TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupสวทช. โชว์ผลงาน 9 สตาร์ตอัพดีพเทคไทย สร้างโอกาสธุรกิจใหม่แจ้งเกิดไทยบนเวทีโลก

สวทช. โชว์ผลงาน 9 สตาร์ตอัพดีพเทคไทย สร้างโอกาสธุรกิจใหม่แจ้งเกิดไทยบนเวทีโลก

หลังจากสวทช. ขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ภายใต้ ‘นาสท์ด้า สตาร์ตอัพ’ NSTDA Startup ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อผลักดันผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และตอกย้ำศักยภาพงานวิจัยสู่การตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม ปัจจุบัน ‘นาสท์ด้า สตาร์ตอัพ’ NSTDA Startup ได้ผลผลิตออกมาเป็น 9 ผลงานดีพเทคที่น่าสนใจ …..

เพราะสุขภาพสมองมีความสำคัญพอ ๆ กับสุขภาพกายและสุขภาพใจ บริษัท เบรนนิฟิต จำกัด จึงคิดค้นอุปกรณ์ที่ใช้งานพร้อมแพลตฟอร์ม Game-based neurofeedback system ที่ใช้เกมในการช่วยฟื้นฟูศักยภาพการเรียนรู้ได้ถึง 5 ด้าน คือ Working Memory, Reasoning & Planning, Visual-Spatial, Responsive Processing และ Sustained Attention ซึ่งสามารถวัดผลได้อย่างเมแม่นยำ

ดร.สุวิชา จิรายุเจริญศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเบรนนิฟิต กล่าวว่า อุปกรณ์ของเบรนนิฟิตเป็นการนำงานวิจัยที่ร่วมพัฒนากับนักวิจัยของสวทช. มาขยายผลการให้บริการรูปแบบ Home-based Rehabilitation ในะดับเชิงพาณิชย์ เป้าหมายหลักเพื่อฝึกสมองสำหรับผู้สูงอายุป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หรือบำบัดเด็กสมาธิสั้น รวมถึงฟื้นฟูศักยภาพสมอง 

ปัจจุบัน มีการติดตั้งเบรนนิฟิตในศูนย์ดูแลผู้สูงวัย 12 แห่งทั่วประเทศ และได้รับผลตอบรับในทางบวก ผู้สูงอายุมีสมาธิมากขึ้น การใช้งานก็ง่ายเพียงแค่ฝึกครั้งละ 30 นาที ประมาณ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทกำลังวางแผนที่จะพัฒนาให้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานตามบ้านในราคาที่หมื่นปลาย ๆ คาดว่าจะสามารถวางขายได้ในช่วงปลายปีนี้

เพราะดวงตาเป็นสิ่งสำคัญ และปัญหาการมองเห็นเป็นเรื่องใหญ่ ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ จึงได้นำเทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (Tissue Engineering) มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างเนื้อเยื่อหรืออวัยวะขึ้นมาใหม่ โดยในขั้นเริ่มต้นนี้ เน้นไปที่ กระจกตาชีวภาพที่ผลิตจาก Stem cells ซึ่งสามารถใช้ทดแทนกระจกตาบริจาคได้ทันที ภายใต้บริษัทรีไลฟ์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมยื่นจดทะเบียนบริษัท 

ทั้งนี้ ดร.ข้าว ตั้งเป้าที่จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ที่กลับมามองเห็นได้ พร้อม ๆ กับ ก่อให้เกิดการจ้างานใหม่ในไทย ด้วยการผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยี Tissue Engineering และวัสดุชีวภาพทางการแพทย์ (Biomaterials) โดยตรง และหวังว่าจะสามารถต่อยอดไปถึงการนำของเหลือมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ/เน้น Zero waste โดยเลือกกระบวนการที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้มีโอกาสทำธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตทั้งในและต่างประเทศได้มากก็คือ อุตสาหกรรมด้านความงามและอาหารเสริม งานนี้ ต่อตระกูล พูลโสภา และ ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ ได้จับมือร่วมกันคิดค้นพัฒนาและผลิตเข็มขนาดไมโคร (Microneedle) ในรูปแบบแผ่นแปะเทคโนโลยี Microspike ที่มีลักษณะพิเศษเพื่อการใช้งานเฉพาะจุดและสามารถดีไซน์ได้ตามต้องการของลูกค้าซึ่งต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม ทำให้สามารถนำส่งสารสำคัญผ่านผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อตระกูลอธิบายว่า สภาพเข็มขนาดเล็กนี้จะช่วยนำสารบำรุงสำคัญซึมซับเข้าสู่ผิวหนังได้ดีขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เห็นผลได้เร็วขึ้น ขณะนี้ บริษัทรับผลิต แผ่นแปะใต้ตา แผ่นแปะหน้าแก้ม หรือมาส์กหน้า ให้กับหลายบริษัทเวชภัณฑ์ แต่ในอนาคตวางแผนที่จะขยายต่อยอดเป็นแบรนด์ของตนเองภายใต้ บริษัท สไปก์ อาร์ชิ เทคโทนิคส์ จำกัด รวมถึงต่อยอดในการใช้งานทางการแพทย์ เช่น การนำส่งสารบรรเทาความเจ็บปวดด้วยแผ่นแปะสำหรับข้อเข่า เป็นต้น 

แม้ว่าอาหารเสริมจะมีมากมายจนแทบล้นตลาดในปัจจุบัน แต่ สุรเชษฐ์ สุนทรทวีทรัพย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ควอนตัม ไบโอเทค จำกัด กลับมองเห็นช่องทางในการเป็นส่วนหนึ่งให้อุตสาหกรรมผลิตอาหารเสริมของไทยมีจุดขายที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้ประโยน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ นำเทคโนโลยีด้านไบโอรีไฟเนอรี่และไฮบริด มาผลิตสารออกฤทธิ์มูลค่าสูงจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งวัสดุที่ทางบริษัทเลือกใช้ในเวลานี้ก็คือ เปลือกมะนาว 

สุรเชษฐ์ อธิบายว่า ตัวไบโอรีไฟเนอรี จะทำหน้าที่เป็นเสมือน ไบโอ เอ็นแฮนเซอร์ (Bio enhancer) ที่จะทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมที่อาหารเสริมตัวนี้ต้องใส่สาร A ในปริมาณมากกว่า 100 กรัมเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ แต่หากใส่สารสกัดไบโอรีไฟเนอรีของบริษัทเข้าไป ก็จะช่วยลดปริมาณการใช้สาร A ลง แต่ยังสามารถออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้เท่ากัน 

ป้จจุบัน นอกจากได้รับการสนับสนุนจากสวทช.แล้ว ยังมีบริษัทจากฮ่องกงเข้ามาให้การลงทุน เบื้องต้นตั้งใจรับผลิต OEM ให้กับแบรนด์อาหารเสริมที่มีอยู่ในท้องตลาด ก่อนขยับร่วมทำโคแบรนด์ สร้างแบรนด์ร่วมกับอาหารเสริมเหล่านั้น ก่อนที่จะพัฒนามีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเป็นของตนเองภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้า 

ด้าน ดร.กตัญชลี ไม้งาม ผู้ก่อตั้ง และ ปิยกานต์ มูลฐี หัวหน้าฝ่ายการผลิตได้อธิบายถึง โครงการ KANTRUS ว่าเป็น Deep-tech healthcare startup ที่ทำการผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุออกฤทธิ์สำหรับเครื่องสำอางและการแพทย์ เช่น โปรตีนอีจีเอฟ ที่มีความบริสุทธิ์และความสามารถในการออกฤทธิ์สูง ในราคาที่เข้าถึงได้

ดร.กตัญชลี อธิบายว่า โปรตีนอีจีเอฟ เป็นสารชีววัตถุประเภท โกรทแฟกเตอร์ (growth factor) ที่มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์สูงและกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดโลก นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เวชสำอางและการแพทย์ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการที่ไทยสามารถผลิตสารตั้งต้นตัวนี้ได้เอง ผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีดีเอ็นเอรีคอมบิแนนท์ (recombinant DNA technology) ทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบตรงที่ มีโปรตีนที่บริสุทธิ์ ออกฤทธิ์สูง ในราคาเข้าถึงได้ เพิ่มทางเลือกในการผลิตเครื่องสำอางระดับพรีเมี่ยมเพื่อแข่งขันกับแบรนด์ต่าง ๆ จากบริษัททั่วโลก

ปัจจุบัน รับผลิต โปรตีนอีจีเอฟ ให้กับแบรนด์เวชสำอางหลายแห่งแล้ว และมีแผนที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ของตนเองเตรียมออกวางจำหน่ายภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ 

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรรมด้านดีพเทค สตาร์ตอัพที่มาโชว์ผลงานในครั้งนี้ด้วยเช่นกันคือ ก็คืออุตสาหกรรมดิจิทัล เริ่มต้นด้วย บริษัท เอไอไนน์ จำกัด (AI9) เป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัทไทยรายแรกที่ให้บริการการถอดเสียงการประชุมโดยใช้เทคโนโลยี AI  โดยสามารถแปลงเสียงพูดเป็นข้อความอัตโนมัติ (Speech-To-Text) และสร้างเสียงพูด (Text-To-Speech) ได้ รวมถึงการสร้าง Voicebot และผู้ช่วยส่วนตัว (Digital Assistant) ไปจนถึง แพลตฟอร์มการสำรวจและวิเคราะห์ความคิดเห็นด้วย Speech-To-Text และ Sentiment Analysis

ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์, สุรีพร กระจง และ ดร.ศิลา ชุณห์วิจิตรา ทีมผู้ก่อตั้งเอไอไน์ กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายมุ่งเน้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในด้านเสียงและการสนทนา (Speech and Conversation) รวมทั้งด้านการเข้าใจภาษา (Language Understanding) เพื่อให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าใจและสามารถสื่อสารภาษาของมนุษย์ได้ ตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชนที่ต้องการยกระดับ workflow การทำงานให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้าน บริษัทดาร์วินเทคโซลูชันส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดอาหารและดูแลสุขภาพในสถานศึกษาแบบครบวงจร ด้วยระบบการวิเคราะห์จัดการบิ๊ก ดาต้า (Big Data Analytic Platform) ที่ก้าวจากโภชนาการในสถานศึกษา ไปสู่โจทย์โภชนาการในภาคอุตสาหกรรม/บริการ และอื่น ๆ

พงษ์ศักดิ์ ติยานันทิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดาร์วินเทคกล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทให้บริการระบบบริหารจัดการอาหารในโรงเรียนสำหรับผู้ประกอบการ ช่วยคุมต้นทุนและคุณภาพโภชนาการ หรือระบบบริหารจัดการโรงอาหารแบบ Smart Canteen ควบคู่ไปกับการให้บริการจัดหาวัตถุดิบและปรับเมนูอาหารให้เหมาะสม และบริการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IOT ตามความต้องการ

ขณะที่ บริษัทบิ๊กโกอนาไลติกส์จำกัด ก็ถือเป็นหนึ่งบริษัทที่ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data / Data Analytic) ที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ลดลง 

ชัยภูมิ ศิริพันธ์พรชนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทกล่าวว่า ขณะนี้ บิ๊กโกมีการบริการ 3 ด้านหลักคือ

  1. BIG MATCH ซึ่งเป็นระบบบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Integration) รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีความซับซ้อน มีขนาดใหญ่ รวมทั้งมาจากหลายแหล่งข้อมูล ทำให้การทำงานเป็นเรื่องง่าย และเป็นไปอย่างอัตโนมัติ
  2. BIG VIZ คือระบบสร้าง Data Visualization และ Dashboard ด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถนำเสนอข้อมูลภายในองค์กรด้วยตัวเองได้สะดวกและรวดเร็ว และ
  3. BIG STORGANISE รับออกแบบและพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันตามความต้องการ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และ Dashboard รวมทั้งให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่

ปิดท้ายกันด้วยผลงานของ บริษัทไบโอเทค โกลเบิ้ล อินโนเวชั่น ซึ่งให้บริการแพลตฟอร์มด้าน Biotechnology และ Life Science ที่ครบวงจรรายแรกของประเทศไทย ที่ครอบคลุมครบถ้วนทั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเครือข่ายธุรกิจ 

ดร.ศรายุทธ์ เอี่ยมคง Business Innovation Director กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้มีขึ้นเพื่อแก้ pain point ให้กับบรรดางานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ สุขภาพ เกษตร อาหาร และบริการไบโอชีวภาตต่าง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะต่อยอดงานวิจัยไปสู่การตั้งบริษัททำธุรกิจได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่มั่นใจว่างานวิจัยดังกล่าว สามารถสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ได้แน่นอน โดยแพลตฟอร์มของไบโอเทค โกลเบิ้ล อินโนเวชั่นนี้ จะครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาแผนธุรกิจ ให้คำปรึกษา และการทำการตลาดและสร้างยอดขาย 

สำหรับ ผลงานของ 9 สตาร์ตอัพดีพเทคสัญชาติไทย ภายใต้โครงการนาสท์ด้า สตาร์ตอัพ ข้างต้นนี้ มีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่า งานวิจัยแต่ละชิ้นเป็นประโยชน์มากกว่าแค่การเติมชั้นวางหนังสือในห้องสมุดให้เต็ม และเชื่อว่า การต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ของไทยในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมยกระดับเศรษฐกิจด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาที่รับโจทย์เพื่อทำวิจัยแล้วถ่ายทอดสิทธิ (Licensing) แบบเดิม อาจไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เนื่องจากเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลและส่งผลกระทบต่อหลายสาขาอาชีพมากขึ้น ดังนั้น สวทช. จึง ขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ภายใต้กลไกการส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์อีกรูปแบบหนึ่งของ สวทช. หรือที่เรียกว่า ‘นาสท์ด้า สตาร์ตอัพ’ NSTDA Startup ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งผ่านงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ และยังช่วยตอกย้ำศักยภาพงานวิจัยสู่การตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นตั้งเป้าในการปั้นสตาร์ทอัพจากงานวิจัยให้ได้ปีละ ประมาณ 4 ราย 

สำหรับกลไกของ NSTDA Startup นี้จะช่วยตอบโจทย์การเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม(RDI) ให้เร็วยิ่งขึ้น โดยหลักคือจะมีกลุ่มนักวิจัยเข้าร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนและ/หรือ สวทช. ในการปั้นโมเดลธุรกิจ (Business Model) จากผลงานวิจัยของสวทช. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแผนธุรกิจ (Business Plan) อย่างเป็นรูปธรรม แล้วก้าวไปสู่การร่วมจัดตั้งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปต่อไป

ดร.ณรงค์กล่าวว่า การเปิดตัวผู้ประกอบสตาร์ตอัพ ที่ต่อยอดธุรกิจจากงานวิจัยและพัฒนาจากองค์กรวิจัยระดับประเทศมากถึง 9 รายต่อสาธารณะชนเป็นครั้งแรกนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ หากมาร่วมผลักดันธุรกิจเทคโนโลยีกับ NSTDA Startup และถือเป็นการเปิดโลกการลงทุนใหม่ เพื่องานวิจัยจากแหล่งการลงทุนใหม่ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อไป ซึ้งบริษัทที่นำมาเปิดตัวครั้งนี้ ปัจจุบันจดทะเบียนบริษัทแล้วจำนวน 7 บริษัท และอยู่ระหว่างเตรียมจดทะเบียนอีก 2 ผลงาน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

SCB 10X จัดโครงการ เฟ้นหานิสิตนักศึกษาร่วมแคมป์อัปสกิลด้านบล็อกเชน

นวัตกรรมกับการทรานส์ฟอร์มเมือง ดัน ‘กรุงเทพ’ สู่ “มหานครแห่งนวัตกรรม”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ