TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityความท้าทายของประเทศไทย กลางกระแส "เศรษฐกิจหมุนเวียน"

ความท้าทายของประเทศไทย กลางกระแส “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิกฤติสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ นำไปสู่ความท้าทายใหม่ในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) จากหลายภาคส่วนทั่วโลกให้พร้อมใจผลักดันทิศทางการหมุนเวียนเปลี่ยนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ให้ได้มากที่สุด

ทางรอดที่ต้องเลือก

รายงานจากมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์มล่าสุด ระบุถึงโลกที่ป่วยในระดับวิกฤติ ปัญหาหนักสุดและถูกพูดถึงมากสุด คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตามมาด้วยปัญหาผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน เช่น การอุบัติใหม่ของสารเคมี และไมโครพลาสติก เป็นต้น

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนคุยถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า เกิดจากการเผชิญวิกฤติการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากกว่าเดิม ซึ่งถึงจะมีการพูดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแต่ทำจริงไม่ถึง 9% ของทั้งโลก รวมทั้งยังคงใช้ทรัพยากรใหม่ (Virgin Raw Material) มากกว่า 90% ทั่วโลก หากยังไม่ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและบริโภคอย่างจริงจัง ก็จะไม่เหลือทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานไว้กินไว้ใช้ในอนาคต 

แม้เศรษฐกิจหมุนเวียนถูกระบุอยู่ในเป้าหมายที่ 12 ของ SDG หรือ เป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนว่าด้วยการสร้างหลักประกันด้านการผลิตและการบริโภค ทว่ากราฟของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับ SDG ค่อนข้างถดถอย แม้รายงานจะระบุว่า SDG ของประเทศไทยดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยยังประสบปัญหาขยะตกค้างเต็มไปหมด แถมยังติดท็อป 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจสร้างผลกระทบน้อยกับประเทศไทย แต่ขยะพลาสติกกลับเป็นประเด็นร้อนแรง ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด หากประเทศไทยไม่เปลี่ยน โลกก็กดดันให้ประเทศไทยเปลี่ยน ไม่งั้นก็จะทำธุรกิจกับประเทศอื่นในโลกไม่ได้ 

“ประเทศไทยยังติดกับดักหลักการปกครองและกำกับดูแลที่ไม่มีความสามารถในการจัดการทรัพยากรหรือสภาวะแวดล้อมใด ๆ ซึ่งต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูป”   

ยกตัวอย่าง โครงสร้างทางกฎหมายและสถานการณ์ของประเทศเรื่องขยะเมื่อโยงเข้ากับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ถือว่าล้าหลังมาก โดยกำหนดให้เป็นบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่นในการเก็บของกำจัดเท่านั้น แต่ไม่ได้มีข้อความในกฎหมายให้ต้องจัดการคัดแยกขยะมารีไซเคิล “ซึ่งเป็นประเด็นที่โลกและเรากำลังผลักดัน ถ้าไม่แก้กฎหมายก็จะแก้ปัญหาเรื่องขยะไม่ได้ เรื่องการแบนขยะพลาสติกก็เช่นกัน ไทยเลือกจะเลี่ยงไปเป็น การห้ามโดยสมัครใจ (Voluntary Ban)” ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไร” 

ประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา พยายามยกระดับการกำจัดของเสียให้เก็บกักอย่างปลอดภัยมาเป็นการรีไซเคิลแต่ไม่เพียงพอ ต้องพึ่งทฤษฏีเศรษฐกิจหมุนเวียนในมิติของการเพิ่มคุณภาพการใช้ทรัพยากร และสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้เกิดการหมุนเวียนและนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก แต่ประเทศไทยยังเตาะแตะอยู่ตรงการกำจัดของเสีย และการเทกองขยะมูลฝอยราว 2,000 พันกว่าบ่อทั่วประเทศอยู่เลย

คนไทยเองยังคงสร้างขยะมากประมาณ 1.4 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่สามารถลดการสร้างขยะเหลือเพียง 0.79 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เพราะฉะนั้น ต้องช่วยกันปฏิรูปในทุกองคาพยพ อาทิ โครงสร้างกฎหมาย การดำเนินการภาครัฐ องค์กร สถาบัน ภาคเอกชน เดินหน้าสู่การออกแบบบกลไกการจัดการร่วมกันในทุกภาคส่วน 

“ขณะนี้ เราพยายามผลักดันกฎหมายหลายตัว หนึ่งในนั้นคือ ‘กฎหมาย PRTR ว่าด้วยการรายงานและและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม’ นอกจากนี้ ยังมีการยกร่าง ‘กฎหมายจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งอยากบอกว่าอย่าไปกลัวว่ากฎหมายจะเป็นการสร้างภาระ แต่เป็นสิ่งที่สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วย เราจะขายของอย่างไรถ้าไม่มีสัดส่วนของการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต (Recycled Content) อันนี้เกิดขึ้นแล้วในยุโรป หากมีไม่ถึง 30% ต้องจ่ายภาษีชดเชยให้กับประเทศที่เราไปค้าขายด้วย” 

ของเสียเหลือศูนย์ที่แม่ฟ้าหลวง

“ปัญหาของประเทศไทย คือ ขยะทั่วไปที่เราทิ้งไม่ได้มีการคัดแยกอย่างถูกต้อง ทุกอย่างถูกนำมากองรวมกันหมดแล้วนำไปเผาและฝังกลบ ซึ่งผิดกฎเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน”

เมื่อเป้าหมายประเทศที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ในปีพ.ศ. 2608 โดยประเด็นสำคัญ คือ การจัดการขยะให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป และการดูดซับปริมาณคาร์บอน ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าว่า โดยภาพรวมของประเทศไทยกว่า 70% ถือว่ามีการจัดการปริมาณขยะที่ดี เพียงแต่องค์กรที่เข้ามาดูแลมีเพียง 4% เท่านั้นที่มีวิธีการบริหารจัดการขยะที่ดี แต่ ดี ที่ว่าเป็นการฝังกลบเสมือนเป็นการเอาปัญหาไปซุกใต้พรม สถานที่การจัดการขยะที่ไม่ค่อยดี เศษขยะอาหารที่เข้าไปอยู่ในบ่อฝังกลบทำให้โลกร้อน และทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่า

อย่างขยะในกทม.เกือบ 100% เข้าสู่บ่อฝังกลบซึ่งมีระบบการจัดการที่ดีจริงแต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง และยังต้องการเงินเพื่อการบริหารจัดการเพิ่มอีกราว 2 พันบาทต่อตัน แต่สิ่งที่ฝังกลบรวมกันหมดคือ ขยะทั่วไปที่เราทิ้งกัน มีเพียง 5% ที่ถูกคัดแยกเพื่อนำไปเผา แต่เราเคยถามโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะว่า เขาอยากเผาขยะที่มีเศษอาหารปนเปื้อนไหม?

นโยบาย Zero Waste to Landfill ในการกำจัดขยะฝังกลบให้เหลือศูนย์ เป็นแนวทางที่แม่ฟ้าหลวงใช้ในการลดจำนวนขยะต่อคนให้เหลือน้อยที่สุดและเผาให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ทำให้ไม่มีขยะฝังกลบมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 เรามีศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจรเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้มากที่สุด รวมถึงย้อนกลับไปบอกต้นทางกำเนิดขยะว่า ถึงเวลาแล้วที่องค์กรของเราจะไม่มีการฝังกลบโดยทุกคนต้องมีการคัดแยกขยะออกเป็น 6 ชนิด ส่วนขยะทั่วไปมีการแยกออกไปอีกเป็น 3 ชนิด คือ ขยะเปื้อน พลังงาน และน้ำ โดยเป็นการแยกจัดการที่ปลายทาง มีการอบรมพนักงาน 1.600-1,700 คน ทุกเดือน เพื่อทำความเข้าใจและให้ทุกคนรู้ว่า องค์กรให้ความสำคัญสูงกับเรื่องนี้แล้วทุกคนก็จะทำ

“เคยมีคนถามว่า เราควรแยกขยะเป็นกี่ชนิดดี ตอบว่า ให้แยกตามสิ่งที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ต้องแยกเยอะเกินไปเพราะคุณจะเหนื่อย อย่างแม่ฟ้าหลวงเราทำมานาน ก็เลยคัดแยกขยะได้เหลือเป็น 4 ชนิด รวมทั้งมีระบบจัดการไปสู่การใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด อย่างภาชนะเปื้อนเศษอาหารก็เปลี่ยนให้กลายเป็นขยะรีไซเคิล ส่วนหนึ่งส่งไปเป็นขยะพลังงาน สร้างรายได้และสร้างงานให้กับชาวบ้าน เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย”

ประเด็นการดูดซับก๊าซเรือนกระจก แม่ฟ้าหลวงมีการดำเนิน โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับกรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GITSDA) ภาคเอกชนและองค์กรต่าง ๆ บนพื้นที่ป่าแสนไร่ในรูปแบบการจัดตั้งเป็นกองทุนแม่ฟ้าหลวง เพื่อใช้ในการจัดการ 2 ด้าน ด้านแรกใช้ในการดูแลป่า ด้านที่สองใช้ในการจัดโครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้มีเงินมาดูแลป่า โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมจะได้คาร์บอนเครดิตกลับไป ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชุมชนอยู่ราว 63 ล้านไร่ และน่าจะมีขีดความสามารถในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ราว 1.8-6.3 ล้านตันต่อปี รวมถึงยังประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ หรือช่วยลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 

“ที่เราทำได้เพราะมี พรบ.ป่าชุมชน 2562 ซึ่งให้ชาวบ้านและชุมชนเป็นเจ้าของดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่า เพราะถ้าป่าสูญหายไป เช่น เกิดไฟป่าหรืออะไรก็แล้วแต่ พวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์จากป่า จึงเป็นการสร้างกลไกให้ชาวบ้านมีแรงจูงใจในการดูแลป่า เพราะป่าที่ดีคือป่าที่ยังอยู่”

ไทยกับความท้าทาย

สุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ฉายภาพมิติการจัดการขยะในประเทศไทยว่า เป็นการดำเนินงานในระดับองค์กรการปกครองท้องถิ่น ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งยังคงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ ขาดเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการจัดการ ส่วนประชาชนซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทของตัวเองในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้น 

ไอยูซีเอ็นนับเป็นตัวละครหนึ่งในกระบวนการกำจัดขยะระดับชุมชนมาตั้งแต่ปี 2561 โดยอาศัยประสบการณ์และการวางยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับท้องถิ่น เริ่มจากการกำหนดพื้นที่จำกัดให้สามารถวางกรอบการจัดการได้ เช่น แม่ฟ้าหลวง จุฬาฯ หรือ พื้นที่เกาะซึ่งมีภูมิทัศน์ที่บริหารจัดการได้ เริ่มต้นจากเกาะยาว เกาะลิบง และจังหวัดระนอง 

จากการเก็บข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และสังคมที่ระนอง พบว่า ขยะอันดับหนึ่งคือขวดแก้ว 95% ใช้เวลาเก็บ 1 ปี ส่วนที่เกาะลิบงมีอยู่ 43% ใช้เวลาเก็บ 2 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่วัดจากน้ำหนักไม่ใช่อัตรานับต่อชิ้น สำหรับพื้นที่เกาะยาว ขยะอันดับหนึ่งกลับเป็นอลูมิเนียมและโลหะ ใช้เวลาเก็บนาน 4 ปี เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเป็นพื้นที่มีอัตราการท่องเที่ยวเข้มข้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เหมือนกันทำให้ขยะแต่ละประเภทถูกเก็บกำจัดไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงไม่สามารถนำวิธีการจากพิ้นที่หนึ่งไปสวมทับในอีกพื้นที่หนึ่ง 

“ทางออกคือการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่ และพยายามจัดการกับขยะทุกประเภท การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอยู่เยอะมากแต่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงในทางปฏิบัติได้อย่างไร ซึ่ง ท้องถิ่น นับเป็นความหวังเล็ก ๆ ของเรามาก เพราะถ้าเขามีองค์ความรู้ดีพอในการตีความกฎหมายหลักของประเทศไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น ก็จะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมตรงถึงตัวประชาชนซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญได้เป็นอย่างดี” 

กรณีศึกษาที่เกาะยาวในการทำงานร่วมกับชุมชน ตำบล ไต่ขึ้นสู่ระดับอำเภอจนกลายเป็นเอ็มโอยูในระดับจังหวัด โดยการจับมือเป็นคลัสเตอร์ในแต่ละท้องถิ่นเพื่อร่วมกันจัดการขยะ ปัญหาที่เจอได้แก่ อุปสรรคเรื่องทรัพยากรการจัดการที่จำกัด ติดปัญหาทางกฎหมายที่ไม่สามารถขนย้ายขยะจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งได้ กลายเป็นปมถกเถียงของท้องถิ่นที่ต้องการการเผาขยะกับกรมควบคุมมลพิษที่ต้องไม่อนุญาตให้มีการเผาเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน เกาะยาวกำลังเป็นที่ ๆ ภาคการท่องเที่ยวกำลังขยาย แต่ก็ไม่อยากให้หลุมฝังกลบใหญ่ขึ้นซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียป่า พื้นที่ลุ่มน้ำไปเพียงเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ขยะหรือหลุมฝังกลบ คำถามคือ จะทำอย่างไรกับขยะที่ไม่สามารถจัดการได้ ไม่มีทางไปที่ถูกต้องเหมาะสม หรือไม่เกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ใด ๆ 

“ความสำเร็จในการบริหารจัดการที่เกาะยาวในช่วง 4 ปี จากปริมาณขยะทั้งหมด 1,300 ตัน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 14 ล้านบาท รวมถึงตัวเลขผู้รับซื้อขยะรายย่อยที่เพิ่มขึ้นจากเดิมแค่ 3-4 ราย กลายเป็น 24 ราย นับเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพจากขยะรีไซเคิลที่ไม่มีใครเรียกว่าขยะอีกต่อไป” 

สำหรับระนองเป็นจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันซึ่งทางรัฐบาลไทยกำลังเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลก โดยพื้นที่กว่า 50% เป็นพื้นที่คุ้มครองตามพรบ.อุทยานแห่งชาติ พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ และอีกหลายพรบ. แต่ระนองกลับไม่มีระบบการจัดการขยะ มีเพียงแค่หลุมฝังกลบซึ่งเดิมมีเพียง 3 ไร่ ปัจจุบันขยายออกไปเป็น 30 ไร่ และอยู่ไม่ห่างจากป่าลุ่มน้ำที่ดีที่สุดของจังหวัดอีกด้วย ซึ่งก็อยู่ในแผนที่ต้องคิดว่า ทำอย่างไรจะเกิดการกำจัดขยะแบบครบวจรโดยไม่มีการเบียดเบียนเพื้นที่เพิ่มขึ้น หากในอนาคตเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ขจัดขยะเก่าลดสร้างขยะใหม่

“ไอเดียที่ทำได้มันจึงไม่ใช่เป็นการแค่การกำจัดขยะเก่า แต่ต้องป้องกันขยะใหม่ไม่ให้ไปยังหลุมฝังกลบด้วย”  อาจารย์สุปราณี กล่าว

ด้วยเหตุนี้ การทำงานของไอยูซีเอ็นแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การทำงานภาคนโยบายระดับท้องถิ่น การดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็คือพี่น้องในพื้นที่ และแสวงหาความร่วมมือกับผู้ประกอบการหรือเจ้าของผู้ธุรกิจรายย่อย เช่น การทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจ TCP เกี่ยวกับกฎหมาย PRTRการสร้างความเข้าใจกับ พี่น้องประชาชน ในฐานะตัวละครหลักที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับท้องถิ่น รวมถึง อบต. หรือเทศบาล ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมาย และมีงบประมาณในการจัดการขยะ ณ ปลายทาง ผู้นำชุมชนหรืออสม.” ในการทำงานร่วมกันเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และหนุนเสริมให้เกิดการปฏิบัติ ร้านค้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเรียกเก็บกลับคืน และทำงานร่ามกับผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายในระดับจังหวัด

“เราจะไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางการตลาด ปล่อยให้ชุมชนตกลงกันเองว่า อยากนำรายได้จากวัสดุรีไซเคิลไปทำอะไร เป็นการจุดประกายให้ทุกคนมองเห็นว่า เขาสามารถช่วยชุมชนและป้องกันไม่ให้เกิดรั่วไหลของขยะลงสู่พื้นที่ธรรมชาติได้ เกิดเป็นมูลค่าและนำเงินกลับมาทำนุบำรุงชุมชน ซึ่งจากการรวบรวมตัวเลข 4 เดือนแรกของการทำงานปีที่แล้ว กับ 6 เดือนแรกของการทำงานในปีนี้ สามารถเรียกเก็บกลับคืนขยะมาได้ 51 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณแสนกว่าบาท แม้จะยังน้อยแต่ถือเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนที่เริ่มต้นขึ้นจากศูนย์จริง ๆ และยังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน”

อาจารย์สุปราณี กล่าวเติมว่า ทุกคนมักคิดว่าขวดแก้วเป็นสิ่งที่นำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ที่จริงแล้วขยะขวดแก้วเป็นสิ่งที่มีเยอะสุด สร้างปัญหาเยอะสุด และกินพื้นที่มากสุด แต่มีมูลค่าทางการตลาดต่ำสุด ขณะที่ขยะพลาสติกและกระป๋องอลูมีเนียมกลับมีมูลค่าทางตลาดมหาศาล ก็อยากฝากผู้ประกอบการให้พิจารณาหากยังคงผลิตบรรจุภัณฑ์จากขวดแก้ว ขอให้คำนึงถึงการนำขยะขวดแก้วออกจากพื้นที่ ยกตัวอย่างธุรกิจ TCP ซึ่งสามารถบริหารบรรจุภัณฑ์ที่นำไปรีไซเคิลได้ ปัจจัยสำคัญ คือ ทำให้วัสดุที่รีไซเคิลได้ถูกเก็บกำจัดและเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือโรงงานรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราต้องทำให้การคัดแยกขยะเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ และเมื่อใดที่มันกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อนั้นเศรษฐกิจหมุนเวียนก็จะเกิดขึ้นจริง” 

ถอดบทเรียนให้คิด

ดูเหมือนแนวคิดสังคมการบริโภคบนวีถีที่ยั่งยืนจะเป็นกุญแจสำคัญในการไขประตูสู่ศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นทำขึ้นได้ต้องทำให้ทุกคนตระหนักว่านี่คือ Personal Agenda เป็นวาระที่เกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของพวกเรา

ดร.ธนพงษ์ กล่าวว่า กฎหมายเป็นเรื่องใหญ่ก็จริง แต่คนทุกคนต้องมีบทบาทผลักดันร่วมกัน ทั้งพฤติกรรมการทิ้งขยะ และการดึงศักยภาพทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ หรือต่อการเปลี่ยนผ่านของพลังงานหรือชีวมวลต่าง ๆ แม้ตอนนี้ตั้งเป้าไว้ที่ การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture)”  แต่หมุดสุดท้ายก็คือ การเลิกเสพย์ติดฟอสซิล และเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมตัวเองเพื่อให้โลกดีขึ้น เพราะความเจริญงอกงามของโลกมี 2 ด้าน Regrowth คือการมุ่งความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง หรือ Degrowth การยอมหยุดโตทางเศรษฐกิจลงบ้างเพื่อคืนสมดุลให้กับทรัพยากรและโลก ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ขอให้ ทำบุญให้สิ่งแวดล้อมบ้างเถิด

ดร.สุจิตรา ย้ำเสริมว่า สำคัญที่ต้องดึงปัญหาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ซึ่งต้องกำหนดให้มีการปรับเมื่อทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงลบ และให้รางวัลต่อกิจกรรมที่ส่ผลกระทบเชิงบวก การยกระดับความร่วมมือระดับท้องถิ่น สถานศึกษา โรงเรียนในการปลูกฝังแนวคิดการคัดแยกขยะและสร้างกระบวนการแก้ปัญหาแบบครบวงจร และหากเปรียบเทียบกฎหมายเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเสมือนร่มใหญ่ซึ่งองค์กรระดับคอร์ปอเรทอาจเดินหน้าไปได้ด้วยตัวเอง แต่เอสเอ็มอีซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศจะทำอย่างไร แนวทางที่มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น การจัดตั้ง กองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ไว้สนับสนุนเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับตัว มีการออกเงินกู้จากฝั่งธนาคาร รวมถึงเชิญชวนทุกฝ่ายให้มาร่วมออกแบบกฎหมายที่ทุกคนอยากได้ในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดี 

“ผู้ผลิตหลายรายที่กำลังมุ่งไปสู่วิถีความยั่งยืนเพื่อก่อเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สำคัญที่สุด คือ จะต้องไม่ทิ้งผู้บริโภคปลายทางซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกหลักสำคัญไว้ข้างหลัง และมุ่งการใช้งานวัตถุดิบที่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างจริงจัง” สุปราณี สรุปทิ้งท้าย

ที่มา: สัมมนาความท้าทายในการขับคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรื่องกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ในประเทศไทย ในงานประชุมด้านความยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด “Net Zero Transition…From Commitment to Action” หรือ “การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” จัดโดยกลุ่มธุรกิจ TCP 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ