันให้สยามคูโบต้า สามารถสานต่อนโยบายของคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ในการทำให้คูโบต้าเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก หรือ Global Major Brand (GMB) ภายในปี 2573

“สยามคูโบต้าเชื่อว่า ในปี 2565 จะเป็นเทรนด์แห่งการเกษตรสมัยใหม่ Smart Farm เราจึงร่วมกับ เอสซีจี และคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท “เกษตรอินโน (KasetInno)” ให้บริการโซลูชันการเกษตรครบวงจร ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และระบบ IoT ที่ทันสมัย เพื่อให้การทำเกษตรก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ความเป็นไปได้สำหรับทุกคน” อะซึมะกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า

สยามคูโบต้าวางเป้าหมายเป็น “Essentials Innovator for Supporting life” สร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับลูกค้าที่มีทั่วโลก ควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรที่ตอบแทนสังคม คือทำธุรกิจด้วยการพัฒนาสินค้าเพื่อสานต่อความยั่งยืนทั้งด้านอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ทาง วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส เปิดเผยทิศทางของตลาดจักรกลเกษตรในปี 2565 ว่า ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรน่าจะยังเติบโตต่อไปได้ด้วยเพราะกระแสโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ทำให้สินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลายเป็นแรงหนุนให้เกษตรกรหันมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น กลายเป็นผลดีต่อธุรกิจของคูโบต้าอีกทางหนึ่ง

ในส่วนของแผนการตลาด วราภรณ์ยืนยันว่า สยามคูโบต้าจะยังคงให้ความสำคัญกับโครงการที่ตอบแทนคืนสู่สังคม เช่น โครงการ KUBOTA On Your Side ที่เข้าไปช่วยเหลือและร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในวิกฤติโควิด-19 หรือโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา เพื่อลดมลภาวะ PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน สยามคูโบต้ายังตั้งเป้าสนับสนุนไลน์สินค้าที่จะเป็นโซลูชันของการทำฟาร์มในอนาคต หมายถึง เป็นการทำฟาร์มเพาะปลูกที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ลดการปล่อยก๊าซและของเสียเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด และดูแลใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสั่งคม

ทั้งหมดเป็นการขับเคลื่อนองค์การภายใต้นโยบาย ESG  (Environmental, Social, Governance) ซึ่งหมายถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลที่ดี กล่าวคือ สยามคูโบต้าตั้งมั่นทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อ 3 มิติ คือ 1) ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) นำเอาเทคโนโลยีผสานองค์ความรู้ มาช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการคูโบต้าฟาร์ม และเกษตรปลอดการเผา

2) ด้านสังคม (Social) ผ่านกิจกรรม CSR ที่มุ่งให้ช่วยเหลือสังคม ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเกษตรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ 27,000 ไร่ และมีเกษตรกรภายใต้โครงการกว่า 1,700 ราย รวมถึงการร่วมมือกับชุมชนขุดบ่อเพื่อให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง หาหนทางทำการเกษตรที่ช่วยลดรายจ่าย และช่วยเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย

และด้านสุดท้ายคือ ด้านที่ 3) บรรษัทภิบาล (Governance) เป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ บริหารงานอย่างโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ทั้งนี้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกษตรกรไทยอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีอีกทั้งยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้สยามคูโบต้าจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการน้ำและปุ๋ยที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ดิจิทัลแพลตฟอร์มส่งเสริมเกษตรแม่นยำ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยมลพิษลง โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero CO2 ในปี 2593 ตามแนวทางคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่น

“เรามีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อช่วงเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และคำนวนปริมาณทรัพยากรที่ต้องใช้ เพื่อให้การใช้ทรัพยากร อย่าง ดิน น้ำ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ คุ้มค่าคุ้มทุนมากที่สุด ยังไม่นับรวมถึงการทำฟาร์มสาธิต เพื่อให้เกษตรกรไทยเข้าใจและตระหนักว่า เครื่องมือจักรกลทางการเกษตรที่ดี สมาร์ท และกรีน ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นการทำการเกษตรได้อย่างไร” วราภรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ วราภรณ์ ยังย้ำว่า สยามคูโบต้ายังมีอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรไทย ด้วยการให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่เพื่อสร้าง young smart farmer คนรุ่นใหม่หัวใจเกษตกร โดยล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ “Renew your Agri-life together ก้าวสู่ชีวิตเกษตรใหม่ไปด้วยกัน” ซึ่งมุ่งสื่อสารแบรนด์ในฐานะผู้นำนวัตกรรมการเกษตรที่เข้าถึงหัวใจทุกคน ทั้งเกษตรกร กลุ่มคนรุ่นใหม่ และคนเมืองที่สนใจด้านการเกษตร

“เราหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างจุดเปลี่ยน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทำให้คนไทยได้สัมผัสการเกษตรในรูปแบบใหม่ ซึ่งสยามคูโบต้ามั่นใจว่าจะเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดทางภาคการเกษตรของไทยในอนาคต” วราภรณ์ กล่าว

ด้าน พิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ ระบุว่า เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตร และตลาดรถขุดเล็กของสยามคูโบต้าต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ผ่านมา ทางบริษํทในปีนี้จึงเตรียมแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชมูลค่าสูง

พิษณุได้ยกตัวอย่างสินค้าใหม่ที่เตรียมนำเข้ามา เช่น เครื่องตัดหญ้าเนเปียร์ สำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมและพลังงานชีวมวล และรถแทรกเตอร์ B2401 พร้อมเครื่องตัดหญ้าใต้ท้องรถ (Mid mower)

ขณะเดียวกัน ในปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยที่เติบโตสูงถึง 60% ส่งผลให้เกษตรกรหันมาเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนโตขึ้นเฉลี่ย 10% ความต้องการใช้เครื่องจักรกลจึงเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งสยามคูโบต้ายังมีการพัฒนารถดำนาเดินตาม 6 แถวใหม่ และสามารถขยายฐานลูกค้าสู่นอกภาคเกษตรอย่างรถกระบะบรรทุกหนัก

เท่านั้นยังไม่พอ สยามคูโบต้ายังวางมาตรการเชิงรุกเพื่อบุกตลาดน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล ภายใต้แบรนด์ตราช้าง ซุปเปอร์ คอมมอนเรล โดยอาศัยกลยุทธ์การทำการตลาดแบบ Personalized Marketing รวมถึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) เพื่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ยกตัวอย่างเช่น ระบบ QROC หรือ Quick Response Operational Center ที่คอยตอบคำถามเพื่อสนับสนุนการทำงานของช่างซ่อมบำรุงต่าง ๆ บริการผ่านช่องทางไลน์ หรือ ระบบ Scan QR code เพิ่มความสะดวกสบายในการจ่ายค่าบริการที่หน้างานของลูกค้า รวมถึงการเพิ่มฟีเจอร์แชทสอบถามข้อมูลอะไหล่ในเว็บไซต์ KUBOTA Store

“สินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นมาเป็นไปเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุม เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้าและรับบริการที่ดีเยี่ยม และสอดคล้องกับพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของลูกค้าในปัจจุบัน” พิษณุ กล่าว

นอกจากนี้ ทางสยามคูโบต้ายังมีแผนขยายศูนย์กระจายอะไหล่สยามคูโบต้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อีก 2 แห่ง ที่จังหวัดนครราชสีมา และฉะเชิงเทรา รองรับการจัดส่งอะไหล่แท้พร้อมถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วและอุ่นใจยิ่งขึ้น

ในส่วนของความท้าทาย พิษณุกล่าวว่า วิธีรับมือที่ดีที่สุด ก็คือ การเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรไทยแบบรอบด้าน ดังนั้น สยามคูโบต้าจึงยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “คูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ เฟส 2” เพื่อขยายจำนวนชุมชนต้นแบบบริหารจัดการเครื่องจักรแบบรวมกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพจากเฟสแรกที่มีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ 124 กลุ่ม ใน 48 จังหวัด ตลอดจนการตั้งเป้าเสริมศักยภาพด้านอื่น ๆ เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบมีความเข้มแข็ง เพื่อให้ภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความตั้งใจของสยามคูโบต้า

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เชฟรอน เปิดตัว Coder Camp ค่ายสร้างนักพัฒนาเว็บไซต์รุ่นใหม่ เตรียมความพร้อมสู่ตลาดอาชีพ

AP เผยปี 65 เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 65 โครงการ มูลค่า 78,000 ล้านบาท

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ