TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewHome Isolation ช่วยสาธารณสุขไทย ช่วยคนไทย เผชิญหน้าโควิด-19 อย่างปลอดภัย

Home Isolation ช่วยสาธารณสุขไทย ช่วยคนไทย เผชิญหน้าโควิด-19 อย่างปลอดภัย

ด้วยจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำสถิติพุ่งสุดสุดรายวัน กลายเป็นภาระหนักให้โรงพยาบาล โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มที่มีการระบาดรุนแรงอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในการรองรับและดูแลผู้ป่วยจำนวนมากมายมหาศาล แม้จะมีการสร้างโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลชั่วคราวเพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังไม่เพียงพอ เห็นได้จากรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาผู้ป่วยรอเตียงมากมาย 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดแนวคิด Home Isolation  และ Community Isolation ขึ้น เพื่อระบายความแออัดของโรงพยาบาล ด้วยการคัดแยกกลุ่มผู้ป่วยตามอาการป่วย คือ กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย กลุ่มสีเหลือง มีอาการปานกลางค่อนไปหนัก และกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักจำเป็นต้องได้รับการดูแลและอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด

รศ.นพ.ชลธิป พงศ์สกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์กลางบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวระหว่างเข้าร่วมรายการ The Story Talk ออนไลน์ใน หัวข้อ “Home Isolation: กักตัวอยู่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย” กล่าวว่า แนวคิด Home Isolation ไม่ใช่แนวคิดใหม่ อีกทั้งยังเป็นแนวคิดที่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันมาแล้วว่าได้ผลในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ไทยจึงรับแนวคิดนี้เข้ามา ด้วยเห็นว่ามากกว่า 80% ของผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มอาการน้อยที่สามารถให้ดูแลที่บ้านได้ เพื่อสงวนทรัพยากรให้ผู้ป่วยกลุ่มเหลืองและแดง ซึ่งทางจังหวัดขอนแก่นเริ่มทำมาได้ 1-2 สัปดาห์แล้ว 

โดยเงื่อนไขหลักของการทำ Home Isolation ก็คือ อาการน้อย อายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคร่วมที่สำคัญ เช่น โรคอ้วนหรือเบาหวาน มีบ้านเดี่ยวหรือที่พักอาศัยที่อยู่คนเดียวได้สะดวก ถ้าเป็นบ้านพักต้องมีคนอยู่ไม่เกิน 2-3 คน ถ้าเป็นคอนโดมิเนียมต้องขออนุญาตเจ้าของหอพัก ขณะกักตัวต้องใส่หน้ากากอนามัย แยกห้อง แยกของใช้ และเว้นระยะห่าง 2 เมตร ขณะที่การเริ่มต้นกักตัวที่บ้าน ต้องได้รับการตรวจสอบยืนยันว่าติดเชื้อโควิดจากการทำ PCR และเข้ามาอยู่ในความดูแลของทางโรงพยาบาลก่อน แล้วค่อยให้แพทย์วินิจฉัยว่าสามารถทำการกักตัวอยู่ที่บ้านได้หรือไม่ 

“หลังทราบว่าจะมีผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดหอพัก 26 ให้เป็นโรงพยาบาลสนาม หาระบบให้ผู้ป่วยวัดอุณหภูมิและวัดระดับอ็อกซิเจนด้วยตนเอง ใช้ระบบของกรมควบคุมโรค ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ แต่ก็มีปัญหาที่บางคนโทรศัพท์อาจจะรุ่นเก่าหน่อย ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เลยใช้อีกวิธีหนึ่งคือ Google Form ให้ผู้ป่วยบันทึกอาการและประวัติของตนเองส่งมา เพียงแต่วิธีนี้ไม่ค่อยสะดวกสำหรับคนไข้ที่ต้องคอยบันทึกตลอด ทำให้ทางมข.พัฒนาระบบของตนเองขึ้นมาใช้สำหรับ home isolation และสำหรับโรงพยาบาลสนามขึ้นมาโดยเฉพาะ” รศ.นพ.ชลธิช กล่าว

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้รับผิดชอบระบบสำหรับการทำ Home Isolation อธิบายว่า มข. พยายามทำตัวระบบให้กับทุกโรงพยาบาลในวิธีการที่จะเข้าถึงการรองรับ และเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้ป่วยทั้งทางกายและใจ เป็นการนำระบบ IT เข้ามาใช้

ทั้งนี้ องค์ประกอบด้านไอทีที่สำคัญของระบบ Home Isolation ผศ.ดร.เด่นพงษ์ ระบุว่า ต้องเป็นผู้ป่วยที่แอดมิทกับทางโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ เป็นกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการ หรือใกล้หาย ประเมินวิธีการเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือ โรงพยาบาลสนาม แล้วแอดไลน์ ออฟฟิสเชียล (LINE OA) ยืนยันการรายงานผลและสื่อสารกับแพทย์จนกว่าจะหายป่วย หรือถ้ามีอาการมากขึ้นก็ออกจากระบบเพื่อเข้าโรงพยาบาล

ขณะที่ในส่วนของ องค์ประกอบทางการแพทย์และสาธารณสุข นพ.ชลธิป กล่าวว่า ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยในการรักษาตัวที่บ้าน บวกกับอุปกรณ์ที่สามารถสื่อสารกับทางการแพทย์ เพื่อรายงานอาการ ค่าออกซิเจนในเลือดกับอุณหภูมิร่างกาย แจกให้ผู้ป่วยใช้งานเอง แล้วก็หาระบบให้ผู้ป่วยวัดแล้ว รายงานผล พร้อมสภาพอาการอื่น ๆ พร้อมระบบแจ้งเตือนให้แพทย์พยาบาลเข้าไปดูแลเป็นพิเศษได้ หากมีค่าอาการที่เป็นสัญญาณย่ำแย่

“เป็นการสื่อสารสองทาง ระหว่างแพทย์พยาบาล กับคนไข้ ได้ตลอดเวลา ประหนึ่ง คนไข้รักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม มีวีดีโอสาธิตการใช้อุปกรณ์ และวิธีการดูแลรักษาตัวเบื้องต้น เป็นระบบ telemedicine ที่ใช้งานได้จริง มข.ไม่ใช่รายแรกที่คิดค้นขึ้นมา ได้รับการดูแลเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล มีการดูแลคนไข้เบื้องต้นไม่ต่างกัน มีการเฝ้าติดตามคนไข้ผ่านจอมอนิเตอร์ มีการสั่งจ่ายยาตามอาการ มีบริการอาหารให้ถึงบ้าน 3 มื้อ ยาพื้นฐานและยาต้านไวรัสเท่าที่จำเป็น สถานะเป็นผู้ป่วยใน แต่รักษาที่บ้าน” รศ.นพ.ชลธิป กล่าว

นพ.ชลธิป ระบุว่า โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวจะใช้เวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันมีอาการ  โดยส่วนใหญ่จะพ้นสภาพผู้ป่วย แต่ก็ยังสามารถสื่อสารกับทีมแพทย์ได้ตลอดเวลา

โจทย์ใหญ่ของระบบต้องใช้งานง่าย 

จะเห็นได้ว่า หัวใจของการทำ Home Isolation คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลที่ช่วยให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ช่วยยกระดับแพทย์และโรงพยาบาลในการรับรองผู้ติดเชื้อได้อย่างทั่วถึง และเปิดโอกาสคัดแยกคัดกรองสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวว่า ความสามารถของทีมงานจะพัฒนาระบบให้หรูหราซับซ้อนอย่างไรก็ได้ แต่ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน ระบบที่ซับซ้อนอาจจะไม่เหมาะสมมากนักกับการใช้งานและการกระจายเทคโนโลยี

“จุดแรกที่เรามองไว้ คือ. การใช้งานให้ง่ายที่สุด ใช้ไม่เป็นก็ถ่ายรูปส่งมา เดี๋ยวเราแนะนำให้ว่าเป็นแบบไหน ดังนั้น วิธีการที่เหมาะและง่ายก็คือวิธีการที่เข้ามีอุปกรณ์อยู่แล้ว จึงเลือกแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) เป็นหลัก แล้วก็มี LINE Messaging API และได้ประสานกับ CTO ของไลน์ ประเทศไทย เพื่อขอคำแนะนำ ติดตามคำแนะนำเพื่อหาวิธีการ ควบคู่กับการปรึกษากับทางทีมแพทย์ สุดท้ายก็ออกมาเป็น แอปพลิเคชัน ไลน์ บวกกับเว็บไซต์ที่ดูแลหลังบ้าน แต่ interface หลักกับผู้ใช้คือ ไลน์ ตัวที่ง่าย เมื่อโรงพยาบาลแอดมิทเป็นคนไข้แล้ว ก็ช่วยแอดไลน์ ออฟฟิศเชียลขอระบบนี้ให้หน่อย เห็นเมนูก็ดำเนินการตามคำแนะนำ ซึ่งอันนี้คือเทคโนโลยีที่ง่ายที่สุดและตรงไปตรงมา” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว

ส่วนเทคโนโลยีที่สองที่นำมาใช้ คือ เทคโนโลยียืนยันตัวตน โดยใช้เลขหลังบัตรประจำประชาชนร่วมด้วย และ เทคโนโลยีต่อมา คือ การระบุตำแหน่ง โดยเชื่อมระบบฐานข้อมูลกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ระบุตำแหน่งผ่านมิเตอร์ไฟฟ้า เปรียบเทียบกับตำแหน่งจีพีเอสในมือถือ 

ระบบเทคโนโลยีทั้งหมด จึงทำให้คนไข้รู้สึกว่าได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่โรงพยาบาลก็อุ่นใจว่าสามารถให้การดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึง

โดย ผศ.ดร.เด่นพงษ์เปิดเผยว่า ตัวระบบใช้เวลาพัฒนาและติดตั้งประมาณ 1 อาทิตย์ แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลไหนที่สนใจใช้ระบบสามารถติดตั้งได้เลย และขณะนี้ทางทีมยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยมีแผนการเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดึงประวัติการฉีดวัคซีน หรือการจองวัคซีน 

“เทคโนโลยีเหล่านี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ และเอาเข้ามาเพื่อช่วยให้คุณหมอสามารถทำงานได้โดยที่ไม่เหนื่อยมาก และไม่ต้องใช้คนจำนวนมากในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ในขณะที่ทรัพยากร และบุคลากรทางการแพทย์ มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อให้สามารถรองรับกับผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น”

Home Isolation คือ พื้นฐานสำคัญของการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

ทั้งนี้ ระบบ Home Isolation ถือเป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานของ telemedicine ที่ทางแพทยสภาได้ออกระเบียบมาเมื่อกรกฎาคม 2563 หลังการระบาดระลอกแรก ซึ่ง นพ.ชลธิป อธิบายว่า มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ 

1) ต้องระบุตัวตนคนที่ใช้งานว่าเป็นคนไข้จริง เพราะว่าข้อมูลที่มีการรับส่งระหว่างคนไข้กับทางโรงพยาบาลเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่อนไหวมาก ดังนั้น จึงต้องมีการยืนยันตัวจริง โดยใช้ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน และเลขเลเซอร์ ไอดีหลังบัตร ซึ่งเชื่อมโยงกับกรมการปกครอง 

2) ต้องมีการยืนยันตัวตนของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทางแพทยาสภากำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นสถานพยาบาล ซึ่งองค์ประกอบชัดเจนว่ารพ.ศรีนครินทร์ มข.เป็นไลน์ ออฟฟิสเชียลของทางโรงพยาบาล 

3) ต้องมีการบันทึกการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับทางสถานพยาบาลไว้หมดทุกอย่าง ตั้งแต่สัญญาณชีพ ไปจนถึงคำแนะนำที่หมอและพยาบาลส่งไป ตรงตามมาตรฐาน ทุกอย่างอยู่ในระบบฐานข้อมูลไลน์ ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เชื่อมั่นได้ว่าระบบมีความปลอดภัย ถูกต้องตรงตามมาตรฐานกำหนดโดยแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุข

“ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่เป็นส่วนบุคคล แน่นอนว่า มีความปลอดภัย ไม่มีการรั่วไหลไปสู่ภายนอก และระบบเราตั้งใจจะให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ใช้งานได้ด้วย แต่แต่ละโรงพยาบาลก็จะเห็นข้อมูลเฉพาะของโรงพยาบาลตนเองเท่านั้น ไม่เห็นข้อมูลคนไข้ของโรงพยาบาลอื่น ดังนั้น มั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่หลุด ไม่รั่วไหล” ผศ.ดร.เด่นพงษ กล่าวเสริม

ขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กระจายระบบ Home Isolation ดังกล่าวเพื่อใช้ในโรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่นแล้วส่วนหนึ่งและกำลังขยาย ขณะเดียวกันก็มีโรงพยาบาลศรีนครินทร์,โรงพยาบาทสุทธาเวช มหาสารคาม, โรงพยาบาลห้วยเม็ก กาฬสินธ์, โรงพยาบาลส่วนตำบล (รพสต.) โรงพยาบาลบ้านหลวงที่ร้อยเอ็ด และล่าสุดโรงพยาบาลหลังสวน ชุมพร ซึ่งกำลังเริ่มดำเนินการติดตั้งแล้ว 

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวว่า เพิ่งมีคำสั่งจากสาธารณสุขขอนแก่น ให้โรงพยาบาลทุกแห่งที่มีอยู่กว่า 200 แห่งในจังหวัดขอนแก่นใช้ระบบนี้ และติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ (30 ก.ค.) ซึ่งเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จจะทำให้ทางจังหวัดเห็นว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไรในการรองรับผู้ป่วย Home Isolation และ Community Isolation  ต้องเพิ่มต้องขยายอย่างไร และกำลังขยายให้แต่ละจังหวัดสามารถส่งรายงานข้อมูลดังกล่าวไปทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดีอี เพื่อเป็นฐานข้อมูลส่วนกลางในการประเมินสถานการณ์ ความพร้อมและการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที

“เราไม่ต้องการเห็นคนป่วยคนไทยจิตตกอีกต่อไป อย่างน้อยป่วยก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ได้ ซึ่งระบบไอที ไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็แล้วแต่จะมีส่วนช่วยอย่างมาก”

“ตอนนี้จะเห็นได้ว่า เราเข้าสู่รูปแบบการบูรณาการที่แทบจะทุกระบบจริง ๆ คือ แต่ละที่จะมีความพร้อมต่างกัน โรงพยาบาลส่วนตำบลบางแห่งไม่มีเซิร์ฟเวอร์ ไม่มีโปรแกรมเมอร์ในการดูแล ดังนั้น ระบบตรงนี้เพียงแค่ว่า เขาใช้หน้าเว็บอันเดียว เป็นระบบเหมือนบนคลาวด์ software as a service เป็นเหมือนระบบหลังบ้าน แต่เป็นหลังบ้านที่สามารถที่จะจัดการผู้ใช้งานของแต่ละโรงพยาบาลที่จะบริหารจัดการอยู่ตรงกลาง คือ ระบบในการรับข้อมูล ส่วนแต่ละโรงพยาบาลก็จะมี LINE OA ของตนเอง ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์ที่ฟรี และแต่ละโรงพยาบาลสามารถสมัครและใช้งานได้ การทำแบบนี้ เขาไม่จำเป็นต้องมีอะไรเลย ขอให้มีอินเทอร์เน็ต มีบราวเซอร์ในการต่ออินเทอร์เน็ต ก็จะสามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้แล้ว” ผศ.ดร.เด่นพงษ์​ กล่าว

ในส่วนของข้อมูลที่ต้องใช้ในการเข้าสู่ระบบ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวว่า ต้องการข้อมูลทั้งหมด 3 ส่วน  คือ ข้อมูลทั่วไปโรงพยาบาล ข้อมูล LINE OA และข้อมูลของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เพื่อใช้ในการติดต่อ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลครบแล้ว ก็จะใช้เวลาในการติดตั้งระบบประมาณ 15 นาที ก็สามารถขึ้นระบบให้โรงพยาบาลใช้งานได้ 

“ส่วนเรื่องของการให้คำปรึกษา วิธีการทำงานของทางแพทย์ ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์สามารถให้คำปรึกษาได้ เนื่องจากได้เบอร์ติดต่อของทุกโรงพยาบาลมาแล้ว ถ้าโรงพยาบาลไหนที่ต้องการจะขอให้เราช่วยเหลือในการดูแลทางการแพทย์ หรือช่วยเหลือในการดูแลทางไอที เชื่อว่าไม่นาน เราจะได้มีการดูแลเรื่องใหม่ อย่าง telemedicine ในอนาคต” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว

ขณะที่ รศ.นพ.ชลธิป เสริมว่า ระบบ Home Isolation ทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ต่อให้หาเตียงไม่ได้ ผู้ติดเชื้อก็จะยังได้รับการดูแล เหมือนอยู่ในโรงพยาบาลทุกประการ 

“ถ้าท่านแย่ลงก็จะมีกระบวนการนำท่านเข้าสู่โรงพยาบาล เพราะว่าระบบ Home Isolation จะต้องรับผิดชอบโดยโรงพยาบาล ไม่ใช่ปล่อยให้คนไข้ไปอยู่กันเอง ถ้าอยู่ขอนแก่น ก็มีโรงพยาบาลขอนแก่นหรือโรงพยาบาลศรีนครินทร์ในการดูแล แล้วก็มีเวลาดูแลอย่างน้อย 14 วัน ก่อนออกจากระบบ แต่ถ้าอาการแย่ลง เรามีระบบรองรับ เปลี่ยนกลับมาเป็นสีเหลือง สีแดง เรามีโรงพยาบาลดูแล ดังนั้น มั่นใจได้เลยว่าระบบนี้จะมีการดูแลเหมือนกับท่านอยู่ในโรงพยาบาลทุกอย่าง แต่สภาพแวดล้อมดีกว่า เพราะอยู่บ้านตัวเองไม่ใช่โรงพยาบาล แต่ว่าเราก็ต้องไปประเมินนิดหนึ่งว่า บ้านที่ท่านอยู่มีความพร้อมไหม” รศ.นพ.ชลธิป กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บ้านหรือที่อยู่อาศัยไม่พร้อม ไม่สามารถใช้กักตัวได้จริง รศ.นพ. ชลธิป ระบุว่า ระบบยังสามารถต่อยอดไปอีกทางเลือกหนึ่ง คือ Community Isolation ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือชุมชน โดยสถานที่อาจจะเป็นโรงเรียน หรือสถานที่ใด ๆ ก็ได้ที่มีความพร้อมให้ผู้ป่วยไปอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งการดูแลก็จะเหมือนกันกับ Home Isolation เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่มาเป็นชุมชน 

“มั่นใจได้ว่าระบบนี้ จริง ๆ ต้องอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะเราเชื่อว่า ตอนนี้มันยังไม่ถึงช่วงพีคของโควิด-19 ด้วยซ้ำไป ช่วงพีคอาจจะเป็นช่วงเดือนหน้า (สิงหาคม) หรืออีกสักเดือนหนึ่งถัดไป ดังนั้น คนไข้ส่วนใหญ่ 70% สามารถอยู่ในระบบนี้ได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลใด ระบบแบบใด ก็จะได้รับการดูแลเหมือนกัน” รศ.นพ.ชลธิป กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.เด่นพงศ์ กล่าวเสริมว่า ระบบ Home Isolation เป็นการเสริมศักยภาพของทางโรงพยาบาลให้สามารถรับดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น จากเดิมที่ระหว่างรอเตียงก็ไม่กล้ารับ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องดูแลยังไง แต่พอเป็นแบบนี้ เท่ากับว่าระหว่างรอเตียงก็ยังดูแลได้ หรือในขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลอยู่แล้ว และแนวโน้มเริ่มดีแล้ว ก็อาจจะเข้าสู่ระบบ Home Isolation แล้วเอาผู้ป่วยที่รอเตียง เข้ามาแทน ก็จะทำให้ศักยภาพของโรงพยาบาลในการหมุนเวียน (rotation) ทรัพยากรและคนไข้ก็จะดีขึ้น ยกระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลมีวิธีการที่สามารถดูแลและติดตามได้ ถ้าโรงพยาบาลมีระบบใดระบบหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นระบบที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนา มีระบบใดระบบหนึ่ง แล้วก็เริ่มเปิดเลย ดูแลคนไข้ได้เลย ระบบทำให้เริ่มมีการคัดกรอง ช่วยให้รู้ว่าคนกลุ่มไหนที่ทางโรงพยาบาลต้องตามดูแล ติดตามใกล้ชิด 

ทั้งนี้ รศ.นพ.ชลธิป คาดการณ์ว่า จำนวนสัดส่วนผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบ Home Isolation จะเพิ่มมากขึ้น หลังทางการปลดล็อกเปิดทางให้มีการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ให้ประชาชนตรวจสอบการติดเชื้อได้ด้วยตนเอง ซึ่งหากเป็นบวก ก็สามารถเข้าสู่ Home Isolation หรือ Community Isolation ได้เลย ช่วยให้เข้าสู่กระบวนการดูแลของโรงพยาบาลได้ไว ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที  

“การที่ระบบเข้ามาช่วยในเรื่องของการคัดกรอง ทำให้เราสามารถตั้งกฎในระบบได้ว่า ถ้ามีสัญญาณชีพแบบนี้ให้เตือน สีแดง ทำให้แพทย์และบุคลากรใส่ใจกับการดูแลคนไข้ในกลุ่มสีแดง ผ่านจอแสดงผล dashboard ที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งดีกว่าการนำคนไปนั่งดูทีละคน ซึ่งอาจผิดพลาดได้ ในขณะที่ระบบจะคัดกรองให้เราเสร็จสรรพ เช่น คนไข้คนนี้ ออกซิเจนดร็อปเกิน 4% ให้เตือนขึ้นมานะ เพราะฉะนั้น เราจึงสามารถโฟกัสไปที่การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาได้อย่างเต็มที่” รศ.นพ.ชลธิป กล่าว

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ ยืนยันว่า ระบบที่พัฒนานี้สามารถรองรับการใช้งานจำนวนมากได้อย่างเต็มที่ หากจำเป็นต้องขยาย จำเป็นต้องเพิ่มเซิร์ฟเวอร์ มข.พร้อมที่จะลงทุนเพื่อที่จะให้สามารถที่จะช่วยสำหรับคนที่ไม่พร้อม สำหรับโรงพยาบาลที่ยังขาดอยู่ แล้วก็เห็นว่าระบบนี้น่าจะตอบโจทย์ตัวเอง สามารถที่จะทำให้ตนเองยกระดับขึ้น แล้วรองรับคนไข้ให้มากขึ้น สามารถติดต่อเข้ามาเลย ทางมข.พร้อมที่จะช่วยดูแล

ด้าน รศ.นพ.ชลธิป กล่าวปิดท้ายว่า ระบบ Home Isolation ซึ่งเป็นพื้นฐานของการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่จะใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่อไปได้ในอนาคต แล้วระบบนี้จะเป็นระบบ ระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล (personal health record) ซึ่งสามารถใช้ต่อไปได้ในอนาคตถึงแม้จะไม่มีโควิดแล้วก็ตาม 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ