TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeเตือน Gen X เร่งปรับตัว สู่วิถียืดหยุ่น เลี่ยงวิกฤติมนุษย์เงินเดือนในยุคโควิด-19

เตือน Gen X เร่งปรับตัว สู่วิถียืดหยุ่น เลี่ยงวิกฤติมนุษย์เงินเดือนในยุคโควิด-19

การระบาดของไวรัสโควิด-19 สารพัดสายพันธุ์ส่งผลกระทบต่อบรรดามนุษย์เงินเดือนทั่วโลก ผลการศึกษาล่าสุดของ Generation องค์กร์ไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งทำงานขับเคลื่อนด้านการจ้างงาน กล่าวว่า กลุ่มคนวัย GenX (เจน เอ็กซ์) หรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป จะกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะอายุที่ล่วงเลยทำให้บรรดานายจ้างส่วนใหญ่ที่หันมาใช้นโยบายตัดลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองให้บริษัทอยู่รอดในห้วงวิกฤติ ตัดสินใจลดจำนวนคนด้วยการตัดคนงานที่มีอายุมากที่สุดออกไปก่อน และด้วยวัยที่มากขึ้น ทำให้เป็นเรื่องยากที่กลุ่มแรงงานวัยกลางคนเหล่านี้จะหางานทำใหม่ได้โดยง่าย

ดอกเตอร์ โมนา มูร์เชน (Mona Mourshed) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Generation กล่าวว่า ความจริงที่แสนเจ็บปวดแต่ต้องยอมรับก็คือว่า เมื่อมีอายุถึงวัย ๆ หนึ่ง โอกาสในการเข้าถึงงานจะยากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วยิ่งโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะเทคโนโลยี ก็ยิ่งทำให้แรงงานวัยผู้ใหญ่ตอนปลายเหล่านี้หางานทำใหม่ได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก หากไม่ยอมเรียนรู้ ปรับตัว และก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ในผลการศึกษาวิจัยภายใต้หัวข้อ “Meeting the world’s midcareer challenge” พบว่า กลุ่มเด็กจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน กับกลุ่มแรงงานในวัยกลางคน คือ อายุระหว่าง 45-60 ปี ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการหางานทำใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ตอนปลายที่ต้องเผชิญปัญหาการจ้างงานอย่างหนักหน่วง เพราะอคติความลำเอียงของนายจ้างที่มองว่า คนวัยนี้เริ่มเสื่อมถอย หมดไฟ และเลยวัยที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงองค์กรในอนาคต 

การศึกษาครั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยมีคนทั่วไปทั้งที่มีงานทำและว่างงาน จำนวน 3,800 คน อายุตั้งแต่ 18-60 ปีเข้าร่วม และมีคนทำงานในตำแหน่งผู้จัดการที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการจ้างงานของบริษัท อีก 1,404 คน ใน 7 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี และอินเดีย

รายงานระบุว่า แม้จะมีความหลากหลายในเชิงภูมิศาสตร์ แต่สิ่งที่ค้นพบในภาพรวมยังคงเหมือนกัน นั่นคือ แรงงานวัย 45-60 ปี กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีสิทธิ์โดนนายจ้างยกเลิกสัญญา ลอยแพได้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากกลุ่มคนที่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องของการจ้างงานต่างเห็นว่า คนวัย 45 ปีขึ้นไปนี้ เป็นกลุ่มที่แย่ที่สุดในแง่ของความพร้อม ความฟิต และประสบการณ์ที่สั่งสมมา

ทั้งนี้ ปัจจัยที่น่ากังวลที่องค์กรมองเห็น ก็คือ การรับรู้ถึงความไม่เต็มใจในหมู่คนงานอายุเยอะ ในการที่จะลองใช้เทคโนโลยีใหม่ (38%) การไม่สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ (27%) และความยากลำบากในการทำงานกับคนรุ่นอื่น ๆ (21%)

ขณะเดียวกัน แนวทางการคัดเลือกสรรหาบุคคลที่เข้าทำงาน ส่วนใหญ่จะอิงอยู่กับการใช้วิธีการสัมภาษณ์เพื่อเฟ้นหาพนักงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งอย่างแท้จริง 

ยิ่งไปกว่านั้น การเรียนรู้เพื่อขัดเกลาฝีมือ และพัฒนาทักษะของคน ถือเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้กลุ่มวัยทำงานผู้ใหญ่ตอนปลาย ยังคงมีงานทำอย่างต่อเนื่องในโลกหลังยุคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม กลับเป็นเรื่องน่าเศร้า เมื่อผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (57%) แสดงอาการต่อต้านการเข้ารับการฝึกอบรมทักษะใหม่ ขณะที่มีเพียง 1% เท่านั้นที่กล่าวว่า การฝึกอบรมช่วยเพิ่มความมั่นใจในการหางาน

สาเหตุที่ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากต่อต้านการฝึกอบรม ไม่ใช่เพราะไม่อยากเรียน แต่เกิดจากประสบการณ์การเข้ารับการฝึกอบรมในช่วงที่ผ่านมาที่ไม่ค่อยน่าจดจำสักเท่าไรนัก บวกกับตารางการฝึกอบรมที่เบียดเบียด หรือชัดขวางการทำงาน อีกทั้งบางครั้งยังต้องควักเงินเข้าร่วมการฝึกอบรมเพิ่มเติมด้วยตัวเอง

กระนั้น ในมุมมุองของดอกเตอร์โมนา สังคมการทำงานในยุคโควิด-19 และนับต่อจากนี้จะเป็นสังคมหลากวัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกอบรมเพื่อ reskill และ upskill ทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น อีกทั้ง การเข้ารับการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ จะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับคนวัย 45 ปีขึ้นไปที่จะเปลี่ยนงานหรือไต่เต้าสู่ระดับที่สุดขึ้นไป 

นอกจากนี้ เพื่อให้องค์กรเลือกคนที่เหมาะกับตำแหน่งหน้าที่งานโดยไม่เกี่ยงอายุ ดอกเตอร์โมนาได้แนะนำให้บริษัททั้งหลาย จัดการฝึกอบรมโดยเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนเข้าร่วมการฝึกอบรม ลดขั้นตอนการสัมภาษณ์และมุ่งเน้นไปที่การทำมากกว่าพูด 

วันทำงานยังเท่าเดิม แต่เพิ่มเติม คือ “สถานที่”

ไม่เพียงแต่บรรดามนุษย์เงินเดือนเท่านั้นที่ต้องเร่งปรับตัวตามสถานการณ์โลกที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บรรดาผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ซีอีโอผู้บริหาร หรือคณะบอร์ดบริหารระดับสูงของบริษัทและองค์กรทั้งหลายต่างก็เร่งหาแนวทางเพื่อให้พนักงานสามารถกลับมาทำงานได้ปกติ ปลอดภัย และไร้กังวล 

Shellye Archanbeau ผู้อำนวยการและสมาชิกคณะกรรมการบริหารบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นวอลล์สตีทของสหรัฐฯ รวมถึงอยู่ในกลุ่ม Fortune 500 อย่าง Verizon, Nordstrom และ Roper Technologies กล่าวว่า หลายองค์กรในขณะนี้ต่างจับตาสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์เดลต้าอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงาน ในแง่ของจำนวนคน วันเวลา และสถานที่ ให้สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม 

ทั้งใน ในมุมมองส่วนตัวของ Archanbeau แนวทางการทำงานของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่บรรดาผู้ประกอบการหรือผู้บริหารเลือกใช้ ก็คือ แนวทางผสมผสาน (ไฮบริด) ที่มีหลักการสำคัญอยู่ที่ความ “ยืดหยุ่น” ดังนั้น ในห้วงเวลานี้จึงเริ่มเห็นหลายบริษัทเสนอทางเลือกในการที่พนักงานจะสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด

แน่นอนว่า ประการแรกสุดขององค์กรส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ คือ การเดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานของบริษัทเข้ารับการฉีดวัคซีน อย่างน้อยก็ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และหลีกเลี่ยงการเพิ่มความเสี่ยงต่ออัตราการระบาดและแพร่เชื้อ ในกรณีที่ต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศสำนักงาน 

ประการที่สอง หลายบริษัทเลือกที่จะลดจำนวนวันที่จะต้องเข้ามาทำงานในออฟฟิศในแต่ละสัปดาห์ เช่น Apple มีแผนปรับให้พนักงานแต่ละคนเลือกเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ เป็นต้นไป 

ประการที่สาม คือ การหันมาใช้การทำงานทางไกลเข้ามาช่วย ทั้งในแง่แบบชั่วคราว และแบบถาวร ซึ่ง Facebook, Slack และ Square เลือกที่จะใช้การทำงานทางไกลแบบชั่วคราว ลากยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม ขณะที่ Twitter และ Spotify หันมาใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน (work-from-home) เป็นการถาวรเรียบร้อยแล้ว ส่วนองค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง Alphabet บริษัทแม่ของ Google, Amazon, และ Microsoft กำลังวางแผนที่จะเปิดทางให้พนักงานสามารถจัดสรรเวลาระหว่างบ้านและที่ทำงานให้สอดคล้องกับลักษณะงานที่ทำมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของบริษัทที่มีความจำเป็นต้องเข้าทำงานในออฟฟิศ สิ่งที่ Archanbeau แนะนำก็คือ การบังคับใช้มาตรการสกัดกั้นการระบาดอย่างเข้มงวด  เช่น การบังคับสวมหน้ากากอนามัย การทักทายกันด้วยท่าทางแทนที่การจับมือสัมผัส และการเว้นระยะห่างสังคม 

นอกจากนี้ ในฐานะที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา Archanbeau ยังประเมินอีกว่า ต่อให้ฉีดวัคซีนครบโดยเรียบร้อย พนักงานกินเงินเดือนส่วนใหญ่ก็อาจจะยังไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศได้ตามปกติ เพราะมีเงื่อนไข อย่าง การดูแลลูกหลานพ่วงเข้ามา หลายรายอาจต้องรอจนกว่า ลูกหลานภายในบ้านได้รับการฉีดวัคซีนก่อนจึงจะสามารถวางใจกลับไปทานได้ตามปกติ 

“สิ่งที่ฉันมองเห็นในเวลานี้ก็คือ พวกเขา (บริษัทเอกชน) ทั้งหลาย พยายามคงไว้ซึ่ง “ความยืดหยุ่น” ด้วยการแสดงทางเลือกให้กับพนักงานในการกลับมาทำงาน ควบคู่ไปกับการรอดูสถานการณ์โดยรอบอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายทำงานได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด” Archanbeau กล่าวปิดท้าย

Source: CNBCCNBC

แปลและเรียบเรียงโดย นงลักษณ์ อัจนปัญญา 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ