TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistย้อนรอย ก่อนปิดตัวศูนย์ซ่อมอากาศยานไทย

ย้อนรอย ก่อนปิดตัวศูนย์ซ่อมอากาศยานไทย

ถึงวันนี้ศูนย์ซ่อมใหญ่อากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) คงถูกปิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าจำกันได้ เมื่อกลางเดือนมีนาคมมีภาพพนักงานการบินไทย กว่า 300 ชีวิต ยืนแปลอักษรภาษาอังกฤษว่า “UTP” ซึ่งเป็นอักษรย่อของ ศูนย์ซ่อมใหญ่อากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นการประกาศอำลา ศูนย์ฯ ก่อนจะปิดอย่างเป็นทางการ

ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา  อยู่ในท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ( U-Tapao Rayong-Pattaya International Airport)  เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานลำตัวกว้าง สามารถรองรับเครื่องบินในตระกูล โบอิ้ง 737, 747 และ 777 และเครื่องบินตระกูลแอร์บัส A380, A300, A330 และ A340 ซึ่งในภูมิภาคนี้มีศูนย์ซ่อมยานลำตัวแคบเป็นส่วนใหญ่

การที่การบินไทยสนใจทำศูนย์ซ่อมอากาศยาน เนื่องจากมีการประเมินจาก บริษัท โอลิเวอร์ ไวแมน ที่ปรึกษาด้านการจัดการ เป็นหนึ่งใน บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในโลก มีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2030 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีจำนวนเครื่องบินในเพิ่มขึ้นกว่า 13,838 ลำ จาก ค.ศ. 2020 ที่มีเครื่องบิน  7,786 ลำ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเครื่องบินของเอเชียแปซิฟิกขยับขึ้นมามีสัดส่วนกว่า 35% ของตลาดรวมทั่วโลก

บริษัท แอร์บัส ประเมินว่า ในปี ค.ศ. 2030 การซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นประมาณ 64,600 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่มีฝูงบินใหญ่ของสายการบินแห่งชาติให้บริการในอาเซียนเพิ่ม เช่น อินโดนีเซีย 141 ลำ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ 111 ลำ การบินไทย 89 ลำ มาเลเซีย 72 ลำ ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ 55 ลำ และ เวียดนาม แอร์ไลน์ 87 ลำ

ฝูงบินของสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคอาเซียน มีฝูงบินแอร์เอเชีย มีฝูงบินมากที่สุดจำนวน 204 ลำ รองลงมาเป็น เจ็ตสตาร์ จำนวน 71 ลำ, เวียดเจ็ต แอร์ จำนวน 54 ลำ ,ไลอ้อนแอร์ จำนวน 116 ลำ ,เซบู แปซิฟิกจำนวน 62 ลำ ,สคู้ต จำนวน 42 ลำ และไทยสไมล์ จำนวน 20 ลำ

เมื่อเครื่องบินมีจำนวนมากขึ้น ศูนย์ซ่อมบำรุงก็มีความจำเป็นมากขึ้น ในละแวกประเทศไทยมีศูนย์ซ่อมใหญ่ที่ ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 3 บริษัท ได้แก่  บริษัท สิงคโปร์ เทคโนโลยี แอร์โรสเปซ บริษัท สิงคโปร์ แอร์โร เอ็นจิน เซอร์วิส  และบริษัท เอสไอเอ เอ็นจิเนียริ่ง

ในประเทศ เวียดนาม มีบริษัทซ่อมบำรุงอากาศยานของสิงคโปร์ ร่วมหุ้นลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมชิ้นส่วนอากาศยานในเวียดนาม และจะมีการต่อยอดพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในเวียดนาม  ซึ่งในระยะแรกจะเน้นรองรับต่อเครื่องบินลำตัวแคบที่เป็นฝูงบินส่วนใหญ่ในประเทศ

ประเทศอินโดนีเซีย บริษัทซ่อมบำรุงการบิน “การูดา” ในเมือง “บาตัม” ทางตอนใต้ของประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO อันดับ 13 ของโลก

ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐมาเลเซีย มีบริษัท  Sepang Aircraft Engineering (SAE) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของแอร์บัสที่เน้นซ่อมบำรุงเครื่องบินลำตัวแคบแก่สายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาค ล่าสุดได้มีการประกาศลงทุนเพิ่มจำนวนโรงซ่อมบำรุงขึ้นอีก 1 แฮงการ์ เพื่อเตรียมรองรับคำสั่งซื้อเครื่องบินขนาดลำตัวแคบของสายการบินแอร์เอเชียที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยลำ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่าประเทศไทยได้เปรียบทำเลที่ตั้ง ตำแหน่งที่ตั้งอยู่กึ่งกลางภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก และในเฟสแรกที่เน้นการซ่อมบำรุงเครื่องบินขนาดลำตัวกว้างเป็นหลัก จะช่วยทำให้มีรายได้จากการซ่อม บำรุงเพิ่มมอย่างน้อย 292 ถึง 365 ล้านดอลลาร์ฯ จากปัจจุบันที่มีมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์

ดังนั้น แผนการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ของการบินไทยก็เริ่มขึ้น โดยแบ่งระยะการลงทุนช่วง ในระยะแรก ปี 2565-2583 ลงทุน 6,400 ล้านบาท โดยการบินไทยลงทุนเอง 2,000 บ้าน ที่เหลือเป็นเอกชนลงทุน ในการก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์ เป้าหมายรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินได้ 80-100 ลำ

เป้าหมายสร้างรายได้ ปีแรก 400-500 ล้านบาท จากการซ่อมอากาศยานปีละ 10 ลำ คาดการณ์การเติบโตรายได้เฉลี่ยปีละ 2% ระยะเวลา 50 ปี รายได้รวม 2 แสนล้านบาท

โดยคัดเลือก บริษัท Airbus S.A.S (แอร์บัส) เป็นผู้ร่วมทุน เนื่องจากผ่านคุณสมบัติและมีประสบการณ์เหมาะสมตามที่กำหนดไว้เพียงรายเดียว ที่จะลงทุนกับการบินไทย ในสัดส่วน 50 : 50 ภายใต้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ในการจัดซ่อมอากาศยาน ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบไปด้วยโรงซ่อมอากาศยาน ลานจอด และโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนภายใต้วงเงินราว 6,300 ล้านบาท

เมื่อถึงกำหนดการยื่นข้อเสนอ แอร์บัสก็ไม่ยื่นข้อเสนอ เพราะปัญหาการเจรจาในเรื่องของข้อกฎหมายร่วมทุน ที่ทางแอร์บัสมองว่าไม่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน ดังนั้นการบินไทยจึงเลื่อนระยะเวลา 30 วัน แอร์บัสก็ยังคงไม่ยื่นข้อเสนอ 

หลายฝ่ายคาดว่าเกิดจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านการบินทั่วโลก ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลเรื่องศูนย์ซ่อมจากบริษัทที่ปรึกษา และธนาคารต่าง ๆ อาจจะมีการชะลอตัวออกไป ไม่เป็นไปตามการประเมินก่อนหน้านี้ เป็นสาเหตุให้แอร์บัส ประเทศฝรั่งเศส ถอนตัวในโครงการ ศูนย์ซ่อม ผนวกกับแอร์บัสมียอดรายได้ลดลงและมียอดขาดทุนสุทธิ ในขณะที่การบินไทยยังอยู่ในช่วงการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโครงการนี้คงไม่ได้เกิดขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) บอกเลิกสัญญาเช่า พื้นที่ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาของบริษัท การบินไทย เพื่อขอคืนพื้นที่ใช้ก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 

นี่จึงเป็นที่มาของ การโบกมืออำลา ของพนักงานฝ่ายช่างและฝ่ายภาคพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ของการบินไทย ที่อู่ตะเภา เป็นที่น่าเสียดาย แต่ใช่ว่าโครงการศูนย์ซ่อมใหญ่อากาศยานจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต โครงการนี้อาจจะกลับมาอีกครั้งหลังสถานการณืด้านการบินดีขึ้น แต่….อาจจะไม่ใช่โครงการของการบินไทยก็เป็นได้ 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ