TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityเหลียวหลังแลหน้า Swedish Model บทเรียนการจัดการป่าอย่างยั่งยืนจากสวีเดน “ตัดไม้ แต่ได้ป่า”

เหลียวหลังแลหน้า Swedish Model บทเรียนการจัดการป่าอย่างยั่งยืนจากสวีเดน “ตัดไม้ แต่ได้ป่า”

ปีพุทธศักราช 2440 ครั้งที่ประเทศไทยยังเป็นสยามอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก โดยการต้อนรับของพระเจ้าออสก้าที่ 2 แห่งสวีเดน ทรงแนะนำให้เสด็จประพาสทางเหนือของสวีเดน ที่มีทัศนียภาพงดงาม อีกทั้งตามริมแม่น้ำยังมีการทำอุตสาหกรรมป่าไม้อันเป็นสินค้าออกที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นที่น่าสนพระราชหฤทัยอย่างแน่นอนสำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยไม้เป็นสินค้าออกที่สำคัญของกรุงสยามเช่นกัน ป่าไม้จึงมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ไทย-สวีเดนนับตั้งแต่นั้นมา

126 ปีให้หลัง สวีเดน คือ ประเทศแห่งการส่งออกไม้เศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และยังครองตำแหน่งผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม โดยเผยแพร่นวัตกรรมจัดการป่าอย่างยั่งยืน สร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายการอนุรักษ์ธรรมชาติและเศรษฐกิจ พลิกฟื้นป่าที่เสื่อมโทรมทั่วประเทศที่เหลือเพียง 25% เพิ่มเป็น 75% โดยการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ถ้าตัดต้นไม้หนึ่งต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อยสามต้น เป็นที่มาของวลีที่ว่า ตัดไม้ แต่ได้ป่า สร้างระบบนิเวศที่ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่า มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และได้ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ  

สถานทูตไทย-สวีเดน จับมือ เอสซีจี ผลักนวัตกรรมจัดการป่ายั่งยืนระดับโลก ตัดไม้แต่ได้ป่า

“Redesign Sustainable Forestry: The Innovative Forest Management Forum” งานเวทีสัมมนาที่ทาง SCG ชักชวนตัวจริงด้านแนวคิดจัดการป่ายั่งยืนระดับสากล จากไทย-สวีเดน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เวทีวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566 ที่สถานทูตไทยในสตอล์คโฮม และสถานทูตไทยในสวีเดน พร้อมทั้งภาคี องค์กรร่วมจัด TNIU และ Eco Innovation Foundation โดยมีเป้าประสงค์ในการสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและสวีเดน ไม่ว่าในภาครัฐหรือภาคเอกชน และภาควิชาการ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 

เป็นเวทีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการที่จะแบ่งปันและเรียนรู้จากกันและกันในเรื่องการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน แลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ รักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ทางนิเวศ พร้อมทั้งสร้างเครือข่าย Business matching ระหว่างผู้ประกอบการไทยและสวีเดน โดยเชื่อว่าการทำงานร่วมกัน และนวัตกรรมจะนำมาซึ่งความยั่งยืนของโลกใบนี้

Redesigning Forest Restoration Concept คิดใหม่ ทำใหม่ พลิกฟื้นผืนป่ายั่งยืน

ในเวลาไม่ถึงศตวรรษ สวีเดนก้าวจากประเทศที่มีปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ มาเป็นประเทศที่มีทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนและร่ำรวยได้อย่างไร แอรอน แคปแลน ผู้อำนวยการ Eco Innovation Foundation จะวิเคราะห์หาคำตอบจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องใน 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ สภาพอากาศ เมือง และป่า 

สภาพภูมิอากาศ (Climate) 

แอรอน เริ่มจากการชี้ให้เห็นถึงวิกฤติเร่งด่วนของปัญหาสภาพภูมิอากาศ ด้วยข้อมูลจาก Scripps CO2 Program ที่แสดงการวัดค่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ที่หอดูดาวเมานาโลอา, ฮาวาย ตั้งแต่ปี 1960 จนถึงปัจจุบัน แอรอนอธิบายว่าจากช่วงต้นทศวรรษ 1990 ยังไม่มีคนที่ทำเรื่อง CSR หรือเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงจัง จนกระทั่งปี 1992 ทั่วโลกจึงเริ่มเห็นพ้องแล้วว่าสภาพภูมิอากาศมีปัญหา 

องค์การสหประชาชาติ เริ่มตั้งคณะกรรมการ UNFCCC เป็นที่มาของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 1997 มีพิธีสารเกียวโต จนถึงความตกลงปารีสในปี 2015 แม้เมื่อโลกประสบวิกฤตการณ์โควิด 19 เส้นโค้งของกราฟความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้โลกอาจจะกำลังก้าวสู่จุดอันตราย อุณหภูมิอาจสูงขึ้นไปถึง 45 องศาเซลเซียส นำมาซึ่งผลกระทบต่อระบบธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ และระดับน้ำทะเล โลกไม่สามารถรอการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบแบบ 360 องศา เพื่อที่จะเปลี่ยนทิศทางของเส้นโค้งเส้นนี้ ซึ่งทั้งโลกจะต้องทำร่วมกัน 

เมือง (City) 

ภาพที่เราคุ้นตากับคำว่าเมือง มักเป็นพื้นที่ป่าคอนกรีต ซึ่งเป็นต้นตอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และทำลายระบบนิเวศอย่างมหาศาล การก่อสร้างมีสัดส่วนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งทำการใช้พลังงานความร้อน ความเย็น ไฟฟ้า การก่อสร้าง การผลิตวัสดุ การทำเหมืองปูน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัสดุก่อสร้าง มีสัดส่วนถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลย ส่วนใหญ่เป็นซีเมนต์ เหล็ก และอลูมิเนียม และพลาสติกบางส่วน 

ในปัจจุบัน เราอาจจะคิดว่าเมืองมีการขยายตัวมามากแล้ว แต่จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) พบว่าจนถึงปี 2060 จะมีพื้นที่การก่อสร้างเมืองในโลกเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว นั่นเท่ากับมีการสร้างประเทศญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่ 1 ประเทศในทุกๆ ปี สัดส่วน 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากวัสดุก่อสร้าง และจะเพิ่มการปลดปล่อยทุกๆ ปี จนกระทั่งถึงปี 2060  นั่นเป็นเหตุผลที่ เราจำเป็นต้องมีการสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม 

ป่า (Forest)

ตั้งแต่มีการปฏิวัติและพัฒนาอุตสาหกรรมมา เราเสียป่าธรรมชาติของโลกในไป 1 ใน 3 แล้ว  ที่เหลือ 60% นั้นเป็นป่าเสื่อมโทรม  ซึ่งการทำลายป่า หรือว่าที่หลายคนเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศของเราเอง เพราะฉะนั้น แอรอน จึงเน้นย้ำว่า ถ้าเราต้องการที่จะลดการปล่อยก๊าซ เราต้องสร้างป่ากลับคืนมา 

เมื่อสถานการณ์มองครบทั้ง 3 ด้าน ทุกคนอาจจะรู้สึกว่าอนาคตมืดมนเหลือเกิน แต่หากลองมาดูในเชิงบวกกันว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ได้ป่ากลับคืนมา สถาบันทรัพยากรโลก หรือ World Resources Institute ที่ได้จัดทำแผนที่ Atlas of Forest and Landscape Restoration Opportunities ขึ้นในปี 2014 แสดงถึงพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ผ่านการใช้ประโยชน์และถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เป็นภาพถ่ายจากดาวเทียม แสดงถึงพื้นที่ทั่วโลกที่มีศักยภาพในการฟื้นฟู โดยไม่กระทบกับพื้นที่การเกษตรหรือว่าพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน  

“เราสามารถทำงานกับชุมชน เพื่อการฟื้นฟูและจัดการป่าอย่างยั่งยืน ในหลายรูปแบบหรือภูมิทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูป่าธรรมชาติที่เสื่อมโทรมขึ้นมาใหม่ได้ ผสมผสานกับการทำวนเกษตรเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และการทำแปลงปลูกป่า หรือสวนป่า ที่สามารถผลิตไม้เศรษฐกิจ และรองรับการจัดการผลผลิตจากป่าด้วยระบบการผลิตและอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่ใช้นวัตกรรม ไปจนถึงการใช้นวัตกรรมการก่อสร้างด้วยไม้เพื่อสร้างเมืองสีเขียว หรือเมืองนิเวศ พลิกโฉมป่าคอนกรีตให้กลายเป็น Wood City ที่ดีต่อสุขภาวะผู้อยู่อาศัย และดีต่อโลกได้” แอรอน กล่าวทิ้งท้าย

สร้างแรงบันดาลใจ อนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ ผ่านการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’

อุตสาหกรรมป่าไม้สวีเดนสำเร็จได้อย่างไร Success Story จาก Södra

จากพื้นที่ที่ยากจน และมีการตัดไม้ทำลายป่า ไปสู่การสร้างป่าไม้แบบทวีคูณ จนกลายเป็นผู้นำโลกในการผลิตไม้และการสร้างอาคารไม้ หนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จในอุตสาหกรรมป่าไม้ของสวีเดนนั้นมาจากบริษัทเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1938 คริสเตอร์ บลาด รองประธานฝ่ายขาย บริษัท Södra บอกเล่าเรื่องราวการรวมตัวกันของเจ้าของสวนป่าขนาดเล็กในพื้นที่ยากจนของสวีเดน ที่หากย้อนกลับไป 100 ปีก่อน เคยเป็นพื้นที่ป่าแต่ได้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม 

85 ปีที่แล้ว Södra จึงเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเจ้าของสวนป่ารายย่อยในลักษณะของสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูป่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตจากป่า ไม่ใช่แค่ตั้งหน้าตั้งตาขายไม้ที่ตัดมา แล้วก็ไม่ใช่แค่ว่าตัดไม้ส่งโรงเลื่อย หรือแค่ขายเพื่อที่จะทำน้ำมันดิน หรือน้ำมันสน 

ปัจจุบัน Södra คือเครือข่ายเจ้าของสวนป่าขนาดเล็กที่ใหญ่ที่สุดของสวีเดน ด้วยจำนวนสมาชิก 52000 ราย มีพื้นที่ป่า 2.8 ล้านเฮคตาร์ มีพนักงาน 3100 คน มีโรงงานเยื่อกระดาษ 3 โรงงาน มีโรงเลื่อย 8 โรง ปริมาณของไม้ที่ผลิตในปี 18 ล้านคิวบิกเมตร ที่ได้ทั้งเนื้อไม้ (Timber)  วัสดุก่อสร้าง (ฺBuilding systems) เยื่อกระดาษ (Pulp) ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Liquid Bioproducts) และพลังงาน

“เราไปไกลกว่าอุตสาหกรรมโรงเลื่อย องค์กรปกครองท้องถิ่น รัฐบาลในท้องถิ่นก็มีส่วนในการสนับสนุน แล้วก็เราเอง ก็ผลิตพลังงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ ไม่ใช้ก๊าซ ไม่ใช้ถ่านหิน ป่าก็เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตพลังงานด้วยเช่นกัน มันเป็นความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ระหว่างตัวกระผมกับรุ่นปู่ย่าตายาย คือสมัยปู่ย่าตายายก็คิดแต่ว่า ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ ๆ จะเอาไปสร้างอะไร”

“แต่ในปัจจุบันนี้ เราใช้ทุก ๆ โมเลกุลซึ่งอยู่ในป่า ไม่ใช่เฉพาะเอาท่อนซุงใหญ่ ๆ มาสร้างบ้าน ทั่วประเทศสวีเดนมีการใช้ชีวมวลซึ่งมีที่มาจากสวนป่าเหล่านี้ ในแง่การสร้างมูลค่า Södra ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ในท้องถิ่น ขณะเดียวกันเราก็ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไม่ว่าจะในสวีเดนแล้วก็ทั่วโลกด้วย” 

Södra ส่งออก 80 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตแปรรูป ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในโลก สัดส่วนการขายในประเทศ 21 เปอร์เซ็นต์ และ 60 เปอร์เซ็นต์ขายไปในยุโรป ซึ่งหลายประเทศเคยมีป่าไม้มากมาย แต่ผลจากการตัดป่าโดยไม่ได้ปลูกทดแทน ทำให้ปัจจุบันนี้สวีเดนจึงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ Södra ส่งออกวัสดุก่อสร้างที่เป็นไม้ให้กับตลาดใหญ่อย่างเนเธอร์แลนด์กับเยอรมนี ซึ่งไม่เหลือป่าแล้ว ทางด้านเอเชีย Södra มีสัดส่วนการส่งออก 14 เปอร์เซ็นต์ เอาไปทั้งสร้างบ้านและทำเฟอร์นิเจอร์

คริสเตอร์ ได้อธิบายถึงห่วงโซ่คุณค่าจากป่าไม้ของ Södra จากเมล็ดพันธุ์สู่ผลิตภัณฑ์สุดท้าย และการสร้างสมดุลพลังงาน “สวนป่าของสมาชิกของเรา มีการเพาะกล้าไม้ออกมาปีละ 60 ล้านต้น ซึ่งต้องอาศัยงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากมายพอสมควร ในการที่จะพัฒนาให้พันธุ์พืชมีความคงทนเหมาะกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น ถัดมาเรามีอุตสาหกรรมของเราเอง ตั้งแต่อุตสาหกรรมการแปรรูปไม้ซุง ไม้แปรรูป เยื่อกระดาษ ไบโอโปรดัคท์ และสิ่งทอ เราสามารถที่จะผลิตพลังงานได้มากกว่าที่เราต้องใช้ และสวีเดนมีกฎหมายบังคับเลยว่าต้องผลิตพลังงานสะอาด เราผลิตพลังงานชีวมวล สร้างพลังงานความร้อนให้กับพื้นที่ และพลังงานไฟฟ้าจากลม” 

คริสเตอร์ อธิบายถึง Södra’s climate effect ซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อ Södra ผลิตไม้ซุง 6,000 ลูกบาศก์เมตร จะได้ไม้แปรรูป 2,000 ลบม. ซึ่งสามารถที่จะนำไปก่อสร้างอาคารอพาร์ทเมนท์ 8 ชั้น สำหรับผู้อยู่อาศัย 128 คน ได้ 64 อพาร์ทเมนต์ ส่วนของเยื่อไม้ ยอดไม้ กิ่งไม้ สามารถผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับขับเคลื่อนยานยนต์ได้ 2300 กม.ต่อครัวเรือน ผลิตกระดาษทิชชู่ใช้ได้ 25 ปี ผลิตเสื้อผ้าสำหรับใช้ได้ 30 ปี ผลิตพลังงานความร้อนใช้ได้ 9 ปี และผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้บริโภคได้ 6 ปี 

“ทุก ๆ 4 ชั่วโมง สวนป่าของสมาชิกเรา ผลิตวัสดุมากพอสำหรับที่จะสร้างอาคารขนาดสูง 8 ชั้น ประโยชน์ต่อภูมิอากาศ เราก็สามารถที่จะกักเก็บคาร์บอนได้ 5.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วก็สามารถที่จะทดแทนการปล่อยคาร์บอนของเราเอง เทียบเท่ากับ 9.4 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์  ส่วนในด้านธุรกิจ ในปี 2021 Södra มียอดขายเพิ่งสูงขึ้น 33% ด้วยยอดขาย 27,060 พันล้านโครนา ผลกำไรจากการดำเนินงาน 5,316 โครนา และมียอดแบ่งปันผลกำไร 2,239 พันล้านโครนา” 

คริสเตอร์ ยังฉายภาพทิศทางในอนาคตของ Södra ที่มีความตั้งใจที่จะนำนวัตกรรมมาใช้เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนว่า

“อยากจะเล่าให้ฟังเรื่องนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของเรา ต้นไม้ 1 ต้น สามารถที่จะเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างผลิตภัณฑ์ลิกนิน 30 เปอร์เซ็นต์ ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หนึ่งในองค์ประกอบของแบตเตอรี่ EV ก็คือ ลิกนินที่สกัดมาจากเนื้อไม้ นอกจากนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราสามารถวิจัยและพัฒนาเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากเซลลูโลส และเฮมิเซลลูโลส 

ปัจจุบันนี้งานวิจัย ทำให้สามารถที่จะใช้ประโยชน์ไม้ได้สูงสุด ในสมัยปู่ย่าตายาย ต้นเบิร์ชจะเอามาใช้เป็นฟืนได้เท่านั้น จะไม่ปล่อยให้มันโตเยอะเกินไป แต่ปัจจุบันสามารถที่จะสกัดประโยชน์มาจากต้นเบิร์ชได้อย่างเต็มที่ จะเอาไปผสมกับเยื่อไม้แล้วก็ผลิตออกมาเป็นเส้นใยสำหรับเครื่องนุ่งห่มได้ด้วย 

และนวัตกรรมล่าสุด คือ การนำไม้มาสร้างเป็นตึกสูง ซึ่งเมื่อก่อนนี้ค่อนข้างยากที่จะทำได้ยาก ทางการอนุญาตให้ใช้ไม้สร้าง แค่ 2-3 ชั้นเท่านั้น คือ กลัวเรื่องไฟไหม้ กับ การรับน้ำหนักได้ไม่ดี แต่ในปัจจุบันนี้ สามารถที่จะเอาไม้มาเคลือบ มาทำ slab ขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน แล้วก็ไม่ติดไฟง่ายด้วย บางครั้งนี้เป็นวัสดุที่ดีมากกว่าเหล็กกล้าเสียด้วยซ้ำ 

ปัจจุบันนี้ ตึกไม้ที่สูงสุด คือ 8 หรือ 9 ชั้น และกำลังมีแผนที่จะใช้ไม้มาสร้างตึกที่สูงมากยิ่งขึ้นกว่านั้นในสวีเดน ซึ่งมี solution ใหม่ ๆ ที่มีต้นทางมาจากป่า ใช้ได้ในทุก ๆ โมเลกุลของต้นไม้จากสวนป่าเอามาใช้ประโยชน์ได้ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงทิศทางของการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น ไบโอดีเซลจากน้ำมันสน ไบโอเมธานอล และมีการนำไปผสมกับน้ำมันฟอสซิลด้วย

GISTDA จับมือ อบก. เตรียมใช้เทคโนโลยีอวกาศ จัดทำบัญชีคาร์บอนครั้งแรกให้ประเทศไทย

รู้จักนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อผืนป่า Value Chain innovation model for forest restoration

เบอร์ที แวน เฮนสเบอร์เกน Partner ของ Eco Innovation Foundation ได้มาตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมที่จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์ทุกโมเลกุลของผลผลิตจากป่าได้อย่างคุ้มค่า สมกับคุณค่าของป่าไม้ โดยชี้ให้เห็นปัญหาของธุรกิจป่าไม้ที่ผ่านมาว่า 

“เมื่อ 40 ปีสมัยผมยังเด็ก ๆ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกไม้รายใหญ่ของโลก ที่น่าเศร้าก็คือ ว่าป่าเหล่านั้นมันหายไปแล้ว มีการเปลี่ยนไปใช้ที่ดินในรูปแบบอื่น ทำให้อุตสาหกรรมป่าไม้ มันก็มาถึงจุดจบด้วย แม้ว่าประเทศไทยยังเป็นศูนย์ในการแปรรูปไม้ โดยมีการใช้ไม้ที่นำเข้าจากประเทศอื่น ๆ”

เขากล่าวว่า เหตุผลที่ป่าไม้ของไทยไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว เนื่องจากว่าโมเดลธุรกิจในการจัดการป่าเมืองร้อนนั้นไม่สมบูรณ์ ไม้ทุกต้นที่ตัด มีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เอาไปผลิตเป็นสินค้าใน Value chain ผู้ซื้อซื้อได้แต่เฉพาะไม้เป็นท่อน ๆ ที่เป็นมาตรฐานเท่านั้น แล้วคนขายก็ขายได้เฉพาะขนาดมาตรฐานตามที่ลูกค้าต้องการ ไม้ส่วนที่เหลือมันก็สูญเปล่าไป ขายไม่ได้ในท้องตลาด จึงมีปัญหาอย่างใหญ่หลวง ทำให้การบริหารจัดการป่าเมืองร้อนแบบธรรมชาติจะสร้างกำไรได้มันยากมาก ๆ 

นอกเหนือจากนั้นยังมีข้อจำกัดในแง่ของไม้สายพันธุ์ไหนที่จะขายได้ ทำให้มีการปลูกหมุนเวียนได้น้อย เพราะว่าไม้จำนวนมากมันไม่มีคุณค่าในตลาดมากพอ นอกจากนี้ ป่าเมืองร้อนส่วนใหญ่มีการลงทุนน้อยมากๆ หรือเรียกว่าไม่มีการลงทุนเลย ในเรื่องของการบริหารจัดการป่า เพราะว่าห่วงโซ่มูลค่าไม่เอื้อต่อการสื่อสาร ระหว่างเจ้าของป่ากับผู้ที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ไม้ ก็คือผู้ใช้ก็ไม่ทราบเลยว่า ป่าผลิตอะไรได้ ในขณะที่ผู้ผลิตหรือผู้ดูแลป่าก็ไม่ทราบว่าตลาดต้องการอะไร”

เบอร์ที ชี้ให้เห็นว่าการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยให้เพิ่มมูลค่าของป่าได้มาก โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาในชิลี ป่าที่ไม่ได้มีการบริหารจัดการ ต้นไม้อายุ 40 ปี แต่มีลำต้นไม่ตรงและขนาดไม่ใหญ่ ในขณะที่ป่าที่มีการบริหารจัดการ มีการถอน การจัดการพื้นที่ ต้นไม้ปลูกมาได้ 7 ปีเท่านั้น มีความสมบูรณ์กว่ามากจนเห็นได้ว่ามูลค่าของมันในอนาคตจะสูงขึ้นขนาดไหน 

ผลของการบริหารจัดการป่าไม้ ที่มีต่อผลิตภัณฑ์จึงมีความสำคัญมาก ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากป่าที่ไม่มีการจัดการ เป็นป่าอายุ 50 ปีในชิลี ส่วนใหญ่แล้วก็ใช้เป็นไม้วีเนียร์หรือไม้อัดที่มีมูลค่าต่ำ คิดเป็นปริมาณไม้แค่ 5% ของปริมาตรไม้ที่ผลิตได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้ว ไม้จากป่าที่ไม่มีการบริหารจัดการเอาไปทำเป็นเยื่อกระดาษเท่านั้น คิดเป็นมูลค่า 50 เหรียญต่อลูกบาศก์เมตร

การบริหารจัดการป่าที่ดี สามารถจะเพิ่มคุณค่าของป่าได้อย่างมาก นอกจากนั้น เทคนิคการบริหารจัดการป่าแบบวนเกษตร หรือ Silviculture  ยังเพิ่มอัตราการเติบโตของต้นไม้ได้อย่างดี ป่าที่มีการบริหารจัดการอายุ 50-60 ปี จะมีไม้คุณค่าสูงเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าของไม้ที่มีการใช้แบบผสมผสาน สูงถึง 116 เหรียญต่อลูกบาศก์เมตร และยังเพิ่มมูลค่าจากการผสมผสานผลิตภัณฑ์ มีมูลค่าเพิ่มจากป่าที่ไม่มีการจัดการ จาก 195 เหรียญต่อเฮกตาร์ต่อปี มาเป็น 1,169 เหรียญต่อเฮกตาร์ต่อปี

“ป่าที่มีการบริหารจัดการ มีศักยภาพในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของไม้และป่าไม้อย่างมาก เราก็ไม่ต้องตัดไม้มาก เนื่องจากไม้ที่ตัดมาแล้วเราสามารถที่จะมาผลิตเป็นเนื้อไม้ แล้วก็บูรณาการเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าได้ แต่ก่อนหน้านี้ เราอาจจะต้องการไม้ที่มีรัศมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 ซ.ม. แต่ว่าเดี๋ยวนี้ เราสามารถที่จะใช้ไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 ซ.ม.ได้ เราก็สามารถที่จะถอนออกมาใช้และขายก่อน เพื่อที่จะจัดการป่าที่เหลือให้เติบโตได้ดีขึ้น และแก้ปัญหาลำต้นโค้งงอ”

ในขณะเดียวกัน ยังสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากต้นไม้สายพันธุ์ที่ไม่ค่อยมีมูลค่าในตลาด แต่ช่วยเรื่องเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้เพิ่มขึ้น และสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในห่วงโซ่สร้างมูลค่า มาผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ มาใช้ในการสร้างอาคาร นี่คือ วิสัยทัศน์สำหรับการบริหารจัดการป่าธรรมชาติในอนาคตระยะยาว 

“เราต้องใช้ต้นไม้ทั้งต้น ไม่ใช่แค่ใช้แค่ 10% ของเนื้อไม้อย่างแต่ก่อน แล้วก็ผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้มากมายมากขึ้น ใช้ทุกส่วนของต้นไม้เพื่อที่เราจะเอามาสร้างเป็นเมือง และมีผลพลอยได้อย่างเช่น Biochar พลังงานความร้อน ถ่าน” 

ถอดรหัส “DITTO” รุกธุรกิจ Carbon Credit

โอกาสในการฟื้นป่าในประเทศไทย

หากดูแผนที่ Atlas of Forest and Landscape Restoration ของสถาบันทรัพยากรโลก จะพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูป่า ถึง 17 ล้านเฮกเตอร์ และมีพื้นที่ 9 ล้านเฮกเตอร์ ที่ระบุว่า อาจจะกู้คืนผืนป่าธรรมชาติในพื้นที่ใหญ่ ๆ และหากจะสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองไม้ ใช้ไม้ทดแทนวัสดุก่อสร้างทั้งหลาย และถ้าทุกปีภายในปี 2050 ต้องหาที่อยู่ให้คน 600,000 กว่าคน จะต้องการไม้ประมาณ 5.3 ล้านคิวบิกเมตร เพื่อสร้างอาคารต่าง ๆ ให้คนอยู่ 

เบอร์ทีชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ในรัศมี 150 กิโลเมตรรอบกรุงเทพฯ คือพื้นที่รัศมีแห่งเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ ถ้าหากสามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่ากลับขึ้นมาได้ โดยวิธีการทำสวนป่าขนาดใหญ่ มีการทำ Matrix Planting เพื่อให้ได้ไม้ 6.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี 

“มันอาจต้องใช้เวลาสักนิด เพื่อที่จะให้เราปลูกป่าได้สำเร็จ รวมทั้งการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ  ระยะแรก ผลผลิตไม้อาจจะต้องมาจากสวนป่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ไม้ที่จะใช้น่าจะมาจากป่าธรรมชาติได้ อันนี้ก็จะเป็นการกู้ความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วก็จะเป็นการใช้ประโยชน์จากบริการของระบบนิเวศ และป้องกันไม่ให้กรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วมจมหายไปในอนาคตจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ” เบอร์ที กล่าวทิ้งท้าย

กลไก “คาร์บอน เครดิต” ช่วยลดปัญหา “ก๊าซเรือนกระจก”

การลงทุนเพื่อความยั่งยืน คือ“ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก”

“เกษตรเพิ่มมูลค่า” ด้วยวิถีจัดการทรัพยากรน้ำแบบยั่งยืน ของดร.รอยล จิตรดอน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ