TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเร่งสร้าง “ความเชื่อมั่น”... สยบฝันร้ายท้ายปี

เร่งสร้าง “ความเชื่อมั่น”… สยบฝันร้ายท้ายปี

2563 เป็นปีที่ฝันร้ายของคนทั้งโลกและคนไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ที่หวังว่าปลายปีจะฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างมีความสุข ต้องพังทะลายเมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ (ไม่ใช่ระลอก2)

แม้เศรษฐกิจปีนี้คาดว่าจีดีพีจะติด -6% ถึง -7%เพราะไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเลย ส่วนการส่งออกก็ยังพอกระเตื้องขึ้นบ้าง อีกทั้งได้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐโดยเฉพาะ “โครงการคนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” พอจะทำให้เศรษฐกิจปลายปีคึกคักมาบ้าง

ทุกคนก็หวังว่าช่วงปลายปีนี้จะมีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเอง เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น และการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลช่วงปีใหม่ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกเฮือก แต่ต้องฝันสลายเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันมีคนติดเชื้อโควิดจาก “ตลาดกุ้ง” จังหวัดสมุทรสาคร จนแพร่ระบาดขยายวงออกไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

ทุกวันนี้สมุทรสาครกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาเพื่อนร่วมชาติ เพราะเป็น “ศูนย์กลางอาหารทะเล” ใหญ่ที่สุด เป็นแหล่งกระจายสินค้าอาหาร ตระเวณออกตระเวนขายไปทั่วประเทศ และมีแรงงานชาวเมียนมาเข้ามาทำงานที่นี่ราว ๆ 4 แสนคน และถูกตรวจพบว่ามีคนติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่สมุทรสาครตอนนี้ไม่ต่างจากแรงงานเมียนมาที่อยู่อย่างยากลำบากไม่แพ้กัน เพราะเป็นจังหวัดเดียวที่ถูก “ล็อกดาวน์” ออกไปไหนไม่ได้ สภาพไม่ต่างจาก “อู่ฮั่น” ของเมืองไทย อาหารทะเลจากที่นี่ถูกตั้งข้อรังเกียจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังกระทบไปถึงอาหารทะเลพื้นที่อื่น ๆ พลอยโดนหางเลขไปด้วย

ซ้ำร้ายกว่านั้นอาหารประเภทอื่น ๆ ที่มีแหล่งที่มาจากสมุทรสาคร กำลังถูกตั้งข้อรังเกียจหนักขึ้นเรื่อย ๆ มีข่าวว่างานแสดงสินค้าชุมชนที่เป็นงานใหญ่ที่สุดในช่วงปลายปี ตอนแรกได้เชิญร้านค้าชุมชนจากสมุทรสาครกว่า 10 ร้านไปออกบูธ ปรากฎว่าไม่มีใครเข้าร้าน บางรายซื้อไปแล้วมารู้ภายหลังก็นำมาคืน จนในที่สุดเจ้าของงานต้องเชิญร้านที่มาจากสมุทรสาครทั้งหมดออกจากงานไป

เรื่องที่เล่าทั้งหมดนี้เพื่อจะสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารงานแบบมักง่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ยอมระดมตรวจพื้นที่ที่มีแรงงานแรงงานต่างชาติตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติใหม่ ๆ ทั้งที่มีกรณีสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง แต่รัฐบาลเลือกที่จะใช้วิธี “ซุกขยะไว้ใต้พรม” จนในที่สุดก็โผล่มาจนได้

แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา แทนที่รัฐบาลจะเร่งยกเครื่องการบริหารใหม่ ซึ่งควรจะเป็น “การบริหารยามวิกฤติ” แต่กลับยังบริหารแบบเดิม ๆ เฉพาะอย่างยิ่ง “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลควรจะต้องเร่ง “สร้างความเชื่อมั่น” ให้เร็วที่สุด

อย่างในกรณีอาหารทะเลและสินค้าในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครถูกสังคมต่อต้าน จะต้องสร้างความเชื่อมั่นด้วยการนำทีมครม.ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชาวบ้าน ไปกินอาหารทะเลโชว์เหมือนอย่าง “ดร.ทักษิณ ชินวัตร” กินไก่โชว์เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจเมื่อคราวเกิดวิกฤติไข้หวัดนก แต่รัฐบาลนี้กลับไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

แม้ภายหลัง “อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะไปกินกุ้งโชว์ แต่ก็สายไปแล้ว และเบื้องหลังจริง ๆ ก่อนหน้านี้ เจ้าของร้านอาหารดังรายหนึ่งเชิญรัฐมนตรีคนหนึ่งไปแต่ถูกปฏิเสธ หวยก็เลยมาออกอนุชา

เหนือสิ่งอื่นใด นอกจากการสร้างความเชื่อมั่นแล้ว รัฐบาลต้องมี “การสื่อสาร” ให้ประชาชนเข้าใจด้วยภาษาง่าย ๆ ชัดเจนตรงประเด็นว่าจะบอกกับประชาชนเรื่องอะไร จะให้ทำอะไร รัฐบาลมีมาตรการอะไร ผลกระทบจะเป็นอย่างไร

เหมือนอย่างกรณี “อังเกลา แมร์เคิล” หญิงเหล็กของเยอรมัน ที่ออกมาสื่อสารกับประชาชนคราวที่เกิดวิกฤติใหม่ ๆ จนได้รับความชื่นชมไปทั่วโลก ล่าสุดก็ออกมาพูดในสภาฯ เรียกร้องให้ชาวเยอรมันงดการไปเยี่ยมปู่ย่าตายาย ทุกคนต้องสวมหน้ากาก และให้ความหวังว่าเดือนเมษายนปีหน้าทุกอย่างจะดีขึ้น จนได้รับเสียงปรบมือทั้งสภาฯ และคนเยอรมันก็พร้อมปฏิบัติตาม ดังนั้น สิ่งที่ “บิ๊กตู่” จะต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ “สร้างความเชื่อมั่น” และต้อง “สื่อสาร” ให้ประชาชนเข้าใจ

แม้ว่าปีนี้คนไทยจะต้องเจอกับฝันร้ายส่งท้ายปี ก็ขอให้มันจบในปีนี้ อย่าให้ต้องยาวถึงปี 2564 …. มิเช่นนั้น รัฐบาลเองก็จะอยู่ลำบากเช่นกัน

ทวี มีเงิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ