TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityจาก 'ฝายชะลอน้ำ' สู่ 'อาชีพยั่งยืน' ที่ 'แจ้ห่ม' จังหวัดลำปาง

จาก ‘ฝายชะลอน้ำ’ สู่ ‘อาชีพยั่งยืน’ ที่ ‘แจ้ห่ม’ จังหวัดลำปาง

ขบวนรถตู้ 3 คัน นำพาคณะสื่อมวลชนและทีมงาน SCG จากท่าอากาศยานลำปาง มุ่งสู่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ใน ทริปเลิกแล้ง เลิกจนสู่ พลังชุมชนสร้างอาชีพ ก่อนเดินทางไปสู่จุดหมายตำบลบ้านสา

คณะผู้เดินทางแวะรับประทานอาหารเที่ยงตำรับล้านนาที่ไร่ห่มฟ้า อำเภอแจ้ห่ม ไฮไลต์ของอาหารสำรับนี้ถูกหุงสุกห่อมาในใบตอง คือ ข้าวพันธุ์หอมล้านนาแบรนด์ “หอมละหนา” ความหอมของตัวข้าวผสมกับความหอมของใบตอง เคี้ยวหนึบอร่อย เมื่อกินกับลาบคั่วที่ใส่ น้ำพริกลาบ “แซ่บถะล้า” ทำเอาเพลินข้าวหมดห่อไม่รู้ตัว และได้รับรู้ว่าทั้งข้าวกล้องและน้ำพริกลาบ คือผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลบ้านสา ที่เรากำลังจะไปเยือนนี่เอง

การเดินทางไปต่อ เริ่มทิ้งถนนลาดยางทางหลวงแผ่นดิน และถนนปูนคอนกรีตของหมู่บ้านไว้เบื้องหลัง เข้าสู่ทางลูกรังผ่านสู่เขตเรือกสวนไร่นา และเนินเขาสูงชันขึ้นในเขตบ้านสาแพะใต้ ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง แอร์เย็นฉ่ำในรถตู้ช่างตรงกันข้ามกับแดดร้อนแล้งภายนอก ที่ข้างทางคือ ผืนป่าที่ใบไม้แห้งกำลังหลุดร่วงจากต้นเต็มผืนดิน สลับกับไร่นาสวน และค้างปลูกผักที่พ้นฤดูเก็บเกี่ยวไปแล้ว 

ขณะที่ถนนลูกรังพารถโยกเยกไปตามทางจนผู้โดยสารในรถเริ่มวิงเวียน รถแล่นผ่านพื้นที่ลักษณะคล้ายบ่อน้ำกลางไร่นา แต่ผิดแปลกไปตรงที่ยังมีน้ำอยู่เกือบเต็มในยามแล้งเช่นนี้ และพื้นบ่อไม่ใช่ผืนดินแต่เป็นพื้นผิวสีเทาดำดูแข็งแรง ปูนก็ไม่ใช่ ผ้าใบก็ไม่เชิง วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management SCG ผู้นำพาคณะเดินทางในวันนี้ บอกว่านั่นคือ “สระพวงลูก” และ “สระพวงหลาน” แต่คืออะไร ไปฟังคำตอบจากเจ้าของพื้นที่กัน

ในที่สุดเวลาบ่ายคล้อย คณะสื่อมวลชนเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางของวันนี้คือ ที่ทำการสระพวง บ้านสาแพะใต้ มีศาลากว้างขวางตั้งอยู่บนยอดเนิน เคียงข้างด้วย “สระพวงแม่” สระน้ำขนาดใหญ่ ที่จะเป็นแหล่งส่งน้ำให้กับ สระพวงลูก และสระพวงหลาน ที่อยู่ระดับต่ำลงไปในพื้นที่ ซึ่งพบเห็นเมื่อเดินทางเข้ามา บริเวณหน้าที่ทำการมีซุ้มขายสินค้าชุมชน มีผักพื้นบ้าน น้ำพริก ผลิตภัณฑ์จากข้าวพันธ์ุพื้นถิ่นให้แวะชมช้อปกันเล็กน้อยก่อนจะเข้าไปนั่งล้อมวงพูดคุยกับเจ้าบ้าน

จุดเริ่มจากการแก้ปัญหาไฟป่าปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก

การเดินทางยาวไกลจากกรุงเทพฯ สู่บ้านสาแพะใต้ครั้งนี้ เกิดจากความต้องการของ SCG ที่อยากพาสื่อมวลชนมาเห็นผลงานเชิงประจักษ์ของการบริหารจัดการน้ำและการสร้างอาชีพในโครงการพลังชุมชน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของชุมชน

โรงงานปูนลำปางของ SCG ตั้งใน ปี 2537 วีนัส กล่าวว่า โรงงานปูนที่นี่แตกต่างไปจากโรงงานอื่น ๆ คือ มีการใช้เทคโนโลยี Semi Open Cut โดยการตักหินปูนจากยอดบนของภูเขา และเหลือสันเขาไว้ เหมือนตักเนื้อแตงโมแล้วเหลือเปลือกแตงโมไว้ เพื่อป้องกันฝุ่น ป้องกันเสียง ไม่ให้ส่งผลกระทบจากชาวบ้าน “เรามาอยู่ที่นี่พร้อมกับสัมปทานเหมืองปูน เป็นหน้าที่ที่เราต้องดูแลป่า”

บริเวณที่ SCG ทำเหมืองเป็นป่าต้นน้ำวัง ตอนที่มาตั้งโรงงานช่วงแรก ป่ามีสภาพแล้ง เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นแทบทุกวัน ต้องมีอาสาป้องกันไฟป่า ที่เป็นพนักงาน SCG ร่วมกับชาวบ้าน ไปช่วยกันดับไฟไม่ให้ลาม ทั้งเหนื่อยและเปลืองทรัพยากร จนคิดว่าจะทำยังไงให้แก้ไขปัญหาไฟป่าได้ยั่งยืน และนั่นคือจุดเริ่มมต้นของการทำฝายชะลอน้ำตามโครงการพระราชดำริ

“โดยได้ไปดูงานที่ห้วยฮ่องไคร้ เป็นการทำฝายชะลอน้ำโดยใช้วัสดุตามธรรมชาติ กันน้ำให้ไหลช้าลง และซึมลงไปในดิน ไม่ได้กัก ไม่ใช้ปูนซีเมนต์ เมื่อดินมีความชุ่มชื้น มีนกมาคายเมล็ด ต้นไม้ก็จะงอกเอง เป็นการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ตามพระราชดำริของในหลวงรัชการที่ 9”

บวร วรรณศรี ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ผู้ที่เลือกจะขอย้ายจากสำนักงานใหญ่ในเมืองหลวง กลับมาทำงานที่บ้านที่ลำปางตั้งแต่แรกเริ่มสร้างโรงงานปูนลำปาง ในปี 2537 และมีส่วนร่วมกับการรณรงค์สร้างฝายในพื้นที่มาโดยตลอด กล่าวว่า โรงงานปูนที่ลำปางนำนโยบาย ESG 4 Plus จาก SCG มาสู่การปฏิบัติโดยเน้นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับโรงงานปูนลำปาง โครงการทั้งหมดไม่มีงบประมาณว่าจ้าง แต่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

“บอกตรง ๆ ว่าช่วงนี้เป็นช่วงแล้งที่สุด และไม่ควรจะรับแขกที่สุด เพราะเราต้องโชว์ความแกร่ง ความอยู่รอด อยู่ได้จริง จากการที่เราตั้งใจจริงในการดูแลธรรมชาติ ส่วนหนึ่งคือโรงงานเราเริ่มจากแก้ปัญหาตัวเอง เมื่อก่อนก็มีปัญหาไฟแล้ว มีไฟไหม้ป่าเกิดขึ้น 300-400 ครั้งต่อปี วิ่งดับไฟทุกวัน มีแนวกันไฟกว้าง 30 เมตร ยาว 14 กม. แต่ไฟป่าก็ไม่หมดไป ในปี 2546 อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่เราท่านหนึ่ง คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา แนะนำให้เราไปศึกษาที่ห้วยฮ่องไคร้ และกลับมาเริ่มทำ”

บวร กลาวว่า การเปลี่ยนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศต้องใช้เวลา ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเปลี่ยนเรื่องของใจคน ที่บ้านสาแพะ ก่อนจะเริ่มทำฝาย มีการคุยกันก่อนหลายปี และการทำฝายริเริ่มโดยท่านพระครูสันติพนารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระบาทสี่รอย และกลุ่มเยาวชนเด็กก้นบาตร ซึ่งผู้ใหญ่คง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะใต้ เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ท่านพระครูฯ ที่ทิ้งกรุงเทพฯ กลับมาอยู่บ้าน และเห็นความแห้งแล้งแล้วทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง 

จากฝายสู่กลไกการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน  

จากการทำฝายเพื่อแก้ปัญหาไฟป่าบริเวณโรงงาน ขยายสู่ชุมชนโดยรอบโรงงาน เมื่อสร้างฝายส่งผลให้ป่าชุ่มชื้น ปัญหาไฟป่าลดลง ป่าฟื้นฟูด้วยความชุ่มชื้นที่เพิ่มขึ้น แต่ปัญหายังคงมีอยู่นั่นคือ ปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่ทำการเกษตร เมื่อพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำ โอกาสแรกที่ทุกคนควรต้องเข้าถึงได้ คือ น้ำ เพราะถ้าไม่มีน้ำก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ พี่ตู่อธิบายเพิ่มถึงการขยับจากเรื่องฝายในป่า มาเป็นเรื่องพาชุมชนหาน้ำ

พอชาวบ้านทำฝายในป่า ฝายเก็บน้ำไว้อยู่ในป่า น้ำไม่มาที่ชุมชน ไม่มาที่ไร่นา จึงพาชาวบ้านไปดูงานโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับระบบสระพวง เป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำ โดยมีชุดสระน้ำ ที่มีสระแม่ สระลูก สระหลาน ต่างขนาดกัน ไล่เรียงกันไปเป็นขั้น ๆ แต่เชื่อมต่อกัน โดยอาศัยหลักการน้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ เพื่อกักเก็บน้ำและกระจายน้ำไปสู่พื้นที่เกษตรใกล้หมู่บ้าน เหมาะกับพื้นที่เกษตรในเขตที่ไม่มีระบบชลประทาน ช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

แต่เนื่องจากดินบริเวณนี้เป็นดินทรายเก็บน้ำไม่ได้ จึงต้องมีเทคโนโลยีในการกรุบ่อ เดิมใช้พลาสติกมากรุ เป็นพลาสติกหนาทนทานแต่มีข้อเสียคือเวลาสัตว์ตกลงไปในบ่อที่ปูพื้นด้วยพลาสติกไต่ขึ้นมาไม่ได้เพราะลื่น เลยมาเปลี่ยนเป็น Fabric Cement คือ ผ้าใบที่มีผงซีเมนต์เคลือบมาใช้กรุบ่อ ง่ายต่อการติดตั้ง ไม่ต้องแบกปูนขึ้นเขาไปถึงหน้างาน

“เนื่องจากเวลาเราทำบ่อพวง เราต้องใช้พื้นที่ชาวบ้านในการขุดบ่อ ชาวบ้านต้องเสียสละพื้นที่เป็นไร่ แต่ถ้าทำเป็นแทงค์ซีเมนต์ก็จะประหยัดพื้นที่ แต่ต้องใช้ซีเมนต์เยอะ เราก็ลองทำดูหลากหลายแบบ ก็ทำให้สามารถดึงน้ำเข้ามาในไร่นาชาวบ้าน ใครที่บริจาคที่ก็ได้น้ำใกล้ ใครที่ไม่ได้บริจาคที่ก็ต้องทำท่อทอยน้ำต่อ ซึ่งบ่อจะอยู่บนพื้นที่สูงลดหลั่นกันลงมา ตอนนี้มีทั้งหมด 8 บ่อ ก็สามารถทอยน้ำลงมาได้ง่าย”

ผู้ใหญ่คงบุญโชค กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะใต้ เผยประสบการณ์ จากที่เคยท้อใจกับความแห้งแล้งจนต้องทิ้งถิ่นเข้าไปเมืองหลวง แต่กลับมาต่อสู้บากบั่นกว่ายี่สิบปี จนมาถึงวันนี้ วันที่เลิกแล้ง เลิกจน

“ก่อนหน้านี้ นอกจากแล้งแล้วยังมีการเผาทำลายป่า เป็นวัฏจักรอย่างนี้ทุกปี ก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ชาวบ้านก็ไปทำงานนอกพื้นที่ ทั้งต่างจังหวัด ต่างประเทศ ผมเองก็เหมือนผู้ใหญ่บ้านทั่วไป แต่เราเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เกิดจากความแห้งแล้ง หน้าฝนก็น้ำป่าไหลหลาก น้ำก็ไหลลงแม่น้ำวังทั้งหมด โชคดีที่ SCG มาชวนทำฝาย พาไปศึกษาดูงานเรื่องการทำฝาย และมีเวทีให้เราได้พูดคุย เราก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ว่าโอกาสมาเราก็ต้องทำ โอกาสทั้งตัวเราเองและชุมชน เราได้ทำฝายไปสองพันกว่าลูก รอบ ๆ มีลูกบ้านเข้าร่วมรวม 2 พันกว่าคน ห่อข้าวไปกินกันเอง ใช้แรงและใช้ใจจริงๆ ”

แน่นอนว่ามีคนเห็นด้วยให้ความร่วมมือ ก็ต้องมีคนต่อต้านเป็นของคู่กัน ผู้ใหญ่คงเล่าถึงวิธีการที่ใช้ในการเชิญชวนลูกบ้านว่า “บางคนบอกว่า จะไปทำไม ไปก็ไม่ได้ตัง ไปที่อื่นดีกว่าได้ตัง ผมเลยใช้วิธีการแบบเซลขายประกัน ต้องขายกับพี่กับน้องก่อน ใช้เวลาร่วมสิบปี ผมเริ่มเป็นผู้ใหญ่ปี 2555 ร่วมกับ SCG ปี 2556 ที่ชัดเจนที่สุดภายในเวลา 3 ปี คือปี 2559 เริ่มเห็นผล ที่อื่นแล้ง แต่บ้านเรารอดจากแล้ง ปี 2560 มันแล้งมาก ต้นไม้ยืนตาย แต่น้ำประปาที่เราขุดน้ำใต้ดินมามันไม่แห้ง เพราะปีก่อนหน้านี้เราใช้บ่อน้ำสูบให้ประปา เราต้องเปิดปิดเป็นเวลา แต่หลังจากปี 2560 เราเปิดประปาได้ 24 ชั่วโมง แสดงว่าน้ำใต้ดินยังมีปริมาณมาก”

ผู้ใหญ่คงบุญโชค กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะใต้

เลิกแล้งเลิกจน

นอกจากประปา ชาวบ้านสาแพะใต้ ได้ใช้น้ำในการทำรายได้จากเกษตรประณีต ก่อนหน้านี้ชาวบ้านปลูกถั่วลิสงหลังนาช่วงหน้าแล้งได้ราคาไม่แน่นอน ประมาณ 25 บาทต่อปี๊บ ได้เงินปีละไม่เกิน 10,000บาท ชาวบ้านก็พยายามดิ้นรนหาช่องทางทำกิน จนมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจำนวนประมาณ 4-5 ราย ที่สนใจเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งให้บริษัทเอกชน แต่ข้อจำกัดคือ ไม่มีน้ำ ต้องหาน้ำใช้ท่อพีวีซีประมาณสองร้อยเส้น เครื่องสูบน้ำสองตัว สูบน้ำส่งเพื่อการเกษตร แต่พวกเขาก็เห็นว่า มันมีความหวัง เหมือนเห็นเปลวไฟปลายอุโมงค์ 

ต่อมาในปี 2560 เมื่อเริ่มได้น้ำจากการสร้างฝายชะลอน้ำและบริหารจัดการด้วยสระพวง การผลิตเมล็ดพันธ์ุเริ่มเติบโตในบ้านสาแพะใต้มากขึ้น ผู้ใหญ่คงเล่าถึงบรรยากาศความคึกคักตอนนั้นว่า “ในปี 2560 การผลิตเมล็ดพันธุ์บูมมาก คนทำกันเยอะขึ้น รวม 60 ครอบครัว ยอดขายในปีนั้นรวมประมาณ 24 ล้าน จากที่เคยทำ 2 รอบ กลายเป็น 6 รอบ ๆ ละ 2-3 เดือน แล้งก็ยังทำได้

“ปัจจุบัน มีชาวบ้านที่ทำเกษตรประณีตผลิตเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 90 ครอบครัว และปีนี้เราได้เยาวชนคืนถิ่นอีก 2 ครอบครัว นี่คือ การที่เราหาน้ำจากคำแนะนำของ SCG เราได้ขนาดนี้ ขอให้ตั้งใจทำเท่านั้นเอง”

นอกจากนี้ จากการเข้าร่วมโครงการพลังปัญญา ทำให้ได้พบเครือข่ายพันธมิตรจากจ.สุโขทัย มีการนำมะม่วงโชคอนันต์มาปลูกในพื้นที่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ออกผลสามครั้งต่อปี ตอนนี้ชาวบ้านมีความสุข มีรายได้รายวันจากการปลูกพืชสวนครัวขายได้วันละ 200-300 บาท เป็นเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายรายวันในครอบครัว เงินเดือนก็มาจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ และมีโบนัสปีละ 3 ครั้งจากมะม่วงโชคอนันต์ เป็นการต่อยอดสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน หลังจากได้สระพวงก็มีการตั้งกรรมการน้ำดูแลจัดการกันเองทั้งหมด

“หมู่บ้านสาแพะใต้ เมื่อก่อนมีหนี้ ธกส. ทุกหลังคาเรือน แต่ละคนเป็นหลักแสน ตอนนี้น่าจะหมดไปแล้ว 50% จากจุดเริ่มต้นที่ได้น้ำ ความรู้สึกคือสบายใจ โล่ง สิ่งที่หายไปคือการพนัน ไพ่ ไฮโล มวยตู้ เพราะไม่มีเวลาว่างเลย ต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาผสมเกสรพืชผลิตเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน คือ ดอยฟ้าฮาม อีกด้วย”

ผู้ใหญ่คง บอกเล่าถึงเป้าหมายในอนาคต ว่าอยากจะสร้างแบรนด์เมล็ดพันธุ์เป็นของชุมชนเอง เพราะชาวบ้านมีประสบการณ์และทักษะความชำนาญในการทำเมล็ดพันธุ์อยู่แล้ว เรียกได้ว่า เลือกตลาดที่แตกต่าง ไม่ต้องไปผลิตแข่งจนผลผลิตอื่น ๆ ที่มีปัญหาล้นตลาด แต่ยังต้องการการสนับสนุนความรู้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่านการสนับสนุนของ SCG ซึ่งอาจจะช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นที่ปรึกษา

โดยน่าจะสร้างเป็นแบรนด์เมล็ดพันธุ์ชุมชน พืชสายพันธุ์ท้องถิ่น และเริ่มจากทำตลาดในเครือข่ายชุมชนด้วยกันก่อน หลังจากวงพูดคุยก่อนกลับออกจากพื้นที่ ผู้ใหญ่คงยังพาคณะไปดูแปลงปลูกผักเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ เป็นแปลงเขียวสดอยู่บนทุ่งนาที่มีตอซังข้าวแห้งหลังการเก็บเกี่ยว พิสูจน์ให้เห็นว่า หน้าแล้ง หลังนา ก็ยังทำการเกษตรได้

พลังชุมชนสร้างอาชีพ

จากจุดเริ่มต้นที่ทำเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาไฟป่ารอบโรงงาน ขยับขยายกว้างออกไป ได้ฟื้นฟูป่าและทำให้คนมีน้ำทำการเกษตร จนกลายมาเป็นมาช่วยสร้างอาชีพ คนที่เคยทิ้งบ้านไปอยู่ต่างถิ่นกลับมาบ้าน โดยเฉพาะช่วงโควิด จึงเกิดการต่อยอดเป็น โครงการพลังชุมชนโครงการสอนอาชีพในสไตล์ SCG คือ สอนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งปัจจุบันได้ให้ความรู้ชุมชนไปแล้วกว่า 2,250 คน ใน 14 จังหวัด ยกระดับเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าตัวเอง พัฒนาเป็นนักขายมืออาชีพ และเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจส่งต่อความรู้ให้ผู้อื่นรวมกว่า 10,000 คน  ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการพลังชุมชน ทุกคนสามารถสมัครเข้าร่วมได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มองค์กร โดยมีการเปิดรับสมัครเป็นรุ่นๆ 

ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้บริหารหลักสูตรโครงการพลังชุมชน SCG อธิบายถึงหลักสูตรเสริมสร้าง 4 ความรู้คู่คุณธรรม ประกอบด้วย รู้เรา: รู้คุณค่าและพัฒนาศักยภาพของตนเอง สร้างมูลค่าจากสิ่งรอบตัวรู้เขา: เข้าใจลูกค้า เข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง รู้จัดการ: วางแผนเพื่อการบริหารจัดการและบริหารความเสี่ยง รู้รัก-สามัคคี: สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งพร้อมช่วยเหลือและแบ่งปัน 

มีการเรียนรู้ออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และการอบรมแบบออฟไลน์ โดยมุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาพัฒนาพึ่งพาตนเอง ด้วยภูมิปัญญาและวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างอัตลักษณ์สินค้าให้โดดเด่น รู้จักตลาดก่อนผลิตและขาย สร้างแบรนด์ ทำการตลาด ขยายช่องทางการขาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงวางแผนชีวิตเพื่อความยั่งยืน โดยในพื้นที่อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง มีผู้ประกอบการที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการพลังชุมชนและกลายเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ได้แก่

ข้าวกล้องพันธุ์หอมล้านนาแบรนด์ “หอมละหนา”

วริษา จิตใหญ่ หรือ แม่หลวงเล็ก เจ้าของข้าวหอมละหนาที่คณะสื่อมวลชนได้รับประทานในมื้อเที่ยงของวัน และยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวหอมละหนาเป็นทั้งของกิน คือ ข้าวกรอบธัญพืชผสมพืชพันธุ์ท้องถิ่น เช่น งาม่อน ลำไยหรือสตรอเบอรี่อบแห้ง น้ำผึ้งป่า และของใช้ คือ สบู่เหลวข้าวหอมละหนา 

แม่หลวงเล็กได้แบ่งปันประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการพลังชุมชนว่า “แต่ก่อนเรารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในชุมชน เราสีข้าวแล้วก็แพคธรรมดา ใส่ถุงละ 1 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 60 บาท หลังจากเข้าร่วมโครงการ ได้รับการพัฒนาทักษะหลาย ๆ ด้าน มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ มีการสร้างแบรนด์ 

แบรนด์ข้าวหอมละหนา เป็นข้าวพันธุ์หอมล้านนา ปลูกในจังหวัดลำปาง ในพื้นที่บ้านแป้นใต้ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา น้ำดี ดินดี ปลูกแค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ผลผลิตได้ปีละ 4 ตัน ต้องแย่งนกด้วย เพราะข้าวจะหอม คุณสมบัติ ทานแล้วไม่อ้วน มีสารแอนโธไซยานิน ช่วยชะลอวัย หลังจากมีการสร้างแบรนด์และพัฒนาบรรจุภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันขายกิโลกรัมละ 90 บาท 

พายกุ๊กไก่ไส้สับปะรด “แม่หนิงภูดอย”

เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง หรือแม่หนิง ใช้พลังหญิงของความเป็นแม่ ก้าวข้ามทุกอุปสรรค ทำให้ชีวิตตัวเอง ครอบครัว และชุมชนดีขึ้น ภายใต้สโลแกน “ขนมทุกคำมั่นใจได้ถึงคุณภาพ เสมือนแม่ใส่ใจทำขนมให้ลูกกิน” จากเดิมที่ทำขนมพายสับปะรดเป็นรูปรังไหม ซึ่งมีขายทั่วไปเห็นอยู่ดาดดื่น แม่หนิงได้คำตอบจากการเข้าร่วมโครงการพลังชุมชน ว่าจะสร้างความแตกต่างจากคนอื่นได้อย่างไร จึงได้พัฒนาพายสับปะรดรูปไก่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของลำปางขึ้นมา กว่าจะได้ดีไซน์และเนื้อแป้งที่ลงตัวไม่ง่ายเลย แต่แม่หนิงก็พยายามจนได้ขนมพายสับปะรดรูปไก่ ที่หอมเนย แป้งนุ่ม ไส้รสชาติกลมกล่อม อร่อยล้ำจนได้นำขึ้นโต๊ะงานประชุม APEC 2022 Thailand และยังพัฒนาพื้นที่บ้านของตัวเองเป็นโรงงานผลิตขนมจัดการตามระบบเพื่อขอมาตรฐานอย. อีกด้วย

น้ำพริกแซ่บถะล้าบ้านสาแซ่บเวอร์

ชนกณิฬภา แสนวง หรือ พี่อ้อย พัฒนาน้ำพริกน้ำพริกสมุนไพรท้องถิ่นรสแซ่บ และตั้งกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มชุมชนแปรรูปบ้านสา หมู่ 4 บอกเล่าว่า จากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการพลังชุมชนเมื่อปี 61 ทางกลุ่มยังไม่มีอะไรซักอย่าง ต่อเมื่อได้ไปเรียนรู้ ไปเห็นชุมชนอื่นเชสมีผลิตภัณฑ์ มีของดีหลายอย่าง จึงได้นำความรู้จากที่อาจารย์สอน มาช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรดี ก็ลงตัวได้เป็นน้ำพริก เพราะทุกครัวเรือนในชุมชนต้องกินน้ำพริก อย่างน้ำพริกลาบ กินทุกวัน มีตลาดแน่นอน ต่อมา พัฒนามาเป็นน้ำพริกข่าเป็นตัวที่สอง และมาเป็นน้ำพริกน้ำย้อย ปัจจุบัน ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย.แล้ว ทำให้ได้รับการยอมรับและตลาดขยายมากขึ้น 

นอกจากการผลิตในพื้นที่แล้ว ทางโครงการพลังชุมชนยังมีการ Matching ชุมชน เพื่อเป็นการส่งวัตถุดิบให้กันในเครือข่ายด้วย เช่น ทางกลุ่มที่ทุ่งสงนครศรีธรรมราช นำข้าวหอมละหนาของลำปางไปทำผลิตภัณฑ์ข้าวกรอบรสต้มยำ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของร้านคิงพาวเวอร์  หรือกลุ่มทำปลาส้มที่อุดรก็ได้สั่งน้ำพริกสมุนไพรแซ่บถะล้าไปใช้ในการหมักปลาส้ม ถือเป็นการความสมดุลที่มีความยั่งยืน พัฒนาต่อเนื่องเป็นวงจร ทำให้มีพลังมากขึ้นจากการขยายตลาดออกไปภายนอก 

วีนัส อธิบายเพิ่มเติมให้เห็นความแตกต่างของหลักสูตรพลังชุมชนกับการอบรมของหน่วยงานอื่นทั่วไปว่า “เราต่างจากหน่วยงานอื่น ๆ ตรงที่เวลาคนอื่นสอน เขามุ่งพัฒนาสิ่งของ หรือ What สอนทำสิ่งเดียวกันทั้งหมู่บ้าน ทำมาก็ขายแข่งกัน แต่เราแตกต่าง เราสอนให้ใครมีดีอะไรก็ทำอย่างนั้น และศึกษาทำตามที่ตลาดต้องการ แล้วเริ่มจากการขายกันเองก่อน อาจจะขายกันเองในหมู่บ้าน หรือขายข้ามภาค เหนือ อีสาน ใต้ เป็นตลาดซึ่งกันและกัน แต่ไม่แย่งตลาดกันเอง”

อาจารย์พีระพงศ์ เสริมว่า ปัจจุบัน สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนในโครงการพลังชุมชนมีมากกว่า 1,000 รายการแล้ว โดยทางโครงการได้รวบรวมเป็นแคตตาล็อคสินค้าออนไลน์ และเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ของเอสซีจีอย่างต่อเนื่อง เช่น SCG website, Facebook, YouTube, Line, SCG home, SCG boutique และ online marketplace อื่นๆ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึง และอุดหนุนสินค้าชุมชนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ และส่งสินค้าตรงจากชุมชนถึงทุกบ้าน ทั้งยังเป็นการส่งต่อพลังใจ สร้างรายได้ให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมกับ กทม. ปรับโฉมใหม่ให้ Dog Park สวนป่าเบญจกิติ

เหลียวหลังแลหน้า Swedish Model บทเรียนการจัดการป่าอย่างยั่งยืนจากสวีเดน “ตัดไม้ แต่ได้ป่า”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ