TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewdepa เชื่อมโยงเทคโนโลยีแก้วิกฤติโควิด-19

depa เชื่อมโยงเทคโนโลยีแก้วิกฤติโควิด-19

แม้จะไม่ได้มีภาระหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ก็ไม่อาจนิ่งเฉยได้เช่นกัน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวอย่างชัดเจนว่า ในห้วงเวลาของการระบาด อะไรที่คิดว่าพอจะทำได้ ช่วยได้ก็จะลงมือทำทันที ซึ่งสิ่งที่ดีป้าทำได้ก็คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้บรรดาสตาร์ตอัพของไทย ได้มีพื้นที่และแนวทางในการนำนวัตกรรมของตนมาต่อยอดเพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานรับมือกับไวรัสโควิด-19 ของไทย เป็นไปอย่างราบรื่น 

ทั้งนี้ ผอ.ดีป้า กล่าวว่า ทางสำนักงานฯ ได้ก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการระบาดของโควิด-19 ใหม่ ๆ เริ่มตั้งแต่ที่ผู้คนเกิดกระแสตื่นตระหนก ทำให้แห่ซื้อหน้ากากอนามัย เจลทำความสะอาด และอุปกรณ์ป้องกันตนเองต่าง ๆ จนเกิดภาวะขาดตลาด

ดีป้า จึงได้ประสานกับ ARINCARE จัดทำแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลร้านขายยาที่ยังมีอุปกรณ์เหล่านี้ขาย เพื่อลดความตื่นตระหนก

หลังจากนั้น ดีป้า ก็เห็นถึงความจำเป็นของการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองไทย เพื่อให้คนไทยได้รู้ว่าจะสามารถเข้ารับการตรวจและรักษาได้ที่ไหน ตรงไหนบ้าง โดยเป็นการจับมือระหว่างดีป้ากับเหล่าสตาร์ตอัพไทยในการจัดทำเว็บเซอร์วิสขึ้น

“ข้อมูลอาจไม่ใช่เรียลไทม์ แต่ก็เป็นข้อมูลที่ทำให้คนอุ่นใจได้ สร้างความมั่นใจได้ว่า ถ้ามีปัญหาก็จะสามารถวิ่งมาหาหมอที่นี่ได้”

-ดีป้า ตั้งเป้าสร้างต้นแบบ “เมืองอัจฉริยะ”
-ดีป้า เตรียมเปิด Thailand Digital Valley

หลังจากที่สถานการณ์เริ่มเข้ารูปเข้ารอย คือ รัฐมีหน่วยงานออกมารับผิดชอบอย่างชัดเจน มีกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดูแล ดีป้า ในฐานะมดงานเล็ก ๆ จึงถอยออกมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการถอยนี้คืองานสิ้นสุดแล้วแต่อย่างใด

ผอ.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า ได้กลับมานั่งขบคิดว่าจะสามารถทำอะไรต่อไปได้ ก่อนพบว่า ในช่วงประมาณไตรมาส 3 ของโควิด ประชาชนยังคงมีความตื่นตระหนกอยู่ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือมีช่องทางในการตรวจสอบผู้ติดเชื้อ และพื้นที่การระบาด

“เราทำดาต้าหนึ่งออกมาเพื่อให้เห็นภาพว่าคนที่ติดเชื้ออยู่ตรงไหน อย่างไร เป็นการจัดทำข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจในระยะที่คนกำลังตื่นตระหนกตกใจเพราะเป็นเรื่องใหม่”

ส่งเสริมสตาร์ตอัพหนุนรายได้

ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านมาจนถึงจุดที่ประชาชนในสังคมเคยชินและรับฟังข่าวสารเสมือนการทานข้าวเช้า-กลางวัน-เย็น ทำให้สิ่งที่ดีป้ามองต่อมา ก็คือ การพยายามหาทางส่งเสริมรายได้ในห้วงเวลาที่ทำมาหากินได้อย่างยากลำบาก รวมถึงวางแผนเตรียมความพร้อมให้กับสังคมไทยเมื่อถึงเวลาที่ต้องเดินหน้าไปต่อ เช่น การคุยกับสตาร์ตอัพพัฒนาดัดแปลงระบบติดตามตัว หรือพัฒนาระบบตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม เป็นต้น 

ทั้งนี้ ผอ.ณัฐพล กล่าวว่า สิ่งที่ดีป้าทำส่วนใหญ่ ก็คือ การจัดการกับข้อมูลข่าวสารให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยดีป้าจะกลับมาดูว่า ดีป้ามีเทคโนโลยีอะไร และมีสตาร์ตอัพใดสามารถทำในส่วนนี้ได้

ยกตัวอย่างเช่น การนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อช่วยให้เกิดวินิจฉัยโรคของแพทย์เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพื่อให้แพทย์สามารถนำผลไปตรวจสอบยืนยันให้ชัดเจน และทำการรักษาต่อไป โดย AI ที่นำมาใช้จะมีการบันทึกเคสตัวอย่างที่พบในต่างประเทศหลายหมื่นเคส เพื่อนำไปวิเคราะห์แสดงโอกาสและความเป็นไปได้ในการติดเชื้อ 

“ถ้าเราวางระบบแล้วเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปช่วยสนับสนุนก็น่าจะดี เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า ใช้เทคโนโลยีนี้แล้ว จะนำผลวิเคราะห์ได้ 100% แต่เอาเทคโนโลยี AI ที่มีผลการตรวจเดิมจากสถานที่อื่น ๆ มาช่วยให้คุณหมอวิเคราะห์ได้ชัดเจนมากขึ้น ง่ายขึ้น และสะดวกขึ้น”

หลังจากที่คนไทยเริ่มมีความเข้าใจ เริ่มรู้ว่ามีหน่วยงาน และมีแหล่งข้อมูลอยู่ที่ใด มีเทคโนโลยีอะไร สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อมา ก็คือ เรื่องของปากท้องและสภาพคล่อง ดังนั้น จากเรื่องการช่วยหน่วยงานทางการแพทย์ สำนักงานดีป้าก็มุ่งไปยังการอำนวยความสะดวกช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการที่ต่างก็ปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในช่วงที่พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนไปเพราะโควิด-19

“เราก็มองว่า ช่วงระยะเวลาอย่างนี้ ดีป้า น่าจะทำอะไรสักอย่าง ตอนนั้นเรานั่งคุยว่า เรามีตัว Local Delivery ของคนไทย ถึงแม้จำนวนน้อย แต่ดีป้าน่าจะเข้าไปส่งเสริมได้ เราก็พยายามรวบรวมได้มาประมาณ 10 แพลตฟอร์มของสตาร์ตอัพไทย ให้คนไทยได้รู้ว่านอกจากแพลตฟอร์มต่างชาติแล้ว ยังมีแพลตฟอร์มของคนไทยให้เลือกใช้ เป็นการแข่งขันในระบบการค้าเสรี” 

ขณะเดียวกัน ทางดีป้าก็ลงไปช่วยร้านค้าต่าง ๆ ในการสร้างแพลตฟอร์ม ทำระบบหลังบ้านและหน้าบ้าน เช่น การชำระเงิน กับ Point of Sale เพื่อเชื่อมโยงและลดระยะห่างระหว่างร้านกับลูกค้า 

เรียกได้ว่า เป็นการช่วยผู้ประกอบการสร้างระบบการจัดการให้การทำธุรกิจดำเนินไปได้อย่างลื่นไหลและราบรื่นขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ ผอ.ณัฐพล ให้นิยามว่า ดีป้าทำให้เกิดรูปแบบเริ่มต้นของการทรานส์ฟอร์ม ก่อนที่จะมีการนำแพลตฟอร์มอย่าง “คนละครึ่ง” ของรัฐบาลมาใช้ 

“เราช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมหลังบ้าน เราช่วยให้ Local Start-up กับ Local Business สามารถจับมือและ Matching กัน สิ่งที่ดีป้าทำคือทำไปเรื่อย ๆ ทำในสิ่งที่เราไม่ได้คิดว่าเป็น National Program แต่เราคิดว่าต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีทางออก แล้วเราเชื่อว่า ถ้าทำเสร็จแล้วจะเกิดการ Copy และ Development เพื่อจะบอกต่อ ร้านโชว์ห่วยหรือแม้แต่ร้านขายของก็จะบอกว่า เริ่มใช้ของรายนี้สิ เริ่มใช้บริการรายนั้นสิ มันก็จะเป็นการทำให้คนไทยกับคนไทยเกิดการแต่งงานกันเอง นั่นคือ สิ่งที่ดีป้าทำให้เกิดขึ้นในตัวผู้ประกอบการ” 

รับมือวิกฤติ ต้องเร็วและกล้าตัดสินใจ

ทั้งนี้ หนึ่งปีกับวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 บทเรียนที่สำนักงานดีป้าได้เรียนรู้ ก็คือ การรับมือกับวิกฤติ ต้องคิดและทำให้เร็ว ให้ทัน เพื่อให้เกิดการปรับตัว การลังเลหรือการนั่งรอเฉย ๆ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี และเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ 

นอกจากจะต้องเร็วแล้ว สิ่งสำคัญประการต่อมา ก็คือ ต้องกล้าที่จะตัดสินใจ บนพื้นฐานของการคิดอย่างรอบคอบรอบด้าน

“เราไม่รู้ว่า มันเป็นสถานการณ์ที่ถูกหรือผิด แต่ในการตัดสินใจนั้นมีส่วนร่วมของกองทัพความคิด ไม่ใช่การตัดสินใจเพียงคนเดียว การมีส่วนร่วมของกองทัพความคิดในการตัดสินใจจะทำให้การตัดสินใจนั้นมีกำลังในการทำงาน ถึงแม้จะไม่มีงบประมาณก็ตาม การตัดสินใจที่เร็วและดำเนินการมันเลยทำให้เกิดการ Synergy หรือแม้แต่การรวมพลังในการทำงานนั่นเอง” ผอ.ดีป้า กล่าวทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ